คงต้องเกริ่นก่อนว่า ผมเป็นเด็กกรุงเทพฯ ที่ขึ้นมาใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยอยู่ที่เชียงใหม่เป็นเวลากว่า 1,131 วัน ท่องเที่ยวไปมาหลายแห่ง บุกป่าฝ่าดง หอบข้าวของขึ้นไปกางเต็นท์ก็หลายจุด เพียงแต่ปลายทางในครั้งนี้เห็นจะเป็นสถานที่อีกแห่งที่ผมยังไม่เคยมีโอกาสได้ไป แต่เมื่อแบรนด์กาแฟอย่าง ‘อินทนิล’ ทำกาแฟดริปแบบ Single Origin ออกมาวางจำหน่ายเมื่อช่วงปีใหม่ ผมจึงอยากรู้ว่า 3 แหล่งที่อินทนิลเลือกมามีความพิเศษยังไง
Single Origin ของอินทนิลคราวนี้ประกอบด้วย กาแฟแม่แจ๋ม (Fruity Taste) จากจังหวัดลำปาง กาแฟป่าแป๋ (Nutty Taste) และกาแฟเทพเสด็จ (Special Taste) จากจังหวัดเชียงใหม่ ย้อนไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา อินทนิลเคยออกกาแฟออร์แกนิกดริปมาแล้ว เป็นเมล็ดออร์แกนิกอาราบิก้าแบบเดียวกับที่ใช้ในร้าน ซึ่งมาจาก 2 แหล่งเพาะปลูกหลัก คือ ป่าแป๋และแม่แจ๋ม สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ทำไมอินทนิลถึงเลือก กาแฟเทพเสด็จ มาใช้กับ Single Origin ในครั้งนี้ และดูเหมือนว่าจะเป็นตัวไฮไลต์เสียด้วย
แม้ว่าการเดินทางไปยังดอยสะเก็ด เพื่อขึ้นไปดูไร่กาแฟ 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปางบงและหมู่บ้านแม่ตอนหลวง ตำบลเทพเสด็จ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จะไม่ได้อยู่ในแผนการชีวิตใกล้เรียนจบของผมแม้แต่น้อย แต่การเดินทางครั้งนี้ก็ทำให้ผมได้รู้จักกับหมู่บ้านกาแฟ รวมไปถึงเรื่องราวหลังบ้านของเกษตรกรเจ้าของไร่กาแฟที่น้อยคนจะรู้มาก่อน
#01
หมู่บ้านปางบง
ความสูงอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 1,200 เมตร
เอาเข้าจริงแล้ว การเยือนไร่กาแฟในครั้งนี้ไม่ค่อยยากลำบากอย่างที่เด็กกรุงเทพฯ ผู้ใช้ชีวิตรอบล้อมไปด้วยต้นไม้คอนกรีตหรือเสาไฟฟ้าอย่างผมคาดการณ์ไว้
การเดินทางไปหมู่บ้านปางบงไม่ถึงกับต้องขึ้นเขาลงห้วย (ถ้าไม่นับการนั่งรถขึ้นดอยนะ) หรือเดินทางไกลอะไรมากมาย แถมยังได้นั่งจิบกาแฟดริป ชิมบรรยากาศรับลมหนาว พักสายตาด้วยสายธารด้านล่าง และรับกลิ่นโชยของป่าเขา ณ ร้านดอยปางบง กาแฟ & ฟาร์มสเตย์ ของ คุณนนท์-อานนท์ พวงเสน เจ้าของไร่กาแฟในหมู่บ้าน ก็นับว่าเป็นอะไรที่สะดวกสบายและผ่อนกายคลายใจได้พอสมควร
ที่สำคัญ คุณนนท์เจ้าของไร่แห่งนี้มีดีกรีเป็นถึงผู้ชนะการประกวดสุดยอดกาแฟไทย (Thai Coffee Excellence) ด้วยกระบวนการ Wet Process ในปี 2021 และ Honey Process ในปี 2022 อีกด้วย
คุณนนท์อธิบายความหมายของ Honey Process ให้ผมผู้มีความรู้เรื่องนี้เป็นศูนย์เข้าใจอย่างง่ายว่า ในกระบวนการแปรรูปผลกาแฟสดจาก ‘กะลา’ ให้กลายเป็น ‘เมล็ดกาแฟ’ (สารกาแฟ) นั้น มี 3 กรรมวิธีที่คนนิยมกัน ได้แก่
1. Wet / Washed Process คือการนำผลกาแฟที่สุกจากต้นมากะเทาะเปลือก แล้วจึงนำตัวกะลาไปแช่น้ำกำจัดเมือกแล้วตากให้แห้ง ซึ่งหากเปรียบกับข้าว กะลาเหมือนเปลือกข้าวที่ยังไม่ได้สี จึงต้องผ่านกระบวนการทำให้พร้อมเป็นเมล็ดกาแฟสำหรับคั่ว
2. Dry Process คือการนำผลกาแฟไปตากให้แห้งทั้งเปลือก แล้วค่อยนำไปสีเอาเปลือกออก
3. Honey Process วิธีนี้ไม่ได้มีน้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใดนะครับ แต่เป็นการนำกะลาไปตากทันทีหลังจากกะเทาะเปลือกแล้ว โดยข้ามขั้นตอนแช่น้ำขจัดเมือก กาแฟที่ผ่านกรรมวิธีนี้จะมีความเปรี้ยวต่ำ (Lower Acidity) และติดรสละมุนจากความหวานซึ่งจางอ่อนตามธรรมชาติมากกว่าเมล็ดทั่วไป
วกกลับมาที่การเดินทาง หลังจากเสพบรรยากาศจนอิ่มหนำสำราญ กินกาแฟคั่วกลางและอ่อนพอให้ได้สัมผัสรสชาติ จากนั้นผมก็กลับขึ้นรถเพื่อไปยังที่พัก แต่ระหว่างทางลงดอย เมื่อร่างกายกระทบกับเบาะนิ่ม ๆ ก็เหมือนระลึกได้และเลิกหลอกตัวเองในทันทีว่า มันก็เหนื่อยใช้ได้เลยเหมือนกัน
ไหนจะทางลาดชันอันขรุขระ ที่หากรองเท้าไม่พร้อม คงมีลำบากกันไปข้างสองข้าง หรือจะเป็นการต้องมุดดงพงไพรตามคุณนนท์เข้าไปในไร่ เดินไป คุยไป ทั้งกรรมวิธีการปลูก เก็บ และการต่ออายุต้นกาแฟ เรียกได้ว่าแกขยันเดินให้เราตามไปทุกหนแห่งที่พอจะไปได้จริง ๆ
“ที่นี่เดินง่ายกว่าสวนอื่นอีกนะ” คุณนนท์ว่า ส่วนผมนั้นได้แต่คิดว่า ไม่อยากจินตนาการถึงสวนอื่นเลยครับ
ระหว่างทางเป็นที่ร่มและโล่งแจ้งสลับกันไปตามความสูงใหญ่ของต้นไม้ในพื้นที่ คุณนนท์บอกว่า การปล่อยให้ต้นกาแฟสูงขึ้นเรื่อย ๆ มีแต่จะส่งผลเสีย เพราะสารอาหารจะน้อยลง และผลผลิตก็จะน้อยลงตาม ด้วยเหตุนี้ เหล่าคนทำไร่กาแฟจึงจำเป็นต้องทำสาวหรือตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ออกมาเป็นกิ่งใหม่และไม่สูงจนเกินไป แต่การทำอย่างนั้นก็ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บผลผลิตในช่วง 1 – 2 ปีแรก ก่อนที่จะกลับมามีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวอีกครั้งในปีที่ 3 – 4
“ข้อดีกับข้อเสียมันบาลานซ์กันครับ” คุณนนท์ว่า
พูดถึงที่ร่มกับที่โล่งแจ้ง ตรงส่วนนี้ก็มีผลกับกาแฟนะครับ คุณนนท์บอกว่าที่โล่งแจ้งมีโอกาสจะได้ผลผลิตมากกว่า เพราะผลกาแฟจะสุกไว ในทางกลับกัน ต้นไม้ก็มีโอกาสที่จะติดโรคตามธรรมชาติได้มากกว่า
ในขณะที่การปลูกในพื้นที่ร่ม คุณภาพของผลผลิตย่อมดีกว่า แต่ก็แลกมาด้วยปริมาณน้อยลงจากระยะเวลาที่แต่ละผลจะสุกช้าลงเช่นกัน
ทว่าสิ่งที่น่ากลัวที่สุดนั้นไม่ใช่โรค แมลง หรือสภาพอากาศ หากแต่เป็นสิ่งที่ผมเองก็เพิ่งทราบ มันนับเป็นปัญหาที่หากเกิดแล้วจะแก้ไขได้ยาก และจะส่งผลกระทบต่อไร่กาแฟไม่มากก็น้อย
สิ่งนั้นคือ ปัญหาแรงงาน
คุณนนท์ยืนยันว่า ‘เป็นปัญหาที่น่ากลัวที่สุด’ เนื่องจากถ้าในหมู่บ้านไม่มีแรงงาน เมื่อถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวก็ต้องไปจ้างคนจากข้างล่างขึ้นมา แต่ปัญหาคืออย่างในปีนี้ แรงงานไม่ค่อยขึ้นมากันแล้ว เนื่องจากหากเก็บผลผลิตได้ไม่มากพอ พวกเขาว่าไม่คุ้มค่าแรง แถมการเก็บผลกาแฟจำเป็นต้องทำอย่างละเอียด เก็บกันทีละลูก ค่อย ๆ คัด ค่อย ๆ หาลูกที่สุกสมบูรณ์
ที่สำคัญ ฤดูเก็บเกี่ยวของกาแฟดันไม่เหมือนใครเพื่อนในวงการพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ และไม่ได้จบในการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียว
โดยแบ่งออกได้ 4 ช่วง
ช่วงที่ 1 : พฤศจิกายน เป็นช่วงที่ผลกาแฟเพิ่งสุกใหม่ และเป็นช่วงสำหรับคัดอันที่เป็นโรคทิ้ง
ช่วง 2 และ 3 : ธันวาคม-มกราคม เป็นช่วงที่ผลกาแฟสุกสมบูรณ์ที่สุด
ช่วงที่ 4 : กุมภาพันธ์ เรียกกันว่า ช่วงรูด นั่นคือการเก็บทั้งผลที่สุกและไม่สุกออกจากต้นให้หมด เพื่อไม่ให้ทับกับดอกของกาแฟที่กำลังจะบาน
“กาแฟเป็นพืชที่เอาใจยาก (หัวเราะ)” ผมเห็นด้วยกับคุณนนท์ทุกประการ บนเส้นทางที่เดินลำบากแล้ว พืชผลระหว่างทางกลับเอาใจและดูแลยากกว่าอีกครับ
แต่ในความยากลำบากของกาแฟ คุณนนท์ก็พยายามตามใจพวกมันอย่างสุดความสามารถ ไม่อย่างนั้นแล้วเขาคงไม่คว้ารางวัลจากการประกวดสุดยอดกาแฟไทยมาได้ ซึ่งสำหรับผมที่ยังไม่ใช่คอกาแฟ (อนาคตก็ไม่แน่) ตอนที่ได้ลิ้มรสกาแฟดริปของคุณนนท์ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ชวนให้รู้สึกละมุนลิ้น รับรู้ได้ถึงรสเปรี้ยว และเมื่อกินน้ำเปล่าตามก็ยังมีความหวานค้างอยู่ในปาก
#02
หมู่บ้านแม่ตอนหลวง
ความสูงอยู่ที่ประมาณ 1,300 – 1,500 เมตร
สำหรับวันที่ 2 ณ หมู่บ้านแม่ตอนหลวง ตำบลเทพเสด็จ และจังหวัดเชียงใหม่เช่นเคย มันคือความลำบากอย่างที่จินตนาการไว้แล้วครับ เรียกได้ว่าก้าวพลาดหนึ่งก้าว โน้มตัวผิดองศา ขาพันกันแม้เพียง 1 ม้วน ก็มีโอกาสกลิ้งหลายตลบม้วนลงทางลาด ไปนอนหยอดน้ำข้าวต้ม เขียนบทความนี้อยู่ในโรงพยาบาลแน่นอน
เพราะที่นี่คือไร่กาแฟของ ลุงเทียม-บุญเทียม ขันเป็ง ซึ่งมีขนาด 38 ไร่ ส่วนบน 28 กับส่วนล่างอีก 10 ไร่ ซึ่งแน่นอนว่าผมได้ขึ้นไปข้างบน
บันไดธรรมชาติสูงชันและน่ากลัว นั่นคือคำแรกที่โผล่เข้ามาในหัวหลังจากเห็นทางขึ้นไปยังไร่ส่วนบน เอาเข้าจริงไม่ใช่บันไดด้วยซ้ำ มันคือทางดินลาดชันที่สึกกร่อนตามธรรมชาติจนมีลักษณะคล้ายบันได ส่วนความสมประกอบคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะสภาพเหมือนจงใจให้เราก้าวพลาดได้โดยไม่ยากเย็น
เมื่อขึ้นมาถึงข้างบน ผมได้พบกับไร่ขนาดใหญ่ของลุงเทียมที่ก็ลาดชันเหมือนเดิม เป็นไร่กาแฟขนาดใหญ่ที่หากดูไกล ๆ คงเหมือนเนินเขาสีเขียวทั่วไป แถมยังไม่มีทางเดินไว้รองรับรอยเท้าของมนุษย์แม้แต่น้อย สิ่งเดียวที่ต้องทำสำหรับผู้มาเยือนอย่างเรา คือทำใจและระมัดระวังทุกฝีก้าว เพราะถึงคุณลุงจะบอกว่าเดินขึ้นลงตรงไหนก็ได้ แต่พอพินิจพิเคราะห์ด้วยสายตาตัวเอง ผมว่ามันก็ลื่นไถลตรงไหนก็ได้เหมือนกัน
ระหว่างทางลุงเทียมให้ทั้งข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการทำไร่กาแฟ ซึ่งประเด็นต่างไปจากไร่ของคุณนนท์ตรงอายุของต้นกาแฟ เพราะต้นกาแฟของคุณลุงเทียมมีอายุน้อยกว่า ผลที่ได้รับจึงมีขนาดใหญ่กว่าแบบสังเกตเห็นได้
เวลาส่วนใหญ่ที่เราใช้ไปในวันนี้คือการปีนป่ายให้ทันตามคุณลุง ทั้งจับพื้น ตะกุยดิน คว้ารากต้นไม้ข้างทาง เพื่อเดินขึ้นไปเรื่อย ๆๆๆ ให้ทันลุงเทียมที่เดินขึ้นไปอย่างง่ายดายเหมือนขึ้นสะพานลอย
และมีคำเตือนมาฝาก หากมีโอกาสได้ไปท่องเที่ยวในไร่กาแฟที่มีสภาพภูมิศาสตร์เช่นเดียวกับผม อย่าจับหรือคว้าต้นกาแฟเพื่อดึงตัวเองขึ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะผลกาแฟนั้นร่วงจากต้นง่ายมาก ซึ่งลูกที่ร่วงจะถูกนับเป็นคนละเกรดกับลูกที่เก็บสด ๆ จากต้น ฉะนั้น ถ้าไม่อันตรายถึงชีวิตจริง ๆ อย่าไปทำพืชผลเขาเสียหายนะครับ
อีกสิ่งที่แตกต่างระหว่างไร่ของคุณนน์กับลุงเทียมคือเรื่องแรงงาน ลุงเทียมยังคงหาแรงงานขึ้นมาช่วยเก็บกาแฟได้ แต่เป็นค่าแรงในราคากิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งปรับขึ้นมาจากแต่ก่อนที่ราคากิโลกรัมละ 7 – 8 บาท
เมื่อค่าแรงเพิ่มขึ้น ราคาการรับซื้อกาแฟเองก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เราได้ข้อมูลจากสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนามาว่า ผลกาแฟ 5 กิโลกรัม ได้กะลา 1 กิโลกรัม ตอนนี้ราคารับซื้อผลกาแฟขึ้นมาประมาณ 15% ส่วนราคากะลาขึ้นมาประมาณ 40% และยังคงมีวี่แววจะสูงขึ้นอีกเรื่อย ๆ
ในปีหน้าจะเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ราคาคงเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน เพราะด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะฝนหลงฤดูที่ทำให้ผลกาแฟหล่นลงพื้น จนปริมาณเก็บเกี่ยวลดลง อย่างที่บอกไปครับว่า กาแฟที่ดีต้องเด็ดสด ๆ จากต้น
หลังจากที่ลุงเทียมอธิบายและพาผมเดินไปยังทางลง ความสงสัยก็ผุดขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จนเกิดเป็นคำถามที่ว่า “เคยมีคนไหลตกลงไปบ้างไหมครับ”
ลุงเทียมหัวเราะ และคำตอบของลุงก็ชวนให้ผมเพิ่มความระมัดระวังเป็นเท่าตัว
และแล้วก็มาถึงทางลงที่ดูจะปลอดภัยกับผู้มาเยือนมากขึ้น แล้วลุงเทียมก็พูดขึ้นว่า “จริง ๆ ขึ้นทางนี้ก็ได้ มันง่ายกว่า” พูดไม่ออก บอกไม่ถูก เอาเป็นว่าอย่างน้อยผมก็ได้มีเรื่องราวความลำบากมาเขียนแล้วกัน
ก่อนที่จะเดินทางกลับ ผมได้นั่งท้ายรถกระบะมาเยี่ยมเยียนบ้านคุณลุงในหมู่บ้านแม่ตอนหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ลุงเทียมทั้งโม่ (กะเทาะเปลือก) แช่ และตากกาแฟทั้งหมดจากไร่ของตัวเอง
น่าเสียดายที่ลุงเทียมส่งกาแฟทั้งหมดไปขายแล้ว เราจึงไม่มีโอกาสได้ชิม แต่จากการปลูก ณ จุดสูงสุดของตำบลเทพเสด็จที่ผนวกรวมเข้ากับธรรมชาติรอบข้าง ไม่ได้โล่งแจ้งจนชวนให้กังวลว่าผลผลิตจะติดโรค และไม่ได้ร่มรื่นจนยากที่จะสุกทันฤดูเก็บเกี่ยว เรียกได้ว่าไร่ของลุงเทียมเพียบพร้อมไปด้วยปัจจัยมากมายที่จะทำให้ผลกาแฟนั้นออกมาดีมากถึงมากที่สุด
ใครจะไปคิดครับว่า แม้ราคารับซื้อผลกาแฟจะมากขึ้น แต่ชาวไร่กาแฟกลับต้องประสบทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงาน จำนวนผลผลิตที่ลดลงจากฝนหลงฤดูในช่วงปลายปีก่อน และอีกหลายปัญหาที่อาจส่งผลต่อทั้งวงการในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คุณภาพกาแฟของทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า ‘ยิ่งสูงยิ่งดี’ หมายถึงยิ่งปลูกกาแฟในที่สูง คุณภาพก็จะออกมาดีตามได้ ซึ่งในฐานะที่ผมได้ไปเห็นกระบวนการและปัญหาตั้งแต่ต้นเปลือกยันปลายกะลา การันตีได้เลยครับว่า คุณภาพและธรรมชาติที่อยู่อย่างเป็นมิตรกับผู้ดื่ม ทำให้กาแฟจากทั้ง 2 หมู่บ้านมีคุณค่าและทุกคนควรได้ลิ้มลองสักครั้งจริง ๆ สำหรับใครที่สนใจกาแฟของคุณนนท์และคุณลุงเทียม รวมถึงผลผลิตจากหมู่บ้านต่าง ๆ ของตำบลเทพเสด็จ โดยกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา ที่ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาผลผลิตกาแฟ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ไปลิ้มรสชาติ Single Origin Drip Coffee Special Series กาแฟดริปใหม่ล่าสุดจากอินทนิลกันได้แล้ววันนี้ และไม่ว่าในอนาคต เราอาจได้ชิมกาแฟจากเทพเสด็จที่ร้านอินทนิลในรูปแบบเมล็ดกาแฟชงสด ๆ ก็เป็นได้
ทำความรู้จักกับรสชาติของ Single Originดริปคอฟฟี่ซีรีส์ใหม่จากอินทนิล
Mae Jaem กาแฟออร์แกนิกดริป แม่แจ๋ม จากหมู่บ้านแม่แจ๋ม ต.แจ้ซ้อน อ.แม่ปาน จ.ลำปาง Pa Pae กาแฟออร์แกนิกดริป ป่าแป๋ จาก ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ Thep Sadet กาแฟดริปเทพเสด็จ จากเขตโครงการหลวงป่าเมี่ยง ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ โดยสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา
พบกับ Single Origin ทั้ง 3 แหล่งได้แล้ว ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไปที่ร้านอินทนิล