เมื่อนึกถึงวัฒนธรรมการดื่มชา หลายคนมักจะนึกถึงชาอังกฤษเป็นลำดับแรก ๆ ในห้วงความคิด และคงคุ้นเคยกับสำนวนของชาวอังกฤษที่ว่า ‘Let’s put the kettle on’ แปลว่า เรามาตั้งกาต้มน้ำกันเถอะ เพื่อเตรียมชงชาสำหรับต้อนรับแขกในบ้าน วัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ (Hospitality) หรือสร้างความคุ้นเคย (Breaking the ice) ด้วยน้ำชาในลักษณะคล้าย ๆ กันนี้ ยังพบได้ในอีกฟากหนึ่งของดินแดนสองทวีปอย่าง ‘ตุรกี’ ด้วยเช่นกัน 

เมื่อได้ยินชาวตุรกีเอ่ยคำว่า Hoşgeldiniz (อ่านว่า ฮอช-เกล-ดิ-นิซ) แปลว่า ยินดีต้อนรับ เรามักจะเห็นรอยยิ้มที่ตามมาด้วยประโยค Çay ister misiniz? (อ่านว่า ชัย-อิสเตร์-มึซึนึส) แปลว่า รับชาสักแก้วไหมคะ? 

เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
Tea house บนเทือกเขาสูงแห่งทะเลสาบ Uzungol จังหวัด Trabzon ประเทศตุรกี

Çay ในภาษาตุรกี แปลว่า ชา (ออกเสียงว่า ‘ชัย’ ละม้ายคล้ายกับคำว่า ชา ในภาษาไทย) มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนว่า ‘chá’ หากเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์ของชาในอารยธรรมเก่าแก่ เช่น จักรพรรดิเซินหนงหยานในตำนานจีนโบราณและวัฒนธรรมการดื่มชาของราชวงศ์อังกฤษ (สมเด็จพระราชินี Catherine of Braganza แห่งโปรตุเกส ได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชา Charles ที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษ และได้ริเริ่มวัฒนธรรมการดื่มชาในหมู่ชนชั้นสูงของอังกฤษใน ค.ศ. 1662) วัฒนธรรมการดื่มชาของชาวตุรกียังถือว่าอ่อนเยาว์นัก บางคนเชื่อว่าชาวตุรกีค้าขายและดื่มชามาตั้งแต่ 400 ปีก่อนคริสตกาล ในศตวรรษที่ 15 อาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ก็เป็นทางผ่านของเส้นทางสายไหม (Silk Route) จากจีนไปยังยุโรป ชาเป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการลำเลียงผ่านเส้นทางการค้านี้ด้วย อย่างไรก็ดี กาแฟยังคงได้รับความนิยมมากกว่าในสมัยนั้น ในขณะที่ชาเป็นที่นิยมสำหรับใช้เป็นเครื่องหอมเสียมากกว่าที่จะเป็นเครื่องดื่ม 

เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
ภาพวาดของร้านกาแฟสมัยออตโตมัน

วัฒนธรรมการดื่มชาเริ่มเป็นที่แพร่หลายในตุรกีในศตวรรษที่ 19 โดยสุลต่าน Abdülhamid II เป็นผู้ที่ชื่นชอบดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ และได้นำเข้าเมล็ดชามาจากญี่ปุ่นและทดลองปลูกในจังหวัด Bursa แต่ไม่งอกงามเท่าที่ควร เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ไม่เอื้ออำนวย จึงต้องนำเข้าชามาจากเมือง Batumi ประเทศจอร์เจีย โดยคนงานในแถบชายแดนตุรกีกับจอร์เจียเป็นคนนำเข้าชาที่ส่งผ่านมาทางรัสเซีย แผนการปลูกชาของสุลต่านในตอนปลายสมัยออตโตมันต้องชะงักไป เพราะอาณาจักรออตโตมันต้องเผชิญกับสงครามโลกครั้งที่ 1

เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
ภาพวาดสีน้ำมันของสุลต่าน Abdülhamid II ในพระราชวัง Tokapi
เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
Mustafa Kemal Atatürk ผู้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีและรัฐบุรุษที่ชาวตุรกีเคารพเทิดทูน

ต่อมาภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี อตาเติร์ก (รัฐบุรุษและผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี) ตระหนักถึงอิทธิพลของชาที่มีต่อสังคมตุรกี กอปรกับราคาชาที่นำเข้ามายังตุรกีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงสั่งการให้กระทรวงเกษตรสำรวจสถานที่เหมาะสมแก่การปลูกชาในตุรกี รัฐสภาตุรกีได้ผ่านร่างกฎหมายใน ค.ศ. 1924 อนุญาตให้ปลูกชาทางฝั่งตะวันออกของทะเลดำ โดยเฉพาะในจังหวัด Rize ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Tea Capital of Turkey’ (บ้านเกิดของนาย Recep Tayyip Erdoğan ประธานาธิบดีตุรกีคนปัจจุบัน) เพราะมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง อากาศชื้น ฝนตกชุก เหมาะแก่การปลูกชา โดยมีพื้นที่ปลูกชาประมาณ 767 ล้านตารางเมตร โรงงานผลิตชาแห่งแรกก็ถือกำเนิดขึ้นในเมืองหลวงแห่งชานี้เช่นกันใน ค.ศ. 1947 ส่งผลให้ชากลายเป็นสินค้าหลักของสาธารณรัฐตุรกีในเวลาต่อมา 

เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan
เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
ไร่ชาทางตอนเหนือของจังหวัด Rize

ว่ากันว่าชาวตุรกีดื่มชามากเป็นอันดับที่ 2 รองจากน้ำเปล่า ผลสำรวจของ International Tea Committee พบว่า ชาวตุรกีดื่มชาคนละ 3 – 5 แก้วต่อวัน หรือคนละ 1,300 แก้วต่อปี กล่าวได้ว่าวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวตุรกีเป็นวัฒนธรรมร่วมของทุกชนชั้น เป็นสินค้าที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Homogeneous) ตั้งแต่ชาวนาจนถึงชนชั้นนักธุรกิจ นักการเมืองและข้าราชการล้วนแล้วแต่ดื่มชา โดยแทบทุกบ้าน สำนักงาน ร้านค้า ร้านอาหารน้อยใหญ่ในตุรกี ต่างมีกาต้มชาและชาเอาไว้เสิร์ฟต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สำหรับชาวตุรกีแล้วจะไม่มีคำว่า ‘ชาไม่พอเสิร์ฟ’ เพราะเป็นธรรมเนียมที่เจ้าบ้านจะคะยั้นคะยอให้แขกดื่มชา และจะต้องเตรียมชาไว้ให้เพียงพอที่จะเสิร์ฟให้แขกได้ไม่อั้น จนกว่าแขกจะนำช้อนชาวางไว้บนปากแก้ว ซึ่งเป็นอันรู้กันว่าเป็นการปฏิเสธโดยสุภาพ

วัฒนธรรมการดื่มชาในตุรกีถือกำเนิดขึ้นพร้อม ๆ กับการก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี 

Çay เป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนสังคมที่เสมอภาค (Egalitarian) และมีความเป็นประชาธิปไตย ชาเป็นรหัสทางวัฒนธรรมที่คนทุกชนชั้นและหมู่เหล่าปลดล็อกเพื่อสังสรรค์และดื่มด่ำได้อย่างเท่าเทียมกัน เป็นเรื่องน่าสนใจที่จุดกำเนิด
ของวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาที่มีความเชื่อมโยงกับประเพณีนิยมในราชสำนัก เช่น จีนหรืออังกฤษ อาจมีความเป็นไปได้ว่า สังคมตุรกีได้รับอิทธิพลจากอิสลามที่ส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีและมีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในหมู่พี่น้องชาวมุสลิมด้วยก็เป็นได้ ชาจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์อันกลมเกลียวนั้นไว้ อย่างไรก็ดี ชาวตุรกีก็ใจกว้างพอที่จะแบ่งปันน้ำชาของเขาให้กับคนต่างถิ่นต่างศาสนาได้ร่วมลิ้มลองอย่างไม่หวงแหน

ชาที่ชาวตุรกีดื่มส่วนใหญ่เป็นชาดำ มีกลิ่นและรสชาติที่แตกต่างไปตามพื้นที่ มีการสืบทอดวิธีการผลิตใบชามาจากจีน และวิธีการชงชามาจากรัสเซีย โดยใช้กาต้มชาสองชั้น ชื่อว่า Çaydanlık (ชัย-ดาน-ลึก) คล้ายกับ กาซาโมวาร์ (Samovar) ของรัสเซีย กาด้านล่างมีไว้ใส่น้ำร้อน ส่วนกาด้านบนมีไว้ใส่น้ำชา กาต้มชามีทั้งแบบดั้งเดิมที่เป็นสังกะสี/อะลูมิเนียมตั้งบนเตาถ่านและกาไฟฟ้า สำหรับขั้นตอนการเสิร์ฟชา ต้องเทน้ำร้อนและน้ำชาจากกาทั้งสองใบผสมกันในแก้วชาในสัดส่วนที่พอเหมาะ เพื่อไม่ให้ชามีรสชาติฝาดขมหรือเจือจางเกินไป โดยปรับสัดส่วนได้ตามความชอบ

ชาวตุรกีส่วนใหญ่ชอบดื่มชาใส่น้ำตาล 1 – 2 ก้อน เพื่อลดความฝาดและช่วยดึงรสชาติ ‘อูมามิ’ ที่กลมกล่อมและสกัดกลิ่นหอมของใบชาออกมาอย่างลงตัว ก่อนดื่มชาหรือมื้ออาหาร ชาวตุรกี มักจะเอ่ยคำพูดให้แก่กันว่า Afiyet olsun! (อ่านว่า อะ-เฟียต-โอล-ซุน) แปลว่า ขอให้เจริญอาหาร เหมือนกับคำว่า Bon Appetit! ในภาษาฝรั่งเศส นั่นเอง

เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
กาซาโมวาร์ (Samovar) ของรัสเซีย
เรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี เครื่องดื่มอัธยาศัยดีที่ทำให้ทุกชนชั้นเท่าเทียม
Çaydanlık ที่ทําจากอะลูมิเนียมตั้งบนเตาถ่าน

นอกจากรูปร่างหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ของกาต้มชา แก้วชาของตุรกีก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นกัน แก้วใสรูปทรงดอกทิวลิปขนาดกะทัดรัด ไม่ทราบต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า อิทธิพลของดอกทิวลิปมีมาตั้งแต่สมัยออตโตมัน ซึ่งเริ่มมีการเพาะปลูกไร่ดอกทิวลิปในตุรกี แก้วใสรูปทรงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ผู้ที่ดื่มชาสัมผัสกับสีสันมะฮอกกานีของน้ำชาผ่านถ้วยแก้ว นอกจากสีสันที่สวยงามแล้ว สีของน้ำชาที่มองเห็นผ่านถ้วยแก้วยังมีไว้สำหรับกะเกณฑ์ความอ่อนเข้มของชา ที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ชาที่มีความเข้มมากจะมีสีเหมือน ‘เลือดกระต่าย’ นอกจากนี้ รูปทรงของแก้วชายังเป็นที่รับรู้กันในหมู่ชาวตุรกีว่า เหมือนกับเอวที่คอดบางของสาว ๆ หรือ inci belli (อ่านว่า อิน-จี้-เบลลี่) ในภาษาตุรกี

ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
ร้านอาหารอิหร่านแห่งหนึ่งในกรุงอังการา เสิร์ฟ Çay คู่กับน้ำตาลเชื่อมแซฟรอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารอาหรับ
ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
ชาใบไทม์ (Zahter) ที่นิยมเสิร์ฟในจังหวัด Gaziantep อันเลื่องชื่อในนามเมืองหลวงแห่งอาหารตุรกี

Çay ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ (Social Facilitator)ในสังคมตุรกีอย่างดีเยี่ยม การดื่มชาเป็นองค์ประกอบที่ไม่อาจแบ่งแยกได้จากวิถีชีวิตของชาวตุรกี เริ่มตั้งแต่มื้ออาหารเช้า การพบปะสังสรรค์ในครอบครัว เพื่อนฝูง การทำความรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนใหม่ การประชุม และการพูดคุยธุรกิจ ซึ่งมักจะเริ่มขึ้นภายหลังจากการดื่มชา เรื่องราวของชาพบได้ในเนื้อเพลงพื้นบ้าน เรื่องสั้น นิทาน และนิยายภาษาตุรกี มีสำนวนภาษาตุรกีว่า ‘Çaysız sohbet aysız gökyüzü gibidir.’ แปลว่า บทสนทนาที่ปราศจากชา เปรียบเสมือนค่ำคืนที่ไร้ดวงจันทร์ 

ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
ตั้งกาต้มชาปิกนิกในวันฟ้าใสที่ Kazilcahamam ชาญเมืองอังการา อันเลื่องชื่อเรื่อง Thermal Spa National Park เนื้อวัวและเนื้อแกะแสนอร่อย
ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
วงน้ำชาของชายท้องถิ่นชาวตุรกีในยามบ่าย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Cappadocia

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในช่วงต้น ค.ศ. 2020 กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของตุรกี ได้ยื่นขอจดทะเบียนต่อ
องค์กรยูเนสโก (UNESCO) ให้วัฒนธรรมการดื่มชาเป็นอัตลักษณ์ วัฒนธรรมการต้อนรับขับสู้ และสัญลักษณ์
ของการมีปฏิสัมพันธ์ในสังคมตุรกี ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เพิ่มเติมจาก Turkish Coffee ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนไปแล้วเมื่อ ค.ศ. 2013 

ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
คาเฟ่สไตล์ Exotic มีกาต้มชาและเตาถ่านอยู่กลางร้าน ในฟาร์ม Cubuk ชาญเมืองอังการา

นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางไปนครอิสตันบูลคงจะคุ้นเคยกับบรรยากาศที่เหล่าบรรดาพ่อค้าพรมเปล่งเสียงทักทาย และเชื้อเชิญให้เข้าไปดื่มชาในร้าน ก่อนจะนำพรมมานำเสนอเรียงรายบนพื้น หนึ่งในเมนูที่เสิร์ฟบนเรือเฟอร์รี่ที่ให้บริการล่องเรือเยี่ยมชมทัศนียภาพของนครอิสตันบูลในช่องแคบบอสฟอรัส ก็หนีไม่พ้นชาแก้วร้อนที่พนักงานเสิร์ฟจัดวางใส่ถาดเดินขายให้กับนักท่องเที่ยวบนเรือ เพื่อดื่มด่ำไปกับบรรยากาศของกรุงเก่าสองอารยธรรมไบแซนไทน์ (Byzantine) และออตโตมันแห่งนี้ 

ที่มาที่ไปของประโยค Çay ister misiniz? (รับชาสักแก้วไหมคะ?) กับวัฒนธรรมการดื่มชาของตุรกี ตั้งแต่เริ่มต้นจนจิบ
Balik Ekmek Boats (เรือเสิร์ฟปลา) ในยามโพล้เพล้ที่ท่าเรือ Eminonu 

เปิดให้บริการเรือเฟอร์รีล่องชมวิวทิวทัศน์บนช่องแคบบอสฟอรัส นครอิสตันบูล

ใครจะรู้ว่า Çay เครื่องดื่มง่าย ๆ อัธยาศัยดี ที่ไม่มีความสลับซับซ้อนนี้ จะแฝงไว้ด้วยวัฒนธรรมอันเข้มข้นของชาวตุรกีได้อย่างลึกซึ้งเกินกว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

แหล่งข้อมูล

Alhas, Ali Murat (2020) Turkey applies to add 4 cultural values to UNESCO list [accessed 28 February 2022] https://www.aa.com.tr/en/culture/turkey-applies-to-add-4-cultural-values-to-unesco-list/1790937

Afyoncu, Erhan (2018) Tea: Turkey’s favorite beverage came to Anatolia just 140 years ago [accessed 28 February 2022] https://www.dailysabah.com/feature/2018/05/03/tea-turkeys-favorite-beverage-came-to-anatolia-just-140-years-ago 

  Duman, Mustafa (2006) A Short History of Tea [accessed 28 February 2022] http://www.
Turkish-cuisine.org/drinks-6/non-alcoholic-drinks-93/tea-107.html

  Hann, C.M. (1990) Tea and the domestication of the Turkish state, Eothen Press: UK.

  Krishna, Priya (2017) Everything You Really Should Know About Cay, or Turkish Tea [accessed 28 February 2022] https://www.foodandwine.com/tea/everything-you-really-should-know-about-cay-or-turkish-tea

  Ministry of Economy of the Republic of Turkey (2018) Black Tea [accessed 28 February 2022]https://trade.gov.tr/data/5b8fd55613b8761f041fee87/566f5c6418d38d51f198f8cbd1fe1ea1.
pdf

  Turkish Tea [accessed 28 February 2022] https://turkishfoodie.com/turkish-tea/

  Turkish Tea, and Offer You Can’t Refuse [accessed 28 February 2022] https://theistanbulinsider.
com/turkish-tea-an-offer-you-cant-refuse/  Turkey breaks own record in tea consumption amid pandemic [accessed 28 February 2022]https://www.
hurriyetdailynews.com/turkey-breaks-own-record-in-tea-consumption-amid-pandemic-169751

Writer & Photographer

Avatar

ณัฏฐมน ปั่นโพชา

นักสะสมความรู้ / ผู้ชื่นชอบการเดินทางและหลงเสน่ห์ของการพลัดถิ่น / เชื่อในความเหมือนที่แตกต่างของมนุษย์ / คลั่งไคล้ในอิริยาบถของแมว / ใช้ชีวิตตามวลี “to know the causes of things” / เฝ้ารอการออกเดินทางครั้งใหม่บนเส้นทางแห่งความฝัน