28 กันยายน 2018
10 K

เราเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือที่คนจะชอบเรียกกันว่า IR (International Relations) ในช่วงท้ายๆ ของการเรียนปีที่ 3 หลายๆ คนมักจะเริ่มวางแผนการฝึกงานภาคฤดูร้อน เรามองว่าการฝึกงานเป็นสิ่งสำคัญ เป็นโอกาสที่จะได้รู้จักตัวเองไปอีกขั้นหนึ่ง ด้วยเหตุผลหลายประการ และความกรุณาของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน เราจึงได้เดินทางไปฝึกงานที่ประเทศอิหร่าน

“คิดยังไงถึงไปอิหร่านวะ”

“พี่จะโทรมาคอนเฟิร์ม น้องไปฝึกงานที่ประเทศอิหร่าน ถูกไหมคะ”

อิหร่าน

การได้ยินประโยคเหล่านี้อยู่เสมอ ตอกย้ำความจริงที่ว่าคนทั่วไปไม่รู้จักประเทศอิหร่านมากนัก หรือหากรู้จักก็คงมีภาพจำในเชิงลบที่เกี่ยวกับสงคราม ความรุนแรง และผู้คนเคร่งศาสนา เราก็เป็นหนึ่งในคนทั่วไปที่เสพสื่อต่างประเทศ มีภาพจำที่ไม่ดี กล้าๆ กลัวๆ อยู่เหมือนกัน แต่ที่แน่ๆ คือเราเชื่อว่าภาพจำเหล่านั้นไม่ได้เป็นความจริงไปเสียทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อยากด่วนตัดสินไปก่อน และต้องการออกไปพบเจอความจริงด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อเหล่านั้นด้วยตนเอง

จากคนติดบ้าน ไม่ชอบพูด ปรับตัวไม่เก่ง และไม่เคยใช้ชีวิตในต่างประเทศนานๆ การต้องใช้ชีวิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิหร่าน เป็นเวลา 2 เดือน คือช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดในชีวิต การฝึกงานที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เราแทบไม่พบเจอความลำบากและความกังวลใจ จัดเป็นความท้าทายประเภทที่หากเราเตรียมตัวมาดีก็สามารถจัดการได้ไม่ยากนัก ชีวิตนอกสำนักงานภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ของประเทศอิหร่านนี่แหละของจริง

อิหร่าน อิหร่าน

มลภาวะบนท้องถนน การจราจรติดขัด และความร้อนจากการต้องแต่งตัวมิดชิดหัวจรดเท้า เป็นความประทับใจแรกที่เตหะรานมอบให้ มื้อกลางวันมื้อแรกคือเคบับไก่ที่ทั้งแห้งและเค็ม เท่านั้นยังไม่พอ ตอนเย็นหลังเลิกงาน เราต้องทนเบียดกับมวลมหาประชาแขกบนรถไฟฟ้าใต้ดินที่มีสภาพเก่า นึกในใจ นี่แค่วันแรก ชีวิตต้องเหนื่อยขนาดนี้เลยเหรอ อยู่กรุงเทพฯ ก็ดีอยู่แล้ว จะพาตัวเองมาลำบากทำไม

อิหร่าน

แต่ถ้าไม่ได้มาสัมผัสด้วยตนเอง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่า คนอิหร่านเป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ ยิ่งเห็นว่าเราเป็นต่างชาติก็ยิ่งตื่นเต้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เข้ามาขอถ่ายรูปตลอด ตั้งแต่ซอยหลังบ้านจนถึงย่านท่องเที่ยว ปกติเราขี้อาย ไม่ชอบการเป็นจุดสนใจ ช่วงแรกเรารู้สึกไม่ปลอดภัยเลยเวลาถูกจ้องมอง จนต้องใส่แว่นกันแดดเพื่อปิดบังใบหน้า ผลก็คือไม่ได้ช่วยอะไรเลย คนมองเยอะกว่าเดิมอีก หลังๆ ก็เริ่มชินและปรับตัวได้ ใครมองมาก็มองกลับ ยิ้มให้เขาไปเลย ก็กลายเป็นเรื่องราวดีๆ ไป

อิหร่าน

เด็กผู้ชายคนหนึ่งเห็นเราเดินอยู่ในซอย น้องรีบวิ่งเข้าร้านโชห่วยที่อยู่ใกล้ๆ ซื้อน้ำมาให้เราแล้วปั่นจักรยานตาม เพราะความอยากคุยด้วยทั้งๆ ที่น้องพูดอังกฤษแทบไม่ได้เลย น้องก็พูดภาษาฟาร์ซี (Farsi) ใช้ภาษามือบอกว่าตัวเองอายุกี่ขวบ เป็นโมเมนต์ที่น่ารัก เราได้รู้ว่าบางทีการเป็นจุดสนใจของคนอื่นก็มีความสุขไปอีกแบบ

อิหร่าน อิหร่าน อิหร่าน

ความท้าทายที่เราพบเจอ

ภาษา

คนที่ส่วนมากพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ มีวันหนึ่งเรามีนัด ต้องรีบไปที่แห่งหนึ่งให้ทันเวลา ก็โบกแท็กซี่สีเหลืองที่ใกล้ที่สุด ตกลงราคากันเสร็จสรรพคุณลุงคนขับเซย์เยส แต่พอขึ้นรถไปแล้วลุงเกิดอยากคิดอีกราคาหนึ่งที่แพงกว่า เราไม่มีทางเลือกเลยต้องยอม ยิ่งไปกว่านั้นคือรถติดมาก ลุงก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้และยังไม่รู้ทางอีก เพื่อนเราก็พยายามบอกทางลุงเป็นภาษาอังกฤษแบบช้าๆ และส่งโทรศัพท์ให้ลุงดูแผนที่ ลุงไม่เข้าใจ เลยยื่นโทรศัพท์ของเพื่อนเราไปให้รถคันข้างๆ ช่วยดู ตอนนั้นเรานึกในใจ “เฮ้ย แบบนี้ก็ได้เหรอวะ”

ตอนนั้นเครียดมาก โลกหมั่นไส้อะไรเรา รีบก็รีบ รถก็ติด ยังต้องมาเจออะไรแบบนี้เหรอ อยากขำแต่ก็ขำไม่ออก แต่พอผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ก็กลายอีกเป็นเรื่องที่คิดถึงกี่ทีก็ตลก

อิหร่าน อิหร่าน

โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต

ในเดือนแรกเราสามารถใช้ซิมการ์ดอิหร่านกับมือถือได้ตามปกติ แต่พอเข้าเดือนที่ 2 จากมือถือก็แปรสภาพมาเป็นที่ทับกระดาษ โทรศัพท์เราถูกระงับสัญญาณ เพราะนโยบายของรัฐบาลอิหร่าน ว่าด้วยหากมีความประสงค์จะใช้โทรศัพท์ที่ไม่ได้ซื้อในประเทศอิหร่านมากกว่า 1 เดือนจะต้องทำการลงทะเบียนโทรศัพท์และเสียภาษีให้กับรัฐบาลอย่างถูกต้อง มาตรการนี้มีขึ้นเพื่อป้องกันการนำเข้าโทรศัพท์แบบผิดกฎหมาย ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะมีซิมการ์ดอิหร่านที่เติมเงินแล้วก็ไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้อยู่ดี เพราะปัญหาอยู่ที่เครื่องนั่นเอง นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตก็ช้าและไม่ค่อยเสถียร ทำให้ติดต่อโลกภายนอกได้ลำบาก

 

การเดินทางคือการเรียนรู้

“ไม่ควรพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอิหร่าน”

ความที่เคยอ่านเจอประโยคนี้ในรีวิวท่องเที่ยว ทำให้เราคาดเดาว่าคนที่นี่คงจะมีอุดมการณ์สุดโต่ง การไม่ออกความคิดเห็นอะไรเลยคงจะดีที่สุด แต่กลายเป็นว่าคนอิหร่านหลายๆ คน พอรู้ว่าเราเป็นนักศึกษารัฐศาสตร์ ก็เริ่มบทสนทนากับเราด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการเมืองและสภาพเศรษฐกิจอย่างดุเดือด แสดงว่าคนรุ่นใหม่หลายคนมีแนวคิดหลากหลายต่อกฎเกณฑ์การปกครอง บางคนไม่เคร่งศาสนามาก แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่ค่อนข้างเคร่งศาสนาและชาตินิยมสูงก็ยังละหมาดกัน 5 เวลา

อิหร่าน

เราได้พบเจอผู้คนที่มีความเป็นปัจเจก แตกต่างหลากหลาย พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นมิตร ชอบช่วยเหลือ และไม่ได้ต้องการสงครามอย่างที่เราเคยเข้าใจ การได้ใช้ชีวิตในอิหร่านทำให้เราได้เห็นความจริงอีกชุดหนึ่ง ที่แตกต่างจากความจริงในสื่อต่างประเทศ อิหร่านมีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกมากมาย เพราะในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางจักรวรรดิเปอร์เซีย แหล่งอารยธรรมเก่าแก่โบราณอันรุ่งเรือง เรามีความสุขมากกับการได้เสพศิลปะ สถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ได้สังเกตวิถีชีวิตของผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่าง การเดินทางครั้งนี้ทำให้เรากระตือรือร้นที่ตื่นมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในทุกๆ วัน

อิหร่าน อิหร่าน

ต้องขอบคุณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน รวมทั้งเพื่อนคนไทยและคนอิหร่านที่ใจดีกับเรา ทำให้ 2 เดือนในอิหร่านเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดในชีวิตและแสนสั้นจนน่าใจหาย  

แม้เราจะมีชีวิตที่ไม่สะดวกสบาย และอาหารอิหร่านจะรสชาติพิลึกจนเรากินไม่ค่อยได้

แต่รสชาติของความท้าทาย แม่ง โคตรอร่อยเลยว่ะ

อิหร่าน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิชา รุ่งโรจน์ธนกุล

เด็กผู้หญิงที่นิสัยไม่ค่อยเหมือนผู้หญิง ใฝ่ฝันอยากมีชีวิตที่เรียบง่ายแต่ไม่จืดชืด ขอแค่ได้นอนครบ 10 ชั่วโมงทุกวัน ชอบการได้ของขวัญเป็นเพลงใหม่ที่บังเอิญเจอแล้วถูกใจ