ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน นักออกแบบมากมายต่างพยายามสร้างผลงานให้มีจุดเด่น ไม่ซ้ำใคร และเก๋ไก๋ชนิดที่ใครเห็นก็ต้องร้องว้าว แต่สำหรับสถาปนิกอย่าง อูดี โพลลัค (Udi Pollak) หัวใจสำคัญในการออกแบบของเขา ไม่ใช่ความเท่ ความเก๋ หรือรางวัลจากเวทีประกวดใด ๆ แต่คือชีวิตใหม่ที่ได้คืนให้กับใครคนหนึ่งที่ได้ใช้สิ่งของชิ้นนั้น

แนวคิดการออกแบบในสไตล์นี้ มีชื่อเรียกว่า อารยสถาปัตย์ หรือ Universal Design ซึ่งก็คือการออกแบบทึ่คำนึงถึงการใช้งานของทุกผู้คนโดยไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ เด็ก คนพิการ หรือคนที่มีความต้องการเฉพาะ ซึ่งคำว่า Universal Design นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่ทางลาดสำหรับวีลแชร์หรือปุ่มอักษรเบรลล์ในลิฟต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งของแทบทุกอย่างในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น แปรงสีฟันสำหรับคนที่มีนิ้วพิการ แท่นช่วยเทน้ำสำหรับคนที่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง กีต้าร์สำหรับคนที่มีแขนข้างเดียว จักรยานสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว และอื่น ๆ อีกมากมาย 

และนี่ก็คือสิ่งที่อูดีใช้เวลาว่างจากงานประจำ อาสาทำมาตลอดหลายสิบปี ผลงานของเขาก็เช่น เตียงเด็กอ่อนที่เปิดประตูลูกกรงโดยเลื่อนไปข้าง ๆ แทนที่จะเลื่อนขึ้นลง ทำให้แม่บนวีลแชร์เปิดปิดเตียงและดูแลลูกด้วยตัวเองได้ หรือกระเป๋าถือสำหรับครูพิการที่สามารถเปิดและหยิบเอกสารโดยใช้แขนข้างเดียว และงานของเขายังรวมไปถึงการผลักดันเชิงนโยบาย ที่ทำให้ประเทศอิสราเอลมีโครงสร้างสาธารณะต่าง ๆ เป็นไปตามหลักอารยสถาปัตย์มากขึ้น

แต่ในวันที่เขากำลังมีความสุขกับการทำงานออกแบบเพื่อช่วยเหลือผู้พิการอยู่นั่นเอง โชคชะตาก็เล่นตลก จนทำให้เขากลายมาเป็นผู้พิการเสียเอง ท่ามกลางความสูญเสียที่มิอาจประเมินค่า เขาบอกว่าคงเป็นโชคชะตาอีกครั้งที่นำพาให้เขาได้พบความหมายเดิมในสถานที่แห่งใหม่ นั่นก็คือการใช้ชีวิตเพื่อผลักดันแนวคิด Universal Design ให้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย

Udi Pollak สถาปนิกที่ใช้ทั้งชีวิตผลักดันแนวคิด Universal Design โดยเฉพาะในเมืองไทย

[1] Design for All 

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว นายอูดี โพลลัค ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการออกแบบภายในและการออกแบบอุตสาหกรรม ประเทศอิสราเอล ซึ่งหนึ่งในข้อกำหนดของหลักสูตรนักศึกษาสถาปัตย์ที่นั่น ก็คือการต้องเรียนรู้เรื่อง Universal Design 

“สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ‘Universal Design’ เลยนะ ยังใช้คำว่า ‘การออกแบบเพื่อผู้พิการ’ อยู่ ซึ่งที่มหาวิทยาลัยก็พาไปเรียนรู้ที่มูลนิธิ Milbat ซึ่งเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีและออกแบบเพื่อผู้พิการของอิสราเอล ทันทีที่ผมได้เห็นการทำงานของที่นั่น ผมก็รู้สึกเลยว่า นี่คือสายงานที่ผมรักและอยากทำ นี่คงเป็นสิ่งที่โชคชะตากำหนดมาแล้วให้ผมทำสิ่งนี้” 

และการดูงานครั้งนั้น ก็ไม่ใช่แค่การดูผ่าน ๆ แต่นักศึกษาทุกคนยังต้องทำโปรเจกต์ออกแบบชิ้นงานเพื่อคนพิการด้วย และนั่นก็เป็นโอกาสแรกที่ทำให้อูดีสัมผัสถึงความอิ่มเอมใจ เมื่อได้เห็นแววตาและความมีชีวิตชีวาที่กลับมาอีกครั้งของผู้ใช้งาน ผลงานแรกของเขาคือกระเป๋าใส่เอกสารสำหรับครูพิการที่เปิดและหยิบของด้วยแขนข้างเดียวได้ แม้ว่าจะเป็นกระเป่าแค่หนึ่งใบ แต่ความหมายของมันคือการคืนอาชีพและคืนความปกติให้ชีวิตคนคนหนึ่ง เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาหลงรักงานสายนี้ และใช้เวลาว่างเป็นอาสาสมัครช่วยออกแบบให้มูลนิธินี้เรื่อยมา 

“สำหรับคนทั่วไป ถ้าไม่มีคนในครอบครัวเป็นผู้พิการ เรามักไม่นึกถึงพวกเขา แต่จริง ๆ แล้ว 15 – 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก มีความพิการในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ควรที่จะได้รับสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนอื่น” 

และการออกแบบที่ดี ก็คือสิ่งที่มาช่วยตอบโจทย์ตรงนี้  

“แทนที่เราจะมองว่าเขาทำอะไรไม่ได้ ต้องมองมุมกลับว่า เขาทำอะไรได้บ้าง และปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้พวกเขาใช้ชีวิตง่ายขึ้น หรือพูดอีกอย่างว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่พวกเขาที่พิการ แต่สิ่งแวดล้อมต่างหากที่ไม่เหมาะสมกับพวกเขา ซึ่งตรงนี้เราปรับได้”  

อูดีเล่าว่า กระบวนการที่จะออกแบบผลงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความคิดสร้างสรรค์ แต่คือความเข้าใจในความพิการรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเภทของความพิการ ข้อจำกัด อะไรที่พวกเขาทำได้ ไปจนถึงรูปแบบการใช้ชีวิตและความต้องการ ซึ่งแต่ละคนก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ทำให้การทำงานสายนี้ไม่สามารถใช้แค่จินตนาการ แต่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ เช่น หมอ นักกายภาพ เป็นที่ปรึกษา

Udi Pollak สถาปนิกที่ใช้ทั้งชีวิตผลักดันแนวคิด Universal Design โดยเฉพาะในเมืองไทย

“เมื่อพูดถึงการออกแบบเพื่อคนพิการ คนส่วนใหญ่ก็มักนึกถึงแค่วีลแชร์ แต่จริง ๆ แล้วคนพิการที่อยู่บนวีลแชร์มีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือมีอีกหลายแบบมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมองเห็น การได้ยิน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือความผิดปกติทางสมอง ที่เราควรต้องนึกถึงเขาและมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้พวกเขาด้วย อย่างเช่นผู้สูงอายุที่ต้องไปทำธุระที่ธนาคาร บางคนภายนอกดูเหมือนคนปกติ แต่หูตึง ทำให้สื่อสารกับพนักงานลำบาก แต่ถ้าธนาคารมีตัวช่วยฟังเตรียมไว้ให้ ก็จะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ” อูดียกตัวอย่าง 

นอกจากการออกแบบเฉพาะสำหรับบุคคลแล้ว งานของเขายังรวมถึงการผลักดันเชิงสาธารณะ เพื่อให้เมืองเป็นมิตรสำหรับทุกผู้คนด้วย 

“เมื่อ 40 ปีที่แล้ว อิสราเอลยังไม่มีการออกแบบสำหรับผู้พิการเลย คนพิการตอนนั้นถ้าไม่อยู่บ้าน ก็ต้องมีคนช่วยเหลือตลอดเวลาที่ออกข้างนอก กลุ่มของผมเป็นแค่กลุ่มเล็ก ๆ ที่ผลักดันตรงนี้ หว่านล้อมทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ จนในที่สุดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มูลนิธิ Access Israel ก็ผลักดันจนมีกฎหมายที่บังคับให้อาคารใหม่ ๆ ต้องออกแบบตามหลัก Universal Design ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สร้าง” 

แต่ในวันที่ชีวิตการงานของเขากำลังรุ่งโรจน์ และมีความสุขกับการออกแบบเพื่อช่วยเหลือผู้คนอยู่นั่นเอง ข่าวร้ายก็มาเยือน เมื่อเขาได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ซึ่งทำให้เหนื่อยง่าย ยืนหรือเดินนาน ๆ ไม่ได้ และกล้ามเนื้อจะสูญเสียการทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะต้องใช้วีลแชร์  

Udi Pollak สถาปนิกที่ใช้ทั้งชีวิตผลักดันแนวคิด Universal Design โดยเฉพาะในเมืองไทย

[2] The Twist of Fate 

จากที่เคยทำงานช่วยคนพิการมาทั้งชีวิต แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องนั่งบนวีลแชร์เสียเอง เขายอมรับว่าโกรธเคืองโชคชะตาอยู่ไม่น้อย แต่ในอีกด้านก็ทำให้เขาเข้าใจถึงแก่นแท้ของความรู้สึกผู้พิการอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน

“มันเป็นมุมมองใหม่เลย ทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกของพวกเขา นั่นคือความ Frustration (ความหงุดหงิด สิ้นหวัง คับข้องใจ) และ Discriminations (ความรู้สึกถูกกีดกัน ถูกแบ่งแยก) คือเราไปไหนมาไหนไม่ได้เหมือนคนปกติ เช่น เวลาไปอุทยานแห่งชาติ อยากไปน้ำตกก็ไปไม่ได้ ต้องรออยู่ข้างนอก ก็รู้สึกแย่ แม้บางครั้งจะมีคนยินดีช่วย เช่น ช่วยยกวีลแชร์ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกดี เพราะเราไม่ใช่สิ่งของที่คนต้องขนไปไหนมาไหน เราคือมนุษย์คนหนึ่งที่อยากมีความเท่าเทียมในการใช้ชีวิต เดินทางไปที่ต่าง ๆ ได้อย่างมีศักดิ์ศรีเหมือนคนอื่น ๆ”

สำหรับคนอย่างอูดี สิ่งที่โรคนี้พรากไปจากเขาไม่ใช่แค่ความสามารถในการยืนหรือเดินเท่านั้น แต่คือการสูญเสียอาชีพการงาน ทั้งงานสถาปนิกที่ต้องเดินดูไซต์งาน และงานสอนหนังสือที่ต้องยืนนาน ๆ การหยุดทำงานสำหรับคนรักงานอย่างเขา ก็เท่ากับการสูญเสียความหมายที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต  

กว่าสิบปีที่ทำงานไม่ได้ ชีวิตของเขาเต็มไปด้วยความหม่นหมองและตึงเครียด จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนบรรยากาศและผ่อนคลายตัวเอง ด้วยการซื้อตั๋วเครื่องบินมาเที่ยวเชียงใหม่ 

“พอมาถึงครั้งแรก ก็รู้สึกเหมือนปัญหาครึ่งหนึ่งหายไปเลย บรรยากาศสบาย ๆ ไม่รีบร้อน ผู้คนยิ้มแย้ม เป็นมิตร ไม่เคร่งเครียดเหมือนที่อิสราเอล ทำให้อาการของผมดีขึ้นมาก”

แม้ว่าบรรยากาศบ้านเมืองและผู้คนจะทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย แต่ขณะเดียวกัน การเดินทางไปไหนมาไหนสำหรับคนที่นั่งบนวีลแชร์อย่างเขากลับเป็นตรงกันข้าม เขาเดินทางไปไหนมาไหนไม่ได้อย่างอิสระ และนั่นทำให้อูดีพบว่า งานของเขายังไม่จบ 

“ผมรู้สึกว่าประสบการณ์หลายสิบปีของผมที่อิสราเอลน่าจะช่วยเมืองไทยได้ และในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกของการมาที่นี่ ผมมีโอกาสเจอบุคคลที่ไม่คาดฝัน วันนั้นผมไปเที่ยวที่โครงการหลวงแห่งหนึ่งที่เชียงใหม่ แล้วอยู่ ๆ ก็รู้สึกว่าบรรยากาศรอบ ๆ เปลี่ยนไป เลยไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาก็บอก Princess กำลังจะมา ผมก็ตื่นเต้น รอดู เพราะผมไม่เคยเจอ Princess มาก่อน”  

Princess ที่เขาพูดถึง ก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ และระหว่างที่เขานั่งรออยู่ในแถว พระองค์ก็ทรงหันมาเห็น และผละออกจากกลุ่มเพื่อเข้ามาคุยกับอูดี 

“ผมตื่นเต้นมาก พระองค์ท่านถามว่าเป็นยังไงบ้าง มาจากไหน คุยแบบเป็นกันเองมาก ผมก็ประทับใจ หลังการพบครั้งนี้ ผมรู้สึกว่านี่คือโชคชะตาที่ให้ผมได้ทำงานช่วยประเทศนี้”

Udi Pollak สถาปนิกที่ใช้ทั้งชีวิตผลักดันแนวคิด Universal Design โดยเฉพาะในเมืองไทย

[3] Please Mind the Gap between Train and Platform 

เมื่อตัดสินใจแล้วว่าอยากใช้ชีวิตที่เหลือที่ประเทศไทย และผลักดันแนวคิด Universal Design ที่นี่ เขาก็เริ่มหาข้อมูลและได้รับคำแนะนำว่า เรื่องนี้ต้องไปคุยกับ กฤษณะ ละไล บุคคลสำคัญที่ปฏิวัติการออกแบบเพื่อผู้พิการในประเทศไทย อูดีจึงตามหาและไปรอพบกฤษณะ ซึ่งในครั้งแรกที่คุยกัน กฤษณะก็ตบบ่าอูดีและบอกสั้น ๆ ว่า “คุณมากับผม” 

“หลังจากวันนั้น คุณกฤษณะก็พาผมไปดูสถานที่ต่างๆ เกี่ยวกับ Universal Design ในไทย และแนะนำให้รู้จักกับกลุ่ม Friendly Design (การออกแบบการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล) แล้วเราก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ผมรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รู้จักกับคุณกฤษณะ และผมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานที่อิสราเอลด้วย”   

ในบรรดาหลายสิ่งที่เขาได้แนะนำให้ประเทศไทย สิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมากคือเรื่องการศึกษา เขาบอกว่านักศึกษาสถาปัตยกรรม วิศวกรรม หรือการออกแบบ ควรต้องมีวิชาบังคับในหัวข้อ Universal Design ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า สถาบันการศึกษาหลายแห่งก็ทำตามคำแนะนำนี้และเพิ่มเนื้อหานี้ในหลักสูตรแล้ว 

“การออกแบบ Universal Design หลายครั้งเราไม่จำเป็นต้องออกแบบใหม่ เพราะหลายอย่างมันมีคนออกแบบไว้แล้ว โจทย์หนึ่งอาจมีทางออกได้หลายอย่าง เราแค่ต้องไปหาสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งนักศึกษาหรือนักออกแบบจำเป็นต้องเปิดตาดูโลก เพื่อทำความรู้จักว่าประเทศต่าง ๆ มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง เช่น UN ก็มีข้อกำหนด International Standard ที่เรานำมาปรับใช้ได้” 

หนึ่งในตัวอย่างนี้ ก็คือปัญหาช่องว่างระหว่างชานชาลากับตัวรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นความยากลำบากสำหรับคนนั่งวีลแชร์ ทางออกที่อูดีแนะนำก็คือ ทางลาดเล็ก ๆ แบบพกพาได้ (Portable Wheelchair Ramp) เมื่อไหร่มีผู้ใช้วีลแชร์มาใช้รถไฟฟ้า ก็สามารถนำออกมาใช้งาน ซึ่งทุกวันนี้ทางบีทีเอสก็มีการนำมาใช้จริงแล้ว 

“อันนี้ก็เป็นหนึ่งสิ่งที่ผมภูมิใจ แม้ว่ามันไม่ใช่ไอเดียผมด้วยซ้ำ หลายประเทศใช้กันอยู่แล้ว ผมแค่แนะนำว่ามีสิ่งนี้”

นอกจากนั้น ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่เขาได้ไปเยือน หากเขาเห็นตรงไหนที่ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เขาก็ไม่รีรอที่จะเสนอแนวคิดต่อเจ้าของสถานที่ ซึ่งหลายแห่งก็ยินดีปรับเปลี่ยนตามคำแนะนำ เช่น ที่ห้าง Terminal 21 มีทางลาดสำหรับวีลแชร์แต่ไม่มีราวจับ ซึ่งเขามองว่าอันตรายยิ่งกว่าไม่มีทางลาด เขาก็ขอคุยกับผู้จัดการ ไม่นานต่อมา ทางลาดนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ให้มีราวจับและปลอดภัยตามมาตรฐานสากล หรือที่ห้าง One Nimman เชียงใหม่ มีที่จอดวีลแชร์ แต่ทางไปลิฟต์กลับมีขั้นบันได เขาก็นำเสนอเรื่องนี้ต่อห้าง จนจุดนี้ถูกปรับปรุงเรียบร้อย  

“จริง ๆ การออกแบบ Universal Design ไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงแค่คนพิการเท่านั้น แต่คนอื่น ๆ เช่น ผู้สูงอายุหรือคุณแม่ที่มาพร้อมรถเข็นเด็กก็ได้ประโยชน์ด้วย อย่างเช่นตามสนามบินเล็ก ๆ ในต่างจังหวัด ที่ผู้โดยสารต้องขึ้นลงบันไดจากตัวเครื่องบิน หลายประเทศแทนที่บันไดนี้ด้วยทางลาด ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็ไม่ใช่แค่วีลแชร์ แต่รวมถึงผู้โดยสารที่เดินทางพร้อมกระเป๋าลากด้วย เป็นที่น่าดีใจว่าหลายสนามบินในไทยเริ่มมีทางลาดนี้แล้ว”

แม้การออกแบบที่ดีจะมาพร้อมการลงทุนที่เพิ่มขึ้น แต่อูดีก็ชวนให้มองมุมกลับว่า จริง ๆ แล้วประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับกลับคืนมา อาจมีค่ามากกว่าหลายเท่า 

“ยกตัวอย่างเช่นห้างสรรพสินค้าหรือร้านกาแฟ หากร้านของคุณถูกออกแบบตามหลัก Universal Design ก็จะดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น อย่างนักท่องเที่ยวพิการหนึ่งคน มักจะมีคนมาด้วย 3 – 4 คน สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่ทางลาดเล็ก ๆ ที่ลงทุนไม่กี่พัน แถมดีต่อสังคมโดยรวมด้วย และหากประเทศคุณเป็น Universal Design ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น”

Udi Pollak สถาปนิกอิสราเอลที่ผลักดัน Universal Design มาตั้งแต่เริ่มอาชีพ จนถึงวันที่ต้องนั่งวีลแชร์ และย้ายมาอยู่ไทย

และเมื่อไม่นานมานี้ อูดีได้เดินทางร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกฤษณะ ละไล เพื่อเยี่ยมชมวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม เพื่อสำรวจและหาแนวทางพัฒนาให้โบราณสถานในประเทศไทยมีความเป็น Universal Design มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำลายสถาปัตยกรรมอันเก่าแก่ ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย

นอกจากนั้น อีกหนึ่งความฝันที่เขาอยากทำก็คือ การเดินทางไปตามอุทยานแห่งชาติร่วมกับสถาปนิกชาวไทยที่เข้าใจในสถานที่นั้น ๆ เพื่อหาทางออกว่า จะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวธรรมชาติเข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยไม่ทำลายธรรมชาติ

“อย่างเช่นน้ำตก คนในวีลแชร์ไม่มีสิทธิ์ไปเลย ซึ่งจริง ๆ แล้ว การทำให้เข้าถึงน่ะมันง่าย ก็แค่ตัดต้นไม้ ทำถนน แต่นั่นไม่ใช่ทางออกที่ควรเป็น เพราะมันเป็นการทำลายธรรมชาติที่เราควรรักษา ซึ่งทางออกที่เหมาะสมไม่มีสูตรตายตัว ผมตอบไม่ได้ ถ้ายังไม่ได้ไปเห็นสถานที่จริง และใช้เวลาอยู่ที่นั่นหลาย ๆ วัน เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติของที่นั่น และออกแบบให้สอดคล้องไปกับธรรมชาติ” 

เขายกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นว่า การตัดถนนผ่านภูเขา หากไม่สนใจอะไร ก็แค่ระเบิดเขา ตัดอุโมงค์ ก็จะได้ถนนที่สั้นที่สุด แต่สิ่งที่สูญเสียจะเยอะมาก ในขณะที่อีกทางเลือกคือการตัดถนนเล็ก ๆ คดเคี้ยวตามไหล่เขา อาจจะได้เส้นทางที่อ้อมกว่า แต่ความสูญเสียน้อยกว่า  

“ผมมองว่าโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือการศึกษา ที่ทำอย่างไรให้นักออกแบบรุ่นใหม่รู้จักแนวคิดนี้ คนไทยมีความสามารถอยู่แล้ว เห็นจากการออกแบบคาเฟ่ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ซึ่งสวยงามมาก แต่สิ่งที่ควรมีเพิ่มคือ Human Engineering และอีกอย่างหนึ่งคือทัศนคติของผู้คนในสังคม ตั้งแต่ผู้ประกอบการเล็ก ๆ ไปจนถึงผู้มีอำนาจภาครัฐ จะต้องมองว่าผู้พิการมีความเท่าเทียมและสิทธิไม่ต่างจากคนปกติ”

ในขณะที่ประเทศไทย หลายคนยังมีทัศนคติที่ว่า พิการก็ควรอยู่บ้าน ไม่ต้องออกมาให้ลำบาก แต่หากไปมองประเทศอื่น ๆ อย่างเช่นอิสราเอล คนที่นั่นจะมองว่า คนพิการก็มีสิทธิ์จะไปไหนมาไหนไม่ต่างจากคนทั่วไป และแม้แต่ผู้แทนในสภาของเขา ก็มีทั้งคนที่นั่งวีลแชร์และคนหูหนวก ส่วนในทางธุรกิจ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง IKEA ที่นั่น ก็มีแคมเปญ ThisAbles ร่วมกับมูลนิธิ Milbat จำหน่ายอุปกรณ์เสริมเฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้พิการประเภทต่าง ๆ เช่น ราวจับที่ไปติดกับขอบเตียง ตัวยกระดับโซฟาเพื่อให้ลุกนั่งสะดวก อุปกรณ์ถือเม้าส์ปากกาสำหรับผู้ที่มือพิการ เป็นต้น   

“จริง ๆ แล้วงานออกแบบเป็นแค่เครื่องมือ สิ่งสำคัญที่สุดคือแนวคิดเบื้องหลัง ที่ทำให้การออกแบบเป็นการออกแบบสำหรับทุกคน ความพิการไม่ควรเป็นข้อจำกัดของการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แค่ราวจับหรือทางลาดก็เปลี่ยนชีวิตคนได้ เพราะมันจะทำให้คนคนหนึ่งใช้ชีวิตได้ปกติ ออกไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้ ไปทำงานได้ ไม่ใช่แค่ติดอยู่กับบ้าน”

และวันนี้ อูดีก็เป็นตัวแทนของมูลนิธิ Access Israel และสถานทูตอิสราเอล ที่จะร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการออกแบบที่เข้าถึงทุกคนมากขึ้น  

“ความสุขของผมคือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น การได้เห็นหลายคนได้ชีวิตใหม่หรือมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะสิ่งที่ผมได้ออกแบบ มันเป็นความรู้สึกอิ่มใจ แม้แต่การได้เห็นเพื่อนบนวีลแชร์ขึ้นลงบีทีเอสด้วยทางลาดเล็ก ๆ ระหว่างชานชลาที่ผมไม่ได้ออกแบบ แต่แค่แนะนำให้มี ก็เป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ แล้ว จากแต่ก่อนที่ผมเคยโกรธที่ต้องกลายมาเป็นคนพิการ แต่วันนี้ผมไม่โกรธแล้ว กลับรู้สึกโชคดีด้วยซ้ำ เพราะถ้าผมไม่เป็นแบบนี้ ก็คงไม่ได้มาช่วยแบ่งปันความรู้กับประเทศไทย”

Udi Pollak สถาปนิกอิสราเอลที่ผลักดัน Universal Design มาตั้งแต่เริ่มอาชีพ จนถึงวันที่ต้องนั่งวีลแชร์ และย้ายมาอยู่ไทย

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย