ใครอ่านข่าวงานศิลปะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คงพบข่าวดังของ Banksy ศิลปินลึกลับชาวอังกฤษที่กดปุ่มทำลาย Girl With Balloon หนึ่งในผลงานที่ดังที่สุดของตัวเองเป็นเศษกระดาษ ทันทีที่การประมูลภาพราคา 1 ล้านปอนด์เสร็จสิ้น พี่แกก็กดปุ่มให้ภาพไหลจากกรอบลงมาขาดรุ่งริ่ง แถมยังปล่อยวิดีโอการกระทำสุดช็อกนี้ไว้ด้วย

เห็นข่าวนี้ครั้งแรกคงคิดว่า Banksy นี่บ้าสิ้นดี แต่ความอุกอาจพิเรนทร์นี้เป็นลายเซ็นของเขาตั้งแต่แรกเริ่ม ภาพที่ถูกทำลายไปนี้ได้รับการประเมินว่าคงจะราคาสูงขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะมันไม่ใช่แค่ภาพของศิลปินดัง แต่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ไปแล้ว

บางคนคิดว่า Banksy เป็นคนบ้าชอบเขียนกำแพง บางคนคิดว่าเขาฉลาดล้ำน่าเทิดทูน แต่เราคิดว่าเขาคงเป็นอัจฉริยะสติเฟื่อง หาไม่แล้วคงไม่ทำงานศิลปะการเมืองแผลงๆ ตบหน้าคนทั้งโลกได้ครั้งแล้วครั้งเล่า อาทิ เสี่ยงตายไปพิมพ์ภาพ Stencil ที่กำแพงเวสต์แบงก์และฉนวนกาซา พอขายงานราคาหลักแสนเหรียญฯ ได้บ่อยเข้า ก็แอบไปขายโปสเตอร์ตัวเองในราคา 5 เหรียญฯ หรือสร้างสวนสนุกสุดหลอน Dismaland ที่ล้อเลียน Disneyland เป็นต้น

ผลงานเปรี้ยวเข็ดฟันขนาดนี้ เมื่อเราได้ไปอัมสเตอร์ดัม เลยถือโอกาสนี้แวะไปเยี่ยม Moco Museum พิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่าง Rijksmuseum พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม และพิพิธภัณฑ์ Van Gogh ใกล้กันขนาดเดินถึงได้ ใครรักการชมศิลปินก็อยู่ย่าน Museumplein นี้ได้ทั้งวัน

Moco Museum, Banksy Moco Museum, Banksy

มองจากภายนอก Moco Museum หน้าตาเหมือนอาคารบริเวณนั้น คือเป็นบ้านเก่าสภาพดีอายุ 100 กว่าปีที่ก่อด้วยอิฐแดง อาคารหลังนี้ออกแบบในปี 1904 โดย Eduard Cuypers หลานชายของ Pierre Cuypers สถาปนิกที่ออกแบบสถานีรถไฟกลางอัมสเตอร์ดัมและ Rijksmuseum ที่นี่เคยเป็นบ้านพักอาศัยธรรมดา บ้านพักบาทหลวง สำนักงานกฎหมาย ก่อนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ที่จัดแสดงผลงานศิลปินดังๆ อย่าง Banksy, Andy Warhol และ Roy Lichtenstein

เห็นหลังเล็กและถูกขนาบด้วยพิพิธภัณฑ์พี่ใหญ่ 2 ฝั่ง แต่คิวเข้ามิวเซียมนี้ก็ยาวใช่เล่น งานหลักๆ ที่ Moco Museum จัดแสดงคือนิทรรศการ LAUGH NOW รวมผลงานดังของ Banksy ที่จะจัดแสดงถึงวันที่ 15 มกราคม 2019 ทางเข้ามีป้าย Girl with Balloon อันโด่งดัง ซึ่งถูกเพนต์ครั้งแรกในปี 2003 ติดไว้ด้วย

Moco Museum, Banksy

ภาพเด็กหญิงเอื้อมมือกับลูกโป่งแดงอาจตีความได้ว่าเธอกำลังเอื้อมคว้าหรือเพิ่งปล่อยมือจากลูกโป่ง ชัดเจนสะเทือนใจในห้วงสงครามว่าเจ้าลูกโป่งอาจหมายถึงความหวัง อิสรภาพ การปลดปล่อย หรือการสูญเสียก็เป็นได้

งานส่วนใหญ่ของ Banksy เป็นงาน Stencil ตามกำแพงที่สาธารณะหรือท้องถนน ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงที่นี่พร้อมกับงานกวนๆ ชิ้นอื่น งานชิ้นหลักคือ Beanfield painting ภาพขนาดยักษ์รูปทหารจับมือวิ่งเล่นในทุ่งดอกไม้อย่างร่าเริง ประชดประชันเรื่องสงครามกันสุดๆ

Moco Museum, Banksy Moco Museum, Banksy

ภาพแรงอีกภาพคือ Kissing Coppers ตำรวจจูบกันดูดดื่มแสดงถึงผู้รักษากฎหมายที่สนับสนุนการรักเพศเดียวกัน หรืออาจจะมองว่าเป็นการเล่นตลกกับตำรวจ หรือถ้ามองโลกในแง่ดีหน่อย จะบอกว่าตำรวจก็มีด้านอ่อนโยนเหมือนกันนะ

Moco Museum, Banksy

Moco Museum, Banksy

ผลงานที่เราชอบมากคือ Home Sweet Home ภาพ Bristol บ้านเกิดของ Banksy ที่เพนต์ตามขนบโบราณแต่เพนต์คำตัวโตพาดทับอย่างเย้ยหยัน และประติมากรรมรูปมิกกี้เมาส์โดนงูเหลือมกิน ซึ่งเคยจัดแสดงใน Dismaland ปี 2015 หมดกันความฝันในวัยเด็ก

Moco Museum, Banksy

นอกจากนี้ยังมีภาพธนบัตรรูป 10 ปอนด์รูปเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่ง Banksy ปลอมขึ้นมาแล้วโปรยแจกจ่ายบนท้องถนนให้คนเก็บไปใช้จริง เล่นเอาระบบเงินอังกฤษปั่นป่วนไปพักใหญ่ และงานสนุกๆ ชวนขันขื่นอีกมากมาย

Moco Museum, Banksy Moco Museum, BanksyMoco Museum, Banksy

แม้งานจะโดนใจคนทั่วโลกขนาดนี้ แต่ Banksy ก็ไม่คิดจะเผยตัวว่าตัวเขาเป็นใคร เพราะโลกใบนี้มีนักออกความเห็นมากมายที่อยากเปิดหน้าเปิดตาให้โลกรู้เพียงพอแล้ว

“IF GRAFFITI CHANGED ANYTHING, IT WOULD BE ILLEGAL” (หากกราฟฟิตี้เปลี่ยนแปลงอะไรได้ มันคงผิดกฎหมาย)

Moco Museum, Banksy

ขอปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยคำพูดของ Banksy ที่ชวนให้นึกถึงสถานการณ์ในบ้านเราเสียเหลือเกิน ทั้งการไล่ลบกราฟฟิตี้เป็นว่าเล่น และการพยายามควบคุมจัดการศูนย์ศิลปะร่วมสมัยอย่างหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

Banksy เป็นทั้งผู้สร้าง ผู้รักษา ผู้ทำลายศิลปะด้วยตัวเองเพื่อวิพากย์สังคมและให้กำเนิดวงจรศิลปะใหม่ แต่ในเมืองไทย เห็นชัดเลยว่าคนทำลายศิลปะอยู่ฝั่งตรงข้าม และพวกเขาเกรงกลัวผู้สร้างและผู้รักษาศิลปะขนาดไหน

Moco Museum, Banksy
Moco Museum, Banksy

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง