ZARA, Mango, PULL&BEAR และ LOEWE คือชื่อของแบรนด์แฟชั่นจากสเปนที่วิ่งเข้ามาในหัวทันทีที่รู้ตัวว่ากำลังจะไปสเปน คำนวณช่วงว่างระหว่างวันในโปรแกรมการเดินทางก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่คนเดียว

นอกจาก Hola (สวัสดี) Gracias (ขอบคุณ) และ Salud (หมดแก้ว) ที่เพื่อนบอกให้ท่องจำขึ้นใจ ทุกคนที่รู้ว่าเราจะไปสเปนบอกเราว่า เราจะรักคนที่ชื่อ Antoni Gaudi (อันตอนี เกาดี)

ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบอกว่าคุณเกาดีเป็นสถาปนิกชาวกาตาลัน เป็นคนถ่อมตัวที่ฝากงานไว้ทั่วบาร์เซโลนา

รสนิยมดีใช้ได้

The Sagrada Familia, QATAR

ก่อนจะไปพบกับคุณเกาดีและงานของเขา การเดินทางครั้งนี้ Qatar Airways และการท่องเที่ยวสเปนชวนพวกเราเปลี่ยนบรรยากาศ ทั้งพาลงฝั่งใต้ บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปมาลากาในแคว้นอันดาลูเซีย เส้นทางที่เปิดพิเศษเฉพาะช่วงหน้าร้อนของปีพาเราเดินเที่ยวเมืองบ้านเกิดคุณปีกัสโซ จิตรกรเอกของโลก แวะอุทยานแห่งชาติ El Trocal de Antequera เดินเท้าขึ้นภูเขาที่ครั้งหนึ่งเมื่อหลายล้านปีก่อนเคยจมอยู่ใต้ทะเล ก่อนจะเดินเท้า 9 กิโลเมตรขึ้นลงเขาในทางที่แคบที่สุดในโลก แล้วไปทอดน่องชมเมืองรอนด้า เมืองสุดโรแมนติกที่เราจดชื่อไว้ว่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อถึงคราวดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ จากนั้นพาชาวคณะขึ้นฝั่งเหนือเที่ยวบาร์เซโลนา ในแคว้นกาตาลุญญา เมืองที่เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งยุค

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

มาสเปนทั้งทีไม่จำเป็นต้องบินไปและกลับเมืองเดิมอย่างที่แล้วมา ซึ่ง Qatar Airways ก็มีไฟลต์บินวันละหลายรอบ ชั้น Business Class ก็ดีงาม ให้ความเป็นส่วนตัวและสะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน ที่อิ่มเอมใจเป็นที่สุดคือ ชุดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกระเป๋าจาก Bric แบรนด์กระเป๋าเดินทางจากมิลาน และชุดนอนให้เปลี่ยนจาก The White Company ของลอนดอน (ตรวจสอบเส้นทางการบินและราคาได้ที่นี่)

พูดก็พูดเถอะ ความหรูหราที่มีในช่วงเริ่ม สู้สิ่งที่รอทุกคนอยู่ภายในมหาวิหารซากราด้า ฟามีเลีย (The Sagrada Familia) ผลงานของคุณเกาดีไม่ได้เลย

เพื่อความสนุกสนาน ผู้เขียนขออนุญาตไม่พูดจาภาษาสถาปนิก รูปภาพที่นำมาฝากทุกท่านก็เช่นกัน

นอกจากเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เราหนักใจกับภาพประกอบเป็นที่สุด เพราะถ่ายยังไงก็ไม่มีทางสวยเท่าที่ตาเห็นได้เลย

 

01

มาหามหาวิหารซากราด้า ฟามีเลีย

The Sagrada Familia, QATAR

บรรยากาศรอบตัวตอนนี้คึกคักเป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวคณะรอคอยในโปรแกรมการเดินทาง

ยกเว้นฉัน

นอกจากความยิ่งใหญ่ที่กินพื้นที่ทั้ง 1 ช่วงตึกวาฟเฟิล (หากมองบาร์เซโลนาจากมุมสูง คุณจะเห็นตึกเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ คล้ายขนมวาฟเฟิลแผ่นยักษ์) หรือประเมินจากสายตามีขนาดเท่ากับ สนามหลวง 2 สนาม ชื่อของ ‘โบสถ์ที่เป็นต้นแบบของปราสาทใน Game of Thrones‘ เรียกความสนใจเราเพิ่ม 3 ระดับ

ก่อนจะอ่านเจอว่า “มหาวิหารซากราด้า คือสถาปัตยกรรมที่จอร์จ ออร์เวลล์ จัดให้อยู่ในกลุ่ม ‘สยดสยองที่สุดในโลก’ และคุณเกาดียังเป็นศิลปินที่รุ่นน้องอย่างปีกัสโซบอกให้ไปลงนรกซะ” ดราม่าไม่ได้ขายดีแค่ในประเทศบนเส้นศูนย์สูตร เราคิดว่าเราทำเก๊กท่าเฉยๆ กับมหาวิหารแห่งนี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว

มหาวิหารซากราด้า ฟามีเลีย หรือ The Sagrada Familia (The Basílica i Temple Expiatori de la Sagrada Família ในภาษาตากาลัน) มีความหมายว่า ครอบครัวพระเยซู หรือเป็นที่รู้จักในนามโบสถ์ที่สร้างมา 136 ปีแล้วไม่แล้วเสร็จ

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

คุณฟังไม่ผิด ชื่อของมหาวิหารนี้อยู่คู่ชาวบาร์เซโลนามา 136 ปีนับตั้งแต่เริ่มวางศิลาฤกษ์ในปี 1882 แต่ช้าก่อน นี่ยังไม่ใช่มหาวิหารที่สร้างนานที่สุดในโลก และเรื่องของมหาวิหารซากราด้าก็ยาวพอๆ กับปีที่สร้างเลย

ชาวคณะที่ต่อแถวไปพร้อมกันร้องถามสิ่งที่เราสงสัยในใจว่าทำไมไม่ใช้คนจีนรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งไกด์สาวของเราก็ตอบว่า นอกจากจะเป็นความตั้งใจของทีมงานลูกศิษย์ลูกหาคุณเกาดีที่ตั้งใจให้พร้อมเสร็จในปี 2026 เพื่อฉลองวาระครบ 100 ปีที่คุณเกาดีจากไปแล้ว นี่ยังเป็นกุศโลบายชั้นดีให้นักการเมืองท้องถิ่นช่วยกันบริหารโครงการสร้างมหาวิหารนี้ร่วมกัน แทนที่จะผลาญงบประมาณไปกับการตัดถนน ซ่อมทางเท้า และทำท่อระบายน้ำ อย่างนักการเมืองแถวๆ นี้

เก็บเรื่องความสำคัญทางศาสนาไว้ข้างหลัง ตามไปดูความอลังการดาวล้านดวงของมหาวิหารแห่งนี้ด้วยกัน

 

02

เขาชื่อ อันตอนี เกาดี

ลูกค้าคือพระเจ้า ไม่ใช่คำพูดในตำราบริหารธุรกิจ แต่เป็นเรื่องราวจริงของการก่อสร้างมหาวิหารแห่งนี้ ซึ่งมีลูกค้าคือ พระผู้เป็นเจ้า

ข้อมูลจากบทความวิเคราะห์งานของเกาดีบอกว่า เกาดีเคยกล่าวว่า “เส้นตรงมีไว้สำหรับมนุษย์ ส่วนโค้งเว้ามีไว้สำหรับพระเจ้า” นั่นทำให้ผลงานของเขาแทบไม่มีเส้นตรงหลงเหลืออยู่เลย รวมถึงวิธีการทำงานที่ไม่ค่อยร่างแบบยกเว้นเป็นงานที่ต้องส่งร่างเพื่อขอนุญาตจากทางการ แต่เขาจะใช้เวลากับการสร้างโมเดลต้นแบบแม้จะกินเวลานานนับปี ซึ่งมีตั้งแต่โมเดลขนาด 1:25 1:10 และ 1:1

The Sagrada Familia, QATAR

และเพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นพระผู้จ้างงาน พอร์ตงานของคุณเกาดีจึงเป็นตัวของตัวเองขนาดนี้ ผลงานของเขานำหน้าสถาปนิกรุ่นเดียวกันไปหลายช่วงตัว การผสมเส้นสายและรูปทรงเรขาคณิตเข้ากับความโค้งในแบบพาราโบลา บวกกับได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ มหาวิหารซากราด้าจึงถูกออกแบบด้วยแนวคิดของป่า เต็มไปด้วยสิงสาราสัตว์แบบที่คุณเกาดีชอบ รวมถึงการให้ความสำคัญกับแสงที่จะเล็ดลอดเข้ามาด้านในมหาวิหารผ่านรูปทรงของตัวอาคารและฟาซาดที่เกินยิ่งใหญ่จินตนาการ

ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตบอกว่า คุณเกาดีเป็นศิลปินที่ทำงานสไตล์โมเดร์นิสม์ (Modernisme ภาษากาตาลัน) นั่นคือ ศิลปะแนวนวศิลป์ (Art Nouveau) ในแบบกาตาลัน สำหรับคนที่สงสัยความแตกต่างระหว่างนวศิลป์และอลังการศิลป์ (Art Deco) เราขออธิบายง่ายๆ ดังนี้ อาร์ตนูโวเป็นงานที่มีเส้นโค้ง พลิ้วไหวเกินจริง เป็นงานลักษณะใช้ไม้แกะสลัก กระจกสีสเตนกลาส หรือเหล็กดัด ขณะที่งานแบบอาร์ตเดโคจะมีลักษณะมีเหลี่ยมมีมุม รูปทรงเรขาคณิต และเน้นใช้วัสดุที่หรูหราดูแพง

The Sagrada Familia, QATAR

กลับมาที่งานของคุณเกาดี วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เข้าใจงานของคุณเกาดีคือ โปรดละทิ้งคำว่าโมเดร์นิสม์ แล้วสนุกกับการมองหาความคิดสร้างสรรค์ และความเกินจริงที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งสรุปเป็นคำ 3 คำง่ายๆ คือ Truth Structure และ Beauty

 

03

พรสวรรค์สร้างได้

แต่เดิมมหาวิหารซากราด้า เริ่มต้นจาก Josep Maria Bocabella พ่อค้าหนังสือและคาทอลิกผู้เคร่งครัด มอบหมายให้สถาปนิกออกแบบโบสถ์นิกายโรมันคาทอริกสไตล์โกธิกปกติ แล้ววางศิลาฤกษ์จริงๆ วันหนึ่งในปี 1882 หนึ่งปีต่อมาต่อมาสถาปนิกคนแรกส่งไม้ต่อให้คุณเกาดี ซึ่งขณะนั้นอายุเพียง 30 ปี ก่อนที่คุณเกาดีจะใส่เต็มปรับแบบจนกลายเป็นมหาวิหารอย่างที่เราเห็นตรงหน้า ได้แต่คิดแล้วก็สงสัยว่าต้องเป็นคนแบบไหนกันถึงกล้าทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

จนเวลาผ่านไป มีเรื่องราวมากมายอยู่เบื้องหลังโครงการสร้างโบสถ์ร้อยปี ตั้งแต่ เรื่องโครงการที่เต็มไปด้วยรักและศรัทธาหลายคนมองเรื่องศาสนา บ้างก็แสดงความคิดเห็นว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองของนักออกแบบ เรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เต็มไปด้วยความหมาย

“มิตรสหายของฉันจากไปแล้ว ฉันไม่มีครอบครัวผู้ว่าจ้าง ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย ตอนนี้ฉันสามารถอุทิศชีวิตทั้งหมดให้กับโบสถ์แห่งนี้” คุณเกาดีกล่าวไว้ ก่อนจะอุทิศชีวิตช่วง 14 ปีสุดท้ายให้กับโครงการก่อสร้างนี้ ตามประวัติบอกว่าเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถรางชนในวันหนึ่งเมื่อปี 1929 ด้วยสภาพเสื้อผ้ามอมแมมทำให้ไม่มีใครจำเขาได้เลยว่าเขาคือเกาดี ศิลปินเจ้าของงานและสิ่งก่อสร้างมากมายในเมือง ซึ่งขณะนั้นมหาวิหารได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 25 % ก่อนที่ทีมงานจะเข้ามาสานต่อ ตามด้วยสงครามกลางเมืองที่ทำให้มหาวิหารและโมเดลต้นแบบได้รับความเสียหายไม่น้อย จนชื่อของซากราด้าเกือบถูกลบออกจากเมืองไปแล้ว ที่น่าสนใจคือการรับช่วงต่อของทีมงาน เหล่าลูกศิษย์ที่มีผลงานของเกาดีเป็นอาจารย์

The Sagrada Familia, QATAR

ระหว่างอ่านเรื่องราวของคุณเกาดีพอสังเขป ไกด์สาวคนดีคนเดิมก็ชี้ชวนให้ดูขาอ่อนของทหารหนุ่มที่อยู่บนฟาซาดทางเข้า ซึ่งมองด้วยตาเปล่าจะเห็นสีที่ต่างกัน เนื่องจากการก่อสร้างแบบเดิมใช้หินทรายทั้งหมด เมื่อเวลาผ่านไปหินทรายเหล่านั้นหลอมละลายจนเกิดผิวสัมผัลที่ไหลไคลย้อยตามธรรมชาติ ทำให้สิ่งที่เราเห็นตรงหน้าน่าทึ่งเข้าไปอีกหลายระดับ ส่วนขาอ่อนของทหารหนุ่มคนนั้น เพราะได้รับการซ่อมแซมด้วยหินทรายรุ่นใหม่ จึงขาวเนียนจนเป็นที่สังเกต เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างที่รอเข้ามหาวิหารลองสังเกตบรรดาสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ลายเซนต์สำคัญของคุณเกาดี ที่มีรายละเอียดมากมายจนเรารู้สึกเอ็นดูไปหมด

The Sagrada Familia, QATAR

โปรดเตรียมตาของคุณให้พร้อม เพราะหลังผ่านประตูนี้เข้าไป คุณจะไม่รู้สึกอยากกระพริบตาเลยแม้เพียงนิดเดียว

 

04

อลังการ แสง สี สวย

The Sagrada Familia, QATAR

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

ไม่ทันหายเมื่อยหลังจากเหงยหน้ามองเพดานที่สูงสุดลูกหูลูกตา สายตาเราก็จับจ้องอยู่กับเสาหน้าตาประหลาดนับสิบๆ ต้นตรงหน้า ยิ่งสูงยิ่งแตกกิ่งก้านคล้ายต้นไม้ ไหนจะบรรดาสีสันจากกระจกสเตนกลาสที่พากับเชื้อเชิญให้เลือกมอง เป็นความตั้งใจของคุณเกาดีที่อยากให้มหาวิหารนี้คล้ายป่า มีแสงเข้ารำไรแตกต่างกันในทุกชั่วโมง ทุกวัน ทุกปี จึงออกแบบฟาซาดด้านนอกและรายละเอียดของโค้งเว้าที่ไร้กระบวนท่าจนทำให้แสงที่เข้าสาดทะลุกระจกเข้ามาเต็มที่และมีมิติกว่าแสงจากที่ไหน แถมน้ำหนักของแสงที่เข้ามายังลดหลั่นไปตามสีเข้มอ่อนของกระจกที่ไร่เรียงจากทึบค่อยๆ ใสขึ้นไปตามความสูงของบานกระจก

จะเกินไปไหมถ้าเราบอกว่า เหมือนกำลังเดินอยู่ในสวรรค์

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

หลังจากพยายามเก็บภาพสีของแสงให้เป็นสีที่มีอุณหภูมิเดียวกับตามากที่สุด จนถอดใจ เราพบว่าบรรยากาศรอบตัวเงียบสงบสวนทางกับจำนวนคนมหาศาลที่อยู่รอบตัวเรา เพราะนอกจากจะตกอยู่ในภวังค์เดียวกันทั้งหมดแล้ว ทุกคนต่างตั้งใจฟังเครื่องช่วยบรรยายในภาษาของตัวเองกันทั้งนั้น นึกภูมิใจแทนทีมงานทั้งหมดที่อยู่เบื้องหลังสิ่งก่อสร้างนี้ และคิดฝันอยากให้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราบ้าง

The Sagrada Familia, QATAR

The Sagrada Familia, QATAR

ยัง ยัง ไม่จบเรื่องสีของกระจก หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างกระจกสีของที่นี่และมหาวิหารหรือสถานที่ทางศาสนาทั่วไป ที่มักจะเป็นรูปภาพเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า เพราะที่มหาวิหารซากราด้านั้นเป็นโมเสกรูป abstract ฝีมือของศิลปินท้องถิ่นรุ่นใหม่ที่สำคัญเป็นงานแฮนเมดทั้งหมด นั่นเป็นเพราะทีมงานผู้รับผิดชอบคิดแทนคุณเกาดีว่าเขาน่าจะชอบแนวคิดนี้ โดยอ้างอิงจากบรรดาสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ โดยเฉพาะรูปของกิ้งก่า สัตว์โปรดของคุณเกาดีที่ซ่อนตัวอยู่ตามจุดต่างๆ ของมหาวิหาร และเหล่าต้นไม้ใบหญ้าโดยรอบ

The Sagrada Familia, QATAR

ยิ่งเมื่อรู้ว่าผู้ออกแบบตั้งใจให้สีจากกระจกสเตนกลาสทั้งสองฝั่งของอาคารแตกต่างกัน ด้านหนึ่งที่เป็นทิศตะวันออกจะเป็นสีโทนร้อน ขณะที่ฝั่งด้านทิศตะวันตกจะเป็นสีโทนเย็น เรายิ่งยกให้การมาเยือนศาสนสถานครั้งนี้น่าจดจำที่สุดในชีวิต

เข้าไปดูเล่นได้ที่ : http://www.sagradafamilia.org/en/virtual-visit/

 

05

Good Gaudi Teacher

The Sagrada Familia, QATAR The Sagrada Familia, QATAR

เมื่ออิ่มเอมเต็มที่เราและชาวคณะ ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากมหาวิหาร เพื่อให้ผู้ชมที่รออยู่ด้านนอกมีโอกาสเข้ามาสัมผัสความรู้สึกอิ่มเอมเหมือนกันกับเรา ก่อนจะฟังไกด์สาวเล่าถึงรายละเอียดของฟาซาดอีกฝั่งซึ่งเป็นผลงานของ Josep Maria Subirachs ประติมากรผู้ออกแบบฟาซาดฝั่่ง The Glory ที่ซ่อนอยู่ เช่น ตัวเลข sudoku ที่บวกกันทุกด้านได้เลย 33 ซึ่งเป็นอายุของ Subirachs ขณะทำงาน สัตว์อย่างงู สัญลักษณ์โรมันที่แปลว่าสวรรค์ และรูปประติมากรรมแทนตัวคุณเกาดี

ชาวคณะถึงกับเอ่ยปากว่า พวกเรานี่โชคดีจังที่เกิดอยู่ในยุคนี้ ยุคที่ทันเห็นร่องรอยสมบูรณ์แบบของศิลปินผู้สร้างและการต่อยอดโดยนักออกแบบ วิศวกร และทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้โครงการนี้เป็นห้องเรียนจริงขนาดใหญ่ เราได้แต่พยักหน้าเห็นตามด้วย โดยพบความจริงเรื่องนี้ในหนังสือที่ระลึกที่บอกว่าอาคารด้านหลังที่เดินผ่านด้านทางออกเป็นโรงเรียนเกาดี (Gaudi’s School) ของจริงในพื้นที่ก่อสร้าง The Sagrada Familia

แน่นอน เราและชาวคณะนัดหมายล่วงหน้ากันไว้แล้วว่าปี 2026 จะแวะมาชมมหาวิหารซากราด้า ฟามิเลีย ด้วยกันอีก

ใครที่อยากมีโอกาสแวะเวียนมาที่บาร์เซโลนา หรือกำลังวางแผนเที่ยวสเปน ก็อย่าลืมใส่ชื่อมหาวิหารซากราด้า ฟามิเลีย ไว้ในโปรแกรมการเดินทางของคุณด้วย ขอบคุณที่ยินยอมให้พาเที่ยวชมที่นี่ผ่านตัวอักษร ขอลาทุกคนด้วยคำพูดหนึ่งของคุณเกาดีที่เราชอบมาก

“To do things right,

first you need love,

then technique.” – Antoni Gaudi

กราเซียสค่ะ!

The Sagrada Familia, QATAR

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ