0

ถ้าเลือกได้

บ้าน อพาร์ตเมนต์ หรือคอนโดมิเนียม แบบไหนที่คุณอยากอยู่

แบบที่มินิมอล แบบที่รายล้อมไปด้วยของรักของหวง แบบไหนก็ได้ขอเพียงมีคนที่รักและเข้าใจ

เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กำลังขายบ้าน หรือพูดถึงขนาดของพื้นที่สะท้อนความสุข ตลอดจนวิถีชีวิตดีๆ แบบที่ใครเขาพูดกัน แต่กำลังยืนอยู่หน้า Casa Mila หรือบ้านของครอบครัวมิล่าในบาร์เซโลนา หนึ่งในผลงานของ Antoni Gaudi (อันตอนี เกาดี) สถาปนิกชาวกาตาลัน ผู้สร้างมหาวิหารซากราด้า ฟามีเลีย (The Sagrada Familia) โบสถ์ที่สร้างมาแล้ว 136 ปีและยังไม่คงสร้างไม่เสร็จจนถึงทุกวันนี้

Casa Mila, ประเทศสเปน

นอกจากเป็นบ้านและชุดห้องพักของคนรวยเมื่อร้อยปีก่อนแล้ว อาคารสูง 9 ชั้นหลังนี้มีเรื่องราวสนุกๆ มากมายเต็มไปหมด ตั้งแต่ที่มาของอพาร์ตเมนต์ การออกแบบที่ใช้เวลากว่า 5 ปี เพราะทั้งบู๊และบุ๋นกันระหว่างสภาเทศบาลเมือง นักออกแบบ และเจ้าของบ้าน ส่วนเรื่องของรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในงานออกแบบชั้นครูนั้นกลายเป็นเรื่องรองไปเลยเมื่อเรารู้ว่าหลังสร้างเสร็จได้ไม่นานเพื่อนบ้านทั้งละแวกต่างพูดใส่เลดี้มิล่าให้ทุบบ้านทิ้ง เพราะทั้งน่ากลัวและน่าเกลียด

แต่เธอและสามีก็ยังทนอยู่

Casa Mila, ประเทศสเปน

จนบ้านหลังนี้กลายเป็นอาคารเอกชนเพียงไม่กี่หลังในโลกที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังบาร์เซโลนาปีละนับล้าน

เรื่องราวที่ได้จากการเยี่ยม Casa Mila นี้ บอกเราว่าการอยู่ในแวดล้อมที่เราไม่ได้ชอบนักคงไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเท่าไหร่

 

1

‘รวย’ อย่างเดียวไม่พอ ต้อง…ด้วย

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1900 ถนนกราเซียถือเป็นย่านสำคัญของเมืองบาร์เซโลนา เพราะเป็นที่ตั้งของโรงหนัง โรงละคร ร้านค้าหรู และคาเฟ่ และเป็นทำเลทองที่ผู้มั่งคั่งในเมืองนี้พร้อมใจกันเลือกลงหลักปักฐาน

Casa Mila, ประเทศสเปน

เช่นเดียวกับคู่รักข้าวใหม่ปลามัน อย่าง Pere Mila หนุ่มใหญ่นักธุรกิจและนักกฎหมายผู้ร่ำรวย และ Roser Segimon แม่หม้ายสาวผู้ร่ำรวยไม่แพ้กัน จากมรดกของสามีเก่าผู้สร้างตัวจากธุรกิจกาแฟในกัวเตมาลา ของขวัญวันแต่งที่เลดี้มิล่าซื้อให้ตัวเองคือที่ดินขนาด 1,835 ตารางเมตรบนถนนกราเซีย

นอกจากที่ดินและไลฟ์สไตล์เสพศิลปะ เครื่องมือแสดงความรวยจริงของคนเมืองนี้ คือการจ้างศิลปินให้มาออกแบบบ้านทั้งหลัง ซึ่งยุคนั้นในยุโรปกำลังให้ความสนใจงานศิลปะแนวนวศิลป์ (Art Nouveau) สรรพสิ่งที่โค้ง พลิ้วไหวเกินธรรมชาติ งานไม้แกะสลัก เหล็กดัด และกระจกสีสเตนกลาส ชื่อของอันตอนี เกาดี สถาปนิกคนดังทำงานโดดเด่นในสไตล์โมเดร์นิสม์ หรืองานศิลปะแนวนวศิลป์ในแบบกาตาลัน จึงเป็นที่หนึ่งในใจของนายและนางมิล่า โดยเฉพาะผลงานที่ผ่านมาอย่าง Casa Batlló

โจทย์ของการออกแบบคฤหาสน์หลังนี้เรียบง่ายแต่น่าสนใจ นั่นคือต้องการพื้นที่สำหรับพักอาศัยที่ชั้นหนึ่งและอีก 4 ชั้นทำเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า

รวยอย่างเดียวไม่พอ ต้องฉลาดสุดๆ ด้วย

ถ้าเป็นคนรวยธรรมดาๆ คงทุ่มเงินสร้างเรือนหออยู่ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานแล้วจบไป แต่ครอบครัวมิล่ามองไกลกว่านั้น

Casa Mila, ประเทศสเปน

 

2

‘อันตอนี เกาดี’ อย่างเดียวไม่พอ ต้อง…ด้วย

คงไม่ใช่เรื่อง หากจะสร้างอาคารที่คิดถึงห้องชุดจำนวนมาก มีที่จอดรถชั้นใต้ดิน มีลิฟต์ มีห้องใต้หลังคา มีประติมากรรมบทชั้นดาดฟ้า ในสมัยนี้

แต่ถ้าเป็นเมื่อ 100 กว่าปีก่อนคงไม่มีใครนึกภาพออกแน่ๆ

หลังจากคุณเกาดีส่งแบบร่างอพาร์ตเมนต์หรู 9 ชั้นบนถนนกราเซียแก่สภาเทศบาลบาร์เซโลนา ในปี 1906 การก่อสร้างจึงเริ่มต้นขึ้น ก่อนจะตามมาด้วยการร้องเรียนของสภาเทศบาล ทั้งเรื่องเสาที่ล้ำออกมาตรงทางเดินถนนและการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่เกินอนุญาต พร้อมสั่งให้รื้อถอนห้องใต้หลังคาและดาดฟ้า แต่ต่อมาคณะกรรมาธิการผังเมืองใหม่ช่วยแก้ต่างแทนให้ โดยให้เหตุผลว่าสิ่งปลูกสร้างนี้เป็นงานสร้างสรรค์ที่ไม่ควรมีกฎเกณฑ์มาจำกัดการทำงาน คุณเกาดีจึงได้รับใบอนุญาตในที่สุด

Casa Mila, ประเทศสเปน

ไม่ต่างจากงานทุกชิ้นของคุณเกาดี แรงบันดาลใจของ Casa Mila มาจากธรรมชาติ คลื่น ภูเขา การทาสีผนังด้านในให้เหมือนอยู่ในทะเล หรือทาสีเพดานเป็นรูปดอกไม้สีสันสวยประหลาด การกำหนดแสงสว่างให้ส่องทั่วถึงด้วยการทาสีผนังด้วยสีเข้มไปจนอ่อนเพื่อควบคุมความสว่างของห้อง หน้าต่างและระบบระบายอากาศธรรมชาติทำให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ รวมไปถึงงานเหล็กดัดรอบตัวอาคารด้านนอกซึ่งเป็นผลงานของ Josep Maria Jujol ผู้ช่วยคนสำคัญของคุณเกาดี

ผ่านไป 5 ปี ครอบครัวมิล่าก็ได้ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่

ท่ามกลางเสียงติติงถึงความเหมาะสมของงานออกแบบที่ชาวเมืองไม่น้อยลงความเห็นว่าน่าเกลียดน่ากลัว ทั้งจากรูปทรงเหมือนหินยักษ์ที่โค้งไหวทั่วตัวอาคาร บรรดาเหล็กดัด โครงสร้าง และฟาซาดหน้าตาประหลาด ทำให้ Casa Mila มีอีกชื่อเรียกอย่างล้อเลียนว่า La Pedrera หรือเหมืองหิน โดยหนึ่งเหตุผลที่เหล่าเพื่อนบ้านไม่เอ็นดูประติมากรรมบนชั้นดาดฟ้าและรูปทรงอาคารหน้าตาแปลกของ Casa Mila จนถึงขั้นพูดกดดันให้เลดี้มิล่าทุบตึกนี้ทิ้งไปเสียทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน เพราะคิดว่าการมีอยู่ของตึกหน้าตาน่ากลัวมีแต่จะทำให้อสังหาริมทรัพย์และที่ดินย่านนั้นราคาถูกลง

Casa Mila, ประเทศสเปน

โชคดีที่เลดี้มิล่าไม่ตัดสินใจเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเพราะเกรงใจสามีผู้เป็นแฟนคลับคุณเกาดี อีกส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกเสียดายค่าก่อสร้างและค่าจ้างออกแบบที่มหาศาล หลังจากมีการฟ้องร้องเรียกค่าออกแบบ ซึ่งคุณเกาดีเป็นผู้ชนะคดีเมื่อปี 1916

แม้เลดี้มิล่าจะไม่พอใจงานออกแบบ แต่เธอก็มีความอดทนมากพอ

หลังจากคุณเกาดีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเมื่อปี 1926 ขณะที่ยังทำงานออกแบบและดูแลการก่อสร้างมหาวิหารซากราด้า ฟามีเลีย เลดี้มิล่าก็สั่งเปลี่ยนการตกแต่งห้องของครอบครัวใหม่ทั้งหมด จากสไตล์โมเดร์นิสม์ก็กลายเป็นหลุยส์ที่ 16 ก่อนจะตัดสินขาย Casa Mila ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งเป็นเงิน 18 ล้านเหรียญเปเซตา (Pesetas) เมื่อ 1946 หรือหลังสามีเสียชีวิตไปได้ 6 ปี แต่เธอก็ยังคงอาศัยอยู่ที่ห้องเดิมจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เรื่องราวที่ผ่านมาและความสวยงามที่เห็นเป็นประจักษ์ทำให้ Casa Mila กลายเป็นหนึ่งอาคารเอกชนไม่กี่หลังที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกในปี 1984 ก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็นของ Caxia Catalunya สถาบันการเงินของเมือง แล้วเปิดพื้นที่บนชั้นดาดฟ้าให้คนทั่วไปเยี่ยมชมประติมากรรมหินทราย The Garden of Warriors แล้วใช้เวลาเกือบ 10 ปีบูรณสถานที่เพื่อฟื้นคืนบรรยากาศเก่าๆ อย่างที่เรากำลังจะเข้าไปชมของจริงในนาทีถัดไปนี้

Casa Mila, ประเทศสเปน Casa Mila, ประเทศสเปน

เกาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องจิตใจแข็งแกร่งมากๆ ด้วย

จากสิ่งก่อสร้างที่คนทั้งเมืองเกลียดกลัว วันนี้ Casa Mila กลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใครหลายคนใฝ่ฝันอยากมาบาร์เซโลนาสักครั้งหนึ่ง

 

3

‘เป็นอพาร์ตเมนต์’ อย่างเดียวไม่พอ ต้อง…ด้วย

หลังจากผ่านห้องโถงกลางของอาคารเข้ามาใน Casa Mila แล้ว จุดเยี่ยมชมแรกสุดของที่นี่คือ ประติมากรรมหินทราย The Garden of Warriors บนชั้นดาดฟ้า

Casa Mila, ประเทศสเปน

Casa Mila, ประเทศสเปน Casa Mila, ประเทศสเปน

เราใช้เวลาเดินลัดเลาะขึ้นลงบันไดเพื่อมองคุณทหารหินทรายรูปทรงล้ำๆ ในระยะใกล้ๆ ไม่นาน วิวเมืองบาร์เซโลนาในแบบ 360 ก็เรียกร้องความใจจากเราจนหมด ก่อนจะกลับมาสนใจงานโมเสกของคุณเกาดีที่ใช้เศษขวดเบียร์ประดับตกแต่งมาก่อนกาล และมาก่อนใคร

จากนั้นเดินไต่บันไดลงไปห้องใต้หลังคา ชมพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมงานทั้งชีวิตของคุณเกาดี ไม่เพียงจัดแสดงโมเดลของโครงสร้างอาคารน้อยใหญ่ให้เราเห็นกระบวนการคิด ยังนำเสนอเทคนิคการออกแบบสุดล้ำ สุดแสนจะนำสมัย อย่างการแขวนโซ่ทิ้งน้ำหนัก แล้วส่องผ่านกระจกเงาจะได้ภาพสามมิติเพื่อคำนวณน้ำหนักโครงสร้าง เป็นต้น รวมถึงตัวอย่างชิ้นส่วนธรรมชาติ แรงบันดาลใจของเส้นโค้งทั้งหมดในงานคุณเกาดีก็มีให้เห็นในโซนพิพิธภัณฑ์ถาวรนี้ด้วยเช่นกัน

Casa Mila, ประเทศสเปน Casa Mila, ประเทศสเปน

แล้วไปต่อกับตัวอย่างห้องชุดพร้อมเฟอร์นิเจอร์ พร้อมให้คุณลากกระเป๋าเข้าอยู่หลังทำสัญญาเช่า เพราะใจเต้นไม่เป็นจังหวะให้กับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ คิ้วบัว ขอบประตูหน้าต่าง ไหนจะที่จับประตูลูกบิดที่ออกแบบสำหรับเจ้าของห้องผู้ถนัดซ้าย โต๊ะ ตู้ เตียง ที่เหมือนหลุดเข้าไปในละครย้อนยุค ซึ่งแม้ห้องจะถูกซอยยิบย่อยเป็นห้องเล็กห้องน้อย แต่คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยาก อพาร์ตเมนต์น่ารักขนาดนี้จะคับแค่ไหนก็ไหวอยู่

Casa Mila, ประเทศสเปน Casa Mila, ประเทศสเปน

ขอพักชมสิ่งที่น่าสนใจด้วยเรื่องราวผู้เช่ายุคแรกของ Casa Mila ซึ่งล้วนมาจากประกาศหาผู้เช่าใน La Vanguardia Newspaper

ผู้เช่าคนแรกๆ ของ Casa Mila คือ Miss Dick ครูสอนภาษาอังกฤษ จากหลักฐานคือประกาศโฆษณาคลาสเรียนภาษาอังกฤษที่ห้องของเธอในหน้าหนังสือพิมพ์ ก่อนจะตามมาด้วยสมาชิกคนอื่นๆ ซึ่งมีตั้งแต่นักธุรกิจ กงสุลอาร์เจนตินาประจำบาร์เซโลนา เจ้าชายจากอียิปต์ นอกจากนี้ยังมี The Mosella Tailor’s Shop ห้องเสื้อหรูเปิดทำการที่ชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์แห่งนี้มาตั้งแต่ปี 1929

ปัจจุบันแม้จะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าเยี่ยมชมแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้เช่าเดิมที่อยู่มานานเกิน 70 ปี

‘เป็นอพาร์ตเมนต์’ อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็น Co-living Space ด้วย

ปัจจุบัน Casa Mila อยู่ใต้การดูแลของ Catalunya La Pedraza Foundation มูลนิธิที่ทำงานเพื่อสนับสนุนคนที่มีพรสวรรค์และความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดแคลนโอกาส

 

4

‘บินตรงลงบาร์เซโลนา’ อย่างเดียวไม่พอ

ต้อง Business Class ด้วย

การเดินทางสู่บาร์เซโลนาครั้งนี้ทาง Qatar Airways และการท่องเที่ยวสเปน ชวน The Cloud ลัดฟ้าบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่มาลากา ในแคว้นอันดาลูเซีย หรือฝั่งใต้ของสเปน พาเราเที่ยวบ้านเกิดของคุณปีกัสโซ จิตรกรเอกของโลก ก่อนจะพาขึ้นเหนือเที่ยวบาร์เซโลนา ในแคว้นกาตาลุญญา ตะลุยกินทาปาสอาหารพื้นเมืองแบบ Non-stop จิบไวน์หวานสูตรพิเศษที่หาได้จากสเปนเท่านั้น

ไม่ว่าจะสายอาร์ต จัดทริปตามรอยผลงานคุณเกาดี ทริปชมงานปีกัสโซ

สายประวัติศาสตร์ เดินเมืองดูอาคารบ้านเรือน ซึมซับวัฒนธรรมโรมันโบราณผ่านร่องรอยที่ซ้อนทับกับวิถีชีวิตคนเมืองอย่างพอดี หรือตามรอยอาหารท้องถิ่น เชื่อเถอะว่าสเปนจะดูแลคุณอย่างดี

Casa Mila, ประเทศสเปน Casa Mila, ประเทศสเปน

และโปรดทำตัวตามสบายเหมือนอยู่บ้าน เพราะที่ชั้น Business Class ของ Qatar Airways นอกจากที่นั่งแสนสบาย ของว่างและอาหารเสิร์ฟร้อนแล้ว ยังมีชุดนอนจาก The White Company ของลอนดอนให้เปลี่ยน พร้อมชุดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่มาพร้อมกระเป๋าจาก Bric แบรนด์กระเป๋าเดินทางจากมิลาน ออกแบบพิเศษสำหรับสายการบินมอบให้ด้วย (ตรวจสอบเส้นทางการบินและราคาได้ที่นี่)

Casa Mila, ประเทศสเปน

แน่นอนว่าถ้า Qatar Airways เกิดเร็วกว่านี้สักร้อยปี นายและนางมิล่าต้องเลือกบินชั้น Business Class ไปๆ มาๆ ระหว่างบาร์เซโลนาและหลายเมืองใหญ่ทั่วโลกเพื่อเสพงานศิลปะ ซื้อที่ดินและสร้างอพาร์ตเมนต์ผลงานการออกแบบของฝีมือศิลปินท้องถิ่นอีกมากมายมหาศาลแน่ๆ

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ