พอพูดถึงคำว่า ‘วัดไทย’ เราก็มักจะเข้าใจว่าต้องสร้างโดยคนไทย เพราะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบไทย พระพุทธรูปแบบไทย จิตรกรรมแบบไทย แต่ในบรรดาวัดไทยกว่าหมื่นวัด มีวัดจำนวนไม่น้อยที่สร้างโดยคนเชื้อชาติอื่นที่มาอาศัยอยู่ในดินแดนสยามหรือประเทศไทยในปัจจุบัน หนึ่งในนั้นตั้งอยู่ในเขตราษฎร์บูรณะ วัดที่ว่าก็คือ วัดประเสริฐสุทธาวาส

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

ตามประวัติกล่าวว่า วัดประเสริฐสุทธาวาสสร้างโดยชาวจีนเลี้ยงหมู ด้วยเงินในตุ่ม 3 ใบที่พบก่อนที่พระประเสริฐวาณิชจะมาปฏิสังขรณ์และทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) และได้รับพระราชทานนามวัดว่า ‘วัดประเสริฐบุญพสุทธาวาส’ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วัดประเสริฐสุทธาวาส’ กันมาจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าทั้งคนสร้างและคนปฏิสังขรณ์ต่างก็เป็นชาวจีนด้วยกันทั้งคู่

ความเป็นจีนในวัดนี้ปรากฏอย่างชัดเจนในจารึกที่ติดอยู่ที่ผนังภายในพระอุโบสถ จารึกเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาจีน บอกศักราชการสร้างทั้งแบบจีนคือ ‘รัชสมัยเต้ากวงปีที่ 18 ปีอู้ซวีถัดมา’ และ ‘ศุภมัสดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ได้สองพันสามร้อยแปดสิบเอ็ด ปีจอ สัมฤทธิ์ศก ตกในวสันตฤดู’ นอกจากนี้จารึกยังบอกอีกว่า พระประเสริฐวาณิชเป็นชาวจีนเพราะมีการระบุแซ่แต้หรือแซ่เจิ้ง

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

จารึกยังบอกให้รู้ถึงความเชื่อของชาวจีนในไทยที่มีความเชื่อในทางพุทธศาสนาแบบที่ชาวไทยคุ้นเคย เช่น ขอให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นของพระโพธิสัตว์ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ทันยุคพระศรีอาริย์ หรือขอให้ได้บรรลุนิพพาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเป้าหมายของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธแทบทั้งสิ้น

เท่านั้นยังไม่พอ ความเป็นจีนในวัดยังสื่อผ่านสถาปัตยกรรมของอุโบสถซึ่งคล้ายกับเก๋งจีนอย่างมาก แถมหน้าบันยังมีรูปพระอ้วนคล้ายพระปู้ไต้ หรือพระศรีอาริย์เวอร์ชันจีน (หรือที่คนไทยชอบเรียกว่าพระสังกัจจายน์นั่นแหละ) อยู่ที่กึ่งกลางหน้าบัน ไม่เพียงเท่านั้น ข้างในยังจัดแสดงโครงสร้างเครื่องไม้แบบที่พบได้ทั่วไปตามศาลเจ้า แต่ไม่ใช่ในวัดไทยที่นิยมปิดฝ้าเพดานแน่นอน

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

วัดประเสริฐสุทธาวาสยังเป็นวัดหนึ่งเดียวในไทยที่เขียนจิตรกรรมฝาผนังด้วยหมึกจีนเล่าเรื่อง สามก๊ก วรรณกรรมจีนระดับมหากาพย์ 1 ใน 4 สุดยอดวรรณกรรมจีนร่วมกับ ไซอิ๋ว ซ้องกั๋ง และ ความฝันในหอแดง สามก๊ก ที่วัดแห่งนี้ยังถือว่าสมบูรณ์ที่สุด เพราะเขียนมากถึง 364 ตอน มากสุดในไทยไม่ว่าจะเทียบกับวัดหรือศาลเจ้าใดๆ ก็ตาม

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

สามก๊ก ที่วัดนี้เล่าเรื่องตั้งแต่ตอนที่เล่าปี่ เชื้อพระวงศ์ตกยาก พระเอกเจ้าน้ำตาของเรื่อง เจอกับเตียวหุยคนขายหมู ตอนอ่านป้ายประกาศสมัครเป็นทหารเพื่อปราบโจรโพกผ้าเหลือง จนถึงตอนที่กุนซือเทวดาขงเบ้งมอบตำแหน่งเจ้าเมืองเกงจิ๋วแก่กวนอูหน้าแดง และยกทัพไปช่วยเล่าปี่ตีเมืองเสฉวน

ถ้าถามว่า ทำไมถึงไม่เขียนให้มันจบเรื่อง เอาให้ถึงตอนที่สุมาอี้สอนหลานแบบในซีรีส์ สามก๊ก 2010 ที่เพิ่งฉายทางช่อง 3 หรือเอาให้ถึงตอนจบจริงๆ ของ สามก๊ก คือ ตอนพระเจ้าสุมาเอี๋ยน หลานของสุมาอี้รวมแผ่นดินเป็นหนึ่ง ตอบง่ายครับ ผนังหมด แม้จะซอยแต่ละฉากเป็นช่องเล็กๆ มากขนาดนี้ก็ยังไม่พอจะเล่ามหากาพย์เรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างแท้จริง

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

แต่หากใครดูภาพไม่รู้เรื่องแต่แตกฉากภาษาจีนอย่างยิ่ง ลองมองเข้าในภาพแต่ละภาพได้เลยครับ ทุกภาพ นอกจากลายเส้นที่ดูยังไงก็ช่างจีนมาฝากฝีมือเอาไว้แน่ๆ ยังมีตัวอักษรภาษาจีนลายเส้นงดงาม ซึ่งไม่มีทางที่ชาวสยามในสมัยโน้นจะเขียนได้งามเท่านี้แน่ๆ คอยกำกับเอาไว้ บางช่องเขียนแต่ชื่อตัวละคร บางช่องอธิบายฉากในภาพ บางช่องมีครบทั้ง 2 อย่าง ดูอย่างภาพด้านล่าง ฉากสุด Epic ที่สามพี่น้องแห่งสวนท้อ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย รบ (รุม) เทพสงครามสามพ่ออย่างลิโป้ ที่ด่านเฮาโลก๋วนสิครับ มีครบหมดทั้ง 2 อย่างเลย

ทว่าภาพมันออกจะเล็กสักหน่อย ตัวหนังสือก็เล็กไปนิด ถ้าจะดูจริงๆ ติดกล้องส่องทางไกลหรือกล้องถ่ายรูปติดเลนส์ซูมมาด้วยจะช่วยได้มากเลยทีเดียว แถมหลายภาพก็ชำรุดจากอิทธิพลของกาลเวลาและความชื้น ทำให้รายละเอียดที่เคยมีเลือนหายไปอย่างน่าเสียดาย

วัดประเสริฐสุทธาวาส, จิตรกรรม, สามก๊ก, วัดไทย

ดังนั้น หากใครอยากรู้จัก สามก๊ก อย่างลึกซึ้ง อ่านการ์ตูนแล้วยังไม่พอ หรือดู สามก๊ก ในทีวีแล้วไม่จุใจ วัดประเสริฐสุทธาวาสก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถเดินทางเข้ามาเสพเรื่องราวนี้อย่างเต็มอิ่มไม่แพ้สื่ออื่นใดทั้งสิ้น

เกร็ดแถมท้าย

  1. อุโบสถวัดประเสริฐสุทธาวาสเปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ สามารถแวะเวียนเข้าไปไหว้พระพร้อมกับชมภาพจิตรกรรมฝาผนังนี้ได้ตลอด
  2. หากนำรถมา สามารถจอดบริเวณหน้าอุโบสถได้ หรือถ้าจะนั่งรถเมล์มา มีรถเมล์สาย 17 และสาย 37 ผ่านหน้าวัด
  3. ภายในวัดประเสริฐสุทธาวาสยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเขตราษฎร์บูรณะซึ่งเล่าเรื่องราวของชุมชนราษฎร์บูรณะ ชุมชนชาวสวน และเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าการเกษตรที่สำคัญ โดยจัดแสดงทั้งแผ่นป้ายและวัตถุจริงที่ได้จากทั้งวัดประเสริฐสุทธาวาสและชาวบ้านในพื้นที่ด้วย

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ