จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งนี้คือเมื่อกลางปี 2560 ที่ฉันบังเอิญไปเจอโพสต์บน Facebook ซึ่งพูดถึงคอร์สการแสวงหาปัญญาภายใน ชื่อว่า ‘The Quest for Wild Wisdom’ ฉันไม่รู้ว่ามันคืออะไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง เลยไปถามข้อมูลจากคนที่เคยไปมาแล้ว พี่เขาไม่ได้บอกหรือให้ข้อมูลอะไรฉันมากไปกว่า “น้องจะได้ไปอยู่ในป่าและหมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ 10 วัน แล้วมี 3 วันที่ออกไปอยู่คนเดียวในป่าและอดอาหาร ดื่มได้แค่น้ำ ซึ่งน้ำที่ว่าก็มาจากลำน้ำดื่มที่ไหลจากตาน้ำ (บางคนเคยเจอลูกอ๊อดในน้ำดื่มนั้นด้วย) และเพื่อนที่ไปรุ่นเดียวกันก็เคยได้ยินเสียงหมาป่า”

แม้จะได้รับสารมาน้อยมากจนแทบไม่รู้อะไรเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันรู้คือ ฉันชอบอยู่ในป่า ชอบเดินป่า คอร์สที่จะได้ใช้ชีวิตในป่าและทำกิจกรรมสายจิตวิญญาณกับ อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู จึงเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับฉันชะมัด

และเรื่องราวของพี่ณัฐที่เคยอ่านจากในหนังสือก็สร้างความประทับใจให้ฉันไม่น้อย ฉันจึงคิดว่าฉันคงจะพลาดคอร์สนี้ไม่ได้แล้วล่ะ…

จุดหมายปลายทางของฉันคือหมู่บ้านสบลาน ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านปกาเกอะญอที่เจ้าของพื้นที่แบ่งปันที่พักอาศัยและให้ความเป็นส่วนตัวต่อผู้มาเรียนรู้ในป่า ซึ่งป่าที่ว่าก็เป็นป่าต้นน้ำแห่งหนึ่งที่มีความสงบและอุดมสมบูรณ์ จึงเรียกได้ว่าสถานที่ที่ฉันจะไปฝึกฝนจิตใจนั้นอยู่ในพื้นที่สัปปายะ (แปลว่า สิ่งที่สบาย) เลยทีเดียว

เมื่อเดินทางมาถึงผู้ร่วมคอร์สจะได้รับเสบียงอาหาร เลือกบัดดี้ และแยกย้ายไปตามบ้านของชาวบ้านหลังละ 2 – 3 คน ซึ่งบังเอิญมากที่ฉันได้เจอเพื่อน ป.โท และพี่ที่รู้จักกันอีก 2 – 3 คนที่นี่ ฉันรู้สึกดีใจลึกๆ ที่มีเพื่อน แต่อีกใจก็กลัวว่าจะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองเต็มที่ เพราะมีคนรู้จักอยู่ด้วยกันตรงนี้

ช่วง 2 วันแรกเราทำกิจกรรมอยู่ในหมู่บ้านปกาเกอะญอ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน รวมทั้งถามไถ่ที่มาของการมา Quest ครั้งนี้ เพราะเราอาจมีคำถามในชีวิตที่ต้องการมาหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ความรู้สึก หรือสถานการณ์ที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพราะกระบวนการการแสวงหาปัญญาภายในเชื่อว่า เมื่อบุคคลได้กลับมาเชื่อมต่อกับโลกและความต้องการจากธรรมชาติ เราจะสามารถรับรู้ได้ถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นทางออกที่เรากำลังค้นหาอยู่

เช่นเดียวกับชนเผ่าอินเดียนแดงที่จะส่งเด็กชายที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากช่วงวัยเด็กเป็นวัยหนุ่มเข้าไปในป่า อาจจะเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือมากกว่านั้น หลังจากเด็กหนุ่มออกมาจากป่า เขาจะนำประสบการณ์ที่เจอมาเล่าให้คนเฒ่าคนแก่ในเผ่าฟัง จากนั้นท่านผู้เฒ่าจะอธิบายความหมายจากประสบการณ์ที่เด็กชายเล่า และนำมาตั้งเป็นชื่อของคนคนนั้น เหมือนว่านี่คือความต้องการจากธรรมชาติที่เขาจะกลับมาดำเนินชีวิตต่อไป

เมื่อถึงวันเดินเท้าเข้าป่า ทุกคนดูตื่นเต้นเล็กน้อย ระหว่างการเดินทาง ช่วงข้ามลำน้ำขานน่าจะเป็นช่วงที่ฉันสนุกที่สุด เพราะได้ลุยน้ำเย็นที่ลึกระดับไม่เกินสะโพก

เดินเท้าจากหมู่บ้านประมาณ 5 กิโลเมตรก็มาถึงที่ตั้งแคมป์กลางป่า แคมป์กลางจะเป็นสถานที่ที่เราทำกิจกรรมเชิงจิตวิญญาณกัน มีต้นไทรใหญ่เป็นจุดศูนย์กลางตั้งตระหง่านเด่นชัด ที่ทั้งผู้นำ Quest และผู้ที่เคยมาที่นี่ ต่างเคารพนบนอบตามประเพณีของผู้มาเยือน

เมื่อมาอยู่ในป่าเราได้ทำกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อเข้าถึงภาวะภายในของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเต้นรอบกองไฟ การฟังนิทานในตำนานของ Quest และการปลีกวิเวก

การปลีกวิเวกถือเป็นช่วงสำคัญของ Quest เพราะอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ผู้มาร่วมคอร์สนี้ บางคนมีโจทย์ที่ต้องการมาขอคำตอบจากธรรมชาติ บางคนมาเพื่อพักผ่อน แต่ไม่ว่าจะมาด้วยเหตุใด เราต่างก็ได้ปลีกวิเวกด้วยการไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียวยังสถานที่ที่ตนเองเลือกเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน

อีกทั้งยังได้อดอาหาร ดื่มเฉพาะน้ำเปล่า เพราะตามประเพณีของ Quest เชื่อว่าการอดอาหารคือ การสละ (Give Away) ความมั่นคงในทางร่างกาย เพื่อเปิดรับพลังธรรมชาติและให้พลังกับจิตใจ เสมือนเป็นการฝึกฝนทางจิตวิญญาณในรูปแบบหนึ่ง และไม่ใช่การอดเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าฉันทำได้ หรือเพื่อประกาศว่าฉันเป็นคนที่อดทนเพราะอดอาหารได้

ในช่วงที่อดอาหารฉันสังเกตว่าในหัวโล่งมากขึ้นเมื่อไม่ต้องมานั่งคิดว่าวันนี้จะกินอะไร การได้ยินเสียงท้องร้องไม่ได้แปลว่าหิว และที่สำคัญมากคือ ฉันอยู่กับการไม่กินข้าว 3 วันได้อย่างเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าแปลกเหลือเกิน …หรือฉันจะมีไขมันสะสมไว้เยอะนะ  

วันแรกของการปลีกวิเวก ฉันจัดที่จัดทางอย่างเรียบร้อย เพราะสถานที่ที่ฉันเลือกห่างไกลจากแคมป์กลางและคนอื่นๆ ราว 2 – 3 กิโลเมตร ตอนที่ฉันเดินหาที่นี่ ฉันเลือกเดินขึ้นภูเขาตรงแคมป์กลาง แล้วลงมาอีกฝั่ง จากนั้นก็เดินทวนแม่น้ำขึ้นมา และตัดสินใจเดินลุยแม่น้ำข้ามไปยังภูเขาอีกลูก จนพบพื้นที่หนึ่งที่มีต้นไม้แห้งกองอยู่ บนพื้นเต็มไปด้วยใบไม้ กิ่งไม้แห้ง และมีร่มไม้เล็กๆ ดูเหมือนเคยเป็นที่พักค้างของใครมาก่อน

บ่ายแก่วันเดียวกันนั้นมีน้องในหมู่บ้านเดินมาดูความเรียบร้อย เราพูดคุยกันเล็กน้อย และคุยเรื่องความฝัน ซึ่งใน Quest ให้คำนิยามว่าเป็น ‘Calling’ หรือ การเรียกจากธรรมชาติ ซึ่งก่อนมาปลีกวิเวกในป่าฉันฝันว่า คืนหนึ่งฉันจุดเทียนแล้วเดินเข้าไปในป่าคนเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงฉันไม่มีทางทำอย่างนั้นแน่นอน น่ากลัวโดยแท้

น้องถามว่า “พี่ปั้นจะเข้าไปในป่าตอนกลางคืนอยู่ไหม หนูอยากไปด้วย” ฉันนัดแนะกับน้องว่า  ในคืนวันที่ 2 พอดวงจันทร์ขึ้นมาเหนือยอดต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เราจะมาเจอกันตรงกลาง และถือเทียนเข้าในป่าด้วยกัน แต่เราจะไม่พูดคุยกัน เมื่อนัดแนะเสร็จฉันก็รีบกลับมากางเต็นท์ ก่อกองไฟ ก่อนจะเย็นย่ำ

ยังไม่ทันหัวค่ำดี กองไฟที่ก่อไว้ก็ริบหรี่จวนเจียนจะมอด ฉันไม่ได้หากิ่งไม้แห้งมาเติม แต่รีบเข้าเต็นท์เตรียมนอนแทน เพราะว่ากลัว และคิดว่าการนอนหลับคือทางออกที่ดีที่สุด  

แต่แล้วก็ไม่ได้นอนอย่างที่ตั้งใจ เพราะระหว่างจัดสถานที่ตอนกลางวัน ฉันเจอลูกหนูป่าตกอยู่ 1 ตัว จึงเก็บมาดูแลเพราะกลัวงูจะมากิน ลูกหนูตัวนี้ร้องเสียงดัง ‘อี๊ดๆ’ ทั้งกลางวันกลางคืน ดังนั้น ตอนที่ฉันกำลังจะนอนหลับ ลูกหนูก็ร้องและไต่ออกจากถุงมาซุกตัวฉัน ฉันเข้าใจว่ามันต้องการความอบอุ่น แต่ถ้ามันมาซุก ก็กลัวว่าจะนอนทับมัน ทั้งคืนนั้นจึงเต็มไปด้วยความกังวลจนต้องลุกขึ้นมาดูอยู่เรื่อยๆ  

ในตอนสายของวันถัดมาฉันออกมาจากเต็นท์ แล้วเดินไปยังโขดหินริมแม่น้ำ นอนแผ่บนหิน อาบแสงแดด รับพลังธรรมชาติ ด้วยวิธีที่เรียกว่า ‘เรกิ’ ฉันนั่งสมาธิบนโขดหิน เดินไปเดินมา กลับมานั่งสมาธิ ร้องเพลง นอนตากแดด ดื่มน้ำ ปัสสาวะ ชีวิตวนเวียนอยู่ตรงโขดหินนั้นทั้งวัน พอถึงตอนเย็นน้องคนเมื่อวานก็เดินกลับมาบอกว่า ที่น้องคิดว่าตัวเองเคยกลัวผี น้องคิดว่าน้องไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ เพราะน้องไม่กลัวแล้ว จึงจะไม่เข้าป่าตอนกลางคืนกับฉัน

ระหว่างทางกลับเต็นท์ฉันเจอลูกหนูป่าที่โดนมดไต่ไปทั้งตัวอีก 2 ตัว จึงรีบเอาลูกหนู 2 ตัวนั้นไปล้างน้ำ เอามดออก หนู 2 ตัวยังคงหายใจ ฉันเอาลูกหนูกลับไปที่เต็นท์และเก็บรวมในถุงเดียวกันกับลูกหนูตัวแรก วันนี้ฉันเห็นมดดำไต่แถวๆ ต้นไม้ที่ไปแอบปัสสาวะเยอะ สงสัยว่ามันจะมาหาอาหารแน่ๆ เพราะที่อื่นไม่เห็นมีมด เอ๋ หรือฝนจะตก

ในหัวของฉันคิดถึงเรื่องเข้าป่าตอนกลางคืนว่า ซวยแล้ว แล้วฉันยังจะเข้าป่าอยู่ไหม แต่ก็ตัดสินใจเข้านอนและกะว่าถ้าธรรมชาติอยากให้ฉันไป ฉันจะไปตอนตี 4 และรอจนถึงเช้าในป่า

และคืนนั้น ฉันตั้งใจไม่ตั้งนาฬิกาปลุก…

เช้ามืดวันที่ 3 ฉันตื่นและดูนาฬิกา อีกไม่กี่นาทีจะตี 4! อะไรกันนี่!!! ฉันต้องเข้าไปในป่าจริงๆ เหรอ แต่ในเมื่อฉันถูกเรียกแล้ว ฉันก็คงต้องไป

ใจฉันกลัวและอิดออดไม่อยากออกไป มองออกไปนอกเต็นท์ก็มืดและวังเวง ฉันจึงหยิบสมุดออกมาเขียนรูป พร้อมบอกกับสรรพสิ่งในตอนนั้นว่ามีอะไรก็ถ่ายทอดออกมาทางรูปวาดเถิด แล้วฉันก็วาดไปเรื่อยๆ จนได้รูปนี้ออกมา

พอใกล้จะตี 5 ฉันหยิบของเท่าที่จำเป็นติดมือออกมาจากเต็นท์ แล้วออกเดิน…

ฉันเดินเลียบริมแม่น้ำไปเรื่อยๆ เพราะไม่เห็นทางเข้าไปในป่า ป่าฝั่งที่ฉันกางเต็นท์อากาศค่อนข้างจะชื้น ไม่เหมือนป่าฝั่งแคมป์กลางที่อากาศจะแห้งกว่านี้ ฉันเดินไปเรื่อยจนฟ้าเริ่มสว่างทีละนิด

ระหว่างที่เดินอยู่ฉันเกิดอยากโค้งคำนับขอบคุณขึ้นมาเฉยๆ ฉันจึงเริ่มโค้งขอบคุณต้นไม้ เดินไปอีกก็โค้งขอบคุณอีก ขอบคุณแบบรอบทิศทั้งสี่ทิศ และแอบคิดในใจว่าถ้ามีใครมาเห็นจะต้องว่าบ้าแน่ๆ แต่ฉันก็ยังเดินไป โค้งค้านับต้นไม้ไป จนกระทั่งฟ้าสว่าง

หลังกลับจากป่าฉันก็กลับมาที่เต็นท์และหมกตัวอยู่ในนั้น ฝนตกตั้งแต่เช้าจนเที่ยงก็ยังไม่หยุด ฉันร้องเพลงเสียงดังก็แล้ว ปักผ้าทำพวงกุญแจก็แล้ว ฝนก็ยังไม่หยุดตก ถึงตอนนี้ฉันเริ่มไม่สนุกแล้ว เพราะน้ำดื่มหมดเกลี้ยง ให้เดินไปแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดก็ 2 – 3 กิโลเมตร ฉันเหนื่อยจะเดินไป เลยอดกลั้นไว้ก่อน

ฝนที่ตกหลายชั่วโมงทำให้น้ำเริ่มซึมเข้ามาในเต็นท์ จนฉันตัดสินใจว่าจะกลับไปใกล้คนอื่นมากขึ้น เพราะเริ่มไม่สบายใจมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากลูกหนูที่เก็บได้เมื่อวานตัวหนึ่งตายตอนกลางดึกและอีกตัวก็ตายตอนสายที่ผ่านมา ฉันเศร้าที่ดูแลมันไม่รอด และทำได้แค่เอาศพมันไปฝังในป่าใกล้เต็นท์

ถึงเวลาย้ายเต็นท์ ฉันไม่ต้องการพึ่งพาใครให้มาช่วยขนของกลับ เอาล่ะ วันนี้ยังพอมีแรงเหลือ ฉันขนของกลับไปใกล้แคมป์กลางเองดีกว่า ขนมาเอง ฉันก็ต้องเอากลับเองให้ได้

ฉันเก็บของและร่ำลาลูกหนูป่าตัวที่รอด โดยจัดแจงใส่มันไว้ในถุงสะอาดและวางไว้ในที่ทางที่คาดว่ามันน่าจะปลอดภัย แล้วฉันก็เริ่มออกเดิน ระหว่างทางแบกของกลับ ฉันมองดูของที่หอบมาครั้งนี้ หลายอย่างได้ใช้ประโยชน์ก็จริง แต่มันเยอะและฉันยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ รู้สึกแย่กับตัวเองนิดๆ ที่ไม่จริงจังกับการใช้สิ่งที่เตรียมมาให้เกิดประโยชน์ ของหนักมาก ยิ่งพอเต็นท์เปียก การหอบของกลับก็ยิ่งทุกลักทุเล

ระหว่างเดินข้ามแม่น้ำไปอีกฝั่งของภูเขาซึ่งเป็นที่ตั้งแคมป์กลาง ฉันเดินลุยฝ่าน้ำกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกว่าตอนที่ข้ามมา เนื่องจากฝนที่ตกมาหลายชั่วโมง ฉันสะดุดหินล้มจ๋อมลงไปในน้ำและถูกพัดไปกับกระแสน้ำ นาทีนั้นฉันตกใจมาก แต่พอตั้งสติได้ก็ดันตัวขึ้นมา แต่แล้วฉันก็ล้มลงไปอีก พอลุกขึ้นมาได้ ฉันจึงบอกตัวเองว่า เอาใหม่! ฉันยืนนิ่งๆ และค่อยๆ พยุงตัวเองกลับมาแล้วเดินลุยน้ำข้ามไปยังอีกฝั่ง ฉันใช้เวลาเดินย้ายของ 2 รอบประมาณ 3 ชั่วโมง และโชคดีที่ได้ดื่มน้ำจากลำไม้ไผ่ของพี่คนหนึ่งที่วางทิ้งไว้ข้างทาง

หนนี้ฉันตั้งใจว่าจะไม่กางเต็นท์แล้วอยู่ใต้ฟลายชีตพอ แต่พอเห็นพี่คนอื่นเริ่มอพยพหนีน้ำขึ้นมา เพราะฝนที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด และยุงที่เยอะเพราะเริ่มมืด ในที่สุดฉันก็กางเต็นท์อีกรอบ แล้วเข้าไปซุกตัวอยู่ในเต็นท์ที่เปียกน้ำฝน

จำได้ว่าดูนาฬิกาตอน 1 ทุ่ม 3 ทุ่ม เที่ยงคืน ตี 2 ฝนก็ยังไม่หยุด เสื้อผ้าเปียกปอน พื้นเต็นท์แฉะ น้ำไหลรั่วเข้าเต็นท์ ฉันทนนอนคุดคู้อยู่ในนั้นเพื่อรอให้ถึงเช้า เช้าของวันที่ออกจากการปลีกวิเวก ฝนหยุดก่อนจะถึงเช้า หลังตื่นนอนฉันเดินแบบคนนอนน้อยขึ้นไปที่แคมป์กลาง กลับเข้าสู่สังคมที่มีผู้คน และร่วมพิธีแสดงความยินดีต้อนรับเหล่าคนที่ออกไปปลีกวิเวก ที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้รับการโอบกอด

 

ฉันรอดแล้ว… ระหว่างที่เดินไปเจอคนอื่นๆ ฉันไม่รู้สึกหิวเลยทั้งที่อดข้าวมา 3 วัน แต่ในเมื่อมีข้าวให้กิน ฉันก็จะกิน (ฮา)

กิจกรรมต่อมาหลังจากนั้นคือ ผู้เข้า Quest จะได้ถ่ายทอดเรื่องราว ประสบการณ์ ที่ตนเองได้เผชิญให้แก่คนอื่นๆ กระบวนการคือ พี่ณัฐจะให้ทบทวนเรื่องเล่าของแต่ละคน โดยไม่มีการตัดสินว่าสิ่งที่แต่ละคนเจอคือสิ่งใด มีเพียงแค่การถาม ที่คนเล่าจะเป็นผู้ตอบ เพื่อให้รู้จักความหมายของสิ่งนั้นด้วยตัวเขาเอง

วันที่กลับมายังหมู่บ้านเป็นวันใกล้ปีใหม่แล้ว ชาวปกาเกอะญอทำพิธีเรียกขวัญให้พวกเราทั้ง 12 คน พร้อมให้คำอวยพรรับปีใหม่

ฉันกลับมาสู่สังคมเมืองในวันที่ 30 ธันวาคม 2560 และจนถึงวันนี้ผ่านมา 2 เดือนแล้ว สิ่งที่ฉันเรียนรู้และภาพความทรงจำตอนอยู่ใน Quest คือชีวิตที่ฉันได้เห็นตัวเองทั้งความคิด แรงขับที่ส่งผลในชีวิตประจำวัน ที่หากฉันไม่ตระหนักรู้ หรือยังไม่สามารถเข้าไปสู่สิ่งที่ธรรมชาติต้องการให้ฉันเห็นและเปลี่ยนได้ ฉันก็คงยังเจอกับประสบการณ์เดิมซ้ำๆ ถึงแม้บางเหตุการณ์ฉันอาจคิดว่าไม่เป็นไร เสียไปเท่านี้เล็กน้อย แต่มันจะใหญ่ขึ้น ส่งผลมากขึ้น ถ้าหากฉันไม่เรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น และเปลี่ยนให้ดีขึ้น
สุดท้ายฉันขออธิบายคำว่า Quest ตามความเข้าใจคำว่า Quest แปลว่า การแสวงหา และรากศัพท์คำว่า Quest ในภาษาละตินคือ ‘Ask’ หรือ ‘Seek’ ที่แปลว่า ถาม, มองหา

สำหรับฉัน The Quest for Wild Wisdom ไม่ใช่การถามหาคำตอบจากภายนอก แต่มันคือการอยู่กับธรรมชาติเพื่อสื่อสารบางสิ่งที่เป็นเราและเชื่อมต่อกับภายนอก เสมือนเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการกลับมาใคร่ครวญชีวิตด้านในตนเองอย่างละเอียดลออ

จนถึงตอนนี้ ถ้าให้ฉันอธิบายความหมายของเรื่องฝัน เรื่องหนู และการพบเจอสิ่งอื่นๆ ฉันอาจยังให้ความหมายได้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าจากการตีความหรือความเข้าใจใด เพราะมันยากมากกับการอธิบายชีวิต 10 วันนั้นให้กลายเป็นความหมายต่างๆ สิ่งสำคัญคือ การกลับมาใช้ชีวิตและสังเกตเห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ฉันเลือกดำเนินชีวิตต่อไป เพราะการหลอมรวมช่วงเวลาเหล่านั้น มันมีคุณค่าอยู่ทุกนาที ทุกลมหายใจที่ใช้ชีวิต

จงค่อยๆ เรียนรู้ เติบโตไปกับตัวเองในทุกวัน….ไม่ว่าจะในป่าหรือในเมือง

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปัณฑารีย์ ทันตสุวรรณ

เด็กที่เคยย้ายโรงเรียนตามผู้ปกครองมามากกว่า 10 โรงเรียน รักการเดินทาง ชอบการเรียนรู้ภาวะภายใน เคยทำอาชีพที่หลากหลายทั้งพนักงานธนาคาร คุณครู ผู้จัดการโครงการ และเป็นผู้จัดกิจกรรม Blind Speed Dating