19 มิถุนายน 2018
5 K

1

ในรถกระบะหน้าตาสมบุกสมบัน ฉันเอื้อมมือข้างหนึ่งเกาะราวจับข้างประตูรถแน่น ขณะที่อีกข้างควานหายาดมมาจ่อใต้จมูก ไม่ได้ทำเกินกว่าเหตุเลยจริงๆ-เพราะทางข้างหน้าตอนนี้ไม่ใช่ถนนลาดยางราบเรียบ แต่ประกอบด้วยดิน หิน กรวด ที่ทำให้กระดูกแทบทุกชิ้นสั่นสะเทือนไม่หยุด

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

นี่คือเส้นทางสู่ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก’ ในจังหวัดกาญจนบุรี ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยจากข่าวคดีล่าเสือดำอันโด่งดัง

แต่แม้ทางสายนี้จะหฤโหดสำหรับคนเมืองอย่างฉัน กระบะคันโตกลับวิ่งบุกตะลุยไปบนถนนที่ขนาบด้วยหมู่ไม้สีเขียวเข้มอย่างราบรื่น เพราะมีคนขับผู้เชี่ยวชาญในชุดเครื่องแบบลวดลายสัตว์ป่าและต้นไม้

เขาคือหนึ่งในกลุ่มคนที่เราเรียกว่า `เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

ขณะที่มนุษย์เงินเดือนในเมืองขับรถมุ่งสู่ออฟฟิศบนตึกระฟ้า คนเหล่านี้ขับรถบนเส้นทางเช่นนี้สู่ป่าใหญ่

วันนี้ ฉันมุ่งหน้าไปยังออฟฟิศของพวกเขาตามคำชักชวนของโครงการระดมทุนเพื่อซื้อกรมธรรม์คุ้มครองชีวิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ชื่อว่า ‘ใครรักป่ายกมือขึ้น’ ทีมงานตั้งใจไปมอบกรมธรรม์ส่วนแรกจำนวน 4,445 กรมธรรม์ให้ถึงมือผู้รับและพาผู้คนเข้าไปสัมผัสชีวิตเหล่าเจ้าหน้าที่

เวลา 2 วัน 1 คืนนับจากนี้ ฉันจะไปเรียนรู้เพื่อหาคำตอบว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือใคร ภารกิจที่พวกเขาทำอยู่คืออะไรกันแน่

และทำไมคนเมืองอย่างเราต้องสนใจคนตัวเล็กกลางป่าใหญ่กลุ่มนี้

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

 

2

เสียงหยดฝนหล่นลงกระทบใบไม้ของป่าทุ่งใหญ่ดังเปาะแปะ ความเย็นชุ่มชื้นของผืนป่าฉ่ำฝนอบอวลอยู่รอบตัว แต่ฉันไม่ได้มีเวลาชมนกชมไม้ เพราะมัวแต่ตั้งสติกับทางเดินป่าข้างหน้าที่ทีมงานพามาเดินยามบ่าย

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

ทำไมต้องตั้งใจขนาดนั้น? ก็นั่นไง มีเสียงลื่นไถลดังมา พี่นักข่าวผู้ร่วมทริปล้มลงไปเรียบร้อย

เราออกเดินต่อไปตามทางที่หลายส่วนกลายเป็นโคลนเฉอะแฉะ อีกทั้งยังขึ้นลงเนิน แหวกพงหญ้าสูงท่วมหัวกันเป็นระยะ และยาวเหยียดหลายกิโลเมตรจนหลายคนเริ่มหายใจไม่ทัน หากเส้นทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ ว่าโหดแล้ว เมื่อเจอการเดินป่ารอบนี้ นั่นก็เป็นแค่เมนูเรียกน้ำย่อย

และนี่คือออฟฟิศของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า-ออฟฟิศที่เป็นธรรมชาติแท้จริงในทุกฤดูกาล

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

งานหลักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคือการออกลาดตระเวนตามเส้นทางแบบนี้เพื่อป้องกันผู้บุกรุกและเก็บข้อมูลสัตว์ป่า ซึ่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้นับเป็นหนึ่งในพื้นที่ทำงานสำคัญ เพราะทั้งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ป่าตะวันตก’ ซึ่งเป็นป่าใหญ่ผืนสุดท้ายของไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ป่ามรดกโลก’ ซึ่งกินอาณาเขตของผืนป่าห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ทั้งสองด้าน

ระยะทาง 8 กิโลเมตรที่เราเดินกันคือระยะเบสิกที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเดินต่อวัน (แปลว่าบางวันก็ไกลกว่านี้) และการเข้าป่า 1 ครั้งก็ไม่ใช่การไปเช้าเย็นกลับแบบที่เราทำ แต่คือการหายเข้าไปในป่าหลายวัน บางหนกินเวลาร่วม 1 อาทิตย์โดยมีสัมภาระ เสบียง และอาวุธหนักอึ้งบนบ่าระหว่างเดินทาง

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

“ของหนักประมาณ 20 – 30 กิโล” พี่เจ้าหน้าที่กะน้ำหนักที่ต้องแบกรับ แล้วสาธิตวิธีใช้เครื่องมือกรองน้ำจากลำธารที่ต้องใช้ เพราะไม่อาจแบกน้ำสะอาดมาได้ไม่พอให้เราชม

แต่มากกว่าน้ำหนักและระยะทางยังมีสิ่งโหดหินกว่านั้น เพราะนี่ไม่ใช่การเดินตรวจตรารอบโรงแรมใหญ่สักที่ แต่คือผืนป่ากว้างไพศาล เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมีพื้นที่ถึง 1,331,062 ไร่ เปรียบเทียบง่ายๆ คือใหญ่กว่ากรุงเทพฯ เสียอีก

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

ขณะที่จำนวนคนทำงาน-ซึ่งปกติควรแปรตามภาระงาน-ก็มีอยู่แค่ราว 190 คน

นี่คือเหตุผลที่เจ้าหน้าที่ต่างทำงานกันแทบไม่ได้หยุด (แม้รู้ว่าไม่มีทางเดินได้ทั่ว) อีกทั้งการออกลาดตระเวนแต่ละครั้งต้องใช้กำลังคนไม่ต่ำกว่า 5 คนเพื่อความปลอดภัย นั่นแปลว่าหากหน่วยย่อยไหนมีเจ้าหน้าที่แค่ 8 คน แต่ละเดือนก็ต้องมี 1 คนที่ ‘ควงกะ’ แทบไม่ได้โผล่หน้าออกมาจากป่า

“มันเกินกว่ารักกันแล้ว คนที่อยู่ที่นี่น่ะ” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าคนหนึ่งเอ่ยถึงเหล่าเพื่อนร่วมงานที่เจอหน้ากันมากกว่าครอบครัว ก่อนจะบอกว่าคงดีถ้ามีคนเพิ่มมากกว่านี้

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

 ที่สำคัญ งานนี้ไม่ได้เหนื่อยแค่กายแต่ยังเสี่ยงต่อความปลอดภัย ถ้าคุณลองไปคุยกับเจ้าหน้าที่ ไม่ยากที่จะได้ยินวีรกรรมกลางป่าอย่างการถูกกระทิงพุ่งมาขวิดจากด้านหลังจนตัวลอย ไม่ก็การปะทะหรือเกือบปะทะกับผู้บุกรุกที่มีมาไม่ขาด

ฟังดูแล้ว ถ้าใช้บริบทคนเมืองมาวัดงานนี้คงต้องได้เงินเดือนสูงลิบ สวัสดิการพรั่งพร้อม

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

หากสิ่งที่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้รับในปัจจุบันคือรายได้ระหว่าง 7,500 – 9,500 บาท และสวัสดิการที่ไม่เพียงพอ ยิ่งเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นพนักงานราชการซึ่งไม่ใช่ลูกจ้างประจำของรัฐก็แทบไม่มีสิทธ์คุ้มครองอะไร นอกจากสิทธิ์พื้นฐานอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคที่คนไทยมีกันอยู่แล้วถ้วนหน้า

เพราะไม่สำคัญถึงถูกมองข้าม? ฉันตั้งคำถาม แต่บางคำตอบก็ผุดพรายระหว่างทาง เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าทุ่งใหญ่ทำให้เราได้พบเจอรอยเท้าสัตวป่าน่าตื่นตาบนผิวดินนุ่ม

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

“นี่คือรอยเท้ากระทิง” พี่เจ้าหน้าที่บอกก่อนหยิบอุปกรณ์วัดรอยเท้า กล้องถ่ายรูป และแผ่นเอกสาร ออกมาจดเก็บข้อมูล จากนั้นก็เล่าให้เราฟังถึงการนำข้อมูลที่ได้จากป่ามาวางแผนเพื่อดูแลสัตว์ป่าต่อไป

นาทีนี้หลายคนคงเบื่อหากต้องมานั่งฟังว่าสัตว์ป่าและผืนป่าสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร

แต่ที่น่ารู้คือขณะเราใช้ชีวิตอยู่ในเมือง มีคนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตกลางป่าเพื่อพยายาม ‘พิทักษ์’ สิ่งเหล่านี้

เพราะไม่สำคัญถึงถูกมองข้าม?

ไม่หรอก-บางทีคนเราก็มองข้ามสิ่งสำคัญ

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

 

3

เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันลืมตาตื่นมาพบบรรยากาศเขียวสดและเย็นชื่นฉ่ำของป่าหมาดฝนที่มีเสียงนกนานาชนิดคลอเป็นฉากหลัง

ไม่มีโอที ทำงานเหมือนเซเว่น แต่สิ่งที่ได้คืออากาศบริสุทธิ์นี่แหละ-พี่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งเคยบอกไว้

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

แล้วเมื่อออกจากที่พัก ฉันก็ได้เจอ หัวหน้าวิเชียร ชินวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธ์ุแห่งนี้ที่คนรู้จักกว้างขวางจากสื่อไม่แพ้เสือดำ การพบกันตั้งแต่เมื่อวานทำให้ฉันรู้ว่าภายใต้มาดเคร่งขรึมในเครื่องแบบ เขาคือชายวัยใกล้ 40 ที่เป็นมิตรและเปี่ยมอารมณ์ขัน

ก่อนต้องกลับสู่เมือง ฉันจึงชวนหัวหน้าของเหล่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสนทนา

การเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าต้องทำอะไรบ้างคะ?

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

“ว่าคนอย่างเดียว” หัวหน้าวิเชียรแกล้งบอกปนหัวเราะ ก่อนจะอธิบายถึงขอบเขตหน้าที่อันกว้างขวางตั้งแต่อบรมบริหารเจ้าหน้าที่ ดูแลงานเอกสารเรื่องการสำรวจสัตว์ป่า จนถึงการจัดการงบประมาณที่ได้รับมา ทำให้ฉันได้รู้ว่างานที่ ‘ออฟฟิศ’ แห่งนี้ไม่ได้มีแค่การเดินลาดตระเวน แต่ยังมีสิ่งอื่นต้องจัดการมากมายนัก

พร้อมกันนั้น การได้คุยกับผู้ดูแลภาพรวมก็ทำให้ฉันเห็นภาพกว้างของหลากปัญหาหนักหน่วงรวมถึงสิ่งสำคัญที่คนตัวเล็กกลางป่าใหญ่ขาดแคลน เช่น ที่ทุ่งใหญ่ด้านตะวันตกนี้มีอุปกรณ์เดินป่าเพียงพอ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องการคือเทคโนโลยีเพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นโดรนสำหรับบินถ่ายภาพในป่าหรือกล้องวงจรปิดสำหรับติดในป่าเพื่อตรวจจับผู้บุกรุก

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

แน่นอนว่าหลายเรื่องต้องอาศัยการแก้ไขโครงสร้างใหญ่ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปอาจทำอะไรไม่ได้

แต่ก็แน่นอนว่ามีสิ่งที่เราทำได้ เหมือนที่โครงการใครรักป่ายกมือขึ้นระดมทุนจนช่วยบรรเทาปัญหาสวัสดิการของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้สำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ แม้ฉันจะบอกลาหัวหน้าวิเชียรและก้าวขึ้นรถกระบะเพื่อกลับสู่เมือง เรื่องราวชีวิตคนตัวเล็กกลางป่าใหญ่ที่พบเห็นจึงยังกระจ่างชัดอยู่ในดวงตาและดวงใจ

ทั้งหมดนั้นหลอมรวมกัน ไม่ได้กลายเป็นคำตอบ แต่เป็นคำถาม

คำถามที่ทำให้ฉันก้มลงมอง 2 มือตัวเอง

เข้าป่าหน้าฝนกับหัวหน้าวิเชียร ไปสัมผัสชีวิต ‘เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า’ แห่งทุ่งใหญ่ฯ ตะวันตก

ภาพ สุวิชา พุทซาคำ

ช่วยระดมทุนเพื่อซื้อกรมธรรม์คุ้มครองชีวิตเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากับโครงการ ‘ใครรักป่ายกมือขึ้น’ ได้ที่นี่

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

สุวิชา พุทซาคำ

สุวิชา พุทซาคำ

อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญการก่อกองไฟ และกางเตนท์ พอๆกับที่เชี่ยวชาญการใช้โปรแกรมออกแบบ สนใจเรื่องราวสิ่งแวดล้อมพอๆกับที่ชื่นชอบอุปกรณ์ไอที ถ้า IG : @sleepbird มีการเคลื่อนไหว แสดงว่าเพิ่งออกจากป่า