จากงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero ที่ผ่านมา ซึ่ง GC จัดงานครั้งนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่าง ๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ดำเนินงานผ่านแนวคิด GC Circular Living  โดยในปีนี้ ได้ต่อยอดเพื่อผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050  

งานในครั้งนี้ มีผู้นำทางความคิดและพันธมิตรกว่า 40 คนทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมแบ่งปันแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ เพื่อยกระดับความร่วมมือคือการก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ร่วมกัน และหนึ่งใน Speaker ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง คือ ณัฏชนา เตี้ยมฉายพันธ์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท พีบี ฟู้ดทอรี่ จำกัด แบรนด์ Trumpkin

Trumpkin คือสตาร์ทอัพ Vegan Cheese สัญชาติไทยที่เปลี่ยนเมล็ดฟักทองให้กลายเป็นนวัตกรรม การันตีด้วยรางวัลจากเวที Food Innopolis 2021 ถึง 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศรุ่น Heavy Weight (บุคคลทั่วไป) และรางวัล Popular Vote และรางวัล Startup Winner Food Innovation Product Contest 2022 จาก Thaifex Anuga Taste Innovation Show

สิ่งที่ทำให้ธุรกิจนี้แตกต่างจาก Vegan Cheese แบรนด์อื่น ๆ คือแหล่งโปรตีนที่เลือกใช้

อย่างที่ทราบกันดี ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ตลอดจนถั่วชนิดต่าง ๆ ล้วนให้สานอาหารโปรตีน แต่ในทางกลับกัน ก็มีคนจำนวนไม่น้อยมีอาการแพ้วัตถุดิบเหล่านี้ อีกทั้งยังอาจมีแป้ง น้ำมัน และน้ำตาล ในสัดส่วนที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

ทว่า Trumpkin เลือกใช้เมล็ดฟักทองเป็นวัตถุดิบหลักในการรังสรรค์ชีสขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้แล้ว ยังปราศจากคอเลสเตอรอล มีแคลลอรี่ต่ำ และโปรตีนสูงอีกด้วย

โดยตั้งใจจะปฏิวัติวงการอาหารด้วยนวัตกรรมและสร้างผลิตภัณฑ์วีแกนที่รสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพ ราคาเข้าถึงได้ง่าย เพื่อนำเสนอมุมมองใหม่ของการกินอาหารวีแกนให้กับผู้บริโภค

ถ้านางฟ้าแม่ทูนหัวคือเบื้องหลังของการเนรมิตฟักทองให้เป็นรถม้าสำหรับเจ้าหญิงซินเดอเรลล่า นัท-ณัฐชนา เตี้ยมฉายพันธ์ และ นพ.ศิวพล ฐิตยารักษ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ก็คือเบื้องหลังของการเสกฟักทองให้เป็นอาหารที่หลาย ๆ คนชื่นชอบอย่างมอสซาเรลล่าชีส เธอเป็นส่วนหนึ่งของงาน GC Circular Living Symposium 2022 ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ “Green Career: Less Footprint More Opportunity” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการสร้างโอกาสทางอาชีพที่เป็นมิตรกับโลก

เวทย์มนต์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขอเชิญอ่าน ณ บัดนี้

Trumpkin แบรนด์ชีสวีแกนสัญชาติไทยที่เปลี่ยนเมล็ดฟักทองให้เป็นสตาร์ทอัพ

01

“อาหารไม่ได้กินแค่เพื่อความอร่อยหรือเพื่อความอยู่รอด แต่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตมากกว่าที่เราคิด”

หากเดินไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหาอาหารที่ทั้งดีต่อสุขภาพ อร่อย และราคาจับต้องได้

หลายครั้ง รสชาติอาจอร่อย แต่ไม่ดีกับสุขภาพ

หรือบางครั้ง อาจดีต่อสุขภาพ แต่ราคาไม่น่ารัก

หรืออาจดีต่อสุขภาพและอร่อย แต่ราคาแพง

นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้นัทก้าวเข้าสู่วงการนวัตกรรมอาหาร

เธอสังเกตเห็นว่ายุคก่อนหน้านี้ การทานอาหารวีแกนเพื่อสุขภาพในชีวิตประจำวันไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากรสชาติอาจไม่ถูกปาก อาหารเหล่านี้ยังมีราคาแพง เข้าถึงได้ยาก

เธออยากสร้างอาหารที่แก้ไขปัญหาข้างต้น ขณะเดียวกันก็ช่วยชูรสชาติของอาหารแพลนต์เบสชนิดอื่น ๆ ได้ด้วย

Trumpkin แบรนด์ชีสวีแกนสัญชาติไทยที่เปลี่ยนเมล็ดฟักทองให้เป็นสตาร์ทอัพ

ย้อนกลับไปในปี 2019 นัทเข้าแข่งขันในรายการ Food Innopolis เป็นครั้งแรก โจทย์ที่ได้รับในวันนั้นคือ Future Protein

เมื่อต้องสร้างใหม่จากศูนย์ ก็ต้องเทียบเคียงกระบวนการผลิตและวิจัยด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเริ่มจากการมองหาโปรตีนพืชแหล่งใหม่ตามโจทย์ของ Future Protein 

เธอได้คัดเมล็ดถั่วพูคุณภาพสูง นำมาตกตะกอนโปรตีนด้วยกรรมวิธีเดียวกับการทำน้ำเต้าหู้ และใช้เทคนิคปรับแต่งกลิ่นรสให้ตรงกับที่ต้องการมากที่สุด พร้อมปรับเนื้อสัมผัส ก่อนนำเข้ากระบวนการฆ่าเชื้อ

ด้วยกรรมวิธีนี้ เธอรังสรรค์เมล็ดถั่วพูออกมาเป็นชีสดิปท่ามกลางกระแส Cheese Lover จนได้รับรางวัลมากมาย

ทว่าเส้นทางนั้นไม่ได้ราบรื่น เมื่อโควิด-19 มาเยือน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนวัตถุดิบต่าง ๆ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ทำให้เธอต้องหันมาพึ่งวัตถุดิบอื่น และศึกษาหาโปรตีนแหล่งใหม่ที่มีคุณประโยชน์อีกครั้ง พร้อมกับการคิดค้นกระบวนการผลิตใหม่เพื่อปิดจุดอ่อนของกรรมวิธีเดิม ซึ่งนอกจากนำมาสร้างนวัตกรรมได้แล้ว ยังต้องหาได้ในประเทศไทย และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Trumpkin

“เมล็ดฟักทองตอบโจทย์ทั้งเรื่องโปรตีน ไฟเบอร์สูง โอเมก้า 3 รวมถึงสารอาหารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ ไขมันดี ซึ่งช่วยเรื่องเนื้อสัมผัส นอกจากนี้เมล็ดฟักทองยังเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่หาได้ตลอดทั้งปี”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงคำว่าสตาร์ทอัพ คำว่าอุปสรรคก็ย่อมตามมา

แม้จะค้นพบวัตถุดิบที่มีคุณค่าทางสารอาหารเพียบพร้อมแล้ว แต่ ณ ตอนนั้นยังไม่มีงานวิจัยใด ๆ เกี่ยวกับการนำเมล็ดฟักทองมาแปรรูปเป็นชีส ทำให้นัทต้องใช้เวลาอยู่ในห้องแล็บกว่า 2 ปี เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้

“ประมาณ 2 เดือนก่อนการแข่งขัน Food Innopolis Innovation Contest 2020 อาจารย์เก้-ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ได้มาชิมวีแกนชีสของเราและบอกว่า ของที่ไม่อร่อยมันไม่ใช่อาหารนะ ทำให้เราต้องกลับมาโฟกัสที่รสชาติมากขึ้น สนใจความคาดหวังของผู้บริโภคมากขึ้น จนในปัจจุบันนี้ได้กลายมาเป็นจุดยืนของแบรนด์เราที่ว่า As Original food, Original Taste”

Trumpkin เผชิญอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเรื่องการพัฒนารสชาติของผลิตภัณฑ์ ความกดดันเรื่องเงินทุน และการล้มลุกคลุกคลานเพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่คนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ แต่ไม่มีสักครั้งที่นัทคิดจะล้มเลิกสักครั้ง

“เราเห็นมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ยังไม่มีอะไร จนกระทั่งมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคบอกว่า มีรสชาติใกล้เคียงกับชีสจากนมวัวได้ขนาดนี้ มันมีประโยชน์มากกว่าแค่กับเรา แต่รวมถึงผู้บริโภค เราจึงอยากผลักดันให้ได้กลายชีสสัญชาติไทยไปสู่ต่างประเทศ” เธอเล่าถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อวัตถุดิบจากประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นครัวของโลก ซึ่งถูกต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน

Trumpkin แบรนด์ชีสวีแกนสัญชาติไทยที่เปลี่ยนเมล็ดฟักทองให้เป็นสตาร์ทอัพ

02

แม้ว่าสำหรับสตาร์ทอัพ ทรัพยากรจะมีจำกัด แต่นัทเชื่อว่าศักยภาพของทีมเธอมีไม่จำกัด นอกจากตัวเองที่เรียนด้าน Food Innovation มาแล้ว ผู้ร่วมก่อตั้งซึ่งเรียนการแพทย์ ก็ได้ใช้ความเชี่ยวชาญของเขามาดูแลเรื่องคุณค่าโภชนาการของ Trumpkin ด้วย

อีกทั้งด้วยการสนับสนุนจาก สวทช. และโครงการ Food Innopolis ที่คอยให้ความรู้ทั้งในด้านการวิจัยและการสร้างธุรกิจ นัทจึงสามารถปั้นไอเดียนี้ให้เป็นรูปเป็นร่าง ก่อนจะนำผลิตภัณฑ์เข้าไปแข่งใน Food Innopolis ในปี 2021 อีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับรางวัลอีกเช่นเคย

“เราได้โจทย์ใหม่คือ Future Lifestyle Food ก็เลยทำออกมาเป็นมอสซาเรลล่าชีสจากเมล็ดฟักทอง เมื่อได้ถึง 2 รางวัล ก็ยิ่งมั่นใจในศักยภาพของ Trumpkin”

ชีสเป็นสินค้าที่บริโภคกันทั่วโลก ศักยภาพในการขยายตลาดจึงไม่ใช่ข้อจำกัด จึงดึงดูดพาร์ตเนอร์และนักลงทุนให้เชื่อมั่นในอนาคตของแบรนด์ แม้ในวันนี้จะถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่มาก ๆ ก็ตาม

เบื้องหลังการเสกเมล็ดฟักทองให้กลายเป็นสตาร์ทอัพ เจ้าของผลงาน Vegan Cheese ด้วยความตั้งใจนำวัตถุดิบไทยไปเวทีโลก

03

ในอนาคต นอกจาก Vegan Cheese จากเมล็ดฟักทองแล้ว Trumpkin ยังมีแผนในการเติบโตอีกมากมายเพื่อให้ครอบคลุมตลาดผลิตภัณฑ์กลุ่ม Non-Diary โดยตั้งใจจะทำ Contract Farming กับเกษตรกรอินทรีย์ เพื่อกระจายรายได้และสร้างผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด

“เราต้องหาว่าเกษตรกรมีพันธุ์พืชตัวไหนที่พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ เป็นนมพืชได้ไหม หรือทำเป็นไอศกรีม เพื่อที่เราจะได้สร้างอาหารและเพิ่มคุณค่าให้ผลิตผลเหล่านั้น พร้อม ๆ กับสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องให้เกษตรกรด้วย”

นอกจากนี้ เร็ว ๆ นี้ Trumpkin จะร่วมมือกับร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอาหารร่วมกัน ก้าวนี้จะทำให้ผู้บริโภคเห็นไอเดียว่า ชีสของเธอทานกับอะไรได้บ้าง

เบื้องหลังการเสกเมล็ดฟักทองให้กลายเป็นสตาร์ทอัพ เจ้าของผลงาน Vegan Cheese ด้วยความตั้งใจนำวัตถุดิบไทยไปเวทีโลก

04

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจนึกภาพคนคนหนึ่งในหัวพร้อมสงสัยเหมือนเราว่า Trumpkin = (โดนัลด์) ทรัมป์กิน หรือเปล่า

“ตอนนั้นในอินเทอร์เน็ตยังไม่มีภาพนี้เลยนะ” นัทพูดพลางหัวเราะขณะเล่าถึงที่มาของชื่อแบรนด์

แท้จริงแล้ว Trumpkin เกิดจากคอนเซ็ปต์ของการนำตัว T – Thailand มารวมร่างกับคำว่า Pumpkin พร้อมกับเล่นคำว่า Trump (ที่ไม่ใช่ Donald Trump) เพื่อสื่อถึงคำว่า Triumph ที่แปลว่าชัยชนะ

“คำว่า Triumph กับ กิน คือชัยชนะของการกิน วันนี้เราชนะแล้ว เราได้กินของอร่อยและมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้วย”

และชัยชนะของธุรกิจนี้คือการไปถึงระดับโลก เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับประเทศ

“การทำสตาร์ทอัพเราต้องมีความตั้งใจจริง ทุกวันนี้คนพูดถึงแพสชันเยอะมาก แต่จะทำยังไงให้ในวันที่อุปสรรคและความท้าทายถาโถมเข้ามา ในวันที่เราหมดไฟ เราจะยังมีวินัยลุกขึ้นมาทำ 

“เทรนด์ของสตาร์ทอัพมาไวไปไวมาก ถ้าเราหยุดไป หันกลับมาอีกทีตลาดอาจเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเราช้าไปสักก้าวหนึ่ง ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบริษัทใหญ่ที่จะลุกขึ้นมาทำแทนเรา”

นี่คืออีกหนึ่งความตั้งใจคนรุ่นใหม่ที่สร้างสรรค์ความคิดและทำให้เกิดขึ้นจริงได้  นอกจากความอร่อยแล้ว ยังรักษ์โลกได้อีกด้วย

“เพราะศูนย์ไม่ใช่แค่เป้าหมาย แต่คือเส้นชัยของเราทุกคน”

แม้วันนี้ผลิตภัณฑ์ของ Trumpkin ยังเป็นโปรโตไทป์อยู่ เราขอเอาใจช่วยให้เกิดขึ้นจริงเพื่อที่ผู้คนจะได้มีอาหารทางเลือกดี ๆ อีกทาง

เบื้องหลังการเสกเมล็ดฟักทองให้กลายเป็นสตาร์ทอัพ เจ้าของผลงาน Vegan Cheese ด้วยความตั้งใจนำวัตถุดิบไทยไปเวทีโลก

Writer

Avatar

วุฒิเมศร์ ฉัตรอิสราวิชญ์

นักเรียนรู้ผู้ชื่นชอบการได้สนทนากับผู้คนและพบเจอสิ่งใหม่ๆ หลงใหลในการจิบชา และเชื่อว่าทุกสิ่งล้วนมีเรื่องราวให้ค้นหา

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ