19 พฤษภาคม 2018
9 K
01

วิชา

‘กริ๊ก’

ผมเสียบเข็มขัดนิรภัยคาดตัวเองไว้กับเบาะรถบัส ส่วนเสียงอีกสิบกว่ากริ๊กที่ดังตามมาเป็นของเพื่อนร่วมทางที่มีทั้งชาว The Cloud และแขกรับเชิญพิเศษอย่างแพรี่พาย อาย กมลเนตร และ แป้งโกะ จินตนัดดา

หลังเสียงกริ๊กสุดท้าย คนขับรถผู้สวมเชิ้ตสีขาวผูกเน็กไทดำก็แตะคันเร่งพาพวกเราออกจากสนามบินนาโงยะมุ่งหน้าสู่จังหวัดชิซึโอกะ

จังหวัดที่ผมจดจำว่าเป็นดินแดนของภูเขาไฟฟูจิ ไร่ชา และไร่วาซาบิ

ของดีประจำจังหวัดที่เปรียบได้กับสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น

ไร่ชา

การเดินทางคราวนี้ ชาชิซึโอกะชวนพวกเรามาเยี่ยมบ้านซึ่งทุกคนตอบรับและจัดกระเป๋าด้วยความยินดี ก่อนจะถึงบ้านเพื่อน ผมขอทบทวนความรู้เกี่ยวกับชาเตรียมไว้ก่อน

ชาบนโลกนี้มี 2 สายพันธุ์หลัก คือชาอู่หลงกับชาอัสสัม ที่เรียกว่าชาเชียว ชาดำ ชามะลิ ชาเอิร์ลเกรย์ ชาพีช ชาโน่นชานี่ คือการนำชา 2 สายพันธุ์นี้ไปแปรรูปและเบลนด์ด้วยวิธีต่างๆ

ไร่ชาสวยๆ ที่เราเห็นเป็นพุ่มเป็นแนวคือไร่ชาอู่หลง ส่วนใหญ่จะถูกแปรรูปเป็นบรรดาชาจีนและชาเขียว

ส่วนชาอัสสัมที่ขึ้นเป็นกอกระจัดกระจายกันไป ส่วนใหญ่จะถูกปรุงแบบโลกตะวันตก กลายเป็นบรรดาชาฝรั่งทั้งหลายรวมถึงชาแขก และชาดำ 

พี่น้องชนเผ่าทางภาคเหนือของไทยเรียกชาอัสสัมว่า ชาป่า มีวัฒนธรรมการปลูกและดื่มชามานับพันปี

ส่วนชาอู่หลงเพิ่งปลูกกันเมื่อ พ.ศ. 2518 ที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย โดยทหารกองพล 93 ของก๊กมินตั๋งซึ่งขอลี้ภัยสงครามกลางเมืองของจีนมาอยู่ในไทย พวกเขานำพันธุ์ชามาจากไต้หวันถิ่นของลูกพี่ใหญ่เจียงไคเช็ก เพราะเห็นว่าดอยแม่สลองมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับไต้หวัน

ไร่ชา

ตัดกลับมาฝั่งญี่ปุ่น เมล็ดพันธุ์ชาอู่หลงต้นแรกเดินทางจากแดนมังกรมาหย่อนลงในดินของจังหวัดชิซึโอกะเมื่อ ค.ศ. 1241 ด้วยมือของหลวงพี่โฌอิชิ โคะกุฌิ จากนั้นก็กระจายไปทั่วญี่ปุ่น

ถ้าคนญี่ปุ่นดื่มชารวมกันวันละ 100 แก้วชา 40 แก้วจะถูกชงจากใบชาที่เติบโตด้วยดินดี น้ำมีแร่ธาตุ และอากาศบริสุทธิ์ของจังหวัดชิซึโอกะ 

จังหวัดนี้เลยเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเกี่ยวกับชา แต่รถบัสของเราแล่นผ่านสถานที่เหล่านั้นมุ่งหน้าสู่ถนนแคบๆ ทะลุป่าสน วนตามไหล่เขาขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ และเรื่อยๆ

ต้นชาไม่ค่อยอยากหายใจถ้ารากของมันสูงน้อยกว่า 300 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ถ้ามันอยู่สูงเกินกว่า 600 เมตรก็เรียกได้ว่าเป็นชาระดับราชา

ตอนนี้รถบัสของเราน่าจะอยู่แถวๆ วังแล้ว

02

วังชา

เราเดินผ่านป้าย Kaneda Otaen เข้ามาในสำนักงานกึ่งร้านค้าขนาดจิ๋ว

ที่นี่คือร้านชาของคุณลุงวัย 75 ปีซึ่งทำไร่ชามาตั้งแต่ 5 ขวบ เขาทำชาแบบประณีตจนชาของเขาถูกนำไปถวายให้สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ รวมถึงใช้เลี้ยงรับรองผู้นำประเทศต่างๆ ในการประชุม G7

ไม่ใช่แค่นั้น เขายังพัฒนาให้ชากลายเป็นเครื่องดื่มเพื่อการสังสรรค์ ดื่มด่ำกับมันได้ด้วยหลายประสาทสัมผัส ทั้งดม ชม ชิม แบบเดียวกันกับไวน์ แล้วก็ชงพร้อมดื่มบรรจุขวดขายเหมือนไวน์ในราคาที่ฟังแล้วลืมหายใจ

ขวดละ 100,000 บาทไทย

เรื่องเล่ายังไม่ทันจางหาย ถาดไม้ใส่ถ้วยชาเซรามิกก็ยื่นมารับรองพวกเรา

ชา

ชาที่อยู่ในถ้วยเรียกว่า ‘เกียะกุโระ’ รสหวานแบบน้ำซุป ทิ้งรสอูมามิจางๆ ไว้บนปลายลิ้น

ก่อนเก็บชา 1 สัปดาห์ คุณลุงจะกางตาข่ายสีเทาคลุมต้นชาเพื่อชะลอการสังเคราะห์แสง ใบชาจะได้เก็บโปรตีนเอาไว้ให้มากที่สุด นั่นคือที่มาของรสอูมามิ

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เป็นช่วงเริ่มต้นของการเก็บชาครั้งแรกของปีหรือ First Flush ถือเป็นใบชาที่คุณภาพและราคาสูงที่สุด ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวรอบนี้เรียกแบบเลอค่าว่า ’88 วันทองคำ’

ตอนนี้คุณลุงเจ้าของไร่ชาค่อนข้างยุ่งเลยปล่อยให้ถ้วยชาต้อนรับเราไปก่อน

เขาผลักประตูเดินเข้ามาแล้ว

“ลุงโอตะ” ล่ามประจำการเดินทางแนะนำตัวเจ้าของสถานที่

ผมอมยิ้ม เขาไม่ใช่แฟนวงไอดอลแต่เขาชื่อโอตะ มาซาตากะ เป็นเจ้าของรางวัลมากมายที่ทั้งตั้งทั้งแขวนอยู่แน่นร้าน

“รางวัลแรกที่ได้รับไม่ใช่ของผม แต่เป็นของภรรยา” คุณลุงโอตะยิ้มราวเป็นสมาชิกชมรมพ่อบ้านใจกล้า “ผมคิดในใจว่าเป็นผู้ชายแท้ๆ ทำไมถึงไม่ได้รางวัลก็เลยไม่ยอมแพ้ พัฒนาเต็มที่จนกระทั่งคนจัดประชุม G7 ได้ชิมชาของผม เขาบอกว่าอร่อยกว่าของภรรยาผมอีกก็เลยเลือกไปใช้รับรองในการประชุม G7”

โอตะ มาซาตากะ

เมื่อถามว่าเรียนปลูกชาจากที่ไหน คุณลุงบอกว่าโรงเรียนคือไร่ชา

“ผมไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ ที่บ้านจับผมไปเรียนทำไร่ชาตั้งแต่ 5 ขวบ ทรมานมาก ตอนเด็กๆ พอพูดถึงไร่ชาผมจะเกลียดมันมากเพราะมันทำให้ผมไม่ได้ไปโรงเรียน แต่พอโตขึ้นเริ่มเป็นเกษตรกรเมื่อ 60 ปีก่อน ผมได้เงินเดือนจากรัฐบาลมากกว่าคนอื่นประมาณ 3 เท่า อาจเป็นเพราะผมถูกฝึกโดยปู่ย่าตั้งแต่เด็ก พอมีฝีมือก็เลยได้เงินมากกว่าคนอื่น”

แต่คุณลุงไม่ได้มองว่าการได้เงินมากกว่าจะทำให้เขาสบายกว่าคนอื่น 

“ผมได้เงินมากกว่าคนอื่นเลยอยากพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก ผมเร่ิมคิดค้นวิธีทำดินแบบของตัวเอง สำหรับผมสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำไร่ชาคือดิน”

พูดจบคุณลุงโอตะก็ชวนพวกเรานั่งรถขึ้นเขาต่อไปยังไร่ชาของเขา

03

อาชา

“หน้าหนาวไม่มีพ่อแม่คนไหนเปิดพัดลมให้ลูกหรอก ชาก็เปรียบเหมือนลูกของผม” ลุงโอตะอธิบายเหตุผลที่ใช้ตาข่ายขึงรอบไร่ชา

ฟังแล้วรู้สึกเหมือนกำลังจะไปเยี่ยมหลาน

“การทำชาให้อร่อยมันก็เหมือนกับสิ่งอื่นๆ นั่นแหละ คือคุณต้องเลือกทำในสิ่งที่ไม่ง่าย” ลุงโอตะหยอดคำคมถัดมาเมื่อเราเดินเข้าใกล้ไร่ชา

ไร่ชา ไร่ชา

“เราต้องเดินเหมือนปู จะได้ก้าวเท้าโดนดินให้มากที่สุด” ลุงโอตะอธิบายต่อเมื่อเห็นพวกเราทำหน้างง  “หมายถึงให้เดินมาที่ไร่ชาให้มากที่สุด” ได้ยินประโยคนี้แล้วผมนึกถึงสิ่งที่นางเอกเรื่อง Little Forest บอกว่า ต้นข้าวจะโตเมื่อได้ยินเสียงคนเดิน 

เราอยู่ใกล้จนต้นชาคงได้ยินเสียงเราแล้ว

โอตะ มาซาตากะ

“จะปลูกชาให้ดีต้องดูแลดิน ดินของผมนุ่มมาก คนอยากนอนเตียงนุ่มๆ ชาก็อยากอยู่บนดินนุ่มๆ” คุณลุงโอตะเล่าต่อว่า เขาปรุงดินด้วยการใช้หญ้าของภูเขาผสมลงไปในดิน

เท้าผมบอกว่าดินในไร่นี้ร่วนซุยมาก นุ่มยิ่งกว่าพื้นรองเท้าวิ่งยี่ห้อไหนๆ

ส่วนมือรายงานว่าถ้าคุ้ยดินขึ้นมา 3 ครั้ง ต้องมีสักครั้งที่ได้ทักทายไส้เดือน

ดินคือเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ชาของลุงโอตะมีราคาแพงมาก ไร่ชาที่ปลูกแบบพิเศษที่สุดมีขนาด 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) เก็บใบชาสดได้รอบละ 30 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ แปรรูปแล้วเหลือ 3 กิโลกรัม เก็บเกี่ยวปีละ 2 ครั้งเท่านั้น

“ทำของที่มีคุณภาพมันก็จะได้ปริมาณน้อยแบบนี้แหละ ช่วยไม่ได้” คุณลุงตอบด้วยน้ำเสียงธรรมดามาก

โอตะ มาซาตากะ

หลังจากเก็บใบชารอบที่ 2 คุณลุงจะตัดแต่งใบของต้นชา ระหว่างที่มันจำศีลในฤดูหนาว มันได้สะสมสารอาหารเอาไว้เต็มใบจนได้ชา First Flush ในรอบถัดไปที่ดีที่สุด

ไร่ชาของลุงโอตะดูแลโดยสมาชิกผู้ชายของครอบครัวจำนวน 4 คนเท่านั้น แต่ช่วงเก็บเกี่ยวต้องจ้างวานเพื่อนบ้านมาช่วย 

คุณลุงโอตะทิ้งท้ายด้วยการถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาการเก็บยอดชาให้พวกเรา

“ต้องเด็ดยอดชายาว 6 เซนติเมตร และห้ามใช้เล็บจิก”

04

เดชา

วันแห่งชายังไม่จบ

เราโค้งลาลุงโอตะเพื่อไปไร่ชาอีกแห่ง ไร่ชาแห่งนี้ตอนรับเราด้วยชาเกียะกุโระแบบชงด้วยน้ำเย็น รินน้ำแค่พอปริ่มใบชา จิบสั้นๆ ได้สองสามจิบ เขาว่าเป็นการทดสอบรสชาติของชาเกียะกุโระที่ดีทีสุด จากนั้นค่อยรินน้ำร้อนใส่แล้วชงแบบปกติ

ใบชา

ชาแก้วนี้มีรสอูมามิแบบเดียวกับชาของลุงโอตะ รางวัลการันตีก็มีเต็มชั้น

แต่จุดเด่นของที่นี่ไม่ได้มีแค่รสชาติ

ไร่ชา ไร่ชา

ไร่ชาแห่งนี้ถือเป็นไร่ชาที่อยู่สูงที่สุดในประเทศญี่ปุ่นเลยเป็นชาที่มีสารอาหารสูงสุด ชาที่ตั้งใจทำสูงสุด หรือจะใส่คำขยายใดๆ ลงไปก็ได้แล้วปิดท้ายด้วยสูงสุด 

แล้วสูงเท่าไหร่

บอกตัวเลขไปก็ไม่น่าจด ผมจำได้แบบไม่ต้องจำว่ามันสูงเท่าตึก Tokyo Skytree พอดีเป๊ะ

Shizuoka Skytea 

ถ้าผมเป็นเจ้าของไร่ รับรองว่าได้ใช้ชื่อแน่ๆ

 

05

ลือชา

วันถัดมาเรามาเยือน Harada บริษัทผลิตชาที่ขึ้นชื่อลือชามากว่า 100 ปี

ที่โถงทางเดินด้านหน้ามีชั้นวางขวดชาและถุงชาตั้งโชว์ไว้หลายรูปแบบ ที่นี่รับผลิตชาให้บริษัทชาทั่วญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ทั้งชาขวด ชาซอง และชาผง 

เจ้าหน้าที่เอาชุดเก็บชามาให้สาวๆ ผู้ร่วมเดินทางของเราเปลี่ยน ส่วนผู้ชายได้สวมชุดเป็นนักทำชาหรือ Tea Master

Tea Master

เมื่อเปลี่ยนชุดเสร็จเราก็ได้พบกับซาโตรุ ฟูจิโมโต นักทำชาระดับเทพ เขาเป็นคนจังหวัดชิซึโอกะ โตมากับชา เขาเล่าว่าสมัยเด็กๆ ทุกบ้านมีไร่ชาของตัวเอง มีห้องแปรรูปชา (อะระฉะ) พอเวลาผ่านไปสิบบ้านก็อาจจะใช้ห้องแปรรูปชาด้วยกัน ส่วนตอนนี้หนึ่งชุมชนก็มีห้องแบบนี้เอาไว้ใช้แค่ห้องเดียว

อาจารย์ซาโตรุวางจานตัวอย่างใบชาชนิดต่างๆ ไว้เต็มโต๊ะแล้วค่อยๆ แนะนำชาแต่ละชนิดให้เรารู้จัก

เยี่ยมไร่ชาลุงโอตะ ผู้ปลูกชาถวายพระจักรพรรดิ และขายชาขวดละแสนบาท

อะระฉะ คือชาประเภทที่เรียบง่ายที่สุด เป็นชาที่ปลูกใต้แสงแดดตลอด เมื่อเก็บใบชามาจากต้นเกษตรกรต้องใช้ความร้อนเพื่อหยุดการเปลี่ยนแปลงของใบชา ทำได้ทั้งการตากแดด คั่วด้วยถ่าน ใส่เตาอบ หรือใช้ไอน้ำ อะระฉะจะมีทั้งใบ ก้านใบ และขนใบ เป็นชาที่เกษตรกรเอามาส่งขายเพื่อให้โรงงานนำไปแปรรูปเป็นรสชาติต่างๆ ต่อ 

เซ็นฉะ คือการนำอะระฉะมาแปรรูปด้วยวิธีการที่เรียบง่ายที่สุด ชา 80 เปอร์เซ็นต์ในญี่ปุ่นคือเซ็นฉะ ชงออกมาแล้วมีสีเข้มและรสเข้ม

โฮจิฉะ คือชาที่คั่วด้วยอุณหภูมิสูง มีกลิ่นหอมเข้มแรง คาเฟอีนน้อย เป็นที่โปรดปรานของคนแก่และเด็ก

เกียะกุโระ คือชาที่ต้องปลูกในร่มช่วงสุดท้ายก่อนเก็บ เป็นหนึ่งในชาที่พิเศษมากของญี่ปุ่น มีรสหวานกล่อมกล่อม

เก็มไมฉะ ที่ผสมข้าวบาร์เลย์ลงไปอบพร้อมใบชามีกลิ่นหอมของข้าว ซึ่งบ้านเราเรียกว่า ชาข้าวญี่ปุ่น บางครั้งก็นำไปผสมกับชามัทฉะเพื่อให้รสชาติพิเศษที่หวานลึกขึ้น

เท็นฉะ คือชาที่ถูกคลุมไม่ให้โดนแสงอย่างน้อย 20 วันก่อนเก็บเกี่ยว เก็บมาแล้วก็นำไปนึ่งเป่าลมร้อน แล้วฝัดเอาก้านออก

มัทฉะ คือการนำชาเท็นฉะมาบดให้เป็นผง เอาไปชงเป็นชาได้ เอาไปทำขนมและอาหารก็ได้ ชาที่ใช้ในพิธีชงชาแบบญี่ปุ่นและในขนมชนิดต่างๆ คือชามัทฉะ

ซาโตรุ ฟูจิโมโต ชา

ชงผง ชาที่เราเห็นเป็นผงทุกชนิดก็ไม่ใช่มัทฉะ ชาผงคือการนำชาอะระฉะมาบดให้เป็นผง ชงได้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น ชาสีเขียวสดที่เสิร์ฟในร้านอาหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือชาผง

การทำความรู้จักชาชุดนี้ยากกว่าสวมชุดนักทำชาหลายเท่านัก

06

ปรีชา

ชาที่เราคุ้นเคยล้วนแล้วแต่ผสมกลิ่นและรสจนเกือบจะกลบกลิ่นชา

ชาวตะวันตกสนุกกับการเอาชาไปผสมกับดอกไม้และผลไม้ ส่วนชาวจีนก็มีชาที่คนไทยคุ้นเคยอย่างชามะลิและชาดอกหอมหมื่นลี้ แต่ซาโตรุบอกว่าคนญี่ปุ่นไม่นำชาไปเบลนด์แบบนั้น ชาดอกไม้ชนิดเดียวของญี่ปุ่นที่เขานึกออกก็คือชาที่เบลนด์กับดอกซากุระ

“คนญี่ปุ่นดื่มชาเพราะชอบรสชาติของชา ผมนึกไม่ออกเลยว่าทำไมต้องเอากลิ่นหรือรสชาติอื่นๆ มากลบความเป็นชาด้วย” ซาโตรุอธิบายลักษณะพิเศษของชาญี่ปุ่น

แล้วคนญี่ปุ่นเบลด์ชากับอะไร

“กับชาด้วยกันเองนี่แหละ” เทพแห่งชาตอบ “ชาแต่ละตัวคั่วด้วยความร้อนไม่เท่ากันทำให้มีความขม ความหวาน และกลิ่น ไม่เหมือนกัน”

วันนี้เขาจะสาธิตการเบลนด์ชาด้วยมือแบบโบราณให้เราดู 

ในแต่ละวันมีชาส่งเข้าที่บริษัทนี้ประมาณ 50 ชนิด ชั่งน้ำหนักได้ 50,000 กิโลกรัมต่อวัน ซาโตรุต้องดู ดม สัมผัส ชงด้วยน้ำร้อน ชิมเพื่อตัดสินว่าชาแต่ละชนิดมีคุณภาพอย่างไรและควรมีราคาเท่าไหร่ เขาบอกว่าได้ทักษะนี้มาจากการฝึกฝนตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

เทพชาบอกว่างานของเขาคือการผสมชาแต่ละชนิดเข้าด้วยกันเพื่อสร้างชารสชาติใหม่สำหรับลูกค้าแต่ละราย รวมถึงลูกค้ารายใหม่อย่างชาชิซึโอกะที่ขายในประเทศไทยด้วย ซึ่งเขาตั้งใจใช้ใบชา First Flush มาผสมจนได้รสชาติที่ดีที่สุด

เยี่ยมไร่ชาลุงโอตะ ผู้ปลูกชาถวายพระจักรพรรดิ และขายชาขวดละแสนบาท

เบลนด์ชา

เบลนด์ชา

ซาโตรุเริ่มจากการหยิบใบชาอะระฉะมาร่อนด้วยตะแกรงแล้วฝัดอย่างคล่องแคล่วเพื่อเอาขนใบออก จากนั้นก็หยิบใส่เครื่องคั่วขนาดเล็กจนหอมฟุ้งไปทั่วห้อง ซาโตรุบอกว่าตอนนี้เราได้ชาที่เรียกว่าเซ็นฉะ ถ้าคั่วต่อไปอีกจะได้โฮจิฉะ เขาเทเซ็นฉะลงในจานแล้วเทใบชาอีก 2 ชนิดลงไปในจาน คลุกเคล้าเข้าด้วยกันจนได้ชารสชาติใหม่ 

“ผมดื่มชาวันละร้อยถ้วย แต่ไม่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับนะ” เทพชาหัวเราะกับคำถามของผม

ผมชงอีกคำถาม ช่างฝีมือหลายแขนงในญี่ปุ่นกำลังจะสูญหายเพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจ ผมอยากรู้ว่าสถานการณ์นี้ลุกลามมาถึงวงการชาหรือเปล่า

แป้งโกะ อาย กมลเนตร แป้งโกะ อาย กมลเนตร

“ไม่นะ หนุ่มสาวลูกหลานคนทำชาพวกเขาก็ไปเรียน ไปสอบใบประกาศนียบัตร แล้วเปิดร้านชาเล็กๆ ของตัวเอง เลยยังคงรักษากิจการของครอบครัวไว้ได้” ซาโตรุตอบด้วยแววตาชื่นชม

ตัวเลขในตำราบอกว่าชาวจังหวัดชิซึโอกะดื่มชามากที่สุดในญี่ปุ่น เมื่อเทียบกับชาวจังหวัดอื่นๆ แล้วก็เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงจะป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ น้อยกว่าชาวจังหวัดอื่น ที่เป็นอย่างนั้นคงเพราะในใบชามีสารต่างๆ มากมาย 

ที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือใบชามีไทอะมีนหรือวิตามิน B1 ที่มีสรรพคุณแก้โรคเหน็บชา

ถ้าผมเป็นลูกหลานร้านชาคงโดดเข้าไปเบลนด์ชาแบบเน้นไทอะมีน

แล้วตั้งชื่อว่าชาไม่ชา

คงเป็นเครื่องดื่มที่แปลกดีถ้ามีพูดชื่อแบรนด์ว่า “ชาไม่ชา”

“ชา” ผมจะตอบแบบนั้น

“แต่ดื่มแล้วไม่ชา”

ชาที่ดื่มแล้วไม่ชาคงน่าสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่

ก็ชานี่แหละ

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป