แห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี เป็นเทศกาลที่โด่งดังและยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เทศกาลนี้จัดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีทุกปีช่วงวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ งานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานีไม่เพียงเป็นงานสำคัญทางศาสนา แต่ยังสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้ชุมชนผ่านงานหัตถศิลป์ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์จากชาวอุบลราชธานีและชาวบ้านในจังหวัดใกล้เคียง
พ.ศ. 2444 จุดเริ่มต้นของการแห่เทียนในปัจจุบัน
เริ่มตั้งแต่สมัย เจ้าคำผง ที่เข้ามาอยู่ที่เมืองอุบลฯ และนำวัฒนธรรมประเพณีในการถวายเทียนพรรษามาจากเมืองเชียงรุ้งแสนหวี ใน พ.ศ. 2335 ซึ่งสมัยก่อนชาวบ้านจะสีเทียนหรือฟั่นเทียนเป็นเล่มนำไปถวายวัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเทียนแบบโบราณประเภทแรกที่ทำขึ้นเพื่อถวายให้พระสงฆ์จุดอ่านพระไตรปิฎกในตอนกลางคืน และจุดเพื่อบูชาพระพุทธรูปในพระอุโบสถ
จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อครั้ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เดินทางมาประจำที่อุบลฯ แทน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมาที่เมืองอุบลฯ และเห็นว่าน่าจะทำเทียนให้เป็นเล่มเดียวกันแล้ว จึงนำไปถวายวัด โดยก่อนไปถวายวัดให้ชาวบ้านนำต้นเทียนมารวมกันที่วังกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ พร้อมทั้งจัดให้มีการเฉลิมฉลองมหรสพภาคกลางคืน พอรุ่งเช้าจัดให้มีการมอบรางวัลต้นเทียนจากคุ้มวัดต่าง ๆ จากนั้นจึงนำเทียนไปถวายที่วัดของแต่ละชุมชน และนี่คือที่มาของประเพณีแห่เทียนพรรษาซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ. 2444
นายสมคิด
คุณพ่อทองดี สอนอาจ บิดาของ อาจารย์สมคิด สอนอาจ เริ่มทำเทียนมาตั้งแต่เขาจำความได้ ทำให้เขาสนใจการแกะสลักเทียน ในวัย 20 ปีเขาจึงเริ่มต้นเป็นช่างเทียนพรรษาตั้งแต่ พ.ศ. 2509 และได้สร้างผลงานตลอดเกือบ 60 ปี
ผลงานชิ้นแรกของเขาคือต้นเทียนพรรษาแกะสลักของวัดพุทธนิคมในอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จัดทำขึ้นใน พ.ศ. 2512 โดยมี พระครูกิตติยาภรณ์โกศล เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี (พระเทพกิตติมุนี เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เจ้าอาวาสวัดมหาวนาราม) เป็นผู้สนับสนุนและให้คำแนะนำ พระครูฯ เป็นคนแรกที่เห็นพรสวรรค์และศักยภาพของนายสมคิดในฐานะช่างเทียน ทำให้นายสมคิดได้รับแรงบันดาลใจและมุ่งมั่นในอาชีพช่างเทียนพรรษาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ครูสมคิด ช่างติดพิมพ์
ต่อมาเขาสนใจงานเทียนประเภทติดพิมพ์ ซึ่งหมายถึงเทียนที่สร้างขึ้นโดยใช้แม่พิมพ์ที่เตรียมไว้ล่วงหน้า โดยกระบวนการทำเริ่มจากการเทขี้ผึ้งหลอมละลายลงในแม่พิมพ์ที่มีลวดลายหรือรูปทรงตามต้องการ เมื่อขี้ผึ้งแข็งตัวก็นำออกจากแม่พิมพ์ ซึ่งจะได้เทียนที่มีลวดลายหรือลักษณะตามแม่พิมพ์นั้น ๆ วิธีนี้ช่วยให้ผลิตเทียนที่มีรายละเอียดสวยงามและซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
ตัวอย่างเช่น แท่นพิมพ์ลายดอกประจำยาม วัสดุผลิตจากหินสบู่หรือแร่ทัลก์ (Talc) มีสีอ่อน ผิวเรียบลื่น วิธีใช้คือเทเทียนเหลวที่กำลังอุ่นลงแม่พิมพ์ เมื่อเย็นและแข็งตัวก็จะแซะออกมาฉลุลายเพิ่มเติม และตัดเทียนส่วนเกินออก จากนั้นเทียนส่วนนี้จะนำไปติดกับพื้นผิวที่เป็นโครงที่ช่างได้ออกแบบเตรียมไว้ วัสดุมักทาสีแดงเพื่อให้ขับลายเทียนที่เป็นสีเหลือง
เอกลักษณ์งานและเทคนิคสำคัญของครูสมคิด สอนอาจ ในงานเทียนพรรษามีจุดเด่นที่ลวดลายสั้นและป้อม ไม่อ่อนช้อยเหมือนลายเทียนในภาคกลาง ลักษณะเช่นนี้สะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสานที่ถ่อมตนและมีมานะอุตสาหะ
ลักษณะเด่นของเทคนิคการติดพิมพ์ลงบนต้นเทียนคือการรักษาระยะห่างของลวดลายให้เท่ากัน เพื่อให้ลวดลายต่อเนื่องและสวยงาม หรือที่เรียกว่าการสร้างแพตเทิร์นนั่นเอง
ครูสมคิดเริ่มจากการออกแบบลวดลาย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ช่วยออกแบบคือลูกชายอย่าง สอง-ศุภกฤต สอนอาจ เลือกแม่ลายและลายประกอบ จากนั้นจึงแกะลายบนแม่พิมพ์หรือแม่แบบเดิม การแกะลายในอดีตนิยมใช้หินอ่อน (หินลับมีดโกน) เพราะทนทาน ลายลึกและคม แม้จะแกะยากกว่าหินชนวน (หินกาบ) ที่แกะง่ายกว่า แต่แตกง่ายและลายไม่ลึก
ในปัจจุบันนิยมใช้ปูนซีเมนต์หรือปูนปลาสเตอร์หล่อเป็นแผ่นหรือก้อนสี่เหลี่ยมตามขนาดที่ต้องการ จากนั้นจึงแกะลายแม่แบบ หรืออาจใช้ท่อนไม้สีดา (ไม้ฝรั่ง) แกะเป็นร่องลึก โดยใช้เหล็กแกะเพื่อทำแม่พิมพ์หรือแม่แบบลาย ลวดลายที่ครูสมคิดแกะประกอบด้วยลายกนกเปลว ลายก้านขด ลายกนกขอม ลายหน้าสิงห์ ลายนาคคาบพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายกนกหางโต (หางสิงโต) ลายก้านขดหางไหล ลายประจำยาม ลายประจำยามก้ามปู ลายประจำยามปีกผีเสื้อ ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายเทพพนม ลายดอกผักแว่น และลายดอกพุดตาน เป็นต้น
การส่งไม้ต่อ
“ผมไม่ได้ทำเทียนเป็นอาชีพครับ ผมทำเป็นพุทธบูชา” เขากล่าวด้วยน้ำเสียงที่มุ่งมั่นและจริงจัง
นอกจากลูกชายแล้ว คนในครอบครัวสอนอาจทุกคนแกะเทียนได้ และยังได้ชักชวนเพื่อนบ้านให้มาทำกิจกรรมนี้ด้วยกัน หรือที่เรียกว่า ‘ตุ้มโฮม’
ชุมชนวัดศรีประดู่ เป็นเหมือนการรวมตัวให้ชาวบ้านมีกิจกรรมร่วมกัน ผู้สูงอายุได้เข้ามาช่วยงานวัดมากขึ้น รวมถึงนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยก็สนใจลองมาช่วยแกะเทียนเป็นจำนวนมาก เขาจึงค่อนข้างมั่นใจว่าส่งต่อความรู้ให้คนอุบลฯ รุ่นหลังได้อย่างครบถ้วน
นอกจากนั้นยังมีการส่งต่อตำแหน่งหัวหน้าช่างให้ ช่างโก้-อภิชาติ คอแก้ว มาเป็นผู้รับผิดชอบเทียนของวัดศรีประดู่ในปีนี้อีกด้วย ครูสมคิดในวัย 78 ปี ทำหน้าที่ดูภาพรวมและส่งต่อความรู้ให้คนรุ่นหลังมากกว่า อีกทั้งยังทำให้ได้รับการเชิดชูเกียรติรางวัล ‘ครูศิลป์ของแผ่นดิน’ ประเภทเทียนพรรษา (ประเภทติดพิมพ์) พ.ศ. 2559 และรางวัลต่าง ๆ อีกมากมาย
ครูสมคิดมอบแรงกายและแรงใจทั้งหมดในการสืบสานงานพุทธศิลป์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ร่วมกันธำรงรักษาพระพุทธศาสนาและประเพณีวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองอุบลฯ
และครูสมคิดยังก่อตั้งศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเรียนรู้ทุกขั้นตอน แม้เทศกาลแห่เทียนพรรษาจะสิ้นสุดลงแล้ว ครูสมคิดก็ยังคงทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ชุมชนต่าง ๆ เพื่อรักษาและสืบสานงานศิลปะประณีตให้ลูกหลานได้ร่วมกันอนุรักษ์
การแห่เทียนพรรษา การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจอุบลฯ
เพราะขบวนแห่จะมีการประกวดความสวยงามและความคิดสร้างสรรค์ของต้นเทียน ซึ่งนอกจากเป็นการแข่งขันที่เสริมสร้างความสามัคคีในชุมชนและรักษาศิลปวัฒนธรรม งานแห่เทียนพรรษายังดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคนในแต่ละปีมาร่วมชมขบวนแห่และกิจกรรมอื่น ๆ ที่จัดขึ้นในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
นักท่องเที่ยวสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและศิลปะที่มีเอกลักษณ์ของอุบลราชธานี ทั้งชมงานฝีมือ เรียนรู้การทำเทียนพรรษา และชมการแสดงพื้นบ้านได้ด้วย จึงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก
ชาวบ้านขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้ เช่น อาหารพื้นเมือง ของฝาก และงานฝีมือ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน เช่น หมูยออุบล หมูเค็ม ผ้าขาวม้า และยังส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น เนื่องจากต้องการแรงงานในการจัดเตรียมงานและกิจกรรมต่าง ๆ
การแห่เทียนพรรษาจึงไม่เพียงเป็นการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีของจังหวัดอุบลราชธานี แต่ยังเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะเป็นประเพณีที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมระดมความคิดสร้างสรรค์และออกแบบงานนี้ด้วยตัวเอง เกิดเป็นความภาคภูมิใจ เหมือนที่ครอบครัวของอาจารย์สมคิด สอนอาจ ได้ลงมือทำเทียนกันทุกคน เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่วัดศรีประดู่
และเราต้องมาลุ้นในปีนี้ว่าผลการประกวดจะเป็นอย่างไร เพราะวัดศรีประดู่มักได้ที่ 1 หรือ 2 ใน ทุก ๆ ปี