ถ้าย้อนเวลากลับไป คุณจะรู้ว่าวิชาที่ฉันไม่ชอบที่สุดคือพลศึกษา ไม่ต้องพูดถึงวงการกีฬาที่แปลกหน้าต่อกันระดับฟังพวกผู้ชายคุยกันแทบไม่รู้เรื่อง

แต่เหตุผลที่ฉันยอมควักเงินเยนจ่ายค่าตั๋วเข้าชม ‘Athlete’ นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ชื่อ 21_21 DESIGN SIGHT ย่านรปปงงิ ก็เพราะวันนั้นแอพพยากรณ์อากาศในมือถือบอกว่าฝนตกตลอดกาล แผนการเที่ยวเลยต้องตามน้ำเป็นที่เที่ยวในร่ม จนมาลงเอยเป็นที่เที่ยวเชิงความรู้เก๋ๆ

ที่จริงแล้ว ในใจฉันเห็นภาพนิทรรศการเรื่องนักกีฬาว่าคงเป็นการหยิบเรื่องในวงการกีฬาที่แสนไกลตัวฉันมาเล่า เผลอๆ อาจเต็มไปด้วยนักกีฬาญี่ปุ่นที่ไม่รู้จัก ยิ่งคิดก็ยิ่งไม่อิน แต่พอได้ก้าวเข้าไป ก็รู้ว่า ‘Athlete’ ไม่ได้อยากพูดเรื่องพวกนั้นเลย

นี่ ‘นักกีฬา’ น่ะคืออะไรเหรอ? นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการถามฉันแบบนี้

Athlete Athlete

นั่นสินะ นักกีฬาคืออะไร คำตอบอาจมีเป็นแสนเป็นล้าน แต่สิ่งที่ ‘Athlete’ เลือกคือคำตอบว่า พวกเขาคือคนธรรมดานี่เอง เพียงแต่ร่างกายและจิตใจพัฒนาจนมีศักยภาพกว่าคนทั่วไป

แล้วอะไรทำให้มนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นนักกีฬา?

นิทรรศการนี้ชวนเราหาคำตอบ ผ่านการสำรวจหลากประเด็นซึ่งคัดสรรมาเล่าด้วยวิธีสนุกเข้าใจงาย ก็ไดเรกเตอร์ของงานนี้มีทั้งอดีตนักกีฬาตัวท็อป วิศกรด้านการออกแบบ และนักวิจัยและสร้างภาพยนตร์  (ยังไม่นับบุคคลและองค์กรอีกเยอะที่มาแจม) จะให้เล่าเรื่องเป็นโมโนโทนยังไงไหว

ขอยกตัวอย่างเหล่าไฮไลต์ที่ชอบ เริ่มจากของสนุกตรงห้องใหญ่ด้านในของนิทรรศการซึ่งเปิดให้คนลองหาคำตอบผ่านการใช้ชีวิตอย่างนักกีฬา ไม่ใช่มีบอลให้เตะ มีปิงปองให้ตี แต่เราจะมาเรียนรู้ผ่านนิทรรศการเล่นได้ว่าการจะเป็นนักกีฬาต้องอาศัยทักษะอะไร

The Characteristics of Athletes’ Physiques คือโซนที่พาไปดูว่านักกีฬาต้องฝึกฝนร่างกายสำหรับกีฬาแต่ละชนิดต่างกันยังไง ผ่านวิธีเล่าคือให้คนดูไปยืนและพยายามทำท่าให้เหมือนนักกีฬาแต่ละประเภท

Athlete

Physicals Controls บอกว่านักกีฬาจะเป็นนักกีฬาได้ ต้องมีทักษะการควบคุมร่างกายที่สำคัญ 3 อย่าง นั่นคือ การกะแรง กะเวลา และกะระยะ ว่าแล้วก็ให้คนทั่วไปลองทำดูบ้าง มีตั้งแต่ลองกะแรงดึงเชือกให้ออกมายาวเท่ากับที่ปรากฏในหน้าปัดบนจอ (แล้วก็ก้มลงมาดูเฉลยที่หน้าปัดเล็กของจริงด้านล่าง) ดูวิดีโอที่มีคนแกว่งเชือก แล้วกะเวลาโดดให้เป๊ะ จนถึงลองกะระยะด้วยการดึงเชือกออกมาให้ยาวเท่ากับความยาวบนหน้าจอ

Athlete

A Dialogue with the Subconscious, the ‘Most Familiar Other’ บอกเราว่าที่จริงเวลาเราทำกิจวัตรประจำวันแต่ละอย่าง ร่างกายมีการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อที่ซับซ้อนมาก แต่เราเองไม่ได้ใส่ใจ ต่างกับนักกีฬาที่ต้องสังเกตและคุมมันให้ได้อย่างใจ พูดจบก็ลงรายละเอียดให้เราดู ด้วยการให้ทำกิจวัตรสูตรๆ อย่างพิมพ์คีย์บอร์ด แล้วแจกแจงให้เห็นกันจะจะเลยว่า ที่คิดว่าขยับนิ้วจิ้มหนึ่งที จริงๆ กล้ามเนื้อเราขยับละเอียดยิบแค่ไหน

Athlete

An Athlete’s Perspective พูดถึงสายตาของนักกีฬา เวลาแข่งขันพวกเขามีมุมมองแบบไหน และตีความสิ่งที่เห็นไปสู่การกระทำยังไง ผ่านการให้คนดูลองเป็นนักเคนโดที่ต้องรีบกดปุ่มฟันดาบให้ทันก่อนศัตรูจะฟันเรา

Athlete Athlete : นิทรรศการไอเดียเฉียบที่บอกเราว่า มนุษย์กลายเป็น ‘นักกีฬา’ ได้อย่างไร

Time Pressure ว่าด้วยการรับแรงกดดันของนักกีฬาผ่านการให้เราตักลูกปิงปองใส่หลุมให้ทันเวลา (นึกภาพทีมฟุตบอลที่เวลาเหลือ 1 นาทีต้องยิงประตูให้ได้ อะไรแบบนั้น) ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างจากสิ่งที่พวกเราเจอกันอยู่ในแต่ละวัน

Athlete

นอกจากทั้งหมดด้านบนที่ชวนให้ฉันวิ่งไปลองเล่น (และแอบดูชาวบ้านเล่น) อยู่นาน Athlete ยังมีไฮไลต์อื่นรออยู่ หนึ่งในนั้นคือ ผลงานภาพเคลื่อนไหวของเส้นสายที่กำลังวิ่งผ่านจุดสีฟ้าระยิบระยับ

Athlete

นี่คืออะไรคะ? อ๋อ มันคือจิตวิญญานของนักกีฬาที่กำลังวิ่งผ่านอุปสรรคนานาสู่อนาคต จุดแสงใหญ่แสนไกลคืออนาคตที่พวกเขาใฝ่ฝัน จุดเล็กๆ คืออนาคตที่ไม่ได้ถูกเลือก (To Live is to make decisions, one after another. ป้ายอธิบายผลงานกล่าวไว้)

อย่างนี้ก็ได้เหรอ-ฉันนึกในใจ

ไฮไลต์สุดท้ายที่อยากเล่าให้ฟัง รอผู้ชมอยู่ในห้องเล็กๆ เมื่อเปิดผ้าม่านหนาหนักเข้าไป จะพบความเงียบและความมืดสนิท

แล้วทันใด คุณจะได้ยินเสียงฝีเท้าวิ่ง พร้อมกับภาพนักกีฬาตัวเท่าคนจริงวิ่งผ่านไป

นี่คือ The Room of Marvels ห้องฉายแอนิเมชันที่แสดงให้เห็นว่า นักกีฬาผู้เคี่ยวกรำตัวเองจนทะลุขีดจำกัดได้สถิติงดงามนั้นเป็นอย่างไร ในความมืด คุณจะเห็นนักวิ่งมาราธอน นักวิ่งระยะสั้น นักกระโดดสูง นักกระโดดไกล ฯลฯ พวกเขาวิ่งได้เร็วแค่ไหน กระโดดได้สูงเท่าไหร่

ที่นี่จะแสดงศักยภาพของ ‘นักกีฬา’ ออกมาให้เห็นประจักษ์ตา

Athlete : นิทรรศการไอเดียเฉียบที่บอกเราว่า มนุษย์กลายเป็น ‘นักกีฬา’ ได้อย่างไร

ฉันและ Athlete โบกมือลากันที่ห้องนี้ แต่เมื่อออกมาข้างนอก ก็พบว่ายังมีส่วนขายของที่ระลึกจากแบรนด์กีฬาชื่อ Hudler ที่แปลว่านักกระโดดข้ามเคลื่อนกีดขวาง

Athlete

ความสนุกอยู่ตรงไหน? อยู่ตรงที่แบรนด์นี้ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นสิ่งที่นิทรรศการสมมติขึ้นมา โดยคัดสรรสินค้ากีฬาจากหลากแบรนด์มารวมกันมาน่ะสิ

(แถมมีนามบัตรแบรนด์ด้วยนะ ว่าแล้วก็คว้ามา 1 ใบ)

ถึงเวลาจากลาของจริงแล้ว ฉันเดินออกมา แต่หัวใจยังพองฟูด้วยความประทับใจ สิ่งที่ได้จาก Athlete ไม่ใช่แค่ความเพลิดเพลิน แต่ยังได้เข้าใจคำว่า ‘นักกีฬา’ ในแบบที่การติดตามเรื่องกีฬาให้ไม่ได้

ที่พิเศษสุด ฉันได้รู้ว่าคงมีเรื่องมากมายที่เราจัดสรรไว้นอกวงกลมชีวิตเพราะมัน ‘ไม่ใช่ทาง’ แต่ที่จริงแล้ว เรื่องพวกนี้มีประตูเล็กๆ บานหนึ่งที่ใครก็ผ่านเข้าไปได้ อยู่ที่ว่าเราจะหามันเจอมั้ย  และยิ่งถ้าคุณอยู่ในฐานะคนเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะผ่านช่องทางไหน การหาประตูบานนี้แหละคือความท้าทาย หามันให้เจอ ทำให้มันปรากฏสู่สายตาผู้คนให้ได้

แล้วเรื่องนั้นจะไม่ได้อยู่ในสมอง แต่จะถูกจดจำในใจ เหมือนที่ Athlete ยังอยู่กับฉันจนวันนี้

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่ / บทเรียนจากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue/โรงเรียนนานาชาติ’

ถ้าผลงานของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN