เป็นเรื่องปกติที่เมื่อปิดเทอมฤดูร้อนมาถึง นักศึกษาปี 3 ที่กำลังขึ้นไปเป็นพี่ใหญ่สุดในระดับมหาวิทยาลัย จะต้องก้าวออกไปฝึกงานภายใต้บริษัทที่เราสนใจ แต่สำหรับเด็กสถาปัตย์ที่มีเวลาในรั้วมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ปี เราจึงตัดสินใจทำเรื่องที่ไม่เคยคิดมาก่อนในชีวิต คือการไปฝึกงานในสถานที่ที่ลำบากแต่ก็เต็มไปด้วยความสวยงามทางธรรมชาติและสถาปัตยกรรมอย่าง Ladakh (ลาดักห์) ประเทศอินเดีย โดยไม่ได้ไปแค่ระยะสั้นๆ แต่เราไปอยู่มาถึง 70 วัน กับแพ็กเกจนอนฟรี 70 คืน พร้อมอาหารกลางวันในเลห์

ภูเขา โต๊ะทำงาน ออฟฟิศ

แน่นอนว่าแพ็กเกจนอนฟรี 70 คืนไม่ได้มาอย่างง่ายๆ แต่มาพร้อมการฝึกงานกับองค์กรนานาชาติที่ไม่แสวงหาผลกำไร ชื่อว่า Tibet Heritage Fund ซึ่งทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในเขตเมืองเก่าของเมือง Lhasa (ลาซา) ประเทศทิเบต และครอบคลุมมาถึงเมืองเลห์ แคว้นลาดักห์ ประเทศอินเดีย

ด้วยความนานาชาติ หัวหน้าเราไม่ใช่คนท้องถิ่นชาว Ladakhi หรือคนอินเดีย แต่เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอนุรักษ์สถาปัตยกรรมมาตั้งแต่มี 1996 (ปีเกิดเราเอง) ชื่อ คุณฮิราโกะ ยูทากะ เรามักจะเรียกเขาว่า ยูทากะซัง พร้อมกับภรรยาที่ทำงานอยู่ในองค์กรเดียวกันอย่างคุณพิมพิม ชาวโปรตุเกส และด้วยความที่เราไปฝึกงานตอนอายุ 21 ทำให้เราได้ตำแหน่งน้องเล็กสุดในทีมทำงานของปีนี้ แต่เรานั้นไม่ใช่ปัญหาสำหรับหัวหน้าเลย เพราะสามารถสั่งงานได้อย่างต่อเนื่อง    

สเกตช์ สเกตช์ แบบสเกตช์

งานหนึ่งที่หัวหน้าเราไม่ได้สั่ง แต่เราทำเอง คือโปรเจกต์เล็กๆของเราใน Instagram ตั้งชื่อไว้ว่า ‘Human of Leh Ladakh’ ถ้าจะตามในอินสตาแกรมก็ต้อง #HumanofLehLadakh ตลอดเวลา 75 วันที่นั่น เราได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคนมากมาย จากปกติที่ไม่ชอบคุยกับคนแปลกหน้า ชอบนอนอยู่บ้าน เข้ากับคนยาก แถมยังมีโลกส่วนตัวสูงอีก ทำให้การมาฝึกงานครั้งนี้เป็นประตูเปิดไปสู่การเป็นคนใหม่ เริ่มเข้าหาคนอื่นก่อน ฝึกคุยกับคนแปลกหน้า เริ่มเป็นผู้ให้มากกว่าการเป็นผู้รับ

ถ้าจะให้เล่าถึงทุกคนที่วาดให้ก็คงไม่ไหว ดังนั้นเราจะขอเล่าเบื้องหลังรูปที่เราประทับใจ หวังว่าเมื่อทุกคนที่ได้มีโอกาสอ่านแล้วจะอยากไปท่องเที่ยวแบบ slow life ใช้ชีวิตช้าๆ ให้กายและใจอยู่กับเราในสถานที่ที่เรากำลังอยู่

 

มนุษย์เพื่อนร่วมเดินทางอายุ 80 ปี

อาทิตย์แรกของเดือนกันยายนตรงกับช่วงเทศกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวลาดักห์พอดี หัวหน้าเลยให้หยุด 4 วัน เราเลยตัดสินใจไปเที่ยวใน Nubra Valley (นูบร้า แวลลีย์) กับพี่ๆ ที่ออฟฟิศ หนึ่งในที่ที่เราประทับใจคือ Turtuk (เทอร์ทุก) อดีตดินแดนของปากีสถานที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มและทุ่งดอกไม้

ลาดักห์

เราเจอ อิเนก้า และ อาโนลด์ ในโฮมสเตย์ที่เทอร์ทุก อิเนก้าเป็นคุณครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยม ปัจจุบันเกษียณแล้วจึงเป็นอาสาสมัครสอนภาษาดัตช์ให้ผู้ลี้ภัยในเนเธอร์แลนด์ ส่วนอาโนลด์เคยเป็นคุณครูสอนพละในโรงเรียนมัธยมในอัมส์เตอร์ดัม ทั้งสองอายุ 80 กว่าๆ มา trekking ที่ลาดักห์ด้วยความบังเอิญ ทั้งสองคนไม่มีรถกลับเข้าเมืองจึงแชร์รถจี๊ปอัดๆ กันมาในรถ ได้คุยกันถึงรู้ว่าทั้งสองคนเคยมาเที่ยวไทยตั้ง 3 ครั้ง ไปพักหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เชียงใหม่ ไปกระบี่ และครั้งล่าสุดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ไปปั่นจักรยานที่ เชียงใหม่-เชียงรายแล้วก็ไปจบที่ลาว

ลาดักห์มีชื่อเรื่องเทรกกิ้งมาก แต่ละเส้นทางมีเสน่ห์แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่เราจะไปด้วย ไม่น่าเชื่อเลยว่าสถานที่แบบลาดักห์นั้นจะมีคนแก่มาเทรกกิ้ง ถึงแม้ว่าจะไปแบบจ้างให้มีลูกหาบวัยรุ่นช่วยแบกกระเป๋าให้ แต่ก็ต้องนับถือหัวใจที่ยังมี wanderlust ความกระหายการเดินทาง ออกไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับอายุขัยจริงๆ

ธรรมชาติ ถ่ายรูป ปีนเขา

 

มนุษย์ไกด์เด็กท้องถิ่นวัยประถม   

ในวันอาทิตย์หนึ่งเราไปดูเทศกาลแข่งยิงธนูประจำปีซึ่งจัดขึ้นในวัด พอดูจนเบื่อเราเลยหยิบสมุดสเกตช์มาวาดรูปเล่น พอเงยหน้าขึ้นมาก็เจอสายตา 2 คู่มองอยู่ เด็กผู้ชายตาใสวัยประถม 2 คนกำลังมองเราวาดรูปคนยิงธนูด้วยความสงสัย เราชวนน้องคุย เลยรู้ว่าคนพี่ชื่อ มันเติร์ก คนน้องชื่อ ดนิช น้องๆ พูดอังกฤษเก่งมาก ที่บ้านมีโฮมสเตย์ซึ่งมีบริการไกด์เยาวชนพาเที่ยวในเมืองฟรี แต่มีข้อแม้ว่าต้องเลี้ยงขนมน้องแทน

เด็ก รำ

ด้วยความเอ็นดู เราถามน้องมันเติร์กว่า “ทำไมถึงมาเป็นไกด์” คำตอบก็ช่างน่ารักตามสไตล์เด็กประถม “เพราะเบื่อบ้าน อยากออกจากบ้าน อยากพูดคุยกับคนเยอะๆ”

คำตอบแบบนี้ทำให้ได้ย้อนกลับมาคิดกับตัวเอง เพราะเป็นคำตอบที่ตรงข้ามกับเรามากๆ เราชอบอยู่บ้าน ไม่เคยเบื่อ ไม่อยากพูดกับใครด้วย แต่น้องกลับอยากเจอคนเยอะๆ อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ไปต่างประเทศ แต่การได้คุยกับคนที่มาจากหลากหลายทั่วทุกมุมโลกที่มาพักที่โฮมสเตย์ก็ทำให้ได้สัมผัสวัฒนธรรมนั้นผ่านผู้คน

ก่อนจากกันก็เลยวาดรูปให้น้อง และนี่ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตที่วาดรูปให้แล้วคนรับไม่พอใจ น้องไม่ชอบตาจุดที่เราวาดให้ น้องอยากมีตาใหญ่ 2 ชั้น เลยขอยืมปากกาไปวาดเอง ตอนแรกคิดอยู่นานว่าจะอัพลงอินสตาแกรมดีหรือเปล่า เพราะดูไม่ค่อยใช่ผลงานเราสักเท่าไหร่ แต่พอคิดๆ ดูแล้ว การวาดรูปด้วยกันก็อาจจะเป็นการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมก็ได้ รูปที่เราวาดให้น้องจึงเป็นผลงานที่ไม่ใช่สไตล์เราที่สุดเลย แต่ก็ประทับใจมากๆ

 

มนุษย์ที่เราไม่เคยเห็นเคยหน้ามาก่อน

เป็นครั้งแรกที่วาดรูปให้ใครก็ไม่รู้ ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน เรื่องเกิดจากเรากับเพื่อนไปดูเทศกาลระบำหน้ากากกันที่วัดแห่งหนึ่งนอกเขตเมือง พอดูไปสักพักก็คิดว่าชุดที่พลิ้วไปกับการเต้นและหน้ากากสวยดีเลยวาดเก็บไว้ดีกว่า พอวาดเสร็จก็เลยหยิบกล้องโทรศัพท์ออกมาถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก พอคนข้างๆ เห็นจึงเริ่มชวนเราคุย และส่งรูปวาดของเราให้เพื่อนเขา หลายๆ คนในวงนั้นเริ่มเห็นงานเรามากขึ้น ตอนนั้นตกใจมากๆ รู้สึกเหมือนโดนสปอตไลต์สาดเข้ามาทั้งๆ ที่เป็นตอนกลางวัน รู้ว่าคนมองเรา แล้วก็ชมรูปที่เราวาด ตอนนั้นทำตัวไม่ถูกเลย ไม่เคยโดนชมเยอะแบบนี้มาก่อน

รูปวาด ระบำหน้ากาก

ครั้งนี้วาดคนที่ไม่รู้จัก แต่กลับกลายเป็นว่าคนอื่นเขาอยากมาคุยด้วย พอกลับข้างกันแบบนี้ก็รู้สึกแปลกไปอีกแบบ

 

 มนุษย์คนครึ่งโลกนับถือและเป็นบุคคลระดับโลก

ไม่เคยคิดเลยว่าเพิ่งจะอายุเพียงแค่ 20 ต้นๆ จะได้เจอบุคคลระดับโลกที่เป็นที่เคารพนับถืออย่างองค์ดาไลลามะ ไม่มีใครไม่รู้จักท่าน แต่จะมีกี่คนที่ได้เจอท่านจริงๆ กับตัว ได้ฟังคำสอนของท่านสดๆ  และโชคดีที่เราก็เป็นหนึ่งในนั้น หนึ่งในคนที่ได้ไปฟังการเทศน์สอนธรรมะประจำปีขององค์ดาไลลามะ

การไปฟังคำสอนขององค์ดาไลลามะแบบสดๆ นั้นมีกฎอยู่ 3 ข้อด้วยกัน

  1.  ตื่นให้เช้า ประมาณตี 5 กำลังดี
  2. ไปจองที่นั่งฝั่ง foreigner section อย่างสงบ
  3. นั่งฟังอย่างลึกซึ้ง      

ธงมนตร์ องค์ดาไลลามะ

 แน่นอนว่าครั้งนี้เราไม่มีโอกาสที่จะเอารูปวาดของเราให้แก่ท่าน ถึงแม้ว่าหัวหน้าเราจะพูดติดตลกก็ตามว่าให้ลองหาโอกาสลองเอาไปให้ท่านดูสิ หัวข้อการเทศน์ในวันนั้นเกี่ยวกับ ‘ความสงบสุขของโลกใบนี้ในยุคนี้มีเหตุก่อการร้ายอยู่แทบทุกวัน’ เทศน์เป็นภาษาท้องถิ่น โดยมีคนแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน ใช้เวลารวมแล้วราวๆ 3 ชั่วโมงถ้วน แน่นอนว่าเราไม่มีสมาธินั่งนิ่งๆ แล้วฟังคำสอนได้ตลอด 3 ชั่วโมง และทุกคนถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะรู้แล้วว่าเราจะทำอะไรเป็นการแก้เบื่อระหว่างฟัง

เราวาดรูปอีกครั้ง โดยที่คิดระหว่างวาดไปว่าจะ ‘มีวิธีอะไรหรือเปล่าที่ทำให้ทุกคนนั้นอยู่กันอย่างสันติสุข อยู่กันไม่มีเหตุก่อการร้าย โดยใช้ศิลปะหรือสถาปัตยกรรมเข้ามาเป็นตัวกลาง’
องค์ดาไลลามะ รูปวาด

มนุษย์เพื่อนจากซีกโลกหนึ่ง

ไปอยู่นานขนาดนี้ ไม่วาดรูปให้เพื่อนร่วมงานก็คงจะแปลก เพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมการอยู่เลห์ด้วยกัน ทำอาหารแบบไม่มีไฟฟ้าด้วยกันหลายมื้อ ทนฟังเสียงหมาเห่าหลายคืนในบ้านที่ได้นอนฟรี ใช้ Wi-Fi ของออฟฟิศเพื่อติดต่อกับโลกภายนอก เพื่อนร่วมงานในเลห์ส่วนมากมาจากยุโรป และนี่คือกลุ่มเพื่อนที่เราสนิท

ลาดักห์

(จากซ้ายไปขวา) ดาวิด, ยูเลี่ยน, วาเลรี่ และ อั๊ดด้า ทั้งหมดมาจากเยอรมนี ต้องขอบคุณที่เวลาอยู่ด้วยกันแล้วไม่พูดเยอรมันเลย เพราะถ้าพูดเราจะไม่รู้เรื่อง แต่บางครั้งพวกนี้ก็เผลอพูดเยอรมันออกมาเหมือนกัน ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่เบอร์ลินมากกว่าเลห์     

คนเยอรมันนิสัยตรงข้ามกับเราสุดๆ ทุกคนชอบออกไป hiking ชอบกิจกรรมกลางแจ้งมากๆ ในขณะที่เราพร้อมที่จะทำกิจกรรมกลางแจ้งในระดับหนึ่ง แต่ hiking นี่ไม่ไหวจริงๆ เหนื่อยมาก มันไม่เหมือนกับการเดินห้างในกรุงเทพฯ นะทุกคน ภูเขามีความชัน มีหินขรุขระ และมีความขัดแย้งในธรรมชาติของตัวมันเอง แดดร้อน แต่มีลมหนาว อยู่กับกลุ่มคนพวกนี้แล้วเปิดโลกสุดๆ ได้ทำทุกอย่างที่ไม่เคยทำ ยิ่งเป็นนักเรียนสถาปัตย์ด้วยยิ่งคุยกันรู้เรื่อง

แปลกดีเหมือนกัน เมื่อก่อนไม่เชื่อเรื่องโชคชะตาเลย รู้สึกว่าเป็นเรื่องงมงาย แต่พอมาเจอเพื่อนที่ดีกับเรามากๆ เหมือนรู้จักกันมานาน ก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมถึงได้มาเจอกัน ถ้าเป็นคนไทยด้วยกันก็คงทำบุญร่วมชาติกันมาเมื่อชาติที่แล้ว แต่นี่เป็นฝรั่ง แล้วเราเคยทำร่วมกันเมื่อชาติที่แล้วจึงทำให้ได้มาเจอกันในชาตินี้? หรือเราแค่ทำปัจจุบันให้ดีสุดแล้วก็ได้เจอกัน?   

เลห์

 

มนุษย์แม่ และเด็ก

หลักจากโดนเพื่อนๆ ลากออกไปเที่ยวตลอด ก่อนกลับประเทศไทยจึงเกิดความเปรี้ยวอยากลองไปเที่ยวคนเดียวดูบ้าง เลยไปเที่ยวเทศกาลของชาวอารยันที่มีทัวร์พาชมศิลปะ

เราเดินออกจากบ้านตอนตี 5.50 พร้อมกับความกลัวและตื่นเต้น พอขึ้นรถความกลัวก็หายไปทันที เราเจอเพื่อน 2 คนที่เคยเจอกันที่เวิร์กช็อปวาดรูป คนแก่ กลุ่มวัยรุ่นชาวฝรั่งเศสและสเปน และเด็กน้อยวัยประถมอีกคนที่มาพร้อมกับคุณแม่ พอคุยกันไปสักพักจึงรู้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยกันในองค์กรที่ทำพิพิธภัณฑ์ให้กับวัดแห่งหนึ่งนอกเขตเมืองเลห์ โดยทำอาชีพแตกต่างกัน มีทั้งสถาปนิก จิตรกร บรรณาธิการหนังสือที่ปารีส วิศวกร ช่างภาพ และเด็กประถม

ชุดพื้นเมือง ชุดพื้นเมือง เด็ก

คนสองคนที่เราประทับใจมากคือคู่แม่-ลูก มูลิแยร์ และ อาเธอร์ คนแรกเป็นผู้หญิงวัยกลางประมาณสี่สิบกว่าๆ แต่หน้าเด็กและตัวเล็กจนเราคิดว่าเป็นพี่สาวของอาเธอร์ มูลิแยร์ทำงานเป็นตากล้องคอยถ่ายรูปและอัดวิดีโอระหว่างที่ทำงานออกแบบพิพิธภัณฑ์ในวัด ส่วนอาเธอร์ ลูกชายที่กำลังสนุกอยู่กับช่วงปิดเทอมบินจากลอนดอนตามมาทีหลังคนเดียว น้อง 10 ขวบ บินข้ามทวีปมาเยี่ยมคุณแม่ที่มาเป็นอาสาสมัคร แถมยังสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว จนไม่น่าเชื่อว่าเกิดและโตที่ปารีส

ระหว่างที่อยู่บนรถ ทั้งสองคนนั่งข้างกัน มูลิแยร์คอยชี้ความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติรอบตัวให้ลูกชายดู พร้อมบันทึกรูปภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ธรรมชาติที่นี่เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่สำหรับเด็กวัย 10 ขวบ ให้ได้เรียนรู้วิชาเข้าสังคม วิชาอยู่ร่วมกับธรรมชาติ วิชาภาษาที่สาม รวมถึงวิชาการขึ้นเครื่องบินคนเดียวด้วย โดยคุณแม่และเพื่อนคุณแม่เป็นคุณครู ส่วนเราวิชายังไม่แกร่งกล้าพอ เป็นเพื่อนร่วมชั้นเล่นบอร์ดเกมจากฝรั่งเศสกับน้องอาเธอร์ไปก่อน สนุกมาก

ก่อนจากกัน เราวาดรูปให้ทุกๆ คนที่ร่วมเดินทางมา พอน้องอาเธอร์เห็นแล้วก็ชอบรูปที่เราวาดมากๆ พร้อมยังบอกว่าโตขึ้นไปอยากเป็นสถาปนิกแล้วไปประเทศไทยบ้าง น้องคงไม่ได้คิดอะไร แต่เราว่ามันเป็นคำตอบที่น่ารักดี เวลาเห็นผู้ใหญ่ที่ทำอะไรเท่ๆ แล้วอยากทำตามบ้าง

 

มนุษย์สารวัตร กับการ selfie ครั้งแรก

คนสุดท้ายที่เลือกมาเขียนคือคนนี้ ถ้าถามว่าตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์นี้มาเราชอบใครมากที่สุด ก็จะตอบว่าคุณตาที่หน้าตาดูเป็นมิตรแบบงงๆ คนนี้ ลองไปอ่านเรื่องของเขากัน

รูปวาด

ระหว่างฝึกงานสำรวจบ้านเก่า เราก็ต้องสัมภาษณ์เจ้าของบ้านตัวจริง เจ้าของบ้านเราเป็นชายสูงอายุ ชื่อสารวัตรเซวัง ประวัติของบ้านที่เราไป document น่าสนใจมากๆ สมาชิกบ้านนี้คือครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับ Leh Palace และราชวงศ์ Ladakhi โดยตรง สิ่งที่คาดไม่ถึงคือ ครอบครัวนี้มีหน้าที่ ‘ป้องกันไม่ให้สุนัขเข้าไปในพระราชวัง’ และคอยดูแลแขกของราชวงศ์ก่อนที่จะเข้าไปในปราสาท

สารวัตรเซวังเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของบ้านหลังนี้ ปัจจุบัน หลังจากที่ราชวงศ์ Ladakhi ล่มสลายไปสมาชิกในบ้านก็แยกย้ายไปทำอาชีพปกติเหมือนกับที่ทุกคนทำกัน โดยสารวัตรเซวังเป็นตำรวจประจำเมืองแคชเมียร์ที่ตอนนี้เกษียณเรียบร้อยแล้ว อยู่บ้านเฉยๆ รอละครอินเดียตอนบ่ายออกอากาศ  

สารวัตรเซวังเล่าเรื่องสนุกมากๆ จากการสัมภาษณ์ปกติที่ว่าทำไมถึงอยากให้ทางเราปรับปรุงบ้านให้ จนไปถึงวีรกรรมที่ทำสมัยเป็นสารวัตรใหม่ๆ ระหว่างสัมภาษณ์มีคุณเกตโซซึ่งเป็น Project Coordinator คอยเป็นล่ามแปลภาษาให้ ทั้งแปลจากภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาอังกฤษและจากอังกฤษเป็นภาษาท้องถิ่น ทำให้การสื่อสารของเราไม่มีปัญหาอะไรเลย

วัด ถ่ายรูป

พอสัมภาษณ์เสร็จเรียบร้อย ทั้งสองคนก็คุยกันภาษาทั้งถิ่นซึ่งเราฟังไม่เข้าใจ ระหว่างนั้นเราก็เลยวาดรูปคุณสารวัตรไปเรื่อยๆ ก่อนจากกันก็เลยให้รูปเป็นที่ระลึก สารวัตรชอบมากๆ พร้อมบอกอีกว่าชีวิตนี้ไม่เคยมีใครวาดรูปให้เลย ประทับใจมากจึงขอเราถ่ายรูป ตอนแรกคิดว่าขอถ่ายรูปคู่ แต่เปล่าเลย ขอถ่ายรูปเราเดี่ยวๆ ด้วยกล้องโทรศัพท์สารวัตร จากนั้นให้เราช่วยถ่ายรูปซ้อนเข้าไปให้หน่อย ผลออกมาเป็นรูปที่สารวัตรชูโทรศัพท์มือถือแล้วมีรูปเราชู 2 นิ้วอยู่ ซึ่งมันน่ารักมากๆ สำหรับคนอายุเท่านี้ อยากมีรูปคู่ แต่ก็ไม่อยากรบกวนคนอื่นถ่ายก็เลยถ่ายซ้อนเขาไป แต่สุดท้ายเราก็สอนสารวัตร selfie เรียบร้อย แกติดใจมาก ถ่ายไม่หยุดเลย เราเลยได้รูป selfie คู่กัน 2 รูป รูปแรกอยู่ในเครื่องสารวัตร อีกรูปหนึ่งอยู่ในโทรศัพท์เรา       

ไม่น่าเชื่อว่าโปรเจกต์วาดรูปให้ทุกคนที่รู้จักในเลห์, ลาดักห์ ช่วงระหว่างฝึกงานของเรา จะทำให้เรารู้จักความสุขของการเป็น ‘ผู้ให้’ แม้จะไม่ได้ใช้เงินมากมายซื้อหา และมันก็มีคุณค่ากับผู้รับมากมายอย่างที่เราคาดไม่ถึง

โปสการ์ด

ประสบการณ์ช่วงปิดเทอมปี 3 ขึ้นปี4 ของเราครั้งนี้เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเราเลย ไม่น่าเชื่อเลยว่าจากคนที่ชอบอยู่บ้าน ติดบ้าน ขี้อาย ไม่รู้จะเริ่มคุยกับคนที่ไม่รู้จักยังไงก่อน จะกลายมาเป็นคนที่อยากออกไปเห็นโลกภายนอก ไปเปิดประสบการณ์ใหม่ ถ้าย้อนกลับไปบอกตัวเองก่อนที่จะสมัครฝึกงานที่นี้จะบอกว่า ให้พกสมุดสเกตช์ไปอีกหลายๆ เล่ม เพราะมีความทรงจำมากมายให้บันทึก ผู้คนมากมายให้เราวาด
แล้วเจอกันโปรเจกต์หน้า เมื่อเราได้ไปต่างประเทศนานๆ อีก

บทความนี้เป็น Travelogue ที่ชนะรางวัลกระเป๋าจาก Moleskine สีดำ สำหรับการประกวดเดือนธันวาคม-มกราคม

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีสมุดบันทึก limited edition จาก The Cloud ส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปุณณ์ พจนาเกษม

เป็นคนติดบ้าน ชอบสีเหลืองอ่อน และขี้อาย