“เปิด เปิดประตูบานนั้น เปิดประตูความฝัน ออกไปเจอความหมายที่ดีดี เปิด ออกไปเจอดอกไม้ ออกไปเจอความรัก สวยงาม…” 

แด่ผู้คนที่กำลังอุดอู้อยู่ในห้องพัก ไม่ว่ากำลังพักผ่อน เศร้า หรือหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง หนึ่งในเพลงเปิดของซิตคอม เนื้อคู่ประตูถัดไป นี้ อาจทำให้คุณอยากเปิดประตูออกไปข้างนอกพร้อมกับยิ้มเบา ๆ กับตัวเอง ในขณะที่กำลังยืนมองเหตุการณ์อันแสนปกติของผู้คนที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัวคุณ

ในมุมหนึ่ง ซิตคอมเรื่องนี้ได้แชร์ประสบการณ์การแบ่งปันพื้นที่อยู่อาศัยของตัวละคร ในขณะที่พวกเขากำลังโหยหาความมั่นคงและความฝันในชีวิต ไต่เต้าในหน้าที่การงานและตามหาเนื้อคู่ นัยหนึ่งมันสะท้อนในเห็นถึงกรอบของชีวิตที่วิ่งไปตามสภาพของสังคม ซึ่งมีคนจำนวนหนึ่งกำลังบอกเราว่า ควรต้องทำอะไรบ้างในแต่ละช่วงชีวิต เหมือนเป็นสูตรสำเร็จของชีวิตความสุขในแบบที่ใคร ๆ บอกมา

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

ซิตคอมชุด เนื้อคู่ประตูถัดไป ของค่าย GTH (ในขณะนั้น) นำทีมกำกับโดย ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ ย้อนกลับไปเมื่อ 14 ปีที่แล้ว ในเดือนตุลาคม พ.ศ 2551 ซีรีส์เรื่องนี้ออกอากาศครั้งแรกทางโมเดิร์นไนน์ทีวี และต่อมาซีซัน 2 ในปี พ.ศ 2553 – 2554 ในชื่อ เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร ออกอากาศทาง ททบ.5 ก่อนที่จะถูกปรับผังอีกครั้งใน พ.ศ.​ 2557 หรือ 3 ปีให้หลัง โดยซีซันฟินนาเล่ซึ่งเหล่าแฟนคลับเฝ้ารอคอยได้ออกอากาศบนช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ใช้ชื่อว่า เนื้อคู่ The Final Answer 

แม้ว่าบนเส้นทางที่ไม่ได้ราบรื่นและมีเหตุสุดวิสัยของการออกอากาศบนจอโทรทัศน์ไทย แต่ก็ไม่ได้ทำให้เหล่าแฟนคลับของซีรีส์ระดับตำนานเรื่องนี้หวั่นไหวหรือน้อยลงไปแต่อย่างไร 

หนำซ้ำ ด้วยความมหัศจรรย์ของซิตคอมระดับตำนานที่เป็นเหมือนวงล้อเหนือกาลเวลา ทุกวันนี้ยังมีผู้ชมดูซ้ำวนไปวนมาหลายรอบ สร้างฐานแฟนคลับหลากวัยเข้ามารับชม อีกทั้งมุกตลกในหลาย ๆ ซีนยังถูกนำกลับมาสร้างเป็นมีมโฉบไปโฉบมาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ส่วนเรื่องราวที่เป็นกระแสอยู่ในสมัยนั้นก็ถูกหยิบยกมาล้อเลียนสร้างเสียงหัวเราะ 

มุกตลกที่แฝงอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันในเรื่องนั้นเข้าถึงง่ายในแบบที่ผู้ชมอาจพบเจอได้ทั่วไป แม้ว่าละครจะจบไปแล้ว แต่เหล่าตัวละครยังเหมือนมีตัวตนและดำเนินชีวิตไปพร้อมกับพวกเราอย่างไรอย่างนั้น

สิ่งเหล่านี้หรือเปล่าที่ทำให้พวกเรายังอยากดูซิตคอมเรื่องนี้เรื่อย ๆ ไปจนแก่

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

เส้นเรื่องของละครถ่ายทอดเรื่องราวและมิตรภาพของชาว ‘คอนโดสวัสดีทวีสุข’ ที่โชคชะตานำพาพวกเขาให้มาใช้ชีวิตร่วมกัน เปิดฉากมาด้วย ‘ขวัญใจ-สเตลล่า พรหมประทาน’ ห้อง 602 ในชุดเจ้าสาวที่ถูกว่าที่สามีทิ้งกลางงานแต่ง จนทำให้ ‘ธิดา พยากรณ์’ เพื่อนสนิทและรูมเมตผู้มีญาณวิเศษ ต้องใช้นิมิตของเธอช่วยตามหาเนื้อคู่ให้ขวัญใจ 

ประตู 2 บานหน้าโถงทางเดินคือนิมิตที่เธอเห็นและตีความไว้ว่าเนื้อคู่ของขวัญใจอยู่ประตูถัดไป ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดประตูเดินทางตามความรักอีกครั้ง 

นอกเหนือไปจากเรื่องความรัก ซิตคอมเรื่องนี้สะท้อนถึงวิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตที่เปลี่ยนไปจากการย้าย ‘ที่อยู่อาศัย’ เข้ามาในตัวเมืองของหนุ่มสาวด้วยความจำเป็นทางอาชีพการงาน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเพราะโอกาสทางอาชีพหรือความสะดวกสบายในการเดินทางก็ตาม แต่ละตัวละครที่อาศัยอยู่ในคอนโดแห่งนี้ต่างมีอาชีพการงานเป็นตัวขับเคลื่อนคาแรกเตอร์ บทบาท หน้าที่ อุปนิสัย เครื่องแต่งกาย รวมถึงการตกแต่งภายในของแต่ละห้อง

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

คอนโดสวัสดีทวีสุข เป็นอาคารประมาณ 7 ชั้น (รวมชั้นล่าง GF) มีผนังภายนอกส่วนกลางสีแดง มีชานระเบียง กระจกหน้าต่างตามแบบอาคารที่อยู่อาศัย ตามภาพฟุตเทจที่ปรากฏแทรกเข้ามาในหลาย ๆ ซีน จำนวนห้องและผู้อาศัยไม่ปรากฏชัดเจน รู้เพียงแต่ว่าตัวละครอาศัยอยู่ในห้อง 601, 602 และ 603 ซึ่งหลายคนคาดเดาได้ว่าอยู่ชั้น 6 ของอาคาร แม้ว่าภาพภายนอกของคอนโดจะเป็นสถานที่จริง แต่ฉากหลักอื่น ๆ ทั้งหมดถ่ายทำในสตูดิโอ

ฉากชั้นล่างของอาคารเป็นพื้นที่ต้อนรับที่เปิดโล่ง ไม่มีกระจกหรือผนังกั้น ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้คลาสสิกจากยุคก่อน ผนังทาด้วยสีเหลืองเข้าคู่ไปกับพื้นไม้ปาร์เกต์ โซฟานวมยุคโมเดิร์นสีเหลืองคัสตาร์ด และโต๊ะรับแขกไม้ฝังมุกที่ตั้งอยู่กลางโถงห้อง พื้นที่ส่วนกลางแห่งนี้ไม่เพียงเป็นจุดรวมพลของเหล่าผู้เช่า แต่ยังเป็นฉากที่ปล่อยตัวละครต่าง ๆ ให้มาเจอกัน 

ด้านมุมซ้ายของห้องมีเคาน์เตอร์ต้อนรับแบบที่มักพบเห็นตามโรงแรม มีพื้นที่นิติบุคคลของคอนโด คอยสอดส่องความเป็นมาเป็นไปและสารทุกข์สุกดิบของชาวคอนโด ส่วนทางด้านขวาเป็นพื้นที่ปล่อยเช่า ‘ร้านตุ๊ดซักรีดของต้นข้าว’ และ ‘เทพีมินิมาร์ทของเจ๊โฉม’ กลายเป็นที่ฝากผีฝากไข้ของชาวคอนโด ร้านค้าอำนวยความสะดวกใต้คอนโดเหล่านี้กลายเป็นโปรแกรมพ่วงมากับสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยแบบอาคารสูง และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของชาวเมืองไปโดยปริยาย ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ หรือเวลาใน 1 วันที่จำกัด ทำให้เราเลือกมองหาตัวช่วยแบ่งเบาภาระเพื่อแลกมากับเวลาพักผ่อนที่มากขึ้น 

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

คุณรุจน์ ไตรภาคสมบูรณ์ เป็นเจ้าของคอนโดแห่งนี้ ชาย 1 คนที่มี 4 บทบาทในคนเดียว ไม่ว่าจะเป็น ‘ป้ารุจี’ ผู้ดูแลทำความสะอาด ขาเมาท์ที่รู้เรื่องราวทุกอย่างในคอนโด ‘ยามรุจน์’ ผู้รักษาความปลอดภัย ‘จ่ารุจน์’ ผู้ดูแลสวนที่นิสัยดุดันไม่เกรงใจใคร และบทบาทสุดท้าย ‘คุณรุจน์’ ผู้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบุคคลที่เคร่งครัด ตามเก็บค่าเช่าและประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ของคอนโด 

ตัวละครพยายามยกระดับการบริการของคอนโดให้เทียบเท่าโรงแรมหรู 5 ดาว ในทุก ๆ บทบาทที่เขาสวมนั้นจะตามมาด้วยชุดเครื่องแบบ เขาใส่ทักซิโด้ ผูกเน็กไท สวมถุงมือขาว ยืนอยู่หลังเคาน์เตอร์ต้อนรับในชั้นล่างของตัวอาคาร และในขณะทำความสะอาดเขาก็จะสวมชุดเดรสแม่บ้านฝรั่งเศสพร้อมผ้ากันเปื้อน 

ความขัดแย้งระหว่างสถานที่ บทบาทหน้าที่ และเพศของตัวละคร สร้างเสียงฮาและจุดเด่นให้กับตัวละคร คุณรุจน์พยายามสร้างบรรยากาศของการบริการและความเอาใส่ใจแก่ผู้เช่า แต่ในขณะเดียวก็ไม่ได้จ้างลูกจ้างมาเพิ่มเลยแม้แต่คนเดียว ในหลาย ๆ ซีนเราจะพบว่าเขาเองก็ทำหน้าที่ตามบทบาทเหล่านั้นได้ไม่ครบถ้วน จนกลายเป็นตัวละครที่เชื่อว่าผู้ชมจดจำได้เป็นอย่างดี 

มาถึงวันนี้ เราไม่แน่ใจว่าคุณรุจน์มีห้องส่วนตัวเป็นของตัวเองในคอนโดนี้หรือไม่ ไม่แน่ว่าเขาอาจจะหลับในห้องเก็บของใต้ดิน ใต้เคาน์เตอร์ต้อนรับ หรือยืนหลับในขณะที่เฝ้ายาม

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

หากมองเจ้าหน้าที่นิติบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมการจอดรถของคอนโดต่าง ๆ ในปัจจุบันแล้วล่ะก็ เราอาจไม่ได้พบเห็นหน้าตาที่ยิ้มแย้มและเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลาเป็นแน่

ในสภาวะปัจจุบันโดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ภาระของการขนส่งรับ-ส่งอาหารและพัสดุของชาวคอนโดกลายเป็นงานที่งอกขึ้นมาสำหรับฝ่ายนิติบุคคล โต๊ะวางอาหารถูกจัดวางขึ้นหน้าอาคาร กองพัสดุที่เอ่อล้นกองออกมาหน้าห้องจดหมาย 

สภาพของการใช้พื้นที่นั้นเปลี่ยนไปมาก ทำให้คอนโดโหม่ ๆ ที่กำลังจะก่อสร้าง นำฟังก์ชันเหล่านี้ใส่เพิ่มเข้าไปเป็นโปรแกรมหลักในการออกแบบพื้นที่ส่วนกลาง จนตู้อุ่นอาหารไว้คอยรับส่งอาหารของลูกบ้านกลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ถูกนำมาใช้ส่งเสริมการขายของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

คอนโดมิเนียม คือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่แบ่ง ‘ที่อยู่อาศัย’ ออกเป็นยูนิต เป็นห้อง ซึ่งการออกแบบก็ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อกำจัดของพื้นที่ในตัวเมือง 

เมื่อที่ดินหายากและมีราคาแพง การสร้างที่ดินบนอากาศเหมือนหอคอยที่สูงขึ้นไปนั้นสร้างประโยชน์ใช้สอยเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่ ทว่าในขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่ความโดดเดี่ยวทางสังคม การตัดขาดจากชุมชน หรือคุณภาพชีวิตที่ลดลงไปตามสัดส่วนเชิงพื้นที่ 

เรียกได้ว่าการเข้าไปอยู่อาศัยในตัวเมืองเพื่อแลกความสะดวกสบายในการเดินทางและโอกาสในหน้าที่การงาน อาจลดคุณภาพของการใช้ชีวิตไปโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นที่ใช้สอยที่มีอย่างจำกัด แสงแดดที่ลดลงอันเนื่องมาจากทิศทางของห้อง รวมถึงจำนวนและขนาดของหน้าต่างที่แสงสว่างเข้ามาได้ด้านเดียว ลมที่ไม่ถ่ายเทเข้ามา ไหนจะปัญหาเรื่องฝุ่นควันและ PM 2.5 ปัญหาระยะยาวที่ทางภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาผ่านระบบนิเวศทั้งระบบ

คำนิยามของ ‘คอนโดมิเนียม’ และ ‘อะพาร์ตเมนต์’ นั้นแตกต่างกันตามวิธีการถือครองหรือความเป็นเจ้าของ ในบริบทของซิตคอมนั้น อาจมีความเป็นอะพาร์ตเมนต์มากกว่าคอนโดมิเนียม เพราะคุณรุจน์เป็นเจ้าของตึกผู้สร้างกฎระเบียบให้ลูกบ้านจ่ายค่าเช่าเป็นรายเดือน ในทางกลับกัน สำหรับคอนโดมิเนียม ลูกบ้านจะถือกรรมสิทธิ์ครอบครองยูนิตของห้อง และจ่ายค่าส่วนกลางจัดการดูแลรายปีผ่านนิติบุคคล 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะเช่าอยู่หรือเป็นเจ้าของห้อง เรามักนำความเป็นเราใส่เข้าไปในห้องที่ว่างเปล่าเสมอ สีที่โปรดปรานของแต่ละบุคคลถูกเติมแต่งเข้าไปตามผนังและวัสดุในห้อง เฟอร์นิเจอร์คัดสรรตามกำลังทรัพย์และรสนิยม กระถางต้นไม้นำเข้ามาจัดวางแทรกตัวอยู่ตามซอกมุม ราวตากผ้าเบียดเสียดเต็มชานระเบียง ไม่ต่างกันกับชาวคอนโดสวัสดีทวีสุขที่แต่ละห้องแสดงอุปนิสัย รวมถึงลักษณะอาชีพของแต่ละตัวละครออกมาไม่มากก็น้อย

ฉากห้องโจ

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข
ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข
ภาพ : Elements&Plants

ห้อง 601 เป็นของ ‘โจศักดิ์ ชาญนารี’ อดีตนักดนตรีสุดเซอร์ ไส้แห้ง และอดีตสมาชิกวงบอยแบนด์ ‘ไซโคลน’ เจ้าของเพลง เรื่อยๆไปจนแก่ เขาปรากฏตัวพร้อมเสื้อ ‘It’s ME’ บ็อกเซอร์และกางเกงยีนตัวโปรด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่แฟน ๆ ลืมไม่ลง

ห้องของโจมีประตูสีแดง มีผนังสีถลอก ๆ มาพร้อมกับกล่องตู้ไฟ สายไฟ และสวิตช์เบรกเกอร์เซฟทีคัท ราวกับเป็นห้องเซอร์วิสของตึก

ห้องพักไร้ห้องน้ำนี้ตกแต่งในแบบตามใจผู้ใช้งาน โปสเตอร์วงดนตรี ศิลปิน นักร้อง กลายเป็นวอลล์เปเปอร์ปกปิดผนังเดิม หน้าปกซีดีแผ่นเสียงกลายเป็นกรอบรูปตกแต่งห้อง เครื่องดนตรีและเครื่องเสียง เครื่องมือทำมาหากินของศิลปินกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์หลักที่ไม่อำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต 

ในขณะที่ตู้เย็น ล็อกเกอร์เก็บของ อ่างล้างหน้าที่ใช้เป็นที่ปัสสาวะ แปรงฟัน และล้างมือ จัดวางอยู่ในโซนด้านหน้าของห้องอย่างไม่มีสัดส่วน แต่มันก็คือการต่อสู้ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยกับพื้นที่สร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งในขณะที่ผู้เช่าคนอื่น ๆ ออกไปทำงาน ห้องนี้ก็กลายเป็นห้องอัดเดโม่เพลงไปโดยปริยาย

ฉากห้องคุณวี – เฮียผา

ถอดสถาปัตย์ ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’ ที่สะท้อนชีวิตดิ้นรนของวัยทำงานหลังประตูสวัสดีทวีสุข

เจ้าของห้อง 603 คือ ‘คุณวี-วิทยา ศาสตร์สูงส่ง’ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะและพิธีกรรายการ วิทยาศาสตร์ชาติเจริญ ผู้มาพร้อมกับวลีเด็ด “ผมชื่อวี สวัสดีนะครับ” และต่อมาในซีซัน 2 ‘เฮียภูผา’ หรือ ‘ปุ้ม ละอองกอ’ เซลส์แมนลูกพี่ลูกน้องที่ขายได้ทุกอย่างบนโลกใบนี้ก็เข้ามาเป็นรูมเมตด้วย 

ห้องนี้เป็นห้องพักแบบสตูดิโอขนาดกลาง 1 ห้องน้ำ มาพร้อมกับแพนทรีห้องครัวแบบเปิด แบ่งโซนเป็นห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน และห้องนอน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบลอยตัว บ่งบอกถึงสถานะทางการเงินที่แตกต่างกับห้องของโจ ซึ่งเขาอาจทุ่มเงินเก็บไปกับเครื่องดนตรีของเขาเสียหมด 

โซนต่าง ๆ ของห้องแบ่งด้วยชั้นวาง ตู้หนังสือ และฉากกั้น โซนทำงานวิทยาศาสตร์ของคุณวีเต็มไปด้วยหนังสือ กระดานดำ หลอดแก้ว และบีกเกอร์สำหรับการทดลองวิทยาศาสตร์ ซึ่งหลังจากที่เฮียผาเข้ามาร่วมอยู่อาศัย เตียงเดี่ยวสำหรับ 1 คนก็ถูกแทนที่ด้วยเตียงนอน 2 ชั้นเพื่อประหยัดพื้นที่

สำหรับใครหลายคนที่เคยมีประสบการณ์แชร์ห้องนอนร่วมกับพี่น้องในวัยเด็ก การมีเตียง 2 ชั้นอาจเคยเป็นสิ่งที่ใฝ่ฝัน เพราะไม่เพียงช่วยประหยัดพื้นที่ใช้สอย แต่ยังช่วยสร้างพื้นที่ส่วนตัวได้ไม่มากก็น้อย พอทำให้เด็กในวัยช่วงเปลี่ยนผ่านได้มีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับตัวเองบ้าง 

ประสบการณ์แชร์ห้องนอนร่วมกับพี่น้องเองนั้นก็ปลูกฝังอะไรหลาย ๆ อย่างในตัวเราอย่างไม่คาดคิด แน่นอนว่าสอนให้เรารู้จักแบ่งปัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน และนั่นก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เรามักหวนคิดถึงหลังจากที่ต่างคนต่างแยกห้องนอนออกจากกันไปเสียแล้ว

ฉากห้องขวัญใจ – ธิดา

วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’
วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’

ห้อง 602 ของนักแสดงในสังกัดพี่ตือโมเดลลิ่งอย่าง ‘ขวัญใจ’ และ เจ้าของคอลัมน์พยากรณ์ – บ.ก. นิตยสาร เก๋ไก๋ ปลายสัปดาห์ อย่าง ‘ธิดา’ นั้น อยู่ตรงกลางระหว่างห้อง 601 กับ 603

ตัวฉากภายในเผยให้เห็นห้องที่มีขนาดใหญ่กว่า 2 ห้องที่กล่าวมา โดยมีผนังกั้นห้องนอนออกจากพื้นที่ใช้สอยส่วนอื่น ผนังแต่ละโซนทาด้วยเฉดสีชมพูเข้ม-อ่อน ซึ่งเป็นสีโปรดของขวัญใจ มีมุมห้องครัวซึ่งเป็นเหมือนที่ฝากท้องในยามเช้าของเพื่อนข้างห้องทั้งสอง ชุดโซฟาเหลี่ยมเบาะหนังสีดำหน้าทีวี เป็นฉากของซีนหลังเลิกงานหรือช่วงค่ำที่ชาวคอนโดจะเข้ามาแฮงก์เอาต์ดูละครภาคค่ำและปาร์ตี้สังสรรค์กัน 

แม้ภาพการแชร์สิ่งอำนวยความสะดวกในรูปแบบการอาศัยในคอนโดจะพบเห็นได้น้อยครั้ง ไม่ว่าจะด้วยกังวลในเรื่องความปลอดภัยหรือความเป็นส่วนตัวก็ตาม ถึงอย่างนั้น ในปัจจุบันก็มีอะพาร์ตเมนต์รูปแบบแชร์รวมเกิดขึ้น ผู้อาศัยใน 1 ชั้นจะแชร์ห้องครัวร่วมกัน โดยจัดแบ่งพื้นเก็บของระหว่างผู้เช่ากันเอง เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับใครที่ไม่ต้องการอยู่อย่างโดดเดี่ยว

วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’

เนื้อคู่ The Final Answer กลับมาอีกครั้งหลังจากห่างหายไป 2 ปีเต็ม ทว่าเรื่องราวของตัวละครทั้งหมดยังดำเนินต่อไป ในเส้นเรื่องนั้นพวกเขาได้หนีคำทำนายวิกฤตการณ์น้ำท่วมโลกในปี 2012 เข้าไปหลบภัยในคุกใต้ดินของคอนโดสวัสดีทวีสุข ซึ่งหลังจากที่กลับขึ้นมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง พวกเขาก็ได้พบว่าคอนโดสวัสดีทวีสุขถูกเรียกเวนคืนที่ดินไปสร้างทางรถไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และนั่นก็ทำให้พวกเขาได้ย้ายเข้าไปอยู่ใน ‘บ้านสวัสดีทวีสุข’ มรดกชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ของคุณรุจน์นั่นเอง

การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งใน ‘ที่อยู่อาศัยรวม’ แบบบ้านเช่า 2 ชั้นหลังเดียวกัน ทำให้เราเห็นรูปแบบพื้นที่ส่วนกลางที่ยิ่งทำให้ตัวละครพบปะกันมากขึ้นไปอีก ทั้งกินข้าวด้วยกัน ดูทีวีเครื่องเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าการอยู่ร่วมกันย่อมมีกฎระเบียบเพิ่มเข้ามา อย่างกฎระเบียบในการใช้ห้องน้ำ หรือการนำคนนอกเข้ามาในพื้นที่

วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’
วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’

ความพิเศษในระบบเลือกห้องของบ้านสวัสดีทวีสุขตามแบบฉบับของคุณรุจน์ เกิดขึ้นด้วยวิธีการประมูลห้องหลังจากที่ผู้เช่าตกลงกันเองไม่ได้ ฉากนี้ไม่เพียงสร้างเสียงหัวเราะ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบการเก็บค่าเช่าห้องที่ไม่ได้ยึดโยงกับตารางเมตรของพื้นที่ หรือระดับความสูงของชั้นตึก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เช่าที่แตกต่างกันออกไป 

โดยห้องแรก ขวัญใจและธิดาประมูลไปได้ในราคา 35,000 บาทต่อเดือน เป็นห้องที่ใหญ่และสวยที่สุดในบ้าน ด้านหน้ารับแสงอาทิตย์ในยามเช้า เห็นวิวสนามหญ้าหน้าบ้าน มีลมโกรก ตากผ้าที่ระเบียงได้ 

ส่วนห้องที่สองนั้น คุณวีกับเฮียผาจบราคาไปที่ 60,000 บาท แม้ว่าจะไม่ได้บรรยายสรรพคุณมากมาย แต่การมีประตูเชื่อมกับห้องของคุณขวัญใจและธิดา ก็ทำให้ห้องนี้กลายเป็นห้องต้องประสงค์สำหรับทั้งสองโดยทันที 

ส่วนห้องนอนดับเบิลเบดของต้นข้าวและต่อ จบราคาไปที่ 200 บาท ห้องของคุณโฉม มาพร้อมกับอุปกรณ์ครบชุดสำหรับผู้สูงอายุ ตอบโจทย์และจบราคากันไปที่ 2,000 บาท ส่วนห้องของโจนั้น คุณรุจน์ได้เตรียมห้องเก็บไม้กวาดขนาด 1 x 5 เมตรไว้ให้ โดยจบราคากันที่ 20 บาทต่อเดือน แต่แล้วโจก็ค้นพบทางเข้าห้องใต้หลังคาของบ้าน และเปลี่ยนมันเป็นห้องพักที่อยู่ได้อย่างสบาย ๆ ไปฟรี ๆ เลยทีเดียว

การประมูลค่าเช่าทำให้เราเห็นถึงมุมใหม่ ๆ เมื่อราคาของห้องไม่ได้ยึดโยงกับเนื้อที่ต่อตารางเมตรเพียงอย่างเดียว องค์ประกอบของทำเล ทิศทางลม อากาศที่ถ่ายเท การเข้าถึงแสงสว่างธรรมชาติ ชานระเบียง ทัศนียภาพ พื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ หรือแม้แต่มลพิษ เสียงรบกวน และควันฝุ่น ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการของผู้อาศัย ซึ่งแต่ละคนจัดลำดับความสำคัญแตกต่างกันออกไป 

ด้วยแนวคิดนี้ทำให้ผมคิดเล่น ๆ ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมี ‘โรงแรมศูนย์ดาว’ ที่ฉีกขนบกฎเกณฑ์ของโรงแรมทั่วไป เน้นการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกาย สมมติว่าบันไดทั้งหมดของอาคารเปลี่ยนเป็นหน้าผาจำลองที่ผู้อาศัยจะปีนขึ้นไปแทน มันคงจะสนุกแค่ไหน 🙂

วิเคราะห์สถาปัตย์ รูปแบบการอยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ คอนโดสวัสดีทวีสุขของ น.ส.ขวัญใจ ในซิตคอม ‘เนื้อคู่ประตูถัดไป’

เมื่อชีวิตเริ่มเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เรามักจะได้รับแรงกดดันเรื่องความมั่นคงที่ใคร ๆ ก็ตามหาไม่ทางตรงก็ทางอ้อม “ใคร ๆ เขาก็ทำกันนะ” “ผ่อนไปเรื่อย ๆ ถูกกว่าจ่ายค่าเช่านะ” โฆษณาของกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ก็ยิ่งสร้างแรงจูงใจให้เราเห็นถึงผลกำไรในอนาคต ให้มองที่อยู่อาศัยเป็นการลงทุน 

เมื่อสถาปัตยกรรมเพื่อการอยู่อาศัยกลายเป็นอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย และเมื่อกรอบในการออกแบบถูกกำหนดด้วยความคุ้มทุน ในบางครั้ง สถาปนิกก็กลายเป็นผู้ให้บริการงานออกแบบตามสั่ง ตามตัวเลข รอการอนุมัติและฟังข้อเสนอแนะจากนักพัฒนาสังหาริมทรัพย์ 

ในวันข้างหน้าเมื่อขนาดพื้นที่ของห้องชุดน้อยลงไปเรื่อย ๆ สิ่งที่สถาปนิกควรต้องคงไว้เป็นลำดับแรก คือหน้าที่ในการสร้าง ‘ที่อยู่อาศัย’ ที่มีคุณภาพ

ระยะเวลาผ่อนกว่า 30 ปีที่คนวัยผู้ใหญ่กลายเป็นเหมือนนกในกรง ทั้งต้องรักษาหน้าที่การงานเพื่อคงไว้ซึ่งสถานภาพทางการเงินในการผ่อนบ้าน จนเมื่อเราอายุ 60 กว่าแล้ว ห้องชุดห้องนี้ถึงจะกลายเป็นของเราอย่างสมบูรณ์ 

ความยืดหยุ่นและคุณภาพชีวิตที่หายไปในช่วงเวลาสุกงอมของชีวิต การทำงานเหมือนเครื่องจักรไปวัน ๆ เพื่อแลกมากับความมั่นคงในบั้นปลายนั้นมันคุ้มกันหรือไม่ โอกาสในการออกเดินทางไปที่อื่น ๆ หรือโอกาสในการตามหาความฝันที่แท้จริงของตัวเอง สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเส้นเรื่องของตัวเราในโลกคู่ขนานที่เราในโลกนี้ไม่มีวันได้สัมผัส 

ถ้านโยบายรัฐสวัสดิการไม่มีความมั่นคง ไม่มีทิศทางที่ชัดเจนให้กับประชาชนในเรื่องการงาน สุขภาพ และเงินหลังเกษียณอายุ อสังหาริมทรัพย์ของหลายโครงการก็คงนำประเด็นคุณภาพชีวิต (เหมือนกับการประมูลราคาในบ้านสวัสดีทวีสุข) ของมนุษย์มาเป็นจุดขายหลัก แต่ละโครงการคงต้องแข่งขันกันในการออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
  • THAICOM FOUNDATION. (2022, November 10). TCF TALK 2022 : วีรพร นิติประภา (FULL) [Video]. YouTube. https://www.youtube.com/watch?v=o2Msox4J03g
  • www.the101.world/shaped-by-architecture-ep7-unlivable-accommodation
  • thestandard.co/poponthisday04012553
  • th.wikipedia.org
  • www.sanook.com/movie/37339
  • Facebook : เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร
  • Rerngrit Rakkanittakorn
  • GTH / GDH

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ