ทอสคานา (Toscana) คือ ทัสคานี (Tuscany) 

พูดวนๆ ในหัวแบบนี้มาหลายวันแล้วค่ะ ตั้งแต่คิดว่าจะเขียนเรื่องนี้

ไม่ได้มีความหมายอะไรเป็นพิเศษเล้ย แค่เป็นชื่อเรียกแคว้นหนึ่งในภาคกลางของอิตาลี เรียกแบบคนอิตาเลียนคือทอสคานา แต่ถ้าคนทั่วไปในโลกก็จะรู้จัก (และตกหลุมรัก) ดินแดนในหุบเขาแสนสวยนี้ว่าทัสคานี

อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี

อุ้มไปอิตาลีมาเมื่อปลายเดือนกรกฎาถึงต้นสิงหา ร้อนมหาโหดค่ะ โดยเฉพาะแถวทัสคานี แต่ไปอิตาลีมาสามสี่หน ยังไง้ยังไงนี่ก็เป็นกลุ่มเมืองที่อุ้มชอบมากถึงมากที่สุด คืออยากมาซื้อบ้านอยู่เลยนะพูดจริงๆ

ทัสคานีประกอบด้วยเมืองอะไรบ้าง ที่ดังๆ ก็นี่เลยค่ะ ฟลอเรนซ์ ปิซา เซียนา ลุกกา ซานจิมินยาโน หรือแหล่งผลิตไวน์แดงชั้นดีอย่างเคียนติ (Chianti) รวมทั้งเมืองเล็กเมืองน้อยอีกมากมาย แต่ทริปนี้อุ้มไปมา 3 เมือง คือ ฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา

อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี
อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี

ทำไมทัสคานีถึงได้น่ารักนัก หลักๆ เลยสำหรับอุ้ม คือมันสวยมีเอกลักษณ์ มีสถาปัตยกรรมและงานศิลปะชิ้นสำคัญๆ รวมกันอยู่คับคั่ง เพราะที่นี่เป็นแหล่งกำเนิดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา หรือที่เรียกกันว่ายุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ซึ่งถึงแม้จะเรียนๆ หลับๆ พอรู้จักอยู่บ้างจากวิชา Art Appreciation แต่ยังไงก็สู้มาเห็นกับตาตัวเองไม่ได้เลยจริงๆ

ที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือคำว่าเรอเนสซองส์นี่แปลตามตัวคือ เกิดใหม่หรือคืนชีพ เพราะอะไรรู้ไหมคะ ก็พันปีก่อนหน้าศตวรรษที่ 14 เป็นยุคมืดของยุโรป ผู้คนไม่มีเวลาจะมาสนใจพัฒนาความรู้ เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยสงครามแก่งแย่งอำนาจ ผู้คนถูกกดขี่จนมีแต่ความอดอยากยากแค้น และมีคนล้มตายเป็นจำนวนมากจาก Pandemic!

ปีที่แล้ว โควิด-19 ระบาดรุนแรงขนาดไหนในอิตาลี เมื่อ 600 กว่าปีก่อน Black Death ยิ่งหนักหนากว่านั้นอีกหลายเท่าค่ะ

อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี

เหตุเกิดเมื่อเรือสินค้าจากเอเชียลำหนึ่งล่องมาเทียบท่าเรือที่ซิซิลีใน ค.ศ. 1347 คนที่นั่นต้องตกตะลึง เพราะมีศพกะลาสีนายเรืออยู่เต็มลำ ที่ยังรอดชีวิตก็ป่วยหนักใกล้ตาย เจ้าหน้าที่รีบหาทางส่งเรือลำนั้นกลับออกทะเล แต่ไม่ทันเสียแล้ว โรคร้ายได้คืบคลานขึ้นสู่ฝั่ง และลุกลามแพร่เชื้อให้ประชากรทุกเพศทุกวัยสิ้นใจเหมือนใบไม้ร่วงหล่นจากต้น

อาการของโรคเหรอคะ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบและรักแร้บวมเท่าไข่ไก่หรือไม่ก็เท่าลูกแอปเปิ้ล มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมา ไข้ขึ้น ท้องเสีย อาเจียน และในที่สุดคือเสียชีวิต

ฟังแล้วสยองมากเลยนะคะ แต่อยากเอามาเล่า เพื่อให้เห็นภาพว่าบ้านเมืองในยุคนั้นเป็นยังไง กว่าจะผ่านพ้นมาได้ก็ใช้เวลาหลายปี ฟลอเรนซ์เองเสียประชากรไปเกือบครึ่ง การถือกำเนิดของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาถึงได้เหมือนฟ้าหลังฝน ที่มีรุ้ง 14 ชั้นเปล่งประกายในละอองทองคำอะไรแบบนี้เลย

ทีนี้ทำไมยุคเรอเนสซองส์ถึงได้มาก่อกำเนิดและเฟื่องฟูอยู่ที่ฟลอเรนซ์ คำตอบก็คือ มีคนเก่งๆ (แบบโคตรของโคตรของโคตรเก่ง อย่าง มีเกลันเจโล, ดาวินชี, บรูเนเลสกี หรือ บอตติเชลลี เกิดที่นี่ และมีอภิมหานายทุนหนุนหลังอย่างตระกูลเมดิชี (Medici) ค่ะ

อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี
ลอเรนโซ เด เมดิชี

คือก่อนหน้าตระกูลเมดิชีจะร่ำรวยเรืองอำนาจในฟลอเรนซ์จากการเป็นนายธนาคาร เรอเนสซองส์ก็เริ่มๆ มาแล้วล่ะ แต่ คุณลอเรนโซ เด เมดิชี (Lorenzo de’ Medici) นี่เอง ที่เป็นคนทุ่มจ้างศิลปิน แล้วไปล็อบบี้มหาเศรษฐีด้วยกันให้ช่วยกันจ้าง ทำให้ช่วงเวลานั้นมีงานศิลปะออกมามหาศาล

ศิลปินในค่ายของเมดิชี (ฟังดูเหมือนจะออกอัลบั้ม) คนที่อุ้มชอบมากที่สุด คือ ซานโดร บอตติเชลลี (Sandro Botticelli) ที่วาดรูป The Birth of Venus และ Primavera ไงคะ อุ้มว่าเขาเป็นคนที่วาดรูปผู้หญิงได้สวยที่สุดในโลก แล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ได้รู้ว่า เขาเคยเป็นช่างทองมาก่อน มิน่า ภาพวาดของบอตติเชลลีถึงได้มีเส้นสายสีทองแทรกอยู่ทั่วไป ทำให้งานดูมีความงามอร่ามเรือง (อีกนิดจะขับเสภาละ)

อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี
The Birth of Venus
อุ้ม สิริยากร พาแกะรอยศิลปะระดับโลก และความมหัศจรรย์ของแคว้นทัสคานี
Primavera 

งานจิตรกรรมชิ้นอุโฆษจากยุคเรอเนสซองส์เหล่านี้ อาศัยอยู่ใต้หลังคาเดียวกันที่อุฟฟิซีแกลเลอรี่ (Uffizi Gallery) เพราะทายาทคนสุดท้ายของตระกูลเมดิชี คือ อันนา มาเรีย ลุยซา ตัดสินใจยกสมบัติทางศิลปะทั้งหมดของตระกูลให้กับเมืองฟลอเรนซ์ รวมทั้งอาคารที่เคยเป็นบ้านและที่ทำงานของตระกูลเมดิชีด้วย คือใครสนใจงานศิลปะยุคเรอเนสซองส์นี่จะต้องนอนตายตาหลับถ้าได้มาอุฟฟิซี ส่วนใครที่ไม่ได้สนใจมาก อาจจะตายตาหลับเหมือนกันอยู่แถวๆ ระเบียง เพราะมันใหญ่และมีอะไรให้ดูเยอะมากกกกกก คือเดินและดูจนเหนื่อยหมดลมได้ เดินไปก็คิดไปว่านี่มันบ้านของตระกูลเดียวนะเนี่ย ทำไมถึงรวยอย่างงี้ฟะ

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ภาพ : www.musement.com

พูดถึงตระกูลเมดิชีแล้วจะไม่พูดถึง มีเกลันเจโล (Michelangelo) ก็เห็นทีจะไม่ได้ เพราะนี่เขาก็คู่บุญกันมา (ชื่อที่ถูกต้องออกเสียงแบบนี้นะจ๊ะ ตรงตามตัวเขียนเลย ไม่ใช่ไมเคิลแอนเจโลอย่างที่เราได้ยินกันบ่อยๆ)

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
 มีเกลันเจโล

ได้ยินชื่อมีเกลันเจโล ใครๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นศิลปินชื่อก้องโลก มีงานเฟรสโกน่าตื่นตะลึงอยู่บนเพดาน Sistine Chapel ที่วาติกัน แต่เอาเข้าจริง เจ้าตัวกลับยืนยันว่างานที่เขาถนัดและรู้จักอย่างถ่องแท้คือประติมากรรมต่างหาก

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
Pieta
ภาพ : www.wikipedia.org

อุ้มเคยไปยืนตาค้างดูรูปแกะสลัก Pieta ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ แล้วคราวนี้ก็ได้กลับมาดู David ที่ฟลอเรนซ์แบบมีลูกๆ มาด้วย ดูแล้วก็ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมผู้คนต่างยกย่องให้มีเกลันเจโลเป็นสุดยอดศิลปินของโลก คือมันไม่มีที่ติเลยค่ะ ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ยิ่งดูยิ่งงาม ยิ่งมองยิ่งทึ่ง มีเกลันเจโลบอกว่า เวลามองก้อนหินใหญ่ๆ เขาเห็นเส้นสายและรูปสลักซ่อนอยู่ในนั้น อย่างกับเขาใช้สิ่วและค้อนกะเทาะหินออก เพื่อปลดปล่อยรูปลักษณ์เหล่านั้นให้ออกมาเป็นอิสระแน่ะค่ะ

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ภาพ : wordandsilence.com
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ภาพ : www.divianarts.com

จากหินแข็งๆ กลายเป็นเนื้อหนังที่ราวกับมีเส้นเลือดไหลวนอยู่ในนั้น สีหน้า มัดกล้าม แววตา พลังงานทั้งหมดที่รูปสลักยังคงปล่อยออกมา แม้เวลาจะผ่านไปแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ โชคดีมากเลยที่เมืองฟลอเรนซ์ตัดสินใจไม่ยกเดวิดขึ้นไปไว้ริมระเบียงบนหลังคาดูโอโมตามแผนเดิม คือจะเอารูปแกะสลักที่สวยมีรายละเอียดขนาดนี้ขึ้นไปไว้สูงลิ่ว คนก็ไม่ได้เห็น เสียของกันหมดพอดี แล้วอีกอย่างคือ เดวิดของจริงนี่ใหญ่ยักษ์มากนะคะ (ตลกดี เพราะในเรื่องจริงๆ เดวิดน่ะต้องไปล้มยักษ์โกไลแอธ) จะยกขึ้นไปยังไงไหว

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
เดวิดที่ Piazza Della Signoria
ภาพ : www.mirror.co.uk

คณะผู้ปกครองเมืองก็เลยลงมติ เอาเดวิดไปไว้ที่หน้าพาลาสโซ เวคคิโอ (Palazzo Vecchio) ซึ่งเป็นศาลาว่าการเมืองแทน แล้วให้เดวิดหันหน้าส่งสายตาดุไปข่มขวัญคู่อริสำคัญที่ฮึ่มๆ จะมาชิงเมืองในยามนั้น คือโรม เดวิดจ้องโรมอยู่ 300 กว่าปี ถึงได้ถูกย้ายมาหลบแดดหลบฝนอยู่ใน Galleria dell’Accademia ที่เราเข้าไปดูกันอยู่ทุกวันนี้

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
 Florence Cathedral
ภาพ : www.florence-view.eu    

เมื่อกี้พูดถึงดูโอโม ก็เลยมีเรื่องมหัศจรรย์พันลึกของโบสถ์ที่เป็นหน้าเป็นตา เป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองฟลอเรนซ์ที่อยากเล่าให้ฟังค่ะ

ย้อนไปเมื่อราวๆ ค.ศ. 1290 เมืองต่างๆ ในทัสคานีที่เริ่มมีอิทธิพล อย่างเช่นเซียนาหรือปิซา ต่างพากันบูรณะโบสถ์วิหารให้เป็นหน้าเป็นตาของเมืองตัวเอง ฟลอเรนซ์มองไปรอบๆ แล้วก็คิดว่าเราไม่อยากได้โบสถ์สไตล์โกธิคที่มียอดแหลมๆ พุ่งไปหาสวรรค์ มีเสาค้ำยัน (Flying Buttress) ข้างๆ แบบที่สร้างกันมาในยุคกลางแล้วล่ะ ก็เลยจัดประกวดแบบ แล้วก็ได้แบบที่ชนะเลิศของ Arnolfo di Cambio มา หน้าตาเป็นอย่างนี้

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี

โบสถ์ในฝันสร้างอยู่ร้อยกว่าปี คนออกแบบและคนคุมงานตายจนต้องเปลี่ยนใหม่ไปหลายคน แถมผ่านช่วงที่มี Black Death อีก แต่สุดท้าย ส่วนตัวอาคารก็เสร็จจนได้ เหลือไว้แต่ส่วนที่ยากที่สุด ที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะสร้างยังไง นั่นคือส่วนที่เป็นหลังคาโดม ชาวเมืองก็เริ่มจะร้อนใจ เพราะเอิ่ม… โบสถ์ที่ไม่มีหลังคา จะใช้งานได้ยังไง คนจากบ้านอื่นเมืองอื่นมาเห็นเข้า ก็จะพากันหัวเราะเยาะชาวฟลอเรนทีนอย่างเราให้อับอายขายหน้า

เหตุที่ไม่มีใครรู้ว่าหลังคาโดมจะสร้างได้อย่างไร ก็เพราะไม่เคยมีใครสร้างอะไรแบบนี้มาก่อนน่ะสิ! ใกล้เคียงที่สุดก็คือ Pantheon ที่โรม ซึ่งมีหลังคาเป็นโดมเหมือนกัน แต่นั่นเขามีฐานรากเป็นวงกลม ไม่ใช่แปดเหลี่ยมอย่างที่ฟลอเรนซ์ แถมวิธีการสร้างและสูตรคอนกรีตที่ใช้ก็สูญหายไปหมดแล้ว

ความยากอีกหลายอย่างของหลังคาเจ้าปัญหานี้ ก็คือนอกจากแปดเหลี่ยมจะด้านไม่เท่ากัน เพราะต่อเติมแก้แบบมาหลายรอบ (จะทำยังไงให้เส้นผ่านศูนย์กลางเจอกันตรงกลางโดมพอดี) ขนาดของมันยังใหญ่มหึมา จะหาไม้มาทำโครงข้างในให้เพียงพอก็คงจะยากและแพงมากกกก เพราะฉะนั้น ใครที่จะมาออกแบบและคุมงานสร้าง ต้องคิดวิธีเรียงอิฐให้ก่อขึ้นไปได้เอง และไม่ต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างได้ด้วย

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
บรูเนเลสกี

แล้วสวรรค์ก็ส่ง ฟิลิปโป บรูเนเลสกี (Filippo Brunelleschi) ให้มาเกิดที่ฟลอเรนซ์ คือตอนปิปโป (ชื่อที่คนเรียกกัน) เกิดมา โบสถ์ก็สร้างมาเกือบจะร้อยปีอยู่แล้วล่ะ เขาเองก็ไม่ได้ร่ำเรียนเรื่องการก่อสร้างอะไรมา แค่เป็นช่างทองอยู่แถวสะพานเวคคิโอ แล้วก็ออกเดินทางไปศึกษาอาคารเก่าต่างๆ ในอิตาลีด้วยตัวเอง

เมื่อมีการประกวดแบบหลังคาโดม คณะกรรมการก็ต้องแปลกใจ ที่ปิปโปวัย 40 ยืนยันว่าเขารู้วิธีสร้างโดมนี้ให้สำเร็จจนได้ แต่ยังไง้ยังไงก็ไม่ยอมเล่าว่าวิธีที่ว่านี้คืออะไร บอกแต่เพียงว่า ให้เขาชนะก่อนสิ จะทำให้ดู

ใครที่ไหนจะยอม จริงไหมคะ คืออะไรอ่า เป็นช่างทองไม่มีประสบการณ์สร้างตึกสร้างอะไรเลย อยู่ดีๆ อาสาจะมาสร้างโดม นี่มันงานช้างเลยนะเฟ้ย กรรมการเลยบอกว่า ไหนลองพิสูจน์ให้ดูซิว่าทำได้

ปิปโปเอาไข่มาฟองหนึ่ง แล้วท้าให้ทุกคนลองตั้งไข่นั้นกับพื้นให้ได้ ทุกคนลองแล้วลองอีก ตั้งไป ไข่ก็ล้มกลิ้งล้มกลิ้ง จนสุดท้ายทุกคนจนใจ บอกว่ายอม

ปิปโปจับไข่กระแทกลงกับโต๊ะ เปลือกไข่แตกโพละ เขาจับเปลือกไข่ชิ้นล่างวางคว่ำบนโต๊ะ แล้วจับชิ้นบนที่แหลมกว่าวางครอบลงไป นี่ไง ไข่ตั้งได้แล้ว!

คณะกรรมการบอก โอ้โห อย่างนี้ใครก็ทำได้ แต่ปิปโปบอกว่าถ้ารู้ยูก็ไม่ต้องให้ไอทำให้ดูสิ

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี

อุ้มเคยทำ Igloo เล่นกับลูกๆ ตอนหิมะตกเยอะๆ ยังจำได้ว่า ตอนก่ออิฐหิมะก้อนล่างๆ ก็ไม่ค่อยยากเท่าไหร่ แต่พอเริ่มจะงุ้มเข้ามาตรงกลางนั่นแหละค่ะที่เริ่มยาก เพราะอิฐมันคอยจะยุบลงมา หรือไม่น้ำหนักของอิฐก้อนข้างบนก็จะกดให้ฐานข้างล่างบานออก คือถ้าสร้างแบบ Freestanding ไม่มีโครงอยู่ข้างในนี่ ยากมาก แล้วลองนึกว่าขนาดของโดมที่ฟลอเรนซ์นี่เส้นผ่านศูนย์กลางเกือบ 50 เมตร (ประมาณความกว้างของสนามฟุตบอล) กะผิดนิดเดียวทั้งโดมถล่มลงมาคนตายกันหมดพอดี

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ภาพ :  www.brunelleschisworld.com

บรูเนเลสกีใช้วิธีสร้างโดม 2 หลัง เหมือนกับเปลือกไข่ที่เขาทำให้คณะกรรมการดูเลยค่ะ โดมข้างในยึดไว้โดยรอบด้วยโซ่เหล็กและหินขนาดยักษ์ (เหมือนเหล็กรัดรอบถังไวน์) เรียงกันไป 4 เส้น เพื่อตรึงโดมไว้ให้รับน้ำหนักได้โดยส่วนล่างไม่บานออก เพราะไม่มีเสาค้ำยันด้านข้างเหมือนโบสถ์ยุคก่อนๆ ส่วนโดมด้านนอก มีเสาโค้งทั้งหมด 24 ต้นจากฐานไปบรรจบกันที่ยอดโดม ช่วยยึดโดมด้านนอกกับด้านในเข้าด้วยกัน และรับน้ำหนักของอิฐที่ก่อเป็นหลังคาโดยรอบ

พูดถึงอิฐ ถ้าก่อเฉยๆ เรียงกันไปอย่างที่อุ้มทำอิกลู มีรอยแตกรอยแยกเพียงนิดเดียว ทั้งโดมก็จะถล่มลงมาได้ง่ายๆ ความอัจฉริยะของบรูเนเลสกีก็คือ เขาคิดวิธีก่ออิฐเป็นแบบก้างปลา (Herringbone) เรียงวนไปรอบโดม วิธีก่ออิฐแบบนี้ไม่เคยมีใครใช้มาก่อน แต่มันทำให้แผ่นอิฐช่วยค้ำยันช่วยรับน้ำหนักกันเองได้อย่างประเสริฐมาก

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ภาพ : www.florenceinferno.com

บรูเนเลสกียังออกแบบเครื่องชักรอกที่มีระบบฟันเฟืองขับเคลื่อนด้วยแรงวัว เพื่อช่วยยกคนงานและวัสดุก่อสร้างน้ำหนักมหาศาลขึ้นลงได้ด้วย คือจะเก่งไปไหนเนี่ย

ใช้เวลา 16 ปี โดมที่ไม่เคยมีใครรู้วิธีสร้างก็เสร็จเรียบร้อย ทำเอาผู้คนพากันตื่นตะลึงกับความใหญ่โต สวยงาม และเป็นการป่าวประกาศถึงศักดาของอาณาจักรฟลอเรนซ์ให้เมืองอื่นๆ ได้เห็น ผ่านมาแล้ว 600 กว่าปี ทุกวันนี้ Bruneslesschi’s Dome ก็ยังคงเป็นโดมก่ออิฐที่ใหญ่ที่สุดในโลก มหัศจรรย์จริงๆ เลย

บรูเนเลสกีเสียชีวิตหลังจากโดมสร้างเสร็จเพียง 10 ปี เขาไม่เคยบันทึกหรือแพร่งพรายความรู้เรื่องการสร้างโดมใหญ่แห่งเมืองฟลอเรนซ์ไว้ที่ไหน และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขาทำได้ยังไง ได้แต่ตั้งสมมติฐานเอาจากร่องรอยที่เหลือให้เห็น

แต่เอาเป็นว่า นี่คือบุรุษมหัศจรรย์ของโลกสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และศิลปะ ที่อยากเอาความรู้หางอึ่งของอุ้มมาเล่าให้ฟังค่ะ

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
เมืองเซียนา

ในขณะที่เรอเนสซองส์ในฟลอเรนซ์กำลังเฟื่องฟู เมืองอื่นๆ ในทัสคานีก็ได้รับอิทธิพลและเจริญรอยตามกันมา เมืองที่เฟื่องฟูจากการทำธนาคาร และเริ่มจะมีบทบาทสำคัญในทัสคานีอีกเมืองหนึ่ง ก็คือเซียนา (Siena) ค่ะ

อุ้มเคยไปเซียนามาแล้วหนหนึ่งเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ถึงจะไปเช้าเย็นกลับ เพราะนั่งรถไฟจากฟลอเรนซ์แค่ชั่วโมงครึ่ง แต่ก็ยังจำได้ถึงทั้งเมืองที่เป็นอิฐสีน้ำตาลแดง สวยสมกับที่มีคนเอาไปตั้งเป็นชื่อสี Burnt Sienna แถมยูเนสโกยังประกาศให้ใจกลางเมืองเป็นมรดกโลก มิน่าล่ะ ที่นี่ถึงเป็นหนึ่งในเมืองที่มีคนมาเที่ยวมากที่สุดในทัสคานี

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี

คราวนี้อุ้มมาค้างที่เซียนาคืนหนึ่ง ก็เลยได้เห็นตั้งแต่พระอาทิตย์ตก ยันพระอาทิตย์ขึ้นของอีกวัน บ้านที่มาพักไม่ได้หรูหราอะไรมากแต่วิวสุดๆ ไปเลยค่ะ มองไปเห็นเซียนาทั้งเมืองอาบแสงอาทิตย์ยามเย็น อาบแสงดาว และอาบแสงเช้าสวยอุ่นๆ นี่มันสวรรค์ดีๆ นี่เอง

ตาม อุ้ม สิริยากร สืบประวัติเดวิดของมีเกลันเจโล หลังคาโดมบรูเนเลสกี ตะลุยเมืองฟลอเรนซ์ ลุกกา และเซียนา ในแคว้นทัสคานี อิตาลี
 เมืองลุกกา
ภาพ : www.reddit.com

และแล้วก็มาถึงเมืองโปรดที่สุด ขวัญใจของบ้านอุ้มทั้งบ้าน จนเราลงมติกันว่า ครั้งหน้าที่มาอิตาลี ต้องมาอยู่ที่นี่อาทิตย์หนึ่งเป็นอย่างน้อย เมืองที่ว่านี้ชื่อ ลุกกา (Lucca) ค่ะ

ไม่รู้ว่าอากาศของลุกกาทำด้วยอะไร แต่อุ้มรู้สึกเหมือนมันเบาบาง และทำให้รู้สึกผ่อนคลายมากกว่าเมืองไหนๆ ในอิตาลีที่อุ้มเคยไปมา ไม่ว่าจะตามจัตุรัสต่างๆ ที่มีคนนั่งเล่นพูดคุย ตามถนนหนทาง หรือบนกำแพงเมืองที่สร้างมาตั้งแต่ยุคกลาง และยังคงตั้งอยู่อย่างมั่นคงครบรอบถึงแม้เมืองจะขยายใหญ่ขึ้น คือเป็นเมืองอื่นคงทุบคงทลายบางส่วนหรือทั้งหมดทิ้งไปเพื่อสร้างถนน แต่ที่ลุกกานี่ ถึงแม้กำแพงจะไม่ได้ใช้งานเป็นปราการป้องกันข้าศึกศัตรูเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่เขาก็ยังรักษาไว้ให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ตกเย็นมีชาวเมืองและนักท่องเที่ยวมาเดินมาวิ่งกันเป็นที่เพลิดเพลิน บ้านอุ้มเดินๆ นั่งๆ สลับกับปล่อยให้ลูกๆ วิ่งไปเล่นตามสนามเด็กเล่นที่มีกระจายอยู่ทั่วไป เป็นประสบการณ์ที่ยังประทับใจจนถึงตอนนี้ อุ้มนี่ถึงกับตั้งปณิธานว่า สักวันจะวิ่งรอบกำแพงเมืองลุกกาให้ได้ (แค่ 4 กิโลเอง ไหวอยู่หรอกเนอะ)

เท่านี้ก่อนล่ะค่ะที่อยากมาเล่าให้ฟัง ยังไปเที่ยวไม่ได้ตอนนี้ อ่านเรื่องกันไปเพลินๆ ก่อนแล้วกันนะคะ ไว้วันหน้าวันหลังไปอิตาลีได้อีกทีเมื่อไหร่ จะได้แวะไปกัน

ทอสคานา คือ ทัสคานี อะนี่ก็ยังท่องอยู่เลย

Writer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์