The Cloud x TAT Contact Center เพื่อนร่วมทาง 

ถ้าถามคนอุดรฯ ว่าของดีในจังหวัดของเขาคืออะไร

ส่วนใหญ่อาจพูดถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เพราะจังหวัดอุดรธานีเป็นที่ตั้งของวัดสำคัญ ๆ มากมาย ทั้งวัดของพระเกจิอาจารย์หลายท่านที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใส รวมถึงวัดแนวพุทธอุทยานที่ผู้คนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยว

รองลงมา อาจพูดถึงสถานที่ที่เกี่ยวกับตำนานอย่างป่าคำชะโนด ที่มาพร้อมกับความเชื่อเรื่องพญานาค ซึ่งนักแสวงโชคต่างหวังว่าความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่จะช่วยอำนวยอวยชัยเป็นรางวัลที่ 1 ให้สักใบ ให้สมกับการได้เดินทางไกลมากราบไหว้

บางคนอาจพูดถึงสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง การขุดค้นพบโบราณวัตถุโดยเฉพาะภาชนะเครื่องปั้นดินเผาที่มีลวดลายเฉพาะจาก 5,000 ปีก่อน จนทำให้ที่นี่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก 

แต่ที่ใหม่ล่าสุด อุดรธานีอาจมีภาพจำจากเป็ดยางสีเหลืองตัวใหญ่ที่ลอยอยู่กลางบึงน้ำ สถานที่นั้นคือสวนสาธารณะหนองประจักษ์ศิลปาคม ที่นายกเทศมนตรีในขณะนั้นได้นำเป็ดมาจัดวางเพื่อสร้างสีสัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการมาจนถึงปัจจุบัน

นอกเหนือจากสถานที่หลัก ๆ ที่ว่ามาแล้ว อุดรธานียังแฝงด้วยผู้คนที่มีความสนใจแตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งหลายขวบปีที่ผ่านมา พวกเขาได้กลับมาสร้างธุรกิจตามความชอบของตัวเอง จนถ้าถามคนอุดรฯ อีกทีในเวลานี้ว่าไปอุดรฯ ต้องไปเที่ยวที่ไหนบ้าง หนึ่งในคำตอบนั้นจะต้องมี “คาเฟ่น่ารักๆ” ในมุมนั้นมุมนี้ อย่างไม่ต้องสงสัย

คอลัมน์ Take Me Out คราวนี้ จึงจะมาชวนขับรถเล่นไปรอบตัวเมือง ไปดูว่านอกจากคาเฟ่หลากหลายแห่งแล้ว คนรุ่นใหม่ในจังหวัดอุดรธานี ได้สร้างสีสันจากความชอบและความมุ่งมั่นให้กับจังหวัดนี้อย่างไรบ้าง

01

หมากแข้ง

ร้านอาหารไทย-อีสาน ที่ปรุงจากวัตถุดิบตามฤดูกาล และสนับสนุนให้คนกินอาหารเป็นยา

หมากแข้ง ร้านอาหารไทย-อีสาน ที่ปรุงจากวัตถุดิบตามฤดูกาล และสนับสนุนให้คนกินอาหารเป็นยา

หนุ่ม-วีระวัฒน์ กับน้องชาย โจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ เริ่มเก็บประสบการณ์ด้านการทำอาหารจากสหรัฐอเมริกา ก่อนจะสั่งสมเทคนิคและความรู้เกี่ยวกับพืชผักสมุนไพรจากที่ต่าง ๆ และเดินทางกลับมายังบ้านเกิด เปิดร้านอาหารไทยโดยตั้งชื่อเพื่อระลึกถึงร้านเสื้อของผู้เป็นแม่ว่า ‘ซาหมวย แอนด์ ซันส์’ ใน พ.ศ. 2557 ด้วยความตั้งใจเผยแพร่แนวคิดการกินอาหารเป็นยา สอดคล้องกับฤดูกาล และสนับสนุนวัตถุดิบท้องถิ่นและเกษตรกรไทย

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

พ.ศ.2563 เชฟทั้งสองคนได้โอกาสขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น โดยขยับสู่ที่ตั้งใหม่ในชื่อ ‘หมากแข้ง’ นำเสนอเมนูอาหารไทย-อีสาน ที่เข้าถึงง่ายขึ้น แต่ยังคงจิตวิญญาณเดิม อย่างแกงหน่อไม้ ใส่ความพิเศษอย่างเอ็นหอยจอบ ซึ่งเป็นหอยที่มีตามฤดูกาล รวมถึงใส่ใบย่านางที่ในตำราโบราณบอกว่า เมื่อกินกับหน่อไม้แล้วจะช่วยฟอกเลือดได้ หรือเมนูป่น (เครื่องจิ้มหรือน้ำพริกแบบอีสาน) ใช้ปลายอนที่มักอาศัยอยู่ในน้ำสะอาดตามป่าเขาเป็นส่วนผสม กินคู่กับผักรสขมอมส้มตามฤดูกาลช่วยขับเสมหะ ทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจเผยแพร่แนวคิดเบื้องหลังการทำอาหารสู่ผู้คนวงกว้างมากขึ้น เหมือนที่เชฟโจ้กล่าวว่า

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“เทรนด์การรักสุขภาพในเมืองอุดรฯ พูดจริง ๆ ว่ามันหลวม เช่น บอกว่ากินอาหารคลีนนะ แต่เลือกกินอกไก่จากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ถ้าเป็นการกินตามฤดูกาลจริง ๆ กินอาหารตามธาตุจริง ๆ คนในพื้นที่อาจจะยังเลือกไม่เสพสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสได้อธิบายให้คนที่มาแบบลึกซึ้ง แล้วเขาเปิดใจรับฟัง ก็คงถือว่าเป็นการได้พบกัลยาณมิตรที่ดี”

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

ที่ตั้ง : โครงการ Master place 103 / 8 ถนนศรีชมชื่น ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : วันอังคาร-อาทิตย์ 11.00 – 14.30 และ 17.00 – 21.00 (ปิดวันจันทร์)

โทรศัพท์ : 06 5512 8288 

Facebook : หมากแข้ง – MAK KHANG

02

Whereder Poshtel and Thai Tune Coffee Bar

Poshtel แห่งแรกในจังหวัด ที่ชวนให้คนแวะมาพักและรับประทานอาหารอัตลักษณ์อีสาน

Whereder Poshtel and Thai Tune Coffee Bar Poshtel แห่งแรกในจังหวัด ที่ชวนให้คนแวะมาพักและรับประทานอาหารอัตลักษณ์อีสาน

ในช่วงเวลาที่คำว่า Poshtel หรือกระทั่งคำว่า โฮสเทล ยังเป็นเรื่องใหม่ในจังหวัดอุดรธานี นภกช ปัณฑพรรธน์กุล เลือกเดินทางจากเมืองหลวงกลับบ้านพร้อม วิรัช ปัณฑพรรธน์กุล เพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ในพื้นที่ที่อึกทึกน้อยกว่า แต่แทนที่จะสานต่อธุรกิจของที่บ้าน เขาเลือกออกแบบธุรกิจใหม่ที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง โดยยึดตึกแถวในตัวเมือง รีโนเวตเป็นที่พักในชื่อชวนให้คน ‘แวะเด้อ’ อย่าง ‘Whereder Poshtel’ พร้อมเปิดชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม รวมถึงเป็นพื้นที่ต้อนรับผู้คนในรูปแบบร้านอาหารและคาเฟ่แบบใต้ถุนบ้าน ในชื่อ ‘Thai Tune Coffee Bar’

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

นอกจากคอนเซ็ปต์การออกแบบร้านและอาหารที่ยึดเอกลักษณ์อีสานมาตีความและสร้างสรรค์ใหม่ บ่อยครั้งที่นี่ยังถูกใช้เป็นเวทีจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้กลุ่มขับเคลื่อนต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัด เช่น กิจกรรมบรรยายเกี่ยวกับงานออกแบบ สถาปัตยกรรม จัดแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ไปจนถึงเวิร์กชอปเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด

“ด้วยคอนเซ็ปต์ของที่นี่ที่มันเหมือนเป็นบ้านของเรา เหมือนเป็นใต้ถุนบ้านคนอีสานที่ให้คนมานั่งกินกาแฟ คุยกัน เราจึงคิดว่ามันเป็นพื้นที่เปิดสำหรับใช้จัดกิจกรรมที่เราสนใจได้” ผู้ก่อตั้งทั้งสองเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเกี่ยวกับสถานที่

“เราคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรผลักดัน เพราะอีกแรงบันดาลใจหนึ่งก็คือเราอยากสร้างชุมชนที่ดีทิ้งไว้ให้ลูกของเราในอนาคต เราคิดถึงว่าจะต้องทำสภาพแวดล้อมแบบไหนในเมือง ให้เขาเติบโตได้อย่างสร้างสรรค์และสมบูรณ์”

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

ที่ตั้ง : 212 – 214 ถนนประจักษ์ศิลปาคม ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 08.00 – 21.00 น.

โทรศัพท์ : 08 8214 2555

Facebook : Whereder Poshtel and Thai Tune Coffee Bar

03

Le Bonheur Pâtisserie

ร้านขนมในสวนหน้าบ้านเชฟ ที่คนมากินเกินครึ่งตั้งใจเดินทางไกลมาจากจังหวัดอื่น

Le Bonheur Pâtisserie ร้านขนมในสวนหน้าบ้านเชฟ ที่คนมากินเกินครึ่งตั้งใจเดินทางไกลมาจากจังหวัดอื่น

เอิร์ล-ฐาวรา อนันธิกุลชัย บอกว่าเขาเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว และชอบทำงานที่รักอยู่เงียบๆ อาจเห็นได้จากร้านขนมของเขาในซอกซอยลึก ซึ่งใช้พื้นที่เล็ก ๆ หน้าบ้านของตัวเองเป็นที่ตั้ง แต่ร้าน ‘Le Bonheur Pâtisserie’ (เลอ บอนเนอร์) ของเขาก็มีชื่อเสียงไปไกล จนลูกค้าประจำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในจังหวัด มีตั้งแต่คนที่เดินทางมาเช้าเย็นกลับจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงเชฟจากต่างประเทศที่ทำงานในครัวของร้านมิชลินสตาร์ ก็เคยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องอาหารระหว่างกันมาแล้ว

เชฟเอิร์ลไม่ได้เรียนจบจากโรงเรียนการทำอาหาร เขาศึกษาจากตำราต่างๆ ด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากการเสาะหาวัตถุดิบชั้นยอดจากภูมิภาคต่าง ๆ ประกอบกับการใส่ตัวตนของเขาลงไปในทุกจาน จุดเด่นของที่นี่ยังอยู่ที่เชฟไม่หยุดพัฒนาเมนูขนม 

โดยเมนูพื้นฐานของร้านอย่างบานอฟฟี่ เค้กมะพร้าวบาวาเรียน ทรัฟเฟิลช็อกโกแลตออร์เรนจ์ รวมถึงเมนูซิกเนเจอร์อย่างลูกแพรโพชไวน์แดงฝรั่งเศสซึ่งเป็นเมนูประจำ อีกมากกว่า 30 จานจะสร้างสรรค์และสับเปลี่ยนกันอยู่เสมอ จนบางครั้งอาจเปลี่ยนบ่อยเป็นรายสัปดาห์

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“ผมอยากเอาวัตถุดิบเป็นตัวกำหนด ว่าเราอยากจะทำอะไรที่มันดีที่สุดให้คนได้รับประทาน” เชฟเอิร์ลว่า “เราอยากทำอะไรที่อุดรฯ ยังไม่มี ให้เป็นขนมที่มีความซับซ้อน รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่พิเศษยิ่งขึ้น

“เรามองเห็นว่าตอนนั้นพรีเมี่ยมโปรดักต์ในจังหวัดยังไม่มี ก็เลยเอาจุดนี้มาเป็นจุดขาย ทำยังไงให้ลูกค้าที่ยอมหลบเลี่ยงเข้ามาไกลถึงขนาดนี้เกิดความทรงจำที่ดี แล้วเราก็อยากนำสิ่งที่เราเคยเจอในสมัยเด็ก ในสมัยเรียน ในสมัยที่เราเดินทาง ที่เราได้เห็นหลาย ๆ อย่างจากหลาย ๆ ที่ เอากลับมาที่บ้านเรา”

ที่ตั้ง : 569/3 ซอยจักรแก้ว 3 ถนนอำเภอ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 10.30 – 19.30 น.

โทรศัพท์ : 06 2987 9090

Facebook : Le Bonheur Pâtisserie – เลอ บอนเนอร์

04

ไม้บ้าน

ร้านอาหาร คาเฟ่ และสตูดิโองานไม้ของสถาปนิก ผู้ตั้งใจกลับมาสร้างงานออกแบบที่บ้านเกิด

ไม้บ้าน ร้านอาหาร คาเฟ่ และสตูดิโองานไม้ของสถาปนิก ผู้ตั้งใจกลับมาสร้างงานออกแบบที่บ้านเกิด
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

แต่เดิม ‘ไม้บ้าน’ ของ พี-พีระวัฒน์ เชียงไฝ ตั้งอยู่บนที่ดินผืนเล็ก ๆ บนถนนรอบเมืองเส้นใหญ่ เปิดเป็นคาเฟ่และร้านขายของที่ระลึกจากงานไม้ คู่กับสตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรม ตามความตั้งใจของเจ้าของว่าอยากกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านหลังจากเรียนจบแล้ว จนหลายปีผ่านไป พีระวัฒน์ได้เลือกที่ดินขนาด 2 ไร่ที่ตั้งอยู่ข้างบ้านของตัวเองผืนนี้ อาศัยร่มไม้ใหญ่ที่มีอยู่เดิมเติมเต็มบรรยากาศให้บรรดาบ้านไม้หลังต่าง ๆ ซึ่งเขาออกแบบและปรับปรุงจากทั้งไม้เก่าและไม้ใหม่ ให้เป็นร้านอาหารผสมคาเฟ่ที่รองรับคนได้มากขึ้น ยังคงขายงานไม้ และทำสตูดิโอออกแบบอยู่อย่างต่อเนื่อง

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“เราชอบทำโมเดล ทำเฟอร์นิเจอร์ ทำอะไรอย่างนี้อยู่แล้วตั้งแต่สมัยเรียน ตอนนั้นหอพักเราอยู่แถว ๆ ภูเขาทอง ซึ่งมีร้านไม้เยอะมาก เราก็จะเดินไปซื้อไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ใช้เอง หรือบางทีก็เอาเศษไม้จากกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนั่นแหละกลับมานั่งทำ” พีระวัฒน์เล่า

“พอเรากลับมาบ้าน เรามีเศษไม้เหลืออยู่เยอะ แรก ๆ ก็จะมาทำตกแต่งร้านของเราเอง ทำซุ้มกาแฟ ทำถาดไม้บ้าง บ้านนกบ้าง ซึ่งจริง ๆ เราตั้งใจกลับมาทำงานออกแบบ แต่พอทำงานไม้ไปด้วย กลายเป็นว่ามีคนซื้อ อย่างเราทำกระดานดำมาตั้งหน้าร้านเป็นป้าย ลูกค้ามาซื้อกาแฟก็ขอซื้อกระดานดำไปด้วย กลายเป็นว่ากระดานดำนี่ขายดีกว่ากาแฟเสียอีก”

ที่ตั้ง : 299/1 ซอยประเสริฐ ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 9.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 08 3404 4133

Facebook : ไม้บ้าน

05

บ้านนาคาเฟ่

คาเฟ่กลางทุ่งนา เปลี่ยนฝันการเปิดร้านอาหารท่ามกลางธรรมชาติให้เกิดขึ้นจริง

บ้านนาคาเฟ่ คาเฟ่กลางทุ่งนา เปลี่ยนฝันการเปิดร้านอาหารท่ามกลางธรรมชาติให้เกิดขึ้นจริง
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

ความสนใจเปิดร้านอาหารของ แจม-สุชาธิษณ์ สุวิตธรรม เริ่มจากการสั่งสมประสบการณ์ในร้านอาหารไทยที่ประเทศแคนาดาในทุก ๆ ปิดเทอมตลอดช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และต่อเนื่องไปถึงการเลือกใช้ชีวิตในต่างประเทศหลายปีเพื่อศึกษาการทำอาหารและบริหารจัดการร้านเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจกลับบ้าน

“เรามีความฝันว่าอยากทำร้านอาหารที่ชอบ แล้วก็ดูแลพ่อแม่ได้ อยากพัฒนาให้เป็นร้านที่มีชื่อเสียงของอุดรฯ” เจ้าของร้านเล่า

“คุณพ่อคุณแม่ทำพื้นที่บ้านสวนตรงนี้ไว้ปลูกสวนอยู่นอกเมือง เราเล็งแล้วแหละว่าเราอยากมีชีวิตแบบนี้ อยากทำงานที่บ้านตัวเอง แล้วก็เอาความรู้ที่สะสมมาเปิดร้านที่บ้าน” 

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

บนพื้นที่สวนเดิมประกอบด้วยทุ่งนาและไม้ผลหลากหลายพันธุ์ เจ้าของที่คงสภาพเดิมของสวนไว้อย่างนั้น แล้วดึงเอกลักษณ์จากพื้นที่ ออกแบบเป็นคาเฟ่ในโรงนาผสมเรือนกระจก เหมือนผสมความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน ที่นี่จึงกลายเป็นที่พักผ่อนนอกเมืองที่ได้รับความนิยมจากคนทุกวัยทั้งในและนอกจังหวัด แวะมาชิมขนมและเค้กฝีมือเจ้าของ ซึ่งคิดค้นจากส่วนผสมใกล้ตัวในสไตล์ที่เรียกว่า ‘บ้านนอกอินเตอร์’ รวมถึงนำเสนออาหารแบบ Pescatarian คือลดเนื้อสัตว์ แต่ยังมีไข่ ปลา และอาหารทะเล เพื่อลดการเบียนเบียดชีวิตสัตว์ใหญ่ลงด้วย

ที่ตั้ง : 95 หมู่ที่ 1 ตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 09.00 – 17.30 น.

โทรศัพท์ : 09 5426 4624

Facebook : Barn Naa Cafe บ้านนา คาเฟ่

06

อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม

ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมสีธรรมชาติ ที่พาครามอุดรฯ ไปไกลถึงญี่ปุ่นและอินเดีย

อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้นวัตกรรมสีธรรมชาติ ที่พาครามอุดรฯ ไปไกลถึงญี่ปุ่นและอินเดีย
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

‘อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม’ มีชื่อเต็มๆ ว่า ศูนย์การเรียนรู้ อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม เรียนรู้การสร้างกระบวนการจัดการวัตถุดิบเพื่อนวัตกรรมชุมชน ริเริ่มโดย คเณศ รุ้งสันเทียะ หรือ อาจารย์เณศ อ้วนกลม ในแวดวงย้อมสีธรรมชาติ และ หยก-พสธร เดชศิริอุดม แม้ทั้งสองมีพื้นเพมาจากนครพนมและสกลนคร แต่เมื่อเห็นโอกาสจากทำเลที่ตั้งของจังหวัดอุดรธานี จึงเลือกที่ดินไม่ใกล้ไม่ไกลจากวัดป่าบ้านตาด เปิดสตูดิโอศึกษานวัตกรรมเรื่องสีธรรมชาติ ผลิตผลงานย้อมผ้า และเปิดพื้นที่สอนเรื่องการย้อมสีธรรมชาติให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป

ด้วยความที่มีพื้นฐานมาจากการเรียนและทำงานศิลปะ อาจารย์เณศเริ่มสนใจเรื่องสีในพืชพันธุ์ธรรมชาติ จากการได้ร่วมทำงานวิจัยในฐานะนักถ่ายภาพและสเก็ตช์เก็บข้อมูลพันธุ์ไม้ให้กับมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อเห็นว่าพืชพันธุ์รอบตัวโดยเฉพาะในอีสานนั้น เปี่ยมด้วยโอกาสจากการนำสีธรรมชาติมาใช้ แต่คนในท้องถิ่นมักหลงลืม จึงเริ่มหาความรู้และแผ้วถางทางที่จะนำโอกาสนั้นมาใช้

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“คนอีสานทุกหย่อมหญ้า ทุกตำบล จะต้องมีผ้าซิ่นใส่ ฝ้ายต้องปลูก ไหมต้องทำ สีย้อมต้องมี เราเห็นช่องทางในท้องถิ่นว่าเรามีความรู้เรื่องพวกนี้อยู่กับตัวตั้งแต่สมัยเด็ก เราทำเรื่องเกี่ยวกับสิ่งทอได้ และทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย” นักย้อมสีธรรมชาติว่า

อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม มีชื่อเสียงเรื่องการก่อหม้อครามได้เร็ว เพียงราว 30 นาทีก็ได้หม้อครามพร้อมย้อมจาก ‘สูตรต้มยำ’ ที่ทดลองและประดิษฐ์ขึ้นจากวัตถุดิบธรรมชาติล้วน อย่างข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และวัตถุดิบอื่นๆ จนถึงทุกวันนี้ อาจารย์เณศได้รับเชิญไปสาธิตและบรรยายให้กับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานรัฐต่าง ๆ หลายแห่ง รวมถึงได้มีโอกาสไปสาธิตการก่อหม้อครามถึงประเทศอินเดียและญี่ปุ่น 

นอกจากคราม ที่นี่ยังศึกษาและเผยแพร่สีธรรมชาติอื่น ๆ ทั้งสีดิน หรือเทคนิค Eco-printing หรือภาพพิมพ์ลายธรรมชาติ และให้คนทั่วไปมาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมเวิร์กชอปอีกด้วย

ที่ตั้ง : 648 หมู่ที่ 1 บ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 8.30 – 17.00 น. (ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหรือการนัดหมาย)

โทรศัพท์ : 09 2656 1614 

Facebook : อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม อุดรธานี

07

NOIR ROW ART SPACE

แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยแห่งเดียวในจังหวัด อาศัยตึกแถว 1 ห้องเป็นที่ผลักดันวงการศิลปะในท้องถิ่น

NOIR ROW ART SPACE แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยแห่งเดียวในจังหวัด อาศัยตึกแถว 1 ห้องเป็นที่ผลักดันวงการศิลปะในท้องถิ่น

รู้ตัวอีกที อุ้ย-ปณชัย ชัยจิรรัตน์ ศิลปินผู้เพิ่งจบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ก็พบว่าจังหวัดบ้านเกิดของเขามีเป็ดยางยักษ์สีเหลืองลอยน้ำ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดและหมุดหมายการท่องเที่ยวใหม่โดยที่เขาไม่ทันตั้งตัว เมื่อตัดสินใจกลับบ้านพร้อมกับ ส้มโอ-ปุญญิศา ศิลปรัศมี ทั้งคู่ได้ร่วมกันเปิดแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ‘NOIR ROW ART SPACE’ (นัวโรว์ อาร์ต สเปซ) ด้วยความตั้งใจหลัก 2 อย่าง หนึ่งคือ การผลักดันกิจกรรมทางศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ ในพื้นที่ และสอง ทำงานศิลปะบนการตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ท้องถิ่น นอกเหนือจากสิ่งที่ถูกเลือกหรือเพิ่งสร้าง

“เรามองภาพว่าที่ที่เราอยู่อย่างอุดรฯ มันคืออะไรกันแน่ อัตลักษณ์ของมันมีอะไรบ้าง เราพยายามจะถอดรหัส ซึ่งก็จะไม่ใช่ในแบบนักประวัติศาสตร์หรือนักวิชาการ แต่มองว่าประเด็นที่เราเจอจะป้อนกลับมาสู่งานศิลปะได้อย่างไร” ปณชัยว่า

“ต้องยอมรับว่าแรงขับเคลื่อนที่ทำให้อุดรฯ เติบโตเป็นเหมือนทุกวันนี้ หรือเป็นตัวตนแบบนี้ในทุกวันนี้ หนึ่งในนั้นคือโบราณสถานบ้านเชียง แต่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือทหารจีไอ”

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

โดยตลอดเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ที่นี่ได้จัดกิจกรรมหลากหลาย ทั้งจัดนิทรรศการ ฉายภาพยนตร์ จัดเสวนาหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งมุ่งให้บุคคลทั่วไปที่ไม่ต้องมีพื้นฐานทางศิลปะก็เข้าร่วมได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นของยาก

นอกจากนั้น ศิลปินทั้งสองยังสนใจศึกษาหน้าประวัติศาสตร์ของจังหวัดที่ไม่นิยมเล่า อย่างการเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารอเมริกันสำคัญในยุคสงครามเย็น โดยรวบรวมซากวัตถุ ภาพถ่าย บทสัมภาษณ์ และเคยนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการ Parallel: The Ramasun Station Art Trail (2019) ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร ซึ่งพวกเขายังคงค้นคว้าเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ที่ตั้ง : 256/29 บ้านเดื่อ ซอย 1 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : 13.00 – 19.00 น. (ขึ้นอยู่กับกิจกรรมหรือการนัดหมาย)

โทรศัพท์ : 09 3520 6313

Facebook : NOIR ROW ART SPACE

08

Moonday Pottery

สตูดิโอเซรามิกที่ทำให้คนรู้จักอุดรฯ ผ่านงานเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยเช่นเดียวกับบ้านเชียง

Moonday Pottery สตูดิโอเซรามิกที่ทำให้คนรู้จักอุดรฯ ผ่านงานเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยเช่นเดียวกับบ้านเชียง

เพราะสงสัยมาตลอดว่าอุดรธานี ที่ตั้งของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่มีชื่อเสียงเรื่องเครื่องปั้นดินเผา แต่ตัวจังหวัดเองกลับขาดไปซึ่งความเชื่อมโยงถึงงานเครื่องปั้นดินเผาสมัยปัจจุบัน ความสนใจและความชอบส่วนตัวทำให้ เอื้อ-ปทุมา หอมรอด แม้จะไม่ได้เรียนด้านเซรามิกมาโดยตรง แต่ก็เริ่มต้นโดยการเดินทางไปศึกษาฝึกงานกับผู้ผลิตงานเซรามิกที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงไปทำงานในแวดวงเซรามิกต่อเนื่องที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับมาร่วมกับ เอก-นิธิ รุ่งเรือง ที่บังเอิญได้ค้นพบความชอบอย่างเดียวกัน เปิดสตูดิโอเซรามิกในชื่อ ‘Moonday Pottery’

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“อยากให้คนที่นี่รู้จักงานเครื่องปั้นดินเผามากขึ้น โดยเฉพาะงานรูปแบบใหม่ๆ อย่างการทำแฮนด์เมดที่เราชอบ” ผู้ก่อตั้งทั้งสองเล่าให้ฟังถึงความตั้งใจแรกในการเปิดสตูดิโอแห่งนี้

ปัจจุบันสตูดิโอแห่งนี้ใช้พื้นที่ชั้น 3 ของ NOIR ROW ART SPACE เป็นหน้าร้านเล็กๆ ไว้จำหน่ายงาน นอกเหนือจากการออกแบบและทำตามสั่ง แต่ที่สำคัญคือ ได้ใช้เป็นสถานที่เปิดสอนปั้นและเพนต์เซรามิกแบบวันเดียวจบ ที่ให้คนทั่วไปมาเล่นสนุกได้ แม้จะไม่มีพื้นฐานก็ตาม

ที่ตั้ง : 256/29 บ้านเดื่อ ซอย 1 ตำบลหนองบัว อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : 10.00 – 17.00 น. (นัดหมายล่วงหน้า)

โทรศัพท์ : 08 4789 9117 

Facebook : Moonday Pottery

09

Khark Skateboards

ร้านสเก็ตบอร์ดที่รวบรวมคนเล่นกีฬาแผ่นไม้ติดล้อในจังหวัด สู่การจัดงานสเก็ตบอร์ดประจำปี

Khark Skateboards ร้านสเก็ตบอร์ดที่รวบรวมคนเล่นกีฬาแผ่นไม้ติดล้อในจังหวัด สู่การจัดงานสเก็ตบอร์ดประจำปี

จากเด็กที่ชื่นชอบสเก็ตบอร์ดมากถึงขั้นเคยขโมยเงินพ่อแม่ไปซื้อมาเล่น แบ็ค-ทรงวุฒิ วิเศษศุภลักษณ์ กลับมาจับแผ่นไม้ติดล้ออีกครั้งในช่วงวัย 30 ก่อนจะเห็นโอกาสนำสเก็ตบอร์ดเข้ามาขายให้คนในท้องที่เข้าถึงอุปกรณ์คุณภาพได้ง่ายขึ้น 

เขาเริ่มจากการรับอุปกรณ์บางยี่ห้อมาขายให้เฉพาะคนรู้จัก ก่อนจะเปิดคาเฟ่ผสมร้านขายสเก็ตบอร์ด ภายหลังจึงขยับเป็นร้านจำหน่าย และให้บริการเต็มตัวเมื่อปลาย พ.ศ.2563 ปัจจุบันร้านของเขาได้เป็นตัวแทนจำหน่ายแผ่นและอุปกรณ์สเก็ตบอร์ดทั้งของไทยและต่างชาติ ซึ่งหลากหลายและได้มาตรฐานไม่ต่างจากในกรุงเทพฯ

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

พร้อมกันนั้น ก็เป็นความต้องการของทรงวุฒิที่อยากสนับสนุนกีฬาชนิดนี้ในจังหวัดให้ได้รับความนิยมขึ้น อย่างการเป็นตัวตั้งตัวตีจัดงาน Go Skateboarding Day ในสวนสาธารณะของเมือง ชื่อเดียวกับวัฒนธรรมเฉลิมฉลองกีฬาชนิดนี้ของผู้เล่นทั่วโลกในวันที่ 21 มิถุนายน ทรงวุฒิจัดงานนี้ครั้งแรกใน พ.ศ.2562 และจัดซ้ำอีกครั้งในปีต่อมา ซึ่งผู้เล่นในจังหวัดและจังหวัดข้างเคียงให้การตอบรับมากถึง 100 ชีวิต เหมือนที่ทรงวุฒิเล่าว่า

“เราเห็นการเปลี่ยนแปลง เมื่อคนเข้าถึงอุปกรณ์ง่ายขึ้น กลุ่มคนเล่นก็ใหญ่ขึ้น เราได้ช่วยผลักดันเท่าที่เราทำได้ ไปขอเทศบาลให้ทำลานให้ดีขึ้น หรือแบ่งปันอุปกรณ์ดี ๆ ให้มีในลาน ขอสปอนเซอร์จากเพื่อน ๆ กันเองนี่แหละจัดงานสเก็ต สุดท้ายแล้วมันก็ต้องเป็นร้านสเก็ตบอร์ด ถึงจะมีกำลังเพื่อให้มีภาพงานแบบนี้เกิดขึ้นได้ต่อเนื่อง”

ที่ตั้ง : 297 ถนน โพศรี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 10.00 – 18.00 น.

โทรศัพท์ : 08 8884 9392 

Facebook : Khark Skateboards

10

อีหล่า มาร์เก็ต

ร้านของชำที่ขายของที่หาไม่ได้ในร้านสะดวกซื้อ และตอบสนองคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ

อีหล่า มาร์เก็ต ร้านของชำที่ขายของที่หาไม่ได้ในร้านสะดวกซื้อ และตอบสนองคนในท้องถิ่นโดยเฉพาะ
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

อีหล่า ในภาษาอีสานแปลว่าลูกสาวคนเล็ก หรือเป็นคำเรียกเด็กผู้หญิงด้วยความเอ็นดูที่ พีเจี้ยน-รักอิสระ มุกดาม่วง เลือกมาใช้ตั้งชื่อร้านขายของชำที่เขาได้ช่วยสานต่อกิจการจากครอบครัว เพราะอยากให้ฟังติดหู และให้เป็นร้านที่คนในชุมชนจะช่วยดูแล หากสิ่งที่ทำให้ ‘อีหล่า’ คนนี้เป็นที่น่าพูดถึง ไม่เพียงแต่รูปลักษณ์ของร้านที่เปลี่ยนโฉมภาพร้านของชำไปโดยสิ้นเชิง แต่สินค้าที่เจ้าของเลือกมานั้นแตกต่างจากของที่มีเหมือนกันทุกที่ในร้านสะดวกซื้อ และเป็นสินค้าที่เจ้าของรู้ว่าจะตอบสนองผู้คนในชุมชนนี้โดยเฉพาะได้อย่างไร

ยางรถมอเตอร์ไซค์ น้ำมันเครื่องรถไถ กะละมังพลาสติก ไม้กวาดทางมะพร้าว ท่อพีวีซี อุปกรณ์งานเกษตร และสินค้าอีกหลายต่อหลายประเภท เป็นเอกลักษณ์ของร้านที่ตอบสนองคนในชุมชนโดยตรง รวมถึงการมีของสดอย่างเนื้อสัตว์ ไข่ และผักจากในท้องที่ ก็เป็นสินค้าที่ร้านค้าแต่เดิมของครอบครัวมีมานานแล้ว เพียงแต่รักอิสระได้มาออกแบบและจัดระบบใหม่ ให้สินค้าเรียงเป็นระเบียบ หยิบซื้อง่าย สถานที่สะอาด และดูโปร่งโล่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของร้านเล่าว่า เป็นการแก้ปัญหาร้านขายของชำในห้องแถวที่เขาประสบมาแต่เดิมทั้งสิ้น

10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา
10 ธุรกิจ กิน ดื่ม เที่ยวเล่น ของคนอุดรธานีรุ่นใหม่ สร้างสีสันให้จังหวัดมีชีวิตชีวา

“เราขยายขึ้นมาในแง่ที่ทำให้ถูกสุขอนามัย มีระเบียบ คนเดินเลือกได้ เป็นห้องแอร์ ซึ่งโชว์ห่วยแต่เดิมเราก็จะรู้ว่า ไม่ได้ให้คนเดิน แต่ให้สั่งของแล้วเราก็หยิบให้” เจ้าของร้านเล่า

“เรื่องสินค้า ต้องเอาชุมชนเป็นหลักเลย ภาคใต้กินของแบบนี้ ภาคเหนือกินของแบบนี้ แต่แน่นอนว่าต้องมีอีกครึ่งหนึ่งที่ทุกคนทั้งประเทศใช้เหมือนกัน อย่างน้ำยาซักผ้า แต่ถ้าเป็นพริกแกง ภาคใต้ เหนือ อีสาน ย่อมไม่เหมือนกันแน่นอน”

ที่ตั้ง : 557 หมู่ 17 ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี 41000 (แผนที่)

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 07.00 – 20.30 น. 

Facebook : อีหล่า มาร์เก็ต – Era Market

Writer

Avatar

กรกฎ หลอดคำ

เขียนเรื่องบ้านและงานออกแบบเป็นงานประจำ สนใจเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมในงานสถาปัตยกรรมเป็นพิเศษ

Photographer

Avatar

รักอิสระ มุกดาม่วง

เป็นคนจังหวัดอุดรธานี-ถิ่นภาคอีสาน โดยกำเนิด รักอิสระเคยดร็อปเรียนตอนมัธยมแล้วไปเป็นเด็กล้างจานที่ร้านอาหารไทยในอเมริกา 1 ปี ชอบเดินทางท่องเที่ยว ถ่ายรูป และสนใจภาพเชิงสารคดีเป็นพิเศษ