งานอีกด้านหนึ่งของทีมของพวกเราในฐานะสถานทูตไทยที่เพิ่งเปิดใหม่เอี่ยมอ่อง เห็นจะเป็นการทำความรู้จักกับฝ่ายเจ้าบ้านโมซัมบิก และแสดงน้ำใจไมตรีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะในฐานะ ‘เพื่อนใหม่’ -เพื่อนที่เพิ่งมาใหม่เอี่ยมอ่องในบ้านของเขา

การพัฒนาชนบทแบบไทยๆ เป็นตัวอย่างที่ดี

พวกเราไปเปิดสถานทูตได้ไม่ทันไร ยังไม่ครบ 3 เดือนดี กระทรวงการต่างประเทศก็สั่งการให้เสนอฝ่ายโมซัมบิกว่า ฝ่ายไทยสนใจจะให้ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน ผ่านหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่พอจะแบ่งปันได้

แนวทางและวิธีการพัฒนาชนบทแบบไทยนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีและปฏิบัติได้จริง สำหรับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอย่างโมซัมบิก 

วิธีการถูกๆ ที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตสูง ไม่ต้องใช้ที่ดิน ทุน แรงงาน และเทคโนโลยีจำนวนมหาศาล

วิธีการง่ายๆ ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น 

วิธีการพื้นๆ ที่ทำให้คนไม่อดอยาก มีกินแม้จะยากจน 

วิธีการบ้านๆ ที่ถูกแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรกลทุ่นแรงคน และเพิ่มผลผลิตการเกษตร 

เหล่านี้คือวิธีการพัฒนาชนบทแบบไทยที่เราควรจะภูมิใจ ว่าพอที่จะเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนใหม่ของเราได้

เคราะห์ร้ายของเขาที่ทำเกษตรไม่เป็น

โมซัมบิกเป็นประเทศที่ติดอันดับรั้งท้ายรายชื่อของประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
ชาวบ้านรวมกลุ่มกันช่วยขุดดินเพื่อเตรียมทำเป็นบ่อปลา

แม้ว่าโมซัมบิกเคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำในแอฟริกาตะวันออกของเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอันอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว อ้อย มะม่วงหิมพานต์ เพื่อส่งออกกลับไปยังยุโรป 

โมซัมบิกได้รับเอกราชจากโปรตุเกสเมื่อ ค.ศ. 1975 ต่อมาอีก 2 ปี โมซัมบิกก็ต้องประสบกับสงครามกลางเมืองคนชาติเดียวกันหยิบอาวุธขึ้นมาสู้กันจนล้มตายจำนวนมาก เป็นสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 15 ปี จนเพิ่งมาจบลงเมื่อ ค.ศ. 1992 นี้เอง

สงครามกลางเมือง คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้โมซัมบิกยากจน

 คนจนในแอฟริการวมถึงประเทศโมซัมบิกน่าสงสารจับใจ ผิดกับคนมีรายได้น้อยในเอเชียอย่างเช่นบ้านเราที่แม้จะจนอย่างไรก็ยังมีกิน แต่ประชากรของโมซัมบิกจนแล้วก็ยังไม่มีกินจนผอมแห้งอิดโรย ไม่มีเรี่ยวแรงลุกขึ้นมาทำอะไร 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก

การเกษตรกับเรื่องปากท้องคือเรื่องเดียวกัน ใครปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ได้อย่างน้อยก็ไม่อดตาย อาหารการกินที่ดีทำให้คนมีพลังและเรี่ยวแรง มีกำลังวังชาที่จะเพิ่มพูนผลิตผลทางการเกษตร ส่วนที่เกินมาก็ขายนำรายได้ที่เป็นเงินไปแลกเปลี่ยนสินค้าบริการที่ต้องการแต่ไม่สามารถผลิตเอง 

แต่น่าเสียดายที่ประชากรส่วนใหญ่ของโมซัมบิกยังทำเกษตรไม่เป็น ไม่นับว่าการถูกปกครองอยู่ภายใต้เจ้าอาณานิคมตะวันตกหลายร้อยปี ได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการกินดั้งเดิมของชาวบ้านที่เคยกินของที่หาได้ในท้องถิ่น ให้มากินแต่ข้าวโพดและเม็ดถั่ว ชาวบ้านจึงไม่รู้จักเก็บผักหญ้าหรือสัตว์ในท้องถิ่นมากินเป็นอาหาร

ระยะเวลา 15 ปีของสงครามกลางเมืองอาจรุนแรงพอที่จะทำให้คนต้องล้มตายไปหนึ่งรุ่น และอาจนานพอที่จะความรู้ในการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เคยสั่งสอนและสะสมกันมาหายไป

ประชากรรุ่นต่อมาที่รอดจากสงครามจึงทำการเกษตรไม่เป็น 

ชนบทของเขาที่เราเห็น

หลังจากที่สถานทูตได้รับคำสั่งให้เสนอฝ่ายโมซัมบิกว่า ฝ่ายไทยอยากแบ่งปันประสบการณ์และขอให้เสนอพื้นที่ในการทำโครงการสาธิตให้เราทดลองทำให้ดู

ไม่นานหลังจากนั้น ฝ่ายโมซัมบิกก็มีคำตอบให้เรา โดยเสนอพื้นที่ใน 3 หมู่บ้านให้ฝ่ายไทยพิจารณา

พวกเราตัดหมู่บ้านแห่งสุดท้ายออกไปก่อน เพราะกว่าจะเดินทางเข้าถึง ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง แม้ระยะทางจะไม่ไกลจากตัวเมืองนัก สภาพถนนเป็นถนนทรายบนสันดอนชายฝั่ง ในวันที่เราสำรวจ รถขับเคลื่อนสี่ล้อที่เราเช่ามาติดหล่มทรายต้องลากกันออกมาหลายชั่วโมง กว่าจะกลับออกมาก็ได้ก็เป็นเวลามืดค่ำดึกดื่นแล้ว

เราจึงเหลือหมู่บ้านที่ต้องพิจารณาเลือกอีก 2 แห่ง

หมู่บ้านแห่งแรกเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นเมืองมากกว่าหมู่บ้านที่สอง ในขณะที่หมู่บ้านที่สองมีนายอำเภอที่พูดภาษาอังกฤษได้คล่อง และมีทีท่าตื่นเต้นที่จะให้ความร่วมมือกว่า 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
ท่านทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ ประชุมร่วมกับชาวบ้านในชุมชน

หมู่บ้านแห่งแรกมีโครงการที่ทางการเข้าไปส่งเสริมการเลี้ยงวัวเนื้ออยู่แล้ว ในขณะที่หมู่บ้านแห่งที่สอง เคยเป็นพื้นที่เกษตรเก่าของคนขาวที่เป็นเจ้าอาณานิคมโปรตุเกส แต่พื้นที่เพาะปลูกถูกปล่อยรกร้างมาเกือบ 50 ปีจนไม่เหลือสภาพเดิม 

หมู่บ้านแห่งแรกมีจำนวนประชากรในพื้นที่มาก ในขณะที่หมู่บ้านแห่งที่ 2 มีคนอยู่ไม่มาก ไม่ถึง 100 หลังคาเรือน มีโรงเรียนประถมฯ ตั้งอยู่คู่กับสถานีอนามัย ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่ทางการใช้เรียกประชุมคนในหมู่บ้าน 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
ห้องเรียนหลังหนึ่งในโรงเรียนประถมประจำหมู่บ้าน

ในที่สุด หลังจากที่กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมพัฒนาชุมชนของไทยมาดูพื้นที่ เราก็เลือกที่จะทำโครงการในหมู่บ้านที่สอง ชาวบ้านในหมู่บ้านและทางอำเภอประสงค์ให้เราสอนปลูกข้าวปลูกผัก เลี้ยงปลานิล และสอนอาชีพต่างๆ ตามแนวทางของเราให้เป็นตัวอย่าง 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศมาเดินทางมาสำรวจพื้นที่โครงการ

แม้ว่าจะอยู่ห่างจากถนนหลวงเพียงไม่ถึง 20 กิโลเมตร แต่หมู่บ้านแห่งที่สองเป็นหมู่บ้านกลางป่า ไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปา ชาวบ้านต้องเดินไกลมาโยกน้ำบาดาลจากบ่อที่โบสถ์คริสต์ของต่างประเทศมาขุดไว้ให้ไม่กี่บ่อ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ไม่มีอาชีพมั่นคง คนหนุ่มสาวต้องออกไปหางานทำในเมือง คนที่อยู่ก็เก็บฟืน เผาถ่าน ต้มเหล้าท้องถิ่น และเก็บลูกเสาวรสจากต้นที่ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติขายบ้างเป็นครั้งคราว

ปัญหาที่ต้องแก้ทีละเปลาะ

เมื่อเราเริ่มต้นทำงาน เราก็พบแต่ปัญหา

โชคดีที่หัวหน้าทีมของเราไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา

โรงเรียนประถมในหมู่บ้านที่เก่าซอมซ่อ ซึ่งเราเคยใช้ประชุมร่วมกับชาวบ้านในวันฝนตกพรำ และน้ำหยดแหมะลงมาไม่ขาดสาย ที่เราคิดว่าจะใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชาวบ้าน ท่านทูตให้เราเสนอกระทรวงการต่างประเทศว่า เราควรจะสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ให้เขา 

ผู้เชี่ยวชาญด้านประมงจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กำลังให้คำแนะนำแก่เกษตรกรท้องถิ่นที่สนใจจะเลี้ยงปลานิล

แผนการดำเนินงานของเราที่จะต้องเลี้ยงปลานิล แต่ในโมซัมบิกไม่มีลูกปลานิลที่ปรับปรุงพันธุ์แล้วขายเหมือนในบ้านเรา ท่านทูตก็เห็นด้วยกับผู้เชี่ยวชาญด้านปลานิลคนไทยที่แนะนำว่า เราควรสนับสนุนให้มีศูนย์เพาะพันธุ์ปลานิลระดับท้องถิ่น เพื่อผลิตลูกปลาให้เราใช้แจกจ่ายให้ชาวบ้านไปเลี้ยง ซึ่งต่อมาฝ่ายโมซัมบิกได้ขอให้เราจัดตั้งศูนย์เพาะพันธุ์ลูกปลานี้ร่วมกับเกษตรกรท้องถิ่น

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
บรรยากาศรอบฟาร์มปลาของเกษตร ที่รัฐบาลท้องถิ่นหวังว่าจะเป็นแหล่งผลิตลูกปลานิลสายพันธุ์ดีแจกจ่ายให้ชาวบ้าน

เมื่อเราจะต้องส่งอาสาสมัครมาช่วยดำเนินโครงการในปีต่อมา เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับผู้เชี่ยวชาญของไทยที่จะต้องเดินทางมาให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการเพียงระยะสั้นๆ ท่านทูตก็เห็นว่า เราจะต้องสร้างที่พักชั่วคราวในหมู่บ้านซึ่งมีห้องน้ำห้องส้วมดีๆ ในพื้นที่บริเวณโรงเรียน ที่ฝ่ายไทยตั้งใจจะใช้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรแบบผสมผสานภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

คนละไม้คนละมือ

บนกระดาษ ดูเหมือนว่าโครงการของเราเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างไม่ยาก ฝ่ายโมซัมบิกก็ตั้งหน้าตั้งตารอที่จะเห็นแบบอย่างวิธีการพัฒนาชนบทแบบไทย ฝ่ายเราก็ดูเหมือนจะรู้ว่าเราจะไปช่วยเขาอย่างไร

แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ผมในฐานะเจ้าหน้าที่สถานทูตคนหนึ่ง รับรู้ถึงความเครียดและความกดดันอย่างมาก

โชคดีที่การดำเนินงานของเรามีผู้เชี่ยวชาญของไทยที่คอยให้คำแนะนำ มีเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงการต่างประเทศที่พร้อมที่จะสนับสนุน มีแรงงานไทยที่มาสร้างโรงไฟฟ้าซึ่งพร้อมจะช่วยเหลือ มีชุมชนไทยในโมซัมบิกที่คอยมาเยี่ยมเยียนสอบถามให้กำลังใจ มีนักเรียนทุนรัฐบาลไทยชาวโมซัมบิกที่เรียนจบแล้วมาร่วมทำงานกับเราด้วย

เสมือนว่าการดำเนินงานในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ไม่ใช่งานของพวกเรา สถานทูต แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นงานสนุกและเป็นที่ภูมิใจของทุกคน โดยเฉพาะคนไทยที่อยู่ในกรุงมาปูโต

ภรรยาและแม่บ้านผู้ติดตามของ ท่านทูตรัศม์ ชาลีจันทร์ เข้าไปนอนค้างอยู่ในหมู่บ้าน เพื่อช่วยสอนหญิงชาวบ้านและเด็กเย็บผ้าด้วยจักรไฟฟ้าอุตสาหกรรม โดยใช้ไฟจากแผงโซลาร์เซลที่สำนักงานของบริษัท ปตท.สผ. ในโมซัมบิกได้ติดตั้งให้กับโครงการ 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
คุณศิริรัตน์ ชาลีจันทร์ ภรรยาท่านทูตและแม่บ้านซึ่งเป็นผู้ติดตาม กับนักเรียนที่มาเรียนเย็บผ้าและผลงานของพวกเขา

ไม่น่าเชื่อว่า ท่ามกลางไอความร้อนใต้หลังจากสังกะสีจนเหงื่อซ่ก ชาวบ้านที่ไม่เคยเห็นแม้แต่เสาไฟฟ้าในหมู่บ้านของตัวเอง จะได้เรียนรู้เพิ่มพูนทักษะการเย็บผ้าแม้ไม่ดีเด่นได้ภายในระยะเวลาเพียงสั้นๆ

ครั้งหนึ่ง แก่น-จักกาย ศิริบุตร ศิลปินชาวไทย และ ย้ง-อำพล จิรมหาโภคา แห่งห้องเสื้อโซดา เดินทางมาจากไทยเพื่อช่วยชาวบ้านออกแบบถุงและเสื้อผ้าโดยเฉพาะ

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
พี่แก่น จักกาย ให้คำแนะนำหญิงชาวบ้านที่ดวงตามองเห็นเพียงข้างเดียว ซึ่งพยายามจะเย็บสายคล้องกระเป๋าให้ตรง 
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
พี่ย้งแห่งห้องเสื้อโซดากำลังอธิบายวิธีการเย็บกระเป๋าจากกระสอบแป้งให้เยาวชนที่เข้ามาเรียนเย็บผ้า
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
บรรยากาศการเย็บผ้าในบริเวณศูนย์

ดูเหมือนว่าปัญหาและอุปสรรคที่เป็นความท้าทายในการทำงานของเราก็ได้คลี่คลาย เพราะมีหลายคนมาช่วยกันคนละไม้คนละมือแบบนี้ 

โครงการเริ่มมีความก้าวหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรมที่พอจะเริ่มจับต้องได้แล้ว

คนไทยมาเป็นอาสาสมัคร

งานทั้งหมดของโครงการที่ประกอบด้วยกิจกรรมยิบย่อยต่างๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งอาสาสมัครที่เป็นเยาวชนและเกษตรกรชาวไทย ภายใต้ชื่อ ‘อาสาสมัครเพื่อนไทย’ (Friends from Thailand) มาช่วยติดตามงานภายใต้แผนงานของโครงการเป็นระยะ

เราอาจจะหวังว่า การเดินทางมาทำงานในต่างประเทศของคนไทยจะช่วยให้เขาได้เห็นโลก ได้มีประสบการณ์เพิ่มพูนความรู้ แล้วกลับมานำประสบการณ์นั้นมาทำให้สังคมไทยของเราดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน อาสาสมัครเหล่านี้ก็ถือเป็นเรี่ยวแรงสำคัญของงานของเราอย่างมาก

ผมได้พบปะอาสาสมัครที่มาช่วยงาน 4 ชุดด้วยกัน แต่ละชุดและช่วงมีอาสาสมัครเพียงแค่ 1 – 2 คนเท่านั้น 

อาสาสมัครชุดแรกอยู่นานที่สุดคือ 1 ปีเต็ม และเป็นผู้หญิงเสียด้วย เธอมีหน้าที่ไปช่วยติดตามงานในศูนย์เพาะพันธุ์ปลานิล จนเลี้ยงปลานิลสายพันธุ์ไทยและผลิตลูกปลาได้ในอัตราเดือนละ 2 – 3 หมื่นตัว กระทั่งนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านในหมู่บ้านไปทดลองเลี้ยงได้

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
อาสาสมัครหญิงที่จบการศึกษาด้านประมงกำลังเตรียมลูกปลานิลที่ผลิตได้ไปปล่อยในบ่อปลาของชาวบ้าน

อาสาสมัครชุดที่ 2 อยู่ได้ 6 เดือน แต่ต้องกลับไปเพราะติดเชื้อมาลาเรียถึง 2 ครั้ง เขาช่วยดำเนินโครงการในช่วงเริ่มแรก โดยเฉพาะการติดตามการเลี้ยงปลานิลแบบปล่อยธรรมชาติในบ่อขุดของชาวบ้าน และช่วยกำกับการดูงานก่อสร้างอาคารที่พัก

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
อาสาสมัครกำลังสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชาวบ้าน
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
สอนชาวบ้านทำมะม่วงกวนแบบไทย

อาสาสมัครชุดต่อมาเป็นเกษตรตัวจริงที่เคยเป็นลูกจ้างของมูลนิธิชัยพัฒนามาอยู่ราว 3 เดือน เพื่อช่วยบุกเบิกและช่วยสาธิตทำแปลงปลูกข้าว ในพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยหญ้าขึ้นเต็ม แต่พื้นที่เดียวกันนี้แต่เริ่มเดิมทีชาวอาณานิคมโปรตุเกสเคยใช้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
ผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครจากไทยกำลังสำรวจพื้นที่รกร้างเพื่อเตรียมจัดทำเป็นแปลงปลูกข้าว

อาสาสมัครชุดสุดท้ายมาถึงตอนที่ผมใกล้จะครบวาระและต้องกลับมาทำงานที่ไทย เขาสองคนมาช่วยสอนเด็กนักเรียนทำการเกษตร ซึ่งเขาเล่าว่า โครงการกำลังจะดำเนินไป แต่ก็มาตรงกับช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาด จนทำให้เขาต้องกลับมาเมืองไทยตามคำสั่ง

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
อาสาสมัครกับเด็กๆ บนรถอีแต๋นของไทย

ผมเคยบอกน้องอาสาสมัครว่า เขากำลังทำตามความฝันของใครหลายคนที่อยากมีโอกาสเช่นนี้ แต่ไม่มีโอกาสหรือเพียงแค่ไม่ได้ทำ

…ซึ่งถือเป็นความฝันที่ไม่ได้ทำของผมคนหนึ่งด้วย

ชาวบ้านกับโปงลาง มวยไทย และรถไถเดินตาม

การที่สถานทูตได้ทำกิจกรรมสาธิตเพื่อพัฒนาชนบทให้เป็นตัวอย่างแก่โมซัมบิกแบบนี้ นอกจากจะเป็นงานโดยตรงที่เราจะต้องทำตามหน้าที่แล้ว ในอีกทางหนึ่งถือเป็นโอกาสทำให้เราได้รู้จัก ได้เห็น และได้คุ้นเคยกับชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจริงๆ

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
เด็กนักเรียนในโรงเรียนประถมกำลังรดน้ำแปลงผักที่อาสาสมัครไทยชวนให้ร่วมดูแล

ความคุ้นเคยดั่งญาติมิตรจึงทำให้พวกเราคิดถึงเขาอยู่เสมอ

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ทุกครั้งที่เรามีงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านเผยแผ่วัฒนธรรมไทยหรือการส่งเสริมลู่ทางทางการค้า เราก็มักจะใช้โอกาสเหล่านี้ทำกิจกรรมร่วมกับคนในหมู่บ้านนี้แทบทุกครั้ง อย่างน้อยก็ถือเป็นโอกาสให้เขาเห็นอะไรใหม่ๆ ให้พวกเขาได้เปิดโลกทัศน์ หากไม่นับว่าเราก็อยากให้เขารู้จักประเทศไทยของเราให้ดีขึ้น

คนในหมู่บ้านนี้จึงรู้จักโปงลางของอีสานบ้านเรา ที่สถานทูตขอให้คณะนักดนตรีโปงลางมืออาชีพซึ่งเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสดงในที่อื่นๆ ของโมซัมบิก แวะมาแสดงให้พวกเขาดูด้วยเป็นของแถม

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก

พวกเขายังรู้จักมวยไทย ที่เรานำพาคณะนักมวยที่เดินทางมาจากประเทศไทยเหมือนกันไปแสดง ไปสาธิต ไปสอนเด็กๆ ในโรงเรียนประถม ซึ่งอยู่ในที่ที่ห่างไกลความเจริญที่สุด

พวกเขาก็ยังคุ้นเคยกับรถไถเดินตาม ซึ่งเป็นเป็นเครื่องจักรกลเกษตรที่เรานำไปใช้ในแปลงสาธิต เรามั่นหมายว่าจะเป็นการแนะนำเทคโนโลยีการเกษตรของไทยและทดสอบตลาดโมซัมบิก วันหนึ่ง ผู้ประกอบการไทยอาจจะส่งเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ผลิตในไทยออกมาขายที่โมซัมบิก และบุกตลาดในแอฟริกาได้สำเร็จ 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
เกษตรกรชาวไทยกำลังหัดให้คนท้องถิ่นใช้รถไถเดินตาม

โปงลาง มวยไทย และรถไถเดินตาม คือความเป็นไทยในอีกนิยามหนึ่งที่มีบริบทและลักษณะถูกใจเข้ากับคนแอฟริกาได้ดีเป็นพิเศษ

เมื่อรถของสถานทูตแล่นลัดเลาะไปตามถนนทรายเข้าไปในเขตหมู่บ้าน จะได้เห็นภาพเด็กๆ ในหมู่บ้านยกกำปั้นขึ้นตั้งการ์ดและยกเข่าขึ้นแบบนักมวยไทย บางคนก็รู้จักยกมือไหว้สวัสดี ในขณะที่ผู้ใหญ่และผู้เฒ่าต่างยกมือขึ้นโบกสูงให้กับเราที่นั่งอยู่ในรถจากริมทาง ชวนให้เราอดยิ้มไม่ได้ 

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กๆ ที่พากันวิ่งกรูขึ้นซ้อนท้ายรถพ่วงอีแต๋นดังแต็กๆ ยิ่งเป็นภาพที่ทำให้มีความสุขขึ้นไปอีก

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
บรรยากาศชื่นมื่นเมื่อเด็กวิ่งกันขึ้นมาซ้อนท้ายรถอีแต๋นที่แล่นไปในหมู่บ้าน

เป็นบรรยากาศแห่งความหวัง ของทั้งเขา

…และของเรา

หมู่บ้านที่เราฝัน…แต่

ผมขอจบการเล่าไว้แต่เพียงเท่านี้ พร้อมๆ กับโครงการที่แทบจะหยุดไว้เพียงเท่านั้น เป็นความจริง หรือ Hard Truths ที่ยากที่จะยอมรับ

หากโครงการนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่มีอุปสรรค งานของเราก็คงจะสำเร็จลุล่วง หมู่บ้านแห่งนี้คงเป็นไปได้ดังที่เราทุกคนที่เกี่ยวข้องวาดฝันถึง 

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
อาคารที่ฝ่ายโมซัมบิกมอบให้เป็นอาคารศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เดิมเป็นร้านค้าขายของเมื่อสมัยก่อนที่หมู่บ้านนี้เป็นพื้นที่ทางการเกษตรแปลงใหญ่ที่ดำเนินการโดยชาวโปรตุเกส
นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก

โดยเฉพาะคงเป็นไปตามความตั้งใจของ พี่ตุ๊ก-วรางคณา สิงหชาญ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับ ในขณะที่โครงการนี้ที่พี่ตุ๊กฟูมฟักและเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการหลักในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กำลังดำเนินไปตามจังหวะจะโคนของมัน

นาข้าว ปลานิล และมะม่วงกวน วิถีชนบทไทยในแอฟริกาที่ช่วยให้ชาวตวนในโมซัมบิกไม่อดอยาก, ประเทศโมซัมบิก
พี่ตุ๊ก ผู้รับผิดชอบโครงการนี้ของกระทรวงการต่างประเทศ ถ่ายภาพร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของไทยและชาวบ้านโมซัมบิก

ผมมานั่งนึกในภายหลังว่า ในช่วงที่พี่ตุ๊กล้มป่วย เป็นช่วงที่พี่ตุ๊กต้องทำงานหนักดูแลงานลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในหลายประเทศของแอฟริกา งานหนักคงมีส่วนที่ทำให้พี่ตุ๊กล้มป่วยลงและต้องจากไป ตามที่เรารู้กันว่า โรคร้ายนี้มักคร่าชีวิตของคนที่อ่อนแอและพักผ่อนไม่พอเสมอๆ

เกือบ 1 ปีก่อนผมเดินทางจากโมซัมบิกกลับมายังประเทศไทยเพราะครบวาระการทำงาน ผมไม่ได้ทำโครงการนี้ต่ออย่างที่ตั้งใจ ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่พี่ตุ๊กล้มป่วย และจากโลกนี้ไปไม่นานหลังจากนั้นพอดิบพอดี

ผมเขียนเล่าเรื่องราวนี้ในขณะที่คิดถึงพี่ตุ๊ก และยอมรับถึงความล้มเหลวของตัวเองในการทำงานนี้โดยดุษณี

หรือบางที…งานแบบนี้ก็อาจไม่ต้องการจะให้สำเร็จก็ได้ 

อย่างน้อย เราก็ได้รู้จักกับเขา และเขาก็ได้รู้จักกับเรา

ภาพ : อาทิตย์ ประสาทกุล, ศุภวิฒย์ ปรารมภ์, สมพงษ์ วรกุล, พิเชฐ คำมีแก่น และ ทรงกลด บางยี่ขัน

Writer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud