ถ้าไม่มีภาพประกอบติดมาด้วย เมื่ออ่านชื่อเรื่องแล้วทุกคนคงคิดว่าเราจะพาไปเที่ยวเซินเจิ้นแน่ๆ ไม่ใช่ครับ ที่นี่เคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร
ที่คณะกรีก-โรมันศึกษา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งใช้เป็นสถานที่จัดแสดงวัตถุ ‘ก๊อปเกรดเอ’ จำนวนมาก วัตถุเหล่านี้ไม่ใช่กระเป๋าถือแบรนด์เนมราคาแพง แต่เป็นศิลปะวัตถุจากอารยธรรมกรีก-โรมันขนาดเท่าต้นฉบับจริงจำนวนกว่า 450 ชิ้น
ทำไมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องจัดแสดงแบบจำลองวัตถุโบราณ แบบจำลองเหล่านี้มีประโยชน์อย่างไร และเราจะชื่นชมวัตถุเหล่านี้ในฐานะ ‘งานศิลปะ’ ได้หรือไม่ วันนี้เราพาไปหาคำตอบพร้อมๆ กันครับ
พิพิธภัณฑ์แบบจำลองวัถตุโบราณแห่งนี้มีชื่อเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า Museum of Classical Archaeology แปลเป็นไทยว่า พิพิธภัณฑ์โบราณคดีกรีก-โรมัน ตั้งอยู่ที่คณะกรีก-โรมันศึกษา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1884 และเป็นหน่วยงานสำคัญของคณะกรีก-โรมันศึกษาของมหาวิทยาลัยตั้งแต่นั้น ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุจำลองกรีก-โรมันเพียงไม่กี่แห่งในสหราชอาณาจักรที่ยังคงได้รับการดูแลอนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์
พระจักรพรรดิ Augustus ชี้ทางไปโต๊ะประชาสัมพันธ์
หนุ่มๆ ในท่าโพสต์มาตรฐานตริภังค์ (หรือ Contrapposto คือการโพสต์ท่าในลักษณะ งอขาหนึ่งข้าง พอยต์เท้า บิดสะโพก)
ก๊อปเกรดเอ
รูปจำลองโบราณวัตถุกรีก-โรมันสร้างขึ้นโดยใช้ปูนปลาสเตอร์
ที่กล้าเรียกว่า ‘ก๊อปเกรดเอ’ นั่นเป็นเพราะกรรมวิธีในการลอกแบบวัตถุต้นฉบับมาสร้างเป็นรูปจำลองขนาดเท่ากัน มีความละเอียดอ่อนมาก
ลินซีย์ ไฟน์ เพื่อนนิสิตชั้นปริญญาเอกสาขาโบราณคดีกรีกผู้มีน้ำใจดีอาสาพาเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เล่าว่า รูปจำลองเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นงานประติมากรรมชั้นเยี่ยมพอๆ กับต้นฉบับ
เพราะงานทุกชิ้นล้วนสร้างจากฝีมือ โดยช่างแกะสลักต้องเป็นผู้มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ และเข้าใจวิธีการสร้างประติมากรรมกรีก-โรมันโบราณเป็นอย่างดี
เมื่อมีการสร้างแบบจำลองหนึ่งชิ้น ช่างต้องเดินทางไปยังสถานที่อันเป็นที่เก็บโบราณวัตถุต้นฉบับเพื่อวัดขนาดและเก็บบันทึกรายละเอียดต่างๆ มาให้ครบ ถ้าโบราณวัตถุต้นฉบับตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือยังคงเป็นส่วนหนึ่งของซากโบราณสถานในพื้นที่ห่างไกล ก็ต้องลงทุนเดินทางไปหาจนพบ
เหตุที่ต้องลงทุนลงแรงมากขนาดนี้ เป็นเพราะแบบจำลองโบราณวัตถุล้วนถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ในยุคสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยี 3D Printing ฐานข้อมูลออนไลน์ และกล้องถ่ายรูปความคมชัดสูง นิสิต นักศึกษาและนักวิชาการในวงการประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีกรีก-โรมันต้องอาศัยแบบจำลองเหล่านี้เพื่อเข้าถึงหลักฐานชั้นต้น แทนที่จะต้องเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปหาโบราณวัตถุต้นฉบับในที่ต่างๆ ตลอดเวลา
ลินซีย์อธิบายว่า ฟังดูเผินๆ แล้วเราอาจจะยังคิดว่าแบบจำลองเหล่านี้ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไรมาก เพราะแค่มีเงินและเวลาก็สามารถเดินทางไปค้นหาวัตถุต้นฉบับได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริง โบราณวัตถุต้นฉบับจำนวนมาก ทั้งที่ตั้งอยู่ในโบราณสถานหรือได้รับการเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ มักไม่อยู่ในสภาพที่เอื้อให้คนปกติ ‘ซูม’ ศึกษารายละเอียดได้โดยง่าย
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าไม่สร้างแบบจำลอง ใครอยากศึกษารายละเอียดรูปแกะสลักคารีอาทิดส์ (Caryatids เสาแกะสลักเป็นรูปสตรีเทินยอดเสาไว้บนหัว) ที่วิหารอีเรกเทียน (Erechtheion) ในอะโครโพลิส (Acropolis) ที่กรุงเอเธนส์ ก็ต้องต่อนั่งร้านปีนขึ้นไปเพ่งรายละเอียดเอง เพราะตัวเสาตั้งอยู่บนระเบียงสูงจากระดับสายตาขึ้นไปกว่า 6 เมตร
ในบางกรณี ถ้าเรามองเห็นรายละเอียดของตัวประติมากรรมได้ชัดเจนผ่านการใช้แบบจำลอง เราก็จะเข้าใจพฤติกรรมของช่างผู้สร้างงานประติมากรรมได้มากขึ้นตามไปด้วย เช่น เมื่อพิจารณารายละเอียดที่สลับซับซ้อนของรูปสลักลอยตัวที่ประดับอยู่บนหน้าบันของมหาวิหารเทพซุสที่เมืองโอลิมเปีย เราก็จะพบว่า ช่างผู้แกะสลักไม่มีความตั้งใจจะลดทอนความวิจิตรบรรจงในผลงานตัวเอง แม้ช่างจะรู้อยู่แก่ใจว่า คนทั่วไปไม่มีทางมองเห็นประติมากรรมทั้งหมดนี้ได้อย่างชัดเจน เพราะชิ้นงานตั้งอยู่สูงขึ้นไปจากระดับสายตากว่า 15 เมตร
แบบจำลองยังช่วยให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะศึกษาโบราณวัตถุจากบริบทสภาพการจัดวางดั้งเดิมได้ เมื่อโบราณวัตถุต้นฉบับถูกเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตั้งเดิมมาเก็บรักษาไว้ในพื้นที่ใหม่ เช่น ในพิพิธภัณฑ์ ผู้ชมงานศิลปะอาจจะนึกไม่ถึงว่าจริงๆ แล้ว โบราณวัตถุ โดยเฉพาะประติมากรรมจำพวกเทวรูปบางชิ้นอาจเคยตั้งอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม หากแต่ปัจจุบันกลับถูกจับแยกไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี่ทั่วโลก การสร้างแบบจำลองโบราณวัตถุทุกชิ้นในกลุ่มเดิมให้มาอยู่รวมกันใหม่จึงเอื้อให้เกิดการตีความทางศิลปะตามบริบทเดิมที่สมบูรณ์ ทำให้ได้ข้อวิเคราะห์ที่ต่างจากการตีความโบราณวัตถุแต่ละชิ้นที่ตั้งอยู่โดดๆ
โบราณวัตถุต้นฉบับบางชิ้นสึกกร่อนหรือพังทลายไปแล้ว การศึกษางานผ่านรูปจำลองจึงเป็นเพียงโอกาสเดียวที่ทำให้เรายังคงศึกษาประติมากรรมได้ ต้นฉบับบางชิ้นหักครึ่งหรือแตกออกเป็นส่วนๆ และถูกแยกร่างไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ
การสร้างแบบจำลองจึงเป็นทางออกง่ายที่สุดที่จะ ‘รวมร่าง’ โบราณวัตถุให้ได้สมบูรณ์ดังเดิม (ถ้าจะให้พูดเรื่องการเคลื่อนย้ายโบราณวัตถุออกจากพิพิธภัณฑ์ด้วย คงต้องตั้งเป็นหนึ่งบทความต่างหาก เพราะล้วนเต็มไปด้วยดราม่าเข้มข้น!)
สรุปง่ายๆ คือ แบบจำลองทำให้เรามองเห็นรายละเอียดระดับ 1080p และสามารถสร้างสถานการณ์หรือสภาพเสมือนจริงเมื่อครั้งโบราณวัตถุยังคงตั้งอยู่ในพื้นที่และบริบทดั้งเดิมได้นั่นเอง
เทพอะพอลโลที่กลางหน้าบันฝั่งตะวันตกของมหาวิหารเทพซุส เมืองโอลิมเปีย
ปีศาจกอร์กอนที่หน้าบันของมหาวิหารเทพีอาร์เทมิส เมืองเคอร์คีย์ร่า (ปัจจุบัน-คอร์ฟู)
ยุโรปแกรนด์ทัวร์
รูปจำลองปูนปลาสเตอร์เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นความกระหายใคร่รู้ของสังคมยุโรป
เมื่อกระแสนิยมศิลปะกรีก-โรมันกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักของผู้มีอันจะกินในสมัยศตวรรษที่ 18 นอกจากสถานศึกษาที่สั่งทำรูปจำลองโบราณวัตถุมาไว้เพื่อประโยชน์ในการวิจัยแล้ว ยังมีพวกผู้ดีจำนวนมากที่นิยมว่าจ้างช่างฝีมือให้สร้างรูปจำลองมาประดับบ้านของตัวเอง
ของสะสมเหล่านี้ นอกจากจะเป็นเครื่องแสดงฐานะทางการเงินแล้ว ยังมีไว้ใช้โอ้อวดว่าตนมีความรู้รอบตัวมากกว่าผู้อื่นด้วย เพราะการเลือกว่าจะสร้างรูปจำลองประติมากรรมชิ้นไหนนั้น ต้องอาศัยความ ‘อินเทรนด์’ เข้าถึงกระแส ต้องคอยติดตามการค้นพบทางโบราณคดี หรือรออ่านบันทึกการเดินทางของเหล่า ‘เซเลบริตี้’ ที่เพิ่งกลับมาจากดินแดนอารยธรรมศิวิไลซ์
ถ้าให้เทียบกับสมัยนี้ก็คงเหมือนกับการซื้อหนังสือ Best Sellers ตามคำนิยมของหนังสือพิมพ์ชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งในมหานครที่มีชื่อเล่นเป็นผลไม้มาประดับชั้นในห้องนั่งเล่นโก้ๆ หรือการคอยต่อคิววิ่งซื้อ Gadget นำเข้าตัวใหม่ที่ส่งตรงมาจากประเทศลุงแซมนั่นเอง
คอลเลกชันรูปจำลองปูนปลาสเตอร์ประติมากรรมกรีก-โรมันที่มีชื่อเสียงที่สุดต้องยกให้กับคอลเลกชันของ Victoria and Albert Museum ในกรุงลอนดอน เพราะพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ลงทุนสร้างรูปจำลองขนาดใหญ่มาจัดแสดงไว้เป็นจำนวนมาก ที่โด่งดังที่สุดคือแบบจำลองเสาหิน Trajan’s Column ในกรุงโรม ด้วยต้นฉบับเป็นเสาหินอ่อนสูงถึง 38 เมตร ทางพิพิธภัณฑ์จึงต้องหั่นแบบจำลองเป็น 2 ส่วน เพราะเพดานห้องจัดแสดงสูงไม่พอ
Peplos Kore (รูปสลักสตรีสวมชุดยาว ‘Peplos’) ข้างๆ กันคือ รูปจำลองลงสีตามแบบกรีกโบราณ ประติมากรรมกรีกล้วนมีสีสันสดใส แต่ปัจจุบันสีลอกออกหมดแล้วตามกาลเวลา
หนึ่งในเสา Caryatids จากอะโครโพลิสที่เอเธนส์
แอโฟรไดท์ (Aphrodite) จากเมลอส ปัจจุบัน ต้นฉบับจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟร์
เฮอร์คิวลีส หนึ่งในแบบจำลองชิ้นแรกๆ ที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ต้นฉบับจัดแสดงอยู่ที่ Museo Archeologico Nazionale เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี
เทพีแอโฟรไดท์จากคนิดอส ต้นฉบับอยู่ที่ Glyptothek เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนี
ฮาร์โมเดียส (Harmodios) ผู้กอบกู้ประชาธิปไตยให้แก่นครรัฐเอเธนส์เมื่อ 477 ปีก่อนคริสตกาล ต้นฉบับจัดแสดงอยู่ที่ Museo Archeologico Nazionale เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี
สำหรับที่เคมบริดจ์นี้ ในสมัยที่ยังมีการใช้แบบจำลองปูนปลาสเตอร์ประกอบการเรียนการสอน ภัณฑารักษ์จะตั้งรูปสลักแต่ละชิ้นไว้บนรถเข็นเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย ในปัจจุบัน แบบจำลองปูนปลาสเตอร์หลายชิ้นกลายมาเป็นโบราณวัตถุเสียเอง เพราะถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 100 ปี มิหนำซ้ำแบบจำลองแต่ละชิ้นก็มีประวัติเรื่องเล่าพิเศษเฉพาะตัวอีกด้วย
ในยุคที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามาแทนที่การใช้รูปจำลอง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ผันตัวมาเป็นองค์กรเพื่อสาธารณะประโยชน์ มีจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะกรีก-โรมันในฐานะงานอดิเรกเป็นประจำ โดยล่าสุดก็เพิ่งมีการจัดกิจกรรมวาดภาพเสมือนจริงโดยใช้รูปจำลองปูนปลาสเตอร์เป็นต้นแบบ
เซนทอร์บนหน้าบันฝั่งตะวันตกของมหาวิหารเทพซุส เมืองโอลิมเปีย
ประติมากรรมแบบลอยตัวรูปคนค่อยๆ คลานลุกขึ้นตามแนวทะแยงมุมสามเหลี่ยม สุดหน้าบันมหาวิหารเทพซุส เมืองโอลิมเปีย
ในวงการโบราณคดีอารยธรรมโบราณนี้ พวกเรามักชอบพูดซุบซิบติดตลกเกี่ยวกับภาคโบราณคดีกรีก-โรมันกันตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องความนิยมใช้ทุนมหาศาลเพื่อสร้างทรัพยากรทางการศึกษา ตัวอย่างเช่นแบบจำลองโบราณวัตถุที่เคยสั่งทำกันเป็นล่ำเป็นสัน จนเปิดพิพิธภัณฑ์ขึ้นมารองรับได้นี้ ที่จริงนักโบราณคดีอียิปต์และเมโสโปเตเมียก็อยากทำบ้างเหมือนกัน แต่เดี๋ยวนี้ก็ไม่วาย ยังต้องเปิดหนังสือดูรูปวาดกันอย่างแต่ก่อนไม่มีเปลี่ยนแปลง!
อเล็กซานเดอร์มหาราชขณะสวรรคต
หมู่มวลมหาอำนาจในสมัยจักรวรรดิโรมัน รูปสลักพระเศียรขององค์จักรพรรดิ นำโดย Augustus และ Hadrian
ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’
ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ