29 มิถุนายน 2017
2 K

หากตอนนี้เรากำลังยืนอยู่ ณ พื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย สถานที่ซึ่งไม่ใช่หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ภาพตรงหน้าที่เห็นอยู่ตอนนี้ ก็คงเป็นแค่อะไรที่แสนจะสามัญ-ธรรมดา แต่ไม่ใช่กับที่นี่

บรรยากาศยามเย็นของตลาดในตัวเมือง ซึ่งคับคั่งไปด้วยผู้คนที่กำลังออกมาจับจ่ายซื้อหาอาหารเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในช่วงเวลาอันแสนสำคัญของศาสนาอิสลาม-เดือนเราะมะฎอน

ในช่วงหนึ่งของแต่ละปี ชาวมุสลิมทั่วโลกจะต้องถือศีลอดในเวลากลางวันไปจนถึงช่วงเวลาก่อนเช้าของอีกวันเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม มันไม่ใช่เพียงแค่การอดน้ำ อดอาหาร หรือการที่ใครสักคนไม่สามารถรับประทานสิ่งใดได้เลยนอกจากการกลืนน้ำลาย แต่การถือศีลอดยังหมายความรวมไปถึงการปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักคำสอนของศาสนาทั้งภายนอกและภายใน การฝึกฝนความอดทนอดกลั้น การเข้าใจถึงความยากไร้ การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ และหันมาทำความเข้าใจในคัมภีร์อัลกุรอานและหลักคำสอนของอิสลามที่แท้จริง

‘ตลาดจะบังติกอ’ ในวันนี้ยังคงหนาแน่นไปด้วยผู้คนเหมือนทุกๆ ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาก่อนการละศีลอดสำหรับเรานั้น ถือเป็นอีกช่วงของวันที่ยาวนาน น่าตื่นเต้น และสนุกที่สุด ในเวลาเดียวกัน เพราะทุกๆ คนในครอบครัวจะออกไปจ่ายตลาดเพื่อเลือกซื้ออาหารที่ตัวเองต้องการจะรับประทาน ภาพตรงหน้าที่เห็นคือการที่คนคนหนึ่งซึ่งไม่ได้กินอะไรเลยมาทั้งวัน กำลังเลือกซื้อและหยิบทุกอย่างที่ขวางหน้าจนไม่ลืมหูลืมตา (ฮา)

ตลาดจะบังติกอ ตลาดจะบังติกอ ตลาดจะบังติกอ ตลาดจะบังติกอ ตลาดจะบังติกอ

หลังกลับมาจากการซื้อของ ทุกคนจะช่วยกันจัดเตรียมสำรับสำหรับจัดโต๊ะอาหาร การจัดสำรับอาหารในเดือนเดือนนี้จะมีความพิเศษกว่ามื้ออาหารในวันธรรมดาทั่วๆ ไป ทั้งในแง่ของรูปร่างหน้าตาและปริมาณ ไม่ว่าจะเป็นบรรดาอาหารคาวหวานนับสิบ น้ำดื่มรสชาติต่างๆ ที่แตกต่างกันไป และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือผลไม้ที่เข้ามาทดแทนการขาดน้ำตาลอย่างอินทผลัม

ในหลายๆ ครั้งที่เราเลือกซื้ออาหารมากเกินความจำเป็น มันทำให้เราอดนึกถึงคนยากไร้ที่ไม่ได้ทานอะไรมาทั้งวันไม่ได้ และหากยิ่งพวกเขาเป็นชาวมุสลิมที่ต่างกำลังทำการถือศีลอดเช่นเดียวกันนั้น เขาเหล่านั้นจะหิวกระหายมากเพียงใด?

เรายังมีโอกาสได้เลือกซื้ออาหารตามที่ต้องการ ยังมีโอกาสได้กินอาหารตามที่เราชอบ ในบางครั้ง อาหารที่ซื้อมาก็เยอะเกินไปจนเหลือไปถึงมื้อต่อไป แต่สำหรับพวกเขานั้น, เขาอาจมีโอกาสได้ทานเพียงข้าวไม่กี่คำ มีกับข้าวใช้ทานร่วมในสำรับไม่กี่อย่าง หรือสำหรับบางครอบครัวที่ลำบากมากๆ อาจไม่ได้รับประทานอะไรเลยนอกจากน้ำเพียงไม่กี่แก้ว

และด้วยเหตุผลนี้เอง ครอบครัวของเราเลยมีกิจกรรมอีกหนึ่งกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับกลุ่มนักปั่นจักรยานสายกิน ‘กลุ่ม NIGHT RIDE’ ซึ่งในวันปกติธรรมดาพวกเราจะออกไปปั่นเพื่อหาของกินในตัวเมืองปัตตานีกันทุกๆ คืนวันพุธ แต่กิจกรรมที่ถูกเพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษในเดือนเดือนนี้ คือการที่พวกเราจะระดมเงินทุนเพื่อซื้อของใช้ที่จำเป็น อาหารคาวหวาน เครื่องดื่ม และเดินทางไปร่วมละศีลอดกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่พ่อและแม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบของสามจังหวัดชายแดนใต้

ภาพเหล่านั้น ยังคงติดอยู่ในส่วนลึกของใจในทุกๆ ครั้งที่เรานึกถึง

มันเป็นเหมือนความหดหู่ ที่ถูกเติมเต็ม
ความยากไร้ ที่ถูกมอบให้
ความสูญเสีย ที่ยังอาจติดอยู่ในใจ

แค่ขอให้พวกเขาเข้มแข็งขึ้น ได้ในสักวัน. . .

ศีลอด ศีลอด ปัตตานี

ไม่เพียงแต่ช่วงเวลาดีๆ ที่ทุกคนในครอบครัวจะได้รับประทานอาหารร่วมกัน แต่ยังมีอีกหนึ่งช่วงเวลาสำคัญในเดือนเราะมะฎอนที่ชาวมุสลิมจะได้ทำการละหมาดตะรอเวี๊ยะฮฺที่มัสยิดใกล้บ้าน ซึ่งในช่วงเวลานี้เองที่ทุกคนจะมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ได้กล่าวทักทาย หรือที่เรียกว่าการให้สลาม ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้อาจเป็นอะไรที่เรามองข้ามมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

บรรยากาศภายใน ‘มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี’ วันนี้เต็มไปด้วยผู้คนที่แต่งกายในชุดหลากสีสัน วันนี้คืออีกช่วงเวลาสำคัญที่มุสลิมทุกคนจะมารวมตัวกันที่มัสยิดเพื่อทำการละหมาดในวันอีด (Eid al-Fitr) หลังจากนั้นก็จะทำการบริจาคทาน (ในกรณีที่ทำได้) และเดินทางไปพบปะญาติพี่น้องในเวลาต่อไป

ปัตตานี ศีลอด ปัตตานี

เราเป็นอีกคนที่กำลังอยู่ในสถานที่ซึ่งความสูญเสียสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงขณะ และทุกคน ณ ที่แห่งนี้ก็รู้ดีว่าเหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ผู้คนภายนอกอาจตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเราถึงยังใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ทำไมคนถึงยังกล้าออกมาละหมาดกันจนเต็มมัสยิด? คนจากภายนอกที่ไม่ได้อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนี้อาจเกิดคำถามภายในว่า ‘ทำไม’

แน่นอนว่า, สิ่งที่เกิดขึ้นไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความเคยชิน หรือแม้แต่เปลี่ยนเป็นระบบทางความคิดที่ทำให้เราทุกคน ณ ที่แห่งนี้รู้สึกว่าควรทำใจ แต่ยิ่งเราอยู่ใกล้กับความสูญเสียมากเท่าไหร่ ความตระหนักถึง ‘การจากไป’ และความใส่ใจใน ‘การมีอยู่’ ก็ยิ่งมากขึ้นเท่ากัน

ภายใน 365 วัน มีแค่ 2 ช่วงเวลาต่อปีเท่านั้นที่ชาวมุสลิมจะมีโอกาสได้ทำอะไรเพื่อให้ได้เข้าใจและเข้าถึงหลักคำสอนของศาสนาอิสลามมากเท่านี้ หลายๆ เดือนที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยเห็นคุณค่าของน้ำสักแก้ว ข้าวสักจาน หรือแม้แต่ของหวานสักชิ้น หลายๆ เดือนที่ผ่านมา เราอาจไม่เคยเข้าใจความยากไร้ของผู้คนที่ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อข้าวกิน และหลายๆ ช่วงเวลา เรามักให้ความสำคัญกับคนที่อยู่ไกลตัว มากกว่าคนที่อยู่ใกล้ใจ

เรารู้สึกขอบคุณช่วงเวลาอันแสนพิเศษของศาสนาอิสลามเวลานี้ และสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้กับความสูญเสียอย่างจังหวัดปัตตานี เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเห็นคุณค่าของทุกช่วงขณะที่เรายังกินดีอยู่ดี และตระหนักอยู่ในทุกช่วงวินาที ว่าทุกอย่างล้วนต้องจากไป. . .

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่ / บทเรียนจากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue/โรงเรียนนานาชาติ’

ถ้าผลงานของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ชานิตยา ดานิชสกุล

ช่างภาพฟรีแลนซ์ (บ้างเป็นบางโอกาส) ที่อยากทำทุกอย่าง แต่ทุกวันนี้อยู่กับแมว หนังสือ ขนม และกาแฟ