5 กันยายน 2018
13 K

เห็นช่วงนี้ใครๆ ก็พูดถึงไอดอลกัน เราเป็นคนหนึ่งที่มาที่นี่เพราะอยากเจอไอดอล ไอดอลที่แอบกรี๊ดมานาน ตามดูคลิป ดูสัมภาษณ์แล้ว ยังไม่เคยเจอตัวเป็นๆ สักที ครั้งนี้มีโอกาสเลยรีบยกมือขอเข้าร่วมด้วยแบบไม่ลังเล

‘ต้นไม้ เกิดขึ้นมาบนโลกนี้ก่อนมนุษยชาติ ย่อมเป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนเผ่าพันธุ์มนุษย์ให้ผาสุก’

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

กิจกรรมที่ว่าก็คือ ปลูกป่าเพื่อรักษาป่าต้นน้ำกับ อาจารย์จุลพร นันทพานิช งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Gap Year Program โดยมหาลัยแห่งความรักและธรรมชาติ มันคือโปรแกรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นระยะเวลา 1 ปี ที่เคลื่อนที่ไปทั่วประเทศไทยเพื่อเรียนรู้และลงมือทำในเรื่องต่างๆ ซึ่งเกี่ยวกับการพึ่งพาตัวเองทั้งภายนอกและภายใน

เราไม่ได้ร่วมเป็นหนึ่งใน Gap Year Program นี้หรอก แต่ขอยกมือมานั่งเรียนแบบ Sit in ในกิจกรรมนี้โดยเฉพาะ

เหตุผลหลักที่พาเรามาถึง ‘Mae Wang Sanctuary’ พื้นที่ของ พี่จูดี้ (จุรีพร ไทยดำรงค์) ที่อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ เพราะเราอยากเจออาจารย์จุล หลายคนคงเคยเห็นอาจารย์จุลผ่านโครงการปลูกป่ามาบ้าง แต่ที่เราติดใจคงเป็นคำพูดของอาจารย์ที่ดูเป็นคนใจดี ถ่อมตัว และมีแนวคิดในการปลูกป่าอย่างมีความรู้และเข้าใจต้นไม้จริงๆ เรื่องเหล่านี้หลอมรวมเข้าไปในอาชีพสถาปนิกของอาจารย์ เข้าไปอยู่ในการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และเข้าถึงแก่นแท้ในทุกอย่างที่ทำ

ถ้าเดาว่าเราเป็นคนชอบปลูกป่า รักการเดินป่า ขอบอกไว้ก่อนเลยว่า คุณเดาผิด! เราเป็นคนรักการอยู่ห้องแอร์ และกินโค้กเย็นๆ ในวันที่อากาศร้อนๆ

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program
จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

ภาพแรกที่เห็น อาจารย์คือผู้ชายใส่ชุดเมืองม่อฮ่อม เดินเข้ามาทักทายอย่างเรียบง่าย ถึงปุ๊บอาจารย์ก็เริ่มสอนทันที ไม่ไกลจากจุดที่พวกเราทักทายกันมีชุดเก้าอี้ม้าหินเล็กๆ อาจารย์นั่งสอนตรงนั้นเลย

เริ่มจากการสอนปลูกต้นไม้ด้วยวิธีง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและเหตุผลที่เราไม่เคยรู้

การขุดหลุมลงต้นกล้า ให้ขุดดินด้วยเสียมเล็กๆ ลึกลงไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ความกว้างพอดีกับก้อนดินของถุงต้นกล้า เพื่อให้รากได้ยึดเข้ากับพื้นดินนั้นๆ ลำต้นจะได้ตั้งอย่างแข็งแรง และควรสางรอบโคนต้นประมาณ 60 เซนติเมตร เพื่อป้องกันวัชพืชเข้ามารบกวน

แค่การขุดหลุมเล็กๆ ให้พอดีกับต้นกล้าก็เปิดโลกเรามากแล้ว เพราะปกติจะตะบี้ตะบันขุดด้วยจอบให้เป็นหลุมใหญ่ที่สุดเท่าที่กำลังเราจะสู้กับดินไหว เพราะเข้าใจว่าจะเป็นการพรวนดินเพื่อให้ต้นไม้ร่าเริงและโตไว แต่เปล่าเลย ที่เข้าใจมา ผิด!

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

ขั้นตอนการวางต้นไม้ใส่ลงไปในหลุมก็ควรจะอิงกับแนวเส้นศูนย์สูตรและทิศ เนื่องจากต้นไม้จะหันหน้าใบและรากไปเส้นศูนย์สูตรเสมอ เพราะเป็นองศาที่รับแสงจากดวงอาทิตย์ได้ดีที่สุด และทำให้ต้นไม้สังเคราะห์แสงได้นานขึ้น ส่งผลให้ต้นไม้แข็งแรงขึ้นด้วย ไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเล็กๆ น้อยๆ จะส่งผลต่อการปลูกได้มากมายขนาดนี้

อาจารย์สอนไปแซวไปอย่างสนุกสนานสักพักก็ทักว่าเรามีเชื้อสายจีนใช่มั้ย จีนแต้จิ๋วหรือเปล่า คนแต้จิ๋วเป็นเชื้อสายที่เพาะปลูกเก่งนะ โยนอะไรไปในดินก็ขึ้น มันอยู่ในยีนเรา นี่เพิ่งผ่านมา 3 อายุคนเอง ยีนตรงนี้มันยังอยู่ในตัวเรา อย่าให้เสียชื่อล่ะ! (โอ้โห)

ตบท้ายด้วยการสอนแบบเปิดสไลด์ในช่วงภาคค่ำหลังอาหารเย็น เป็นการอธิบายภาพรวมของป่าทั้ง 5 ประเภท คือป่าที่ราบต่ำ ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบผสม และป่าสน รวมถึงต้นไม้แต่ละชนิด ทำให้เราพอเข้าใจภาพโดยรวมของป่า และความสำคัญของต้นไม้พื้นถิ่นในแต่ละพื้นที่

อาจารย์บอกอีกว่า แต่ก่อนกรุงเทพฯ ทั้งหมดคือพื้นที่ของป่า ถ้าจะหาต้นไม้พื้นถิ่นคงจะหาไม่ได้แล้ว แต่ยังพอสังเกตได้จากชื่อย่านนั้นๆ หรือชื่อวัด เช่น ช่องนนทรีย์ ที่แต่ก่อนมีต้นนนทรีย์เยอะ เป็นต้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่ามนุษย์เราทำลายป่าไปเยอะขนาดไหนแล้ว เอาซะไม่เหลือต้นนนทรีย์ให้เห็นในย่านช่องนนทรีย์เลย สงสัยต้นนนทรีย์ทั้งหลายคงถูกแปลงร่างเป็นสะพานทางเชื่อมที่จะดูเหมือนเป็นไอคอนของย่านออฟฟิศในกรุงเทพฯ ไปแล้ว

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

เช้าวันต่อมา เราตื่นเช้ากว่าทุกวันเพื่อเริ่มภารกิจปลูกป่า ตัดหญ้า เคลียร์พื้นที่รอบๆ โคนต้น ขุดหลุม ลงต้นกล้าให้หันไปทางทิศใต้ และตอกหลัก เราเพิ่งจะรู้ว่าต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ปลูกแล้วไม่รอด ไม่ได้ตายเพราะแล้ง แต่ตายเพราะมีวัชพืชมารัด น้ำไหลผ่านท่อน้ำเลี้ยงไม่ได้ ทำให้ต้นไม้ตายในที่สุด

อีกภารกิจหนึ่งที่เราต้องทำคือ การกำจัดเถาวัลย์ที่พันตามต้นไม้ที่คนมาปลูกไว้ในปีที่แล้วหรือก่อนหน้านี้ ไม่น่าเชื่อว่าเราจะอินกับการดึงเถาวัลย์มากกว่าการปลูกเสียอีก

อาจารย์เล่าว่า ต้นไม้ของอาจารย์ไม่ค่อยได้ใส่ปุ๋ยหรอก อาจารย์ใช้มือลูบๆ คลำๆ ทักทายต้นไม้เหมือนทักทายหมาแทน ต้นไม้ก็จะมีสุขภาพดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ย จริงๆ แล้วในทุกเรื่องการใส่ใจย่อมดีกว่าการใส่ปุ๋ยเนอะ

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program
จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

การปลูกป่าที่เราเคยเข้าใจว่าป่ามันก็ขึ้นของมันเอง ทำไมต้องไปปลูกมันด้วย วันนี้เรารู้แล้วว่าถ้าไม่ปลูกมันก็ไม่ทันจริงๆ แต่ก่อนปลูกเราต้องเข้าใจธรรมชาติและระบบนิเวศก่อน

อีก 2 วันต่อมาอาจารย์นัดทุกคนมาที่บ้านเพื่อเรียนรู้วิธีการเพาะต้นกล้า เราตื่นเต้นที่จะได้เดินทางไปบ้านสถาปนิกระดับครู แต่เมื่อเดินทางมาถึง บ้านของสถาปนิกชื่อดังกลับกลายเป็นบ้านชาวบ้านธรรมดาที่มีประตูกั้นเป็นเพียงไม้ไผ่ขัดกัน ทางเข้าบ้านเป็นทางดินแดงที่มีต้นไม้ปลูกอยู่ตลอดสองข้างทาง ตัวบ้านเป็นเพียงบ้านกำแพงดินธรรมดาๆ ที่มีชั้นบนเป็นไม้ สิ่งที่เห็นยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่อาจารย์พูด สอน และเชื่อ อาจารย์ก็อยู่แบบนี้จริงๆ

อุปกรณ์ทั้งหลายจัดวางอย่างเป็นระเบียบอยู่ริมกำแพง จักรยานเก่าสีเขียวคันที่เคยเห็นอาจารย์ปั่นในคลิปเมื่อหลายปีก่อนยังจอดอยู่ในสภาพถูกใช้งานเป็นประจำ

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program
จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

ก่อนจะเริ่มบทเรียนการเพาะเมล็ดและแยกต้นกล้า อาจารย์สอนวิธีการแยกต้นกล้าเพื่อนำไปปลูกโดยใช้ดินเหนียวผสมกับหญ้าแล้วหมักไว้ในถังที่มีน้ำ เพื่อตักใส่แม่พิมพ์ซึ่งเป็นท่อทรงกระบอก ทิ้งไว้สักพักให้น้ำซึมออกไปบ้างจึงยกกระบอกขึ้น เพียงเท่านี้ก็จะได้ก้อนดินสำหรับเพาะแยกต้นกล้าโดยไม่ต้องใช้ถุงพลาสติกแล้ว มันธรรมดามาก แต่ก็เท่สุดๆ ไปเลย

อาจารย์พาเดินไปดูสวนป่าหลังบ้านที่ปลูกไว้ มีนาข้าวเล็กๆ ที่ภรรยาทำไว้ สอนตัดหญ้าโดยใช้กรรไกรตัดหญ้า เพราะแรงสั่นของเครื่องตัดหญ้ามีผลกระทบต่อร่างกาย แถมยังมีเศษที่น้ำมันเผาไหม้ไม่หมดตกลงในสวนด้วย

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

อาจารย์ออกแบบวิธีจัดการสวนด้วยการไม่ใช้เครื่องจักร มีวิธีการนั่งตัดหญ้าที่อิงกับท่าโยคะ การถางหญ้าด้วยพร้าที่ใช้การเหวี่ยงแทนการใช้แรง และการฝึกทำงานด้วยแขนทั้งสองข้างเพื่อความสมดุลของร่างกาย ทุกอย่างดูออกแบบมาให้ง่ายและทำได้ด้วยตัวเอง

บทเรียนที่ตั้งใจว่าจะได้รับก่อนมาคือ วิธีปลูกป่า ดูแลต้นไม้ และประเภทของไม้ป่า แต่สิ่งที่ได้รับกลับไปนอกจากจะได้ครบตามที่ตั้งใจไว้ทุกอย่างแล้ว ยังมีของแถมมาเพียบ เหมือนได้เติมเต็มหลายๆ เรื่อง รวมถึงตอบหลายๆ คำถามที่ค้างอยู่ในใจ

การได้เจอไอดอลของเราครั้งนี้คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม มันอาจไม่ได้ทำให้เราหยุดเปิดแอร์ในทันที แต่เราคงจะแบ่งเวลาออกมาปลูกต้นไม้เพื่อสร้างแอร์ในธรรมชาติมากขึ้น มันคงจะทำให้เราคันมือเมื่อเห็นเถาวัลย์กำลังจะเริ่มพันต้นกล้าต้นอ่อนๆ ที่เริ่มโต คงจะกลับบ้านไปลูบๆ คลำๆ ต้นไม้ในบ้านบ้าง

บ้านในฝันที่เคยจินตนาการไว้ว่าอยากสร้างให้อยู่สบายที่สุด กลับคิดว่าจะหาจุดสมดุลระหว่างความสบายที่พยายามรบกวนต้นไม้และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ให้น้อยที่สุดได้อย่างไรบ้าง

อย่างน้อยก็ทำให้เราเข้าใจความสำคัญในการมีอยู่ของต้นไม้ซึ่งมีต้นกำเนิดมาก่อนมนุษย์เรานานแสนนานเหลือเกิน

จุลพร นันทพานิช, ปลูกป่า, Mae Wang Wildlife Sanctuary, Gap Year Program

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ฉัตรพร นิลธรรมชาติ

เป็นคนขี้ลืมที่ชอบบันทึก เป็นคนติดบ้านที่ชอบเดินทาง เป็นคนกรุงเทพฯ ที่กำลังจะไปเป็นคนลำพูน FB. Pairnotebook IG. Pairnotebook