ผม ยุ้ย เชฟโบ เชฟดีแลน และกีกี้ กำลังมุ่งหน้าจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปนิวเดลี (New Delhi) จุดมุ่งหมายในการไปอินเดียครั้งนี้ของเรา คือไปร่วมแสดงความยินดีกับ Garima เชฟและเจ้าของร้าน Gaa ร้านอาหารที่นำวัตถุดิบท้องถิ่นในไทยมาสร้างสรรค์ให้เกิดศิลปะบนจานอาหารอย่างมีชั้นเชิง แถมยังอร่อยอีกด้วย

หลังเครื่องบินลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี พอเดินออกมาจากสนามบินเท่านั้นแหละ เราก็ได้ยินเสียงรถบีบแตรจากทั่วทุกสารทิศ บีบกันแบบขอให้ได้บีบก็พอใจแล้ว!!! และจากสนามบินเราต้องนั่งรถกันต่ออีกหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพื่อไปร่วมพิธีแต่งงานที่จัดในวันนี้ที่เมืองเกรทเตอร์นอยดา (Greater Noida) ถือเป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่ได้ร่วมงานแต่งงานแบบอินเดีย

ช่วงเดือนที่เรามาคือเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเทศกาลแต่งงานของคนอินเดีย ซึ่งตามประเพณีดั้งเดิมของเขาต้องฉลองกันอย่างน้อย 5 – 7 วันเลยทีเดียว แต่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวของเรางานค่อนข้างรัดตัว เลยร่นลงมาเหลือแค่ 3 วัน (!)

พูดถึงบรรยากาศงานแต่งงาน เราจะได้เห็นญาติๆ และเพื่อนของทั้งคู่แต่งกายกันด้วยชุดประจำชาติอินเดีย ในส่วนของพิธีกรรมแต่งงานก็ดำเนินแบบทางฮินดู ระหว่างงานจะมีดนตรีอินเดียขับกล่อมให้แก่แขกที่มางาน บรรยากาศโดยรวมนับว่ามีสีสันและสนุกมาก นี่คือจุดเริ่มต้นความประทับใจที่ทำให้ผมเริ่มรู้สึกชื่นชอบและหลงรักวัฒนธรรมอินเดียโดยไม่รู้ตัว

งานแต่งงานอินเดีย ชาวอินเดีย

ไฮไลต์ของงานและตลอดทั้งทริปอินเดียของผมคือ ‘อาหารการกิน’ โดยส่วนตัวผมชื่นชอบอาหารที่ใส่เครื่องเทศเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะสำหรับคนรักการทำอาหาร ‘กลิ่น’ เป็นสิ่งสำคัญในการปรุงอาหารอย่างมาก และแกงแบบอินเดียก็ทำให้ผมทึ่งกับการแกงของคนอินเดียยิ่งนัก เฉพาะทริปนี้ผมได้กินแกงหลากหลายเกือบ 20 อย่าง โดยที่อัตราส่วนของรสชาติและกลิ่นเครื่องแกงแตกต่างกันหมด

กินอาหารอินเดียในงานแต่งงานเพียงแค่ 2 วัน ก็นับว่าเปิดโลกของ ‘แกง’ ได้มากโขเลย

อาหารอินเดีย อาหารอินเดีย

ในงานแต่งงานวันแรกจะมีทั้งอาหารอินเดียและแบบตะวันตกให้เลือกรับประทาน ซึ่งอร่อยทั้งนั้น แต่ผมแอบติดใจแกงไก่ที่มีลักษณะคล้ายครีมข้นๆ แบบของฝรั่ง แต่สอบถามไปมาได้ความว่านี่เป็นแกงชนิดหนึ่งของอินเดีย ซึ่งผมก็จำชื่อไม่ได้ เพราะมีอาหารมากมายละลานตาเสียเหลือเกิน

อาหารอินเดีย อาหารอินเดีย

กรรมวิธีการแกงคือ เอาไก่ไปย่างแล้วเข้าแกงกับเครื่องเทศ ส่วนครีมข้นๆ นั้นเดาว่าน่าจะเป็นโยเกิร์ต และใส่หัวหอมผัดเพื่อรสอูมามิในตัวแกง

วันต่อมา เป็นพิธีหมักตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วยขมิ้นและเครื่องหอม หลังจบพิธีก็มีอาหารปิ้งย่างสไตล์อินเดียไว้เลี้ยงแขก ความสุดยอดของมื้อนี้ต้องยกให้เนื้อ Mutton หรือแกะที่หมักด้วยเครื่องเทศซึ่งผสมเอง ย่างในเตาทันดูรี ทานคู่กับนาน (Naan) และแกงผักโขม พอชิมแล้วรสนัวคล้ายแกงขี้เหล็กบ้านเรา และแน่นอนว่าอร่อยแบบวัวตายควายล้มกันเลยทีเดียว

อาหารอินเดีย

ส่วนปิ้งย่างแบบอื่นที่น่าสนใจก็มีไก่ย่างทันดูรี ปลาอินทรีหมักเครื่องเทศ เครื่องหมักดองของอินเดียก็น่าสนใจมากๆ หลังจากมื้อปิ้งย่างนี้จบลงดี แขกเหรื่ออิ่มหมีพีมัน ก็รอให้ถึงช่วงเวลาสำคัญในตอนเย็น (กินต่อ) อีกรอบ

มาถึงช่วงสำคัญคืองานในตอนเย็น เป็นพิธีที่คู่บ่าวสาวให้คำมั่นสัญญาต่อกัน แขกทุกคนแต่งกายกันแบบจัดเต็ม ฝ่ายชายโพกหัวทุกคน ส่วนฝ่ายหญิงก็แต่งกายกันได้เฉิดฉายในแบบฉบับสาวอินเดียเช่นกัน พอเข้าช่วงหัวค่ำ ก็เป็นช่วงอาหารรอบดึก มื้อนี้ทีเด็ดอยู่ที่แกงต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกสิริรวมทั้งหมด 10 หม้อด้วยกัน แต่จากทั้งสิบแกงนั้นผมติดใจแกงที่ทำจากถั่วเลนทิล (Lentil) ชื่อ Dal Makhani ที่สุด ซึ่งเป็นทีเด็ดที่ชนะเลิศ มีความเผ็ด มันๆ เค็มๆ นัวๆ และได้รสหวานเล็กน้อยจากตัวถั่วเลนทิล ส่วนแกงอื่นที่พลาดไม่ได้เช่นกันก็คือแกงแกะ Mutton Curry ที่มีรสดีสูสี

งานแต่งงานอินเดีย งานแต่งงานอินเดีย

ในงานเลี้ยงวันสุดท้าย ทางคู่บ่าวสาวจัดทัวร์ให้กับแขกที่มาร่วมงาน โดยให้เลือกว่าจะไปไหนกัน มีตัวเลือกคือทัชมาฮาล ตีกอล์ฟ และขับโกคาร์ท เมื่อจบทัวร์นี้ก็จบครบถ้วนกระบวนงานแต่งงานฉบับอินเดีย

ไหนๆ มีโอกาสแล้วคณะของพวกเราที่มาจากไทยจึงปลีกตัวออกไปสำรวจตลาดอินเดียเสียหน่อยตามประสาของคนทำครัว เรามุ่งหน้าสู่โอลด์เดลี (Old Delhi) ย่านเมืองเก่าซึ่งว่ากันว่ามีตลาดเครื่องเทศขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลกที่ชื่อ Chandni Chowk เป็นตลาด 24 ชั่วโมง มีทั้งค้าปลีกและค้าส่ง เราใช้เวลาเดินสำรวจตลาดกัน 4 ชั่วโมงเต็ม บนถนนหรือในตรอกซอกซอยของตลาดแห่งนี้ก็มีทั้งผู้คน วัว สุนัข และเครื่องเทศ อยู่ร่วมกัน (มาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว!) บรรยากาศของที่นี่เรียกว่าโกลาหลอลหม่านเอามากๆ เรียกว่าไม่เคยเจออะไรที่วุ่นวายอย่างนี้มาก่อนในชีวิตเลยล่ะครับ

อินเดีย เครื่องเทศ เครื่องเทศ

สำหรับการเดินตลาดเครื่องเทศ คนบ้าอาหารอย่างเราแทบอยากจะยกตลาดนี้ไปไว้ข้างๆ ตลาดเทศบาลกันเลย แต่ก็ทำได้แค่อยาก ความเป็นจริงคือเลือกซื้อกลับไทยแค่เกลือหิมาลัย เกลือดำ กระวานเขียว อบเชยอินเดีย และที่แปลกไม่เคยเห็นเลยคือเครื่องเทศที่ชื่อว่า Stone Flower มีต้นกำเนิดที่เนปาล ไม่ให้รสกลิ่นที่ชัดเจนมากนัก แต่คนอินเดียบอกว่าเอาไปผสมใส่เครื่องแกงแล้วจะทำให้แกงกลมกล่อมขึ้น ซึ่งคงจะคล้ายกับเปราะหอมบ้านเรากระมัง ที่รสชาติจืด แต่พอนำไปเข้ากับเครื่องเทศตัวอื่นกลับชูทุกอย่างให้ลงตัวได้อย่างน่าทึ่ง

เครื่องเทศ เครื่องเทศ

เกลือดำก็ถือเป็นของดีหาง่ายของที่นี่ แต่ถ้าซื้อที่ไทยก็ถือว่าแพงหากเทียบกับเกลือทั่วไป คุณลักษณะเด่นของเจ้าเกลือดำนี้มีฤทธิ์เย็น คนอินเดียมักใช้เป็นเครื่องปรุง สำหรับคนที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ในทางยา เกลือดำมีสรรพคุณช่วยให้กำลังวังชา เสริมสร้างระบบหมุนเวียนของเลือดให้ดีขึ้น เมื่อเราเจอเข้า ก็เปรียบเหมือนเจอสมบัติ จนต้องหอบกลับบ้านมากัน 4 – 5 กิโลเลยทีเดียว ส่วนคุณภาพของเครื่องเทศก็ดีเหลือเกิน แถมสนนราคาก็ถูกมากเมื่อเทียบกับคุณภาพ นับว่าไม่เสียเที่ยวที่มาถึงตลาดแห่งนี้จริงๆ

หลังเสร็จสิ้นจากงานแต่งงานก็ถึงเวลากล่าวขอบคุณและร่ำลากัน ผมและยุ้ยอยู่เที่ยวต่ออีก 3 วัน เพราะไหนๆ ก็มาแล้วเลยอยากจะเห็นเมืองอื่นบ้าง จึงตัดสินใจมุ่งหน้าไปยังเมืองพาราณสี (Varanasi) สองสิ่งที่นำเรามายังเมืองแห่งนี้คือ ‘แม่น้ำคงคา’ และหนึ่งใน ‘สังเวชนียสถาน’ ในเมืองเล็กๆ ไม่ไกลจากพาราณสีที่ชื่อ สารนาถ (Saranath)

อินเดีย

เราพักในปราสาทเก่าอายุกว่า 200 ปีริมฝั่งแม่น้ำคงคา รวมถึงมีโอกาสล่องเรือทั้งตอนเช้าตรู่และตอนหัวค่ำดูนานาพิธีกรรมริมแม่น้ำคงคา มีพิธีกรรมหนึ่งที่ทำกันต่อเนื่อง 24 ชั่วโมงมาเป็นเวลาหลายร้อยปี นั่นคือพิธีเผาศพ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศอินเดียนับถือศาสนาฮินดู และเชื่อว่าการได้นำพาร่างกายทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่หรือไม่มีลมหายใจแล้วมาที่คงคา เพื่อดื่ม อาบ ลอยอัฐิธาตุ เผาสรีระร่างกาย เสมือนหนึ่งได้มาสักการะและชำระจิตวิญญาณ

อินเดีย

พาราณสีเป็นเมืองที่มีอารยธรรมต่อเนื่องมากว่า 4,000 ปี หรืออาจมากกว่านั้น วิถีชีวิตของผู้คนไม่ถือว่าเปลี่ยนแปลงมากนัก คนในเมืองเกือบจะทั้งหมดไม่บริโภคเนื้อสัตว์ จะมีก็แต่ผู้นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้นที่บริโภคเนื้อสัตว์กัน ภายในรัศมี 2 กิโลเมตรรอบแม่น้ำคงคาถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น จึงห้ามให้มีการทำอาหารใดๆ ที่มีเนื้อสัตว์เด็ดขาด รวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน

เราใช้เวลา 1 วันกับคนนำเที่ยวท้องถิ่นที่พาเราไปสถานที่ต่างๆ รวมถึงไปชิมโยเกิร์ตอันเลื่องชื่อ ที่มีนามว่าลาสซี่ (Lassi) เข้าออกตรอกซอกซอย ไปสนทนาเรื่องเครื่องเทศกับคนท้องถิ่น และแวะดูตลาดเครื่องเทศอีกแห่งในเมืองนี้ที่ชื่อว่า Gola Dinanath

Lassi

ที่เมืองสารนาถเรามีโอกาสสักการะสถานที่ศักดิ์สิทธ์ของชาวพุทธ ที่แห่งนี้เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 และใกล้ๆ กันนั้นก็มีพิพิธภันฑ์ที่เก็บพระพุทธรูปโบราณตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ไว้เป็นจำนวนมาก

การมาสัมผัสอินเดียครั้งนี้ทำให้ผมเข้าใจรากอาหารไทยของตัวเองมากขึ้น รวมไปถึงศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ และศิลปะแขนงต่างๆ ที่มีอิทธิพลอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการหล่อหลอมรวมเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ สำหรับผมอินเดียเป็นประเทศที่สุดโต่งมากประเทศหนึ่ง ผู้คนเปิดรับวัฒนธรรมต่างถิ่น แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ก็ยังคงอยู่ไม่หายไปไหน ผู้คนยังมีความสุขในแบบของเขา ยังคงภูมิใจในอารยธรรมของตนอย่างชัดเจน

การเดินทางครั้งนี้สะท้อนมุมมองของผมต่อวัฒนธรรมบ้านเรา ในแง่ที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนจนถึงยุคปัจจุบัน โดยที่เราไม่ได้ตัดสินว่าสิ่งไหน ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ และแม้จะใช้เวลาในอินเดียแค่ไม่กี่วัน แต่ขอสารภาพว่าผมหลงรักอินเดียเข้าให้แล้ว เพราะความสวยงามของอินเดีย ซึ่งความงามนี้มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกมองมันจากมุมไหน…เท่านั้นเอง

อินเดีย

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์

เชฟและเจ้าของร้านซาหมวยแอนด์ซันส์ จากจังหวัดอุดรธานี ชอบเดินตลาด และเดินเข้าป่าเพื่อตามค้นหาวัตถุดิบ