ยูกันดา ประเทศเล็กๆ ในเขตแอฟริกาตะวันออกไม่มีทางออกสู่ทะเลและถูกขนาบด้วยประเทศขนาดใหญ่อย่างคองโกและเคนยา ภายหลังได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรใน ค.ศ. 1962 ประเทศยูกันดาผ่านความวุ่นวายทางการเมืองและรัฐประหารเป็นเวลาหลายปี จนปัจจุบันได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี (Yoweri Museveni) ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานกว่า 33 ปี

เรามีโอกาสไปฝึกงานที่ Kigezi Healthcare Foundation (KIHEFO) เมือง Kabale เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทด้านระบาดวิทยา เพื่อทำวิจัยเกี่ยวกับ HIV และศึกษาด้านระบบสาธารณสุข ระหว่างนั้นก็ไปดูงานที่คลินิก HIV และแผนกวิสัญญี (เราเป็นหมอดมยาด้วย) ที่ Kabale Regional Referral Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐบาลประจำเมือง 

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขาประเทศยูกันดา

ปัญหาด้านสาธารณสุขหลักๆ ของยูกันดาเหมือนกับประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา ทั้งด้านสุขอนามัย การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข ภาวะขาดสารอาหารในเด็ก การติดเชื้อ HIV และโรค AIDS สำหรับชาวบ้านที่อยู่ตามพื้นที่ชนบท ปัญหาเหล่านี้ถูกซ้ำเติมด้วยความยากจน ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ไม่เพียงพอ และปัญหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ 

แม้ยูกันดาจะมีภาษาท้องถิ่นมากกว่า 30 ภาษา แต่เนื่องจากมีภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ คนยูกันดาเลยพูดภาษาอังกฤษได้ดีเกือบทุกคน เราจึงไม่มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารมากนัก ที่ Kabale ภาษาท้องถิ่นคือ Rukiga เราหัดพูดประโยคง่ายๆ ได้บ้าง ไว้พอทักทายพูดคุยเท่านั้น คนยูกันดาที่เราเจอส่วนใหญ่พูดกันได้คนละ 3 – 4 ภาษาเลยทีเดียว

Kabale : Switzerland of Africa

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขาประเทศยูกันดา

Kabale เป็นหนึ่งในเมืองหลักของภูมิภาค Kigezi ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ใกล้กับชายแดนประเทศรวันดา ฉายาของเมืองนี้คือ ‘สวิตเซอร์แลนด์แห่งแอฟริกา’ ด้วยลักษณะภูมิประเทศของเมืองเป็นเทือกเขา อากาศหนาวเย็นตลอดปี โดยเฉพาะช่วงเช้าและกลางคืน เดือนที่เราอยู่มีหมอกลงทุกเช้า บางวันอุณหภูมิลงไปถึง 17 องศาเซลเซียส แต่กลางวันกลับแดดแรงและอากาศร้อนมากแทน โดยฤดูฝนกินเวลามากกว่า 6 เดือนต่อปี ในภูมิภาค Kigezi สัดส่วนของภาคครัวเรือนที่มีไฟฟ้าและน้ำประปาสะอาดใช้นั้นต่ำอย่างน่าใจหาย ถึงขั้นไม่ต้องพูดเลยว่ามีอินเทอร์เน็ตใช้กันหรือเปล่า

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

ตัวเมือง Kabale ตั้งอยู่บนที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขาทั้งสองด้าน มีถนนหลักเพียงเส้นเดียวผ่านกลางเมือง ฝุ่นค่อนข้างเยอะเพราะถนนบางเส้นยังเป็นดินลูกรัง สองข้างทางเป็นห้องแถวและร้านค้า เราพยายามจะ Cafe Hopping หาร้านกาแฟชิคๆ ไว้นั่งทำงาน สุดท้ายทั้งเมืองมีร้านที่ใช้ Wi-Fi ได้อยู่แค่ร้านเดียว เราไปบ่อยจนพนักงานทุกคนในร้านจำหน้าเราได้ แถมเจ้าของร้านก็เป็นคนอินเดียที่ย้ายมาตั้งรกรากที่นี่ อินดี้ไปอีก

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

ส่วนถนนหนทางที่ออกจากเมืองไปยังหมู่บ้านรอบนอกถ้าไม่ใช่เส้นทางหลักก็จะเป็นถนนดินลูกรังเช่นกัน การเดินทางค่อนข้างลำบากและใช้เวลามาก หากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามหมู่บ้านที่ไกลออกไปจากตัวเมืองเกิดเจ็บป่วยขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็เลือกไม่ไปโรงพยาบาล แต่จะไปหาหมอบ้านแทน (หมอบ้านรักษาด้วยเวทมนตร์และสมุนไพร) 

ฉะนั้น การให้บริการทางสุขภาพในชุมชน (Community-Based Health Care) จึงมีบทบาทสำคัญมากทั้งด้านการป้องกันและรักษาโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่มีความจำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสต่อเนื่อง แต่มีความลำบากในการเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาล อีกโครงการหนึ่งของ KIHEFO ที่น่าสนใจ คือการสร้างความร่วมมือระหว่างการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์พื้นบ้าน มีการอบรมให้ความรู้ด้านการแพทย์เบื้องต้นกับหมอบ้าน โดยเฉพาะการสังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการแบบไหนจึงควรมารับการรักษาที่โรงพยาบาลแทนการรักษากับหมอบ้าน

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

คนแถบนี้ทำเกษตรกรรมเพื่อยังชีพ (Subsistence Farming) เป็นหลัก เขานิยมปลูกกล้วย ข้าวโพด ถั่ว มันฝรั่ง กาแฟ และสับปะรด ส่วนผลผลิตที่ได้ก็ใช้บริโภคกันในครัวเรือน แต่ยังขาดเทคโนโลยีทางการเกษตรและพึ่งพาแรงงานคน 100 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรเลยขึ้นกับสภาพอากาศในแต่ละปีว่าฝนตกมากน้อยแค่ไหน สำหรับอาหารการกิน แต่ละมื้อก็มีแป้งและผักเป็นส่วนประกอบหลัก มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนน้อย เพราะราคาค่อนข้างแพง แหล่งโปรตีนจึงมาจากถั่ว (ที่เราได้กินเกือบทุกวัน)

Kabale Regional Referral Hospital 

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา
บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดกลางตั้งอยู่บนเขา มีวิว 180 องศาเป็นตัวเมืองด้านล่าง ที่นี่มีหมอเฉพาะทางแค่ 8 คน น้องหมออินเทิร์น 10 คน และมีตำแหน่งที่เรียกว่า Clinical Officer ซึ่งเรียนแค่ 3 ปี จบออกมาก็ช่วยตรวจคนไข้ที่แผนกผู้ป่วยนอกในเคสที่ไม่ซับซ้อนได้ (เป็นการแก้ปัญหาบุคลาการทางการแพทย์ขาดแคลนได้ในระดับหนึ่ง) สถานที่แห่งนี้ยังเป็นสถาบันร่วมฝึกสอนของโรงเรียนแพทย์ Kabale University อีกด้วย 

โรงพยาบาลรัฐที่นี่เจอปัญหาคล้ายกับไทย คือขาดแคลนบุคลากรและงบประมาณ อุปกรณ์ทางการแพทย์และเวชภัณฑ์ไม่เพียงพอกับความต้องการ เงินเดือนตกเบิกคือเรื่องปกติ มีบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ได้รับค่าทำงานล่วงเวลาเป็นน้ำตาลทรายแดงคนละถุงเป็นการแก้ขัดไปก่อน (เห็นแล้วเศร้าแทน)

โรงพยาบาลนั้นห่างจากที่พักของเรา (ที่อยู่บนเขาเช่นกัน) ประมาณ 1 กิโลเมตร ซึ่งเราเดินไปกลับทุกวัน แต่ถ้าวันไหนรีบ ก็จะนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (มีชื่อเรียกว่า Boda boda) เด็กอเมริกันที่มาดูงานที่เดียวกับเราทุกคนจะกลัวการนั่ง Boda boda มาก เพราะได้รับการบอกเล่าว่าอันตรายและห้ามนั่งถ้าไม่จำเป็น แต่ในฐานะที่มาจากประเทศไทย การนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างถือเป็นเรื่องชิลล์ๆ สำหรับเรา 

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

ในช่วงที่เราวนไปทำงานที่ห้องผ่าตัด สิ่งที่เราทึ่งมาก คือหมอศัลยกรรมทั่วไปผ่าตัดได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า (เหมือนหมอไทยตามต่างจังหวัดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว) ส่วนเราเป็นหมอดมยาคนเดียวในโรงพยาบาล จึงช่วยดมยาและบล็อกหลังกับป้าๆ วิสัญญีพยาบาลกันไป (รวมถึงแอบไปช่วยอยู่เวรกะบ่ายดึกด้วย) ตึกผ่าตัดและอุปกรณ์ของแผนกวิสัญญียังดูค่อนข้างใหม่เพราะเพิ่งได้รับบริจาคจากรัฐบาลญี่ปุ่น แต่ยาสลบที่ใช้เก่าจนเมืองไทยเลิกใช้ไปแล้วเป็น 10 ปี วันแรกก็ทุลักทุเลพอสมควร เพราะเรายังไม่ชินกับอุปกรณ์และยาที่มีให้ใช้ เราได้เรียนรู้ว่า ท่ามกลางความไม่พร้อมในหลายด้าน ทุกอย่างที่นี่ก็ดำเนินไปได้ในแบบของมัน เวลา 2 อาทิตย์ในห้องผ่าตัดผ่านไปอย่างรวดเร็ว ถือเป็นประสบการณที่ดีสำหรับหมอดมยาคนหนึ่งเลยทีเดียว

HIV

HIV เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอันดับต้นของทั้งภูมิภาค Sub-Saharan Africa ปัจจุบันความชุกของโรคทั้งประเทศอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ (ประเทศไทยประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์) โดยมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อ HIV ผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงอายุ 15 – 24 ปี สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) และวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและการบริการทางสุขภาพได้น้อยกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

คลินิก HIV ของ Kabale Regional Referral Hospital มีผู้ป่วยอยู่ในความดูแลประมาณ 3,000 คน คนไข้ล้นคลินิกเป็นภาพปกติที่เห็นได้ทุกวัน บางวันหมอประจำคลินิกต้องทำงานโดยไม่หยุดพักกินข้าวเที่ยง หรือแอบไปกินแค่ 5 – 10 นาที มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่มีนัดห่างถึง 6 เดือน คือปีนึงมารับยาแค่ 2 ครั้ง เพราะทำงานเป็นคนขับรถบรรทุกระยะไกล มารับยาต่อเนื่องไม่ได้ทุกเดือนแบบคนอื่น (ส่วนกินยาครบหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล และ U.S. Agency for International Development (USAID) การดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ความชุกและอัตราการผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงตลอดระยะเวลา 10 ปี แต่กลุ่ม LGBT ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรหลัก (Key Population) ของการดำเนินงานเรื่อง HIV ยังมีปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพและการยอมรับจากสังคมเป็นอย่างมาก จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนยูกันดา ชายรักชายที่นี่มักไม่เปิดเผยสถานะของตัวเอง เพราะกลัวจะได้รับผลกระทบ และช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีข่าวออกมาว่ากฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกัน (เรียกกันว่า ‘Kill the gays’ bill) จะถูกรัฐบาลนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งหลังยกเลิกไปเมื่อ 5 ปีก่อน

Uganda People 

สิ่งที่เราประทับใจมากที่สุดในการฝึกงาน คือ คนยูกันดาที่เราเจอและทำงานด้วยไม่ได้เถื่อนหรือน่ากลัวอย่างที่คิด ทุกคนเฮฮาเป็นกันเองและน่ารักมากกกก ตลอด 10 สัปดาห์ของการฝึกงานสนุกมากและไม่เหงาเลย พอเขารู้ว่าเรามาจากประเทศไทยก็จะพูดถึง Tony Jaa และเปิดหนังเรื่อง องค์บาก ให้ดู (เรื่องนี้ดังมากที่นี่) มีนักเรียนเทคนิคการแพทย์ยูกันดาคนหนึ่งมาฝึกงานที่เดียวกัน บอกว่าชอบประเทศไทยมากและอยากไปเที่ยวพัทยาสักครั้ง เขาได้ยินมาว่าคนไทยรักพระมหากษัตริย์ รู้แม้กระทั่งว่าคนไทยใส่เสื้อสีเดียวกันในวันสำคัญอีกต่างหาก (ที่ยูกันดายังมี 3 – 4 ราชวงศ์ แบ่งตามอาณาเขตปกครองดั้งเดิม ถือว่ายังมีอิทธิพลแต่ไม่มีบทบาททางการเมืองแล้ว

บันทึกฝึกงานของเด็ก ป.โท ผู้ไปศึกษาระบบสาธารณะสุขและวิจัย HIV ที่ รพ. บนภูเขา ประเทศยูกันดา

อีกอย่าง ผู้หญิงที่นี่ดื่มเบียร์หนักมากไม่แพ้ผู้ชาย จากที่เราสังเกต ประมาณ 5 โมงเย็น บาร์จะเริ่มมีสาวๆ และป้าๆ เข้ามานั่งกระดกเบียร์คนละขวด ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบทุกชนิดราคาไม่แพงและเข้าถึงง่าย (รัฐบาลกำลังเตรียมประกาศขึ้นภาษีและจำกัดช่วงเวลาการขายเร็วๆ นี้) ตรงข้ามกับบุหรี่ แทบจะไม่เห็นใครสูบ เพราะราคาค่อนข้างแพงและหาร้านที่ขายบุหรี่ได้น้อยมาก

Social Determinants of Health

ท้ายสุดจะเห็นได้ว่าสุขภาพของปัจเจกบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่สภาพแวดล้อม สภาพสังคมและเศรษฐกิจ การศึกษา นโยบายทางการเมือง ความเชื่อและวัฒนธรรม ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การจะสร้างสุขภาวะในกลุ่มประชากรหนึ่งๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเหล่านี้ร่วมด้วย มากกว่ามุ่งเน้นพัฒนาด้านการแพทย์หรือระบบสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พรชนัน ดุริยะประพันธ์

นักศึกษาปริญญาโทด้านระบาดวิทยา UCLA ที่รักการเดินทางไปหาประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิต ชอบกินกาแฟดริป และอะไรก็ได้ที่ทำจากกล้วย