11 กรกฎาคม 2018
24 K
เวลา 10.00 น.

ระหว่างเดินอยู่บนถนนในเมืองฮิโรชิม่า ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของปราบดา หยุ่น ที่ชื่อ ฝนตกตลอดเวลา

ก่อนมาเยือนผมตรวจสอบสภาพอากาศมาแล้วจากประเทศบ้านเกิด แต่ไม่รู้ว่าพายุฝนจะซัดสาดและต่อเนื่องยาวนานขนาดนี้ ชนิดไม่เปิดโอกาสให้พื้นแห้งแม้เพียงนาที-วินาที

ช่วงเวลาแบบนี้ร่มกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นเหนือสิ่งอื่นใดสำหรับการสัญจรในเมืองด้วยเท้า แต่นั่นแหละ แม้จะมีร่มก็กันได้แค่ครึ่งบนของร่างกาย ช่วงครึ่งล่างของผมเปียกชุ่มราวกับเพิ่งเดินขึ้นจากสระน้ำโดยไม่ถอดกางเกง

มะลิ ผู้นำทางสาวชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเล่นภาษาไทยบอกว่า นี่คือช่วงเวลาที่ฝนตกหนักที่สุดในญี่ปุ่นในรอบ 50 ปี

“โชคดีนะ ได้อยู่ในช่วงเวลาแบบนี้” มะลิพูดแซวด้วยอารมณ์ขัน อย่างน้อยก็มีเรื่องที่พวกเราได้หัวเราะแม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เริ่มรู้ว่าไม่ค่อยดีนัก

แต่ตอนนั้นผมก็ไม่รู้หรอกว่าพื้นที่รอบนอกเขตที่เราอยู่อาศัยนั้นกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่ชีวิตเคยเจอ

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
เวลา 19.00 น.

ระหว่างนั่งกินอาหารมื้อค่ำอยู่ในร้านโอโคโนมิยากิ ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของฮิโรชิม่า โทรศัพท์เคลื่อนที่ในกระเป๋ากางเกงของผมก็ดังด้วยเสียงไม่คุ้นเคย

ก่อนที่เสียงเดียวกันจะดังจากโทรศัพท์เครื่องอื่นๆ ของเพื่อนร่วมโต๊ะและคนแปลกหน้าร่วมร้าน

นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยินเสียงแบบนี้จากโทรศัพท์ ไม่ได้มีใครโทรเข้า ไม่ได้มีไลน์จากใครส่งมา ไม่มีข้อความที่ยังไม่ได้อ่าน

ผมเพิ่งรู้ว่ามันคือสัญญาณเตือนภัยพิบัติจากรัฐบาลที่ส่งตรงถึงทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ เมื่อหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูก็จะเห็นคำเตือนต่างๆ ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรยามนี้

ผมเพิ่งเริ่มตระหนักนาทีนั้นว่าพวกเราทั้งผม พี่ช่างภาพ มะลิ และพี่จูน ผู้นำทางอีกคน กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น

หลังจากดังครั้งแรกโทรศัพท์ก็ดังเป็นระยะ ถี่ขึ้น และถี่ขึ้น

เสียงที่ดังเป็นระยะนี้นอกจากบอกผมว่าขณะนี้มีภัยธรรมชาติที่ต้องระมัดระวัง เตรียมตัวอพยพเมื่อจำเป็น มันยังบอกถึงการเตรียมความพร้อมของประเทศญี่ปุ่น

ไม่ใช่แค่ข้อความเตือนที่ส่งตรงถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทุกคนเท่านั้น ยังมีแอพพลิเคชันอีกมากมายให้โหลดไว้ติดเครื่อง เพื่อเรียกใช้ยามตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชันที่แนะนำวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ หรือแอพพลิเคชันที่บอกตำแหน่งของศูนย์อพยพ

ผมเองเคยตกอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีญาติๆ ติดอยู่ในช่วงน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอหาดใหญ่หลายครั้ง แต่ทุกครั้งกว่าพวกเราจะรู้ตัวน้ำก็แทบจะมาเคาะประตูบ้านอยู่แล้ว ความเสียหายหลายอย่างที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้จึงหลีกไม่ทัน

เหมือนความรู้เราน้อยไปนิด ข้อมูลเราน้อยไปหน่อย (ข้อมูลที่มีก็แยกไม่ออกอีกว่าลือหรือจริง) ต่างจากญี่ปุ่นที่ทุกข้อมูลนั้นมีประโยชน์และตรวจสอบอย่างแม่นยำแล้วจึงถูกส่งตรงถึงที่ ไม่ว่าเราจะอยู่ซอกมุมไหนในเมืองซึ่งตกอยู่ในสภาวะเสี่ยง

แม้พวกเราที่นั่งอยู่หน้าเตาในร้านโอโคโนมิยากิก็ไม่เว้น

ยังไม่นับความรู้ต่างๆ ที่บ้านเมืองเขาปลูกฝังกันตั้งแต่เด็กๆ ถึงวิธีการเอาตัวรอดยามประสบภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือภัยอื่นใด ชาวอาทิตย์อุทัยคล้ายถูกปลูกฝังอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว

นาทีแรกที่รู้ต้องปฏิบัติตัวยังไง ภายใน 72 ชั่วโมงต้องทำอะไร ทุกคนคล้ายมีไบเบิลในการเอาตัวรอดติดตัว ต่างจากบ้านเราที่ยามเจอภัยธรรมาติหนักหน่วงทีแทบจะทำอะไรไม่ถูกนอกจากขนของขึ้นชั้นสอง

ถ้าจะมีข้อดีอะไรสักอย่างสำหรับผู้ที่ต้องอยู่กับภัยธรรมชาติ ผมคิดว่าคงเป็นการทำให้ผู้คนตระหนักว่าความรู้และข้อมูลนั้นสำคัญ

บางทีมันตัดสินชีวิตที่อยู่ระหว่างความเป็นความตายได้เลย

เวลา 22.00 น.

อะไรหลายๆ อย่างเหมือนจะน่าวิตกขึ้นทุกนาที

นอกจากน้ำบนฟ้า มีสัญลักษณ์หลายอย่างที่บ่งบอกว่าชาวเมืองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายอันไม่อาจประเมินได้ ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำในแม่น้ำที่เริ่มเปลี่ยนจากสีใสเป็นสีน้ำตาลแบบกาแฟใส่นมแต่แท้จริงคือน้ำป่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำก็สูงขึ้นชนิดสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า และยังไหลเชี่ยวชนิดหากเผลอไผลตกลงไปอาจหายวับไปกับตา

เมื่อกลับถึงห้องพัก รายการโทรทัศน์ก็พร้อมใจกันรายงานข่าวภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นเป็นรายการเฉพาะกิจ แทนที่รายการจิปาถะอย่างที่คุ้นเคย ทำให้ผมรู้สถานการณ์นอกตัวเมืองที่ผมอาศัย

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น

ภาพเคลื่อนไหวในจอโทรทัศน์คือภาพน้ำท่วมเกือบมิดหลังคาบ้าน น้ำสีเดียวกับที่ผมเห็นในแม่น้ำนั่นแหละ บางคนยืนโบกมือขอความช่วยเหลืออยู่บนหลังคา

แม้จะมีความรู้เพียงใด เตรียมพร้อมรับมือแค่ไหน แต่กับธรรมชาติ เราก็ไม่อาจคาดเดาได้

จากข่าวที่ดู ทำให้รู้ว่าฝนที่ตกหนักในทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายจังหวัด ชาวเมืองกว่า 2 ล้านคนต้องอพยพไปยังที่ปลอดภัย มีผู้เสียชีวิตแตะหลักร้อยและผู้บาดเจ็บหลายร้อยคนจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยฮิโรชิม่าที่ผมอยู่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ตัวเลขขณะนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 44 คน

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น

และจากเหตุดินถล่มกว่าสี่สิบจุดทำให้ระบบคมนาคมขนส่งในพื้นที่ต้องยกเลิกตารางการเดินทางเพื่อความปลอดภัยของทุกคน

คงไม่ใช่เรื่องเดือดร้อนอะไร ถ้าไม่บังเอิญว่าวันรุ่งขึ้นผมมีเหตุจำเป็นที่จะต้องโดยสารชินคันเซ็นจากฮิโรชิม่าไปยังโกเบ

เงื่อนไขเดียวขณะนั้นคือทำยังไงก็ได้

แต่เราต้องไปโกเบ

เวลา 11.00 น.

พวกเราเดินไปยัง Hiroshima Station

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น

เดินไปทั้งๆ ที่รู้ว่ารถไฟชินคันเซ็นยังยกเลิกทุกเที่ยวการเดินทาง จะว่าหวังลมๆ แล้งๆ ก็ไม่ผิดนัก ความหวังอันริบหรี่มีเพียงข้อมูลจากผู้นำทางของเราที่บอกว่า บ่าย 3 โมงเขาจะประกาศอีกครั้งว่าวันนี้ชินคันเซ็นจะเปิดให้บริการได้หรือใหม่

ไม่ใช่แค่พวกเรา มีนักท่องเที่ยวและชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยหอบข้าวของมารอที่สถานีด้วยหวังว่ารถไฟหัวกระสุนจะกลับมาให้บริการ

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น

เราซื้ออาหารและเครื่องดื่มเตรียมพร้อมสำหรับการรอคอยที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงตอนไหน

เมื่อเดินขึ้นไปยังชานชาลา ผมเห็นชินคันเซ็น 2 ขบวนจอดขนาบซ้ายขวา ขบวนหนึ่งมีคนนั่งอยู่ด้านในเต็มแทบทุกที่นั่ง มะลิเล่าว่าคนเหล่านี้ติดค้างอยู่ที่สถานีตั้งแต่เมื่อคืน เนื่องจากเหตุดินถล่มในหลายพื้นที่ทำให้รถไฟจำเป็นต้องหยุดให้บริการกะทันหัน ส่วนอีกขบวนประตูปิดสนิท ไม่มีใครอยู่ในนั้น

พวกเราเดินไปยังชานชาลาที่มีผู้คนนั่งเข้าคิวกันอยู่แล้ว

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
เวลา 15.00 น.

ไม่มีวี่แววว่ารถที่จอดนิ่งอยู่คล้ายคนหลับสนิทจะถูกปลุกเมื่อใด

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
เวลา 16.00 น.

คนเริ่มเพิ่มขึ้นจนชานชาลาอบอุ่น แต่นั่นแหละ พวกเราทั้งหมดที่นั่งรอกันอยู่นี้อาจผิดหวังด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
เวลา 18.00 น.

ความสมหวังจากการรอคอยรสชาติหอมหวานแค่ไหน มีเพียงผู้อดทนเท่านั้นที่ได้สัมผัส

ขณะที่ผมเดินไปห้องน้ำเพื่อถ่ายเทของเหลวออกจากร่างกาย พี่ช่างภาพวิดีโอผู้ร่วมชะตากรรมก็โทรศัพท์มาบอกข่าวดีว่าตอนนี้ชินคันเซ็นที่จอดสงบอยู่เปิดไฟ ผมได้ยินอย่างนั้นก็รีบกึ่งเดินกึ่งวิ่งกลับมายังชานชาลาโดยไม่ลืมล้างมือ

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น

เมื่อเดินขึ้นมายังชานชาลาก็เห็นว่ารถไฟตื่นแล้ว ผู้คนที่นั่งรอคอยต่างยืนกันต่อคิวเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างผู้มีความหวังว่าจะได้ออกเดินทางเร็วๆ นี้

แถวขดเป็นงูแต่ก็ยังพอดูรู้ว่าใครคือผู้มาก่อน

ภาพที่เห็นทำให้ผมนึกถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่ผมเคยเห็นผ่านหน้าจอทีวียามญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติแล้วผู้คนต่อคิวรับอาหารหรือสิ่งของกันอย่างเป็นระเบียบ

ไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาวะคับขันเพียงใด ญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นญี่ปุ่น

ลูกพระอาทิตย์ก็ยังเป็นลูกพระอาทิตย์

ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เจ้าของนามปากกา เกตุวดี ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ของ The Cloud เคยให้สัมภาษณ์ว่า การสร้างชาติของญี่ปุ่นนั้นเน้นที่ความเป็นระเบียบวินัยและพฤติกรรมที่ไม่มีระเบียบอย่างการแซงคิวถือเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของสังคม

นั่นทำให้แม้ในช่วงเวลายากลำบากที่แต่ละคนควรจะดึงสัญชาตญาณการเอาตัวรอดออกมาใช้ แต่ทุกคนก็คล้ายควบคุมตัวเองได้อย่างดี แม้ในช่วงเวลาที่รีบที่สุด หิวที่สุด กระหายที่สุด ยากที่สุด สิ้นหวังที่สุด คนญี่ปุ่นก็ยังรู้จักการรอคอย

และแล้วการรอคอยของพวกเราทุกคนก็สิ้นสุดลงหลังจากนั่งรอกันมากว่า 6 ชั่วโมง

เมื่อประตูรถไฟชินคันเซ็นเปิดออก

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
เวลา 19.00 น.

วิวสองข้างทางมืดมิดแต่ผมคล้ายเห็นแสงสว่าง

ภาษาญี่ปุ่นดังเป็นระยะขณะที่รถเคลื่อนที่ไปถึงแต่ละสถานี พี่จูน ผู้นำทางแปลให้ฟังว่า เขาประกาศขอโทษที่ทำให้ทุกคนต้องเดือดร้อนย้ำว่าประกาศหลายรอบ

ซึ่งความจริงไม่ต้องขอโทษก็ได้ ทุกคนรู้ว่านี่ไม่ใช่ความผิดของผู้ให้บริการ นี่เป็นภัยธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ญี่ปุ่นก็ยังคงเปี่ยมความรับผิดชอบโดยเฉพาะการรับผิด ต่างจากบางบ้านเมืองที่เรื่องนี้ยังอยู่ห่างไกล

ระหว่างนั่งอยู่บนชินคันเซ็นขบวนที่มุ่งหน้าสู่โกเบ ผมเปิดโทรศัพท์เคลื่อนที่ติดตามสถานการณ์ไปด้วย ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจากวันก่อน จำนวนผู้สูญหายก็เช่นเดียวกัน ในใจภาวนาให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี

ฮิโรชิม่า, ภัยพิบัติ, น้ำท่วม, ญี่ปุ่น
ภาพ www.scmp.com

ใจหนึ่งเป็นห่วง แต่อีกใจก็รู้ว่าญี่ปุ่นผ่านไปได้อยู่แล้วเหมือนที่พวกเขาผ่านมาได้นับครั้งไม่ถ้วน ภัยพิบัติทุกครั้งที่ผ่านมาหล่อหลอมให้เขาเป็นนักสู้

อย่างที่รู้กัน ยามที่เราพังทลายแล้วสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ เราจะแข็งแกร่งกว่าเดิม

ว่าถึงตรงนี้ผมนึกถึงบางประโยคของเด็กชายคนหนึ่งจากหนังสือชื่อ ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยกัน ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กๆ และครอบครัวที่ผ่านเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 ซึ่งเขียนโดย เคน โมงิ และแปลโดย มารินา โคบายาชิ

ตลอดชีวิต 16 ปี ผมประสบมาหมดแล้วทั้งความเศร้า ความทุกข์ ความเจ็บใจ ความเหงา ความทรมาน ความหวาดกลัว ความหิว ความยินดี ความสนุกสนาน และความดีใจ ผมไม่มีบ้านให้อยู่อีกแล้ว และยังต้องอยู่ศูนย์อพยพต่อไป แต่ผมคิดว่าในเมื่ออุตส่าห์รอดชีวิตจากการถูกสึนามิไล่ล่ามาได้ จากนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะไม่ยอมแพ้ และพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไป”

ฟ้าหลังฝนนั้นสวยงามเรารู้ แค่เราต้องอยู่ให้ถึงเวลานั้น

ขอให้ชาวเมืองทุกคนปลอดภัยและรอเวลาฝนหยุดตกไปด้วยกัน

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์

อดีตบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ The Cloud และเจ้าของนามปากกา jirabell เขียนหนังสือมาแล้ว 5 เล่มชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox และ รักเขาเท่าทะเล

Photographer

Avatar

วินัย สัตตะรุจาวงษ์

ผู้กำกับรายการและโฆษณาที่ช่วงนี้หันมาสนใจงานแนวสารคดี จึงเน้นทำงานที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาคือ รายการ human ride และ เป็น อยู่ คือ