8 มิถุนายน 2018
10 K

1.

ผมกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางความมืดมิดกลางป่าเขาในประเทศญี่ปุ่น

ค่ำคืนนี้มีเพียงแสงจันทร์ครึ่งดวงส่องสว่าง ผมกำลังถูกโอบล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ เสียงสัตว์ไม่ทราบชนิดดังสลับเสียงสายลมพัดใบไม้กระทบกัน

ก่อนจะมานั่งอยู่กลางป่าเขายามค่ำคืนคล้ายคนหลงป่า ผมเดินทางมาจากบ้านเกิดเมืองนอนพร้อมกับผู้ชนะโครงการ ‘โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา’

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ทริปนี้เป็นทริปที่บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดขึ้นเพื่อพาผู้คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ ‘ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา’ เดินทางมาทัศนศึกษาที่แดนอาทิตย์อุทัย ในกลุ่มผู้ที่ชนะรางวัลมีทั้งคนรุ่นใหม่ที่เติบโตอาศัยในเมืองและชาวพื้นเมืองที่กิน นอน หายใจ อยู่กับป่ามาทั้งชีวิต

จุดหมายปลายทางของการเดินทางครั้งนี้คือเมืองในจังหวัดไอจิ อย่างนาโกย่าและโตโยต้าซิตี้

นาโกย่าแรกเห็นเป็นสีเขียว ทั้งจากทุ่งนาและต้นไม้รายทาง

พวกเราเดินทางมาถึง Toyota Automobile Museum ในช่วงเช้า มิวเซียมแห่งนี้จัดแสดงนิทรรศการการกำเนิดรถยนต์ การพัฒนาของเทคโนโลยีรถยนต์จากรอบโลก หลังจากนั้นช่วงบ่ายเราจึงเดินทางไปยัง Toyota Kaikan Museum ที่จัดแสดงนวัตกรรมทางด้านควาปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของโตโยต้ากันต่อ

มิวเซียมทั้งสองที่ผมไปเยือนมีจุดเชื่อมโยงกันอยู่อย่างหนึ่งตรงที่มันทำให้ผมเห็นการเติบโต เห็นลมหายใจ ของสิ่งที่หลายคนอาจคิดว่ามันไม่มีชีวิตอย่างรถยนต์

จากวันแรกที่ผลิตเพียงยานพาหนะที่ใช้เดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุด วันนี้รถยนต์บนโลกโดยเฉพาะของโตโยต้า พาเรามาไกลกว่าจุดนั้นมากแล้ว

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

“เราอุทิศชีวิตให้สังคมด้วยการผลิตสิ่งต่างๆ” ผู้บรรยายใน Toyota Kaikan Museum พูดบางประโยคที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

ปกติเวลาเราพูดว่าอุทิศชีวิตให้สังคม เรามักนึกถึงการเป็นอาสาสมัครหรือทำกิจกรรมการกุศล แต่เรามักไม่ค่อยพูดถึงกันว่างานที่ทำ ถ้าทำมันด้วยความมุ่งมั่นและฝันใฝ่ถึงผลงานอันสุดยอด บางทีผลงานนั้นก็อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ และสร้างอิมแพ็คต่อสังคมมากกว่าก็เป็นได้

ซากิชิ โทโยดะ (Sakichi Toyoda) อุทิศชีวิตจนสร้างนวัตกรรมเครื่องทอผ้าพลังไอน้ำได้สำเร็จใน ค.ศ. 1896

คิอิจิโร โทโยดะ (Kiichiro Toyoda) ผู้เป็นลูกชาย อุทิศชีวิตเพื่อวิจัยและพัฒนาเครื่องยนต์โดยมีต้นแบบจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก่อนจะสามารถสร้างเทคโนโลยีของตัวเองได้สำเร็จหลังจากนั้น และเริ่มธุรกิจยานยนต์ใน ค.ศ. 1937

ทีมงานโตโยต้าในยุคสมัยปัจจุบันอุทิศชีวิตเพื่อพัฒนารถยนต์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งไปไกลกว่าแค่การเป็นเพียงยานพาหนะธรรมดาในวันเริ่มต้น

“รถยนต์ที่ดีต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีสมรรถนะที่เป็นเลิศ และให้ในสิ่งที่เกินกว่าความคาดหวังของลูกค้า” เจ้าหน้าที่ใน Toyota Kaikan Museum เล่าความเชื่อขององค์กร

“โลกที่สวยงามหายไปเร็วกว่าการแก้ไขปัญหา” ประโยคนี้ของเจ้าหน้าที่ซึ่งบอกเล่าความจริงอันแสนเศร้าลอยเข้าหูผม และนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้โตโยต้าพยายามพัฒนานวัตกรรมต่างๆ โดยตั้งเป้าเป็นรูปธรรมว่าภายใน ค.ศ. 2030 โตโยต้าประกาศว่าจะต้องมีรถยนต์มากกว่า 1,000,000 คันที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และภายใน ค.ศ. 2050 รถยนต์ส่วนใหญ่จะต้องเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า

อย่างที่ว่าไว้ บางครั้งการอุทิศชีวิตให้กับการทำงานก็อาจนับเป็นการอุทิศชีวิตให้สังคมในทางหนึ่ง

ภายใน Toyota Automobile Museum ที่เราไปเยือนในช่วงเช้า ผมได้เห็น Mirai รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนซึ่งเป็นผลของการอุทิศชีวิตเพื่อวิจัย ศึกษา คิดค้น ลองผิดครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งลองถูก ด้วยความที่ Mirai ขับเคลื่อนด้วยการเติมเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Hydrogen Fuel Cell) มันจึงเป็นรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะตัวมันเองไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่โลกที่เราอยู่อาศัยแม้เพียงน้อยนิด

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

สำหรับผม Mirai คือรูปธรรมของการสร้างสิ่งที่เหนือกว่าความต้องการของลูกค้าหรือมาตรฐานของสังคม

หากว่าด้วยจุดเริ่มต้น เจ้า Mirai หาได้เกิดจากการเรียกร้องของผู้บริโภคแต่อย่างใด หากแต่เกิดขึ้นด้วยความเชื่ออันแรงกล้าของผู้ผลิต และหลังจากวันที่ Mirai ได้เผยสู่สายตาชาวโลกและวางขายในญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 2014 แม้จะยังไม่แพร่หลายด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือรถยนต์รุ่นนี้ได้มอบบางสิ่งที่ต่างจากรถยนต์ทั่วไป

สิ่งนั้นคือ ความหวัง

“Mirai แปลว่าอะไร” ใครบางคนถามผู้บรรยายใน Toyota Kaikan Museum ก่อนที่ผู้บรรยายจะตอบความหมายสั้นๆ

เป็นความหมายที่เปี่ยมความหมาย

“Mirai แปลว่า อนาคต”

2.

วันถัดมา รถบัสของเรามุ่งหน้าสู่ ‘สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้า ชิราคาวาโกะ’ (Toyota Shiragawa-go Eco Institute) สองข้างทางของแดนอาทิตย์อุทัยยังคงเขียวครึ้มน่าอิจฉา ป่าของประเทศญี่ปุ่นยังคงอุดมสมบูรณ์น่าชื่นชม

ตามข้อมูลที่ระบุ สถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านซึ่งเป็นมรดกโลกอย่างชิราคาวาโกะ ทางตะวันออกเหนือสุดของเขตปกครองจังหวัดกิฟุ (Gifu) สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 2005 เพื่อพัฒนาจิตสำนึก โดยการทำให้คนได้สัมผัสป่าและเรียนรู้การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

“การผลิตรถยนต์ส่วนหนึ่งส่งผลกระทบต่อโลก การอุทิศสถานที่แห่งนี้เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและศึกษาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็คล้ายกับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมทางหนึ่ง” เจ้าหน้าที่พูดถึงที่มาของสถานที่แห่งนี้

เมื่อเดินทางมาถึง พวกเราเริ่มกิจกรรมด้วยการนั่งฟังการบรรยายถึงที่มาที่ไปของสถานที่ที่เรานั่งอยู่ ก่อนที่เจ้าหน้าที่สถาบันในชุดเต็มยศจะพร้อมพาเราเข้าป่าตามโปรแกรมที่วางไว้

“ป่านี้เป็นบ้านของหมี” คุณซาโตะ ชายหนุ่มผู้นำทางบอกพวกเราขณะยืนอยู่หน้าทางเข้าป่า “คนญี่ปุ่นเวลาจะเข้าบ้านใครต้องเอ่ยขออนุญาต”

หลังจากนั้น พวกเราจึงตะโกนเสียงดังเป็นคำญี่ปุ่นเพื่อขออนุญาตเจ้าบ้านก่อนเข้าไปเยือน หวังว่าเจ้าหมีจะได้ยิน

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ผู้นำทางบอกว่าปัจจุบันพื้นที่ป่าของญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 66 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ถือเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีพื้นที่ป่าหนาแน่นที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฟินแลนด์และสวีเดน ตลอดเส้นทาง คุณซาโตะพยายามอธิบายสรรพคุณของป่าให้พวกเราได้ฟัง

“ที่พื้นที่แห่งนี้หิมะจะตกหนักทุกปี เพราะฉะนั้น ไม้บริเวณนี้จะเหนียวมาก เพื่อที่มันจะได้ไม่หักเวลาหิมะตกลงมากองที่กิ่ง อย่างต้นนี้ชื่อโคโรโมจิ” หลังสิ้นคำบรรยาย ผู้นำทางทดลองงอกิ่งไม้กิ่งหนึ่งจนชนผืนดินให้ดูเพื่อโชว์ความยืดหยุ่นของไม้พันธุ์นี้ ก่อนจะหยิบอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการเดินบนหิมะซึ่งผลิตมาจากกิ่งไม้ดังกล่าวให้เราดู

เพราะมันยืดหยุ่น มันจึงไม่หัก เพราะมันปรับตัว มันจึงอยู่รอด ผมสรุปกับตัวเองเป็นบทเรียนที่ธรรมชาติสอน

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

“ได้ยินเสียงน้ำไหม” คุณซาโตะถามพวกเราเมื่อเดินเข้ามาถึงจุดหนึ่งกลางป่า พอทุกคนหยุดเดิน เสียงน้ำก็ดังขึ้นชัดเจน เขาเล่าว่าน้ำที่ไหลอยู่คือหิมะที่ละลายแล้วซึมลงดินหลังจากที่ฤดูหนาวผ่านพ้น คล้ายเป็นการบอกบทบาทของป่าทางอ้อม

ตลอดเส้นทางการบรรยาย ผู้นำทางพยายามอธิบายถึงความสำคัญของผืนป่ากับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น มากกว่าจะบอกกันโต้งๆ ว่าอย่าตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งผมรู้สึกว่าวิธีนี้ต่างหากที่จะทำให้มนุษย์อย่างเรารักป่า

แล้วเมื่อรัก จึงอยากรักษา-ธรรมชาติของมนุษย์เป็นแบบนี้

หลังจากสัมผัสป่าพอหอมปากหอมคอ เราเดินกลับเข้าที่พัก คลายเหนื่อยล้าด้วยมื้ออาหาร ก่อนจะมีนัดกลับเข้าป่าอีกครั้งหลังพระอาทิตย์ตกดิน

3.

“คนญี่ปุ่นเชื่อว่ามีเทพเจ้าอยู่ในธรรมชาตินับไม่ถ้วน และมีความเชื่อว่าคนสามารถเกิดใหม่ในธรรมชาติและขุนเขา”

ซาโตะซังพูดถึงกุศโลบายที่เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ป่าไม้ในญี่ปุ่นยังเหลืออยู่อย่างหนาแน่น ก่อนที่เราจะออกเดินป่าในยามค่ำคืน

“เหมือนธรรมชาติเป็นผู้ให้กำเนิด” เขาพูดต่อ “และคืนนี้เราจะออกไปให้ธรรมชาติและขุนเขาโอบกอดเรากัน”

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

สิ้นประโยค พวกเราออกเดินไปยังป่าอีกครั้ง ตอนนั้นเข็มสั้นของนาฬิกาผมชี้ที่เลขเจ็ด ในขณะที่เข็มยาวอยู่ราวเลขสอง

“พักสมองแล้วลองใช้สัญชาตญาณ”

เจ้าหน้าที่บอกกับทุกคนเพื่อให้คลายกังวลกับการเดินเข้าป่ายามค่ำคืนโดยที่ไม่มีไฟฉาย ไม่มีไฟรายทาง พ่วงด้วยข้อแม้ให้งดใช้แสง ใช้เสียง เพื่อเสพบรรยากาศป่ายามค่ำคืนแบบไร้สิ่งปรุงแต่งท่ามกลางความมืดมิด เราใช้วิธีเดินตามเสียงรอยย่ำของคนข้างหน้า และแสงจันทร์คอยนำทาง

“เพิ่งรู้ว่าดวงจันทร์ช่วยได้ขนาดนี้” ใครบางคนพูดขึ้นมาระหว่างทาง

“นี่ขนาดแค่ครึ่งดวงเองนะ” ใครบางคนเสริมจนผมต้องแหงนหน้ามองท้องฟ้ายามนี้

ใช่, ตอนอยู่ในเมืองอันสว่างไสว เราไม่เคยรับรู้ถึงความสว่างของแสงจันทร์เลยแม้แต่น้อย ข้างขึ้นกับข้างแรมแตกต่างกันอย่างไร คนในเมืองอย่างเรารับรู้บ้างไหม-ก็ไม่รู้

เมื่อเดินลึกเข้าไป ลึกเข้าไป จนถึงจุดหนึ่ง ผู้นำทางจึงบอกให้หยุด แล้วบอกให้พวกเราลองเงียบ 1 นาที ฟังเสียงรอบข้าง

“ได้ยินเสียงอะไรบ้าง” เขาถาม

คำตอบของพวกเรานั้นหลากหลาย มีทั้งเสียงนก เสียงน้ำ เสียงใบไม้ เสียงแมลง

“มีใครได้ยินเสียงสังคมมนุษย์บ้าง” ผู้นำทางถามอีกคำถาม ก่อนจะพูดต่อ “อยู่ในป่าเราไม่ได้ยินเสียงสังคมมนุษย์เลยนะ เหมือนที่ตอนอยู่ในเมืองเราก็ไม่ได้ยินเสียงธรรมชาติแบบนี้”

ถ้อยคำของเขาคล้ายต้องการชี้ให้เห็นว่าในชีวิตประจำวันพวกเราถูกตัดขาดจากธรรมชาติมากแค่ไหน

“ผมได้ยินเสียงลมหายใจ” ใครบางคนแย้ง

“เสียงลมหายใจก็เป็นเสียงธรรมชาติ” ผู้นำทางตอบทันทีท่ามกลางความมืด

หลังจากนั้นเราออกเดินกันต่อจนถึงจุดหนึ่งที่มองเห็นรางๆ เป็นลานกว้าง เราต่างขยับเข้าใกล้เจ้าหน้าที่เพื่อฟังคำอธิบายด้วยความดังระดับกระซิบบอก ก่อนที่พวกเราจะได้รับแจกเบาะพับสำหรับรองนั่งคนละอัน พร้อมคำอธิบายว่าให้หามุมสงบคนละมุมท่ามกลางป่าเขาและนั่งนิ่งๆ

“ไม่ต้องหลับตา และคิดถึงเรื่องอะไรก็ได้ จะคิดถึงเมื่อเช้านี้ เมื่อปีก่อน หรือย้อนไปตอนไหนก็ได้” ผู้นำทางย้ำอีกทีด้วยกลัวว่าพวกเราเข้าใจผิดว่าต้องนั่งสมาธิทำจิตให้ว่างเปล่า

ผมเลือกมุมที่มองเห็นดวงจันทร์ชัดเจน ระหว่างที่ฟังเสียงป่าเขา มองขึ้นไปบนนั้น ผมได้นั่งคุยกับตัวเอง นั่งย้อนคิดถึงบางคำถามที่คั่งค้างในใจในวันและวัยนี้ ตลอดจนคำถามซึ่งเป็นความลับของจักรวาลที่ว่ามนุษย์อย่างเราเกิดมาทำไม การนั่งนิ่งๆ ท่ามกลางป่าเขาและเงาจันทร์ทำให้ผมได้ใคร่ครวญถึงสิ่งที่ปกติชีวิตไม่เคยครุ่นคิด

เวลาผ่านไปไม่นานในความรู้สึก เสียงเจ้าหน้าที่ก็ดังขึ้นเป็นสัญญาณให้พวกเรากลับมารวมตัวอีกครั้ง

“ให้ทายว่าเมื่อครู่เรานั่งกันไปกี่นาที” เขาโยนคำถามให้พวกเรา ซึ่งคำตอบก็มีหลากหลาย บ้าง 5 นาที บ้าง 10 นาที

“เรารู้สึกยาวนานไม่เท่ากันเพราะเราคิดถึงเรื่องที่ต่างกัน” ผู้นำทางบอกก่อนจะเฉลยว่าเวลานาทีที่ถูกต้องคือ 7 นาที “การมานั่งในป่าครั้งนี้ทำให้ทุกคนรู้สึกสงบ การได้ใกล้ชิดธรรมชาติทำให้เราได้ทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิต เพราะฉะนั้น เมื่อกลับไปประเทศไทย ควรหาโอกาสเข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ”

หลังจากสิ้นประโยคอธิบาย เราหันหลังให้ป่าอันมืดมิด เดินมุ่งหน้ากลับสู่ที่พัก ที่ปลายทาง ผมเห็นแสงสว่างรออยู่

และก่อนนอนคืนนั้น ผมได้คิดอะไรต่ออีกมากมายจากเสียงที่ผมได้ยินตอนอยู่ในป่า

4.

วันรุ่งขึ้นโตโยต้ากำลังพาผมไป ‘โตโยต้าซิตี้’ เมืืองที่ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้ธุรกิจที่พัฒนาบ้านเมืองอย่างโตโยต้า โดยที่ชาวญี่ปุ่นรู้จักเมืองนี้ในนาม ‘อาณาจักรยานยนต์’

แม้จะเรียกขานกันเช่นนั้น แต่แปลกไหม ร้อยละ 70 ของพื้นที่ทั้งหมดถูกปกคุลมด้วยผืนป่าอุดมสมบูรณ์

เป้าหมายของพวกเราคือ ‘ศูนย์บำบัดและควบคุมมลพิษโทงาริ (Togari Clean Center, ECO-T)’ สถานที่แห่งนี้คือกำลังสำคัญในการจัดการกับขยะที่เข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

“ที่นี่ทำงาน 365 วัน” เจ้าหน้าที่ประจำ ECO-T บอกเราด้วยรอยยิ้ม

โดยหน้าที่ ECO-T คือสถานที่ที่ใช้กำจัดขยะที่สามารถเผาไหม้ได้ โดยชาวเมืองโตโยต้าซิตี้จะทำการแยกขยะในเบื้องต้นก่อนรถขยะจะไปนำขยะมาที่แห่งนี้เพื่อเข้าสู่กระบวนการถัดไป

เทคโนโลยีต่างๆ ที่เลือกนำมาใช้ล้วนทันสมัยระดับสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นระบบในการคัดแยกขยะ ระบบบำบัดมลพิษ เทคโนโลยีที่จัดการสารระเหยและฝุ่น เทคโนโลยีบำบัดน้ำจากกระบวนการผลิต การประหยัดพลังงานโดยนำพลาสติกแข็งและขี้เถ้าที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมกลับมาใช้ใหม่ การจัดการโลหะต่างๆ ก่อนนำไปสู่กระบวนการจัดการขยะ รวมถึงการจัดสร้างศูนย์วิจัยพัสดุภัณฑ์เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้ได้มากที่สุด

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

แน่นอน ทุกอย่างใช้งบประมาณในการก่อสร้างมหาศาล

“ที่นี่ใช้งบประมาณหกพันล้านเยนต่อปี” เจ้าหน้าที่เปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจ ลองบวก ลบ คูณ หาร ดูแล้วคิดเอาเองว่าเงินในการกำจัดขยะก้อนนี้สามารถเอาไปทำอะไรได้บ้าง

“เงินลงทุนสร้างศูนย์แห่งนี้สูงมาก แต่มันไม่เกี่ยวว่าถูกหรือแพง มันจำเป็นที่จะต้องสร้าง ก็ต้องสร้าง”

บางประโยคของผู้บรรยายทำให้ผมเข้าใจบางอย่างแจ่มชัดขึ้น

5.

วันสุดท้ายเราได้เดินป่าอีกครั้ง ครั้งนี้พวกเรามากันที่ Forest of Toyota

ป่าแห่งนี้คล้ายกับป่าที่สถาบันสิ่งแวดล้อมโตโยต้าชิราคาวา-โก ตรงที่โตโยต้าสร้างขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาสิ่งแวดล้อม โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1992 แต่เริ่มเปิดให้คนนอกได้เข้ามาศึกษาเมื่อ ค.ศ. 1997

คุณอิบุ เจ้าหน้าที่สาวคือผู้นำทางในการเดินป่าครั้งนี้

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

“ที่นี่อุดมสมบูรณ์ทั้งสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้ มีทั้งหมูป่า กวาง จิ้งจอก และสัตว์อีกหลายชนิด” หญิงสาวหยุดเล่าระหว่างทางก่อนจะเปิดรูปให้เราดู

เธอเล่าว่าปกติคนที่มาเยือนป่าแห่งนี้จะเป็นเด็กประถม แต่ละปีโรงเรียนจะพาเด็กมาทัศนศึกษากว่า 5,000 คน

“คนญี่ปุ่นมองว่า ถ้าไม่รีบปลูกฝังให้เด็กรักธรรมชาติตั้งแต่ยังเล็ก โตมาเขาก็จะไม่รักธรรมชาติ” คุณอิบุเฉลยสาเหตุที่ทำให้โรงเรียนพยายามพาเด็กมาสัมผัสป่า

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

เธอเล่าว่าในภาษาญี่ปุ่นจะมีคำว่า ‘ซาโตยามะ’ ซึ่งหมายถึงป่าที่อยู่ใกล้ชุมชน ดูแลรักษาโดยมนุษย์หรือชุมชนที่รักสิ่งแวดล้อม ซึ่งป่าที่นี่เป็นอย่างนั้น ระหว่างอยู่ในป่าเรายังได้ยินเสียงรถจากทางด่วน

“ขนาดบริเวณนี้มีทางด่วน ที่นี่ก็ยังมีสัตว์ป่าอยู่มากมาย” เธอบอกบางประโยคที่คล้ายต้องการสื่อสารว่าเราอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทำร้ายทำลายกัน ซึ่งนี่คืออีกสิ่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้

หลังจากเดินตามเธอไป พวกเราก็มาหยุดยืนอยู่ที่ต้นไม้แห่งหนึ่ง เธอบอกว่านี่คือต้นอาเบมากิ (Abemaki)

“ความจริงไม่ได้อยากอธิบายอะไรมาก แต่อยากให้ทุกคนได้สัมผัสมากกว่า” ผู้นำทางบอกพวกเรา ก่อนจะชี้ไปที่ยางของต้นไม้แล้วบอกว่าให้พวกเราลองเอานิ้วจิ้มแล้วดมดู

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ด้วยความมั่นใจว่ากลิ่นน่าจะหอมสดชื่น ผมจึงเอานิ้วจิ้มเต็มที่แล้วสูดลมหายใจเข้าเต็มปอด ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

“กลิ่นเหมือนอะไร” เธอถามด้วยรอยยิ้ม

“ขี้” ใครบางคนในกลุ่มตอบ

“เด็กๆ ญี่ปุ่นก็บอกแบบนี้” เธอยิ้มกว้างก่อนจะพูดต่อว่า “นี่เป็นเหตุผลที่ฉันอยากให้ทุกคนได้สัมผัสมากกว่าที่จะมานั่งอธิบาย เพราะการสัมผัสด้วยตัวเองจะทำให้เราจดจำไปตลอดชีวิต”

จริงอย่างที่เธอว่าไว้ ผมคงจำกลิ่นนี้ไปตลอดชีวิต

ด้วยเวลาจำกัด เราใช้เวลาอยู่ใน Forest of Toyota ราวชั่วโมงก่อนจะวนกลับมาที่บริเวณทางออกเพื่อเดินทางกลับ

บนรถบัสที่กำลังมุ่งหน้าไปสนามบิน Chubu Centrair ผมนึกถึงสิ่งที่พวกเรา-ทั้งผมและผู้ชนะโครงการโตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ได้ ‘สัมผัส’ จากการเดินทางครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโตโยต้า พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้ผู้คนรักป่า หรือแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่มีต่อธรรมชาติรอบตัว

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งโลกที่เราอยู่อาศัยและทัศนคติของผู้ที่ได้มีโอกาสมาสัมผัส

ถ้าอะไรที่เราได้สัมผัสด้วยตัวเอง เราจะจดจำไปตลอดชีวิตจริงๆ อย่างที่เธอว่า

การเดินทางครั้งนี้คงมีหลายอย่างที่ผมและเพื่อนรวมทางจะจดจำกันได้ไปอีกนาน ไม่ใช่แค่กลิ่น

ฟังเสียงป่า เรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ในดินแดนที่ป่าอุดมสมบูรณ์อันดับต้นๆ ของโลก

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

กิตติคุณ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

เติบโตที่เชียงใหม่ ชอบถ่ายภาพฟิล์ม รักงานภาพเคลื่อนไหว ดูหนังเป็นชีวิตจิตใจพอๆกับฟังเพลง และชอบตัวเองตอนออกเดินทางมากๆ