เราเป็นคนอยู่ไม่สุข ปีที่ผ่านมาเรามีงานอดิเรกเพิ่มขึ้นมา 3 อย่าง เราเดินทางไปเที่ยวเฉลี่ยแล้วเดือนละครั้ง มีกิจกรรมต่างๆ ที่ชอบทำอยู่อีกร้อยแปดอย่าง ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เราก็ยังทำงานประจำที่เราชอบมากไปพร้อมๆ กันด้วย ความตั้งใจของเราอย่างหนึ่งเมื่อปีใหม่ที่ผ่านมาคือ อยู่เฉยๆ บ้าง เที่ยวให้น้อยลงนิด ใจง่ายให้น้อยลงหน่อย แต่ก็เหมือนความตั้งใจตอนปีใหม่ของทุกคนนั่นแหละ ที่มันจะอยู่ได้ไม่ค่อยพ้นเดือนมกราคม

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราใจง่ายขนาดตกลงปลงใจไปทริปเถื่อนทัวร์ที่บ้านหนองเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จากคำโฆษณาประโยคสั้นๆ บนเฟซบุ๊กเท่านั้น หลังจากชวนเพื่อนพอเป็นพิธีแล้วไม่มีใครไปด้วย รู้ตัวอีกทีเราก็โอนค่าทริป จองตั๋วเครื่องบิน แล้วก็เก็บกระเป๋าไปเชียงใหม่เป็นรอบที่ 3 ของปี

บ้านหนองเต่า อากาศเย็นสบายผิดกับอากาศหน้าร้อนในเมืองอย่างกับคนละโลก กิจกรรมแรกของพวกเราคือการกินอาหารกลางวันมื้ออร่อยที่มีผักสดให้กินเป็นกะละมัง มันช่างเป็นการต้อนรับที่อิ่มหนำถูกใจเรามาก พอกินเสร็จ พี่หมวย หัวหน้าทริป ก็ชวนให้สมาชิก 12 คนนั่งล้อมวงเพื่อทำความรู้จักกัน และเริ่มทริปอย่างเป็นทางการ พี่หมวยบอกเราว่าวัตถุประสงค์ของทริปนี้ นอกจากจะได้มาเจออากาศดีๆ อาหารดีๆ แล้ว ยังอยากพาคนเมืองมารู้จักคนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติอันเป็นต้นทุนของทุกความสบายที่เราใช้กันอยู่ในเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดให้เกิดความเข้าใจกันและกันมากขึ้นด้วย

เรานั่งสุมหัวกันที่ใต้ถุนบ้านหลังย่อมริมสวนซึ่งมีพืชพันธ์ุหลายชนิด ที่นั่นเราเห็นข้อความพ่นอยู่บนกำแพงว่าที่แห่งนี้คือ Lazy Man College ข้อความที่ว่าตัวค่อนข้างเล็ก และไม่ได้ถูกจัดวางให้เด่นสะดุดตาอะไร จนทำให้เราคิดไปว่าคนที่ทำที่นี่เขาไม่อยากให้คนรู้ชื่อ หรือว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับการให้ชื่อมันกันแน่

แต่ไม่ว่าคนอื่นจะมองเห็นชื่อเสียงเรียงนามของมันหรือไม่ การติดป้ายชื่อเอาไว้อย่างนั้นก็เป็นการประกาศว่า ที่แห่งนี้มีการเรียนการสอนของคนขี้เกียจ

เอาล่ะสิ แล้วคนอยู่ไม่สุขอย่างเรากับคนขี้เกียจจะเข้ากันได้ไหมนะ

Lazy Man College

Lazy Man College

คนขี้เกียจแห่งบ้านหนองเต่า

คนก่อตั้งและตั้งชื่อ Lazy Man College ชื่อ โอชิ แม้จะมีชื่อคล้ายคนญี่ปุ่นแต่โอชิเป็นชาวปกาเกอะญอโดยแท้ แวบแรกที่เห็นเขาก็ดูไม่เหมือนคนขี้เกียจ แต่โอชิยืนยันว่าความขี้เกียจที่ว่ามาจากรากเหง้าของบรรพบุรุษเขาเลยทีเดียว ก่อนที่เราจะเข้าใจผิดไปกันใหญ่ โอชิชี้แจงว่าไม่ใช่ว่าคนปากอเกอะญอขี้คร้านตัวเป็นขน มัวแต่นั่งชม้ายชายตาอะไรอย่างนั้น แต่ชื่อ ปกาเกอะญอ แปลว่า คนที่เรียบง่าย คนปกาเกอะญอใช้ชีวิตแบบพออยู่พอกิน ตามวิถีธรรมชาติ แต่ด้วยมาตรฐานความปากกัดตีนถีบของสังคมยุคใหม่ พฤติกรรมการหากินเพื่อพออยู่และการใช้ชีวิตตามจังหวะของธรรมชาติแบบไม่รีบไม่ร้อนเลยดูจะชิลล์เกินไปในสายตาคนทั่วไป แล้วก็มองพฤติกรรมนี้ว่าเป็นคนขี้เกียจ

เราเดาต่อว่าการตั้งชื่อสิ่งนี้ให้ฟังดูคล้ายสถาบันการศึกษาน่าจะมีที่มาจากชีวิตเขานั่นแหละ เขาออกจากระบบโรงเรียนตอนจบ .3 เพราะเห็นว่าการอยู่กับธรรมชาติและการอยู่นอกระบบจะทำให้เขามีโอกาสสร้างทักษะในการเข้าถึงความเรียบง่ายได้ดีกว่า และจะทำให้เขามีความสุขมากกว่า ด้วยความที่ไม่ต้องไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โอชิก็เลยมีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศทั่วโลกจากทุนของที่ต่างๆ และสิ่งที่เขานำกลับมาก็คือบทเรียน ทักษะชีวิต และความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เขาตั้งใจจะถ่ายทอดความคิดนี้สู่ผู้คนที่พร้อมจะรับฟังเขาเพื่อรักษามรดกที่บรรพบุรุษให้เขามาและเขาก็เชื่อว่าหนทางสู่ความสุขคือการเป็นคนที่เรียบง่ายและสนิทสนมกับธรรมชาติ

คนเมืองอย่างเราที่ทั้งไม่สนิทกับธรรมชาติและมีชีวิตที่สุดแสนจะวุ่นวาย แค่ได้ฟังเขาพูดด้วยจังหวะการพูดและการหยุดคิดที่เนิบช้าแต่หนักแน่น ก็หลงเชื่อไปแล้วว่าทริปนี้ต้องได้วิชาความสุขกลับบ้านไปแน่นอน

Lazy Man College Lazy Man College

วิทยาลัยคนขี้เกียจ   รายวิชา : ความสุข 101

บทเรียนที่ 1 : อะไรก็ได้ ง่ายๆ

หลังจากพวกเราแนะนำตัวแล้ว ก็ถึงเวลาไปรู้จักเจ้าถิ่นชาวปกาเกอะญอถึงในครัว ห้องครัวของทุกบ้านโอ่โถงมาก ดูเป็นส่วนสำคัญของบ้าน เครื่องครัวทุกชิ้นมีคราบสีดำเพราะผ่านการใช้งานมาอย่างโชกโชน แสดงความโปรของแม่บ้านแต่ละบ้าน พี่หมวยกับโอชิให้ชาวปกาเกอะญอแนะนำตัวกับพวกเราผ่านอาหารจานเด็ดของพวกเขาที่เรียกว่าต่าพอเพาะ

โอชิอธิบายว่าต่าพอเพาะหน้าตาคล้ายข้าวต้ม ซึ่งเราว่ามันคล้ายข้าวตุ๋นตำรับเอ็มเคมากๆ แนวคิดก็คล้ายกันอีก คือนำวัตถุดิบตามชอบใจหรือตามแต่จะมีมาต้มรวมกับข้าว เท่านี้ก็ได้อาหารยอดฮิตของคนปกอเกอะญอแล้ว

เมนูนี้เกิดมาจากความที่คนปกาเกอะญอเป็นชนเผ่าที่พึ่งพาตัวเองและไม่มีที่ดินทำกินมากมาย แม่บ้านแต่ละบ้านในชุมชนเลยเอาอาหารที่บ้านตัวเองมีมารวมกัน ทั้งผัก สมุนไพร เครื่องเทศ เนื้อสัตว์ ต้มรวมกับข้าวให้พองๆ จะได้อิ่มกันได้หลายๆ คน เป็นอาหารที่ไม่ซับซ้อน แถมยังมีสารอาหารหลากหลาย ตอบโจทย์เรื่องปากท้องแบบตรงไปตรงมา โจทย์อื่นๆ ในชีวิตก็คงจะเหมือนกัน บางทีเราก็ไม่ต้องคิดแก้ปัญหาแบบซับซ้อนมาก เหนื่อยก็พัก ง่วงก็นอน เครียดก็หันไปทำอย่างอื่น กฎง่ายๆของเรื่องนี้คือ อะไรก็ได้ ให้มัน (เรียบง่าย เข้าไว้

กับข้าว

ข้าวตุ๋น

 

บทเรียนที่ 2 : เราทุกคนมีมากพออยู่แล้ว

กิจกรรมช่วงเย็น พวกเราออกไปเดินเล่นดูหมู่บ้าน มีครอบครัวหนึ่งชักชวนให้พวกเราเข้าไปกินสตรอว์เบอร์รี่ที่บ้านเขา สตรอวเบอร์รี่ลูกไม่ใหญ่มากก็จริง แต่ก็หวานและสดมากๆ ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ หน้าตาแบบนี้ราคาน่าจะแพ็กละร้อยกว่าบาท นี่เขาเอามาให้เรากินเป็นถัง พร้อมขอโทษขอโพยว่ามันอาจจะไม่สวยมาก เพราะถังนี้หยุดยาแล้ว โห สตรอว์เบอร์รี่ออร์แกนิกซะด้วย ในซูเปอร์มาเก็ตนี่ก็น่าจะราคาแพ็กละสองร้อยกว่าบาทแน่ๆ 1 แพ็กมี 9 ลูก ทั้งถังนี้น่าจะหลายตังค์อยู่ เขาบอกว่าถ้าไม่มีพวกเรามาช่วยกินวันนี้เขาจะทิ้ง!

สตรอว์เบอร์รี่ฟรีถังนั้นทำให้เรานึกถึงสิ่งที่โอชิเล่า (บ่น) เมื่อช่วงเช้าว่า อย่างหนึ่งที่เขาอยากให้ชาวบ้านได้รู้คือ จริงๆ แล้วพวกเขารวยมากนะ แค่พวกเขาลืมตาตื่น ก็มีทั้งอากาศดีๆ วิวสวยๆ แล้วก็อาหารที่ดีกว่าคนในเมืองเยอะรออยู่ตรงหน้า แต่โอชิก็ต้านกระแสความรวยตามนิยามปัจจุบันที่เข้ามาสู่คนในหมู่บ้านผ่านอินเทอร์เน็ต 4G และจานดาวเทียมได้ยาก เขาบอกว่าถ้ามีโอกาสก็ให้พวกเราช่วยบอกชาวบ้านอีกแรงด้วย

การที่พวกเรากินสตรอว์เบอร์รี่อย่างเอร็ดอร่อย ชมไม่ขาดปาก แถมยังขอเอาไปเผื่อเพื่อนร่วมทริปที่ไม่ได้มากินด้วย น่าจะทำให้เจ้าของสวนคนนั้นรู้สึกว่าเป็นเศรษฐีขึ้นมาเลยทีเดียว

สตรอว์เบอร์รี่ของเจ้าของสวนก็คงเหมือนเสื้อผ้าในตู้เสื้อผ้าบ้านเราที่มีมากเกินจะใส่ให้หมด ถึงเวลาก็ต้องเอามาโละทิ้ง โละแจก ความดีใจของเราเวลาได้กินสตรอว์เบอร์รี่ที่เขาจะทิ้ง คงคล้ายกับความดีใจของคนที่ได้รับช่วงต่อเสื้อผ้าที่เราว่ามันเก่ามันเชยไป ถ้าเป็นเสื้อผ้าใหม่แบบที่ซื้อมายังไม่ทันได้ใส่แล้วด้วยนะ มันก็คงจะเป็นสตรอว์เบอร์รี่ปลอดสาร แบบที่เราไปเก็บกินสดๆ ใต้ต้นเลยแหละ

สตรอเบอร์รี่

ป่า

บทเรียนที่ 3 : เรียนรู้ที่จะรอ  

เช้าวันที่สองเราได้เข้าป่าไปเก็บบ๊วย เส้นทางที่ไปนั้นต้องนั่ง ไม่ใช่สิ ยืนท้ายรถกระบะผ่านทางคอนกรีตยาวไปจนถึงทางโลกพระจันทร์ที่ทั้งขรุขระและสูงชั้นจนสุดถนนหนทาง หลังจากนั้นเราก็ต้องเดินเท้าและต่อด้วยการปีนป่ายทางขึ้นลงแบบที่ต้องก้มหน้าก้มตามองหาที่วางให้เท้าตัวเองไปอีกระยะหนึ่งเหนื่อย พอเงยหน้าขึ้นมาอีกที คุณเอ๋ย เราเข้าใจคำว่ารักแรกพบก็วันนี้ สวนบ๊วยที่เห็นสวยอย่างกับภาพวาด

ต้นบ๊วยเป็นไม้ที่ไม่สูง แต่ดูหน้าตาแข็งแรงแผ่กิ่งก้านสาขาออกมารอบด้าน ใบของต้นบ๊วยก็เป็นใบเล็กๆ ทำให้แสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านมาดูมีความระยิบระยับสบายตา ไม่ร้อนแรงจนเกินไปแล้วก็ไม่ถึงกับมืดครึ้ม เป็นฉากเปิดตัวสวนบ๊วยที่น่าประทับใจมาก

ผู้ที่พาเรามาเก็บบ๊วยกันชื่อ ควิ เป็นหนุ่มปกาเกอะญอที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัตถุดิบและการทำอาหาร ควิเรียกทุกคนมาล้อมวง อธิบายขนาดของบ๊วยที่ใช้การได้และบ๊วยที่อย่าเพิ่งเก็บมา ก่อนจะเก็บบ๊วย ควิย้ำนักย้ำหนาว่าดูให้ดีๆ ก่อนว่าถึงเวลาที่จะเก็บเขามาจากต้นหรือยัง เก็บมาเร็วไปเราก็ใช้เขาไม่ได้อยู่ดี

พอควิปล่อยตัวไปเก็บบ๊วย เราก็ได้ใช้ทักษะการปีนต้นไม้ที่ทิ้งร้างไปหลายปีเพื่อขึ้นไปพิจารณาความพร้อมของลูกบ๊วย แล้วก็ได้คิดอะไรอะไรบนต้นบ๊วยอยู่พักใหญ่ พอได้ปีนป่ายต้นไม้แบบนี้แล้วรู้สึกเลยว่าเราห่างไกลความร่มรื่นแบบนี้ไปนานมาก ทำให้รู้สึกสงบและก็รื่นรมย์อย่างบอกไม่ถูกเลย

เราเก็บบ๊วยมาได้ค่อนตระกร้า กว่าจะรู้ว่าถึงเวลาอาหารกลางวันก็เมื่อท้องเริ่มหิว กลางป่าแบบนี้อาหารกลางวันที่โอชิใส่เป้มาให้เป็นน้ำพริกถั่วเน่ากับผักและหมูทอด กินกับข้าวที่ห่อใบตองมาห่อใหญ่ ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ มันคงเป็นมื้อกลางวันแบบที่ต้องกินเร็วๆ บนโต๊ะทำงานแล้วก็ไม่ได้รสชาติอะไร แต่พอเป็นมื้อกลางวันง่ายๆ ที่กินหลังจากเราเดินทาง ปีนต้นไม้ วิ่งเล่นกันในสวนบ๊วยจนหิวได้ที่ก็เลยอร่อยมาก เรากินกันแบบไม่รีบ ค่อยๆ ละเลียดข้าวห่อแบบง่ายๆ ใต้ต้นบ๊วย พร้อมกับลูกบ๊วยที่พร้อมแล้วในตะกร้า เป็นบรรยากาศที่พิเศษมาก

บ๊วย

บ๊วย

ผักพื้นบ้าน

 

บทเรียนที่ 4 : เวลามีมากมาย

ในทริปนี้ทุกคนจะถูกจัดแจงให้ไปนอนตามบ้านของชาวบ้าน เพื่อจะได้ใกล้ชิดและรู้จักกันแบบจริงจัง บ้านที่เรากับเมี่ยง เพื่อนใหม่ของเรา ไปอยู่กันนั้นเรียกว่าได้โบนัส เพราะนอกจากอาหารอร่อยๆ ที่ ราแจ๊ะ แม่บ้านของบ้านนี้ทำให้เราทานทุกมื้อแล้ว ยังมีกาแฟให้เราดื่มทุกวันอีกด้วย

ความพิเศษของกาแฟบ้านนี้คือความสดแบบไม่รู้ว่าจะสดกว่านี้ไปได้ยังไง ต้นกาแฟก็อยู่ในรั้วบ้าน เก็บเมล็ดมาคั่ว บด แล้วก็ชงแบบที่ชาวฮิปสเตอร์เรียกว่ากาแฟดริป แต่ที่นี่เขาชงกันแบบดิบๆ ไม่ได้มีพิธีรีตองอะไร แล้วก็จิบ จากถ้วยเซรามิกเหมือนถ้วยชา กว่าจะเสร็จสิ้นขบวนการชงจนได้จิบก็ใช้เวลาไปสักพัก ช้านะ ถ้าเทียบกับกาแฟร้านดังที่บอกว่าลูกค้าสามารถได้กาแฟจากนักชงมืออาชีพได้ภายใน 3 นาที แต่ก็ละมุนกว่ามากเมื่อเทียบกับกาแฟสำเร็จรูปที่สามารถชงได้ในชั่วพริบตา

วันแรกที่ราแจ๊ะบอกว่าจะชงกาแฟให้กินแล้วมันดูใช้เวลามากขนาดนี้ เรากระวนกระวายมาก กลัวไปไม่ทันเวลานัด แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ ได้แต่กังวลเบาๆ ว่าต้องสายแน่ๆ สายแน่ๆ แต่ในเมื่อคนอื่นดูไม่รีบเลย เราก็เลยต้องข่มตัวเองให้ไม่รีบไปด้วย ผลคือเราได้นั่งจิบกาแฟ เล่นกับลูกๆ ราแจ๊ะ คุยกับเมี่ยงแล้วก็เดินดูวิวข้างทางไปจนถึงที่นัดรวมตัวกันได้ ไม่สายด้วย เมี่ยงเป็นกัลยาณมิตรที่สวรรค์ส่งมาอยู่กับคนอยู่ไม่สุขอย่างเรา ด้วยประโยคที่เมี่ยงชอบพูดว่าไม่ต้องรีบ เวลามีมากมาย

เม็ดกาแฟ

กาแฟ

บทเรียนที่ 5 : อย่าคิดจะเข้าใจโลก ถ้ายังไม่เข้าใจตัวเอง

ที่บ้านหนองเต่าตอนกลางคืนอากาศเข้าขั้นหนาว เราเลยมาสุมหัวกันที่รอบกองไฟ เราคุยกันหลายเรื่องเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมืองที่มันช่างห่างไกลจากวิถีคนขี้เกียจ และพอคนเมืองปากกัดตีนถีบกันมากๆ มันส่งผลกระทบมาถึงต้นน้ำด้วยวิธีการต่างๆ จนทำให้การอยู่แบบวิถีธรรมชาติมันอยู่ได้ยากมากเข้าไปทุกที ในฐานะคนที่เป็นมนุษย์ออฟฟิศ และก็มีความปากกันตีนถีบหลายอย่างที่เขาว่ากัน มันก็ทำให้เราเอากลับมาคิดนะว่าเราจะอยู่แบบคนขี้เกียจท่ามกลางเมืองใหญ่นี้ได้ยังไง

คำตอบมาถึงตอนเช้าวันสุดท้ายของทริป เราได้ฟังปราชญ์ในหมู่บ้านที่เราเรียกกันว่า พะตี มาเล่าให้เราฟังในสิ่งที่เขารู้เกี่ยวกับชีวิต พะตีอายุเท่าไหร่ไม่มีใครบอก แต่เราดูว่าเขาก็น่าจะผ่านโลกมามากทั้งในแง่ของระยะเวลา สถานที่ที่เขาได้ไปเยือนและเรื่องราวที่เขาได้เรียนรู้ พะตีอธิบายอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับวิถีของชาวปกอเกอะญอ ความเชื่อ วัฒนธรรม แล้วก็คำสอน มีอยู่ตอนหนึ่งพะตีบอกว่า    

เราน่ะไปเก่งอย่างอื่นไปหมด แต่ลืมเก่งตัวเราเอง ถ้าเรารู้จักตัวเอง เราก็จะเข้าใจว่าอะไรที่สำคัญกับเรา ถึงเราจะพัฒนาเทคโนโลยีได้ พัฒนาอะไรได้หลายอย่าง แต่ถ้าไม่มีน้ำกินเราก็อยู่ไม่ได้ใช่ไหม ฉะนั้น เราต้องดูแลน้ำ ดูแลดิน คนเราเกิดมากจากดินนะ ตายไปก็กลับไปอยู่กับดินอยู่ดี ถ้าเรารู้จักตัวเอง เราก็จะรู้ว่าอะไรสำคัญ แล้วการที่เราพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมให้คนฟังเยอะๆ มันดีกว่าการปลูกต้นไม้อีกนะ ปลูกต้นไม้หนึ่งต้น เราก็ได้ต้นไม้หนึ่งต้น แต่การบอกคนเรื่องของสิ่งแวดล้อม เขาก็จะเอาไปบอกคนอื่นอีกกลายเป็นอีกหลายๆ คน

ชุมชน

จบทริป 3 วัน 2 คืนที่เรารู้สึกว่ามันสั้นไป เราหอบวิชาความสุขกลับมาบ้าน พร้อมด้วยต้นบ๊วยเล็กๆ และกาแฟจากบ้านราแจ๊ะ 2 ถุงใหญ่เป็นที่ระลึก พอต้นบ๊วยมาถึงกรุงเทพฯ ก็ดูจะออกอาการคิดถึงบ้านแบบสลดๆ เหี่ยวๆ เราเลยพาไปรู้จักกับต้นมะม่วงที่เราปีนสมัยเด็กๆ ฝากเอาไว้ให้ต้นมะม่วงดูแล วันนี้ต้นบ๊วยก็เริ่มจะเขียวแล้วก็ผลิใบใหม่ ส่วนกาแฟจากบ้านราแจ๊ะที่เอามา พอมาเจอกับตารางชีวิตที่เร่งรีบอันเป็นปกติของเรา ก็เลยต้องใช้วิธีชงด้วยหม้อต้มกาแฟแบบเอสเพรสโซด้วยความเร็วสูงแบบเอ็กซ์เพรส ก่อนเทใส่กระติกเอาไปดื่มบนรถ

เราลืมไปว่ากาแฟจากบ้านหนองเต่ามันไม่สำเร็จรูป การชงแบบเร่งด่วนนี้ทำให้เราไม่ได้อะไรที่เหมือนกับที่ดื่มที่บ้านหนองเต่าเลย นอกจากกลิ่นหอมๆ ที่ทำให้สงสัยทุกเช้าว่าจะต้องทำยังไงถึงจะต้มได้รสชาติที่คิดถึงนั้น จนมีวันหนึ่งฝนตกหนัก กรุงเทพฯ หยุดชะงักไปทั้งเมือง เราถอดใจไม่รีบร้อนออกจากบ้าน ก็เลยใช้ไฟอ่อนๆ ต้มกาแฟ เราใช้เวลาไปมากกว่าเดิมเกือบเท่าตัว กลิ่นหอมของกาแฟลอยเต็มห้อง เราจิบกาแฟจากแก้วที่บ้านพร้อมกินข้าวเช้าให้อิ่ม ก่อนจะทิ้งรถแล้วเลือกขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานแทน และวันนั้นเราก็ค้นพบเคล็ดลับของรสชาติละมุนๆ ของทั้งกาแฟและความสุข ว่ามันอยู่ที่ความไม่รีบนี่เอง

คำคม

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น