8 กุมภาพันธ์ 2018
16 K

เราไม่เคยได้ยินหรือรู้จักเทอริเบอร์ก้า (Teriberka) มาก่อน ซึ่งก็ไม่น่าแปลก เพราะเทอริเบอร์ก้าเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ ในประเทศรัสเซีย ประเทศที่มีอาณาเขตไพศาลอันดับ 1 ของโลก มีเขตป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มี 11 เขตเวลา มีทางออกสู่มหาสมุทร 3 แห่ง ก็เท่านั้น! แต่เมื่อเราตัดสินใจบินไปเมืองเมอร์มานสค์ (Murmansk)

เพราะอยากเห็นไทกา (Taiga) ป่าสนเมืองหนาวซึ่งเป็นปอดของยุโรป และเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนที่ใหญ่ที่สุดในโลก แถมอาจจะได้เห็นแสงเหนือเป็นของแถม เราจึงเลือกไปเที่ยวหมู่บ้านชาวประมงที่อยู่ใกล้กันด้วย

เทอริเบอร์ก้าอยู่บนอ่าวโคลา (Kola) สุดปลายแผ่นดินรัสเซียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทางออกสู่มหาสมุทรอาร์กติก ไม่ค่อยมีคนไทยมาเที่ยวแถวนี้มากนัก ยิ่งในช่วงที่ยังไม่มีหิมะยิ่งน้อยเข้าไปอีก บางคนอาจอยากเที่ยวเทอริเบอร์ก้าในฤดูหนาว แต่เราไม่ได้สนใจการเล่นลากเลื่อน สกี หรือฟาร์มฮัสกี้ เรากับน้องชายและเพื่อนสนิทจึงเลือกไปที่นี่ในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงที่ป่าสนสมบูรณ์เริ่มเปลี่ยนสี ไม่หนาวจนคร้านจะออกไปไหนๆ  

ต้นไม้ ต้นไม้

เราใช้เวลาบิน 2 ชั่วโมงจากมอสโกมาลงเมอร์มานสค์ ภาพแรกที่เราเห็นเมื่อลงเหยียบเมืองตอน 8 โมงเช้า ทำให้เรารู้สึกว่าวันนี้น่าจะเป็นวันดี ลูกเบอร์รี่สีแดงสดที่ตัดกับใบเขียวๆ ของต้นเบิร์ชภูเขาที่เรียงรายอยู่หน้าสนามบินเล็กๆ ทำให้เมืองสุดปลายตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซียดูก๋ากั่นน่ารักแต่ถ่อมตัว

 

ไกด์

ความรู้สึกเดิมชัดขึ้นอีกเมื่อยูรี่ (Yury) ไกด์หนุ่มที่เราติดต่อไว้จากเมืองไทยเข้ามาทักพร้อมกับเรียกชื่อเราอย่างชัดเจน รถที่ยูรี่เอามารับคือรถตู้โมเดลสงครามโลกที่ถูกทำขายใหม่และได้รับความนิยมในแถบเมืองเหนือนี้ เขาว่ามันลุยและถึกดีนัก แน่ล่ะสิ มันเป็นเหล็กกล้าทั้งคัน ไม่ใช่เหล็กแผ่นบางตัดกระดาษได้แบบที่เราๆ ใช้อยู่

ในเส้นทางเกือบ 90 กิโลเมตร ช่วงแรกเป็นทางเรียบลัดเลาะไปตามเนินเขา เราเห็นทะเลสาบฝั่งหนึ่ง เทือกเขาฝั่งหนึ่ง สลับกันไป จุดหนึ่งที่เราแวะจอดกันเป็นจุดที่น่าจะมีนักท่องเที่ยวนิยมมาพักชมวิวกันพอสมควร มันเป็นช่วงที่เราเหยียบอยู่บนหน้าผา เมื่อมองลงไปยังฝั่งที่เป็นหุบเขาลึกและชัน ไกลถัดออกไปเป็นเทือกเขาทอดยาว ลมพัดแรง แรงจนได้กลิ่นของป่าสนจากอีกฝั่งถนน และตรงนั้นมีกองหินเล็กๆ หลายๆ กองเหมือนที่เราเคยเห็นและอ่านจากในอินเทอร์เน็ตก่อนเดินทาง หลายเว็บพูดถึงความคิดถึง ความหวัง และสัญลักษณ์ของการรอคอยคนไกล ความรู้สึกลิงโลดเกิดขึ้นในใจ เพราะเรื่องเล่าแบบนี้ด้วยไม่ใช่เหรอที่เร้าให้เราออกเดินทาง

 

กองหิน

เมื่อถามยูรี่ถึงที่มาของกองหินด้วยความตื่นเต้นและคาดหวัง กลับได้รับคำตอบสั้นๆ ว่า ไม่ได้มีความหมายอะไร มีนักท่องเที่ยวคนหนึ่งเริ่มแล้วก็ทำตามๆ กัน เราอึ้งไปหลายวินาที ก่อนให้คะแนนนิยมไกด์ประจำกลุ่มอยู่ในใจ เริ่มสนุกแล้วสิ!

เราอยู่กับความเรียบสบายและเสียงเอี๊ยดอ๊าดเบาๆ ได้สัก 30 กิโลเมตร ยูรี่ก็จอดรถข้างทางแล้วกระโดดลงจากรถพร้อมเครื่องมือบางอย่าง ปล่อยลมยางและเปลี่ยนระบบเกียร์เป็น 4WD และหลังจากนั้นถนนก็ไม่เป็นถนนอีกต่อไป บางแยกที่เรากำลังจะเลี้ยวเข้าไปทำให้เรานึกภาพทางเกวียนในชนบทห่างไกลสักสองสามแห่งในเมืองไทย แต่บางเส้นทางก็ไม่ทำให้นึกถึงคำว่าถนนเลย นอกจากความหมายเรื่องการสัญจรด้วยยานพาหนะ เพราะมีทั้งเนิน โขดหิน หรือแม้แต่พุ่มไม้เตี้ยๆ

เวลาเกือบบ่ายโมง เราเห็นภาพหมู่บ้านเก่าๆ อยู่ไกลๆ ด้านล่างทางคดเคี้ยว ยูรี่จอดรถและเล่าให้เราฟังด้วยเสียงราบเรียบว่าเทอริเบอร์ก้าถูกค้นพบโดยบังเอิญโดยนักตกปลาคนหนึ่งในคริสต์ศวรรษที่ 16 สมัยที่สหพันธรัฐรัสเซียยังเป็นอาณาจักรมัสโควีที่ปกครองด้วยระบบกษัตริย์

หมู่บ้าน

ช่วงปลายคริสต์ศวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศวรรษที่ 20 เมื่อทางส่วนกลางเห็นว่าแถบนี้มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ มีอ่าว มีเขาบังลม เหมาะแก่การจอดเรือใหญ่ ก็เลยคิดภาษากลางระหว่างตัวเองกับชนพื้นเมืองซามี่ (Sami) หรือที่รู้จักกันในชื่อ แลปป์ส (Lapps) ขึ้นมาใช้สื่อสาร แล้วก็ลงทุนทำท่าเรือขนส่ง สร้างสะพานยื่นลงไปในน้ำ ลงทุนในอุตสาหกรรมประมง เช่น ปลาค็อด ปลาแซลมอน ปลาฉลาม ทำฟาร์มแบบผสมผสาน ฟาร์มโคนม เรนเดียร์ และมิงค์ สร้างโรงงาน คลังสินค้า มีระบบจัดการน้ำ และสถานีตรวจวัดอากาศ

เทอริเบอร์ก้าโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่โตได้ไม่นานก็เฉา เพราะจู่ๆ รัฐก็เกิดคิดได้ว่าถ้าทำท่าเรือใหญ่ที่เมอร์มานสค์เองก็สะดวกดี เลยจัดการย้ายทั้งของ ทั้งคน และทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าเมืองด้วยความรวดเร็ว (ตอนนี้คนเล่าเหมือนหลุดคำว่าคอร์รัปชันออกมา แล้วก็ทำท่าเหมือนไม่เคยพูดมันมาก่อน แต่เรารู้ว่านายตั้งใจ) นี่เป็นสาเหตุให้หมู่บ้านไกลลิบนี้เคยถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ Leviathan การนำเสนอเรื่องราวความเสื่อมโทรมของหมู่บ้านและมีเนื้อหาพาดพิงถึงคอร์รัปชันทำให้คนรัสเซียจำนวนมากไม่ชอบภาพยนต์เรื่องนี้ และเรียกผู้กำกับอันเดรย์ ซียากินต์เซฟ (Andrey Zvyagintsev) ว่า Russophobia แต่ Leviathan ก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำประเภทภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ครั้งที่ 72 และได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2015

หมู่บ้าน หมู่บ้านร้าง

วันนี้หมู่บ้านที่เราเห็นคล้ายหมู่บ้านร้าง เหลือโรงงานปลาอยู่ที่หนึ่ง มีโรงจัดการน้ำเก่าๆ ซากเรือหาปลาแบบโบราณเกยตื้น เหมือนรอนักท่องเที่ยวอย่างเราไปถ่ายรูปให้ดูมีเรื่องราว ตึกคนงานหลายตึกสีซีดโทรมไม่มีคนอยู่ ตัดกับสีสดใสของเครื่องเล่นในสนามเด็กเล่นกลางหมู่บ้าน ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงไม่ถึง 20 ครอบครัว และสมาชิกส่วนใหญ่ก็เป็นผู้เฒ่าและเด็ก

ฝนเริ่มโปรยลงมาขณะที่รถค่อยๆ โขยกเขยกเข้าหมู่บ้าน เส้นทางช่วงนี้เริ่มดูเป็นทางมากขึ้น เมฆครึ้มๆ เรามองผ่านเม็ดฝนที่เกาะกระจกรถออกไปเห็นภาพข้างทางคล้ายเป็นภาพเขียนซีเปีย เวลาผ่านไปเชื่องช้าจนหิวข้าว ท้องเราร้องจนต้องบอกยูรี่ให้พาไปกินก่อนเที่ยวจุดอื่นๆ ของหมู่บ้าน เขาพาเราไปร้านบนหาดทรายอ่าวโคลา ร้านหรูหราแปลกตาไม่มีภาษาอังกฤษในเมนู แต่ทันทีที่เห็นรูปบางสิ่งที่คล้ายปูเราก็จิ้มเลือกทันที เมื่อยูรี่ออกเสียงว่า kamchatha ก็รู้สึกเหมือนเจอขุมทรัพย์ ซึ่งก็คิดถูก เมนูนี้คือ Red King Crab ปูยักษ์ซึ่งมีเฉพาะในเขตทะเลแบเร็นตส์ (Barents) และตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกเท่านั้น รสชาติอร่อย เนื้อเหนียวกว่าปูบ้านเรา และราคาแพง

เนื้อปู

การนั่งกินอาหารเทวดาในที่อุ่นสบายกับคนสนิท ขณะที่ลมทะเลกระโชกจนรู้สึกถึงแรงสั่นของกระจกที่กั้นเรากับอ่าว ภูเขา หาดทรายยาว และน้ำทะเลที่ห่างออกไปไม่ถึง 10 เมตร เป็นความรู้สึกวิเศษ

หมู่บ้าน หมู่บ้านร้าง หมู่บ้านร้าง

ในหมู่บ้านแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวหมู่บ้านเดิมที่สร้างด้วยไม้ ทรุดโทรมเป็นซากเรียงตามฝั่งเลียบช่องทางน้ำ อีกส่วนคือหมู่บ้านใหม่ มีลักษณะเป็นตึกผอมๆ สูงๆ คล้ายกับตึกสูงในมองโกเลีย พวกเราพากันเรียกมันว่าบ้านนก เพราะนึกถึงตึกทางใต้ของเราที่สร้างบ้านไว้เพื่อเลี้ยงนกนางแอ่นแล้วเก็บรังมันมาขาย หมู่บ้านใหม่ดูยังไงก็เหมือนตึกร้างมากกว่าบ้านที่มีคนอาศัยอยู่จริง ภาพตึกสีหม่นๆ กระจัดกระจายกับเครื่องเล่นเด็กสีสดใส 4 – 5 ชิ้นที่วางอยู่ตรงลานเรียบๆ กลางหมู่ตึก ดูเหมือนเป็นภาพจากหนังสักเรื่องที่ใช้เทคนิคย้อมสีมากกว่าของจริง

จากตรงนี้ทางเริ่มชันและเป็นหลุมเป็นบ่อมากขึ้น เส้นทางที่เหมือนใกล้จึงใช้เวลามากกว่าที่ควร เมื่อรถตะกายพ้นโขดหินใหญ่มาได้สักพักก็จอดตรงลานหิน ซ้ายมือเป็นทะเลสาบกว้างๆ มีเต็นท์เล็กกางอยู่หลังหนึ่ง ยูรี่พาเรามาดูสิ่งที่สวยงามกว่าเส้นทางที่ผ่านตาเรามาตลอดทาง

ลาน พุ่มไม้ ต้นไม้

ลานหินแกรนิตกว้างสุดลูกหูลูกตาจากตรงที่เราเริ่มเดินไปจรดหน้าผาริมทะเล เต็มไปด้วยต้นไม้หลายชนิดหลากสี ชวนตื่นตามากจนเรานึกไปว่าเดี๋ยวอาจจะมีเทเลทับบี้ทยอยโผล่ออกมาให้เห็น ส่วนใหญ่จะเป็นพืชคลุมดินเตี้ยๆ ที่มีใบอวบน้ำ บ้างก็เป็นตระกูลเฟิร์น บ้างมีเบอร์รี่สีแดงสดที่ยูรี่บอกว่าสัตว์ยังไม่กิน (แต่เราชิมแล้ว รสหวานอมเปรี้ยว หอมและอร่อยดี) และบางหย่อมก็เป็นลานพืชชั้นต่ำอย่างไลเคนเขียวยึดเกาะหินครึ้มไปหมด ตรงลานนี้มีไลเคนหลายชนิดมาก

การมีอยู่และลักษณะความหลากหลายของไลเคนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ โดยลักษณะรวมของนิเวศตรงนี้เรียกว่า ทุนดรา (Tundra) หรือทุ่งหิมะแถบขั้วโลก ชื่อคือทุ่งหิมะ แต่สิ่งที่เราเห็นคือสีเขียวแดงเหลืองส้มสดใส แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ถึง 4 เดือนต่อปีเท่านั้นที่จะได้เห็นแบบนี้ ถึงตรงนี้เราเพิ่งได้ยินยูรี่พูดยาวๆ เป็นครั้งแรก เขาอธิบายเสียงชัดและดังขึ้นแข่งกับเสียงลมและคลื่นที่ซัดหน้าผาที่อยู่ถัดออกไปอยู่เซ็งแซ่

ต้นไม้ ต้นไม้ ต้นไม้ ต้นไม้ ต้นไม้

 

หลังจากบรรยายมายืดยาว ยูรี่เฉลยว่าหลังเรียนจบวิศวะจากมหาวิทยาลัย เขาได้เรียนต่อด้านนิเวศทางทะเล เราฟังเรื่องต่างๆ ที่เขาบรรยายด้วยความทึ่ง รู้เรื่องและจับความได้ไม่มากนักด้วยชื่อ ศัพท์เฉพาะ และความอ่อนด้อยทางภาษาของตัวเองด้วย ไกด์หนุ่มอธิบายไปสักพักก็พึมพำอ่อยๆ มาว่า

“I’m sorry, I talk so much!”
มาถึงตรงนี้แต้มคะแนนจะให้เพิ่มสำหรับเพื่อนใหม่ก็ไม่จำเป็นอีกแล้ว

“มานี่สิ จะพาไปดูอะไร”

เหมือนจะมีประกายตาสนุกบางอย่างแวบขึ้นมา ขณะที่ยูรี่ก้าวเท้านำเราไปทางหน้าผา เราค่อยๆ พากันเดินไต่ไปบนโขดหินลื่นๆ ริมผา ไต่ลงมาใกล้ผืนน้ำจนโดนน้ำทะเลซัดอยู่หลายที ไต่ขึ้นไปแล้วก็ก้าวกระโดดจับกันเป็นทอดๆ เพื่อพยุงตัว แล้วเราก็ถึง Secret Room! (ชื่อนี้คงตั้งเองสินะ)

โขดหิน

ผู้รับเหมาหรือสถาปนิกไม่ได้ออกแบบและสร้างห้องลับนี้ไว้แต่สมัยไหน แต่ถ้าหากเคยไปสามพันโบกที่อุบลราชธานีก็จะเข้าใจได้ว่าไอ้ช่องที่คล้ายถ้ำมนๆ ผิวเกลี้ยงๆ มันแว้บนี้เกิดจากฝีมือธรรมชาติ หินที่ตกลงไปในช่องเล็กๆ แล้วลมก็พัดจนหินนั้นวิ่งวนให้ช่องนั้นขยายใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นและหินนั้นก็กลมมนเล็กลง เล็กลง และอาจจะมีหินก้อนใหม่ตกลงไปสมทบและลมก็พัดอีก อย่างนั้นอยู่สิบ ยี่สิบ ร้อย หลายร้อยปี

ถัดจากห้องลับไปทางซ้ายเป็น Rolling Stone Beach ลานหินกลมน่ารักพันๆ ก้อนเรียงรายเป็นระเบียบอยู่บนเนินหินเตี้ยยาวตามแนวทะเล (เราไม่สนใจแล้วว่าชื่อนี้สากลหรือเป็นชื่อที่ยูรี่กับเพื่อนไกด์ตั้งกันเองรึเปล่า ก็คงเป็นอะไรที่คล้ายๆ secret room นั่นล่ะ)

น้ำตก ภูเขา รถตู้

เราพากันเดินกลับมาที่รถ ซึ่งถูกขยับมาจอดตรงหน้าผาหินเกลี้ยงๆ มองลงไปเห็นเป็นแนวแยกแคบๆ ที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก มีน้ำทะเลซัดเข้าตามแนวแยกนั้น เราพร้อมใจกันทำให้เวลานี้เป็นเวลากาแฟ ยูรี่เปิดหลังรถและกางประตูบังลมไว้ขณะต้มน้ำ ด้วยอุณหภูมิ 2 องศา เราจิบกาแฟกันตรงหน้าผา บ้างนั่งบนโขดหิน บ้างยืน ลมกระโชกพัดละอองฝนเข้ามาเป็นระยะจากทะเลแบเร็นตส์ ปากทางสู่มหาสมุทรอาร์กติก สายฝนเส้นเล็กๆ กระทบฮู้ดแจ็กเก็ตกันฝนเบาๆ

ระหว่างทางที่เรากลับจากหน้าผาแกรนิต ยูรี่แวะรับป้าคนหนึ่งกลางทางแล้วไปส่งป้าในหมู่บ้าน ทั้งคู่คุยกันพักใหญ่ เราถามยูรี่ว่าเธอพูดภาษาเขาได้ด้วยเหรอ ไกด์ของเราตอบว่าภาษารัสเซีย ตอนนี้ไม่มีใครพูดภาษาเก่าได้อีกแล้ว ไม่ว่าภาษาถิ่น หรือกระทั่งภาษากลางใหม่ที่คิดมาเพื่อช่วยสื่อสารในตอนนั้น

เรานึกถึงเรื่องเล่าของหมู่บ้านกับภาพความเสื่อมโทรมตรงหน้า ความเจริญสูงสุดและเสื่อมถอยในเวลารวดเร็วในตอนนั้น ความพยายามสร้างมูลค่าให้กับความเสื่อมโทรมด้วยการจัดการให้เทอริเบอร์ก้าเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยจัดเทศกาลพื้นเมืองในชื่อ Teriberka’s New Life เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวรัสเซียเองและต่างชาติ

เรานึกถึงสีสันสดใสของนิเวศทุนดรา รวมถึงฟรูติโคส (Fruticose) ไลเคนชนิดหนึ่งที่เพิ่งเจอมากมายที่ลานแกรนิตเมื่อสักครู่ ไลเคนที่อ่อนไหวมากจะเกิดเฉพาะที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์และความชื้นสูงเท่านั้น

แล้วเราก็ยิ้มออกมาได้

ลาน ไลเคน

  • หมู่บ้านเทอริเบอร์ก้าตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลแบเร็นตส์ มหาสมุทรอาร์กติก ในแขวงโคลสกี้ (Kolsky) คาบสมุทรโคลา แคว้นเมอร์มานสค์ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองเมอร์มานสค์ ขึ้นไปทางเหนือประมาณ 120 กิโลเมตร ไม่มีรถประจำทาง หากต้องการไปเที่ยวควรติดต่อไกด์ ซึ่งมีให้เลือกหลายคน สนนราคาคิดตามเวลาหรือจำนวนวัน / จำนวนรถ
  • เวลาที่เทอริเบอร์ก้ารวมถึงเมอร์มานสค์ช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง แต่อยู่ในเขตเวลาเดียวกับมอสโก

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐญา นาคะเวช

มนุษย์เป็ดผู้กระโดดลงไปทำทุกอย่างที่สนใจ รักการเดินทางและอาหารพื้นบ้านทุกชนิด นิยมความเชยและตื่นใจกับเรื่องเล่าปรัมปรา