17 พฤศจิกายน 2018
7 K

คุณชอบไปสวนสัตว์ไหม เคยเห็นสัตว์ป่าใช้ชีวิตในป่าซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติหรือเปล่า เคยสงสัยไหมว่าสัตว์ป่าที่เคยถูกขังกรง เมื่อกลับเข้าป่าแล้วใช้ชีวิตอย่างไร

สิ่งที่มักจะแนะนำเพื่อนๆ เวลาถามถึงสถานที่เที่ยวในอินโดนีเซีย นอกเหนือจากบาหลี ยอกยาการ์ตา และภูเขาไฟโบรโม่ยอดฮิต คือการไปล่องเรือเข้าป่าดงดิบบนเกาะบอร์เนียว (ชื่อที่มาเลเซียเรียก และคนส่วนมากรู้จัก) หรือเกาะกาลิมันตัน (ชื่อที่อินโดนีเซียเรียก) เพื่อดูศูนย์อนุรักษ์ลิงอุรังอุตัง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

วิวแม่น้ำ Sekonyer ยามเย็นในเกาะบอร์เนียว

สำหรับหลายๆ คน เกาะบอร์เนียวดูจะเป็นสถานที่ลึกลับ เพื่อนฝรั่งตะวันตกก็มักจะพูดถึงที่นี่ในลักษณะว่าเป็นสถานที่ Exotic อยู่ห่างไกล และทำให้นึกถึงภาพยนตร์จำพวก Anaconda หรืออะไรเทือกนั้น แต่การล่องเรือเข้าป่าบอร์เนียวที่เราได้สัมผัสช่างแตกต่างจากภาพนั้นอย่างสิ้นเชิง ทริปนี้เป็นทริปที่ชิลล์ที่สุด ผ่อนคลายที่สุด และชอบมากที่สุด หากคุณกำลังมองหาทางเลือกอื่นนอกเหนือจากทะเล ภูเขาไฟ วัดฮินดู และอยากสัมผัสการอนุรักษ์สัตว์หายากเช่นอุรังอุตังในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ การนอนบนเรือในป่าดงดิบ 2 คืนน่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ

เมื่อไม่กี่ปีก่อน เรากับเพื่อนอีก 2 คนตัดสินใจใช้เวลาช่วงวันหยุดยาว 3 วันของอินโดนีเซียลองไปในที่แปลกใหม่ โดยขึ้นเครื่องบินจากจาการ์ตา ไป 1 ชั่วโมง 15 นาที ถึงเมืองปังกาลานบุน (Pangkalan Bun) ซึ่งเป็นที่ขึ้นเรือเข้าอุทยานแห่งชาติตันจุงปูติง (Tanjung Puting) ลองคิดดูว่านั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา 3 ชั่วโมงครึ่ง ต่อเครื่องไปอีกแค่ชั่วโมงกว่า ก็ถึงป่าดงดิบที่ลึกลับที่สุดแห่งหนึ่งของโลกแล้ว ง่ายเนอะ

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ริมฝั่งแม่น้ำที่เมืองปังกาลานบุน

พวกเราติดต่อเช่าเรือตามคำแนะนำของเพื่อน โดยเจ้าของบริษัทให้บริการเช่าเรือ พร้อมทั้งจัดหาตั๋วเครื่องบินและรถรับส่งจากสนามบิน เรือที่ใช้เป็นเรือไม้เรียกว่า Klotok ลำใหญ่พอสำหรับนักเดินทาง 5 คน พวกเรา 3 คนจึงมีที่เหลืออยู่กันอย่างสบายๆ ทั้งทานข้าว นอน และนั่งชิลล์กันที่ชั้นบน ส่วนชั้นล่างเป็นบริเวณของลูกเรือและแม่ครัว ซึ่งทำอาหารให้เราทานวันละ 3 มื้อ เรือมีห้องน้ำและห้องอาบน้ำ (อุ่น) ซึ่งมีน้ำพอใช้สำหรับอาบตลอดทริป แต่ก็ต้องประหยัดพอสมควร ส่วนไกด์ที่เจ้าของเรือจัดให้ก็พูดภาษาอังกฤษคล่อง และมีความน่ารักตรงที่กำลังเรียนปริญญาโทด้านการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายกลับมาพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในบ้านเกิดของตัวเอง  

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

เรือ Klotok ชั้นบนตอนกลางวันแบ่งพื้นที่สำหรับเป็นโต๊ะทานข้าวและพื้นที่พักผ่อน ตอนกลางคืนลูกเรือมาเปลี่ยนเป็นที่นอนให้พร้อมมุ้งกันยุง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

เพียงแค่ออกเรือจากท่า มีลมเย็นๆ ที่ปะทะใบหน้า เราก็รู้แล้วว่าจะต้องฟินแน่นอน เราได้เหยียดขานอนยาว อ่านหนังสือ จิบไวน์ มองต้นไม้สีเขียวๆ และท้องฟ้ายามเย็นสีลูกกวาดวันละหลายชั่วโมง จนบางครั้งก็งีบไปเลย การทำงานในเมืองจนโหยหาอากาศบริสุทธิ์และความสงบของธรรมชาติ ทำให้เราค้นพบว่าการออฟไลน์ตัดขาดจากโลกภายนอก 3 วันโดยไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็ไม่แย่ซะทีเดียว

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

แหงนหน้ามองหาความสดชื่น เห็นเพื่อนสีส้มแอบอยู่ในรูปไหม

นอกจากความชิลล์นี้แล้ว ไฮไลต์ของการเดินทางคือการที่เรือแวะจอดให้เราได้เดินเข้าป่าเป็นระยะทางประมาณ 2 – 3 กิโลเมตรเพื่อดู Orangutan Sanctuary ทริปนี้พวกเราได้เยี่ยมชมศูนย์ 2 แห่ง คือ Pondok Tanguy และ Camp Leakey โดย Camp Leakey เป็นศูนย์ศึกษาวิจัยอุรังอุตัง ก่อตั้งโดย ดร.บิรูเต กัลดิกาส์ (Birutė Galdikas) ตามชื่อ หลุยส์ ลีกคีย์ (Louis Leakey) นักมานุษยวิทยา ซึ่งเป็นอาจารย์ของนักวานรวิทยาชื่อดัง เช่น ไดแอน ฟอสซีย์ (Dian Fossey), ดร.เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) และตัว ดร.กัลดิกาส์ เอง ส่วน Pondok Tanguy เป็นศูนย์ฟื้นฟู (Rehabilitation Center) ที่นี่อุรังอุตังรุ่นใหญ่ที่เคยถูกลักลอบนำออกจากป่าเพื่อซื้อขายผิดกฎหมายจะได้รับการ Re-introduce เข้าสู่ป่าดงดิบอีกครั้ง หลังจากผ่านการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจมาระยะหนึ่ง

ลิงเหล่านี้มีความคุ้นเคยกับคนและเป็นสัตว์ที่สงบและอ่อนโยน เราจึงได้เห็นพวกมันใช้ชีวิตตามปกติขณะที่เราเดินเข้าไปในป่าเพื่อสำรวจมันอย่างเงียบๆ ส่วนบรรดาอุรังอุตังตัวน้อยที่เราได้เห็นตอนนี้ถือเป็น Semi-wild เนื่องจากเกิดในศูนย์ แต่เราได้เห็นคุณแม่อุรังอุตังอุ้มท้องอยู่ด้วย ลูกน้อยที่จะเกิดออกมาจึงถือเป็น Wild Orangutan รุ่นแรกที่อยู่ในความดูแลของศูนย์

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

คุณแม่อุรังอุตังที่กำลังตั้งท้อง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

คุณแม่ คุณลูก

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

บางตัวก็ดูมีธุระต้องรีบไปหรืออาจไม่ชอบกันกับกลุ่มถัดไปที่กำลังมานัก

ที่ศูนย์ทั้งสองแห่งจะมีเจ้าหน้าที่นำกล้วยไปวางบนแคร่ที่ให้อาหารทุกวันเป็นเวลา โดยเรายืนดูได้ แต่ไกลออกไปหลายสิบเมตร บรรดาอุรังอุตังรุ่นใหญ่และเด็กๆ Semi-wild ที่แม้ตอนนี้ใช้ชีวิตในธรรมชาติ สร้างรังของตัวเองได้ จึงยังคงกลับมารับอาหารที่นี่ทุกวัน เนื่องจากอุรังอุตังที่เคยถูกจับขังกรงยังไม่คุ้นเคยกับการหาอาหารด้วยตัวเอง 100% แต่ในอนาคตการให้อาหารลักษณะนี้ก็น่าจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อมีอุรังอุตังเจเนอเรชันใหม่เพิ่มขึ้น

งานนี้นอกจากจะได้ดูปฏิสัมพันธ์ของอุรังอุตังแต่ละตัว แต่ละกลุ่ม ในช่วงทานอาหารแล้ว ยังได้เจอสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่ขอมาร่วมวงด้วย เช่น ชะนี และหมูป่า นอกจากนี้ ระหว่างเดินเข้าป่าเรายังได้เจอ Alpha Male ของฝูงชื่อ ‘ทอม’ สังเกตได้จากขนาดตัวและขนาดแก้มของเขาที่เป็นสิ่งแสดงปริมาณเทสโทสเตอโรน และเป็นสิ่งแสดงความมีเสน่ห์ของอุรังอุตังเพศผู้ในหมู่สาวๆ เพศเมีย

เราได้เจอพี่ทอมเดินมาอย่างน่าเกรงขาม น่าเกรงขามจนมนุษย์อย่างเราต้องรีบเดินหลบกันกระเจิงทีเดียว ไกด์เล่าว่า คุณทอมกำลังจีบสาว โดยมีภรรยาหลวงคอยเดินทิ้งระยะห่างตามมาด้วย แต่สาวคนใหม่ไม่สน คุณเขาจึงไม่พอใจ และแสดงอาการเหวี่ยง…เหวี่ยงจริงๆ เหวี่ยงร่างมหึมาของตัวเองขึ้นต้นไม้แล้วรูดลงมา ทำลายต้นไม้ไปเป็นแถบๆ ของแบบนี้น่าจะหาดูได้ไม่ง่ายในสวนสัตว์นะคะ น่าตื่นเต้นไปอีกแบบ

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

คุณทอม Alpha Male พยายามเรียกร้องความสนใจจากสาว

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ภรรยาคุณทอม

ของแถมของการเข้าป่ามาดูการอนุรักษ์อุรังอุตังคือการได้เห็นพันธุ์พืชหลากหลาย และได้ดูสัตว์ชนิดอื่นออกหากินช่วงเย็นบริเวณริมแม่น้ำ เช่น ลิงจมูกยาว (Proboscis Monkey) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้เท่านั้น หรือที่คนอินโดนีเซียเรียกว่า Dutch Monkey ตาม Inside Joke ของประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งร่างท้วมจมูกยาว และลิงค่างชนิดอื่นๆ ถ้าโชคดีก็อาจจะได้เห็นเสือลายเมฆและทาร์เซียร์ โดยยังไม่ต้องพูดถึงนกชนิดต่างๆ ที่ได้ฟังเสียงชัดๆ ตลอดการเดินทาง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

พืชกินแมลง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ชะนีขอร่วมวงด้วย

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

หมูป่าก็มาให้ดูเพลินๆ

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

แก๊งลิงจมูกยาว

เมื่อพูดถึงแม่น้ำ สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือช่วงแรกของการล่องเรือ เราได้เห็นว่าน้ำในแม่น้ำเป็นสีน้ำตาลขุ่น เนื่องจากการทำเหมืองสมัยก่อน เมื่อล่องเข้าป่าลึกไปเรื่อยๆ จะเห็นน้ำจะเป็นสีดำ แต่เมื่อก้มดูใกล้ๆ กลับเห็นว่าที่จริงแล้วน้ำมีสีค่อนข้างส้มคล้ายชาดำเย็น และใสจนมองเห็นพืชและรากไม้ใต้น้ำ และหากโชคดีก็อาจได้เห็นจระเข้น้ำจืดออกมาทักทายอีกด้วย

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ช่วงปากแม่น้ำน้ำเป็นสีน้ำตาล

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ลึกเข้าไปในป่า มองจากด้านบนน้ำเป็นสีดำ

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

พอมองใกล้ๆ แล้วเป็นสีส้มใส สังเกตจากกิ่งไม้ที่กลายเป็นสีส้ม

คุณรู้หรือไม่ว่า ชื่อเรียกอุรังอุตังที่มาจากคำว่า Orang ในภาษาบาฮาซาที่แปลว่า คน กับ Utan ที่แปลว่า ป่า Orangutan จึงแปลตรงตัวว่า A forest man หรือ Man of the forest หรือชาวป่านั่นเอง ซึ่งเมื่อมาคิดดูก็ตลกดีที่ประจวบเหมาะกับข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่ลิงสายพันธุ์นี้มีความใกล้เคียงกับเราเหลือเกิน ทั้งความฉลาด ลักษณะมือ เท้า ใบหน้า แม้กระทั่งจำนวนฟัน การนั่ง การเดิน การหยิบจับสิ่งของ การเลี้ยงดูลูก ล้วนคล้ายกับคน เว้นแต่ว่ามีทักษะการโหนต้นไม้และปีนป่ายมากกว่าเราๆ มากนัก

แต่น่าเสียดายที่สัตว์กลุ่มนี้อยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์ (Endangered ในบอร์เนียวและ Critically Endangered ในสุมาตรา) ปัจจุบันบอร์เนียวและสุมาตราซึ่งเป็นแหล่งอาศัยตามธรรมชาติเพียง 2 เกาะในโลก เหลืออุรังอุตังอยู่เพียงแสนกว่าตัว และมีจำนวนลดลงกว่า 60% ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการทำลายป่าและการล่าอย่างผิดกฎหมาย

3 วันของการอยู่กับธรรมชาติโดยไม่มีสิ่งรบกวนทำให้เราได้คิดถึงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์สัตว์ป่า เราจะหาความสมดุลจากการไปสัมผัสสัตว์ป่าในถิ่นที่อยู่อาศัยโดยพร้อมไปกับการเคารพวิถีทางธรรมชาติและหลีกเลี่ยงการรบกวนพวกเขาอย่างไร และเราจะทำอะไรเพื่อช่วยลดการลักลอบค้าสัตว์ป่าและการทำร้ายสัตว์ได้บ้าง ทุกวันนี้มีกระแสความสนใจการอนุรักษ์มากขึ้น จึงได้แต่หวังว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปนานๆ เพื่อลูกหลานเราจะได้มีโอกาสเห็นเพื่อนคนป่ากลุ่มนี้ภายนอกสวนสัตว์ เพราะที่ที่ดีที่สุดสำหรับสัตว์ป่าก็คือที่อยู่ตามธรรมชาติของเขานั่นเอง

อุรังอุตัง, อินโดนีเซีย

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ดุษฎี กลิ่นโพธิ์

เกิดที่สิงห์บุรี โตในเมืองกรุง เคยเรียนหนังสือที่อเมริกาและเคยทำงานที่อินโดนีเซีย ชอบอบขนม สะสมโปสการ์ด เสพติดการวิ่ง หลงรักการปีนภูเขาไฟ และหลงใหลการหาเรื่องไปเที่ยว