18 สิงหาคม 2018
7 K

นี่คือการนั่งเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำครั้งแรกของผม

เครื่องบินของสายการบินมะฮอกกานีแบบ 40 ที่นั่ง มีขนาดใกล้เคียงรถบัส รอบตัวผมคือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและสื่อมวลชนสายท่องเที่ยวจากทั่วโลก พวกเรามาร่วมงาน Zatex หรือ Zambia Travel Expo ที่เมืองลูซากา ประเทศแซมเบีย แต่ก่อนจะได้ฟังสัมมนาและเดินดูบูทขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทุกแขนงในแซมเบีย ผู้จัดงานพาพวกเราพวกเราบินไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในประเทศ นั่นคือเหตุผลที่ผมนั่งอยู่ในเครื่องบินลำนี้

ผมไม่แน่ใจว่า สายการบินอื่น สนามบินอื่น หรือประเทศอื่น มีระบบจัดการตั๋วสำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำยังไง แต่ที่นี่เจ้าหน้าที่หยิบปากกาลูกลื่นมาเขียนชื่อของผมและรายละเอียดการเดินทางลงบนบัตรโดยสาร และสติกเกอร์ติดกระเป๋า

โคตรคราฟต์!

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็น่ารัก เธอเดินมาทักทายและยื่นขนมถุงๆ พวกมันฝรั่งทอดให้ตลอดการเดินทาง แม้กระทั่งช่วงที่เครื่องบินก้มหน้าแลนดิ้ง ถ้าเป็นสายการบินอื่น ช่วงนี้ผู้โดยสารและลูกเรือต้องคาดเข็มขัดนิรภัยอยู่กับที่นั่ง แต่ในจังหวะที่เครื่องบินถลาเข้าหาพื้นสนามบิน เธอก็ยังเดินแจกลูกอมอย่างอารมณ์ดี ราวกับกลัวว่าพวกเราจะขาดน้ำตาลในเลือด

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

สุดท้าย ก้นของเธอก็แตะเบาะก่อนล้อแตะพื้นแค่ 10 วินาที

ที่นี่ ประเทศแซมเบีย

แซมเบียอยู่ตรงไหนในโลก

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

เห็นรถที่รอรับพวกเราหน้าสนามบินมฟูเว่ (Mfuwe Airport) แล้วรู้สึกถึงความเป็นซาฟารีทันที มันเป็นรถกระบะที่สั่งซื้อมาจากออสเตรเลีย แล้วดัดแปลงส่วนกระบะให้ยกสูงเป็นที่นั่ง เปิดโล่งรอบด้าน เหมาะกับการดูสัตว์ทุกทิศ

และรับสายฝนทุกทาง

ออกจากสนามบินมาไม่ถึง 10 นาที ฝนก็เทลงมา และสาดเข้ามารอบด้าน เปียกเหมือนซ้อนมอเตอร์ไซค์กลางสายฝน พี่คนขับชะลอรถเข้าข้างทางแล้วหยิบเสื้อกันฝนยื่นให้เราคนละตัว แล้วขับลุยฝนต่อ

เรากำลังมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติเซาธ์ลวงวา (South Luangwa National Park)

ผมและเพื่อนร่วมทางทุกคนเพิ่งเคยมาแซมเบียเป็นครั้งแรก ยิ่งไปกว่านั้น ผมและอีกหลายคนก็ไม่รู้มาก่อนว่า แซมเบียอยู่ตรงไหนบนแผนที่โลก

หลายคนทำการบ้านมาอย่างตั้งใจ แต่พอผมรู้ว่าทริปนี้จะมีคนจัดการทุกอย่างให้ ผมเลยตั้งใจว่า จะไม่หาข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับแซมเบียล่วงหน้า ไม่อยากรู้ว่าอยู่ตรงไหน ภูมิประเทศเป็นยังไง ผู้คนหน้าตาแบบไหน พูดภาษาอะไร ไปเจอกันที่นั่นเลยดีกว่า ข้อมูลเดียวที่ผมตั้งใจหามาจากบ้านก็คือ อุณหภูมิ แซมเบียมีอากาศเย็นสบายคล้ายเชียงใหม่

ถ้าคุณอยากรู้ว่าแซมเบียอยู่ตรงไหน ผมให้เวลาคุณโยกหน้าจอไปเสิร์ชแผนที่ดูสักครู่ แต่ถ้าอยากลุ้นไปด้วยกัน ก็กระชับเสื้อกันฝนแล้วไปต่อเลย

แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดเด่นของประเทศแซมเบียมี 2 อย่าง คือ น้ำตกวิกตอเรีย ซึ่งเราจะไปเที่ยวกันในตอนหน้า และการท่องเที่ยวซาฟารี ที่นี่ความสมบูรณ์และหลากหลายของสัตว์ป่าสูงมาก สัตว์ป่าตัวพ่อของซาฟารี 5 ชนิด หรือที่เรียกว่า Big 5 ก็มีครบถ้วน ไม่ว่าจะไปย่านไหนก็จะได้เห็นสัตว์ป่าเกือบจะครบทุกชนิด

แต่ถึงอย่างนั้น การท่องเที่ยวซาฟารีในแซมเบียก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าประเทศเพื่อนบ้าน

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ช่วงที่ฝนเริ่มซา พี่คนขับรถเล่าว่า จุดเด่นของซาฟารีแบบแซมเบียที่ไม่ค่อยจะมีใครเหมือนก็คือ ซาฟารีแบบเดิน แทนที่เราจะนั่งรถไปดู ก็เปลี่ยนเป็นการเดินเรียงแถวกันไป มีไกด์พร้อมปืนยาวเดินนำหน้า นักท่องเที่ยวเดินตามอีก 5 – 6 คน ปิดท้ายด้วยทีมงานอีกคนพร้อมปืนยาว

พวกเรากระจายตัวกันพักในรีสอร์ต 3 แห่ง อยู่ห่างกันร่วมสิบกิโลเมตร Kafunta Safari Lodge ของผมไม่มีทริปซาฟารีแบบเดิน แต่อีกแห่งมี เพื่อนร่วมทริปของผมเล่าว่า ชาวคณะนั้นโหวตการเที่ยวซาฟารีแบบขึ้นรถแทนการเดิน เพราะไม่อยากแบกอุปกรณ์กล้องหนักๆ เดินไกลๆ

ฟังแล้วก็เสียดายแทน

ที่พักของผมไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเหมือนที่อื่น แต่อยู่ในพื้นที่กันชนรอบอุทยานฯ เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านเดินเข้ามาเก็บไม้ เก็บน้ำผึ้งได้ เช่นเดียวกับสัตว์ที่เข้ามาหากินแถวนี้ได้เช่นกัน พอเริ่มเข้าเขตพื้นที่กันชน เราก็เห็นฝูงกวางเยอะมาก คุณพี่คนขับบอกว่า พอคนไม่ล่ามันก็รู้สึกปลอดภัย เลยมาใช้ชีวิตในบริเวณนี้เยอะมาก

เขาเล่าต่อว่า ที่พักในเขตอุทยานฯ กับด้านนอกแทบไม่ต่างกัน ทั้งหมดเป็นของเอกชน ถ้าอยู่ในเขตอุทยานต้องขออนุญาตจากรัฐบาล ถ้าอยู่ข้างนอกต้องขอจากหัวหน้าชุมชน ใช้ระบบเช่า 99 ปี เหมือนกัน ขออนุญาตจากหน่วยงานไหนก็จ่ายค่าเช่าให้หน่วยงานนั้น

รีสอร์ตไม่ได้จ่ายแค่ค่าเช่าที่ แต่ต้องจ่ายเงินให้ชุมชนทุกปี และต้องช่วยสนับสนุนโครงการต่างๆ ของชุมชน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หรือถนน นั่นคือสิ่งที่ชุมชนได้จากการท่องเที่ยว เรื่องจ้างงานนั้นถือเป็นเรื่องเล็กมาก

ทุ่งรับแขก

พวกเราเดินลากกระเป๋าเข้ามาที่อาคารอเนกประสงค์ตรงกลางรีสอร์ต ที่นี่ใช้เป็นทั้งที่กินข้าว บาร์ ที่นั่งเล่น และที่ทำงาน เพราะเป็นจุดเดียวที่มีสัญญาณไวไฟ

แก้ว Welcome Drink คงกำลังเสียความมั่นใจ เพราะทุกคนพร้อมใจกันเดินผ่านพวกมันไปที่ระเบียง นาทีนี้ทุกคนอยากจะใช้มือทั้งสองข้างประคองกล้องถ่ายรูปแล้วรัวชัตเตอร์ก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากัน

จากระเบียงมองออกไปจะเห็นวิวพื้นที่ชุมน้ำแบบ 180 องศา อันที่จริงมันคือแม่น้ำ แต่ก็มีสันดอนผืนใหญ่หลายผืนโผล่ขึ้นมาซึ่งชะอุ่มไปด้วยหญ้าและพืชอีกหลายพันธุ์ ตรงนี้เป็นสวรรค์ของสัตว์กินพืช จึงเป็นสวรรค์ของสัตว์กินสัตว์ และสวรรค์ของคนที่อยากเห็นสัตว์กินสัตว์กินสัตว์กินพืช เพราะพื้นที่สุดท้ายที่ติดกับรีสอร์ตเป็นน้ำซึ่งกว้างเกินกว่าสัตว์ผู้ล่าจะกระโดดข้ามมาได้

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ตรงหน้าพวกเรามีฝูงกวางกำลังยืนกินอาหารตามธรรมชาติ และมีนกอินทรีเกาะอยู่ที่ต้นไม้ซึ่งยืนตายซาก เป็นภาพที่ให้ความรู้สึกเหมือนผมกำลังยืนอยู่หน้าจอโทรทัศน์ขนาดยักษ์

ตัดเข้าโฆษณาสักครู่

ผู้จัดการรีสอร์ตเชิญพวกเรามารวมตัว แก้ว Welcome Drink เคลื่อนย้ายจากถาดมาแตะริมฝีปากพวกเราเรียบร้อย ผู้จัดการซึ่งเป็นชาวตะวันตกอธิบายว่า ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำคือพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ พื้นที่ตรงนี้จึงมีสัตว์ป่าแวะเวียนมาไม่ขาด เก้งกวางนี่เห็นได้ทั้งวัน บาบูนก็อยู่กันเต็มรีสอร์ต ฮิปโปจะขึ้นมาช่วงดึก ช้างก็เคยเข้ามาบ้างช่วงที่ต้นมะม่วงป่าออกลูก เสือดาวกับสิงโตก็เป็นแขกประจำ

“คืนนี้คุณอาจจะเจอสิงโตนะ”

ผมพยายามวิเคราะห์ว่า ประโยคนี้เป็นข้อเท็จจริง เป็นมุก หรือเป็นคำขู่เพื่อให้เราปฏิบัติตามกฎ

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

“หลังพระอาทิตย์ตกและก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ห้ามเดินออกนอกอาคารโดยลำพัง ไม่ว่าจะไปไหนก็ตามต้องมีเจ้าหน้าที่ไปด้วยเสมอ ถ้าคุณอยากไปไหนให้ปรบมือ จะมีเจ้าหน้าที่พาคุณไป” คุณผู้จัดการพูดแบบจริงจัง

“ประตูทุกบานต้องล็อกกลอนเสมอ ไม่งั้นลิงบาบูนอาจจะเปิดเข้ามา ในห้องของคุณอาจจะมีค้างคาว ไม่ต้องกลัว มันเป็นพันธุ์กินพืช ส่วนแมงมุมก็เป็นพันธุ์ที่ไม่อันตราย ไม่ต้องตกใจ”

คำแนะนำยังไม่หมดแค่นั้น

“ถ้าตอนกลางคืนได้ยินเสียงบาบูนผิวปากหรือร้อง ไม่ต้องตกใจ มันกำลังเตือนสัตว์ด้วยกันว่าเสือดาวหรือสิงโตอยู่แถวนี้”

การออกไปวิ่งนอกรีสอร์ตในช่วงเย็นหรือเช้าเป็นสิ่งที่ผมไม่ได้รับอนุญาต ผมไม่ควรห้าวหาญทดลองทำ Running Safari

เดี๋ยวจะได้วิ่งกันป่าราบ

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

รอสัตว์กินสัตว์กินสัตว์กินพืช

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

อาหารเย็นมื้อนี้จัดโต๊ะแบบลองเทเบิ้ลริมน้ำ และเสิร์ฟอาหารเป็นคอร์สตามธรรมเนียมตะวันตก พวกเรานั่งกันฝั่งละ 6 คน มีไกด์ของรีสอร์ตนั่งหัวโต๊ะ รวมเป็น 13 คน

เพื่อนร่วมทริปของผมทุกคนมีนิสัยเหมือนกันคือ พวกเขารักการคุยกับเพื่อนใหม่ ทุกครั้งที่ขึ้นรถ ขึ้นเครื่องบิน หรือนั่งที่ไหนก็ตาม เขาจะเปลี่ยนตำแหน่งที่นั่งเสมอ เพื่อจะได้คุยกับเพื่อนใหม่ คุยตลอดเวลา ไม่มีใครหลับ และไม่มีใครหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่นฆ่าเวลา ถ้าพวกเขาไม่มีอะไรทำ เขาจะชวนคนข้างๆ คุย

จะบอกว่าพวกเขาว่างก็ไม่ใช่ เพราะหลายคนต้องเปิดคอมพิวเตอร์ขึ้นมาปั่นงานในรถหรือแม้แต่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนมื้ออาหาร แต่พอส่งงานเสร็จ พวกเขาก็มองแต่หน้าเพื่อนๆ ไม่มีการก้มมองหน้าจอแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา ผมคุ้นเคยกับลองเทเบิ้ลในฐานะของสไตล์มากกว่าแก่นแท้ของมัน เวลาเราไปกินอาหารที่จัดโต๊ะแบบยาว เราก็คุยกับเพื่อนที่ไปด้วยกันซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ อาหารมื้อนี้ไม่ได้เป็นแบบนั้น ด้วยขนาดโต๊ะที่ไม่ใหญ่จนเกินไป บทสนทนาที่เกิดขึ้นจึงเป็นของคนทั้งโต๊ะ คุยเรื่องเดียวกันด้วยกัน ไม่มีการแอบคุยกับคนข้างๆ แทรกระหว่างที่คนอื่นกำลังพูด

เรื่องราวที่เอามาแลกเปลี่ยนกันเริ่มต้นด้วยประสบการณ์การไปเที่ยวซาฟารีในประเทศอื่น แล้วขยับมาเป็นการเดินป่าบนเส้นทางสุดโหดทั้งหลาย จากนั้นก็ยกระดับมาเป็นประสบการณ์เสี่ยงตาย เช่น โดนช้างวิ่งไล่รถ เดินป่าในอเมริกาแล้วเจอหมีวิ่งเข้าหา ตั้งแคมป์แล้วเจอสัตว์ป่าระยะประชิด สักพักชื่อสัตว์ที่พูดถึงก็เริ่มแปลกขึ้นเรื่อยๆ จนผมงงว่ามันคือตัวอะไรกันบ้าง

นาทีนั้นถ้าผมจะเล่าสักเรื่องให้คนทั้งโต๊ะตื่นเต้นกว่าเรื่องที่ผ่านๆ มาได้ คงต้องเจอมังกร หรือไม่ก็ไดโนเสาร์

แต่เรื่องสิงโตที่อยู่ตรงหน้าของพวกเราก็พอจะได้อยู่

ไกด์ของรีสอร์ตเป็นชาวเบลเยียม สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีกากีของ Camel ใส่กางเกงขาสั้นสีเดียวกัน ดึงถุงเท้าขึ้นมาครึ่งน่อง มีเคราบางๆ สีขาว ผิวขาวของเขาอมแดง คงจะด้วยแรงแดด คาแรกเตอร์เหมือนนักสำรวจธรรมชาติที่เราเห็นในหนังฮอลลีวูด

เขาคือคนที่เล่าเรื่องสนุกที่สุดในค่ำคืนนี้ เขาเล่าเรื่องสัตว์แถวนี้ว่าแต่ละตัวมีพฤติกรรมยังไง ฟังดูรู้จักรู้ใจเหมือนเล่าเรื่องหมาที่บ้าน เรื่องของเขาไม่มีฉากพิสดารเหมือนเรื่องของผู้ร่วมทริป แต่ก็ดึงดูดให้ทุกคนตั้งใจฟังแบบติดหนึบ

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

หลังของหวาน เขาชวนทุกคนไปยืนริมระเบียง ไฟสนามของรีสอร์ตที่ส่องลงไปที่ทุ่งหญ้าทำให้เราเห็นว่ากวางกำลังยืนกินหญ้า เห็นฮิปโปตัวเบ้อเริ่มขึ้นจากน้ำมาเดินบนทุ่ง พวกมันมากัน 5 – 6 ตัว มีลูกเล็กๆ ด้วย ไกด์บอกว่า ตอนกลางวันฮิปโปจะนอนแช่น้ำคุยกัน ช่วงกลางคืนค่อยออกมาหาอะไรกิน

ฮิปโปพวกนี้อยู่ใกล้เรามาก ระยะเดียวกับที่เราเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้ด้วยการยกมือ

หลายคนยกมือขึ้นมากดชัตเตอร์ แต่ก็ออกมาไม่สวยนัก เพราะความสว่างตอนนี้เพียงพอแค่ตาเห็น แต่สลัวเกินกว่าเลนส์จะเพ่งไหว

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

พี่ไกด์เอาสปอตไลต์อันใหญ่มาฉายไฟไล่ไปตามจุดต่างๆ แล้วดวงไฟก็ไปหยุดที่สิงโตตัวหนึ่งซึ่งยืนอยู่ไกลๆ ทางด้านซ้าย มันกำลังย่องมาหาฝูงกวางที่อยู่ตรงกลาง

เหมือนพวกเรากำลังนั่งอยู่ในห้องรับแขกหลังมื้ออาหารแล้วเปิดดูรายการสารคดีสัตว์ป่าทางช่อง National Geographic

“กวางวิ่งเร็วกว่าสิงโต ถ้าวิ่งพร้อมกันสิงโตไล่ไม่ทันหรอก มันก็เลยต้องอ้อมไปซุ่มรอกวางเผลอแล้วกระโจนเข้าใส่” พี่ไกด์อธิบายกลยุทธ์ของสิงโต

“แต่กวางและสัตว์อื่นๆ พอเห็นสิงโตมันก็เตือนกัน ฝูงกวางเลยถอยห่างออกมาอีกสักร้อยสองร้อยเมตร ตัวที่อยู่ริมสุดก็จ้องสิงโตไว้ พอสิงโตขยับ มันก็วิ่งหนี” นี่คือกลยุทธ์ของฝั่งกวาง

พอฝูงกวางย้ายไปยืนกินหญ้าด้านขวา สิงโตก็เดินอ้อมแม่น้ำไปโผล่ทางขวา แล้วเหตุการณ์เดิมก็ฉายซ้ำ ฝูงกวางรู้ตัวมันเลยวิ่งกลับไปอยู่ตรงกลาง

“เป็นแบบนี้มาหลายคืนแล้ว” เจ้าหน้าที่บอก “มันมีลูกด้วยนะ” พูดจบเขาก็เอาไฟส่องลูกสิงโตที่ยังรอแม่ทางด้านซ้าย

“ถ้าสัปดาห์นี้มันยังล่าไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่ามันจะรอดไหม”

“ทำไมไม่ล่าลูกฮิปโปแทน” ใครบางคนถาม

“แม่มันอยู่ ถึงแม่มันไม่อยู่ สิงโตตัวเดียวก็ล่าลูกฮิปโปไม่ได้ ต้องมีหลายตัวถึงจะช่วยกันฉีกเนื้อกินได้”

ค่ำคืนนี้เราไม่ได้ลาจากกันด้วยเรื่องเศร้า มีใครสักคนเล่าเรื่องนี้เป็นนิทานก่อนนอน

มีผู้ชาย 2 คนเข้าไปตั้งแคมป์ในป่า แล้วเจอสิงโต ทั้งคู่มองหน้ากันว่าจะทำยังไงดี ชายคนแรก หยิบรองเท้าผ้าใบขึ้นมาใส่ แล้วตั้งท่าเตรียมตัวออกวิ่ง

ชายคนที่สอง : จะบ้าเหรอ มึงคิดว่ามึงวิ่งเร็วกว่าสิงโตเหรอ

ชายคนแรก : กูไม่มีทางวิ่งเร็วกว่าสิงโตหรอก แต่กูวิ่งเร็วกว่ามึงแน่ๆ

เราต่างอยู่ในระยะปลอดภัยของกันและกัน

เช้านี้เรานัดกันตอนตี 5 ตอนที่ผมเปิดประตูห้องเดินออกมา ฟ้ายังมืดอยู่เลย

“คุณต้องปรบมือนะ” เจ้าหน้าที่คนหนึ่งรีบเดินเข้ามาหาผม แล้วส่องไฟฉายไปตามทาง เขาบอกว่า ถึงเป็นตอนเช้ามืดก็ต้องระวัง เพราะแต่ละคืนที่เขายืนยาม เขาเจอตัวนั้นตัวนี้เดินเข้ามาในรีสอร์ต ซึ่งก็เป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่ผู้จัดการรีสอร์ตบอกเมื่อวาน

พอผมเจอเพื่อนร่วมทริปคนแรก เขารีบเล่าว่า เมื่อคืนเขาได้ยินเสียงบาบูนร้องทั้งคืน

เราอยู่ใกล้ชิดสัตว์ป่าขนาดนี้เลยเหรอ

หลังอาหารเช้า เราขึ้นรถมุ่งหน้าสู่อุทยานแห่งชาติเพื่อดูสัตว์ เวลาที่เหมาะกับการดูสัตว์คือ ตอนเช้าตรู่ และตอนกลางคืน ช่วงกลางวันร้อนๆ สัตว์จะหลบแดดอยู่ใต้พุ่มไม้ ไม่มีกิจกรรมใดๆ

ผมถามคนขับรถว่า การนั่งรถเข้าไปดูสัตว์แบบนี้ทำให้พฤติกรรมของสัตว์เปลี่ยนไปบ้างไหม เขาตอบว่า “แน่นอน มันจะชินกับพวกเรามากขึ้น แล้วก็สนใจพวกเราน้อยลงเรื่อยๆ”

เขาอธิบายต่อว่า การทำซาฟารีไม่ใช่มีรถก็ออกไปดูสัตว์ได้ แต่ต้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ป่า จะได้รู้ว่ารถของเราอยู่ใกล้สัตว์ได้แค่ไหน ตามทฤษฎีมีอยู่ 3 ระยะ ระยะแรก เป็นระยะที่สัตว์ไม่รู้สึกว่าเป็นอันตราย มันจะใช้ชีวิตของมันตามปกติ ระยะที่สอง มันจะเริ่มตื่นตัว หันมามองที่รถเรื่อยๆ และระยะที่สาม มันกำลังรู้สึกว่าเป็นอันตราย มันจะหยุดทุกอย่าง จ้องมองมาที่รถด้วยความกังวลว่าเราเป็นใคร จะทำร้ายมันไหม มันอาจจะวิ่งหนีไป หรือไม่ก็วิ่งเข้ามาทำร้ายรถด้วยความกลัว

“เพื่อความปลอดภัย เราจะไม่ข้ามเส้นไปถึงระยะที่สามเด็ดขาด” เขาว่าสัตว์แต่ละชนิดก็มีระยะไม่เท่ากัน

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

สัตว์ที่เราเจอมากที่สุดในเช้านี้คือเหล่าเก้งกวาง เหมือนได้ฝึกท่องศัพท์ภาษาอังกฤษหมวดชื่อสัตว์อีกครั้ง เพราะมีทั้ง Puku ทั้ง Impala และเพื่อนพ้องร่วมวงศ์วานอีกมากมาย พี่คนขับสอนให้เราสังเกตความแตกต่างระหว่างพันธุ์ ให้ดูเขา ดูสี ดูลายที่ก้น พอเราเห็นแล้วแยกได้ว่ามันคือตัวอะไร มันก็จะมีความหมายกับเรามากขึ้น

แล้วก็ยังเจอหมูป่า ม้าลาย ยีราฟ พี่คนขับบอกว่า ชาวบ้านที่นี่ไม่ล่ายีราฟ เพราะมีความเชื่อว่า ถ้าใครกินยีราฟ คนในครอบตัวจะตัวลายเหมือนยีราฟ

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ส่วนสิงโตก็ไม่ค่อยล่ายีราฟ เพราะถ้าเจอกันตัวๆ สิงโตอาจจะเอายีราฟไม่ลง

สิ่งที่คนทั้งรถตื่นเต้นที่สุด (ยกเว้นผม) ก็คือ ช้าง เป็นช้างป่าหลายโขลง พวกมันเดินเข้ามาใกล้เรามากด้วย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

เขาว่าทั่วแอฟริกามีช้างราว 4 – 5 แสนตัว อยู่ที่แซมเบียราว 15,000 ตัว แต่ละวันทั่วแอฟริกามีช้างโดนล่าวันละ 96 ตัว เพราะต้องการงา

บางทีช้างมันก็ควรจะอยู่ห่างๆ คนบ้างนะ

เที่ยงกลับมา

พอแดดเริ่มจัด สัตว์หลบไปนอนใต้พุ่มไม้ พี่คนขับก็วนรถพาเรากลับมาหลบใต้พุ่มไม้บ้าง

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

เที่ยงนี้พวกเรากินอาหารกันบนร้านที่เหมือนบ้านบนต้นไม้ โดยปกติเวลาผมเดินทางไปต่างประเทศ ผมไม่เคยพกซอสหรือน้ำพริกใดๆ ติดตัวไปด้วย เพราะอยากลองอาหารท้องถิ่นมากกว่า และไม่เห็นความจำเป็นใดๆ จนกระทั่งมื้อนี้

อาหารอย่างหนึ่งของมื้อนี้คือไข่เจียวที่ด้านในมีไส้เป็นพริกหยวกและผักอื่นๆ เพื่อนชาวเกาหลีใต้หยิบซอสพริกที่เอามาจากบ้านขึ้นมาราดเพิ่มความเผ็ด เขาถามผมว่า อยากได้รสเผ็ดแบบเอเชียหน่อยไหม ผมตอบรับ แล้วก็พบว่า มันเป็นความเผ็ดที่ถูกลิ้นคนไทยมาก

ผมไม่ได้ส่งซอสต่อให้ไกด์ แต่ส่งคำถามว่า ที่นี่ดูแลไม่ให้คนล่าสัตว์ยังไง

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

“ทั่วประเทศมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าราว 1,800 คน ซึ่งไม่พอหรอก ถ้าใช้คนลาดตระเวนยังไงก็ไม่พอ เราเลยวางแผนว่าจะใช้โดรนบินสำรวจ มันช่วยให้เราประหยัดงบประมาณได้มาก ทำงานได้พื้นที่กว้างขึ้น ถ้าเจอการล่าสัตว์ตรงไหนก็ติดต่อเจ้าหน้าที่ที่อยู่ใกล้ที่สุดให้ขับรถเข้าไป” เขาตอบ

คนที่มาช่วยภาครัฐทำสิ่งนี้ก็คือองค์กรพัฒนาเอกชน พวกเขาเอาทักษะที่จำเป็นมาช่วย ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ความรู้ในการดูแลสัตว์ป่า และเชื่อมต่อกับภาคเอกชนเพื่อหางบประมาณมาซื้อวิทยุสื่อสาร รถ โดรน และอุปกรณ์อื่นๆ ส่วนภาครัฐก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเงินเดิน ค่าอาหารตอนลาดตระเวน

ร่วมมือกันยังไงก็ดีกว่า

ผมเอ่ยปากขอซอสพริกจากเพื่อนเกาหลีใต้อีกรอบ

มองความมืด

หลังจากที่ปล่อยให้พวกเรานอนเอนหลังตลอดบ่าย ก็ได้เวลาขึ้นรถไปดูสัตว์รอบเย็น

สัตว์ที่เราเห็นไม่ต่างจากเมื่อเช้า แต่เยอะกว่า และรอบนี้เขาจอดรถให้เราดูนกบ่อยขึ้น โดยเฉพาะ Masho Eagle ที่แข็งแรงขนาดกินลูกลิงได้

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

พอพลบค่ำ เราก็เริ่มดูสัตว์ด้วยการใช้ไฟส่อง พี่คนขับบอกว่า ทุกบริษัทที่ทำทัวร์ซาฟารีกลางคืนต้องได้รับอนุญาต และแต่ละจุดจะมีรถเข้าไปพร้อมกันได้แค่ 4 คันเท่านั้น หลักสำคัญอีกข้อก็คือ ต้องส่องไฟแบบกวาดๆ ไม่ส่องแช่ไปที่ตาสัตว์

วิธีหาสัตว์ในความมืดนั้นง่ายมาก เพราะเมื่อฉายไฟเข้าไปเราจะเห็นดวงตาของมันสะท้อนแสงออกมาในความมืด ถ้าผมเป็นสัตว์แล้วไม่อยากเจอคน ก็แค่หลับแต่ แค่นี้ก็ไม่มีใครเห็นแล้ว

พี่คนขับตั้งใจว่าต้องพาเราไปดูสิงโตหรือเสือดาวให้ได้ แต่ก็ยังได้เจอแค่ไฮยีนาที่เดินมาวนรอบรถแบบไม่สะทกสะท้าน และยีราฟที่หลับด้วยการนั่งกับพื้น เจ้าหน้าที่สวนสัตว์คนหนึ่งเคยบอกผมว่า ยีราฟจะนอนท่านี้เมื่อมันรู้สึกปลอดภัยมากเท่านั้น เพราะมันลุกยาก ถ้าภัยมากว่าจะลุกได้ก็โดนล่าพอดี

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

สุดท้ายรถของเราก็ไม่เห็นสิงโต

แต่พวกเราก็ยังได้เห็นสิงโตตัวเดิมจากระเบียงรีสอร์ต แล้วเหตุการณ์ก็ยังเป็นไปแบบเดิม คือมันได้แต่เดินวนไปวนมา เพราะเพื่อนสัตว์ต่างช่วยกันส่งเสียงให้สัญญาณ

บทสนทนาระหว่างรอสิงโตล่าเหยื่อของพวกเราเป็นเรื่องการล่าสัตว์

ไกด์บอกว่า ที่นี่มีการออกใบอนุญาตให้ล่าแบบถูกกฎหมาย ล่าได้เฉพาะเก้งกวาง มีการตรวจตราอย่างเข้มงวด แต่ละปีออกใบอนุญาตให้แค่ 50 ตัว ถือเป็นการช่วยควบคุมประชากรกวางไปในตัว ล่าได้แค่ช่วงเดียวในรอบปี นอกเขตอุทยานฯ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นรถไปด้วย ขออนุญาตล่ากี่ตัวก็ต้องล่าตามนั้น สนนราคาค่าใบอนุญาตประมาณตัวละ 500 เหรียญสหรัฐฯ

“ชาวบ้านก็ล่าเหมือนกัน บางทีชาวบ้านในชุมชนรอบๆ ปลูกพืชได้ไม่ดี ก็ล่าพวกกวาง ควายป่า เอาเนื้อไปขายที่ตลาด ได้เงินไม่เยอะหรอก ไม่เท่าขายหนังเสือดาว หรืองาช้าง ที่มีการสั่งมาจากเอเชียตะวันออกไกล นั่นคือตลาดใหญ่ แต่คนล่าเขาได้เงินแค่ 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายเท่านั้นเอง” ไกด์อธิบาย

โทษของการล่าสัตว์คือติดคุก 5 ปี ถ้าเป็นช้างก็ 10 ปี

เพื่อนร่วมทริปแชร์ว่า โทษการล่าสัตว์ป่าของบางประเทศในแอฟริกาคือติดคุก 15 ปี อีกคนเสริมว่า เคยได้ยินข่าวว่ามีคนไปล่าสัตว์ แต่สุดท้ายโดนสิงโตล่าแทนด้วย

อีกคนบอกว่า มีบางประเทศแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนให้คนล่าเป็นคนดูแลป่าแทน เพราะเขามีทักษะทุกอย่างพร้อมแล้ว

“เราก็พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการจ้างชาวบ้าน ให้เป็นคนคอยลาดตระเวนในท้องถิ่น เราให้เงินคุณแล้ว คุณต้องไม่ฆ่าสัตว์นะ ซึ่งมันได้ผลดีเลย ในแต่ละพื้นที่จึงมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นทั้งคนของภาครัฐและคนในท้องถิ่น” ไกด์แลกเปลี่ยนข้อมูลจากฝั่งแซมเบีย

ประเทศไทยเราก็มีโครงการลักษณะนี้ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ผมกำลังจะอ้าปากแบ่งปันกรณีตัวอย่างจากเมืองไทย แต่ก็โดนโยนคำถามข้ามโต๊ะมาหาก่อน

“เมืองไทยก็มีสัตว์ป่าเยอะ เห็นว่ายังมีเสืออยู่ที่ไทยเยอะมาก โทษของคนล่าสัตว์ป่าที่เมืองไทยรุนแรงไหม”

ผมพยายามนึกถึงข่าวคนล่าสัตว์ป่าที่เคยได้ยิน ตอนนั้นนึกออกแค่คนล่าเสือดำ

โทษของคนล่าเสือดำคืออะไรนะ ผมพยายามคิด แต่ก็ยังนึกไม่ออก

ผมเลยเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟังไปพลางๆ แต่พอถึงบทสรุปว่า โทษของคนล่าเสือคืออะไร ผมก็ยังนึกไม่ออก

ถึงตอนนี้ผมก็ยังตอบพวกเขาไม่ได้เลย

ซาฟารี, สวนสัตว์, Zambia Safari, ประเทศแซมเบีย

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป