ในหนึ่งวัน คนเราควรมีเวลาทำสิ่งที่รักสักกี่นาที กี่ชั่วโมง

8 ชั่วโมงแรกสำหรับเวลาทำการ 8 ชั่วโมงถัดมาสำหรับการพักผ่อน 2 ชั่วโมงสำหรับการเดินทาง และ 3 ชั่วโมงสำหรับการปฏิบัติภารกิจประจำวัน ยังไม่นับเวลาสำหรับครอบครัว เพื่อน และคนที่รัก

สิ่งหนึ่งที่เรามักจะพบในคนที่ประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต คือ การบริหารเวลาที่ทำให้เขาหรือเธอทำหน้าที่และสิ่งที่รักที่ฝันได้อย่างลงตัว 

หนึ่งในนั้นคือ ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล

ตุ๊กตาเป็นคนทำหนังสือ ที่จะไม่มีวันเลิกทำหนังสือ เธอบอกเราอย่างนั้น

อดีตนักเรียนออกแบบเริ่มต้นอาชีพในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ด้วยการเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมก่อตั้งนิตยสาร Hamburger ก่อนได้รับโอกาสสำคัญให้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Knock Knock! บรรณาธิการสำนักพิมพ์ Polkadot พร้อมๆ กับเป็นนักเขียนเจ้าของผลงานซีรีส์ กุ๊กกิ๊กไกด์ หนังสือเดินทางที่ชวนให้เราหลงใหลในของกระจุกกระจิก

ปัจจุบัน ตุ๊กตายังคงเขียนและทำหนังสือที่รักอย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารของสำนักพิมพ์ยาหยีของตัวเอง เป็นแม่และภรรยาที่ได้ทำงานที่รัก

คุณอาจจะคิดว่าเธอโชคดีที่ได้ทำงานที่สนุก แวดล้อมด้วยผู้คนมากมาย มีไลฟ์สไตล์ที่ใครๆ ก็ฝันถึง มีครอบครัวและลูกที่น่ารัก 

โชคดีก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่เตรียมตัวเองให้พร้อมรับโอกาสที่เข้ามาตลอดเวลา หรืออ้างเรื่องเวลาอย่างใคร เธอก็คงไม่ได้ทำในสิ่งที่หล่อหลอมตัวเธออย่างวันนี้

ฐานะที่เป็นแฟนหนังสือที่เติบโตมาพร้อมกับนิตยสารของเธอ ขอสารภาพว่าความกุ๊กกิ๊กที่มีนี้ได้แรงบันดาลใจจากเธอทั้งสิ้น แม้กระทั่งเป็นแม่เต็มเวลาแล้ว เธอก็ยังมีวิธีสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คุณแม่ยุคใหม่ให้ลุกขึ้นมาสดใสเป็นตัวเองอย่างเต็มที่ ผ่านงานเขียนของเธอในช่องทางต่างๆ จนคนไม่มีลูกอย่างเรายังรู้สึกอิจฉา

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา มาฟังเรื่องราวของเธอผู้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยความรัก จากคนที่ไม่เคยรู้แม้แต่ความฝันของตัวเอง เธอรู้จักตัวเองจากการหยิบชิ้นส่วนที่อยู่รอบตัวมาค่อยประกอบร่าง ไม่เคยปิดกั้นตัวเองให้ลงมือทำสิ่งที่ฝัน ที่น่าสนใจคือเธอเอาเวลาจากไหนมาทำหลายสิ่งหลายอย่าง ทำให้จักรวาลความกุ๊กกิ๊กของเธอไม่มีที่สิ้นสุด

จากนั้นพบกับบทสัมภาษณ์แรกในชีวิตของ ชื่นใจ ภูมิรัตน เด็กหญิงผู้เป็นความรักและความฝันของตุ๊กตา

ตุ๊กตา พนิดา ตุ๊กตา พนิดา

อะไรคือความยากของการเป็นแม่เต็มเวลาที่ชอบทำงาน

คำถามที่ตอบยากที่สุดหลังจากลาออกจากงานมาเป็นแม่เต็มเวลาคือ ตอนนี้ทำอะไรอยู่

ไม่รู้จะตอบว่าอะไร พอตอบว่าดูแลลูกก็ฟังดูเหมือนเราไม่มีอะไรทำ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่เลย งานอาชีพแม่คือหนักที่สุด จริงๆ เราก็ยังเป็นบรรณาธิการ เป็นนักเขียน ยังเป็นทุกอย่างที่เราเคยเป็นเพียงแค่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง  ใครมาให้ทำอะไร ถ้าทำได้ก็ทำให้หมด ทำคอนเทนต์ออนไลน์ เขียนหนังสือ มีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง เพียงแต่ทุกอย่างไม่ได้มีเป้าหมายที่กำหนดชัดเจนเหมือนเดิมว่า 1 ปีต้องออกหนังสือกี่เล่ม

จากเดิมในแต่ละปีจะมีงานที่ทั้งเขียนเองหรือเป็นบรรณาธิการเล่มอย่างน้อย 12 – 15 เล่ม แต่พอมาทำสำนักพิมพ์เองซึ่งมีแค่เรากับ พี่ป่าน (นิตตา ชินาลัย) คนหนึ่งเขียนอีกคนวาด ทำธุรกิจแบบคนที่ไม่ถนัดทั้งคู่ แต่เราก็ยังคงทำสำนักพิมพ์ต่อไป เพราะเป็นความฝันและความรักในอาชีพ ถามว่าได้เงินร่ำรวยไหม ก็ไม่เลย สิ่งหนึ่งที่แน่ใจคือ เราจะไม่มีวันหยุดทำสิ่งนี้

เพราะอะไร

เพราะเป็นสิ่งที่เรารักที่สุด เราเชื่อว่าถ้าไม่มีคนทำ วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็คงจะหายไป อย่างน้อยๆ เราจะขอยืนอยู่ในฝั่งที่เป็นคนทำมันไปตลอด

ตอนไหนที่คุณรู้ตัวว่าชอบทำหนังสือ

โดยทั่วไป คนทำงานกองบรรณาธิการมักจะเป็นคนในสายงานอักษรศาสตร์หรือวารสารศาสตร์ เป็นความโชคดีของเราที่ พี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์) มองเห็นและให้โอกาสเรา ซึ่งพอได้เข้ามาทำนิตยสาร Hamburger เราก็รู้ว่านี่คืองานที่เราต้องการ เราไม่ได้อยากเป็นแค่อาร์ตไดเรกเตอร์ ซึ่งไม่ได้ต่างจากสิ่งที่เรียนมา ในวิชาเรียนออกแบบหนังสือเราเป็นเจ้าของโปรเจกต์ที่เริ่มต้นและจบงานด้วยตัวเอง การทำนิตยสารทำให้เราได้ใช้ศาสตร์อื่นๆ ที่มีอยู่ในตัวเราตั้งแต่เด็ก โดยหน้าที่ที่มากกว่านั้นคือการบริหารจัดการอย่างไรก็ได้ให้หนังสือออกมาให้ได้ดีที่สุด ซึ่งเราสนุกและชอบทุกกระบวนการของการทำหนังสือ ชอบเวลาเปิดเล่ม-ปิดเล่มแบบนั้น

เป็นบรรณาธิการบริหารครั้งแรก ยากไหม

ตอนนั้นเราไม่ได้รู้สึกว่ายาก แต่รู้สึกว่าท้าทายเพราะก็รู้ตัวว่ายังเด็ก ตอนเริ่มงานบรรณาธิการบริหารอายุประมาณ 24 แต่เรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา เราเคยผ่านมาแล้วทั้งนั้น เช่น เล่มแรกของ Knock Knock! คือเรื่องดาวโรงเรียน เล่มที่ 2 เรื่องทอมบอย โดยกลุ่มเป้าหมายของหนังสือคือเด็กมัธยม ซึ่งอายุเราห่างจากคนอ่านไม่เกิน 10 ปี เราจึงทำหนังสือผ่านการใช้ความรู้สึกที่เคยผ่านช่วงเวลาเหล่านั้น จน Knock Knock! กลายเป็นนิตยสารวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จ

จากวันนั้นจนวันนี้ คนที่เคยติดตามนิตยสาร Knock Knock! เขาก็ยังติดตามนิตยสารมาเรื่อยๆ สำหรับเราเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เราโตมาพร้อมๆ กับคนอ่านของเรา และช่วงเวลาและจังหวะชีวิตที่ทำให้เราได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานบ้างนิดๆ หน่อยๆ ตลอดเวลาที่ทำงานประจำมา ไม่ได้เปลี่ยนสายงานเลย ยังคงอยู่ในบริษัทเดิมทำงานที่แรกและที่เดียวที่นี่

งานที่ผ่านมาทั้งหมดส่งผลต่อชีวิตของคุณยังไง

งานทำให้เราแยกเรื่องงานและชีวิตส่วนตัวออกจากกันไม่ได้

อะไรคือข้อดีและข้อเสียของการที่งานและเรื่องส่วนตัวเป็นเรื่องเดียวกัน

เราไม่รู้ว่าเป็นข้อเสียมั้ย แต่ข้อดีก็คือทุกสิ่งที่ทำในวันนั้น เมื่อมาถึงวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องเดียวกันอยู่เพราะเป็นเรื่องที่เราสนใจ สิ่งที่เราพูดออกไปคือสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่าจะเป็นงานเขียน งานภาพ หรืองานวิดีโอ ทั้งหมดเป็นตัวเราทั้งนั้น

ข้อเสียก็คือ เราไม่รู้ว่าเรื่องที่เราสนใจจะหมดลงเมื่อไหร่ หรือบ่อยครั้งก็คิดว่าเรากำลังขายตัวเองตลอดเวลาหรือเปล่า ตอนทำงานนิตยสารเราเคยคิดว่าแต่ละปีที่เราคิดหัวข้อของหนังสือครบทั้ง 12 เล่มประจำทั้ง 12 เดือนแล้วปีหน้าจะทำอะไรดี เพราะทุกอย่างที่มีถูกใช้ออกไปหมด แต่พอผ่านไปปีหน้าก็มีเรื่องมาให้ทำใหม่ เป็นอย่างนี้ไป 4 – 5 ปี ก็ยังทำได้ หรือตอนทำสำนักพิมพ์ polkadot เราก็คิดว่าทุกอย่างถูกใส่ไปหมดแล้ว ถ้าเกิดช่วงที่ความคิดถึงทางตันจะทำอย่างไร ซึ่งก็ไม่เคยถึงจุดนั้นนะ ยังคงไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะมีเรื่องใหม่ๆ ถูกใส่เข้ามาในตัวเราเพิ่มเติมทุกวันๆ

วิธีที่คุณใช้ในการทำความรู้จักความต้องการของตัวเอง

อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา ทั้งจากคุณแม่ เพื่อนในวัยเด็ก คนและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวของเรา หล่อหลอมจนรู้ว่าตัวเราเป็นอะไร เราเป็นใคร ชอบหรือไม่ชอบอะไร ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นเด็ก เราไม่ชอบอ่านหนังสือเรียนเลย แต่ชอบอ่านหนังสือนอกเวลาเรียนมากๆ เช่น จดหมายจากลอนดอน ปุลากง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก ได้คะแนนเต็มหรือเกือบเต็มตลอดสวนทางกับวิชาเรียนอื่น จุดเปลี่ยนของชีวิตคือการเรียนออกแบบนิเทศศิลป์ (คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) ไม่เพียงรักทุกวิชาที่ได้เรียน จากเด็กเรียนไม่เก่งก็กลายเป็นคนที่ได้ A เกือบทุกวิชา เริ่มรู้สึกดีกับตัวเอง เพราะเราเริ่มเห็นตัวเอง

หลังจากแสดงงาน Thesis ซึ่งเราทำหนังสือชื่อ มือใหม่ไหว้เจ้า เป็นคู่มือไหว้เจ้าแต่ละเทศกาลสำหรับคนรุ่นใหม่ ทั้งย่อยข้อมูลและทำรูปเล่มออกมาอย่างสนุก ก็มีคนติดต่อให้ไปทำงานเป็นกราฟิกตามที่ต่างๆ แต่สุดท้ายเราเลือกไปทำงานกับพี่โหน่ง แม้เงินเดือนเริ่มต้นจะน้อยกว่าที่อื่นๆ เกือบครึ่ง จำได้ดีว่าเงินเดือนเริ่มต้นคือ 8,500 บาท

ทั้งๆ ที่มีประตูให้เลือกหลายบาน อะไรทำให้ตัดสินใจแบบนั้น

เราเลือกจากสิ่งที่เราอยากรู้อยากลอง มันไม่มีอะไรจะเสีย สำหรับเราเรื่องนี้จำเป็นมากที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะรู้ว่าตัวเองเป็นยังไง ชอบไม่ชอบอะไร นี่เป็นโจทย์สำคัญที่เราตั้งไว้ว่าชื่นใจจะต้องรู้จักตัวเองให้ได้ สำคัญมากกว่าจะต้องเรียนเก่งเสียอีก

การวนเวียนอยู่ในเรื่องที่ตัวเองชอบมีข้อดีคือทำให้ตัวตนชัดเจนขึ้น แต่นั่นทำให้เราไม่สามารถออกไปจากจุดเดิมๆ ได้เลยหรือเปล่า

ทุกอย่างในชีวิตวนเวียนๆ อยู่กับเรื่องเดิมๆ ทั้งหมดเลย ไม่ได้ออกไปไหนไกล หนังสือเล่มแรกที่ทำให้สำนักพิมพ์ polkadot คือหนังสือ It Bag เป็นไอเทมที่ชอบเป็นการส่วนตัว กระเป๋า รองเท้า ที่อยู่ใน polkadot ทุกเล่มมันคือเราหมดเลย ท่องเที่ยว เครื่องเขียน เครื่องประดับ งานเย็บปักถักร้อย หรืองานบ้าน และเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร อย่างในนิตยสาร Knock Knock! จะมีแจกแพตเทิร์นตัดเย็บเสื้อผ้าแบบในนิตยสารสตรีสารยุคก่อน เพราะเราโตมากับหนังสือเหล่านั้นซึ่งซึมซับมาจากแม่อีกที ก็ถ่ายทอดต่อมาเป็นอย่างนี้

กับสิ่งที่ไกลจากตัวเราในเวลาหนึ่ง วันนี้เราก็กำลังเก็บสิ่งเหล่านั้นกลับมา จะบอกว่าไม่ท้าทายก็ไม่เชิง เพราะเรามีเรื่องท้าทายตัวเองอยู่เรื่อยๆ ไม่ได้เป็นคนที่กลัว ต้องอยู่ใน Comfort Zone ตลอด

เคยรู้สึกเสียดายกับสิ่งที่คุณไม่ได้เลือกบ้างไหม

มีนะ มีหลายเรื่องที่เรารู้จักช้าไป คิดเสียดายว่าควรจะรู้เสียตั้งนานแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตัวเองไม่ได้ขวนขวายด้วย หรือเรื่องนั้นไม่ได้เดินมาแล้วตรงกับจังหวะชีวิตพอดี แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต

ตอนที่เราเรียนมัธยมหรือเรียนมหา’ลัย เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าโลกนี้มี Work and Travel ถ้าเรารู้เราต้องไม่พลาดแน่ๆ แต่เราโอเคนะ เพราะวันนี้เราก็ได้ทำเรื่องที่คล้ายๆ กันในรูปแบบอื่น ในเวลาอื่น

แล้วเคยรู้สึกไม่เหมือนเดิมกับสิ่งที่เคยชอบมากๆ บ้างหรือเปล่า

มีเหมือนกันที่เกิดความรู้สึกไม่กรี๊ดแล้ว ยิ่งเดินทางบ่อย จากที่เคยชอบร้านประมาณนั้นหรือกรี๊ดร้านประมาณนี้เมื่อ 10 – 15 ปีก่อน พอวันนี้ความตื่นเต้นมันน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่เห็นความแตกต่าง จริงๆ ความต่างเพียงเล็กน้อยก็กระตุ้นความสนใจกลับมาได้ อีกส่วนคงเป็นเพราะเราโตขึ้นความสนใจก็เปลี่ยนไป และผลของความไม่กรี๊ดจะทำให้เขียนไม่ค่อยออก ซึ่งเราเป็นคนเขียนหนังสือจากความรู้สึกมากๆ มีช่วงที่ใครๆ ต่างก็ออกหนังสือเดินทางกันหมด เราก็แอบกังวลเล็กๆ แต่เรารู้ว่ามีคนที่ชอบเราที่เป็นแบบนี้อยู่ เมื่อไม่เน้นปริมาณอันไหนที่เราไม่รู้สึกเราก็ไม่เขียนถึงหรือพูดถึง

แม้จะวนเวียนอยู่กับสิ่งที่ชอบซ้ำๆ แต่ทำไมเราถึงเห็นคุณทำหลายสิ่งหลายอย่างอยู่ตลอดเวลา

เราเป็นคนที่ชอบหาเวิร์กช็อปหรืองานอดิเรกใหม่ๆ มาก เมื่อมาคิดดูดีๆ ว่าชีวิตเราผ่านช่วงต่างๆ มาได้ยังไง ก็พบว่าที่ผ่านมาเรามีงานอดิเรกเป็นสิ่งที่ชุบชีวิตทำให้ตัวเองกลับมามีแรงได้ใหม่เสมอ เมื่อไหร่ที่ทำงานแล้วเหนื่อยเรามักจะมีสิ่งอื่นให้ทำ 

คุณมีวิธีเลือกงานอดิเรกยังไง

เลือกตามความชอบ ความสนใจ จะเย็บสมุดหรือคัดลายมือก็ลองดู บางเรื่องที่ลองแล้วชอบสิ่งนั้นก็จะอยู่กับเราไปเลย บางเรื่องก็ชอบแต่ทำได้เท่าไหร่ก็ไม่ดี เช่น การทำขนม เรารู้ตัวเลยว่าไม่มีพรสวรรค์ ต่อให้ใจรักแค่ไหนก็ทำไม่ได้ ตั้งแต่เด็กแล้วที่เราฝึกเย็บผ้าและทำขนมด้วยตัวเอง ซึ่งต่อให้อ่านแพตเทิร์นภาษาญี่ปุ่นไม่ออกก็พอจะเย็บเสื้อผ้าได้จากรูปประกอบ แต่กับขนมต่อให้ทำตามสูตรทุกอย่างก็ออกมาแบบไม่ได้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จึงได้แต่สรุปกับตัวเองว่าไม่มีพรสวรรค์เรื่องขนมจริงๆ เรื่องอื่นเราเป็นคนไม่ยอมแพ้นะ แต่เรื่องนี้เราขอยอมรับ ทุกวันนี้เราก็ยังพยายามอยู่ อยากมีสักเมนูสองเมนูที่ทำแล้วรู้สึกกรี๊ดกับตัวเอง

มีงานอดิเรกไหนบ้างที่ดูไม่น่าจะเป็นตัวคุณ แต่เมื่อลองทำแล้วกลับเปลี่ยนความคิดของคุณได้

ปลูกต้นไม้ แต่ก่อนคิดว่าเป็นคนปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วที่ปลูกต้นไม้แล้วตายเป็นเพราะเราใส่ใจมันไม่มากพอ จนวันนี้เริ่มเข้าใจว่าต้นไม้เหมือนคนมากๆ เรื่องที่ต้องการคนรู้ใจมาดูแล ว่าฉันต้องการหรือไม่ต้องการแดดแค่ไหน ฉันต้องการน้ำแล้วนะ แม้พูดไม่ได้แต่ก็แสดงออกให้เราเห็น ไม่ถึงกับประสบความสำเร็จแต่เราชอบที่จะเรียนรู้ ตอนดอกไม้ออกดอกเป็นช่วงเวลาที่เรายืนมองอย่างมีความสุข พี่บอยยังเคยแซวว่าอยากให้เรามองเขาด้วยสายตาแบบเดียวกับที่ยืนมองดอกไม้บ้าง (ยิ้ม)

กับงานครัว คุณมีวิธีหาแรงบันดาลใจอย่างไรให้รู้สึกสนุกทุกครั้งเมื่อได้ทำ

ครัวเป็นอาณาจักรเล็กๆ ของเราในบ้าน เราชอบจาน ชาม เครื่องครัว ทั้งหมดนี้อยู่ในชีวิตเรามาโดยตลอดซึ่งมาจากแม่อีกเหมือนกัน เรามีความสุขเมื่อได้ใช้จานชามแก้วน้ำที่ชอบ ชอบสะสมด้วย โดยทุกอย่างจะถูกจัดวางไว้ในแบบที่เราชอบ เราไม่ได้วางเพื่อโชว์ให้ใครเห็น แต่วางเรียงกันไว้โดยที่รู้เองว่าเราอยากให้ชิ้นไหนอยู่ข้างหน้าข้างหลัง เพราะอยากเห็นและชอบที่จะเห็น เวลาเดินทางเรามักจะมีจานชามหรือเซรามิกเล็กๆ น้อยๆ ติดมือกลับมาด้วยเสมอ ชอบเดินตลาดเจอช้อน ส้อม ผ้าปูโต๊ะ แล้วตามตลาดพวกนี้เหมือนเป็นมิวเซียมไลฟ์สไตล์สำหรับเรา ได้เห็นชีวิตของแต่ละครัวเรือน แต่ละยุคสมัย

การชวนลูกเข้าครัวก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้สนุกกับงานครัว

เมื่อก่อนเรากับชื่นใจทำ เข้าครัวตัวจิ๋ว เป็นหนังสือและคลิปสอนทำอาหารร่วมกันสั้นๆ ซึ่งตอนนี้ที่โรงเรียนของชื่นใจก็ให้เด็กๆ ทำอาหารทานกันเองด้วย เขาเองโตพอที่จะทำตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้ด้วยมือของตัวเอง

สำคัญคือ ไม่ทำอะไรที่เกินความเป็นตัวเอง โลกทุกวันนี้ทำให้เราเห็นชีวิตคนอื่นเยอะมาก

เราเห็นคนที่ทำอาหารเอง สวยน่ากินไปหมด หรือเห็นใครเข้าร้านอาหารสวยๆ ตลอดเวลา ซึ่งการเห็นชีวิตคนอื่นมากไปก็เป็นการรบกวนตัวเอง รู้สึกอยากเป็นอย่างเขาได้ ไม่ผิด แต่ถ้าการทำอาหารสักมื้อทำให้คุณต้องรื้อทั้งครัว งัดหม้อไหกระทะจานชามสวยๆ มาใช้ทั้งหมด มันคงเหนื่อยเกินไป คงจะดีกว่าถ้ารู้จักตัวเอง รู้วิธีการ รู้ความต้องการของตัวเอง แล้วทำมันออกมาในแบบของตัวเอง

อีกอย่างเราให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลามาทดลองทำสิ่งที่ฝัน จนทำได้ดี แม้จะไม่มีพรสวรรค์ด้านการทำขนม แต่เรื่องการทำอาหารเราว่าเราทำได้เพราะฝึกฝนมาตั้งแต่เด็กๆ มันวนเวียนกับเรื่องพวกนี้ ไปตลาดกับพ่อ ทำกินเสร็จแล้วก็ต้องเก็บล้างทำงานบ้านกันเองพี่น้องแบ่งงานกัน ซึ่งงานที่เรามักเลือกขอทำคือล้างจาน ต้องใช้น้ำยาล้างจานที่ดีทำให้ไม่ต้องล้างหลายที

โลกที่เปลี่ยนไปส่งผลกับการทำงานของคุณยังบ้าง

แม้จะมีเครื่องมือใหม่ๆ ให้ลองทำมากมากมาย แต่หลายอย่างก็ไม่เหมาะกับเรา เคยจะลองทำ Vlog แล้วแต่ไม่ถนัดเลย และในวันนี้ที่แทบจะไม่เหลือคนทำเว็บไซต์แล้วเพราะใช้พลังสูงกว่ามาก เราก็เลือกที่จะเขียนบทความลงเว็บไซต์ https://smileplease.mom ของตัวเอง คนอาจจะมองว่าเชยมาก แต่เราทำแล้วมีความสุข ในชีวิตเราควรมีบางอย่างที่ทำเพื่อความสุขของตัวเราเอง แล้วถ้าสิ่งที่เราทำมันเป็นประโยชน์กับคนอื่นได้ด้วย ทำให้คนอื่นได้สาระบันเทิง ผ่อนคลายไปกับเราด้วย มันคือพลังงานสำหรับเรานะ เคยมีคนอ่านบอกว่า ขอบคุณมากที่ทำเว็บไซต์แม่ยิ้มออกมา เพราะมีที่ให้เขาพักใจอันยุ่งๆ เข้ามาอ่านแล้วเขาได้ยิ้มกลับไป ฟังแล้วมีความสุขนะ

ตุ๊กตา พนิดา

ยิ้มของแม่อยู่ที่แม่ยิ้ม?

เราทำเว็บไซต์แม่ยิ้ม หรือ smileplease.mom ขึ้นมา เมื่อให้โลกของแม่ยิ้ม โลกรอบตัวของแม่ก็จะยิ้มไปด้วย เรากำลังพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม เรื่องความสวยงาม แฟชั่น งานอดิเรก หรือเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ ของแม่ที่ให้แรงบันดาลใจ ไปจนถึงเรื่องความสุขจากการเดินทางคนเดียวหรือการยอมตัดเรื่องอื่นๆ ออกไปจากชีวิต

การที่แม่จะมีเวลาหรือชีวิตของตัวเองบ้างไม่ใช่เรื่องผิดนะ บ่อยครั้งที่คนเป็นแม่ทุ่มทุกอย่างที่มีให้คนที่รักหมดจนลืมตัวเอง ลืมสิ่งที่เคยชอบ เราคิดว่าในหนึ่งวันแม่ควรจะมีเวลาน้อยที่สุดก็สัก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงที่จะเป็นตัวของตัวเอง เราเชื่อเสมอว่าทุกคนมีชีวิตของตัวเอง ลูกมีชีวิตของตัวเอง สามีมีชีวิตของตัวเอง เราก็มี เพียงแต่ว่าเราต่างมีชีวิตที่ทับซ้อนกันอยู่ จำเป็นที่จะต้องมีน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตของแม่ให้มีชีวิตชีวา เพื่อที่จะทำอย่างอื่นหรือดูแลโลกใบอื่นได้

อะไรคือเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อเริ่มต้นเขียนบทความหรือหนังสือเล่มใหม่

แม้จะเป็นเพียงบทความ แต่เรายังใช้วิธีคิดและกระบวนทำงานไม่ต่างจากหนังสือ ในการพิมพ์หนังสือแต่ละครั้งใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะ ยิ่งทำให้ต้องคิดมากขึ้น วันนี้มีหนังสือที่เขียนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้พิมพ์ออกมา ทั้งคิดถึงต้นทุนราคาขาย จำนวนที่พิมพ์ วิธีขาย มีเรื่องที่ต้องระวังหลายอย่าง หนังสือเล่มล่าสุดยังคงเป็นซีรีส์กุ๊กกิ๊กแฟมิลี่ไกด์ หนังสือนำเที่ยวเพื่อการเที่ยวกันเป็นครอบครัว ตั้งแต่สถานที่และกิจกรรมสำหรับใช้เวลาร่วมกัน ร้านรวงโปรดของคุณแม่และคุณพ่อ

ความยากของการทำหนังสือนำเที่ยวในยุคนี้

เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ได้ทำกันง่ายๆ แค่ดูลูกก็เหนื่อยแล้ว นี่ถ่ายรูป กลับมาต้องมาเขียนอีก ซึ่งเราจะรู้ของเราในหัวว่าเรื่องไหนจะเขียน แต่เราจะไม่ตั้งเป้าหมายในการเดินทางว่าไปเพื่อทำหนังสือ นั่นจะทำให้บรรยากาศเป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่สนุก พออะไรที่คิดว่าเป็นงานมันจะเครียดขึ้น มันต้องกังวลหลายอย่างอีก กังวลว่าเก็บเรื่องถ่ายรูปพอหรือยัง

ความเป็นแม่และภรรยาที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มาพร้อมกันได้ไหม

เรายังเชื่อเสมอว่ามันเป็นไปได้ที่คนที่เป็นคุณแม่และประสบความสำเร็จในทุกๆ ด้านไปพร้อมกัน คนเราสวมหมวกกันทีละใบ ตอนนี้เป็นแม่เราก็สวมหมวกแม่ เพียงแต่ว่างานที่เป็นความฝันของเราต่างๆ เปรียบเสมือนเครื่องประดับ สมมติวันนี้ต้องทำงานเป็นบรรณาธิการ ความเป็นแม่ก็จะกลายเป็นเครื่องประดับหมวกแทน เราทำทุกอย่างไปด้วยกันได้ เพียงแต่ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญของเรื่องนั้นก็มาก่อน

เรื่องชื่นใจ

“คุยกับชื่นใจก่อนได้เลยค่ะ” ชื่นใจ ภูมิรัตน ในวัย 5 ขวบขยับโบผูกผมของเธอเล็กน้อย ก่อนนั่งหลังตรงรอเราอยู่

นี่คือการให้สัมภาษณ์สื่อครั้งแรกของชื่นใจ และชื่นใจก็เป็นคนอายุน้อยที่สุดที่ The Cloud เคยสัมภาษณ์มา

เราละลายพฤติกรรมกันด้วยสมุดวาดภาพ ปากกาสี สติกเกอร์รูปเด็กสาวผมม้า หลังชวนเธอตอบคำถามสั้นๆ บรรยากาศก็เปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่เปลี่ยนจากผู้ตอบมาเป็นผู้ถาม สมเป็นลูกสาวของบรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์และนักร้องนักแต่งเพลงคนดังของประเทศ

สมัยที่ชื่นใจยังเป็นชื่นจิ๋ว หรือชื่นใจในร่างจิ๋ว เธอเป็นทั้งแฟชั่นนิสต้าและบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่อายุน้อยที่สุดคนหนึ่ง วันเวลาผ่านไป นอกจากในเพจเที่ยวรอบลูก คุณยังติดตามทริปท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์และสนามเด็กเล่นของเธอได้ใน เรื่องชื่นใจ

ถ้าผู้ใหญ่ยังมี Cafe Hopper ได้ เด็กก็มี ‘สนามเด็กเล่น Hopper’ ได้เช่นกัน

ตุ๊กตา-พนิดา เอี่ยมศิรินพกุล แม่ของชื่นใจเขียนถึงชื่นใจในบทความ Robinson Playground สนามเด็กเล่นที่คล้ายค่ายลูกเสือขนาดย่อมที่เวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่าการไปสนามเด็กเล่นของชื่นใจสอนเธอเรื่องความกล้า ความกลัว การตัดสินใจ ความสนุก ความเหงา

ยอมรับว่าตอนแรกเราก็ไม่เข้าใจหรอก เพราะสนามเด็กเล่นที่เราคุ้นตาไม่เคยสร้างความรู้สึกเช่นนั้น จนกระทั้งได้นั่งคุยกับชื่นใจยาวๆ ก็พบว่าไม่เด็กสาวคนนี้ไม่ใช่แฟชั่นนิสต้า ไม่ใช่เจ้าหญิง ไม่ใช่หนูน้อยยิ้มเก่ง แต่เธอนิ่งฟังคำถามและตั้งใจตอบทุกครั้ง แม้ในมือจะมีปากกาสีกับกระดาษ

ตุ๊กตา พนิดา

ชื่นใจในดวงใจ

“คุยกับชื่นใจก่อนได้เลยค่ะ” ชื่นใจเอ่ยปาก และเมื่อแม่ถามว่าอยากให้นั่งอยู่เป็นเพื่อนไหม ชื่นใจก็ยืนยันว่าเธออยู่คุยกับเราเพียงลำพังได้สบายมาก

ชื่นใจเล่าว่า 1 วันของเธอ ส่วนใหญ่หมดไปกับการวาดรูป โดยเฉพาะรูปผู้คนและรูปหัวใจ

“ทำไมรูปหัวใจของชื่นใจไม่เหมือนของคนอื่นที่เคยเห็นเลย” เราถาม

“เพราะมันต้องมีระบายด้วย” ชื่นใจบอกว่าเธอวาดตามแบบที่เห็นจากกระเป๋าของคุณแม่ ก่อนจะบรรจงวาดเชอร์รี่เติมเข้าไปในหัวใจจนเต็มดวง

นอกจากวาดรูป การอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมโปรดที่คุณแม่ปลูกฝังชื่นใจตั้งแต่ยังเล็กมากๆ

“อ่านหนังสือชื่อว่า ตด (เรื่องและภาพโดย ชินตะ โช สำนักพิมพ์แพรวเพื่อนเด็ก) แล้วก็ชอบอ่านเรื่อง Snow White หนูชอบเพราะเขาน่ารัก แต่ที่หนูชอบมากกว่าคือ มู่หลาน เพราะมู่หลานเขาเก่งและฉลาด” ชื่นใจเล่าเสียงใส แต่เมื่อถามจะเลือกเป็นสโนว์ไวท์หรือมู่หลานมากกว่ากัน ชื่นใจกลับบอกว่าเธอจะเป็นซูเปอร์ฮีโร่

“หนูอยากเป็น Batgirl, Supergirl, Wonder Woman, Poison Ivy และที่อยากเป็นมากที่สุดคือ Lady Shiva”

ตุ๊กตา พนิดา

การเดินทางของความฝัน

“โตขึ้นอยากเป็นอะไรคะ”  ไม่มีเด็กคนไหนโตมาโดยไม่เคยเจอคำถามนี้

“อยากเป็นแอร์โฮสเตส นักวิทยาศาสตร์ และหมอ แต่อยากเป็นแอร์โฮสเตสที่สุดค่ะ” ชื่นใจใช้เวลาคิดไม่นานก่อนตอบเสียงดังฟังชัด แล้วรีบอธิบายงานของแอร์โฮสเตสจากการเฝ้าสังเกตเมื่อออกเดินทางไกล “เสิร์ฟอาหาร เสิร์ฟขนม และบอกให้เรารู้ว่าต้องทำตัวยังไงบ้างเมื่ออยู่บนเครื่องบิน” เธอตอบอย่างตั้งใจ

“ชื่นใจทำได้ใช่ไหมคะ” เราถาม

“ได้ค่ะ” เธอรับคำ ก่อนบอกเราว่าเธอจะต้องตั้งใจให้มากกว่านี้และรู้ภาษาเกาหลีเพื่อจะเป็นแอร์โฮสเตสที่อยากเป็น ในชุดแอร์โฮสเตสที่ใส่เสื้อสีขาวด้านใน ตามด้วยแจ็กเก็ตสีชมพูแบบที่มีกระดุม จับคู่กับกระโปรงสีเทา เป็นเครื่องแบบพนักงานของสายการบินซีจัง ซึ่งมาจากชื่อ CJ ตัวย่อของชื่นใจ

ไม่ว่าปลายทางของสายการบินนี้จะเป็นที่ไหน รวมถึงจะเปิดทำการจริงเมื่อไหร่ สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจคือ โลโก้ของสายการบินจะต้องมีรูปหัวใจลายเชอร์รี่เป็นส่วนประกอบแน่ๆ

ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์หญิงชื่นใจก็ตั้งใจจะคิดค้นทำเครื่องทำคัพเค้กอัตโนมัติ ที่ลักษณะภายนอกดูเหมือนเครื่องปิ้งขนมปัง

“แล้วชื่นใจมีความฝันไหมคะ” เราถาม

“มีค่ะ (รีบตอบ) ความฝันของหนูคือการออกไปท่องโลก” ชื่นใจกางมืออธิบายขนาดของกระเป๋าเดินทางของเธอ ซึ่งไม่เล็กจนเกินไปและไม่ใหญ่จนสุดแขน พร้อมเล่าถึงของสำคัญที่เธอจะนำใส่กระเป๋าติดตัวไปด้วย ได้แก่ น้องบาร์บี้ เทเรซา และคลอเดีย สมุด ดินสอสี กระติกน้ำ หนังสือนิทานเรื่อง ตดลาแล้วนะ

“หนูจะผูกเจสซี่ (ตุ๊กตาตัวโปรด) ที่หูของกระเป๋าเดินทาง” เธอยิ้มให้หลังพูดถึงเพื่อนสนิทที่ชื่อเจสซี่

ก่อนหน้านี้เราคิดว่าคำถามต่อไปนี้จะยากเกินที่เด็กอายุ 5 ขวบจะเข้าใจ แต่ยิ่งคุยกันก็พบว่าไม่เพียงเธอเข้าใจ ชื่นใจยังตอบคำถามแทบจะในทันทีที่ได้ยิน ดังคำถามต่อไปนี้

ตุ๊กตา พนิดา

เมื่อคนเราโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เรามักจะลืมความฝัน ชื่นใจอยากบอกพวกเขาว่าอะไรคะ

คนที่ลืมความฝันคือคนที่เชยที่สุด ถ้าไม่มีความฝันก็ไม่ต้องเกิดมา

ชื่นใจจะรู้สึกยังไงเมื่อทำความฝันนั้นสำเร็จ

หนูจะรู้สึกดีใจ และถ้าเกิดทำตามความฝันได้แล้วก็ให้ไปช่วยคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ

ชื่นใจรู้ไหมว่าคุณแม่ทำงานอะไร

ทำงานเป็นคนทำหนังสือค่ะ

ชื่นใจมีส่วนช่วยงานคุณแม่บ้างไหม

ช่วยบ้างค่ะ แต่ช่วยทำงานครัวมากกว่า

งานอะไรในครัวที่ชื่นใจชอบทำ

ตอกไข่ ซึ่งหนูทำได้ตั้งแต่ 2 ขวบแล้ว เป็นงานที่ต้องฝึกฝนจะได้ตอกไข่สวยๆ และงานที่ยากที่สุดในครัวสำหรับหนูคืองานขูดเปลือกแครอท

เมนูที่ชอบกินที่สุด

ซุปมักกะโรนีที่โรงเรียน หนูเคยเติมถึง 5 ชาม มันอร่อยมากๆ จำได้เลยว่าเป็นของโปรดของหนูตั้งแต่อายุ 3 ขวบ

เมนูอะไรที่ชื่นใจไม่ชอบกิน

กุยช่าย หนูไม่ชอบกลิ่นของกุยช่าย

วิธีที่จะทำให้กุยช่ายอร่อยขึ้นด้วยสูตรของชื่นใจ

นำไปทอดแล้วชุบแยมสตรอว์เบอร์รี่

เมนูใหม่ทดลองทำของชื่นใจ

เทไข่เจียวลงไปทอด ตามด้วยวางแครอท ข้าว และหน่อไม้ฝรั่ง วางทอดบนไข่เจียว จากนั้นห่อให้สวยงาม เมนูนี้มีชื่อว่า ไข่เจียวห่อแครอท และของแท้ต้องเป็นแครอทรูปดาวเท่านั้น

จงแต่งนิทานสั้นๆ 1 เรื่องที่แทนความรู้สึกของวันนี้

เป็นเรื่องของคนปลูกต้นไม้ที่สอนว่าอย่าใจร้อน

ตุ๊กตา พนิดา

บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของซันไลต์ที่มุ่งมั่นอยากสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเริ่มทำสิ่งที่รัก เพราะซันไลต์ไม่ได้แค่มุ่งมั่นที่จะเป็นน้ำยาล้างจานที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังอยากเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในห้องครัวที่จะทำให้เรื่องงานบ้านไม่เป็นเรื่องน่ากังวลใจอีกต่อไป ติดตามเรื่องราวการเริ่มทำในสิ่งที่รักของซันไลต์ต่อได้ที่นี่ ชีวิตที่มากกว่างานบ้าน

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)