26 พฤษภาคม 2018
17 K

โจทย์ยากของการไปเยือนเมืองเดิมซ้ำ คือการเสาะหาสถานที่ลี้ลับนอกตำราการเก็บแต้มในแบบฉบับนักท่องเที่ยว การแสวงหาสิ่งแปลกใหม่ในโตเกียวครั้งนี้ของเราจึงเต็มไปด้วยคีย์เวิร์ดจำพวก hidden gem หรือไม่ก็ best kept secret จนกระทั่งปรากฏผลลัพธ์หนึ่งเป็น Meguro Parasitological Museum พิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านปรสิตแห่งเดียวในญี่ปุ่น และแห่งแรกของโลกด้วย

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร

แน่ชัดว่า Meguro Parasitological Museum ในย่านเมกุโระถูกจัดลง hidden gem ในหมวดสถานที่พิสดารพันลึกในโตเกียวอย่างไม่ต้องสงสัย แม้ประตูกระจกแต่งด้วยกระดาษฉลุลายเป็นเค้าโครงของปรสิตในรูปแบบต่างๆ จะย้อมใจเราด้วยความสร้างสรรค์และสดใส แต่ก้าวถัดไปเราก็รู้ในทันใดว่า โลกแห่งเซลล์และสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างหน้าตาเหนือจินตนาการ เต็มไปด้วยรายละเอียดยุ่บยั่บราวกับหลุดออกมาจากการ์ตูนของจุนจิ อิโตะกำลังรอต้อนรับเราอยู่

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร

Meguro Parasitological Museum เป็นพิพิธภัณฑ์เอกชนขนาดเล็กที่ตั้งใจเผยแพร่ความรู้วิทยาศาสตร์ด้านปรสิตวิทยาให้แก่คนทั่วไป ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1953 โดยด็อกเตอร์ซาโตรุ คาเมะไก ผู้ขวนขวายรวบรวมปรสิตแบบต่างๆ ทั่วญี่ปุ่นมาได้ถึง 60,000 ตัวอย่าง 1,500 ชนิด แต่คัดเลือกออกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เพียง 300 ตัวอย่างภายในพื้นที่ 2 ชั้น ส่วนที่เหลือถูกเก็บไว้บนชั้น 3 สำหรับงานวิจัยเฉพาะทาง

ชั้นล่างสุดเป็นการบอกเล่าภาพรวมของโลกปรสิต ไม่ว่าจะเป็นวงจรชีวิต ความหลากหลาย ไปจนถึงตัวอย่างปรสิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปรสิตในตระกูลหนอนตัวกลม (Nematode) หนอนตัวแบน (Flatworm) พยาธิใบไม้ในตับ (Liver Fluke) พยาธิตัวตืด (Tapeworm) และไข่ปรสิต

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร

สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋วน่าอัศจรรย์เหล่านี้ถูกจับใส่ขวดทั้งแบบโดดๆ และแบบที่ยังติดหนึบอยู่กับโฮสต์แม้ชีวิตพรากจาก เช่น ปรสิตที่พอกคอของเต่าจนปูดโปน ปรสิตรูปร่างกลมๆ จำนวนมากที่ระเบิดออกมาจากท้องของปลา หรือปรสิตที่แทงตัวออกมาจากท้องของหนูจนแทบจะมีขนาดเท่ากับโฮสต์ของมันเอง

ความน่าตื่นตาตื่นใจทวีคูณยิ่งขึ้นในพื้นที่การจัดแสดงชั้น 2 เพราะในขณะที่ชั้นแรกบอกเล่าเรื่องปรสิตในสัตว์เป็นหลัก เนื้อหาของชั้น 2 ได้กระเถิบเข้ามาใกล้ตัวอีกขั้น เนื่องจากเต็มไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับปรสิตในร่างกายมนุษย์ และปรสิตที่ถ่ายทอดจากสัตว์มาสู่มนุษย์ได้ แต่เพียงแค่ข้อมูลบนผนังคงยังทำให้เราตื่นตระหนกไม่มากพอ ทางพิพิธภัณฑ์จึงเก็บตัวอย่างบางส่วนของร่างกายมนุษย์ที่ถูกปรสิตคุกคามมาจัดแสดงด้วย ไม่ว่าจะเป็นปรสิตในหัวใจมนุษย์ที่แตกยอดต่อกอเหมือนมีวัชพืชงอกอยู่ ลูกอัณฑะที่ติดเชื้อจากแมลงเขตร้อน ไปจนถึงสิ่งที่เป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อย่างพยาธิตัวตืดในลำไส้มนุษย์ ที่มีความยาวน่าเหลือเชื่อถึง 8.8 เมตร แถมยังระบุที่มาของปรสิตชิ้นนี้อีกว่ามาจากโฮสต์ที่กินปลาดิบเข้าไป!

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร

ทั้งนี้ เราอาจลดทอนความตุ๊มต่อมสยองขวัญได้จากโซนย่อยบนชั้นเดียวกันได้จากสมุดบันทึกของด็อกเตอร์ซัตยุ ยามากุติ นักปรสิตวิทยา กีฏวิทยา และผู้เชี่ยวชาญด้านหนอนและพยาธิต่างๆ ด็อกเตอร์ซัตยุได้สเกตช์รายละเอียดของปรสิตออกมาอย่างบรรจง จนไม่น่าเชื่อว่าภายในสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วเช่นนี้จะประกอบไปด้วยเซลล์อันละเอียดซับซ้อน มีโครงสร้างและการทำงานอันน่าทึ่งได้ถึงเพียงนั้น นอกจากภาพสเกตช์ในสมุดเล่มนี้จะใช้สำหรับสอนนักศึกษาของเขาแล้ว ภาพชุดนี้ยังถูกใช้ในหมู่นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกที่ศึกษาเรื่องปรสิตด้วย

พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา มิวเซียมลับในโตเกียวที่บรรจุสิ่งมีชีวิตแสนพิสดาร

นอกจากพื้นที่จัดแสดงแล้ว พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังตีพิมพ์เอกสารและงานวิจัยเกี่ยวกับปรสิตอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งหวังที่จะคลี่คลายโลกลี้ลับของสิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วนี้ให้คนทั่วไปเข้าใจ และเพื่อศึกษาหาทางป้องกันโรคที่เกิดจากปรสิต เอกสารเหล่านี้สามารถดาวน์โหลดอ่านได้ฟรีจาก Research Bulletin of the Meguro Parasitological Museum

ปิดท้ายการเยี่ยมชมด้วยร้านค้าเล็กๆ ของพิพิธภัณฑ์ที่ก็มีข้าวของเพี้ยนๆ มาขายไม่แพ้ความพิสดารของตัวพิพิธภัณฑ์เอง เช่น เสื้อยืดลายปรสิต หรือพวงกุญแจปรสิตแช่ตัวในขวดโหล เหมาะสำหรับเก็บเอาไปซาบซึ้งกันต่อที่บ้าน และเนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่เก็บค่าเข้าชม รายได้ทั้งหมดจึงช่วยสนับสนุนงานวิจัยและการบำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์โดยตรงด้วย

 

Meguro Parasitological Museum

ที่อยู่: 4-1-1 Shimomeguro, Meguro-ku, Tokyo 153-0064
ค่าเข้าชม: ฟรี (รับค่าบริจาคตามความสมัครใจ)
เวลาเปิด-ปิด: พุธ-อาทิตย์ 10.00 – 17.00 น.

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณวรา หิรัญกาญจน์

พัวพันกับหนังสือทั้งงานประจำและความคลั่งไคล้ส่วนตัว เทใจให้วรรณกรรม ภาพยนตร์ งานฝีมือ อาหารดีๆ ง่ายดาย เชื่อว่าโลกขับเคลื่อนได้ด้วยพลังของวัฒนธรรมย่อย ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์อุบัติซ้ำ