บทสนทนานี้เกิดขึ้นใต้บรรยากาศร่มรื่นของบ้านก้ามปู ที่นัดพบที่ผู้ให้สัมภาษณ์เลือกเองด้วยเหตุผลว่า ‘ที่นี่มีต้นไม้ใหญ่เยอะ’ ทำให้เรารู้จักตัวตนของ ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ คู่สนทนาของเราไม่น้อย 

ดร.ตรีชฎา หรือ อาจารย์ตุ๊กตา ที่นักศึกษาเรียกกัน เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาจารย์ผู้ริเริ่มจัดทำรายวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Sustainable Product Design) วิชานี้มีเป้าหมายอยู่ที่การเพาะบ่มวิธีคิดเชิงระบบให้กับนักศึกษาด้านการออกแบบ เพื่อให้พิจารณาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์งานออกแบบของตนเอง ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องสำคัญ ในวันที่โลกกำลังตื่นตัวถึงปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกหรือปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้คนในสังคม เพราะนักออกแบบเป็นอาชีพที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสินค้าและบริการหลายๆ อย่าง ที่สร้างผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบต่อโลกของเรา กระนั้นวิชาลักษณะนี้กลับแทบไม่ปรากฏในกระแสหลักของระบบการศึกษาไทย

มีอาจารย์สอนออกแบบคนหนึ่งที่ผลักดันสิ่งนี้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี

อาจารย์ตกลงรับคำเชิญของเราให้มาพูดคุยเรื่องที่มาที่ไปของวิชานี้ โดยมีเงื่อนไขง่ายๆ ว่า “ขอพาลูกศิษย์มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ด้วย” ซึ่งเราก็ตอบรับด้วยความยินดี

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

ก่อนจะถามเรื่องห้องเรียน อยากรู้ว่าอาจารย์สนใจเรื่องความยั่งยืนมาตั้งแต่แรกเลยไหม

เท้าความก่อน เรียนปริญญาตรีใบแรกที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เราไม่ได้ชอบหรอก แต่แม่ภูมิใจที่ลูกสอบติดสถาบันที่แม่ชอบ เลยทำสัญญากันว่าถ้าเรียนจบได้เกียรตินิยม แม่จะปล่อยไปเรียนสิ่งที่เราต้องการ เราเลยยอมอดทนเพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

ตอนฝึกงานเป็นจูเนียร์อาร์ตไดเรกเตอร์อยู่เอเจนซี่โฆษณา เรารู้สึกว่าการโฆษณามันเป็นปลายทางแล้ว ถ้าสินค้ามันไม่เวิร์ก แล้วเราพยายามใช้ความคิดสร้างสรรค์ทำให้มันขายได้ด้วยการโฆษณา ท้ายที่สุดแล้วสินค้านั้นจะไปสร้างปัญหาต่อ

ช่วงใกล้เรียนจบ มีโอกาสได้ไปดูงาน Degree Shows เป็นงานแสดงผลงานจบการศึกษาของนักศึกษาดีไซน์ที่เซนต์มาร์ติน (Central Saint Martins-University of the Arts London) ได้เห็นแนวคิดการออกแบบที่เป็นอิสระจากความคิดเชิงพาณิชย์ ผลงานมีความลุ่มลึก จุดประเด็นที่น่าสนใจ และแก้ปัญหาได้มากกว่าแค่ทำของให้ขายได้ในโลกทุนนิยม เราเลยสนใจเรียนปริญญาตรีอีกใบด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อจะได้สร้างสิ่งที่มีประโยชน์อย่างแท้จริง

แล้วได้ทำผลิตภัณฑ์อะไรที่มีประโยชน์สมใจไหม

สุดท้ายไม่ได้เลือกเรียนหลักสูตรออกแบบผลิตภัณฑ์ (หัวเราะ) ที่เซนต์มาร์ตินมีช่วงให้เรียนปรับพื้นฐาน ให้เราทดลองเรียนได้หลายอย่าง และได้ลิ้มลองเนื้อหาของหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่เขาเปิดสอน พอลองเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์แล้ว เรากลับไม่ชอบที่เขาแจกโจทย์ปลายปิดที่เจาะจงปลายทาง เช่น ให้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ใส่ไข่ไก่ 

เราชอบโปรแกรมที่ชื่อว่า Arts, Design and Environment มากกว่า ซึ่งโจทย์เน้นไปที่บริบท ให้เราไปค้นหาประเด็นปัญหาที่อยู่ในบริบทนั้น ผลลัพธ์ของโปรเจกต์จะออกมาเป็นรูปแบบใดก็ได้ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ บริการ การตกแต่งภายใน สถาปัตยกรรม งานประติมากรรม ไปจนถึงการแสดง มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีอิสระและท้าทาย เพราะในโจทย์เดียวกันมีคำตอบได้หลากหลายมาก

ในชื่อโปรแกรมมีคำว่า Environment อยู่ แปลว่ามีประเด็นเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเกี่ยว

ช่วงเรียนปีสอง มีวิชา Cultural Studies หนึ่งในเนื้อหาหลักที่ชอบคือบทบาทของศิลปินและนักออกแบบกับประเด็นสิ่งแวดล้อมในฐานะปัญหาหนึ่งของโลก นอกจากนี้เรามีโอกาสได้เข้าประกวดออกแบบ โจทย์มาจาก Social Enterprise แห่งหนึ่งที่เขารับเฟอร์นิเจอร์เก่าจากออฟฟิศในลอนดอนมาซ่อมแซม และขายให้คนในชุมชนในราคาถูก แต่มีของอย่างหนึ่งที่ขายไม่ออก คือพรมแผ่น ซึ่งผลิตจากตัววัสดุพีวีซีกับไนลอนผนึกแน่นอยู่ด้วยกัน มันรีไซเคิลตามวิธีปกติไม่ได้ด้วยซ้ำ ในโกดังมีพรมชิ้นสี่เหลี่ยมกองเป็นภูเขา 

เราก็เลยเลือกเจ้าพรมนี่แหละมา Redesign โดยเหลือเศษจากการผลิตใหม่ให้น้อยที่สุด และถอดประกอบได้เมื่อหมดอายุการใช้งาน เพื่อลดความยุ่งยากในการนำไปจัดการต่อ

งานที่ออกมาเป็นคอลเลกชันของแต่งบ้านสี่ถึงห้าชิ้น ตอนนั้นได้รางวัลด้วยนะ Social Enterprise แห่งนั้นเกือบขอซื้อแบบไปผลิตจริง แต่ช่วงเวลาเดียวกัน มีบริษัทในอุตสาหกรรมพรมหาวิธีการจัดการขยะพรมที่ดีกว่าได้ โดยการรับคืน (Reclaim) พรมแผ่นใช้แล้ว เอาไปบดเป็นผงละเอียด แล้วใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิตพรมผืนใหม่ ซึ่งวิธีนั้นมันป้องกันปัญหาขยะพรมที่เล็ดลอดออกไปจากระบบได้สมบูรณ์กว่า งานออกแบบของเราก็เลยตกไป

ตอนนั้นไม่เข้าใจหรอก แต่พอโตแล้วมองกลับไปรู้สึกว่า โปรเจกต์นั้นสอนเราหลายอย่าง ดีไซเนอร์ไม่ใช่คนที่เจ๋งที่สุด ในทุกๆ ปัญหา อาจมีคนที่คิดหาทางออกได้ดีกว่าและยั่งยืนกว่าเรา อยู่ที่เราเปิดใจรับได้แค่ไหน และพัฒนาตัวเองต่อจากจุดนั้นได้อย่างไร

ดูเหมือนตอนนั้นเป็นนักออกแบบเต็มตัวเลย คิดอยากมาเป็นอาจารย์ตอนไหน

มาตอนได้ไปทำวิจัยระดับปริญญาโทที่อินโดนีเซีย เราได้ทุนวิจัยของ British Council ผ่านทางโกลด์สมิทธ์ (Goldsmiths, University of London) ทุนวิจัยนั้นให้อิสระในการทำงาน จะตั้งหัวข้อวิจัยเป็นอะไรก็ได้ ขอแค่เกี่ยวกับงานออกแบบหัตถอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ด้วยความเป็นนักออกแบบ ตอนแรกเราสนใจเรื่องวัสดุธรรมชาติ แต่โกลด์สมิทธ์เป็นสถาบันที่เน้นคิดเชิงวิพากษ์ ผู้คนที่นั่นรักการดีเบต เราได้รับการส่งเสริมให้มองบริบทของงานออกแบบให้ลึกไปถึงเรื่องสังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเมือง เราเลยต้องอ่านเพื่อหาข้อมูลเหล่านั้นเยอะมาก

ยิ่งศึกษาก็ยิ่งพบว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ส่งออกหัตถอุตสาหกรรมอันดับต้นๆ ของโลก และมีอะไรหลายอย่างคล้ายกับไทย แต่สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานที่เป็นผู้ผลิตเบื้องหลังสินค้าสวยงามเหล่านั้นไม่ได้สวยงามไปด้วย บริบทของเกาะชวาที่เป็นแหล่งผลิตงานที่สำคัญของประเทศ ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเคร่งครัด จึงไม่มีการคุมกำเนิด ทำให้พ่อแม่ในหลายครอบครัวต้องพาลูกๆ เข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ทำงาน มีทั้งกลิ่นสีและทินเนอร์ รายได้อาจไม่ตอบรับกับโอกาสทางการศึกษาของเด็กๆ ด้วยซ้ำ ส่วนรูปแบบของงานที่พวกเขาผลิตก็มักไม่ได้ออกแบบโดยคนอินโดนีเซีย แต่เป็นแบบที่นักออกแบบในประเทศตะวันตกส่งมา ตอบโจทย์เพื่อปรนเปรอวิถีชีวิตแบบฝรั่ง

พอได้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างแบบนี้ เราจึงตระหนักว่า นักออกแบบเป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆ ในโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่โตอลังการ จึงเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วนักออกแบบตัวจ้อยอย่างเรา จะทำอะไรได้เพื่อบรรเทาปัญหาในสเกลที่เราทำไหว

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

แล้วนักออกแบบทำอะไรได้บ้าง

ถ้าผู้เรียนดีไซน์รู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่า น่าจะทำให้เขามองโลกตามจริงด้วยความเข้าใจ และอาจมีเป้าหมายในชีวิตเปลี่ยนไปทันที ไม่ใช่แค่การทำงานพาณิชย์

คิดได้ดังนั้นแล้วเลยกลับมาเป็นอาจารย์

ก็ยังไม่ได้เป็นทันที ตอนนั้นกลับมาไทย ค.ศ. 2009 งานแรกคือทำ E-learning หัวข้อ Sustainable Product Design ให้กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขนานกับการทำงานที่ศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรมที่จุฬาฯ เราถึงได้รู้ว่า ไทยเริ่มตื่นตัวในเรื่องของความยั่งยืนแล้ว แต่รัฐมองความยั่งยืนเป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป ผ่านไปสองปีงบประมาณ เขาก็ไปมองหาคำใหม่ที่น่าตื่นเต้นกว่ามาแทนที่ แต่สำหรับเรา ความยั่งยืนไม่ใช่เทรนด์ มันจะอยู่ไปอีกยาว

ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างอันเป็นผลจากการทำงาน ทั้งบทบาทของเจ้าหน้าที่ศูนย์นวัตกรรมฯ และการทำ E-learning ที่เป็นการสื่อสารทางเดียว ทำให้เราไม่ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนอย่างเต็มที่ เราเลยมองหาตำแหน่งอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยอื่นที่ไม่มีการสอนเรื่องความยั่งยืนในหลักสูตร จนได้เข้ามาเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยศิลปากร 

แล้วได้สอนเรื่องที่อยากสอนเลยไหม

ไม่ทันทีอีกเหมือนกัน ใช้เวลาต่อสู้อยู่ระยะหนึ่ง แม้เราพยายามสื่อสารตลอดตั้งแต่วันสอบสัมภาษณ์ว่าความเชี่ยวชาญของเราคืออะไร แต่อาจารย์อาวุโสที่เคารพรักท่านหนึ่งเป็นกระจกสะท้อนความจริงได้แจ่มชัดมาก ท่านตั้งชื่อเล่นให้กับเรียกสิ่งที่เราอยากสอนว่า ‘วิชาแปลกๆ’

ต่อสู้กับอะไรมาบ้าง

บริบทการศึกษาไทยมีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ เช่น โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน แต่จะมีการปรับปรุงหลักสูตรทุกๆ ห้าปี ต้องรอให้ถึงเวลาจึงจะเพิ่มลดรายวิชาได้ ซึ่งก็มีเงื่อนไขต่างๆ เช่น ความคิดเห็นที่อาจไม่สอดคล้องกันบ้างในกลุ่มคณาจารย์เกี่ยวกับทิศทางของหลักสูตร วิชาที่มีมาก่อนหน้าที่ยึดหัวหาดมานานแล้ว อาจมีความชอบธรรมที่จะอยู่ต่อไปมากกว่า

อีกความท้าทายหนึ่งคือ ตัวหลักสูตรเดิมเน้นการฝึกปฏิบัติเชิงวิชาชีพอย่างมาก อัตราส่วนของวิชาในหลักสูตรจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะฝีมือ เกิดเป็นวิถีชีวิตที่คุ้นชิน ที่นักศึกษาออกแบบทุกคนอดหลับอดนอนทำโมเดลกัน การที่เรานำเสนอวิชาที่มีเนื้อหาแหวกแนวและเน้นทักษะลักษณะอื่น จึงต้องพยายามเป็นพิเศษและใช้เวลาสื่อสารเพื่อโน้มน้าวใจคณาจารย์ในภาค

เราเริ่มจากขอสอนภายใต้ชื่อรายวิชาเลือกเสรีก่อน รอจนปรับหลักสูตรแล้ว ถึงได้บรรจุเป็นวิชาเลือกของภาควิชา ทุกวันนี้ก็ยังเป็นวิชาเลือกอยู่

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ
ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

วิชาการออกแบบเพื่อความยั่งยืนนี้สอนอะไร

ทักษะการคิดเชิงระบบ สอนให้เข้าใจองค์รวม เห็นโครงสร้างทั้งหมด แล้วสะท้อนเราอยู่ตรงไหนของความสัมพันธ์เหล่านั้น เราคิดว่าในฐานะมนุษย์จำเป็นต้องตระหนักเรื่องนี้ เพราะไม่ว่ามนุษย์จะทำอะไร มันมีผลจากการกระทำตามมาเสมอ 

แค่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตแต่ละวันก็สร้างผลกระทบได้ทั้งทางบวกและทางลบแล้ว ผลของเราอาจไปเป็นเหตุให้เกิดผลอื่นๆ ต่อเนื่องไปเรื่อย

ยิ่งถ้าเป็นนักออกแบบ การตัดสินใจอะไรก็ตามของนักออกแบบมันจะส่งผลใหญ่ขึ้นอีก เช่น ออกแบบอะไรแล้วเลือกวัสดุที่ไม่ยั่งยืน ก็ส่งต่อความไม่ยั่งยืนไป หรือตีโจทย์ผิด ก็ผิดไปยาวเลย อาจเผลอทำร้ายสังคม ทำร้ายโลกโดยไม่รู้ตัว

นักศึกษาสนใจวิชาแบบนี้มั้ยในเวลานั้น

คิดว่าเขามาเรียนเพราะเป็นวิชาแปลกๆ มาเพื่อมาเก็บหน่วยกิต ซึ่งพอเขามาเรียนด้วยเป้าหมายแบบนี้ มันไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง มันเป็นปัญหาชีวิตของเราในตอนนั้นเลยนะ มาทำอาชีพนี้เพราะอยากสอนวิชานี้ แต่พอสอนมาสองปีแล้ว อ้าว ไม่เห็นจะเปลี่ยนอะไรได้เลยว่ะ (หัวเราะ)

แล้วแก้ปัญหานั้นยังไง

หันมามองที่เทคนิคการสอน แล้วตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก เอาปัญหาที่ว่า ‘สอนเท่าไหร่นักศึกษาก็สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้สักที’ นี่แหละ ไปเขียนเป็นหัวข้อวิจัย ไปยืมสมองของอาจารย์ที่ปรึกษาและคนอื่นๆ มาช่วยเรา

หัวข้อทีสิสมุ่งเน้นที่แวดวงการศึกษาด้านการออกแบบในประเทศไทย ว่ามีการเรียนการสอนด้านความยั่งยืนในประเด็นไหนบ้าง ทัศนคติของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ต่อเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างไร เพื่อค้นหาเทคนิคการสอนที่จะเปลี่ยนแปลงผู้เรียนให้กลายมาเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างยั่งยืน

จะขยับจากเด็กที่มาเรียนเพื่อเก็บเกรด ไปสู่ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ฟังดูทะเยอทะยานมาก

เราอุตส่าห์มาอยู่ตรงนี้แล้ว มีรายวิชาที่ร่างขึ้นมาเองกับมือแล้ว มีนักศึกษาแล้ว แค่ต้องทำให้ได้ เลยตั้งโจทย์แบบนี้ออกมา

รอบนี้ไปเรียนที่ไหน

เรากลับไปที่โกลด์สมิทธ์ เพราะ ศาสตราจารย์เค สเตเบิล (Prof. Kay Stables) นักวิชาการรุ่นบุกเบิกด้าน Design Education อยู่ที่นั่น และช่วงสิบกว่าปีมานี้เขาทำวิจัยด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) ด้วย เขารับเราไปเป็นเด็กในที่ปรึกษาคนสุดท้าย เฉียดฉิววัยเกษียณพอดี เพราะต่างมีความสนใจที่ตรงกัน คือการนำแนวคิดความยั่งยืนมาผนวกกับการศึกษาด้านการออกแบบ อาจารย์คนนี้เป็นไฟส่องทางให้เราเลย

การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) การเรียนรู้ร่วมกันและตัดสินใจร่วมกับคนอื่น (Collaborative Decision Making) ที่จะนำผู้เรียนไปสู่ความสามารถฉายภาพทางเลือกอนาคตของตนเองได้ (Imagining Future Scenarios) ซึ่งการไปสู่ปลายทางนั้นอย่างสมบูรณ์ ต้องใช้กระบวนการที่เรียกว่า Transformative Learning เป็นการเรียนรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากภายในของผู้เรียนเอง การเปลี่ยนแปลงจากภายในนี้จะเกิดก็ต่อเมื่อผู้สอนเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้ไตร่ตรองความคิดตัวเอง ได้สะท้อนความรู้สึกนึกคิดข้างใน และเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหากับชีวิตของเขา 

เราเลยกลับมาสะท้อนตัวเอง ว่าเนื้อหาที่เราเรียนในช่วงปริญญาเอกนี้เชื่อมโยงกับชีวิตเราได้ยังไงบ้าง นั่นทำให้เราลอง ‘เล่น’ อย่างอื่นไปด้วยระหว่างทาง

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

เล่นอะไรมาบ้าง

มีทั้งหมดสี่อย่าง อย่างแรก เราอ่านเจอทฎษฎี Ecological Literacy ที่ ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) อธิบายถึงกฎของธรรมชาติ เนื่องด้วยมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ หากเราเข้าใจความเป็นไปในธรรมชาติอย่างแท้จริง เราจะใช้ชีวิตตามครรลองอย่างยั่งยืนได้ แต่การอ่านอย่างเดียวก็พอเข้าใจได้ประมาณหนึ่ง เราเลยเริ่มปลูกผักที่ระเบียงห้อง เริ่มจากผักสลัด สมุนไพร เห็ด มะเขือเทศ ซึ่งก็งอกงามดี ไปจนถึงมันฝรั่งกับไชเท้าที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่

ได้เรียนรู้อะไรจากการปลูกไชเท้าที่ระเบียงห้อง

การปลูกผักทำให้เข้าใจหลักการของระบบนิเวศมากขึ้น หลายสิ่งถูกธรรมชาติออกแบบมาแล้วด้วยตรรกะเหตุผลอันชาญฉลาด อย่างเรื่องเบสิกที่สุด คือฤดูกาลหลากหลายเป็นวัฏจักร ผักต่างๆ มีกำหนดเวลาชัดเจน ว่าต้องปลูกตอนไหนให้ทันกินเดือนไหน ทุกอย่างมีเวลาของมัน ถ้าเราเข้าใจตรงนี้ ทุกอย่างจะเป็นไปโดยง่าย แต่ถ้าฝืนธรรมชาติก็ไม่ได้ผลที่ควรเป็น ฟังดูธรรมะนิดๆ แต่นี่คือสิ่งที่การปลูกผักสอนเรา

การปลูกผักนำพาเราไปสมัครเรียนคอร์สสั้น นิเวศวิทยาเชิงลึก (Deep Ecology) ที่สอนให้เชื่อมโยงตัวตนของเรากับธรรมชาติ เราไปเรียนที่ Schumacher College โรงเรียนอยู่ในพื้นที่กึ่งป่า เป็นธรรมชาติมาก

นิเวศวิทยาเชิงลึกนี่สอนอะไรเรา

มีกิจกรรมที่ให้เราเข้าไปในพื้นที่รกร้าง แล้วนั่งอยู่ตรงนั้นแบบไม่ใส่นาฬิกา เราเลือกนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยเต็มไปหมด มด แมลง เต่าทอง ถ้าเราอยู่ในเมืองเราอาจเลือกไม่นั่งใกล้สัตว์พวกนี้เพราะเรากลัวเขากัด แต่ตอนนั้นเขาน่าจะกลัวเรามากกว่า เพราะเราคือสิ่งแปลกปลอม และนั่นคือบ้านเขา

สักพักฝนตก ตัวเล็กตัวน้อยพยายามไต่ขึ้นต้นไม้ วิ่งช้าเร็วต่างกัน ในเสี้ยววินาที เราเผลอตัดสินในสมองเราเองว่า ตัวนี้วิ่งช้า ตัวนี้วิ่งเร็ว แล้วเราก็ระลึกได้ว่า ‘ไม่ตัดสินก็ได้นี่’ บางทีอยู่ในห้องเรียน เราก็คงเผลอตัดสินลูกศิษย์เหมือนกัน คนไหนมีแวว คนไหนหัวช้า แต่จริงๆ ความหลากหลายคือธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต

นั่งดูแมลงสักพักก็มารู้ตัวว่า อ้าว ตัวเราไม่เปียกเลย ต้นไม้หนึ่งต้นปกป้องสิ่งมีชีวิตอีกหลายชนิดให้ไม่เปียก เป็นอะไรที่มหัศจรรย์มาก ในขณะที่มนุษย์ต้องมีบ้านหลังใหญ่เพื่อปกป้องเราจากลม ฟ้า อากาศ แค่ช่วงสั้นๆ ต้นไม้ก็มีคุณกับเรามากขนาดนั้นแล้ว

วันรุ่งขึ้นเราทำพวงมาลัยจากดอกไม้ที่พอหาได้ ไปขอขมาต้นไม้ ขอโทษด้วยนะที่นักศึกษาเอาไม้มาใช้ในการทำงานออกแบบแบบไม่ตระหนักรู้ถึงคุณค่า เรารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณเขา เราควรจะชื่นชมในสิ่งที่ธรรมชาติให้เรา ไม่มองว่าธรรมชาติเป็นแค่ทรัพยากร เขามีชีวิต แถมเจ๋งกว่าเราอีก เราเป็นใครวะ ไปใช้เขาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ

อีก 2 อย่างที่เหลือคืออะไร

เราลองไปฝึก Dynamic Meditation ที่วัดป่าสุคะโต เขาสอนเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวทางหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ บนพื้นฐานความเชื่อว่า การเจริญสติแบบนั่งสงบนิ่ง มันฝืนสภาพความเป็นจริงของโลกปัจจุบัน เพราะโลกนั้นเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ดังนั้น ถ้ามีสติขณะเคลื่อนไหวร่างกายได้ น่าจะเหมาะกับการดำรงตนบนโลก 

มีอยู่วันหนึ่ง ถึงเวลาต้องกลับไปนอนที่กุฏิแล้ว หลวงพ่อบอกเราว่า อย่าเปิดไฟทิ้งไว้ตอนนอน ถ้าเปิดไฟทิ้งไว้ ไฟจะพาให้แมลงเข้ามาเล่นไฟ พอแมลงมา กบ คางคกก็มาเพื่อมากินแมลง เมื่อกบ คางคกมา งูก็จะมา เป็น Causality หรือ Cause-effect Relations ผ่านการยกตัวอย่างแบบง่าย ๆ คือ ‘อิทัปปัจจยตา’ นั่นเอง การกระทำที่เราทำโดยไม่คิด มันส่งผลที่ถึงชีวิตได้ 

อย่างสุดท้าย คือ เรียน Paulo Freire Formation Programme ซึ่ง University of Central Lancashire จัดทำขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเข้าใจทฤษฎีการศึกษาในภาพรวม วิพากษ์การศึกษาแบบดั้งเดิมที่มีโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักวิชาการคนอื่นๆ ที่มาลงเรียนด้วยกัน เพื่อแสวงหาวิธีการในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเติบโตด้วยการเรียนรู้ผ่านการเปลี่ยนแปลงจากภายในของผู้เรียนเอง

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

ทำทั้งหมดนี้แล้วได้วิธีการสอนแบบใหม่ออกมาหรือยัง

ได้เป็นแผนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม เราได้ทำห้องเรียนทดลองเพื่อลองสอนวิชานี้ด้วยวิธีใหม่ กับผู้เรียนสิบกลุ่ม ในแปดมหาวิทยาลัย 

แนวทางการเรียนการสอนเริ่มที่การสร้างการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวผู้เรียน ทำความเข้าใจตัวเองในฐานะมนุษย์ เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมและธรรมชาติ รวมถึงเห็นผลจากการกระทำของฐานะนักออกแบบ ผ่านกิจกรรมต่างๆ นำต้นไม้เข้ามาในห้องเพื่อให้ผู้เรียนลองนั่งคุยกับต้นไม้ เหมือนที่เราเคยไปนั่งใต้ต้นไม้ในคลาสนิเวศวิทยาเชิงลึก หรือคลาสที่เปรียบเทียบมุมมองแบบธรรมชาติกับมุมมองแบบมนุษย์ โดยเปรียบเทียบร่างกายคนเราเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ที่ไม่สามารถแยกส่วนออกจากกัน ในขณะที่เราแยกชิ้นส่วนของโทรศัพท์ออกจากกันได้ เป็นต้น

เมื่อผู้เรียนเปลี่ยนแปลงจากภายในแล้ว ค่อยออกมาเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ภายนอก โดยเรียนรู้แนวคิดและเครื่องมือที่ช่วยในการออกแบบที่ลดผลกระทบแง่ลบต่อโลก และสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกไปพร้อมๆ กัน

ฟีดแบ็กจากห้องเรียนทดลองทั้งหมดถูกนำมาพัฒนาต่อ จนได้แผนการสอนที่สมบูรณ์มาพร้อมกับปริญญาเอก และความเป็นไปได้ที่จะนำหลักสูตรมาใช้จริง

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

หลังจากนำมาสอนจริงแล้วได้ผลไหม

อันนี้คงต้องถามผู้เรียน

จังหวะที่คุยกันมาถึงตรงนี้ น้องๆ นักศึกษา ศิษย์เก่าวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนที่อาจารย์ชวนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (บวกกับชวนทานข้าวเย็น) ก็เดินทางมาถึงกันพอดีอย่างกับรู้ใจ

น้องๆ เล่าให้เราฟังว่า ตั้งแต่บรรยากาศในห้องเรียนที่เปิดใจ ทำให้กล้าตั้งคำถาม วิชานี้สอนให้พวกเขาเรียนรู้จากทุกสิ่ง ไม่ได้จำกัดแค่เรียนจากครูเท่านั้น แต่รวมไปถึงการเรียนจากสิ่งมีชีวิตที่พูดไม่ได้อย่างต้นไม้ และเรียนจากเพื่อนร่วมห้องที่ช่วยสนับสนุนกัน

ตอนแรกพวกเขารู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยาก ต้องใช้สมองคิดตามเยอะ แต่หลังจากเรียนไปสักพัก เริ่มปรับตัวได้ ก็มีแนวคิดในการทำงานออกแบบที่เปลี่ยนไป เริ่มอยากรู้ความต้องการของผู้ใช้งานจริงๆ มากขึ้น เพื่อไม่ให้งานออกแบบที่ทำกลายเป็นขยะในภายหลังเพราะใช้งานไม่ได้จริง หรือการมองไปมากกว่าแค่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์เพียงคนเดียว แต่รวมไปถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในบริบทของการออกแบบนั้นด้วย

นอกจากนี้ น้องกลุ่มนี้ยังทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารไปถึงคนรอบตัวว่า ประเด็นความยั่งยืนและปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวพันอย่างไรกับชีวิตพวกเขา ได้ฟังอย่างนี้แล้วเราเลยอดจะหันไปถามอาจารย์ไม่ได้

ได้ยินลูกศิษย์ตอบแบบนี้แล้วรู้สึกยังไงบ้าง

แม้การเปลี่ยนผู้เรียนให้เป็น ‘นักสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม’ จะไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ระบุลงไปในเอกสารหลักสูตรอย่างเป็นทางการ แต่มันคือเป้าหมายของหลักสูตรแฝง (Hidden Curriculum) ที่ถ่ายทอดจากวัฒนธรรมและมุมมองของผู้สอนอย่างเรา ซึ่งถ้ามองแบบนั้น เราก็มองว่าเราบรรลุความต้องการของหลักสูตรแล้ว (ยิ้ม)

ในฐานะที่เป็นทั้งครูและนักออกแบบ มองว่าห้องเรียนนี้คืองานออกแบบที่ประสบความสำเร็จไหม

ถ้าถามว่าเป็นงานออกแบบไหม ขึ้นอยู่กับว่าให้นิยามคำว่าออกแบบว่าอะไร มุมมองที่ได้รับการขัดเกลาจากการเรียนที่โกลด์สมิทธ์ คือผู้เรียนที่เข้ามาเรียนออกแบบในสถาบัน ควรได้รับการส่งเสริมให้ทำหน้าที่ ‘ออกแบบ’ หรือ ‘ให้นิยาม’ คำว่า ‘การออกแบบ’ ใหม่ด้วยซ้ำ (Redefining the Discipline of Design)

ตราบใดที่เป้าหมายของเราชัด การออกแบบจะเป็นอะไรก็ได้ สำหรับเรา การออกแบบไม่จำเป็นต้องให้ผลออกมาเป็นสิ่งของ การเรียนรู้และและความสัมพันธ์ของทุกคนในห้องเรียนก็เป็นสิ่งที่ออกแบบได้ ห้องเรียนนี้ไม่ได้เป็นของเราคนเดียว ในขณะที่นักศึกษาเรียนกันในห้อง เราเองก็เรียนไปพร้อมกันด้วย มันคือการเรียนรู้ร่วมกัน บทบาทนี้คือ Teacher-as-learner Role นักศึกษาทุกรุ่น ทุกคน คือผู้ที่สอนให้เราพัฒนาการสอน ถ้าไม่มีผู้เรียน ผู้สอนก็จะพัฒนาตัวเองไม่ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมต้องเชิญผู้เรียนมาพูดคุยพร้อมกันวันนี้ด้วย เพราะห้องเรียนลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีพวกเขา

ดร.ตรีชฎา โชติรัตนาภินันท์ ผู้ออกแบบวิชาออกแบบจากการปลูกหัวไชเท้า เข้าป่า และทำสมาธิ

Writer

Avatar

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล

นักออกแบบ-สื่อสารเพื่อความยั่งยืน ที่อยากเล่าเรื่องสิ่งแวดล้อมผ่านชีวิต บทสนทนา และแบรนด์ยาสีฟันเม็ดเล็กๆ ของตัวเอง

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan