18 พฤษภาคม 2019
16 K

เมื่อช่วงปี 2561 เรามีโอกาสไปฝึกงานที่ประเทศตูนิเซียมา 5 สัปดาห์ในช่วงหน้าร้อนของประเทศ จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เราตื่นเต้นมากกว่าการฝึกงานคือเรื่องอาหาร ใฝ่ฝันเอาไว้ว่าอยากกินอาหารแขก เนื่องจากชอบอาหารแขกที่มีกลิ่นเครื่องเทศแรงๆ อยู่เป็นนิจ แต่พอไปถึงก็ไม่เป็นอย่างฝันเท่าไหร่

ถึงแม้ตูนิเซียจะเป็นประเทศอาหรับมุสลิม แต่อาหารท้องถิ่นกลับไม่ได้มีกลิ่นเครื่องเทศรุนแรง และอาหารส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากการเข้ามาปกครองของฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1881 – 1956

อาหารส่วนใหญ่ทำจากมันฝรั่ง มะเขือเทศ พริกหวาน ชีส หอมแดง พาสลีย์ แป้งสาลี ไข่ เนื้อสัตว์อย่างเช่น แพะ ไก่ และแน่นอน ในเมื่อประเทศมีคนนับถือศาสนาอิสลามกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ความเป็นไปได้ของการหาเนื้อหมูในประเทศจึงมีน้อยมาก แต่ก็ยังไม่วายมีเพื่อนหามาให้กินจนได้ ภารกิจไม่กินหมูตลอดการอยู่ที่นี่จึงล้มเหลวลงในอาทิตย์ที่ 4

 

โชคดีได้กินฟรี (เกือบ) ทุกวัน

ทุกคนที่ทำงานต่างคนต่างเอาอาหารมาแชร์กันตอนมื้อกลางวันทุกวัน แล้วก็จะหารเงินไปซื้อขนมปังฝรั่งเศสมาแบ่งกัน ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่ทำงานก็ยังไม่ยอมรับเงินเราที่ขอออกช่วย บางมื้อเลยทำอาหารไปแลกเปลี่ยนบ้าง (ซึ่งก็น้อยครั้งมาก โดยรวมน่าจะเคยทำไปประมาณ 5 ครั้ง) สรุปง่ายๆ คือโชคดีได้ประหยัดค่าอาหารมื้อกลางวันไปทุกวันซะงั้น โชคดีสองต่อคืออาหารที่พวกเขาเอามาเป็นเมนูพื้นบ้านทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นมลุคยา คูสคูส ทาจีน โลวเบีย อาหารชื่อแปลกทั้งหลายแหล่ และผลไม้แสนดีอย่างฟิก พีช องุ่น

ตอนแรกนึกว่าที่ทำงานของคนอื่นๆ ก็มีวัฒนธรรมกิน-แชร์แบบนี้เหมือนกัน แต่ไปถามเพื่อนๆ กลับไม่มีใครโชคดีแบบเราเลยแฮะ พอไปเล่าให้เพื่อนคนตูนิเซียฟังว่าได้กินเมนูนี้บ่อยเพื่อนก็แปลกใจ เพราะไม่น่าจะหากินได้ง่าย (ก็แหงล่ะ แถวที่พักมีแต่ร้านฟาสต์ฟู้ด)

ประเทศตูนิเซีย ประเทศตูนิเซีย

ร้านอาหารส่วนใหญ่ในตูนิเซียมีลักษณะคล้ายๆ ร้านฟาสต์ฟู้ดในประเทศทางตะวันตก (แต่ไม่มีร้านไหนทำแบบฟาสต์ได้จริงเลย รอนานทุกร้าน) คือให้เลือกชนิดของแป้ง ไส้ แล้วค่อยนำเอามาจี่ ทอด อบ ตามลักษณะเฉพาะของแต่ละเมนู

ประเทศตูนิเซีย

นอกจากนี้ ก็มีร้านอาหารที่ดูดีหน่อยซึ่งเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์ส 2 จาน หลังจากเก็บเมนูไป ตะกร้าใส่ขนมปังบาแกตต์หั่นขนาดประมาณ 2 – 3 นิ้วจะถูกนำมาวางไว้บนโต๊ะ บางร้านมีผักสลัดและพริกหวานตำให้ด้วย จิ้มกันเพลิน บางทีก็หลวมตัว รู้ตัวอีกทีก็อิ่มก่อนที่จานหลักจะมาซะแล้ว

หลังจากซัดขนมปังจนหนำใจ อาหารจานหลักจะถูกนำมาเสิร์ฟ บางครั้งเป็นปลาย่าง (ที่จริงๆ แล้วก็ยังไม่เคยเห็นเขาเอาปลาไปทำอย่างอื่นนอกจากการย่าง) กับเส้นสปาเกตตี้ผัดซอส (Makrouna)

ประเทศตูนิเซีย ประเทศตูนิเซีย

 

เพราะน้ำ (มันมะกอก) คือชีวิต

ด้วยความอยู่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิประเทศก็ช่างเป็นใจให้คนแถบนี้ปลูกมะกอกกันเรียงราย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจไป ทั้งผลิตภัณฑ์บริโภคและอุปโภค เช่น มะกอกสด มะกอกดอง น้ำมันมะกอก สบู่มะกอก แชมพูมะกอก และอื่นๆ มะกอก สังเกตได้จากเวลานั่งรถไปต่างจังหวัด สองข้างทางจะเต็มไปด้วยต้นมะกอกขนาดไม่ใหญ่มาก น่าจะสูงสักประมาณ 2 เมตร บนดินที่ดูจะค่อนข้างแห้งแล้ง ระหว่างนั่งรถก็จะได้กลิ่นหอมของน้ำมันมะกอกลอยมาตลอดทาง จริงๆ ตอนแรกไม่ชอบกลิ่นน้ำมันมะกอกเท่าไหร่ แต่ก็ไม่เคยดมมันอย่างจริงจัง พออยู่ไปอยู่มารู้สึกหอมเฉยเลย เพราะรู้สึกว่ามันธรรมชาติดี

 

Harissa is everything

สิ่งที่ต้องเจอทุกวันคือ ฮาริสซา (Harissa) ซอสพริกขึ้นชื่อของชาวแอฟริกันตอนเหนือ หลายครั้งที่ฮาริสซาถูกนำไปประกอบเป็นอาหารชนิดอื่น แต่ทุกครั้งมันจะถูกราดด้วยน้ำมันมะกอกท่วมๆ วางไว้ตรงกลางโต๊ะ แล้วทุกคนจะบิขนมปังฝรั่งเศสจิ้มกิน ไม่ใช่แค่จิ้มฮาริสซา แต่จะเอาขนมปังจิ้มกินกับอาหารทุกเมนู เปรียบให้เห็นภาพง่ายๆ คือเหมือนการปั้นข้าวเหนียวจิ้มกับอะไรบางอย่างของบ้านเรา มีเทคนิคนิ้วเขี่ยกับให้ติดแป้งขึ้นมาเหมือนกัน

ประเทศตูนิเซีย

 

ฝรั่งเศสให้อะไร

ก่อนอื่นเลย คือให้ภาษา ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะเจอแต่ภาษาอาหรับและฝรั่งเศส และแน่นอน รวมถึงในร้านอาหารด้วย ความยากมันอยู่ตรงนี้แหละ จะสั่งอะไรทั้งทีต้องยืนเสิร์ชคำแปลกันก่อน อยากจะก้มลงกราบแพ็กเกจ 4G ของค่าย Ooredoo ที่มอบอินเทอร์เน็ต 25 GB ไว้ให้ติดตัวในราคาเพียงแค่ 300 บาทต่อเดือน

 

ขาดเธอเหมือนขาดใจ

ใครจะไปคิดว่าขนมปังฝรั่งเศสจะมีบทบาทสำคัญในช่วงชีวิตหนึ่งของชาวเอเชียที่ยืนหนึ่งกินข้าวเป็นจานหลักอย่างเรา ในร้านขายของชำ (Fruit Sec) จะมีขนมปังฝรั่งเศสและเคสรา (Kesra) ขนมปังแผ่นกลม ขายอยู่ทุกแห่ง คนตูนิเซียใช้ขนมปังพวกนี้จิ้มอาหารแทนการใช้ส้อม ก่อนวันเทศกาลอีด (Eid Mubarak) ขนมปังฝรั่งเศสที่เคยหาได้ง่ายทุกหัวมุมถนน จะกลายเป็นสินค้าขาดตลาดที่ต้องซื้อตุนเอาไว้ล่วงหน้า เพราะทุกร้านทุกโรงงานต่างพากันหยุดทั่วทั้งประเทศในวันเทศกาล

‘กัสครูต’ (Casse-croûte) เป็นอาหารชนิดแรกที่สั่งกินด้วยตัวเอง เพราะตอนนั้นรู้จักแค่ขนมปังฝรั่งเศส เลยสั่งแค่ขนมปังฝรั่งเศสยัดไส้ โปะทับอีกชั้นด้วยเฟรนช์ฟรายส์ จิ้มกินกับมายองเนส ตอนนั้นรู้จักคำว่า ‘ชวาม่า’ (Shawarma) จากเมนูร้านอาหารแขกแถวซอยนานา แต่ยังไม่รู้จักเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ช่วงแรกๆ เลยกินได้แค่ไก่กับทูน่า

ประเทศตูนิเซีย

 

อิทธิพลอิตาลี

พบเจอได้ง่ายมากในทุกๆ ร้านอาหารคือ พิซซ่า ไม่ว่าจะเป็นเมนูพิซซ่าและเมนูที่นำแป้งพิซซ่ามาใส่ไส้พับแล้วเอาไปอบ อย่างมาคลูป (Makloub)

“It would be sad to live without Makloub when I go back home.”

ประโยคที่โยเซฟ เพื่อนชาวเชก บอกกับเราก่อนกลับประเทศ แทบจะเรียกได้ว่าไอ้เจ้าแป้งพิซซ่าห่อเนื้อสัตว์อบนี้เป็นเมนูยอดนิยมของที่นี่จริงๆ แถมยังทำนานทุกร้านอีกด้วย เพราะเสียเวลากว่าจะนวดแป้ง ใส่ไส้ เอาเข้าเตาอบ แล้วยังต้องมาใส่ผักใส่ซอสเพิ่มทีหลังอีก ครั้งสุดท้ายที่ซื้อลองจับเวลาสรุปประมาณเกือบชั่วโมงถึงได้กิน เมนูท็อปฟอร์มตลอดกาลจึงขอยกให้เจ้ามาคลูปนี่เลย

 

พิซซ่าเข้ามาในแอฟริกาตอนเหนืออย่างตูนิเซียได้ยังไง

ตูนิเซียเป็นประเทศที่มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อย่างเมืองที่เราไปอยู่คือ ลา กูเลตต์ (La Goulette) ห่างจากตูนิส (Tunis) เมืองหลวงประมาณ 15 นาทีโดยรถยนต์ (ในกรณีที่คนขับแท็กซี่ไม่พาอ้อม) ที่นี่มีท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเมืองปาแลร์โม (Palermo) บนเกาะซิซิลี ​(Sicilly) ของอิตาลีได้ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 12 ชั่วโมง หรือถ้าใครอยากจะนั่งเครื่องบินไปจากตูนิสก็ใช้เวลาเพียงแค่ 1 ชั่วโมงเท่านั้น จึงไม่แปลกเลย ที่จะเห็นคนยุโรปโดยเฉพาะชาวอิตาลีมานั่งจิบกาแฟกันที่ซิดิ บู ซาอิด (Sidi Bou Said) มากมาย

แต่จริงๆ แล้ววัฒนธรรมการทำพิซซ่าก็ไม่ได้ที่มาจากอิตาลีซะทีเดียว ถ้าสืบย้อนไป 6 ศตวรรษก่อนปีคริสตศักราช จะพบว่าจุดกำเนิดของพิซซ่ามาจากชาวเปอร์เซีย โดยในสมัยพระเจ้าดาริอุส (King Darius) มีการนำแป้งมาวางไว้บนโล่ แล้วนำไปตากแดด แต่ในสมัยนั้นหน้าพิซซ่าเป็นพวกอินทผลัมและชีส พิซซ่าของเปอร์เซียจึงเป็นของหวาน ไม่ใช่ของคาวอย่างที่เรานิยมกินกันอยู่ทุกวันนี้ ต่อมาชาวโรมันก็ได้ประยุกต์นำผลไม้ของตัวเองใส่เข้าไป จนกระทั่งได้รับการแพร่อิทธิพลมายังอิตาลี แม้ในยุคแรกๆ ของศตวรรษที่ 16 อิตาลีจะยังไม่ยอมรับการกินมะเขือเทศเพราะกรดของมะเขือเทศดันไปมีปฏิกิริยากับจานดีบุกของพวกชนชั้นสูง ทำให้คนรวยไม่ยอมกินผลไม้ชนิดนี้ ในขณะที่คนจนไม่มีปัญญาหาซื้อจานราคาแพง สามารถกินมะเขือเทศได้อย่างไม่มีปัญหาใดๆ จึงเกิดการนำวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างแป้ง น้ำมันมะกอก ไขมันสัตว์ และชีส รวมกับมะเขือเทศ กลายมาเป็นพิซซ่า อาหารของคนจนในยุคก่อนจึงอร่อยแหล่มมาจนถึงยุคปัจจุบัน

ประเทศตูนิเซีย ประเทศตูนิเซีย

สลัดตูนิเซีย

มีลักษณะและส่วนผสมคล้ายๆ กับสลัดของอิสราเอล ประกอบไปด้วยแตงกวา มะเขือเทศ หอมแดง เคียงข้างมาด้วยมะกอกดำและเขียวสามสี่เม็ด หรือบางที่ก็หั่นใส่ไปในสลัดเรียบร้อย ถ้าเงินเหลืออยากจ่ายเพิ่มก็จะได้ทูน่ามาด้วย

 

น้ำพริกหนุ่มตูนิเซีย (Mechouia Salad)

มักจะเสิร์ฟแบบมีไข่ต้มผ่า 4 ชิ้นวางเรียงอยู่ด้านบน ชื่อน้ำพริกหนุ่มนี่เราเรียกเอง ถ้าดูจากส่วนผสมแล้วแล้วก็ใช่เลย พริก กระเทียม หอม ทั้งหมดนำไปย่าง ขาดแค่น้ำปลา น้ำปู๋ แค่นั้นเอง

 

มลุคยา (Mloukhia)

ออกเสียงยากนิดหนึ่งเพราะต้องรวบคำ จริงๆ ได้ยินและเข้าใจมาตลอดว่าเรียกว่า ‘ลุคยา’ มารู้ตอนกลับออกจากประเทศมาแล้วนี่แหละ จานนี้เพื่อนคนยุโรปไม่ค่อยชอบกันเพราะรสชาติหนัก เข้มข้น แต่สำหรับคนที่กินแกงขี้เหล็กรสเข้มข้นสะใจมาตั้งแต่เด็กอย่างเราแล้ว สบายมาก แถมชอบด้วยซ้ำ โชคดีที่คนที่ทำงานชอบทำมาบ่อย เพื่อนคนตูนิเซียถึงกับงงพอบอกว่ากินบ่อย เพราะเป็นอาหารทำกินกันเองในบ้าน ไม่ได้หากินได้ทั่วไป

ประเทศตูนิเซีย

ทาจีน (Tajine)

คล้ายๆ กับคีชและฟริตาตา หรืออาจจะพูดได้ว่ามันคือไข่เจียวหนาๆ นั่นเอง นิยมหั่นเสิร์ฟแบบชิ้นสามเหลี่ยม จริงๆ ทาจีนเป็นชื่อเรียกของภาชนะอบหม้อดิน หรืออาหารที่ประกอบด้วยวิธีการอบหม้อดิน ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบแอฟริกาตอนเหนืออย่างแอลจีเรีย โมรอกโก และตูนิเซีย

 

ลาบลาบี (Lablabi)

มักเสิร์ฟในร้านอาหารราคาถูก เป็นเมนูที่แทบจะทำให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้เลย เพราะในบรรดาเพื่อนๆ ที่ลองชิมมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ บางคนถึงกับยอมตายถ้าต้องกินเจ้านี่ วิธีกินคือต้องฉีกขนมปังเป็นชิ้นเล็กๆ ลงไปคนกับส่วนผสมในชาม เราพยายามจะถ่ายรูปตอนที่มาเสิร์ฟแล้ว แต่เพื่อนดันแย่งใส่ขนมปังแล้วคนจนส่วนผสมเข้ากันซะก่อน หรือจะเรียกว่าคนจนเละก็ได้ คิดสภาพถั่วลูกไก่ (Chick Peas) ในน้ำซุปที่ทำมาจากกระเทียม ยี่หร่า น้ำมันมะกอก และซอสพริกฮาริสซา ทั้งหมดนี่ผสมกับขนมปังชิ้นเล็ก รสสัมผัสเหมือนอะไรแหยะๆ หน่อย รสชาติแปลกแบบไม่เคยกินมาก่อน ผลสรุปคือไม่ได้อยู่ฝ่ายไม่ชอบแล้วกัน

 

คูสคูส (Couscous)

อาหารประจำชาติของตูนิเซีย แอลจีเรีย และโมรอกโก ที่ทำจากแป้งเซโมลิน่า (Semolina) ลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ มีให้เลือกหลายขนาด สามารถพบเจออาหารชนิดนี้ได้ในลิเบียและอิยิปต์ด้วยแต่ไม่มากเท่า 3 ประเทศนี้ วิธีการทำคูสคูสในแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในโมรอกโกนิยมใส่ลูกพรุน ลูกเกด และอบเชย ส่วนในตูนิเซียส่วนใหญ่คูสคูสจะมีสีแดงและเผ็ด แหงล่ะ ก็เล่นใส่ฮาริสซาในทุกๆ อย่าง มักจะใส่เนื้อแกะ ไก่ ปลา หรือเนื้อสัตว์อื่นๆ รวมกับผักผลไม้ต่างๆ ตามฤดูกาล อย่างที่เราเจอส่วนใหญ่ก็จะใส่เนื้อแกะ พริกหวาน มันฝรั่ง ถั่ว ครั้งหนึ่งเคยเจอแบบใส่องุ่นด้วย เพิ่มรสชาติหวานสดชื่น ได้ยินมาว่าคนตูนิเซียมักจะทำคูสคูสเนื่องในโอกาสพิเศษเท่านั้น (แต่ทำไมได้กินบ่อยก็ไม่รู้)

ประเทศตูนิเซีย

บริก (Brik)

บางทีก็เรียก บริกก้า (Brika) จนถึงตอนนี้ยังไม่เข้าใจทำไมแต่ละทีเรียกไม่เหมือนกัน หรือมันคือการใส่อารมณ์เข้าไปนะ เป็นอาหารที่ใช้แป้งห่อไข่แล้วนำไปทอดให้เหลืองกรอบ แป้งที่ใช้ห่อไส้คล้ายแป้งโรตีสายไหมบ้านเรา ต่างตรงบางกว่า มีรสเปรี้ยวนิดหนึ่งเพราะน่าจะเป็นแป้งหมัก ที่รู้ว่ามีรสเปรี้ยวเพราะตอนแรกจะเอามาห่อแทนแป้งตอร์ติญ่า พอชิมแล้วเปรี้ยวติดลิ้นและสัมผัสค่อนข้างแห้ง ทำเอาเสียความตั้งใจไปหมด เอาไปทำอย่างที่มันควรจะเป็นนั่นแหละ

บริกแต่ละที่ใส่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน บางคนใส่แค่ไข่ ตอกแล้วเอาลงไปทอดเป็นอันจบ มีครั้งหนึ่งเราเคยกินบริกที่ชาวบ้านในเมืองกาเบส (Gabès) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ทำให้กิน เหมือนข้างในมีรสชาติของครีมชีสด้วย ละมุนขึ้นไปอีกขั้น จากที่จะกินแค่ชิ้นสองชิ้นเพราะเกรงใจค่าคลอเรสเตอรอลในตัว ก็เลยต้องหยิบเพิ่มจนหมด

 

จาปาตี (Chapati) ไม่ใช่อย่างที่คิด

อยู่ตูนิเซียได้ 3 วัน เพื่อนคนโปแลนด์ก็ชวนไปกินจาปาตี แอบดีใจ เพราะเราชอบกินอาหารอินเดีย แอบหวังว่าจะได้กิน ‘จาปาตี’ แบบที่เคยกิน แต่มันไม่ใช่เลย จาปาตีที่นี่เป็นแป้งแผ่นหนา มักใช้ประกบกับไส้ทูน่า แฮม ไข่ หรือชีส บางร้านไม่ได้ใช้วิธีการประกบ 2 แผ่น แต่ใช้การทำเป็นแผ่นใหญ่แล้วพับแทน แล้วค่อยนำไปจี่บนเตา

ประเทศตูนิเซีย

ออจจ้า (Ojja)

ครั้งแรกที่เห็น ‘ออจจ้า’ เราเรียกมันว่า ‘ชักชูก้า’ (Shakshuka) แต่เพื่อนชาวตูนิเซียบอกว่าไม่ใช่ เมนูที่เอาไข่ตอกใส่ลองไปในมะเขือเทศ มันเรียกแบบนั้นไม่ใช่หรอ ไม่เชื่อทุกคนลองเอาคำว่า ‘Shakshuka’ ไปเสิร์ชในกูเกิลได้เลย จะเจอภาพกระทะที่มีไข่สุกอยู่บนมะเขือเทศ

 

แล้วสรุปออจจ้ากับชักชูก้าต่างกันยังไง?

พอตั้งใจฟังเพื่อนอธิบายดีดีแล้วก็เข้าใจ ‘ชักชูก้า’ ทุกจาน จำเป็นต้องมีมันฝรั่ง แต่ไม่จำเป็นต้องมีไข่ ต่างกับ ‘ออจจ้า’ ที่ต้องมาพร้อมกับไข่ และมักเสิร์ฟกับเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอกเนื้อแกะรสเผ็ด (Merguez) แค่นี้เอง

 

เมื่อกระบองเพชรคือผลไม้

กระบองเพชร หรือ Prickly Pears มีถิ่นกำเนิดมาจากเม็กซิโก ถูกเผยแพร่มาจากชาวสเปน เราค้นพบว่าประเทศแถวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกินกระบองเพชรเป็นผลไม้กัน แถมมันยังหวานอร่อยซะด้วยสิ อย่างที่มอลต้าก็เป็นพืชเศรษฐกิจ เอามาทำเป็นเหล้าชื่อ Bajtra ขายอยู่เต็มสนามบิน ถ้าไม่ติดว่ามันเม็ดเยอะและแข็งก็อาจจะเหมามาหมดรถเข็นแล้วกลืนมันลงไปทั้งหมด

 

ประเทศตูนิเซีย ประเทศตูนิเซีย

 

ชาและกาแฟ

วัฒนธรรมการกินกาแฟของคนที่นี่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวเติร์ก สมัยที่จักรวรรดิออตโตมันครองพื้นที่ในช่วงศตวรรษที่ 16 – 19 (ทำไมที่ไหนๆ ก็มีประวัติว่ามาจากชาวเติร์กนะ) กาแฟที่นี่จะแตกต่างจากกาแฟที่ตุรกีเพราะใช้อุณหภูมิการคั่วเมล็ดกาแฟที่ต่างกัน คนตูนิเซียชอบดื่มการแฟกันเป็นชีวิตจิตใจ มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟมาจากประเทศอื่น ไม่ได้ปลูกเอง สามารถพบเห็นร้านกาแฟแบบโบราณได้ทุกหัวมุมถนน กาแฟที่นี่จะเสิร์ฟเป็นแก้วเล็กๆ แบบแก้วช็อต แก้วละประมาณ 20 – 25 บาท ลูกค้าที่นั่งมักจะหันเก้าอี้ออกหน้าร้านเหมือนร้านเบียร์ที่ถนนข้าวสาร และร้านกาแฟพวกนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่ลูกค้าผู้ชาย ต่างกับร้านชา (Salon de Thé) ที่มีลูกค้าหลากหลายเพศเข้ามานั่งจิบชามินต์นั่งเม้ากันจุบจิบ

ชามินต์เป็นที่นิยมวงกว้างในประเทศแถบแอฟริกาตอนเหนือ ทำจากชาดำ สะระแหน่ และน้ำตาล 2 ก้อนใหญ่ๆ ขึ้นไป แอบตกใจทุกครั้งที่เห็นเวลาเค้าใส่น้ำตาล กินเสร็จแนะนำให้รีบไปเช็คค่าเบาหวานหน่อยก็ดี บางร้านดีหน่อย วางน้ำตาลแยกออกมาให้ใส่เอง

หากไปตามบ้านก็จะถูกต้อนรับขับสู้ด้วยชามินต์และขนมกองพะเนินใส่มาในถาด โดยเฉพาะ ‘มะครูด’ (Makroudh) ขนมหวานที่ทำจากแป้งเซโมลิน่ายัดไส้อันทผลัมหรือบางที่ใส่เปลือกส้มด้วย เป็นขนมขึ้นชื่อของเมืองไครูอัน (Kairouan) ที่นิยมทานกันทั้งประเทศ และถ้าไม่ชอบชามินต์สามารถสั่งเป็นชาอัลมอนด์ได้ ซึ่งถั่วที่ใส่มาก็ไม่ใช่อัลมอนด์นะ แต่เป็นเมล็ดสน กินหมดแก้วอิ่มพอดี

ประเทศตูนิเซีย

The Best of the Best

ถึงจะร่ายยาวถึงอาหารมาหลายเมนู อย่างไรก็ตาม รางวัลนี้ขอยกให้ บัมบาโลนี (Bambalouni) ทุกครั้งที่ไปซิดิ บู ซาอิด ก็ต้องซื้อเจ้าขนมรูปร่างเหมือนโดนัทอันใหญ่คลุกน้ำตาลนี้ ราคาเพียงแค่อันละ 0.8 ดินาร์ หรือประมาณ 10 บาท รสชาติเหมือนโดนัทบวกแป้งโรตี มีความนุ่มและเบาบางกว่าโรตี เหมือนเป็นสารเสพติดให้อยากนั่งรถไฟเหงื่อซ่กเพื่อซื้อไอ้เจ้านี้โดยเฉพาะ

ประเทศตูนิเซีย ประเทศตูนิเซีย

ศัพท์ภาษาฝรั่งเศสที่ควรรู้ก่อนสั่งอาหาร ถ้าไม่อยากอดตาย

  • Jambon = แฮม
  • Bouef = เนื้อวัว
  • Merguez = ไส้กรอกเนื้อแกะ
  • Foie = ตับ
  • Cordon Bleu = ไก่ชุบแป้งทอดยัดไส้ชีส
  • Fromage = ชีส
  • Oeuf = ไข่
  • Thon = ทูน่า

 

Bon Appétit!

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ชนวรรณ ตัณฑ์ไพบูลย์

เป็นคนกรุงเทพฯโดยกำเนิดอย่างสมบูรณ์แต่ดันพูดเหน่อ รักการท่องเที่ยวพอๆ กับที่รักการกิน รักการถ่ายรูปพอๆ กับที่รักการแต่งรูป รู้สึกว่าตัวเองสวยขึ้นทุกครั้งที่ทำงานเพื่อคนอื่น