ถ้าคุณคิดว่าการไปไหว้เชงเม้งในเดือนเมษายนที่ร้อนระอุของไทยนั้นหนักหนาแล้ว ขอให้คุณได้ลองแบกของไหว้ หมูเห็ดเป็ดไก่ ถาดอะลูมิเนียม ตะกร้าใส่กระดาษไหว้ และของจำเป็นอีกมากมาย เดินขึ้นเขาท่ามกลางความร้อนของแสงแดด ปนความเย็นของความกดอากาศต่ำในเดือนเมษายนที่ซัวเถาดู

บ้านของฉันก็เหมือนกับคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ในไทยที่มีบรรพบุรุษจากซัวเถา อพยพเข้ามาอยู่ไทยในช่วงปฏิวัติคอมมิวนิสต์ พูดแต้จิ๋วได้บ้าง เช่นคำว่า แต๊ะเอีย เป็นต้น

เทศกาลเชงเม้งปี 2559 ฉันติดตามป๊ามาไหว้บรรพบุรุษเป็นครั้งแรก หลังจากป๊าค้นพบโคตรเหง้าตระกูลที่ซัวเถา ป๊าก็สัญญากับตัวเองว่าจะเดินขึ้นเขามาไหว้ปู่ทวดจนกว่าป๊าจะไม่ไหว และปีนี้เห็นทีป๊าจะไม่ไหว เพราะแม้แต่ผู้หญิงที่มีท่อนขาแข็งแรงอย่างฉันก็ยังหอบแฮ่กอยู่เบาๆ

เดินทาง เดินทาง เดินทาง

ก่อนจะขึ้นเขาไปไหว้ปู่ทวด ฉันได้รับยันต์กระดาษสีแดงที่พับทบกันเป็นสี่เหลี่ยมเล็กๆ จากญาติ เพราะการขึ้นไปไหว้ฮวงซุ้ยตระกูล เราต้องเดินผ่านฮวงซุ้ยของครอบครัวอื่น อาจจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จึงต้องให้ยันต์ป้องกันตัวไว้ก่อน ยันต์นี้ให้ไว้ใส่ในกระเป๋าเสื้อ แต่เสื้อของฉันไม่มีกระเป๋าเลยต้องยัดเข้าเสื้อชั้นใน ภายหลังเหงื่อที่เปียกชุ่มได้หลอมละลายยันต์นี้จนเกิดรอยด่างแดงบนเสื้อสีขาวของฉันไปเรียบร้อย

แม้จะหนักและเหนื่อย แต่ทัศนียภาพข้างทางก็สวยงามจนต้องหยุด (หรืออู้) ชักภาพอยู่บ่อยๆ ถ้าเหนื่อยหน่อยก็แวะพักที่น้ำตกกวักน้ำล้างหน้าล้างมือให้สดชื่น

วิว บ่อน้ำ

ฮวงซุ้ยของปู่ทวดอยู่สูงชันจนมองลงไปเห็นวิวเกือบทั้งบริเวณเขา ฉันนึกสงสัยว่าใครเป็นคนคิดว่าต้องสร้างไว้สูงเพียงนี้ หรือเพียงเพื่อวัดใจลูกหลานว่าจะยอมเหนื่อยขึ้นมาหามั้ย

แต่ฉันก็มาถึงแล้ว อยู่ตรงหน้าร่างของปู่ทวดแล้ว

ฮวงซุ้ย

พิธีกรรมที่นี่คล้ายกับพิธีที่ไทย เริ่มจากลูกหลานนำกระดาษสีต่างๆ วางทั่วเนินดิน ด้วยความเชื่อว่าวิญญาณจะได้กลับมาเห็นว่ามีผู้มาเยือน ส่วนคนเป็นเห็นก็จะรู้ว่าลูกหลานมาไหว้แล้ว การใช้พู่กันเขียนชื่อใหม่ด้วยหมึกสีแดง เพราะสีแดงคือสีของผู้ตาย ส่วนหมึกเขียวคือชื่อของคนเป็น ชื่อที่ปรากฏบนป้ายนั้นไม่ใช่ชื่อจริงของตัว เพราะคนจีนสมัยก่อนมีชื่อตัวกับชื่อรอง เมื่อตายไปแล้วก็ถือว่าชื่อตัวนั้นได้สูญสิ้นไปด้วย จึงใช้ชื่อรองเขียนที่ป้ายหลุมศพ จึงเป็นปัญหาให้ลูกหลานที่ตามหาบรรพบุรุษในเวลาต่อมาเพราะความสับสนเรื่องชื่อ

ฮวงซุ้ย

เมื่อจัดของไหว้เสร็จแล้ว ก็ไล่เรียงกันมาไหว้เคารพหลุมศพ ฉันได้จุดธูปต่อหน้าปู่ทวดเป็นครั้งแรก สำหรับฉัน ความทรงจำเกี่ยวกับปู่ทวดคือชายในภาพวาดเปียผมทรงแมนจูและเสื้อคอจีน หน้าตาดุดันที่อยู่ในบ้านของญาติที่ซัวเถา ปู่ทวดปรากฏในนิทานก่อนนอนเสมอ ป๊ามักชอบเล่าว่าปู่ทวดเป็นเจ้าของที่ดินที่ทำประโยชน์ให้ส่วนรวมด้วยการสร้างส้วมสาธารณะให้ชาวบ้าน นำมูลคนมาราดต้นส้มจนงอกงามขายดี หรือเล่าความใจดีของปู่ทวดที่ให้ชาวบ้านยืมเรือหาปลาทั้งที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ความใจดีของปู่ทวดนี่แหละที่ช่วยเขาไว้ในตอนปฏิวัติคอมมิวนิสต์โค่นล้มนายทุนเจ้าของที่ดิน เพราะลูกชายของคนที่ยืมเรือปู่ไปตอบแทนบุญคุณด้วยการไว้ชีวิตปู่ทวด และปู่ทวดก็ใช้ชีวิตตามอัตภาพอย่างสงบจนบั้นปลายชีวิต แม้จะถูกริบทรัพย์สินไปหมดก็ตาม

ฮวงซุ้ย เช็งเม้ง เช็งเม้ง

นิทานที่ป๊าเล่าให้ฟังไม่ได้จบด้วยคำสอนใจประเภทว่า ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว แต่เป็นคำถามที่ฉันต้องใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อหาคำตอบว่า บรรพบุรุษได้ทำความดีเอาไว้ แล้วตัวเราล่ะ ได้ทำอะไรไว้ให้แก่โลกนี้บ้าง?

เมื่อฉันมาอยู่ตรงหน้าปู่ทวดที่หลุมศพนี้ ฉันคิดถึงความห่างไกลของสถานที่ตรงนี้จนถึงเสี้ยมล้อหรือสยามในภาษาแต้จิ๋ว มันเป็นการเดินทางที่ไกลเหลือเกิน ไกลห่างในแง่ระยะทางและระยะเวลา กี่ชั่วคนที่แตกแขนงออกไปจากต้นเดิม จนวันหนึ่ง อะไรก็ตามได้พัดพาไม้ผลที่ห่างไกลกลับมาเจอรากเดิมของมัน

ฮวงซุ้ย

ฉันไม่มีอะไรจะพูดกับปู่ทวดนอกไปจากว่า

“ปู่ทวด หนูเป็นลูกหลานจากเมืองไทย วันนี้หนูมาเยี่ยมปู่ทวดแล้ว”

ขอบคุณสำหรับการต่อสู้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ เพื่อการดำรงอยู่ของพวกเราในรุ่นต่อไปและต่อๆ ไป

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ศิรินันท์ วนิชนนทกุล

นักศึกษาป.โทเรียนอยู่เมืองไถหนัน,ไต้หวัน เสพติดชา เล่นกับหมาชิบะ(ของชาวบ้าน) และยังคงตกหลุมรักความน่ารักของเมืองนี้