การเล่น คือการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญา เพราะยิ่งเล่นก็ยิ่งมีทักษะการจัดการร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว ยิ่งเล่นก็ยิ่งเพิ่มพูนสติด้วยความกล้า การตัดสินใจ ไหวพริบ ทำให้ทุกประสาทสัมผัสเกิดการพัฒนา ดังนั้น การเล่นจึงจำเป็นต่อพื้นฐานชีวิตวัยเด็ก ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราเล็งเห็นถึงความสำคัญ

พวกเราเป็นนักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เราเริ่มทำโปรเจกต์เครื่องเล่นซึ่งเป็นโปรเจกต์แรกของพวกเราตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ตอนนั้นเรากำลังศึกษาเรื่องสเปซและความรู้สึกต่อสเปซ ซึ่งการออกแบบเครื่องเล่นเป็นเรื่องที่เราคิดต่อยอดจากเรื่องสเปซได้ เพราะมีความหลากหลายและไม่ค่อยมีข้อจำกัดในการออกแบบ อาจารย์จึงอยากให้เราลองทำโปรเจกต์ออกแบบเครื่องเล่นดู

กระบวนการออกแบบเป็นไปได้ด้วยดี เราศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมหรือพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กในแต่ละช่วงอายุ จนสุดท้ายออกมาเป็นแบบที่ลงตัวซึ่งเน้นไปถึงการพัฒนาร่างกายในด้านต่างๆ

แต่สิ่งที่พิเศษของกระบวนการเรียนรู้ที่นี่คือพวกคุณจะได้ลงมือทำงานจริง ได้เจอกับลูกค้าจริงๆ ดังนั้น อาจารย์จึงถามพวกเราว่าอยากสร้างไหม สิ่งที่พวกเราทุ่มเทศึกษาข้อมูลกันมาพวกคุณอยากเห็นมันตั้งอยู่บนโลกนี้จริงๆ ไหม คำพูดนั้นทำให้เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจจัง ถ้าเป็นที่อื่นก็คงต้องเรียนจบก่อนจึงจะได้โอกาสแบบนี้ แต่ที่นี่กลับให้โอกาสเราที่เป็นแค่นักศึกษาลงมือทำจริง

โมเดล

เด็ก

เราเลยคุยกันว่าจะไปทำที่ไหน ซึ่งตอนนั้นมีโรงเรียนใน 2 จังหวัดให้เราเลือก คือโรงเรียนที่พิจิตรกับโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ศักยภาพของทั้งสองโรงเรียนนี้ต่างกัน โรงเรียนหนึ่งมีสถานที่พร้อมและมีทุนประมาณหนึ่ง กับอีกโรงเรียนหนึ่งที่อยู่บนดอยและศักยภาพของพื้นที่ไม่ดีนัก เราอยากทำสิ่งเหล่านี้เพื่อสังคม อยากนำความรู้หรือสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นตรงนี้ ไปพัฒนาเด็กๆ ที่ขาดแคลนโอกาส เพราะเด็กๆ เหล่านั้นอาจเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้า เราจึงตัดสินใจเลือกโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งตอนนั้นเรามีตัวเลือกเป็นโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนถึง 5 แห่งที่สนใจอยากให้เราไปลองทำ และในที่สุดเราก็ได้ไปสร้างเครื่องเล่นให้กับเด็กๆ บนดอยสูงยังโรงเรียนที่ชื่อว่า โรงเรียนบ้านแม่ลิด

ความพิเศษของประสบการณ์ครั้งนี้มีอยู่ 2 อย่าง นั่นคือการเดินทางที่แสนทรหด และอัธยาศัยของคนในชุมชน

การเดินทางขึ้นไปที่โรงเรียนแม่ลิดเราต้องนั่งรถกระบะขึ้นเขา รถจะขับขึ้นเขาไปตามแนวถนนที่เขาทำไว้ซึ่งยังเป็นถนนดินแดง และระหว่างทางที่รายล้อมด้วยธรรมชาติสีเขียวเราจะเห็นวิวภูเขาอันกว้างใหญ่ได้ตลอดทางจนถึงโรงเรียน

กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็เล่นเอาทุกคนเมื่อยขบ แต่การมาที่นี่ทำให้เรารู้สึกสบายใจแปลกๆ อาจเป็นเพราะความอัศจรรย์ของที่แห่งนี้ที่เราสัมผัสได้

ครูโรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เราเป็นคนเมืองซึ่งอยู่กับสังคมที่ต่างคนต่างใช้ชีวิตมาตั้งแต่เกิด แต่ที่นี่กลับแตกต่าง ทุกคนช่วยเหลือกันและกัน ยิ้มให้กันตลอด และนักเรียนก็สวัสดีเราวันละ 4 – 5 รอบทุกวัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราแปลกใจ เพราะเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน

พื้นที่ที่เราได้รับโจทย์เป็นพื้นที่บริเวณลำธารที่มีสโลปเนินดิน ท่ามกลางลมเย็นๆ ที่พัดผ่านตัวเราคลอกับเสียงน้ำที่กำลังไหลในลำธาร สีเขียวของใบไม้กับแสงอาทิตย์อ่อนๆ ให้ความรู้สึกเหมือนโดนโอบกอดจากธรรมชาติ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น พวกเราสัมผัสได้ถึงศักยภาพของพื้นที่ และคิดว่าถ้าเด็กๆ ได้มาเล่นตรงนี้มันจะทำให้เขาสัมผัสและเข้าใจถึงความงามของธรรมชาติที่พวกเขามีอยู่ได้เป็นอย่างดีแน่นอน

กระบวนการการทำงานของเราเริ่มจากการศึกษาพฤติกรรมของเด็กในแต่ละช่วงอายุว่าพวกเขาต้องการอะไร และอะไรที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของพวกเขาได้ โดยเป้าหมายหลักในการออกแบบของพวกเรายังคงเหมือนเดิมคือ การเสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก นั่นหมายความว่าเราจะทำยังไงก็ได้ให้เด็กๆ เกิดพัฒนาการ และรู้สึกสนุกกับของเล่นที่เราออกแบบไปพร้อมๆ กัน

เครื่องเล่นที่เราออกแบบแบ่งออกเป็น 4 ชุดคือ หนึ่ง ชุดเครื่องเล่นใยแมงมุม ซึ่งทำด้วยเชือกขนาดใหญ่ สอง ชุดหินผา สาม ชุดทางเดินประสาทสัมผัส และสี่ สไลเดอร์ เครื่องเล่น 4 ชุดนี้แอบสอดแทรกการเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ

โรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เครื่องเล่น

หลังจากขั้นตอนการศึกษาพฤติกรรมและได้แบบที่ต้องการ ก็เข้าสู่ขั้นตอนลงมือทำ

ในกระบวนการทำ ตอนแรกพวกเราทุกคนรู้สึกถึงความท้าทายจนบางคนกังวลว่าจะทำไม่ได้ แต่พวกเราก็ไม่มีใครเลยที่รู้สึกท้อหรือไม่อยากทำ เพราะเราเห็นถึงความสำคัญของการเล่นของเด็ก เราจึงมีเป้าหมายเดียวกันในการมาที่นี่ นั่นคืออยากให้พวกเขาได้รับโอกาสที่พวกเขาขาด

เราทั้งออกแบบและลงมือสร้างสิ่งที่เราออกแบบให้เกิดขึ้นจริง เราใช้เวลาในการทำงานประมาณ 8 วันเพื่อสร้างเครื่องเล่นที่แม่ลิด และแน่นอนว่าเจอปัญหามากมาย แต่ปัญหาที่เราคิดว่ายากที่สุดของการทำงานครั้งนี้คือ การทำให้เป้าหมายของคุณครูตรงกับเรา เพราะในการสร้างเครื่องเล่นของเรายิ่งเด็กเล่นระห่ำแค่ไหนเขาก็จะยิ่งได้พัฒนาการด้านร่างกายดีที่สุด แต่คุณครูก็กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับเด็กๆ เราจึงต้องค่อยๆ หาวิธีที่จะสามารถสร้างความเข้าใจกับครูให้ได้ โดยที่แบบของเครื่องเล่นจะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากการออกแบบที่เราตั้งใจ

สำรวจ

โรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

จนในที่สุดเราก็เจอข้อสรุปที่เราและคุณครูสามารถตกลงร่วมกันได้ เหตุการณ์ครั้งนี้จึงสอนให้เรารู้ว่าการแก้ปัญหาแบบนี้เป็นการฝึกให้เราใช้ไหวพริบของการเป็นนักออกแบบ อย่างการฝึกเจรจาอย่างประนีประนอมกับลูกค้าว่าจะแก้ปัญหายังไงให้สามารถรักษาแบบของเราไว้ได้มากที่สุด และได้ข้อตกลงที่แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย สำหรับผม ผมคิดว่าการเรียนจากโจทย์เพียงอย่างเดียวเราจะไม่มีโอกาสเจอประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ ที่เราจะสามารถนำไปปรับใช้ได้ในอนาคตหลังจากเรียนจบแน่นอน

เครื่องเล่น

โรงเรียนบ้านแม่ลิด จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การเดินทางมาแม่ลิดครั้งนี้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ หลายอย่างมาก เราได้เจอผู้คนที่ใจดี ได้รู้จักเด็กๆ ที่น่ารักยิ้มให้เราตลอดเวลา ซึ่งมันทำให้เรารับรู้ว่าบางครั้งความสุขของการทำงานมันมีอยู่จริง แม้ว่าเราจะเหนื่อย จะเจอปัญหาแค่ไหน มันก็เทียบไม่ได้เลยกับสิ่งเราอยากให้มันเกิดขึ้น และบางทีเพียงแค่เราเห็นรอยยิ้มของผู้คนที่นั่นมันก็ทำให้เราหายเหนื่อยได้

เราได้ประสบการณ์ราคาแพงจากการฝึกผสมปูน การฉาบปูน การมัดเชือก หรือแม้กระทั่งการเจรจาต่อรองเพื่อให้แบบออกมาสมบูรณ์ที่สุด ได้เรียนรู้และสามารถปรับตัวในการทำงาน ทำให้เราเข้าใจผู้คนและตัวเองมากขึ้น และสิ่งที่เราสัมผัสได้และรู้สึกว่ามันเป็นความรู้สึกที่คุ้มค่าที่สุดกับการยอมเหนื่อย ยอมเจ็บตัว นั่นคือในเช้าหลังจากที่เครื่องเล่นเสร็จ พวกเราทุกคนยืนมองเด็กๆ ที่มาเล่นเครื่องเล่นของพวกเราอย่างเมามันแล้วยิ้มออกมาโดยไม่รู้ตัว ผมไม่รู้ว่าทำไมถึงยิ้ม แต่ข้างในมันรู้สึกดีมากๆ จนไม่อาจบรรยายได้ และที่แน่ๆ ผมชอบความรู้สึกนั้นมาก

เราภูมิใจกับสิ่งที่เราทำ เราดีใจที่เด็กๆ ชอบ และผมคิดว่านี่คงเป็นความรู้สึกเดียวที่เงินก็ซื้อไม่ได้ และมวลความรู้สึกนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราพยายามทุ่มเททำบางอย่างอย่างเต็มที่เท่านั้น นี่เป็นความรู้สึกที่พวกคุณต้องลองสัมผัสกับมันดูสักครั้ง แล้วจะเข้าใจว่าการทุ่มเทลงมือทำอะไรบางอย่างอย่างเต็มที่มันดียังไง
ประสบการณ์เหล่านี้ที่ผมและเพื่อนๆ ได้มา ล้วนมาจากการลงมือทำ ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่ามันต่างจากการเรียนในตำราหรือทฤษฎี ที่อาจไม่ได้รับประสบการณ์ดีๆ แบบนี้ อาจไม่ได้เจอกับผู้คน อาจไม่ได้ทักษะต่างๆ อาจไม่ได้เข้าใจถึงมุมมองต่างๆ อาจไม่ได้เจอปัญหาและวิธีแก้ปัญหาอย่างแท้จริง สุดท้าย เราอาจไม่ได้รับรู้ถึงความภาคภูมิใจที่ได้ชนะใจตัวเอง

และนี่คือสิ่งที่ผมได้รับจากสถาบันอาศรมศิลป์ ที่ที่ให้โอกาสผมผ่านการเดินทางและกระบวนการลงมือทำงานจริง ขอบคุณครับ

เด็ก

ภาพ : ปิยะ พรปัทมภิญโญ

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

นพรุจ เกาะงาม

เป็นนักศึกษาสถาปัตย์ปี 2 ที่สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นคนนิ่งๆ ชอบเล่นกีฬา รักในการเดินทาง