กาลครั้งหนึ่งมีหญิงท้องแก่ใกล้คลอดเดินทางกลับมาจากไร่พร้อมสามี เมื่อถึงใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เธอปวดท้องคลอดและให้กำเนิดทารกน้อยที่นั่น ผู้เป็นพ่อนำสายสะดือฝากไว้กับต้นไม้ก่อนพาลูกและภรรยากลับไปพักฟื้นที่บ้าน

เมื่อเด็กน้อยโตขึ้น ทุกครั้งที่เขาติดตามแม่และพ่อไปไร่เขาจะไปเล่นกับต้นไม้ของเขาเสมอๆ เด็กน้อยรู้สึกผูกพันและอุ่นใจที่มีต้นไม้เป็นเพื่อน มันคือของขวัญที่ดีที่สุดของเขา

แต่แล้ววันหนึ่งมียักษ์จากต่างเมืองมาไล่จับผู้คนกิน ผู้คนมากมายตกเป็นเหยื่อรวมถึงพ่อด้วย เด็กน้อยบอกแม่และคนที่เหลือให้รีบไปซ่อนตัวที่ต้นสะดือของเขา เจ้ายักษ์ไล่มาถึงที่ต้นไม้สะดือแต่หาใครไม่เจอจึงเดินจากไป

เด็กน้อยเกรงว่าหมู่บ้านข้างหน้าจะถูกเจ้ายักษ์จับกิน จึงรีบวิ่งไปทางลัดเพื่อส่งข่าวให้ผู้คนมาซ่อนตัวที่ต้นสะดือ โชคดีเหลือเกินผู้คนมากมายรอดชีวิตจากเจ้ายักษ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คนต่างมีต้นไม้ประจำตัวให้เด็กๆ จากสิบเป็นร้อย เป็นหมื่นเป็นล้าน จนถึงทุกวันนี้

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

ต้นสะดือ จากนิทานกลายเป็นเรื่องจริง

ผมยังจำได้ดี เมื่อครั้งเป็นเด็กมีต้นสะดือของเพื่อนใกล้กับโรงเรียน ต้นสะดือต้นนั้นเป็นต้นก่อ เมื่อถึงฤดูที่ลูกก่อร่วงเราจะไปเก็บลูกก่อมาคั่วกินกัน ชุมชนจะเอาสายสะดือของเด็กที่บรรจุในกระบอกไม้ไผ่ไปผูกติดกับต้นไม้ในบริเวณหนึ่งซึ่งเรียกว่า ‘ป่าเดปอ’ หรือ ‘ป่าสะดือ’

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

สมัยก่อนมีหมอตำแยทำคลอดในชุมชน จึงไม่มีใครไปเกิดที่โรงพยาบาล นั่นทำให้วัฒนธรรมป่าสะดือยังมีอยู่มาก กระทั่งเมื่อมีการไปคลอดในโรงพยาบาล ชาวบ้านจึงไม่ได้นำสายสะดือของเด็กกลับบ้านเพราะลืมหรือไม่กล้าขอจากโรงพยาบาล นอกจากนี้ ค่านิยมใหม่ก็ได้ละทิ้งต้นสะดือไว้ให้เหงาหงอยอยู่ข้างหลัง โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างไม่ลืมหูลืมตาทำให้ทุกวันนี้ต้นสะดือลดลงไปบ้าง

และต้นไม้กำลังรอให้เรากลับไปรื้อฟื้นสายสัมพันธ์ที่เราเคยมีมาอย่างยาวนาน

ต้นสะดือคือหลักหมุดชีวิต

คนปกาเกอะญอเชื่อว่าก่อนที่เราแต่ละคนจะมาจุติบนโลกมนุษย์ ดวงวิญญาณของเราจะเดินทางมาที่ต้นไทรและที่นั่นเองมี ‘หมื่อฆาเขล่อหรือ เทพารักษ์ (หมื่อฆา แปลว่า วิญญาณ เขล่อ แปลว่า ต้นไทรต่างๆ) รออยู่ใต้ต้นไม้ เมื่อดวงวิญญาณไปถึงต้นไทร หมื่อฆาเขล่อจะถามว่า เราจะไปไหน ไปทำอะไร บางครั้งมีทั้งเรื่องที่สุขและเศร้า หมื่อฆาเขล่อจะพยายามโน้มน้าวเปลี่ยนใจให้เราพบเจอแต่ความสุข แต่สุดท้ายก็จำใจต้องจรดปากกาวิเศษเขียนสิ่งที่เราต้องการไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์บนกระหม่อม ก่อนเปิดประตูให้ดวงวิญญาณทุกดวงเข้าไปเกิดบนโลกมนุษย์ และประสบพบเจอกับเรื่องราวที่พวกเราเคยเล่าไว้เมื่อครั้งยังเป็นแค่ดวงวิญญาณดวงหนึ่ง

ไม่เคยมีใครแม้แต่คนเดียวจำได้ว่าได้บอกอะไรไว้กับหมื่อฆาเขล่อ แต่อย่างน้อยมันกำลังบ่งบอกว่าเราคือผู้กำหนดชะตาชีวิตของตัวเองจากการเปิดประตูของต้นไม้ให้เรามาอาศัยในโลก เราจึงเป็นหนี้บุญคุณต้นไม้ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างหลบแดดจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างการหายใจเพื่อการมีชีวิตบรรพบุรุษจึงออกแบบกิจกรรมสนุกๆ ให้เราทำกับต้นไม้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ต้นไม้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิด แต่ง ตาย ที่ชี้ทางให้เราเห็นหลักหมุดชีวิต ที่วันหนึ่งเราจะต้องเดินทางกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอีกครั้ง

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย
ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

สายสะดือ สายสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและมนุษย์

จะดีแค่ไหนถ้าทุกๆ ครั้งที่มีเด็กลืมตามาดูโลกพวกเขาจะมีส่วนช่วยปกป้องต้นไม้ 1 ต้น 1 คนก็ 1 ต้น 1 แสนคนก็ตั้ง 1 แสนต้น หมายถึงเราจะมีที่ร่ม ที่บังแดดบังฝน ช่วยดูดซับน้ำท่วม หรือบรรเทาความแห้งแล้งในอนาคต และที่น่าภูมิใจไปกว่านั้นคือ เราได้ดูแลส่งต่ออนาคตให้เด็กๆ ที่กำลังต่อแถวเข้ามาสู่โลกใบเดียวของเรา

การนำสายสะดือของเด็กไปผูกกับต้นไม้ต้นหนึ่ง และเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ คือสิ่งหนึ่งที่คนรุ่นเก่าทำได้

การเลือกต้นไม้มีเทคนิคง่ายๆ คือ เป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะแข็งแรง มีผลให้นกหนูได้กิน การเลือกต้นไม้ผู้เป็นพ่อจะรู้จักชื่อ สรรพคุณหรือการใช้ประโยชน์ของต้นไม้ต้นนั้นเป็นอย่างดี จึงทำให้องค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ได้รับการสืบทอดโดยปริยาย หากคนรุ่นใหม่ไม่แน่ใจก็ยังมีปู่ย่าที่จะช่วยบอก

เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว ผู้เป็นพ่อจะนำสายสะดือบรรจุลงกระบอกไผ่สูงประมาณ 1 ศอก ปิดปากกระบอกด้วยผ้า ก่อนจะนำไปผูกกับต้นไม้ที่เลือกไว้ก่อนหน้านี้ โดยใช้ตอกผูกไว้หลวมๆ ก่อนจะกลับบ้าน ต้นไม้ต้นนี้จะถูกเรียกว่า เดปอถู่

เด แปลว่า สะดือ หรือกิ่ง

ปอ แปลว่า กระบอก หรือแสงสว่าง

ถู่ แปลว่า ต้น

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

ต้นไม้และคนคือหนึ่งเดียวกัน

เมื่อผู้คนในชุมชนที่เดินผ่านไปมาจะเห็นกระบอกสายสะดืออยู่บนต้นไม้ ก็เป็นที่รับรู้กันว่ามันได้รับการปกป้อง จะไม่มีใครตัดทำลาย เพราะหากมีใครไปตัดต้นไม้ประจำตัวของเด็กคนนั้น เชื่อกันว่าจะทำให้ขวัญหนี เด็กจะเจ็บป่วยไม่สบายจะต้องมีการขอขมาด้วยการผูกข้อมือเรียกขวัญให้เด็กคนนั้น

เมื่อผ่านไปประมาณ 3 วัน ปลายสะดือส่วนที่ยังติดกับสะดือจะแห้งและหลุดออกมา พ่อจะกลับไปที่ต้นสะดือเพื่อที่จะดูว่าเดปอตกลงสู่พื้นรึยัง หากยังผู้เป็นพ่อจะหาเศษไม้แถวนั้นเพื่อจะขว้างกระบอกสายสะดือให้ตก

เชื่อกันว่าหากขว้างแล้วตกเลยตั้งแต่ทีแรก เมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่เรียนรู้อะไรได้เร็วแต่อาจใจร้อน หากเดปอตกในครั้งที่ 2 เชื่อว่าเด็กคนนั้นจะมีไหวพริบดีปานกลาง และหากต้องครั้งขว้างถึง 3 ครั้งหรือมากกว่านั้นอาจจะเป็นคนที่เรียนรู้ช้ากว่าคนทั่วไป พ่อเลยต้องตั้งสติให้แน่วแน่ก่อนขว้าง

เมื่อเดปอตกลงสู่พื้น มันจะค่อยๆ ผุพังและกลับคืนเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ต้นนั้น พ่อจะหากิ่งไม้เล็กๆ ที่มีความยาวเท่าลำตัวเด็กทารกเคาะที่ต้นไม้เพื่อเชิญชวนให้ขวัญของเด็กน้อยกลับไปหาเจ้าของที่บ้านด้วยกัน ผู้เป็นพ่อจะนำกิ่งไม้กลับไปแตะข้าวของเครื่องใช้ในบ้านที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อโตขึ้นเด็กจะต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือเหล่านี้ เช่น กี่ทอผ้า กระด้ง หม้อ ถ้วยชาม มีด กับดัก รวมถึงสัตว์เลี้ยงด้วย ไม้ท่อนนี้จะถูกเก็บไว้เป็นของเล่นเมื่อเด็กโตขึ้นประหนึ่งว่า มันคือปากกา พู่กัน หรืออะไรก็ได้ตามจินตนาการของเด็กคนนั้น เผลอๆ อาจจะเป็นไม้เรียวก็ได้เช่นเดียวกัน

ในอดีต สะดือที่แห้งและหลุดออกมาจากสะดือจะได้รับการห่อและเย็บอย่างสวยงามสำหรับห้อยคอ หากวันไหนเด็กไม่สบาย ผู้เฒ่าผู้แก่จะให้แช่สร้อยสะดือในน้ำแล้วดื่มกิน อาการเจ็บป่วยก็จะทุเลาลง และสร้อยคออันนี้หากครอบครัวไหนชอบพอกันอยากให้ลูกได้แต่งงานกัน เขาก็จะแลกสร้อยคอกันเพื่อแทนคำมั่นสัญญา คล้ายกับหนังจีนเลยทีเดียว

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย
ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

ต้นสะดือเป็นวัฒนธรรมของทุกคน

คาสึยะกับภารยาชาวญี่ปุ่นเคยมาใช้ชีวิตกับชาวบ้านบนดอยที่บ้านทุ่งหลวงและให้กำเนิดลูกสาวที่นั่น 20 ปีผ่านไปไม่รู้ว่ารื่องราวของครอบครัวเขาเป็นไปอย่างไร แต่มีข่าวคราวว่าหลังกลับไปญี่ปุ่น ครอบครัวของเขาได้ต้อนรับสมาชิกใหม่และมีต้นเดปอของลูกชายใกล้กับชุมชนที่เขาอยู่

นอกจากการบวชป่า การออกกฎหมายคุ้มครองป่า การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการจัดการป่าอย่างมีส่วนร่วมของผู้คน ที่มีเจตนาในการปกป้องป่า บางทีการมีต้นสะดือให้เด็ก สามารถเป็นทางเลือกได้เช่นกัน ผมนึกภาพแทนที่จะต้องประกาศอุทยานแห่งชาติไปทับซ้อนพื้นที่ทำกินหรือชุมชนเพื่อที่จะรักษาพื้นที่ป่าซึ่งเป็นป่าอยู่แล้ว

แต่ถ้าเราให้เมืองต่างๆ มีป่าสะดือซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นผืนเดียวกันเหมือนสวนสาธารณะ อาจจะอยู่มุมใดมุมหนึ่งของเมือง เช่น ตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย โบสถ์ วัด มัสยิด ริมทาง ริมน้ำแล้วมีชื่อเด็กติด ทุกปีให้เด็กไปจัดวันคล้ายวันเกิดใต้ต้นไม้ของตัวเองกับครอบครัวเพื่อนฝูง มันคงก็น่าสนุกไม่น้อย

เชื่อหรือไม่ว่าทองคำ 1 ตันมีค่าน้อยกว่าลมหายใจของเรามากนัก ไม่เชื่อลองเอามือบีบจมูกไว้ 4 นาที

ใครที่กำลังจะต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัว ให้พ่อไปดูต้นสะดือรอไว้เลยครับ

ต่าบลึ๊ (ขอบคุณ)

ต้นสะดือ : การเกิดของเด็กปกาเกอะญอที่ช่วยรักษาป่าและต้นไม้ ธรรมชาติซึ่งเกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

Writer & Photographer

Avatar

โอชิ จ่อวาลู

นักการภารโรงที่ Lazy man College ผู้กำลังหัดเขียนเล่าเรื่อง