เคยได้พูดถึงวัฒนธรรมการกินกาแฟไปแล้วพอหอมปากหอมคอ วันนี้จะลองมาขยายขี้เท่อ เล่าถึงการเข้าร้านอาหารในอิตาลีบ้าง

ร้านอาหารในอิตาลีโดยทั่วไป อาจพอแบ่งได้คร่าวๆ ดังนี้

1. Ristorante (อ่านว่า ริส-โต-รัน-เต) 

อันแปลได้ว่า ภัตตาคาร นั่นเอง ไง ได้ยินแล้วรู้สึกหรูไหม นั่นล่ะ มันน่าจะต้องได้อารมณ์ประมาณนั้น ประเภทที่ยังไม่ทันได้เปิดเมนูก็รู้แล้วว่ากระเป๋าสตางค์จะต้องสั่นสะเทือน ยิ่งพอก้าวเข้าไปแล้วบริกรดูมารยาทดีกว่าเราจนเห็นได้ชัด ดูพินอบพิเทา หมอบราบคาบแก้ว ว่านอนสอนง่าย ฯลฯ

สิ่งที่จะต้องเตือนคือ อย่าคาดหวังว่าจะมีพิซซ่าขายเสมอไป เพราะพิซซ่าต้องใช้เตาเฉพาะของเขา ส่วนใหญ่ร้านไหนที่มีพิซซ่าขาย เขาจะเขียนคำว่า Pizzeria ไว้ด้วย เป็นอันรู้กันว่าสั่งพิซซ่าได้ 

ในทางกลับกัน หากนัดกินกันแบบวัยรุ่น นุ่งเจียมห่มเจียม ก็ไม่ควรนัดกันที่ Ristorante อาจนั่งเกร็งจนกินไม่ลง เช่นกัน หากอยากนั่งสวยงามมาดามทูต เสยซุปออกจากตัว ตักอาหารเข้าปากด้วยส้อม เล่นเอาเถิดเจ้าล่อกับเมล็ดถั่วลันเตาว่าจะเอาใส่ปากได้อย่างไร ชอบบรรจงหยิบผ้าเช็ดปากแตะเบาๆ ริมฝีปากทุกครั้งที่นำอาหารใส่ปาก ชอบให้มีบริกรคอยเอาจานเข้าจานออก ร้านประเภทนี้เหมาะนักแล

ประเภทร้านอาหารอิตาลีและคำศัพท์ในชื่อร้าน ไขข้อข้องใจเรื่องการกินนอกบ้านแบบอิตาลี
บรรยากาศแบบ Ristorante
ภาพ : pixabay.com

2. Trattoria (อ่านว่า ตรัต-โต-รี-ยา) 

อันนี้คือร้านอาหารที่สร้างมาเพื่อเป็นศัตรูคู่ตรงข้ามกับ Ristorante โดยแท้ ในขณะที่ Ristorante ขายความหลากหลายของอาหาร ขายความหรู ขายความนานาชาติ Trattoria ขายความเป็นกันเอง ความเป็นพื้นเมือง เมนูอาจไม่เยอะ แต่สิทธิการิยะ ท่านว่าอาหารเด็ดนักแล บรรยากาศนั้นมีตั้งแต่ดูเป็นกันเองไปจนถึงขั้นลามปาม บางร้านเขาอาจจับเรานั่งร่วมโต๊ะกับคนอื่น ประหนึ่งนั่งกินข้าวแกงกะหรี่เจ็กปุ๊ย ซอยข้างวัดเล่งเน่ยยี่ก็เป็นไปได้

3. Osteria (อ่านว่า โอส-เต-รี-ยา)

ตามประวัติแล้ว เน้นไปที่ไวน์มากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็กลายเป็นร้านอาหารไปแล้ว ยังคงมีอยู่ไม่กี่ร้านที่คงขนบเดิมเอาไว้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นคือ Osteria del Sole ที่อยู่กลางตลาดเมืองโบโลญญา Osteria แห่งนี้ถือกำเนิดเมื่อ ค.ศ. 1465 สิริรวมก็ 500 กว่าปีแล้ว ควรคู่แก่การเป็นร้านก๊งไวน์ที่เก่าแก่เป็นอันดับสองในโลก (ร้านที่เก่าที่สุดอยู่ที่เมืองแฟร์รารา) 

ประเภทร้านอาหารอิตาลีและคำศัพท์ในชื่อร้าน ไขข้อข้องใจเรื่องการกินนอกบ้านแบบอิตาลี
Osteria del Sole (Bologna)
ภาพ : amanwalkedintoabar.com

ร้านเดลโซเล แห่งนี้ยังคงบรรยากาศกันเอง ไม่มีเล่นเนื้อเล่นตัวว่าเป็นร้านเก่า แล้วจะตกแต่งไฮโซขึ้นราคา ไม่มี ร้านนี้แปะกระดาษเขียนไว้หน้าร้านเลยว่า “ไม่คิดจะดื่มไวน์ ไม่ต้องเข้า” เพราะร้านนี้เสิร์ฟแต่ไวน์จริงๆ อาหารก็ไม่มี ไม่เสิร์ฟแม้กระทั่งน้ำเปล่า คนที่มากินที่นี่ส่วนใหญ่ ถ้าไม่มานั่งก๊งไวน์เพียวๆ ก็จะไปซื้ออาหารจากข้างนอกมากินในร้าน (ซึ่งในโบโลญญาทำกันเป็นเรื่องปกติมาก ในการซื้อขนมปังจากร้านหนึ่ง แล้วข้ามไปให้อีกร้านใส่ไส้กรอก แล้วข้ามมาดวดไวน์อีกร้าน ดั่งนี้แล้ว คุณก็จะได้กินสิ่งที่ดีที่สุดจากทุกร้าน) โต๊ะที่นั่งนั้นก็มีเล็กใหญ่คละกันไป แนวโน้มที่เราต้องไปนั่งรวมกับคนอื่นก็ย่อมมีเป็นธรรมดา เอาน่าพี่ กันเองๆ

4. Pizzeria (อ่านว่า ปิต-เซ-รี-ยา) 

ส่วนร้านนี้แทบไม่ต้องพูดให้มากความ ก็เป็นร้านพิซซ่านั่นเอง รายละเอียดกว่านี้ของร้านพิซซ่าและพิซซ่า ขอให้ลองไปอ่าน Miss Italy ตอนนี้นะ

ชื่อที่พบบ่อยๆ

คราวนี้เรามาดูกันหน่อยว่า ร้านอาหารในอิตาลีเขานิยมตั้งชื่อว่าอะไรกันบ้าง และมันมีที่มาที่ไปอย่างไร

1. Da…

หลัง ‘ดา’ คำนี้จะเป็นชื่อคน แปลว่า ที่บ้านของ…. นั่นเอง ให้บรรยากาศเหมือนกินที่บ้านเขาไหมล่ะ แต่อย่าไปถามหาเจ้าของชื่อเลย เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีชีวิตอยู่กันแล้วล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านเก่าร้านแก่

ประเภทร้านอาหารอิตาลีและคำศัพท์ในชื่อร้าน ไขข้อข้องใจเรื่องการกินนอกบ้านแบบอิตาลี
ชื่อร้านที่ใช้คำว่า Da อันแปลรวมๆ ได้ว่า บ้านฟรังโก ร้านนี้เป็นภัตตาคารที่มีพิซซ่าขายด้วย เพราะถ้ามี ควรต้องบอกอย่างนี้
ภาพ : www.dafrancoristorante.it

2. Buca di… 

ร้านพวกนี้เป็นร้านที่อยู่ใต้ดิน มักจะเป็นร้านในเมืองที่อยู่บนเนินเขาเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วร้านอยู่ต่ำกว่าระดับถนนลงไป แต่ก็ยังไม่ใช่ใต้ดินเสียทีเดียวนึกออกไหม ก็ยังมักอยู่ในที่สูงนั่นล่ะ ถนนต่างหากที่สูงไป

ประเภทร้านอาหารอิตาลีและคำศัพท์ในชื่อร้าน ไขข้อข้องใจเรื่องการกินนอกบ้านแบบอิตาลี
ร้านอาหารที่ชื่อขึ้นต้นด้วย Buca มักจะต้องเดินลงมาจากชั้นระดับถนน
ภาพ : www.gogofirenze.it

3. La Taverna di… 

จริงๆ แล้ว Taverna (ตา-แวรฺ-นา) ควรจะถูกจัดกลุ่มในหมวดข้างต้น เพราะแต่เดิม Taverna ถือเป็นร้านเหล้าที่อยู่ระดับล่างที่สุด มักเปิดขายตอนค่ำเท่านั้น เป็นสถานที่ที่กุลบุรุษและกุลสตรีมิพึงโคจร แต่ปัจจุบันนี้ แทบไม่เหลืออะไรที่ว่านั้นแล้ว กลายเป็นร้านเก๋ๆ ตั้งชื่อเก๋ๆ ยั่วยวนให้น่าเข้าไปค้นหาไปเสียอีก

4. Gambero Rosso 

อ่านว่า กัมเบโร โรสโซ อันแปลว่า กุ้งแดง แปลกใช่มั้ย ทำไมร้านชื่อนี้ถึงได้ฮิตติดลม ชื่อนี้มาจากหนังสือเรื่อง Pinocchio เป็นร้านที่หมาจิ้งจอกกับแมวป่าตัวโกงประจำเรื่อง พาพิน็อกคิโอไปกินอาหาร ไม่ใช่แค่นั้น ชื่อนี้ยังเป็นชื่อสถาบันสอนทำอาหารในอิตาลีอีกด้วย

5. Nonna… 

นน-นา ไม่ใช่แนนโน๊ะ แปลว่า คุณย่า คุณยาย ฟังดูเป็นสูตรต้นตำรับใช่ไหมล่ะ นั่นล่ะ เขาต้องการให้เป็นอย่างนั้น

ร้านต่างๆ แยกแยะกันชัดเจนตามที่เล่าไว้ข้างต้นจริงหรือ

นั่นล่ะประเด็น เพราะเรามักงงกับสิ่งเหล่านี้เสมอ ที่ว่าไปนั้นคือสิ่งที่มันควรจะเป็น แต่ในปัจจุบัน คำเหล่านี้มักปะปนกันอย่างแยกกันได้ยากแล้ว ที่เป็นดังนั้นเพราะว่าในอิตาลี กระแสความนิยมการรับประทานท้องถิ่น ตำราโบราณ อาหารพื้นเมือง และความไม่ชอบความหรูหราอลังการเวลากินมีมากขึ้นเรื่อยๆ ร้านอาหารดีๆ ก็มักจะตั้งชื่อร้านตัวเองให้เป็นคำว่า Osteria หรือ Trattoria เพื่อสื่อนัยยะของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น 

ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารระดับรางวัลมิชลินที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอิตาลี ตั้งอยู่ที่เมืองโมเดนา ก็ใช้ชื่อว่า Osteria Francescana แต่บรรยากาศไม่มีอะไรใกล้เคียงกับร้านเหล้าเลย เป็นภัตตาคารที่ถ้าคุณเดินผ่าน คุณแทบจะไม่รู้ว่าเป็นร้านอาหาร เพราะประตูทำด้วยกระจกฝ้า มองเข้าไปก็ไม่เห็น เดินผ่านร้านเงียบกริบยังกับศูนย์สมาธิ ถามว่าเขาไม่อยากให้คนเข้าหรือ คำตอบคือ แค่นี้คิวจองก็ยาวข้ามปีแล้ว ไม่ได้เว่อร์ ข้ามปีจริงๆ (ในสถานการณ์ปกตินะ)

เรื่องการกินนอกบ้านแบบอิตาลี : ไขข่อข้องใจประเภทร้านอาหารต่างๆ และคำศัพท์ภายในร้านอาหารที่ประเทศอิตาลี ร้านไหนเหมาะกับคุณ
หน้าร้าน Osteria Francescana
ภาพ : www.connoisseurs.me

พูดถึงร้านอาหาร ก็มีเรื่องเล่าของตัวเอง 2 เรื่อง เรื่องเบาๆ สั้นๆ ก่อน ก็คือตอนอยู่ที่อิตาลีมีเพื่อนชาวอังกฤษไปเยี่ยม พอผ่านร้านอาหารร้านหนึ่งก็บอกว่า อ๊ะ ร้านนี้ เคยอ่านหนังสือเจอเขาบอกว่าอร่อย ฉันก็ อ๋อ เหรอ ไม่เคยรู้เลย สักพัก ผ่านไปอีกร้าน ก็อ๊ะ หรือจะเป็นร้านนี้ เดินอีกสักนิด ก็เอ๊ะ หรือร้านนี้ ทำไมเมืองนี้ร้านชื่อนี้เยอะจังล่ะ เลยถามว่าร้านชื่ออะไร เธอบอกว่าชื่อ Trattoria ส่วนคำข้างหลังนั้นเธอไม่ได้จำมา นึกว่าไม่สำคัญ…เอ็นดู…

อีกเรื่องเป็นเรื่องยาว ตอนที่เรียนอยู่ที่นั่นเช่นกัน เวลาเดินกลับที่พักก็จะต้องผ่านตรอกเล็กๆ ที่มีร้านอาหารเล็กๆร้านนึงตั้งอยู่ ทำเลดูซุกซ่อนราวกับขายอาวุธสงคราม ชื่อร้านอะไรก็ไม่มี แต่มองไปทีไร คนเต็มร้าน และดูเป็นอิตาเลียนล้วนๆ ฉันมองหน้ารุ่นน้องชาวไทยที่เรียนอยู่ด้วยกัน พร้อมประกาศกร้าวว่า วันหนึ่งเราจะต้องมากินร้านนี้ให้จงได้ // เชิดหน้า กำหมัด มีเสียงฟ้าร้องเป็นแบกกราวนด์

พอได้ฤกษ์อันงาม คือเงินเดือนออก ก็ชวนไปร้านกัน 3 คน ตื่นเต้นและดูสวยงามมาก เพราะไม่ใช่แค่เป็นคนต่างชาติกลุ่มเดียวในร้าน หากแต่เป็นเอเซียอีกต่างหาก Exotic สุดๆ พอนั่งปุ๊บก็หันรีหันขวางว่าจะสั่งอะไรยังไงดี จำได้ว่าเหมือนจะไม่มีเมนูทั้งเป็นเล่มและแบบแปะหราที่ฝาผนังร้าน สักพักชายในร้านคนหนึ่งก็เดินเข้าว่าถามว่าจะกินอะไร วันนี้มี… แล้วพี่ก็ร่ายอาหารมา เป็นปาสต้า 3 แบบราดหน้าซอสที่เขาเลือกไว้แล้ว

อย่างที่บอกแล้วว่าเราไปกัน 3 คน อาหารก็มีสามอย่าง ฉันเชื่อว่า คนไทยทุกคนต้องทำอย่างฉันแน่นอน นั่นคือ งั้นก็เอาสามอย่างสิ แล้วก็เอามาแบ่งกัน ประโยคหลังนี่ไม่ได้บอกพี่บ๋อยคนนั้นไป (จะใช่บ๋อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เหมือนเจ้าของร้านกลายๆ) จากนั้นเราก็นั่งรออย่างตื่นเต้นยินดีที่ในที่สุดก็จะได้กินเสียที

สักพัก ประตูครัวก็เปิดออกพร้อมซิญญอร่าร่างท้วม ได้คุณลักษณะแม่ครัวมากๆ คุณป้าเดินอาดๆ มาที่โต๊ะของพวกเรา พร้อมเอากระดาษใบน้อยซึ่งคือใบออเดอร์มาวางแปะไว้ที่โต๊ะ แล้วถามด้วยเสียงที่ไม่ค่อยเบานักว่า

“พวกเธอสั่งใช่มั้ย” 

เราก็ตอบรับกัน เอ มีอะไรเหรอ ของหมดเหรอ ได้แต่คิด ยังไม่ทันได้ถาม ป้าก็ขึ้นเสียงเล็กน้อยสำหรับป้า แต่ดังกัมปนาทในใจเราว่า

“สั่งอย่างนี้เมื่อไหร่จะได้กิน! ทำไมไม่สั่งให้เหมือนกัน!”

ทั้งสามคนตะลึง ไม่มีใครกล้าเถียงอะไรป้า ยังไม่ทันได้คิดอะไร ป้าก็สำทับมาด้วยคำถามว่า

“ไง ตกลงจะเอาอะไร”

จำไม่ได้แล้วว่าเลือกอะไรไป แต่จำได้ว่าอร่อยถึงตาย ไม่สวยไม่งาม แต่ความอร่อยไม่ปรานีใคร และเพื่อจะได้กินปาสต้าทั้งสามจานของคุณป้า เราก็จำเป็นต้องกลับไปอีกสองครั้ง

นี่คือบรรยากาศแบบหนึ่งของร้าน Trattoria ที่ว่า

ส่วนถามว่าไปเมืองโน้นเมืองนี้ จะรู้ได้ยังไงว่าร้านไหนอร่อย แนะนำหน่อยสิ ฉันก็มักจะบอกให้ไปดูใน Tripadvisor แต่ถ้าเป็นตัวเองน่ะนะ ก็อาจจะดูในนั้นบ้าง แต่แหล่งข่าวที่ดีที่สุดคือคนขับแท็กซี่ ถ้าไม่ได้นั่งแท็กซี่เข้าโรงแรมล่ะก็ แหล่งที่สองคือพนักงานต้อนรับในโรงแรม ยิ่งถ้าสองแหล่งบอกตรงกันนะ ไม่ต้องรอเลย 

อร่อยคุ้มอ้วนแน่นอน

Writer

Avatar

สรรควัฒน์ ประดิษฐพงษ์

‘ครูก้า’ ของลูกศิษย์และลูกเพจ ผู้เชื่อ (ไปเอง) ว่าตัวเองเป็นครูสอนภาษาอิตาเลียนมือวางอันดับหนึ่งของเอเชียอาคเนย์ หัวหน้าทัวร์ผู้ดุร้าย นักแปลผู้ใจเย็น ผู้เชิดหุ่นกระบอกมือสมัครเล่น และนักเขียนมือสมัครเล่นเข้าไปยิ่งกว่า