28 กรกฎาคม 2018
21 K

น่องปูด น่องแข็ง เป็นอาการปกติของคนรักย่านเมืองเก่า

จะไม่ให้เท้าเมื่อยขาแข็งได้อย่างไร เห็นถนนนางงาม สงขลา และย่านเมืองเก่าภูเก็ต แล้วใจละลาย ตาลายกับบ้านเรือนสวยๆ ของกินอร่อยๆ และบรรยากาศจีนๆ จนต้องสาวเท้าเดินสำรวจซอกแซกทุกตรอกซอกซอย ลืมเหนื่อยลืมเมื่อยเสียทุกครั้ง

เมื่อลงใต้ไปสุดปลายด้ามขวาน เราได้พบย่านเมืองเก่าดีงามอีกย่านที่สั่นสะเทือนอันดับที่รักในใจ ย่านเมืองเก่าปัตตานีเป็นต้นแบบ ‘วงแหวนพหุวัฒนธรรม’ ที่หลากหลายจริง สนุกจริง เก่าจริง และดีจริง แถมยังสงบเงียบเพราะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

ชื่อของย่านน่าเที่ยวนี้ก็น่ารักมาก จำง่ายๆ ว่า ‘อา-รมย์-ดี’ ย่อมาจากถนน 3 สาย ชื่อ อาเนาะรู-ปัตตานีภิรมย์-ฤาดี ชาว Melayu Living กลุ่มสถาปนิกและศิลปินแห่งปลายด้ามขวานเป็นผู้ตั้งชื่อและสนับสนุนโครงการฟื้นฟูย่านเก่านี้

ถัดจากย่านนี้ไปอีกยังมีชุมชนจะบังติกอ ย่านเก่าแก่ที่สุดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งวังเจ้าเมืองปัตตานีและเป็นชุมชนช่างทองเหลืองเก่า แต่เราขอเล่าแค่ถนน 3 สายที่เดินได้ง่ายๆ ก่อน เพราะแค่นี้ก็เที่ยวได้ครึ่งค่อนวันแล้ว

ครูนน-ผศ.ดร.นภดล ทิพยรัตน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าว่าเมืองเก่าจังหวัดนี้ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ตั้งแต่ทหารญี่ปุ่นยกพลเข้าปัตตานีในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านยุคเศรษฐกิจอู้ฟู่เพราะธุรกิจเหมืองแร่ภาคใต้ ไปจนถึงวันซบเซาเหมือนเมืองร้างเมื่อคนย้ายออก

มาถึงวันนี้ ชาวปัตตานีกลับมาฟื้นฟูมรดกของเมืองอีกครั้ง เพราะรากชีวิตของปัตตานีก็มาจากตึกเก่าย่านเก่าเหล่านี้นี่แหละ

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

อาเนาะรู

คนส่วนใหญ่รู้จักถนนอาเนาะรู เพราะที่นี่เป็นที่ตั้งศาลเจ้าเล่งจูเกง ศาลแห่งเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งมีการแห่พระสมโภชน์เจ้าแม่ จัดขบวนแห่พระลุยน้ำลุยไฟอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี

นอกจากวันเทศกาลแล้ว ถนนสายนี้เงียบเหงามาก ทั้งที่เป็นถนนสายแรกที่ชาวจีนฮกเกี้ยนล่องเรือจากสงขลามาตั้งรกราก บ้านเก่าๆ มากมายถูกทิ้งร้าง ลูกหลานย้ายออก บ้างก็เปลี่ยนเป็นบ้านรังนก ใช้เลี้ยงนกนางแอ่นเพื่อเก็บรังไปขาย หรือทุบทิ้งสร้างใหม่ไปก็มี

ชุมชนนี้แต่เดิมชื่อชุมชนกือดาจีนอ หรือชุมชนจีนหัวตลาด

“ก่อนหน้านี้เมืองปัตตานีถูกมองว่ามีวิถีไทยมลายูและวิถีไทยพุทธ แต่เรามองว่าตรงนี้ยังมีวิถีคนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในปัตตานีด้วย ถ้าเราเปิดพื้นที่ หรือว่ายกประเด็นฐานรากทางวัฒนธรรมจีนในปัตตานีขึ้นมา มันก็จะช่วยเติมเต็มสังคมพหุวัฒนธรรมในปัตตานีเพิ่มมากขึ้น และก็ทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมันเกิดขึ้นด้วย”

ครูนนอธิบายความตั้งใจแรกของชาวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.) ที่เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน โดยจัดงานเทศกาล ‘START UP กือดาจีนอ’ บนถนนอาเนาะรูเมื่อ พ.ศ. 2559 กลุ่มอาจารย์เข้าไปสร้างสรรค์ผลงานทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เย็บปักถักร้อย มัดย้อม จัดการแสดงดนตรี วรรณกรรม และเสวนาเพื่อให้ทุกคนในชุมชนจีนและคนปัตตานีโดยทั่วไป ได้เห็นคุณค่าความหลากหลายทางวัฒนธรรม

คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์เล่าว่างานวันนั้นใครต่อใครต่างแต่งชุดสีแดง พี่น้องสาวๆ ชาวมุสลิมก็สวมผ้าคลุมสีแดงมาร่วมฉลองความเป็นจีนในบ้านเกิด การตระหนักรู้ถึงชุมชนจีนทำให้ถนนอาเนาะรูกลับมาเป็นที่สนใจของคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวอีกครั้ง

เมื่อไฟจุดติดขึ้นแล้ว หลังงานวันนั้นจึงมีการจัดกิจกรรม ‘วิถีศรัทธากือดาจีนอ’ ตามมา และทำให้ชาว ม.อ. เริ่มโครงการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าอย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับชาว Melayu Living

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

บ้านเด่นๆ ที่อยู่บนถนนสายนี้คือบ้านกงสี บ้านเลขที่ 27 ถนนอาเนาะรู ซึ่ง น้าป้อง-พันธุ์ฤทธิ์ วัฒนายากร ลูกหลานของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ปุ่ย แซ่ตัน) ใจดีเปิดบ้านตึกหลังแรกของปัตตานีนี้ให้ดู หลวงสำเร็จกิจกรจางวางเป็นผู้นำชุมชนจีนและนายอากรชาวจีนที่เข้ามาอยู่ปัตตานีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ปัจจุบันเรือนจีนชั้นเดียวหลังนี้กลายเป็นหอบรรพบุรุษ กลางโถงตั้งป้ายเคารพและห้องด้านข้างเป็นที่เก็บภาพวาดจีนอายุร้อยกว่าปี

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

ต่อมาคือบ้านของน้าป้องเอง เป็นตัวอย่างบ้านแบบจีนหลังยาวที่สวยมาก ด้านหน้าเป็นโถงรับรองแขก ติดป้าย ‘ฮับ ซุ่น’ กิจการประจำตระกูล มีห้องเตรียมน้ำชาด้านหลัง ก่อนจะถึงประตูกลสำหรับกันขโมย เมื่อปิดแล้วจะเปิดไม่ได้ถ้าไม่รู้วิธีเปิด กลางบ้านเคยมีคอร์ตกลางแจ้งและบ่อน้ำ แต่ปัจจุบันปิดหลังคาแล้ว บ้านนี้เก็บของเก่าดีมาก น้าป้องเก็บธงไตรรงค์รูปช้างเผือกบนพื้นหลังสีแดง ซึ่งเคยติดทั้งถนนอาเนาะรูเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไว้เป็นอย่างดี

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

นอกจากนี้ยังมีบ้านธรรมศาลา เป็นบ้านที่เด็กๆ ชาวปัตตานีกลัวมาก เพราะเป็นที่เก็บอัฐิประจำตระกูลของชาวจีน เปิดเพียงปีละครั้งในวันทำบุญเท่านั้น ครูนนเล่าว่า ด้านในแขวนรูปชาวไทยเชื้อสายจีนของคนแถบนี้ไว้ทั้งหมด มีการขีดเส้นโยงการแบ่งเครือญาติต่างๆ ว่าใครเป็นลูกหลานของใคร มีอัฐิกระดูกของบรรพบุรุษ

สิ่งที่น่าประทับใจคือในบ้านมีจิตรกรรมฝาผนังที่มีการเขียนกำกับรูปภาพเอาไว้ทั้งหมด 5 ภาษาด้วยกัน คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษามลายู ภาษาจีน และภาษาฮินดู แสดงให้เห็นว่าปัตตานีเป็นจุดรวมผู้คนหลายชาติหลายภาษา

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

ถัดมาคือโรงเตี๊ยมอาเนาะรู เป็นร้านอาหารที่ใครๆ ก็แวะมากินได้ กลางวันขายข้าวมันไก่และข้าวหมูกรอบ ส่วนกลางคืนขายเครื่องดื่ม ในอดีตเป็นเรือนรับรองและบ้านภรรยาน้อยของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ (ตันจูเบ้ง) ลูกชายของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ตัวบ้านของหลวงสุนทรสิทธิโลหะเป็นตึกปูนอยู่ด้านหลัง ไม่ได้เปิดให้เข้าชม

สุดท้ายคือ ‘บ้านเลขที่ 1’ สไตล์ชิโนโปรตุกีสหลังใหญ่หัวมุมถนนอาเนาะรู ซึ่งเป็นตัวอย่างสถาปัตยกรรมเก่าแก่แสนสวยประจำย่าน ครูนนเล่าว่า ในบ้านหลังนี้ก็มีประตูกลแบบจีนเช่นกัน

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

บ้านอื่นๆ บนถนนอาเนาะรูก็น่ามองทั้งถนน ล้วนแต่เป็นของลูกหลานเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน พี่ต่าย-ประวิทย์ ศิริไชย เจ้าของห้างฯ ซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์แห่งปัตตานี เล่าเกร็ดเสริมว่า วิธีสังเกตตระกูลจีนเก่าแห่งปัตตานีคือให้ดูที่นามสกุล ถ้าเป็นคณานุรักษ์ ตันธนวัฒน์ วัฒนายากร วัฒนานิกร ดำรงวัฒนา โกวิทยา แปลว่าเป็นคนที่นี่

ปัตตานีภิรมย์

จบการเรียนรู้เรื่องชุมชนจีน เราเลี้ยวเข้าสู่ถนนปัตตานีภิรมย์เพื่อสำรวจย่านเก่ากันต่อ

ปัตตานีภิรมย์เป็นเส้นเชื่อมถนนอาเนาะรูและถนนฤาดี เป็นถนนเดินแล้วเย็นสบายเพราะอยู่เลียบแม่น้ำ ได้รับลมแม่น้ำปัตตานีตลอดเส้นทาง ในเทศกาลแห่พระสมโภชน์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวประจำปี ขบวนแห่จะออกจากศาลเจ้าเล่งจูเกง ถนนอาเนาะรู มุ่งหน้ามาที่ถนนปัตตานีภิรมย์ โดยสะพานปัตตานีภิรมย์เป็นจุดแรกที่จะหยุดปักคานเกี้ยวลงพื้น เพื่อสะกดวิญญาณไม่ดีทั้งหลายไม่ให้เข้าไปทำร้ายคนในเมือง ก่อนจะแห่องค์พระไปเรื่อยๆ และปักคานเกี้ยวสิบกว่าจุดทั่วเมือง

ถนนสายนี้เป็นย่านธุรกิจที่เจริญรุ่งเรืองมากในอดีต มีทั้งโรงเตี๊ยม โรงหนัง โรงโบว์ลิ่ง ร้านค้า และร้านอาหาร เรายังเห็นร่องรอยความคึกคักของร้านค้าร้านกาแฟได้ในปัจจุบัน

“ร้านค้าต่างๆ มากมายพยายามเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อจะเปิดร้านขายของ ขายขนม ส่วนร้านค้าเก่าๆ ที่ถูกทิ้งร้าง เจ้าของก็เริ่มกลับเข้ามาปรับปรุงแก้ไขมากขึ้น ลูกหลานคนจีนในชุมชนที่ออกไปทำงานข้างนอกก็ได้กลับเข้ามาร่วมกิจกรรมกับเราหลายครั้ง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน ก็จะมาแค่ช่วงงานสมโภชน์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เขาได้เห็นสิ่งที่พวกเราพยายามปรับปรุงปัตตานี และก็มีความรัก ความหวงแหน และอยากกลับเข้ามาพัฒนาบ้านเกิดเหมือนกันครับ”

ครูนนอธิบายแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นกับย่านเมืองเก่า ส่วนพี่ต่ายช่วยชี้ชวนดูตึกเก่าที่ไม่ควรมองข้าม

บ้านเก่าสองฝั่งถนนปัตตานีภิรมย์ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้หรือบ้านครึ่งอิฐครึ่งไม้ ดูจากภายนอก หน้าบ้านดูเหมือนตึกแถวทั่วไปที่มีการตกแต่งขอบประตูหน้าต่างไม้ด้วยลายฉลุแบบจีน แต่ด้านในผอมยาวประมาณ 50 เมตรเห็นจะได้ ยาวมากเสียจนแค่เดินจากหน้าบ้านไปหลังบ้านก็นับว่าเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่ง ในบ้านมักมีคอร์ตกลางแจ้งตรงกลางไว้รับแดดรับฝนตามสไตล์บาบ๋าย่าหยา โดยบ้านที่อยู่ฝั่งแม่น้ำจะมีหลังบ้านติดน้ำ หลายคนจึงแปลงบ้านเก่าเป็นอู่จอดเรือ เพราะใช้เทียบท่าได้พอดิบพอดี

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

บ้านเก่าที่น่าจับตามองบนถนนเส้นนี้บ้านเก่าของคุณแม่ คุณอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ส.ว. ปัตตานีและเจ้าของโรงแรมดังในจังหวัดที่กำลังซ่อมแซมบ้านใหม่เพื่อจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์ ถัดไปคือบ้านโรงฝิ่นเก่า เราขออนุญาตเจ้าบ้านเข้าไปดูมุมประวัติศาสตร์ ในบ้านมีบันไดไม้สูงชัน สร้างแบบโบราณโดยไม่ใช้ตะปู ทอดขึ้นไปชั้นลอยหน้าบ้าน ซึ่งเป็นห้องสูบฝิ่นเล็กๆ แม้จะโล่งว่าง แต่ยังอยู่ในสภาพดี

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

นอกจากนี้ ยังมีบ้านประสบโลหะวิจารณ์ บ้านที่ชั้นหนึ่งเพดานสูงกว่าบ้านหลังอื่นๆ และตัวบ้านยาวลึกที่สุดจากทั้งถนน และยังมีร้านเชื่อมเหล็กใหญ่โตสีเหลืองที่เคยเป็นตึกของทหารญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่ากันว่าเคยเป็นโรงพยาบาลหรือกองบัญชาการ ชาวบ้านแถวนั้นเล่าเสริมว่า สมัยสงครามโลก ตรงข้ามตึกหลังนี้ไม่มีบ้าน เป็นท่าเทียบเรือของทหารญี่ปุ่น

นอกจากสถาปัตยกรรมน่ามอง ร้านดีงามจนต้องขอปักหมุดคือร้านยาคูลท์ปัตตานีที่ใหญ่มาก แวะซื้อนมเปรี้ยวดื่มแล้วเดินดูถนนนี่ได้อารมณ์ย้อนวัยสุดๆ แถมถนนสายนี้ยังมี ‘มิตรหญิง’ ร้านเสริมสวยเก่าแก่ ห้องรับแขกสร้างสรรค์ในบ้านเก่าของ Melayu Living และคาเฟ่เก๋ไก๋ติดริมน้ำอีกด้วย

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

นี่ก็น่านั่ง นั่นก็น่ามอง เดินปัตตานีภิรมย์แล้วรื่นรมย์อารมณ์ดีสมชื่อจริงๆ

ฤาดี

ถนนฤาดีมีเอกลักษณ์ความงามอยู่ 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ กลุ่มอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสแบบปัตตานี แตกต่างจากบ้านชิโนโปรตุกีสที่ตะกั่วป่า ปากพนัง สงขลา หรือภูเก็ต ที่เป็นตึกปูนทั้งหลัง ตึกที่นี่มีทั้งตึกปูนและตึกครึ่งอิฐครึ่งไม้ จุดสังเกตคือเพดานชั้นหนึ่งสูงและเสาคู่ที่หน้าบ้าน

อาคารที่เด่นที่สุดในหมวดนี้คือ White House Court อาคารสูงใหญ่ของเถ้าแก่หยู่เหล็ง ซึ่งเป็นเถ้าแก่เรือ ปัจจุบันเป็นอพาร์ตเมนต์ของ คุณชูเกียรติ ปิติเจริญกิจ คหบดีเจ้าของศูนย์รถยนต์ที่ปัตตานี

ส่วนที่ 2 คือบ้านทรงผอมลึก ปัจจุบันทาสีสารพัดตามนโยบายพัฒนาเมืองจนสีสันสดใสทั้งถนน

ครูนนเล่าว่าถนนฤาดีก็เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นอีกเหมือนกัน เพราะที่นี่มีโชว์รูมรถยนต์อีซูซุ ซึ่งเป็นศูนย์รถยนต์แห่งแรกของภาคใต้ ปัจจุบันป้ายอีซูซุภาษาญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ที่ร้านเดิมที่เคยเป็นศูนย์รถยนต์ แม้ว่าจะกลายเป็นร้านทำป้ายไปแล้ว

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

ความน่ารักของถนนสายนี้คือ มันมีชีวิตชีวาแบบชุมชนเก่าดำเนินการโดนคนท้องถิ่นจริงๆ ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อแค่เอาใจนักท่องเที่ยว ตลอดสองข้างทางมีร้านตัดผม ร้านขายผ้า ร้านอาหาร ร้านมุสลิมที่ขายสินค้าสารพัด เช่น แท่นวางคัมภีร์อัลกุรอาน น้ำมันหอม ลูกประคำ และหมวกกัปปิเยาะห์ จุดเด่นที่เราชอบมากคือที่นี่มีโรงพิมพ์และร้านหนังสืออิสลามมากมาย บรรยากาศเก่าแก่และกลิ่นหนังสือมือหนึ่งเก่าๆ ชวนให้นึกถึงถนนนครสวรรค์ แถวสะพานผ่านฟ้าที่กรุงเทพฯ แต่ที่นี่สงบเงียบกว่ามาก

ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี ปัตตานี, เมืองเก่า, อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤดี

ฤาดี แปลว่า ใจ หรือ ความยินดี

ยินดีที่ได้รู้จักนะ ฤาดี ถนนที่ทำให้เราปิติยินดีที่ได้มองตึกสวย ฟังเสียงผู้คน ดมกลิ่นหนังสือ และสัมผัสเนื้อแท้ของชุมชน

วงแหวนอารมณ์ดี

“ถ้าถามว่ามาถนน 3 สายนี้แล้วจะได้เจออะไร ผมอาจจะตอบเป็นนามธรรมสักหน่อยว่า จะได้เจอกับสิ่งที่ไม่คิดว่าจะได้เจอในปัตตานี”

คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวยิ้มๆ

“ปัตตานีมีภาพลักษณ์ว่าเป็นวิถีชีวิตแบบมลายูใช่ไหมครับ ถ้าเราขับรถผ่านย่านเก่าไปมา ไม่ได้ใส่ใจ เราจะคิดว่ามันเป็นแค่ย่านรกร้าง แต่พอจอดรถดู เงยหน้าสักนิด เราก็จะเห็นความหลากหลายในปัตตานี และรู้ว่าแท้จริงแล้วในปัตตานีมีความเป็นจีนสอดแทรกอยู่ และจะได้เห็นพัฒนาการของย่านต่างๆ ในปัตตานี ย่านกือดาจีนอ หรือ ถนนอาเนาะรู เราจะเห็นรูปทรงดั้งเดิม พอตัดผ่านเข้ามาที่ถนนปัตตานีภิรมย์ เราก็จะเห็นอาคารบ้านเรือนไม้เก่าๆ ที่มีความหลากหลาย แต่หากเลี้ยวซ้ายกลับมาที่ถนนฤาดี เราก็เข้าสู่ยุคโมเดิร์น พบอาคารสไตล์ชิโนโปรตุกีสซึ่งได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากตะวันตก

“วิถีของผู้คนต่างๆ ทั้งชาวญี่ปุ่น ชาวฮินดู หรือชาวซิกข์ ทั้งหมดนี้สอดแทรกอยู่ในความเป็นจีน มลายู และไทย-พุทธ ทั้งหมดนี้สร้างวงแหวนพหุวัฒนธรรมให้ปัตตานีครับ”

ครูนนเล่าว่าคณะศิลปกรรมฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมศิลปะภาคใต้ แต่การพัฒนาท้องที่และอนุรักษ์วัฒนธรรมเข้มข้นหลากหลายเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ซึ่งชาวปัตตานีกำลังพยายามช่วยกัน

ตอนนี้ย่านเมืองเก่าปัตตานียังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่ ใจหนึ่งเราก็นึกเสียดาย หากที่นี่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อรับนักท่องเที่ยว ครั้นจะไม่เล่าสู่กันฟังก็เสียดายอีก ย่านเมืองเก่าปัตตานีนี่น่ารักจริงๆ นี่นะ เดินถนนเก่าแก่ 3 สายนี้แล้วไม่ใช่แค่ยิ้มอารมณ์ดี แต่ยังหลงรักปัตตานีเข้าไปเต็มเปา

อ่านข้อมูลการท่องเที่ยวปัตตานีได้ที่นี่ และถ้าอยากรู้เรื่อง 3 จังหวัดชายแดนใต้อย่างเต็มอิ่ม อ่านเรื่องยะลา และนราธิวาสได้ที่นี่เลย

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล