ทุกวันนี้ เวลาเดินเลี้ยวเข้าตรอก Trinity Lane เพื่อข้ามสะพานไปหอสมุดกลางที่ตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเคม ผมยังคงคิดถึงทำนองบรรเลงเปียโนในเพลงประกอบฉากแรกของภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything อยู่เรื่อยๆ

ภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything เข้าฉายในปี 2014 มีเนื้อหาดัดแปลงจากหนังสืออัตชีวประวัติของ Jane Wilde อดีตภรรยาคนแรกของ ศ.สตีเฟน ฮอว์กิ้ง (Stephen Hawking) ผู้ล่วงลับ เส้นเรื่องหลักของภาพยนตร์กล่าวถึงชีวิตส่วนตัวของสตีเฟนสมัยเป็นนักเรียนปริญญาเอกที่เคมบริดจ์และความสัมพันธ์กับเจน (Jane) ที่เริ่มต้นขึ้นพร้อมๆ กับอาการของโรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม (MND) ซึ่งกลายมาเป็นความท้าทายสำคัญในชีวิตคู่ของทั้งสองในเวลาต่อมา

ประมาณ 1 ใน 4 ของภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything ถ่ายทำในสถานที่เพียงไม่กี่แห่งในเคมบริดจ์ การเดินตามรอยจุดถ่ายทำทั้งหมดใช้เวลาไม่มาก เพียงแต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการคัดเลือกฉากต่างๆ สำหรับภาพยนตร์เป็นไปเพื่อความสวยงามบนจอเงินเป็นหลักและอาจไม่ตรงกับความเป็นจริงเท่าใดนัก

ภาพยนตร์เริ่มต้นด้วยฉากที่สตีเฟนและไบรอัน (Brian) เพื่อนร่วมชั้นคนสนิท แข่งกันปั่นจักรยานไปงานเลี้ยงตอนค่ำที่บ้านหลังหนึ่ง เส้นทางที่ทั้งคู่ปั่นจักรยานผ่านเป็นเส้นทางที่มีอยู่จริง ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อเอาส่วนต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้เชื่อมกันในความเป็นจริงมารวมเป็นฉาก เส้นทางนี้ตัดผ่านแลนด์มาร์กสำคัญจำนวนมากในเคมบริดจ์ เรียกได้ว่าแค่ภายในช่วง 20 วินาทีแรกของภาพยนตร์ ผู้ชมก็ได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจในเคมบริดจ์ไปมากแล้ว

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ตรอกแคบๆ ที่สตีเฟนและไบรอันปั่นจักรยานผ่านนี้มีชื่อว่า Trinity Lane ตั้งชื่อตาม Trinity College ที่ขนาบข้างอยู่ทางทิศเหนือ ที่เห็นในรูปที่ 1 และ 2 คืออาคารที่มีปล่องควันทางขวา ส่วนทางซ้ายมือคือ Gonville and Caius College (Caius อ่านว่า คีส์) คอลเลจทีี่ ศ.ฮอว์กิ้ง เป็นสมาชิกอยู่จนเมื่อถึงแก่กรรมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั่นเอง

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สตีเฟนและไบรอันปั่นจักรยานเลี้ยวซ้าย มุ่งหน้าผ่าน Trinity Hall (อาคารผนังหินสามชั้นทางขวามือของรูปที่ 8 และ 9) ซึ่งในความเป็นจริงคือคอลเลจที่ ศ.ฮอว์กิ้ง อาศัยอยู่สมัยเป็นนักเรียน เรื่องนี้ทุกคนในเคมบริดจ์ซุบซิบกันว่าทางทีมงานไม่เลือก Trinity Hall เป็นสถานที่ถ่ายทำเพราะพื้นที่คับแคบ กลับเลือก St. John’s College ซึ่งพื้นที่กว้างขวางและมี ‘มุมสวย’ ให้เลือกถ่ายทำมากกว่า มาเป็นฉากสำหรับที่พักอาศัยของสตีเฟนแทน

อาคารผนังหินสองชั้นตรงหน้าของสตีเฟนและไบรอันคือห้องสมุดของ Gonville and Caius College ในอดีตอาคารหลังนี้คือหอสมุดกลางของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ซึ่งภายหลังย้ายออกไปสร้างใหม่ในช่วงทศวรรษ 1930 ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเคม

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เลยจาก Trinity Hall ทั้งคู่เบี่ยงขวา มองเห็นวัดน้อย (Chapel) ของ King’s College ซึ่งเป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบ English Gothic ตั้งสูงตระหง่านอยู่เบื้องหน้า ก่อนจะเลี้ยวขวาทะลุเข้าประตูรั้วของ Clare College

ตัวอาคารของ Clare College มีลักษณะเป็น Court คืออาคารล้อมพื้นที่เปิดโล่งทรงสี่เหลี่ยม มีทางเดินรอบหรือทะลุผ่ากลาง ที่คอลเลจนี้แต่ก่อนเคยเปิดให้คนทั่วไปเดินผ่านได้ (แต่ขี่จักรยานอย่างสตีเฟนและไบรอันไม่ได้) เพราะมีสะพานข้ามไปยังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ และเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างเมืองเก่าฝั่งตะวันออกกับแคมปัสใหม่ของมหาวิทยาลัยในฝั่งตะวันตก จนเมื่อไม่นานมานี้เองทางคอลเลจเพิ่งตัดสินใจสงวนการเข้าออกพื้นที่ไว้สำหรับสมาชิกของคอลเลจเท่านั้น โดยต่อมาเกิดข่าวลือหนาหูที่พูดกันไปทั่วว่า สาเหตุของการปิดเส้นทางสัญจรเส้นสำคัญนี้ มาจากการที่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียกลุ่มหนึ่งบุกขึ้นไปยังชั้นห้องพักของนิสิตภายในตัวอาคาร!

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมื่อข้ามมาถึงฝั่งตะวันตกของเคมบริดจ์ สตีเฟนและไบรอันปั่นจักรยานเลี้ยวซ้ายเข้าสู่พื้นที่ที่เรียกกันว่า ‘College Backs’ คือพื้นที่สีเขียวความยาวประมาณ 1 กิโลเมตรทางด้านตะวันตกของแม่น้ำเคม เริ่มตั้งแต่ St. John’s College ทางทิศเหนือไปสิ้นสุดที่ Queens’ College ทางทิศใต้ ในสมัยที่เมืองเคมบริดจ์ยังไม่ขยายข้ามมาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ พื้นที่ College Backs คือพื้นที่ชานเมือง เชื่อมต่อระหว่างเคมบริดจ์กับตำบลต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ตำบลที่ยังพอเป็นที่รู้จักในปัจจุบันคือตำบล Newnham ซึ่งต่อมากลายเป็นที่ตั้งของ Newnham College

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

แม้ในปัจจุบันตัวเมืองจะขยายออกมาทางตะวันตกจนทำให้ College Backs กลายมาเป็นเขต ‘กลางเมือง’ พื้นที่สีเขียวแห่งนี้กลับได้รับการอนุรักษ์ให้เป็นปอดของเมือง เวลาถ่ายรูปเราจึงมองเห็นวิวอาคารต่างๆในบริเวณของ King’s และ Clare College เสมือนว่าตั้งอยู่ในชนบท แท้จริงแล้วหารู้ไม่ว่าพื้นที่ตรงนั้นคือ Prime Spot อย่างสวนลุมพินีในกรุงเทพฯ นั่นเอง

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สิ้นสุดจากฉากปั่นจักรยาน เรากลับมาที่เคมบริดจ์กันอีกครั้งในฉากที่สตีเฟนและเจนออกเดตกันในคืน May Ball งานเลี้ยงสิ้นสุดปีการศึกษาที่จัดขึ้นตามคอลเลจต่างๆ ทุกๆ 1 หรือ 2 ปี May Ball นี้จริงๆ จัดขึ้นในเดือนมิถุนายนหลังสิ้นสุดเทศกาลสอบปลายภาค May Ball เต็มรูปแบบเริ่มต้นในช่วงเย็นและลากยาวไปจนถึงเช้าตรู่ในวันถัดมา ตามประเพณีจะมีการนัดกันถ่ายรูปหมู่ในตอนเช้าให้เป็นที่ระลึกสำหรับ ‘ผู้รอดชีวิต’  ทั้งหลายที่สังสรรค์ติดต่อกันมากว่า 12 ชั่วโมง

ภาพยนตร์เรื่อง The Theory of Everything เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับงาน May Ball ไว้ได้ดีมาก ทั้งในเรื่องเสื้อผ้าที่จัดให้นักแสดงแต่งตัวแบบ White Tie เครื่องเล่นต่างๆ ที่ผู้จัดขนมาไว้ในงาน และพลุไฟที่สมัยนี้เราสามารถเช่าเรือพายล่องแม่น้ำเข้าไปรอชมใกล้ๆ ได้ถ้าไม่อยากเสียเงินซื้อบัตรเข้างานราคาแพง

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

นอกเหนือจาก May Ball แล้ว ยังมีงานเลี้ยงปิดปีการศึกษาในขนาดที่เล็กลงมา เรียกรวมๆ ว่า June Events ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีเนื้อหางานที่คล้ายกัน เพียงแต่ตัดกิจกรรมต้นทุนสูงออกไปและจัดเวลาสังสรรค์ไม่ให้ยืดยาวไปจนถึงเช้า

สถานที่จัดงาน May Ball ในภาพยนตร์คือพื้นที่สนามหญ้าใน St. John’s College บริเวณหน้ากลุ่มอาคารที่เรียกว่า New Court ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ ‘New’ เท่าไหร่แล้วเพราะก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 สนามหญ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเคม ติดกับจุดถ่ายทำฉากดูดาวสารภาพรักบนสะพานข้ามแม่น้ำ ซึ่งมีฉากหลังเป็นสะพานอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเล่นว่า The Bridge of Sighs  

คอลเลจเก่าๆ ทั้งหลายในเคมบริดจ์มักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือมีพื้นที่คร่อมทั้งสองฝั่งของแม่น้ำ คอลเลจเหล่านี้ บางแห่งมีประตูเล็กๆ ที่เปิดออกสู่แม่น้ำโดยตรง ในสมัยโบราณประตูนี้คือจุดขนของที่ถูกลำเลียงมาบนเรือท้องแบน ซึ่งเคลื่อนที่ได้ด้วยการใช้ไม้ค้ำพื้นแม่น้ำ ออกแรงผลักให้เรือวิ่ง (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Punt) ที่ต้องใช้วิธีนี้เป็นเพราะช่วงแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองเคมบริดจ์ตื้นเกินกว่าที่เรือปกติจะแล่นผ่านได้

ลักษณะทางธรรมชาตินี้เองประกอบกับการที่บริเวณภาคกลางฝั่งตะวันออกของอังกฤษเคยเป็นเส้นทางการค้าเส้นสำคัญระหว่างกรุงลอนดอนและเมืองท่าริมทะเลเหนือที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งยุโรปภาคพื้นทวีป โดยอาศัยการเดินทางผ่านเส้นทางเดินบกหรือล่องแม่น้ำไปยังริมฝั่งทะเลใกล้เมือง Norwich ก่อนจะลงเรือเดินทะเลข้ามฝั่งไปยังยุโรป ทำให้เมืองเคมบริดจ์ในสมัยโบราณกลายเป็นจุด ‘Transit’ สำคัญ เมื่อผู้สัญจรไปมาทางน้ำต้องเปลี่ยนยานพาหนะเพื่อให้เดินทางต่อไปได้นั่นเอง  

พื้นที่คุ้งน้ำบริเวณที่สตีเฟนและเจนมาเต้นควงแขนกันนี้ ได้ชื่อว่าเป็นจุดที่ Punt ยากกว่าจุดอื่นๆ เพราะพื้นแม่น้ำมีโขดหิน ถ้าจังหวะไม่ดีไม้ค้ำเรืออาจเข้าไปติดซอกหินจนหลุดมือไปเลยก็ได้

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

นอกจากบริเวณ New Court ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ยังมีจุดถ่ายทำอื่นๆ ภายใน St. John’s College บนฝั่งตะวันออก เช่น จุดที่สตีเฟนล้มลงบนพื้นก่อนถูกหามส่งโรงพยาบาล คือบริเวณทางเดินภายในคอร์ตที่ 2 ของคอลเลจ มุมกล้องจากจุดนี้ยังมองเห็นวัดน้อยของ St. John’s ซึ่งตั้งอยู่ในคอร์ตที่ 1 ด้วย ยอดหอคอยของวัดน้อยนี้ บางครั้งทางคอลเลจจัดลงทะเบียนให้สมาชิกคอลเลจปีนบันไดขึ้นไปดูวิวจากชั้นบนได้

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สถานที่ถ่ายทำอีกแห่งหนึ่งซึ่งเราไม่เห็นลักษณะอาคารภายนอกเลยคือฉากห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ Cavendish Laboratory ห้องปฏิบัติการฯ แห่งนี้ปัจจุบันปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยังรักษาสภาพภายในไว้ดังเดิมอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ ส่วนกิจกรรมวิจัยต่างๆ ได้ย้ายออกไปอยู่ที่ Cavendish Lab แห่งใหม่ทางฝั่งตะวันตกของเมืองแทน

The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ The Theory of Everything, มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

เมืองเคมบริดจ์ในปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่เป็นอาณาบริเวณกว้างกว่างสมัยที่ ศ.ฮอว์กิ้ง ยังเป็นนักศึกษาอยู่มาก อาคารบางแห่งถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานจากเดิม แต่หลายแห่งยังมีลักษณะภายนอกดังเดิมอย่างสมัยแรกสร้าง จนตัวผมเองยังรู้สึกทึ่งไปกับความสามารถและความพยายามในการอนุรักษ์สภาพอาคารในเมืองนี้อยู่ตลอดเวลา

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พีรพัฒน์ อ่วยสุข

นักเรียนโบราณคดี อาชีพหลักคืออ่านจารึกอักษรลิ่ม เวลาว่างชอบคุยกับแมว ดูมหรสพ