18 กุมภาพันธ์ 2020
3 K

The Cloud X Thailand Coffee Fest

“จงดีใจและภูมิใจที่พวกคุณได้อยู่ในวงการกาแฟ เพราะกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยธรรมชาติ” นี่คือคำพูดของชายที่หลายคนในวงการกาแฟขนานนามว่าเป็นปราชญ์แห่งกาแฟ เอโกะ ปูร์โนโมวีดี หรือ ปาเอโกะ เกษตรกรชาวอินโดนีเซียผู้บุกเบิกวิถีกาแฟพิเศษในประเทศอินโดนีเซีย ที่เราพาผู้อ่านที่รักกาแฟ ธรรมชาติ และความยั่งยืน ดั้นด้นจากประเทศไทยไปเรียนรู้วิชาการปลูกกาแฟกับเขาและชาวเผ่าบาตักในทริป The Cloud Journey 09 : Tribal Wisdom

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ด้วยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ตั้งขนาบกับเส้นศูนย์สูตรทั้งประเทศและอยู่ใน ‘Coffee Belt’ (ประเทศบนแถบพื้นที่เส้นศูนย์สูตรที่ปลูกกาแฟได้) ประเทศนี้จึงปลูกและผลิตกาแฟได้ตลอดทั้งปี ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชียที่ผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟ ไม่เพียงแต่ปริมาณที่บ่งบอกกำลังการผลิต แต่คุณภาพของกาแฟก็มีชื่อเสียงอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก อย่างกาแฟชวา กาแฟจาการ์ตา กาแฟสุมาตรา

ครั้งนี้ไม่ใช่การมุ่งสู่เมืองหลวงจาการ์ตาเพื่อตามรอยกาแฟคุณภาพคับแก้ว แต่เรากำลังมุ่งหน้าสู่ลินตงนีฮุตา จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย เขตพื้นที่ราบสูงทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย ที่ที่มีกระบวนการทำกาแฟเฉพาะตัว สร้างเป็นเอกลักษณ์ที่ทั่วโลกจดจำว่า นี่คือกาแฟของสุมาตราเหนือ

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ลินตง สุมาตราเหนือ 

ซิโบรงโบรง คือชื่อสนามบินที่ไม่คุ้นหูใครเลยแม้แต่เรา ไม่ต้องแปลกใจถ้าคุณจะไม่เคยได้ยินชื่อนี้ เพราะที่นี่ไม่มีไฟลต์ตรงจากประเทศไทย วิธีการเดินทางที่สะดวกมากที่สุดต้องอาศัยการบินจากกรุงเทพฯ มากัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แล้วค่อยต่อเครื่องไปซิโบรงโบรง สุมาตราเหนือ ที่มีเพียงสัปดาห์ละ 3 ไฟลต์เท่านั้น

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

สถานที่แห่งนี้เป็นที่ราบสูง เกิดจากการทับถมของดินภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่ปะทุในอดีตกาลราวๆ 100,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นการระเบิดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดเป็นแอ่งน้ำขนาดมหึมา ซึ่งต่อมากลายมาเป็นทะเลสาบโทบา (Lake Toba) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีระดับความลึก 1,500 เมตร เป็นที่กักเก็บน้ำและอุดมเป็นด้วยแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟอย่างมหาศาล ห่างออกมาจากทะเลสาบโทบาราวๆ 400 เมตร คือที่หมายของเราในทริปนี้ ลินตง สุมาตราเหนือ

ทริปครั้งนี้เราชวนผู้อ่าน The Cloud ซึ่งทุกคนมาจากหลากหลายอาชีพในวงการกาแฟตั้งแต่ เกษตรกร โพรเซสเซอร์ บาริสต้า คนคั่ว ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ ทุกคนต่างมีประสบการณ์การเดินทางไปทริปกาแฟมาแล้วหลายต่อหลายแห่ง

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมาถึงลินตง คือสายตาที่มองออกไปนอกกระจกรถบัสระหว่างทางเรากำลังเดินทาง บรรยากาศที่รายล้อมลินตงแตกต่างจากสวนกาแฟที่พวกเขาเคยเห็น พวกเขาเห็นต้นกาแฟในสวนหลังบ้านทุกหลัง และหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเช็กระดับความสูงของพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชัน จนพบว่าตัวเลขความสูงของลินตงคือ 1,300-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นความสูงที่สามารถปลูกกาแฟอาราบิก้าได้เป็นอย่างดี แถมเป็นที่ราบบริเวณกว้าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับที่ประเทศไทย ความสูงระดับนี้จะเป็นพื้นที่ยอดเขามีทั้งเนินและความชัน ทำให้เห็นความแตกต่างของภูมิประเทศที่ส่งผลต่อการปลูกกาแฟอย่างชัดเจน

รู้จักกับชนเผ่า ‘บาตัก’ ชนพื้นเมืองที่สุมาตราเหนือ

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในแถบลินตง สุมาตราเหนือ แห่งนี้เป็นชาวบาตัก ชนเผ่าที่นับถือศาสนาคริสต์และมีความเชื่อที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ ตลอดชีวิตของคนบาตักมักใช้ทุกๆ วาระของช่วงชีวิตในการปลูกต้นไม้ กระทั่งเมื่อสิ้นอายุขัยก็ยังปลูกต้นไม้ต้นเล็กๆ เหนือหลุมศพ ตามความเชื่อว่าถ้าหากต้นไม้ที่ปลูกนั้นแตกกิ่งก้านสาขามากก็จะมีลูกชายเอาไว้สืบสกุลมาก หากออกใบมากก็จะมีลูกสาวมาก วงศ์ตระกูลจะเจริญและรุ่งเรือง เพราะสำหรับคนบาตัก ลูกสาวมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทำการค้าและธุรกิจทั้งหมด ซึ่งธุรกิจหลักของคนที่นี่ก็หนีไม่พ้นเรื่องกาแฟ

จุดเริ่มต้นของการทำกาแฟคุณภาพของคนบาตัก เริ่มต้นตั้งแต่การให้ปุ๋ยกับต้นกาแฟ การเพาะเลี้ยงการดูแล และการแปรรูป สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น พวกเขายินดีที่จะแบ่งปัน สิ่งที่เขามีให้พวกเราได้เห็น ได้เรียนรู้ ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ อย่างเต็มใจ ซึ่งเรายังได้เก็บเกี่ยว 5 บทเรียนมาฝาก ดังนี้

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

บทเรียนที่ 1

ปุ๋ยหมักออร์แกนิก

ปุ๋ยคือสารอาหารหลักของพืชทุกชนิด ไม่เพียงสำหรับกาแฟ และที่นี่เลือกใช้ปุ๋ยหมักที่นำทรัพยากรธรรมชาติที่มีรอบตัวมาทำ โดยส่วนผสมจะถูกทับถมเป็นชั้นๆ ประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้ตามลำดับ

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ชั้นที่ 1 ใบไม้แห้ง ชั้นที่ 2 มูลหมูหรือไก่จากฟาร์มที่เลี้ยงเอง เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์จะไม่ถูกให้อาหารที่มีสารเคมีเจือปน สัตว์จะต้องกินอาหารตามธรรมชาติและต้องหมักทิ้งไว้ราวๆ 2 เดือน ใส่ถุงและมัดปากถุงเอาไว้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ชั้นที่ 3 ใบไม้สดสับละเอียด ชั้นที่ 4 มูลสัตว์ ชั้นที่ 5 โปะด้วยใบไม้แห้งอีกครั้ง และกลบด้วยดินดำ อาจจะใส่ผลเชอร์รี่ลงไปผสมด้วยหากเป็นฤดูกาลที่มีผล จากนั้นรดน้ำพอชื้นแล้วคลุมด้วยผ้าใบไว้ 3 เดือน และทุกๆ 2 เดือนจะต้องเปิดผ้าใบขึ้นมาคลุกส่วนผสมทั้งหมด แล้วคลุมไว้อย่างเดิม ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบกำหนดก็จะได้ปุ๋ยหมักไปใช้ต่อ 

สำหรับปุ๋ยหมัก ไม่จำเป็นต้องกะส่วนผสมแต่ละชั้นให้เป๊ะเหมือนปุ๋ยเคมี เพียงกะให้อยู่ในอัตราส่วนที่พอๆ กัน เคล็ดไม่ลับคือมูลสัตว์มีอุณหภูมิไม่เท่ากัน อย่างมูลไก่นั้นร้อน สังเกตได้คือหากวางไว้บนหญ้า หญ้าจะเริ่มไหม้และดำเพราะฉะนั้น หากใส่มูลไก่เยอะ ก็ต้องเตรียมพืชใบสดให้มากขึ้นอีกนิด

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ปุ๋ยหมักเป็นอาหารเสริมของต้นไม้ ถึงไม่ใส่ต้นไม้ก็ไม่ตาย แต่ถ้าใส่ต้นไม้ก็จะแข็งแรงขึ้น เพราะสิ่งที่เราหมักจะทำให้เกิดแบคทีเรียที่ช่วยเป็นสารอาหารให้ต้นไม้ ข้อควรระวังคือไม่ควรใส่ใกล้โคนต้นจนเกินไป ระยะที่พอเหมาะคือเส้นรอบวงความกว้างของพุ่มใบต้นนั้นๆ และใช้ในปริมาณ 2 อุ้งมือเท่านั้น

บทเรียนที่ 2

เพาะต้นกล้าลงดิน

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ดินที่สุมาตราเหนือเป็นดินที่มีคุณสมบัติต่างออกไป เป็นดินแห้งและมีคุณสมบัติเป็นกรด ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระเบิดของภูเขาไฟในอดีต ทำให้ไม่มีหน้าดินและส่วนมากจะเป็นหิน การขุดดินเพื่อเพาะปลูกจึงต้องขุดลึกเป็นพิเศษเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีหินอยู่ก้นหลุม 

ความลึกที่พอเหมาะสำหรับที่นี่คือระดับสะโพก-เอว วิธีการวัดระดับความลึกสไตล์บาตักคือเมื่อขุดเสร็จแล้วให้ลงไปยืนในหลุม พอได้ความลึกที่ต้องการแล้ว ต้องเช็กอีกว่าในหลุมจะมีหินอยู่ใต้หลุมหรือไม่ ด้วยการเทน้ำลงไป 1 ถัง แล้วดูว่าน้ำซึมลงดินไหม ถ้าไม่ซึมแปลว่ามีหินอยู่ใต้หลุม นั่นแปลว่าใช้ไม่ได้ ต้องหาตำแหน่งปลูกใหม่ทันที

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

สิ่งที่ต้องเน้นย้ำในการเพาะต้นกล้าลงดินคือ ระยะห่างของแต่ละต้นจะต้องกว้างมากพอให้อากาศผ่านลำต้นกันได้ และไม่ควรปลูกให้แน่นจนเกินไป เพราะจะนำมาซึ่งโรคต่างๆ ทั้งรา สนิม รวมไปถึงอาจทำให้ต้นไม้แย่งสารอาหารในดินกันเอง จนทำให้ต้นใดต้นหนึ่งไม่แข็งแรงและตายไป

บทเรียนที่ 3

สำรวจผืนป่า คนบาตัก

จาก 2 บทเรียนแรก เราเริ่มลงมือสร้างป่าจากกระบวนการริเริ่มของคนบาตักไปแล้ว บทเรียนนี้ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ของการใช้ภูมิปัญญาที่คนบาตักทำมาตลอดเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ลูซาน โรสมานี่ ลาบาบัน และ ปางุน เจ้าของสวนกาแฟอายุ 30 ปี ขนาด 1 เฮกเตอร์ (ประมาณ 6 ไร่) ที่ปลูกแบบใต้ร่มเงาต้นไม้ใหญ่ (Shade-grown) ซึ่งหาได้ยากในลินตงแล้ว พวกเขาใช้หลักการ 5 ข้อในการทำสวนกาแฟนี้ให้ยั่งยืน คือตัดแต่งกิ่งให้ถูกต้อง ปลูกอย่างเป็นสัดส่วน จัดการโรคของต้นกาแฟ มีร่มเงาที่ดี และเก็บเกี่ยวอย่างถูกต้อง ซึ่งแน่นอนทุกหลักการเป็นการทำฟาร์มแบบออร์แกนิก

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ลูซานพาพวกเราเดินสำรวจสวนกาแฟ แต่ก่อนจะเข้าไปในสวน ลูซานพาเดินตรงไปที่ป่าที่ล้อมรอบสวนอยู่ เขาเล่าว่านี่ไม่ใช่ป่าที่มีอยู่แต่เดิมอยู่แล้ว แต่เป็นการปลูกขึ้นเพื่อเป็นแนวกันลมเพราะอากาศที่นี่ค่อนข้างเย็นและลมแรง การมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบนอกจากจะช่วยเป็นแนวกันลมแล้วยังเป็น Agroforestry (การวนเกษตร : สวนไม้ผสมผสานกับไม้ใช้สอยหลังบ้าน มีลักษณะเฉพาะคือปลูกไม้ยืนต้น ร่วมกับพืชเศรษฐกิจหรือฟาร์มปศุสัตว์) ซึ่งใช้วิธีการแบ่งการปลูกอย่างชัดเจน เพราะการมีป่าล้อมรอบช่วยให้เกิดเป็นระบบนิเวศของธรรมชาติ 

เมื่อมีป่าสัตว์ป่าก็มาอาศัยได้และมันจะไม่เข้าไปกินพืชผลกาแฟในสวน แถมยังช่วยผลิตปุ๋ยตามธรรมชาติด้วย คนสมัยก่อนจึงนิยมสร้างป่าล้อมรอบแปลง

ก่อนจะออกจากป่าลูซานชี้ชวนให้ดูว่าต้นไม้เล็กๆ เกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ แล้วบอกเราว่า สิ่งนี้เกิดจากสัตว์ที่เก็บพืชผลต่างๆ มากินแล้วถ่ายทิ้งไว้จนเกิดเป็นต้นไม้โดยธรรมชาติ

สวนกาแฟของลูซานเต็มไปด้วยต้นกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิมของลินตง สิ่งที่ชาวสวนกาแฟต้องคำนึงมากที่สุดคือศัตรูพืช โรคพืช และคุณภาพของดิน ปริมาณน้ำฝนของที่นี่อยู่ที่ปีละ 3,000 มิลลิลิตร ซึ่งมากกว่าประเทศไทยเป็นเท่าตัว แต่ที่นี่ปลอดเชื้อราสนิม เพราะเกษตรกรลินตงวางต้นกาแฟไม่แน่นเกินไป อากาศจึงถ่ายเท ต้นกาแฟไม่แย่งสารอาหารในดินกันเอง อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะที่นี่เป็นที่ราบ ซึ่งต่างจากไทยที่ปลูกกาแฟบนภูเขา แสงอาทิตย์ที่ส่องลงมาสู่ต้นกาแฟที่อยู่ฝั่งตะวันออกและตะวันตกของเนินเขาก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน 

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต
เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ระหว่างทางเดินในสวนกาแฟเราสังเกตว่ามีหลุมอยู่ใกล้ต้นกาแฟมากมาย หลุมพวกนี้ถูกขุดขึ้นเพื่อช่วยให้ต้นกาแฟหายใจได้ดีขึ้น มีอากาศถ่ายเททั้งจากใต้ดินและบนดิน (Air Circulation) และหลุมนี้ยังใช้หมักปุ๋ยตามธรรมชาติได้ วิธีก็ไม่ยาก สับวัชพืชจากต้นกาแฟแล้วใส่ลงไปในหลุมนั่นแหละ แถมยังเป็นที่กักเก็บน้ำเวลาฝนตก ต้นกาแฟก็จะได้รับความชื้นทั้งจากหน้าดินและจากหลุมนี้ ดินที่ขุดขึ้นมาก็เอาไปใช้เป็นหน้าดินได้บ้างบางส่วน จุดสังเกตว่าแนวคิดนี้ได้ผลดีคือ บริเวณใต้ต้นกาแฟดินจะชุ่มพอดีๆ แต่บริเวณทางเดินดินจะแห้ง เพราะรากดูดซับน้ำในดินไปเลี้ยงลำต้น

ต้นกาแฟที่เราเจอบางต้นใบเยอะเป็นพุ่ม กิ่งยื่นยาวออกมานอกลำต้น ถึงแม้จะเป็นกิ่งที่แข็งแรงมีผลออกทุกๆ กิ่ง แต่ก็ไม่ถูกสุขลักษณะของต้นกาแฟนัก เมื่อเราถามลูซานว่าทำไมปล่อยให้ต้นกาแฟเป็นแบบนี้ คำตอบคือ จำนวนต้นกาแฟที่นี่มีเยอะมากและปลูกมานานมากแล้ว คนที่นี่จึงพยายามปรับเท่าที่จะทำได้ จะให้ปรับทั้งหมดในทันทีคงทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างควรค่อยเป็นค่อยไป 

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

บทเรียนที่ 4

Wet Hulling

สุมาตราเหนือมีความชื้นสูง การจะทำกาแฟ Washed Procress หรือ Dry Process ดีๆ นั้นยากมาก โอกาสการเกิดเชื้อรามีสูง ชาวบาตักจึงทดลองทุกทางให้กาแฟออกมาดีที่สุด ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดทางธรรมชาติ จนออกมาเป็น Wet Hulling กระบวนการสีกาแฟเป็น Green Bean (สารกาแฟ) ตอนที่กาแฟยังคงเปียกอยู่ 

โดยปกติวิธีแปรรูปทั่วไปจะกะเทาะเปลือกกาแฟได้มาเป็นกะลากาแฟ (ผิวชั้นในของผลเชอร์รี่กาแฟ) แล้วนำไปตากกลับไปมาจนแห้ง จนระดับความชื้นในกะลากาแฟอยู่ที่ราวๆ 7 – 8 เปอร์เซ็นต์ ใช้เวลาราวๆ 1 สัปดาห์ แล้วจึงนำไปสีจึงจะออกมาเป็นสารกาแฟที่พร้อมนำไปคั่วดื่ม

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

แต่ Wet Hulling รวบรัดมากกว่านั้น คือเก็บผลเชอร์รี่มาสีให้ได้กะลากาแฟแล้วหมักเอาไว้ 1 คืน วันถัดมาขัดเมือกด้วยมือเท่านั้นจนเมือกหลุดจนหมด แล้วนำมาตากจนมีระดับความชื้นอยู่ที่ราวๆ 30 เปอร์เว็นต์ จากนั้นนำไปสีให้กะลาหลุดออกมาเป็นสารกาแฟที่มีความชื้นสูงยิ่งกว่าตอนเป็นกะลากาแฟ แล้วนำมาตากอีกรอบ แต่รอบนี้จะแห้งอย่างรวดเร็ว เพราะตอนเป็นสารกาแฟความชื้นจะสลายตัวไปเร็วกว่าตอนเป็นกะลา ซึ่งมีความเสี่ยงที่ความชื้นด้านในและด้านนอกของสารกาแฟจะไม่เท่ากัน 

พวกเขาก็พยายามแก้เกมด้วยการสร้างโรงตากที่เป็นมาตรฐาน เกลี่ยให้เมล็ดกระจายตัวบ่อยครั้ง จนได้สารกาแฟที่มีความชื้นประมาณ  12 – 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยังถือว่าสูงอยู่ แล้วเริ่มเก็บใส่กระสอบมาพักเอาไว้ให้ความชื้นด้านในและด้านนอกเท่าๆ กันแล้วจึงนำไปเข้ากระบวนการคัดแยกขนาดเมล็ดต่อไป ทั้งหมดจะจบภายใน 7 วัน ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่ากระบวนการแปรรูปทั่วๆ ไปเป็นเท่าตัว อีกสาเหตุที่ทำให้กระบวนการต้องรวบรัดมากเพราะปริมาณกาแฟของที่นี่มีมหาศาล หากใช้เวลานานกว่านี้เกษตรกรก็จะสูญเสียเชอร์รี่ ซึ่งเท่ากับสูญเสียรายได้ไปด้วย ทั้งหมดนี้คือที่มาของกระบวนการแปรรูปที่ทำให้ทั้งโลกรู้จักกับกาแฟสุมาตราเหนือ

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

บทเรียนที่ 5

พิสูจน์รสชาติผ่านการ Cupping

จากการเรียนรู้ทุกกระบวนการตั้งแต่กาแฟปลูก เก็บ แปรรูป กาแฟของคนบาตัก ทำให้รับรู้ได้ถึงความรักและความตั้งใจของพวกเขาที่อยากทำกาแฟให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น บทเรียนสุดท้ายเพื่อไขความลับและพิสูจน์ความยอดเยี่ยมของกาแฟสุมาตราจึงเป็นการ Cupping วิธีสากลที่ในวงการกาแฟใช้ทดสอบรสชาติและตรวจจับข้อผิดพลาดของกาแฟแต่ละชนิดได้เป็นอย่างดี เพราะกาแฟทุกเมล็ดยังไม่ถูกปรุงแต่งด้วยการชงใดๆ เพียงถูกเทน้ำร้อนผ่านเท่านั้น

ผู้ร่วม the Cloud Journey 09 : Tribal Wisdom ต่างผ่านการ Cupping มาแล้วหลายครั้งหลายครา ในรอบแรกของการ Cupping ทั้งห้องไร้เสียงพูดคุย มีเพียงเสียงซดกาแฟอย่างออกรสออกชาติของแต่ละคน ผ่านไปในรอบที่ 2 ผู้ร่วมทริปเริ่มมีความคิดเห็นเกี่ยวกับรสชาติของกาแฟสุมาตราที่พึ่งได้ลิ้มลองกันไป บ้างพูดถึงความแตกต่างที่ไม่เหมือนกาแฟอินโดนีเซียที่เคยดื่มมา บ้างวิเคราะห์ถึงความ Tasting ของตัวกาแฟแต่ละประเภทที่ได้ Cupping ไป

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต
เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ข้อสรุปที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ กาแฟสุมาตรามีจุดเด่นอยู่ที่ Body (ความหนักแน่นในรสชาติของกาแฟ) Aftertatse (รสชาติที่ยังติดอยู่ในลำคอหลังจากดื่มกาแฟเข้าไปแล้ว) หวานและไม่ติดขม เมล็ดกาแฟทุกประเภทมีคุณภาพสูงอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน นั่นหมายความว่าการสร้างผลผลิตที่มีมาตรฐานเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งที่ทำให้คนทั่วโลกยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในกาแฟสุมาตราแก่ผู้บริโภค

จากจุดเริ่มต้นของความเชื่อ นำไปสู่วิถีชีวิตที่คนบาตักเลือกที่ปลูกต้นไม้อยู่กับธรรมชาติ ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย สร้างผลผลิตที่ดีแล้วส่งต่อให้กับลูกหลานรุ่นถัดไป คนบาตักย้ำคิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เขากำลังจะลงมือทำลงไปนั้นส่งผลอะไรต่ออนาคต ส่งผลอะไรต่อลูกหลานในวันข้างหน้า ลูซานเล่าว่า คนบาตักส่งเด็กๆ เข้าไปเรียนในเมือง แต่พอกลับมาบ้านผู้ใหญ่ก็จะชวนมาล้อมวงกันทานข้าวใต้ต้นไม้ใหญ่ เป็นการสอนให้เด็กๆ ปลูกต้นไม้เพื่อพยายามปลูกฝังคนรุ่นต่อไปว่า พวกเราคือต้นไม้ใหญ่ที่ดูแลต้นไม้เหล่านี้อีกที คนเราเมื่อไปอยู่เมืองใหญ่มักจะลืมตัวตนไป การทำแบบนี้เป็นการเตือนว่าอะไรสร้างเราขึ้นมา หากอนาคตข้างหน้าธรรมชาติน้อยลงแล้วลูกหลานเลือกที่จะไม่รักษาธรรมชาติ นั่นคือความผิดของเราที่ไม่สร้างความทรงจำแบบนี้ให้คนรุ่นต่อไป

จากจุดตั้งต้นของทริปที่อยากพาให้ผู้ร่วมทริปไปเรียนรู้กระบวนการสร้างกาแฟคุณภาพ ไปแลกเปลี่ยนความรู้จากตัวกลางนั่นคือกาแฟ ถึงวันสุดท้ายชาวเผ่าบาตักพาเราไปไกลกว่าจุดมุ่งหมายแรกไม่น้อย ตั้งแต่วันแรกที่เราย่างก้าวเข้ามา ชาวบาตักถือว่าพวกเราคือครอบครัวของพวกเขา และพวกเขาก็แบ่งปันความสุขและน้ำใจแก่พวกเราตลอด 3 วัน 2 คืนในลินตง 

เดินทางไปหาเผ่าบาตัก อินโดนีเซีย เรียนรู้ภูมิปัญญาการทำกาแฟกับชนเผ่าที่มีกาแฟเป็นชีวิต

ทริปนี้เป็นหนึ่งเรื่องราวที่มี Coffee Wisdom พาให้คนที่รักและชอบอะไรเหมือนๆ กันมาพบกัน แต่การเรียนรู้นั้นไม่มีจุดสิ้นสุด และยังมีภูมิปัญญาอีกมากนักที่เรายังต้องเรียนรู้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านไปร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยน แบ่งปัน กันต่อที่ Thailand Coffee Fest 2020 : Coffee Wisdom  เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และพบกับภูมิปัญญาใหม่ๆ ของวงการกาแฟอีกมากมาย ในวันที่ 12 – 15 มีนาคม 2563 ณ อิมแพ็ค เอ็กซิบิชัน เซ็นเตอร์ฮอลล์ 5 – 6 เมืองทองธานี

Writer

Avatar

นพพร ทัตสิริวรวัฒน์

ครีเอทีฟและกราฟิกดีไซเนอร์ อยู่เบื้องหลังอีเวนท์เทศกาลกาแฟ พบตัวได้ที่หน้าโต๊ะคอนโทรลในทุกงานอีเวนท์ของ The Cloud

Photographer

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ