27 มิถุนายน 2017
10 K

เมื่อพูดถึงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส สิ่งที่ผุดพรายขึ้นมาในหัวเราเป็นอันดับแรกๆ คืออะไร หอไอเฟล น้ำหอม แฟชั่น โมนาลิซ่า ความหรูหรา หรือความโรแมนติก?

ในม่านหมอกของความงดงามเหล่านั้น ปารีสได้ชื่อว่าเป็นนครแห่งแสงสว่าง (La Ville LumièreThe City of Light) เพราะเป็นเมืองแรกในยุโรปที่ติดตั้งเสาไฟตะเกียงเเก๊สหลายหมื่นดวงบนท้องถนนในทศวรรษ 1860 ทำให้กลายเป็นเมืองหรูหราสว่างไสวไม่มีวันหลับ นำมาซึ่งความสำรวยสำราญทั้งในยามกลางวันและกลางคืน สมกับเป็นเมืองที่ผู้คนเฝ้าฝันถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ในพระราชนิพนธ์ ไกลบ้าน ว่า ปารีสเป็น ‘เมืองบรมสุข’

นอกจากความสว่างไสวที่มองเห็นได้ด้วยสายตาแล้ว ปารีสยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่จุดไฟส่องสว่างทั้งในสมองและจิตใจ เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของปัญญาความคิดหลายสาขาตั้งแต่อดีตกาล กลิ่นหอมรัญจวนของน้ำหอมชโลมเมืองให้รื่นรมย์ คลอเคล้าไปกับอวลไออุดมการณ์ทางการเมืองและการปฏิวัติ สำนึกของ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ (Liberté, Égalité, Fraternité-คำขวัญประจำชาติฝรั่งเศส) ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ กระตุ้นให้แรงบันดาลใจแห่งประชาธิปไตยของไทย (ที่ตอนนี้อยู่ไหนไม่รู้) กำเนิดขึ้นที่มหานครแห่งนี้เมื่อ 90 ปีก่อน

ปารีส

ย่าน Quartier Latin (การ์ติเย ลาแตง) กลางกรุงปารีส ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นชุมนุมปราชญ์ราชบัณฑิตมาเนิ่นนาน หนึ่งในสถานที่สำคัญที่สุดในย่านนี้คือมหาวิทยาลัยปารีส หรือที่รู้จักกันในชื่อ ซอร์บอนน์ (Université Paris-Sorbonne) ที่ก่อตั้งขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้ชื่อว่าเก่าแก่เป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากมหาวิทยาลัยโบโลญญาในอิตาลี) จวบจนปัจจุบันซอร์บอนน์ก็มีอายุเกือบ 1,000 ปีแล้ว ด้วยเหตุนี้ การ์ติเย ลาแตง จึงเป็นย่านของนิสิตนักศึกษาและเป็นแหล่งวิชาความรู้

ปารีส
ปารีส

อพาร์ตเมนต์เลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ (Rue de Sommerard) ตั้งอยู่บนถนนสายเล็กๆ ที่เงียบสงบในย่านนี้ ต้นเดือนกุมภาฯ พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1927) ท่ามกลางความหนาวเหน็บในฤดูหนาวของกรุงปารีส นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งศึกษาอยู่ในสายวิชาที่ต่างกัน 7 คน รวมกันเช่าห้องห้องหนึ่งในอพาร์ตเมนต์เลขที่ 9 แห่งนี้ เพื่อใช้เป็นที่ประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยาม ซึ่งเป็นการประชุมที่จริงจังมากทีเดียวเพราะใช้ไปเวลาทั้งสิ้น 4 วัน 5 คืน และในวันเริ่มการประชุมก็ตรงกับวันเกิดปีที่ 30 ของประยูร ภมรมนตรี หนึ่งในแกนนำ น่าสนใจที่บรรพบุรุษของเรามีกิจกรรมวันเกิดที่แสนยิ่งใหญ่และจะเปลี่ยนโฉมหน้าของบ้านเกิดเมืองนอนตลอดไป

ในบรรดาผู้ที่มาประชุมในครั้งนั้น มี 2 คนที่เราได้ยินชื่อกันจนคุ้นหู คนแรกคือ ปรีดี พนมยงค์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ผู้เป็นแกนนำและมันสมองของกลุ่ม อีกคนก็คือ ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนทหารปืนใหญ่ ชื่อนี้อาจจะฟังดูไม่คุ้นนัก แต่ทุกคนคงจะร้องอ๋อเมื่อบอกว่า ท่านผู้นี้คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งต่อมาจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เป็นเวลาถึง 14 ปี 11 เดือน เป็นเรื่องแปลกดีที่ จอมพล ป. เกิดวันที่ 14 กรกฎา ตรงกับวันทลายคุกบัสตีย์ (Bastille) หมุดหมายสำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นวันชาติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

การหารือในวันนั้นถือเป็นการประชุมทางการครั้งแรกของ ‘คณะราษฎร’ ใครจะนึกว่าโครงการบ้าบิ่นของคนหนุ่ม 7 คนที่เริ่มต้นในห้องเเคบๆ ในเมืองแห่งการปฏิวัติในวันนั้น จะเป็นจริงขึ้นในอีก 5 ปีต่อมา ใครจะเชื่อว่าความคิดที่หากปฏิบัติการไม่สำเร็จ คณะราษฏรจะกลายเป็นกบฏซึ่งมีโทษคือการประหารชีวิต จะนำพาประชาธิปไตยมาสู่ในในปี 2475 (แต่ตอนนี้อยู่ไหนแล้วหว่า)

ปารีส

ปัจจุบัน อพาร์ตเมนต์เลขที่ 9 ถนนซอมเมอราร์ ได้กลายเป็นโรงแรม Best Western Le Jardin de Cluny โรงแรมสี่ดาวที่เงียบสงบ เน้นการประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการท่องเที่ยงอย่างยั่งยืน ไฮไลต์หนึ่งของโรงแรมคือบุฟเฟต์อาหารเช้าแบบออร์แกนิกที่ให้บริการทุกเช้าในห้องอาหารเพดานโค้งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 13 สนนราคาค่าห้องตกคืนละ 250 – 360 ยูโร (ตีคร่าวๆ เป็นตัวเลขกลมๆ ตกประมาณ 9,000 – 13,000 บาท ได้นอนในตึกประวัติศาสตร์เลยนะ)

ตอนหาข้อมูลเขียนบทความเรื่องนี้เรานึกถึงหนังเรื่อง Les Misérables ที่ได้ดูเมื่อสี่ห้าปีก่อน (ซึ่งตอนนั้นอินมาก) หนังสร้างขึ้นมาจากวรรณกรรมอมตะนิรันดร์กาลเล่มหนามากของ Victor Hugo (เล่มดังอีกเล่มคือ Notre-Dame de Paris ที่ต้นฉบับดาร์กมาก แต่ Disney ใส่ความชวนฝันแล้วปิดท้ายด้วย Happy ending กลายมาเป็นแอนิเมชัน The Hunchback of Notre Dame ในปี 1996) Les Misérables ได้รับการยกย่องให้เป็นวรรณกรรมหนึ่งเล่มสำคัญที่สุดของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 การประชุมของคณะราษฎรทำให้เรานึกถึงมาริอุส (แสดงโดย Eddie Redmayne) พระเอกของเรื่องกับแก๊งหนุ่มนักปฏิวัติ ซึ่งเป็นคนหนุ่มจากหลากหลายสาขา แต่มีอุดมการณ์ร่วมกันที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ยุคสมัยใหม่ ในตอนรวมตัวกันเพื่อประชุมวางแผนการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาล พวกเขาร้องเพลงชื่อ Red and Black มีท่อนหนึ่งที่จับใจและถ่ายทอดความรู้สึกของคนหนุ่มที่กำลัง ‘คิดการใหญ่’ ได้เป็นอย่างดี

“Have you asked of yourselves
What’s the price you might pay?
Is it simply a game for rich young boys to play?
The colours of the world are changing
day by day…”

หนุ่มนักปฏิวัติใน Les Misérables รวมตัวกันในชื่อ The Friends of the ABC (Les Amis de lABC) มีที่มาจากการอ่านออกเสียงตัวอักษร A B C แบบฝรั่งเศส เป็น อา เบ เซ ซึ่งไปคล้ายกับเสียงอ่านคำว่า abaissés (แปลอังกฤษว่า the “lowly” / abased) สื่อความหมายประมาณว่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกกดให้ต้อยต่ำ (จากอำนาจของผู้ปกครอง) ความหมายนี้ทำให้เรานึงถึงคำว่า ‘คณะราษฎร’ แม้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2555 จะให้ความหมายของคำว่า ‘ราษฎร’ เอาไว้ว่า ‘พลเมืองของประเทศ’ แต่ปรีดี พนมยงค์ ผู้เลือกใช้ชื่อคณะราษฎรได้อธิบายความหมายของคำว่าราษฎรเอาไว้ว่า พลเมืองสยามส่วนมากซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองสมัยนั้นเรียกตัวเองว่าราษฎร… คือแสดงถึงลักษณะของพลเมืองส่วนใหญ่ที่ถูกปกครองโดยระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น เราจึงถือว่าเราเป็น คณะราษฎร เพราะเราทำตรงกับความต้องการของราษฎร” เราจึงคิดว่าความหมายของ The Friends of the ABC ก็มีเซนส์เดียวกับความหมายของคำว่า คณะราษฎร ที่ปรีดีกล่าวไว้เลยทีเดียว

เมื่อฝันและหวังของคนหนุ่มต่อประชาธิปไตยยังคงเรืองรอง ตามรอยคาเฟ่ที่ชุมนุมของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส

เหล่าปัญญาชน นักคิดนักเขียน และศิลปิน ในปารีสมักรวมตัวกันที่ café ซึ่งไม่ได้เสิร์ฟแค่ชากาแฟอย่าเดียวเท่านั้น แต่ café ในปารีสยังเสริฟอาคารคาวหวานทั้งเบาทั้งหนักและเครื่องดื่มนานาชนิดตลอดทั้งวัน
The Friends of the ABC พบปะกันที่ Café ABC เช่นเดียวกับคณะราษฎรก็พบปะกับที่ café (ลองนึกถึงการพบปะที่ café ของเหล่าคนดังในยุค 1920 ในหนัง Midnight in Paris-สมัยเดียวกันกับยุคกำเนิดคณะราษฎรในปารีส) ท่านผู้หญิงพูนสุข พนมยงค์ คู่ชีวิตของปรีดีเล่าไว้ว่า

เมื่อครั้งที่นายปรีดีเป็นนักศึกษา เคยมาเดินเล่นและพูดคุยปัญหาบ้านเมืองกับเพื่อนคนหนึ่ง บางวัน ข้าพเจ้ากับนายปรีดีออกจาก Sainte-Geneviève แล้วก็มานั่งเล่นที่ร้านกาแฟ Café Select มุมถนน Rue des Ecoles ตัดกับถนน Boulevard Saint-Michel… นายปรีดีเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า ที่ร้านกาแฟนี้ นายปรีดีและเพื่อนๆ ร่วมกันคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปรารถนาให้สยามประเทศมีรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีเสรีภาพและประชาธิปไตย… เมื่อ 2 ปีก่อน (พฤษภาคม 2542) ข้าพเจ้าหวนกลับไปปารีสอีกครั้ง ร้าน Café Select ปัจจุบันเป็นร้านขายเสื้อผ้า ไม่หลงเหลือสภาพเดิมให้ปรากฏ”

เมื่อฝันและหวังของคนหนุ่มต่อประชาธิปไตยยังคงเรืองรอง ตามรอยคาเฟ่ที่ชุมนุมของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส
เมื่อฝันและหวังของคนหนุ่มต่อประชาธิปไตยยังคงเรืองรอง ตามรอยคาเฟ่ที่ชุมนุมของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส
เมื่อฝันและหวังของคนหนุ่มต่อประชาธิปไตยยังคงเรืองรอง ตามรอยคาเฟ่ที่ชุมนุมของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส

แต่อย่างไรก็ตามมีหนังสือบางเล่มกล่าวว่าร้าน Café Le Select ยังเปิดให้บริการอยู่จนถึงทุกวันนี้ เราตามรอยจนไปถึงร้านเลขที่ 99 boulevard du Montparnasse ไม่ไกลจากย่านการ์ติเย ลาแตง นัก ก็พบร้านกาแฟปารีเซียงคลาสสิก ตั้งเก้าอี้หวายน่าเอ็นดูไว้หน้าร้านเช่นเดียวกับร้านกาแฟทั่วไปในปารีส แต่โดดเด่นด้วยไฟนีออนขดเป็นคำว่า Le Select ชื่อของร้าน Café แห่งนี้เปิดบริการมาตั้งแต่ปี 1923 (พ.ศ. 2466) เป็นร้านดังพอตัวในฐานะที่พบปะของเหล่านักคิด มีศิลปินเซเลบอย่าง Picasso และนักเขียนดังอย่าง F. Scott Fitzgerald (คนเขียน The Great Gatsby) และ Ernest Hemingway (คนเขียน The Old Man and the Sea) เเวะเวียนมาเขียนงานบ้าง เจอเพื่อนบ้าง กินข้าวบ้าง

เมื่อฝันและหวังของคนหนุ่มต่อประชาธิปไตยยังคงเรืองรอง ตามรอยคาเฟ่ที่ชุมนุมของ ปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะราษฎรที่ฝรั่งเศส

เราสั่ง Café gourmand กับบริกรที่เป็นคุณลุงรุ่นเก๋าท่าทางใจดี เพื่อนเราที่เรียนอยู่ที่ปารีสแนะนำให้สั่งเมนูนี้เพราะจะได้ละเลียดทั้งกาแฟเอสเพรสโซเคล้าคลอกับขนมหวานที่เสริฟพร้อมกันมาหลากหลายชนิดตามแต่ละร้านจะเลือกสรรจัดให้ (ซึ่ง gourmand นอกจากจะแปลว่านักชิมแล้วยังแปลว่าตะกละด้วยเเหละ) ชมร้านไปพลาง จิบกาแฟพลาง กินขนมไปพลาง ก็ได้แต่นึกคิดไปว่า ร้านนี้รึเปล่านะ โต๊ะตัวนี้ใช่ไหม เก้าอี้ตัวนี้รึเปล่า ที่เหล่าคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งมานั่ง มาพบปะกัน เมื่อ 90 ปีก่อนเพื่อคุยกันถึงอนาคตที่ใฝ่ฝันถึง

ภาพ :  www.parisenimages.fr

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่ / บทเรียนจากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue/โรงเรียนนานาชาติ’

ถ้าผลงานของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

 

 


 

อ้างอิง

กษิติ มงคลนาวิน, ฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ : ปราชญ์เปรียว, 2549.

เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์. ปฏิวัติ 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2560.

จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ, ไกลบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2545.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. 2475 การปฏิวัติสยาม. พิมพ์ครั้งที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์
      และมนุษยศาสตร์, 2543.
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5 ฉบับแก้ไขและปรับปรุงครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ :
      ฟ้าเดียวกัน, 2553.
พูนศุข พนมยงค์, ท่านผู้หญิง. ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น 95 ปี 4 เดือน 9 วัน พูนศุข พนมยงค์. กรุงเทพฯ : ตถาตา
      พับลิเคชั่น, 2551.

Writer & Photographer

Avatar

นักรบ มูลมานัส

นักคุ้ยของเก่าผู้เล่าเรื่องผ่านการสร้างภาพ (ประกอบ) ที่อยากจะลองเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรดูบ้าง