“Colors are the smiles of Nature” Leigh Hunt

ผู้หลงใหลโลกศิลปะทราบดีว่า เรานำสีจากธรรมชาติหลายอย่างมาทดแทนสีจากเคมีได้ อาทิ สีน้ำตาล สีเทา สีน้ำตาลเข้ม สกัดมาจากดินชนิดต่าง ๆ ที่มีสีไม่เหมือนกัน สีจากธรรมชาติส่วนใหญ่ได้มาจากสีของดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้นานาชนิด อาทิ ดอกคำฝอย ขมิ้นชัน ให้สีเหลือง สีส้ม สีแดงอมส้ม ดอกอัญชันให้สีน้ำเงิน ดอกกระเจี๊ยบให้สีแดง เมล็ดคำแสดให้สีแสดหรือสีส้มอมแดง เปลือกเพกาให้ได้ทั้งโทนสีเขียว-เหลือง ฝักของต้นราชพฤกษ์หรือคูน ให้สีส้มอ่อนอมเทา

แต่ใครจะคิดว่า ฟางข้าวที่แทบจะไม่มีประโยชน์ ก็นำมาทำสีจากธรรมชาติได้เช่นกัน

สองสามีภรรยา ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ และ พสธร เดชศิริอุดม แห่งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จังหวัดอุดรธานี ได้ริเริ่มการทดลองใช้วัตถุดิบในธรรมชาติเพื่อทดลองทำสีย้อมจากธรรมชาติ มานานนับสิบปี ตั้งแต่ดิน เปลือกไม้ ใบไม้ ผลไม้ ฯลฯ นำมาย้อมสีผ้า และนำไปเผยแพร่ให้กับชุมชนทอผ้าทั่วประเทศ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่องสีย้อมจากธรรมชาติ

อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม นำฟางข้าวมาทำสีธรรมชาติหลายสิบสี ใช้วาดรูป ผสมอาหาร และทาบ้านได้

ก่อคเณศจบการศึกษาด้านจิตรกรรม ประติมากรรม จากเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา เป็นศิลปิน นักวาดภาพ นักเขียน ช่างภาพอิสระ เคยทำงานเป็นนักวิจัยชุมชนที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก่อนจะมาก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ร่วมกับภรรยา คุณพสธร หรือ หยก อดีตครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้ผันตัวเองมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสอนการแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตสีต่าง ๆ

ล่าสุด ทั้งสองคนได้ค้นพบนวัตกรรมสีจากฟางข้าว ทดลองทำจนประสบความสำเร็จ เกิดเฉดสีใหม่ ๆ จากฟางข้าวหลายสายพันธุ์ และอายุของฟางข้าวมากมายหลายสิบสี ตั้งแต่เขียว ชมพู ม่วง คราม น้ำตาล เหลือง น้ำเงิน ดำ ฯลฯ นำมาทำสีย้อมผ้า สีวาดรูปทั้งแบบสีน้ำหรือสีอะคริริก สีผสมอาหาร สีทาบ้าน ฯลฯ

อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม นำฟางข้าวมาทำสีธรรมชาติหลายสิบสี ใช้วาดรูป ผสมอาหาร และทาบ้านได้
สีธรรมชาติหลายสิบสีจากฟางข้าว ทั้งเขียว ชมพู คราม เหลือง น้ำเงิน ใช้ย้อมผ้าและทาบ้านได้ โดยอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จ.อุดรธานี

ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก ในยุคที่นำเอาผลผลิตจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์สูงสุด

ก่อคเณศวัย 44 เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ปัญหาของโลกปัจจุบันคือ การจัดการวัตถุดิบภาคการเกษตรที่เหลือ มีการนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก และกลุ่มผู้ทำงานสิ่งทอ ซึ่งส่วนใหญ่คือเกษตรกรในชุมชนต่าง ๆ ยังนิยมใช้สีเคมีและสีสังเคราะห์ย้อมผ้า และทิ้งน้ำย้อมลงสู่แม่น้ำลำคลองในชุมชน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เราจึงเล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์จากวัตถุดิบในการเกษตรและในธรรรมชาติ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเรื่องสีจากธรรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป จึงเล็งเห็นว่านวัตกรรมนี้จะเป็นแนวทางงานสร้างสรรค์กับชุมชน“

ที่ผ่านมาสองสามีภรรยาพยายามคิดค้น ดัดแปลงวัตถุดิบเหลือใช้จากธรรมชาติกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คุณพสธรเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งว่า

“ช่วง พ.ศ. 2560 เคยไปเอาเปลือกทุเรียนที่ทิ้งเป็นขยะมาเผาเป็นขี้เถ้า และค้นพบว่าขี้เถ้าจากเปลือกทุเรียนเกือบทุกชนิดมีกำมะถันและแปรรูปเป็นน้ำด่างให้ความเข้มข้นสูง ใช้ทดแทนโซดาไฟ สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ในงานสิ่งทอ ล้างเส้นไหม ย้อมคราม และเรามาเผยแพร่จนก่อให้เกิดกระแสเก็บเปลือกทุเรียนมาทำน้ำด่างให้เป็นประโยชน์”

สองสามีภรรยายังคิดค้นการทำสีบาติกจากสีโคลน พัฒนาสีแดง สีม่วง เหลือง น้ำตาลจากใบสักที่มีมากมายในภาคเหนือ รวมถึงพัฒนาดอกทองกวาวและยางพาราให้เกิดสีชนิดต่าง ๆ

สีธรรมชาติหลายสิบสีจากฟางข้าว ทั้งเขียว ชมพู คราม เหลือง น้ำเงิน ใช้ย้อมผ้าและทาบ้านได้ โดยอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จ.อุดรธานี

ล่าสุดพวกเขาได้ลองพัฒนาฟางข้าวที่ถูกทิ้งไว้มากมายตามหัวไร่ปลายนาหลังการเก็บเกี่ยว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กลายเป็นสีธรรมชาติ

กระบวนการผลิตสีจากฟางข้าวมีขั้นตอนพอสรุปได้คือ เตรียมฟางข้าว นำไปล้างทำความสะอาด ต้มจนเดือดแล้วเติม สารส้ม เกลือ ลงไป รวมทั้งน้ำตาลทราย นำฟางข้าวไปหมัก แช่เอาไว้อย่างน้อย 6 – 10 ชั่วโมงจนฟางข้าวนิ่มหรือเปื่อย จากนั้นนำไปต้ม นำผ้าฝ้ายมาจุ่มทดสอบสี หากสีติดคงที่ดีแล้วให้กรอกเอาแต่น้ำสีที่เคี่ยวได้ออกมา

จากนั้นนำวัตถุดิบกลุ่มยางไม้ ยางพารา เมล็ดมะขาม ใส่แก้วสำหรับคนสีให้จับกัน จากนั้นทดสอบอีกครั้งด้วยการนำสีมาสกรีนผ่านบล็อกสกรีนหรือใช้พู่กันระบายสีบนผ้า เสร็จแล้วนำไปทดสอบคุณภาพสีเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการซักล้างว่าสีจะติดคงทนไหม

วิธีพื้นฐานทั่วไปในการทำสีจากธรรมชาติ แต่อันที่จริงมีเคล็ดลับอีกหลายอย่างที่ไม่ขอเปิดเผย เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของสองสามีภรรยา

“เราทดลองจนพบว่า ฟางข้าวชนิดต่าง ๆ นำมาประดิษฐ์สีได้ 64 สี อาทิ ฟางข้าวต้นอ่อน เพิ่งเกี่ยวมามีสีเขียว ฟางข้าวแห้งมีหลายสีหลายเฉด อาทิสีดำ เหลือง น้ำตาล ฟางข้าวก่ำให้สีม่วง ฯลฯ” ก่อคเณศอธิบายเคล็ดลับบางอย่างให้ฟัง

การเล็งเห็นปัญหาของฟางข้าว ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาและองค์ความรู้เดิม ผสานองค์ความรู้ใหม่เพื่อมาต่อยอด เน้นการจัดการของเหลือที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สีธรรมชาติหลายสิบสีจากฟางข้าว ทั้งเขียว ชมพู คราม เหลือง น้ำเงิน ใช้ย้อมผ้าและทาบ้านได้ โดยอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จ.อุดรธานี

ทีมงานอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ได้ดำเนินการจัดการกระบวนการเพื่อผลิตสีจากฟางข้าวตามขั้นตอน ผ่านการทดลองวิจัยและนำเสนอในมิติต่าง ๆ ทั้งการผลิต กระบวนการ ส่งผลตรวจ จัดแสดงนิทรรศการ จนได้รับรางวัลระดับประเทศ อาทิ รางวัลพระราชทานชนะเลิศ นวัตศิลป์สีจากฟางข้าว โครงการนวัตกรรมข้าวไทย พ.ศ. 2564

ทีมงานของพวกเขาประกอบด้วยชาวบ้านละแวกนั้นที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสีจากธรรมชาติ และกลายเป็นศิลปินวาดภาพโดยใช้สีน้ำจากฟางข้าวจนสร้างและขายผลงานได้

“เราอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วงโควิดมีงานทำ โดยเฉพาะคนสูงวัย คนพิการ ที่ใคร ๆ คิดว่าไม่มีประโยชน์ พอทุกคนมาทำงาน ก็ได้ไอเดียว่าอาชีพที่สอดคล้องกับเกษตรกรรมของชาวบ้านคืองานหัตถกรรม จึงอยากส่งเสริมความรู้ด้านศิลปะพื้นถิ่น ที่เรียกว่าหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์

“เราถนัดงานศิลปะ วาดภาพ การทำสี จึงเริ่มหาวัตถุดิบที่ไม่สิ้นเปลืองมากคือสีจากฟางข้าว อันดับแรกให้ชาวบ้านย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ เมื่อย้อมผ้าเป็น พ่อ ๆ แม่ ๆ ก็จะหวงแหนสีที่ย้อม ถ้าเอาสีย้อมผ้าทิ้งลงดิน ดินก็เสีย ก็เลยเอามาระบายสีและต่อยอดให้ชาวบ้านได้ทดลองงานศิลปะตามแบบของพวกเขา กลายเป็นงานศิลปะจากชาวนาชาวไร่ ผมคิดว่าใครทำงานศิลป์ก็ได้ แค่ระบายสีแล้วรู้สึกมีความสุข ผ่อนคลายในใจก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ไม่ว่างานนั้นจะออกมาแบบใด”

สีธรรมชาติหลายสิบสีจากฟางข้าว ทั้งเขียว ชมพู คราม เหลือง น้ำเงิน ใช้ย้อมผ้าและทาบ้านได้ โดยอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จ.อุดรธานี

สิ่งที่สองสามีภรรยาคิดค้นอยู่นั้น กำลังตอบโจทย์แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตที่เรียกว่า BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย Bio Economy นวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตร Green Econymy ผลิตโดยคำนึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและ Circular Economy ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด 

คือออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสียเป็นขยะล้นโลก

ทุกวันนี้ ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ และ พสธร เดชศิริอุดม แห่งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์มยังเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และเดินสายเป็นวิทยากร อบรมชาวบ้านทั่วประเทศในการผลิตสีจากวัสดุในธรรมชาติที่ใคร ๆ คิดว่าไม่มีประโยชน์

“เราภูมิใจที่ได้ทำให้ชาวบ้าน คนสูงวัย คนพิการ เห็นคุณค่าของตัวเอง และภูมิใจที่เราเห็นคุณค่าของตัวเองด้วย” สองสามีภรรยาที่เคยทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนในเมืองใหญ่ ได้ค้นพบการทำงานอย่างมีความสุขของตัวเองแล้ว

สนใจผลิตภัณฑ์สีธรรมชาติจากฟางข้าว

ติดต่อ Facebook : อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม อุดรธานี

โทรศัพท์ : 09 2656 1614

Writer & Photographer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว