British Embassy Bangkok x British Council x The Cloud

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอังกฤษเป็นประเทศที่มีอิทธิพล เราอ้างอิงข่าวต่างประเทศจาก BBC สำนักข่าวอังกฤษ ผู้นำในประเทศต่างๆ กว่า 50% จบจากอังกฤษ บทสนทนาหลังเลิกงานของหลายคนก็วนเวียนอยู่กับทีมฟุตบอลอังกฤษ

หากอังกฤษขยับตัวอะไร รู้ก่อนได้เปรียบแน่นอน

สัญญาณเงียบในไทยที่บอกว่าทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป คือสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ที่กำลังจะย้ายออกจากพื้นที่ริมถนนวิทยุในอีกไม่นาน 

ในฐานะแขกกลุ่มท้ายๆ ของบ้านกลางกรุงอันอบอุ่นแห่งนี้ เราได้ร่วมกันจินตนาการความเปลี่ยนแปลงนั้นในงาน Talk of the Cloud 03 : UK : Creating Tomorrow ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูต ร่วมมือกันกับ British Council และ The Cloud

การเสวนาในวันนี้ ทำให้เรามองเห็นการขยับตัวอย่างเงียบๆ แต่ทรงพลังของสหราชอาณาจักร ใน 4 ด้านคือ การจัดการเมือง การศึกษาชั้นอุดมศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการทำธุรกิจเพื่อสังคม ฟังแล้วตื่นตาตื่นใจไปหมด ว่าอังกฤษมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ

ยิ่งกว่านั้น เราพบว่าธีมที่ทั้ง 4 หัวข้อมีร่วมกันคือ การสร้างพลังระดับสากล หมายความว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดและจบภายในแค่ประเทศของเขาเอง แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมไปในระดับโลก และกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ใครที่พลาดโอกาสมาฟังเสวนาไม่ต้องเสียใจ เพราะเราได้บันทึกอนาคตฉบับรวบรัด มาให้อ่านบนหน้าจอต่อไปนี้แล้ว

Future Cities

Margaret Tongue อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย

อนาคตเป็นเรื่องคาดเดายาก แทบไม่มีใครฟันธงได้ว่าในอีก 30 ปี เมืองจะหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ในทางกลับกัน การวางแผนจัดการเมืองจำเป็นต้องทำระยะยาว อย่างน้อยก็ 5 – 10 ปี แล้วถ้าอย่างนี้ จะทำอย่างไร

ท่านอุปทูตตอบด้วยคำว่า ‘Resilient’ หรือ ‘ยืดหยุ่น’

คุณสมบัติของเมืองในอนาคตควรจะยืดหยุ่น หมายถึงต้องเตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงให้รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านความผันผวนทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม

เครื่องมือที่มีในมือ สำหรับใช้จัดการเมืองให้เกิดความยืดหยุ่น คือ เทคโนโลยี ข้อมูล และการวางแผน

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ท่านอุปทูตยกตัวอย่างปัญหาที่ทั้งกรุงเทพฯ และลอนดอนเคยเจอมาคล้ายกัน นั่นคือปัญหาน้ำท่วมใหญ่ของกรุงเทพฯ ในปี 2011 ส่วนของลอนดอนในปี 1953 ตอนนั้นลอนดอนมองเห็นปัญหา แล้วคิดถึงทางออกหลากหลาย เช่นย้ายเมืองหลวงหรือสร้างกำแพงล้อมลอนดอนไว้ จนสุดท้ายก็ตัดสินใจจบที่การสร้าง Thames Barrier กำแพงกั้นน้ำสำหรับยกขึ้นลงได้ตามฤดูน้ำหลาก โดยเฉลี่ยแล้วลอนดอนไม่ได้น้ำท่วมบ่อย และการลงทุนครั้งนี้อาจดูมากเกินพอดี แต่ภาวะโลกร้อนก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้ปัญหาอาจเกิดถี่ขึ้น การคิดเผื่อจึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เมืองรับมือได้ในระยะยาว

นอกจากนั้น ลอนดอนยังเพิ่มความยืดหยุ่นให้เมืองด้วยการทำ Open Data หรือการเปิดข้อมูลให้เป็นสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลการเดินรถเมล์และรถใต้ดินที่รัฐบาลถกเถียงกันอยู่นานมากว่าจะเปิดเป็นสาธารณะดีหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปล่อยออกมาให้ประชาชนใช้ต่อยอดอย่างอิสระ ข้อดีที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมคือ แอปพลิเคชันช่วยเดินทางในลอนดอนกว่า 300 แอป ที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนทำเลย

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ทางฝั่งกรุงเทพฯ เองก็มีความพยายามที่จะเพิ่มความยืดหยุ่นให้เมือง โดยท่านอุปทูตยกตัวอย่างจากกลุ่ม Porous City Network เบื้องหลังสวนจุฬาฯ 100 ปี และอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่มีรูพรุนให้เมืองกรุงเทพฯ สำหรับรับมือกับน้ำท่วม แน่นอนว่าพื้นที่ไม่ได้ทำให้น้ำไม่ท่วม แต่ช่วยให้น้ำระบายเร็วขึ้น

หรืออีกตัวอย่างที่ท่านอุปทูตประทับใจโดยส่วนตัว คือการนำรูปแบบบ้านไทยเดิมที่มีช่องลมให้อากาศถ่ายเทกลับมาใช้ เป็นตัวช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ภูมิปัญญาเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชาวอังกฤษสนใจและอยากเรียนรู้ให้มากขึ้น และนั่นคือสาเหตุหนึ่งที่พวกเขาอยากทำงานร่วมกับหลายประเทศทั่วโลกมากกว่าแค่ทำอยู่ในประเทศตัวเอง

ล่าสุด สหราชอาณาจักรกับไทยมีโครงการสร้างความยืดหยุ่นให้เมืองร่วมกัน นั่นคือ The Prosperity Fund Future Cities Programme ซึ่งทำใน 19 ประเทศ รวมถึงไทย โดยเข้ามาช่วยจัดการเมือง เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งผ่านการทำระบบขนส่งสาธารณะ การวางผังพื้นที่เมือง และการทำให้สาธารณูปโภคพื้นฐานเข้าถึงง่ายขึ้น

Higher Education – The Shape of Things to Come

Andrew Glass ผู้อำนวยการ British Council ประเทศไทย

ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ครึ่งหนึ่งของโลก จบการศึกษาจากสหราชอาณาจักร

แม้จะภูมิใจกับข้อเท็จจริงนั้นเพียงใด แต่โลกกำลังเปลี่ยนไป ทั้งในด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือด้านเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้บีบบังคับให้การศึกษาระดับอุดมศึกษาของอังกฤษก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วย มิฉะนั้น การศึกษาในอังกฤษก็จะกลายเป็นสิ่งล้าหลังที่ผลิตบุคลากรไม่ตอบโจทย์กับโลกอนาคต

สหราชอาณาจักรรับมือความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยการเปิดมหาวิทยาลัยให้เป็นสากลขึ้น รับนักศึกษาหลายแสนคนจากทั่วโลกมาเรียนที่อังกฤษ ใช้ความรู้ในมหาวิทยาลัยออกไปต่อยอดให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชุมชน และแก้ปัญหาระดับโลกผ่านการร่วมมือระหว่างประเทศ 

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

มหาวิทยาลัยอังกฤษมีสัมพันธไมตรีข้ามชาติกับมหาวิทยาลัยทั่วโลกมากมาย แค่ในไทยก็มีมากถึง 22 แห่งแล้ว โดยอังกฤษมองว่าการทำงานร่วมกันเช่นนี้สร้างประโยชน์ให้ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายไทยก็ได้เรียนวิชาที่ไม่มีในประเทศตัวเอง มีแต่ในอังกฤษ ส่วนฝ่ายอังกฤษก็ได้ศึกษาความรู้แบบท้องถิ่น และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นสากลมากขึ้น ไม่ติดอยู่แค่ในกรอบของอังกฤษเท่านั้นเหมือนกัน

ผู้อำนวยการยกตัวอย่างกิจกรรมที่ทำกับ Food Innopolis ศูนย์นวัตกรรมอาหารระดับนานาชาติในไทย โดย British Council นำผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษเข้ามาช่วยนักวิจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภค เช่นการใส่แว่นที่เก็บข้อมูลสายตา แล้วทดลองเลือกสินค้า เพื่อดูว่าพฤติกรรมการดูบรรจุภัณฑ์ของคนเป็นอย่างไร เป็นการเพิ่มเครื่องมือและศักยภาพนักวิจัยไปพร้อมกัน

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

ด้านการแก้ปัญหาระดับโลก ผู้อำนวยการยกตัวอย่างด้วยโปรเจกต์ SCENe ที่มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม ซึ่งเผชิญปัญหาการใช้พลังงานในมหาวิทยาลัย ที่สิ้นเปลืองทั้งทรัพยากรและเงินในกระเป๋าผู้เรียน พวกเขาแก้ไขโดยการวิจัย จนสร้างแบตเตอรีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป เพื่อดูแลทั้งชุมชนด้วยพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และฟาร์มที่หล่อเลี้ยงด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับเกษตรกรรมบนหลังคาที่อยู่อาศัย เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบการใช้พลังงานในวิทยาเขตก็จะยั่งยืนมากขึ้น

ส่วนวิธีรับมือแบบสุดท้ายที่ผู้อำนวยการทิ้งไว้ให้คือ การปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยการยก MOOC หรือการทำคอร์สออนไลน์ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง ด้วยเครื่องมือนี้ อาจารย์ไม่ต้องบรรยายในห้องเรียนอีกต่อไป และใช้เวลานั้นในคาบพูดคุยถกเถียงได้เต็มที่มากขึ้น นั่นคือสาเหตุที่มหาวิทยาลัยในอังกฤษหลายแห่งเริ่มเปิด MOOC ทั้งเพื่อให้นักศึกษาของตนเรียน และเพื่อกระจายองค์ความรู้ของตัวเองไปสู่โลกด้วย

Crafting Futures

ดร.พัชรวีร์ ตันประวัติ หัวหน้าฝ่ายศิลปะและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ British Council ประเทศไทย

อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผลิตเงินเข้าประเทศอังกฤษได้ชั่วโมงละ 450 ล้านบาท

หากเลือกคนอังกฤษมา 11 คน จะมี 1 คนเป็นคนในวงการสร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงทั้งโปรแกรมเมอร์ สถาปนิก นักโฆษณา กองบรรณาธิการ หรือแม้แต่นักบัญชีของบริษัทผลิตสื่อ พูดได้เต็มปากว่า คนพวกนี้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศนี้

ในศตวรรษที่ 21 เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นของที่ฮอตฮิตกว่าที่เคย ส่วนหนึ่งเพราะมันช่วยแก้โจทย์ยากๆ เช่นปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ และการคืบคลานเข้ามาของเทคโนโลยีได้อย่างดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชิง ‘Craft’ หรือหัตถกรรม

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

หัตถกรรมในที่นี้ หมายถึงงานทำมือที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วในสังคมทั่วโลก หัตถกรรมมักเป็นงานของผู้หญิงที่บ้าน การเพิ่มอำนาจให้งานหัตถกรรม จึงเป็นการหยิบเอาพลังลับที่ซ่อนอยู่ในครัวเรือนออกมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ แถมเป็นประเภทงานที่ผู้สูงอายุก็ทำได้ จึงเหมาะกับโลกที่เข้าสู่สังคมวัยชราสุดๆ

ตัวอย่างความคราฟต์อย่างอังกฤษที่ ดร. พัชรวีร์ยกมาคือ Bethany Williams แบรนด์เสื้อผ้าซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่นทำงานร่วมกับเทสโก้และธนาคารอาหาร เพื่อให้ผู้ยากจนนำของเหลือใช้มาแลกอาหาร แล้วแบรนด์ก็ออกแบบเสื้อผ้าจากของเหลือใช้เหล่านั้น เป็นต้น

ส่วนในไทย สหราชอาณาจักรก็เข้ามาร่วมสนับสนุนผ่านทางโครงการ Crafting Futures ของ British Council ตัวอย่างของงานที่ได้ทำก็คือ แพวผ้าฝ้าย แบรนด์ที่นำลายไทลื้อและสีธรรมชาติมาทอเสื้อผ้า จนได้ตัดยูนิฟอร์มให้ธนาคารทั่วไทย และวานีตา สินค้าปักษ์ใต้โดยกลุ่มผู้หญิงที่ได้ผลกระทบจากความรุนแรงชายแดนใต้ (ยังอ่านเรื่องอื่นในโครงการนี้ได้อีกที่ https://readthecloud.co/work/crafting/)

ดร. พัชรวีร์ตบท้ายด้วยการถอดบทเรียนจากการทำงานครั้งนี้ว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและช่างฝีมือท้องถิ่น และต้องคิดไปข้างหน้า ให้หลุดกรอบ แต่ก็ยังรักษาวัฒนธรรมเดิมเอาไว้ด้วย

Social Enterprise

ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.)

ณัฐพงษ์ถอดบทเรียนผ่าน 8 สิ่งที่เขาประทับใจในเพื่อสังคมของสหราชอาณาจักร เผื่อว่าจะนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้บ้าง เรียงตามลำดับดังนี้ 

1. Michael Young คือคนแรกๆ ที่นำการคิดเพื่อสังคมมาใส่ในธุรกิจ และเป็นผู้ที่ผลักดันให้สหราชอาณาจักรช่วงหลังสงครามโลกเป็นรัฐสวัสดิการ หมายถึงรัฐที่มีนโยบายดูแลประชาชนโดยพื้นฐานให้เท่าเทียมกัน รวมถึงตั้ง Institute of Community Studies ซึ่งดูแลองค์กรเพื่อสังคมอยู่กว่า 60 องค์กร เรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการธุรกิจเพื่อสังคมทั้งของอังกฤษและของโลกเลย เขามีความเชื่อว่า คำว่า no ไม่ใช่คำปฏิเสธ แต่เป็นคำถาม ว่าจะต้องสร้างวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้คำนั้นกลายเป็น yes ซึ่งก็คือที่มาของแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมนั่นเอง

2. THE BIG ISSUE ธุรกิจเพื่อสังคมเจ้าแรกๆ ที่ขายหนังสือพิมพ์ด้วยการให้คนไร้บ้านเป็นตัวแทนขายหนังสือ รวมถึงนำกำไรมาลงทุนต่อให้ธุรกิจเพื่อสังคมทั่วโลก จนกลายเป็นว่าตอนนี้มีธุรกิจอีกกว่า 330 รายที่ธุรกิจนี้สนับสนุนอยู่ และมีธุรกิจอีกมากมายที่นำโมเดลนี้ไปปฏิบัติตาม ในแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม THE BIG ISSUE นับเป็นกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมากๆ

การขยับตัว 4 ด้านของ สหราชอาณาจักร ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

3. Social Enterprise UK คือองค์กรที่ทำงานเบื้องหลังเพื่อสนับสนุนแวดวงธุรกิจเพื่อสังคม เช่นการทำวิจัยทุก 2 ปี สำหรับโน้มน้าวว่าทำไมอังกฤษถึงต้องมีธุรกิจเพื่อสังคม

4. Social Enterprise Awards การทำเวทีมอบรางวัลแด่ธุรกิจเพื่อสังคม เป็นทั้งการชื่นชมให้ธุรกิจเหล่านั้นมีกำลังใจก้าวต่อไป และเป็นการแนะนำให้โลกได้รู้จักโมเดลธุรกิจดีๆ สำหรับนำไปปรับใช้ต่อเองได้ด้วย โดยณัฐพงษ์ยกตัวอย่าง 2 ธุรกิจที่เพิ่งได้รับรางวัลไป นั่นคือ Here ธุรกิจโดยบุคลากรทางการแพทย์ ที่พยายามสนับสนุนให้คนรักษาตัวดีจนไม่ต้องมาหาหมอ และ Company Shop Group ผู้ทำซูเปอร์มาร์เก็ตสำหรับคนกลุ่มพิเศษ ที่ต้องเป็นสมาชิกถึงจะซื้อได้ และสินค้าก็จะราคาถูก เพราะเป็นสินค้าใกล้หลุดสต๊อก

5. Nesta องค์กรของรัฐบาลอังกฤษ ที่ทำงานเชิงนโยบาย และทำวิจัยสนับสนุนความดีงามของการทำธุรกิจเพื่อสังคม องค์กรนี้เป็นหนึ่งในองค์กรอีกมากมายของอังกฤษที่ตั้งมาเพื่อสร้างระบบนิเวศดีๆ ให้ธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศได้เติบโต

6. UnLtd เป็นกองทุนพี่เลี้ยง สำหรับคนอังกฤษคนไหนที่อยากเริ่มทำธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมา จะเริ่มได้ง่ายมากเพราะมี UnLtd คอยสนับสนุน ที่ผ่านมา มูลนิธินี้ได้ช่วยสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมมากถึง 16,500 รายแล้ว

7. Big Society Capital เป็นโมเดลในการนำเงินเปล่า หรือเงินที่ฝากธนาคารแล้วนอนแน่นิ่งไม่ได้ขยับเกิน 15 ปี ออกมาหมุนด้วยการลงทุนในธุรกิจเพื่อสังคม จุดที่น่าสนใจคือ แม้รัฐบาลจะประกาศว่าใครต้องการเงินส่วนนี้คืน ก็มาขอคืนได้ แต่คนกลับไม่ค่อยขอคืนสักเท่าไร เนื่องจากมองเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ดี

8. Buy Social คือแคมเปญให้ชาวอังกฤษสนับสนุนผลิตภัณฑ์โดยธุรกิจเพื่อสังคม นี่เป็นตัวอย่างที่บอกว่า ธุรกิจเพื่อสังคมในอังกฤษอยู่รอดและเติบโตได้เพราะคนอังกฤษเองเห็นชอบด้วย โดยเคยมีการวิจัยว่า ถ้าให้คนอังกฤษเลือกซื้อของจากธุรกิจทั่วไป มูลนิธิ รัฐบาล หรือธุรกิจเพื่อสังคม พวกเขาจะเลือกธุรกิจเพื่อสังคม เพราะมองว่าจะได้ของที่คุณภาพดี ราคาดี และส่งผลดีต่อทุกคนที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่องค์กรอื่นๆ อาจตอบโจทย์เหล่านี้ไม่ได้

สหราชอาณาจักร

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ