14 กรกฎาคม 2018
21 K

แรงลมที่ปะทะใบหน้าพร้อมกับสายฝนบนรถกระบะเปิดท้ายของ ‘ลุงเจริญ’ ประหนึ่งนั่งรถไฟเหาะโรลเลอร์โคสเตอร์พาพวกเราจากอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นมาสู่ ‘ดอยปู่หมื่น’ ดอยสูงวิวสวยที่ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ชา’ มายาวนาน อากาศเย็นสบายของที่นี่ทำให้ใจที่ไม่ค่อยนิ่งแบบคนเมืองของฉันสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดอยปู่หมื่น ที่นี่ไม่วุ่นวาย แต่คงไม่สบายเท่าไหร่

ความสบายไม่ใช่ปัจจัยหลักที่พวกเราแสวงหาในการเดินทาง ตัวฉันเองก็เป็นเพียงฟันเฟืองเล็กๆ ในการเดินทางที่ยิ่งใหญ่ด้วยจำนวนสมาชิกกว่า 35 ชีวิต มีทั้งรู้จักกันมาก่อน เคยเห็นหน้ากันมาบ้าง และไม่รู้จักกันเลย แต่จุดร่วมที่มีเหมือนกันคือการมาตามคำชักชวนของครูอันเป็นที่รักของพวกเรา ครูเป้-ดร.พีรยา หาญพงศ์พันธุ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยกรุงเทพ พวกเรามาเป็นแรงงานร่วมกันฟื้นฟูแบมบูแค้มป์ โฮมสเตย์ของ ลุงเจริญ ไชยกอ ผู้นำชุมชนและเป็นแกนนำกลุ่มโฮมสเตย์ดอยปู่หมื่น

การรวมตัวของนักเดินทางผู้มีใจรักการผจญภัย จึงเต็มไปด้วยความหลากหลาย ต่างสาขา ต่างคณะ ต่างอายุ ต่างมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นเด็กกิจกรรม เด็กเรียน เด็กค่าย เด็กสตาฟฟ์ คณาจารย์ และกลุ่มศิษย์เก่า

รถบัสพาพวกเราออกจากเมืองใหญ่ รอนแรมข้ามคืนจากเย็นย่ำในเมืองกรุงจนถึงรุ่งเช้าในเมืองเล็กๆ พวกเรารู้สึกได้ถึงความเย็นจากสายฝน เมื่อรถเริ่มเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งมาลงรถที่จุดนัดพบในตัวอำเภอฝาง ลุงเจริญคอยพวกเราอยู่ที่นี่พร้อมรถกระบะสามคันที่จะบรรทุกพวกเรามุ่งหน้าสู่ดอยปู่หมื่น ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 2,285 เมตร

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

เส้นทางที่คดเคี้ยว หลายร้อยโค้ง และสูงชัน รถกระบะเล็กไต่ความสูงขึ้นมาอย่างไม่หวาดหวั่น ถนนสายเล็กที่อาจจะดูคับแคบ รถแทบจะสวนกันไม่ได้ กลับทำให้พวกเราสัมผัสถึงความกว้างใหญ่ของธรรมชาติ และน้ำใจของผู้คนที่พร้อมจะยอมให้ทางเพื่อให้รถของอีกฝ่ายหนึ่งได้ไปก่อนเสมอ รถเล็กฝ่าสายหมอกเบาบางที่ยังคงพอมีให้เห็น แม้ว่าเวลาเกือบจะเที่ยงวันแล้วก็ตาม

ลุงเจริญ ผู้นำชุมชนและเจ้าของโฮมสเตย์ที่ต้อนรับนักเดินทางจากแดนไกล เล่าให้พวกเราฟังถึงบรรพบุรุษที่สืบเชื้อสายมาจาก ‘ปู่หมื่น’ ซึ่งพาชนเผ่าชาวลาหู่อพยพจากธิเบต ผ่านจีน ถึงพม่า จนกระทั่งมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่กว่าสามชั่วอายุคนหรือที่เราคุ้นเคยกันดีในชื่อชาวเขาเผ่ามูเซอ พวกเขาโชคดีกว่าใครที่ได้ใกล้ชิดพ่อหลวง

ก่อนหน้าที่พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งผลิตชาอันเลื่องชื่อ พวกเขาเคยปลูกฝิ่นมาก่อน การเดินทางเข้ามาบนดอยสูงของพ่อหลวงเป็นแรงใจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงให้พวกเขาลงมือปลูกชาและไม้เมืองหนาวอื่นๆ ขั้นบันไดสีเขียวที่เรียงรายไปตามไหล่เขาคือ ‘ต้นชา’ ซึ่งเป็นผลผลิตของความผูกพันระหว่างพวกเขากับพ่อหลวงที่สร้างสรรค์ด้วยหัวใจ ตั้งแต่ขั้นตอนปลูก เก็บ อบ จนกลายเป็นชาคุณภาพดี

ลุงเจริญมีพี่น้อง 11 ชีวิต รวมทั้งมีหลานๆ ที่มาช่วยดูแลโฮมสเตย์ เราได้รับคำบอกเล่าว่า หนึ่งในดาราสาวที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ริชชี่-อรเณศ ดีคาบาเลส เป็นหนึ่งในหลานสาว ซึ่งเธอเป็นลูกของน้องสาวลุงเจริญ ภาพของเธอที่ยิ้มอย่างสดใสปรากฏอยู่ในโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวชุมชนดอยปู่หมื่น กับสโลแกนที่ทำให้เราจดจำที่นี่ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ‘วิถีลาหู่ ยอดภูปู่หมื่น ชิมชาอัสสัมหอมกรุ่น’

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

ผลผลิตแห่งความผูกพันไม่ได้มีเพียงชาและกาแฟ แต่ยังมีผลผลิตทางความคิดที่บ่มเพาะการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน พึ่งพาตนเองของชาวเขาเผ่าลาหู่ พวกเขารวมตัวกันสร้างเครือข่าย ‘กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชนดอยปู่หมื่น’ ที่เข้มแข็ง ร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนา ‘โฮมสเตย์ดอยปู่หมื่น’ เพื่อเชิญชวนนักเดินทางจากทั่วโลกให้มาสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรมแบบชาวลาหู่ เช่น การดื่มชาที่คั้นน้ำจากยอดอ่อนใบชาคุณภาพดี ลองลิ้มชิมรสอาหารพื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นไก่ย่าง น้ำพริกผักสไตล์ลาหู่ การหุงข้าวด้วยกระบอกไม่ไผ่ และชมการแสดงทางวัฒนธรรมสุดน่ารักรอบกองไฟของเด็ก ๆ แสนซนชาวลาหู่

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

ในฤดูกาลที่พวกเรามาเยือน ต้นไม้สูงใหญ่ยังคงชุ่มฉ่ำไปด้วยหยาดน้ำฝนที่สดชื่น อีกทั้งความหนาวเย็นที่นักเดินทางจะได้สัมผัสเกือบตลอดทั้งปี พร้อมกับมิตรภาพของผู้คนที่นี่ โดยเฉพาะความร่าเริงของเด็กชายชาวลาหู่ ที่ไม่เคยมีความกังวลอยู่ในแววตา พวกเขาสนุกกับชีวิต ฉันได้ยินเสียงหัวเราะยามเช้าตอนที่พวกเขากระโดดลงเล่นน้ำในลำคลอง บ้างก็ชวนกันขี่ควายเล่น รอยยิ้มของพวกเขา และความกล้าที่จะกระโดดโลดเต้น โดยไม่กลัวการลื่นหกล้ม ทำให้ฉันมองเห็นโลกทั้งใบงดงามขึ้นมาในทันที เด็กๆ ได้เรียนรู้จากโลกความเป็นจริง จากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว พวกเขาจึงเติบโตขึ้นมาด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง สามารถดูแลตัวเองและผู้อื่นได้

ส่วนพวกเรา การใช้ชีวิตเกือบ 5 วันที่นี่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาไม่แพ้กัน พวกเราแบ่งงานกันทำ มีหลากหลายทีม ทั้งก่อสร้าง ปลูกผัก ทำอาหาร ช่วยกันลงมือเก็บกวาด ทำความสะอาดพื้นที่ เก็บขยะ ทาสี ลำเลียงวัสดุก่อสร้าง ช่วยกันประกอบร่างแบมบูแค้มป์ให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่น่าเชื่อว่าบ้านพักหลังเล็กน่ารักที่สร้างด้วยไม้ไผ่เกือบทั้งหลังที่ตั้งอยู่บนยอดเขาสูง จะยืนหยัดต้านทานแรงลมพายุที่พัดกระหน่ำเมื่อปีที่แล้วได้ ร่องรอยความเสียหายจากพายุที่พัดพาหลังคาบ้านพักไปไม่ได้ทำให้ลุงเจริญท้อใจแม้แต่น้อย กลับมีแต่พลังใจที่อยากจะฟื้นฟูแบบบูแค้มป์ให้กลับมาสวยงามดังเดิม

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

ความตั้งใจของลุงเจริญและเครือญาติคือการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเปิดพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคน ให้ได้ใกล้ชิด เคารพ รักษา ดูแลธรรมชาติ ตามความตั้งใจของพ่อหลวงที่ลุงเจริญได้เคยเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดเกือบทุกปีที่ผ่านมา ไม่ว่าพวกเราจะเดินไปสำรวจ เรียนรู้ ในจุดใดของชุมชนดอยปู่หมื่น ความสงบ เรียบง่าย และใกล้ชิดกับธรรมชาติคือเสน่ห์ของดอยปู่หมื่นที่ทำให้นักเดินทางอยากจะกลับมาเยือนที่นี่อยู่เสมอ

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

ฉันยังประทับใจกับวิถีชีวิตของชาวลาหู่ หลงใหลในบ้านไม้ไผ่ที่รอยแยกของไม้เรียงประสานกันทำให้ลมเย็นผัดผ่านเข้ามาในตัวบ้านได้อย่างสบาย โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศ กลิ่นอบอวลจากการชงชา และการล้อมวงดื่มชากลางบ้านของชาวลาหู่ช่วยคลายความหนาวได้เป็นอย่างดี

พวกเราได้มีโอกาสลัดเลาะ สำรวจชุมชน บรรดาคุณลุง คุณป้า เชื้อเชิญพวกเราเยี่ยมชมบ้านของชาวลาหู่ประหนึ่งว่าพวกเราเป็นลูกหลานที่กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสื่อสารเลย เราสื่อสารกันด้วยสีหน้า ท่าทาง และแววตาที่เป็นภาษาสากล เราต่างเข้าใจอีกฝ่ายได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีล่ามแม้แต่น้อย

ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย ดอยปู่หมื่น, ไร่ชา, ฝิ่น, ลาหู่, โฮมเตย์, ดอย

เสียงเพลงกระรอกน้อย ฟะทอแอ ที่ดังขึ้นในคืนวันรองสุดท้ายก่อนกลับบ้านทำให้พวกเราปลดปล่อยความเหนื่อยล้าจากการทำงาน เด็กน้อยกว่า 20 ชีวิตที่ยืนอยู่ตรงหน้า พวกเขาคือผู้ที่จะเข้ามาช่วยสืบสานวัฒนธรรมของชาวลาหู่ ความสดใสอยากรู้อยากเห็นแบบเด็กๆ คือพลังสำคัญที่จะจุดไฟการเรียนรู้ชีวิตของพวกเขาให้โชติช่วง

ตลอดระยะเวลาที่อยู่บนดอยปู่หมื่น พวกเราได้ทำงานตามภารกิจที่ตั้งใจไว้ ฝนชุ่มฉ่ำโปรยปรายมาอย่างสม่ำเสมอในยามเย็นเกือบทุกวัน เด็กชาวแค้มป์ก่อกองไฟอันอบอุ่น ค่ำแล้ว ฉันคิดว่า ที่นี่ไม่วุ่นวาย และสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการอยู่กับธรรมชาติที่อยู่ตรงหน้า และวางทุกอย่างที่วุ่นวายไว้ รอเวลาที่เราจะกลับไปเผชิญหน้าด้วยหัวใจที่เข้มแข็งกว่าเดิม

ทำความรู้จัก ดอยปู่หมื่น ลาหู่ โฮมสเตย์

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ศุภมณฑา สุภานันท์

ศุภมณฑา สุภานันท์

สนใจเรียนรู้เรื่องราวรอบตัว ชีวิต ผู้คน สังคม รักการอ่าน งานศิลปะ ภาพยนตร์ และการเดินทาง ชอบฤดูหนาว หลงใหลการฟังเสียงของธรรมชาติ

Photographer

Avatar

พันทิพา สานิพามณี

ทำงานสื่อสารอยู่ในองค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ชอบถ่ายรูปและหลงใหลในธรรมชาติ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ก้าวย่างออกจากสังคมเมือง ไปสัมผัสวิถีชีวิตแบบบ้านๆ