รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่เราอยากไปมากๆ ตั้งแต่เด็ก ถึงแม้ความรู้รอบตัวที่มีจะห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่บ้าง เรื่องสงครามหรือสถานการณ์บ้านเมืองนั้นไม่เคยอยู่ในความสนใจของเราเลย รู้แต่ว่าประเทศนี้คือต้นกำเนิดของกล้องฟิล์มโลโม่และการ์ตูนเจ้าหญิง Anastasia

น่าแปลกที่การ์ตูนเรื่องหนึ่งสามารถดึงความสนใจของเราไว้ได้นานขนาดนี้ แถมยังจุดประกายให้ในวัยที่โตขึ้นกลับมาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม สิ่งหนึ่งที่เราสนใจมากเป็นพิเศษ คือธรรมเนียมการมอบของขวัญในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ที่ส่งต่อกันมาในราชสำนัก เรากำลังพูดถึงงานหัตถศิลป์อันโด่งดัง Fabergé Imperial Easter Eggs หรือไข่ฟาบาร์เช่

ในที่สุดเมื่อเราได้เดินทางมาถึงประเทศรัสเซีย บ้านเกิดเมืองนอนของไข่ฟาบาร์เช่ จึงไม่พลาดที่จะต้องขอไปเยือนพิพิธภัณฑ์ Fabergé Museum สถานที่เก็บรวบรวมไข่ฟาบาร์เช่ไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

Fabergé Imperial Easter Eggs Fabergé Museum

Fabergé Museum ตั้งอยู่ที่ Shuvalov Palace ริมแม่น้ำ Fontanka ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ภายในแบ่งเป็นห้องหับต่างๆ ขนาดใหญ่โตสมกับที่เคยเป็นวังมาก่อน แต่ละห้องตั้งชื่อตามสีสันและการตกแต่ง ทั้ง Red Room, Beige Room หรือ Gold Room แต่ห้องที่เป็นไฮไลท์และเห็นเป็นห้องแรกเมื่อเดินขึ้นจากโถงบันไดกลางคือ Blue Room ซึ่งเป็นห้องจัดแสดง Imperial Easter Eggs จำนวน 9 ใบที่ฟาบาร์เช่สร้างถวายราชวงศ์โรมานอฟ

Fabergé Museum

ประวัติโดยย่อของไข่ฟาบาร์เช่นั้นมีจุดเริ่มต้นในเทศกาลอีสเตอร์ปีหนึ่ง ในรัชสมัยของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 เมื่อพระองค์ต้องการมอบของขวัญชิ้นพิเศษให้กับสมเด็จพระราชินีซาริน่ามาเรีย ฟีโอโดรอฟน่า จึงได้รับสั่งให้ห้างทอง Fabergé ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กขณะนั้น ออกแบบและจัดทำของขวัญโดยไม่เกี่ยงราคา แต่ต้องมีคุณค่าคู่ควรกับสมเด็จพระราชินี

ไข่ฟาบาร์เช่ฟองแรกได้แรงบันดาลใจมาจากกล่องใส่เครื่องประดับในวัยเยาว์ของซาริน่ามาเรีย ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงเหมือนไข่ ฟาบาร์เช่ได้ดึงสัญลักษณ์ดังกล่าวมาใช้โดยซ่อนแม่ไก่ทองคำไว้ให้ถูกพบเมื่อเปิดออก นอกจากจะเป็น surprise แล้ว แม่ไก่ยังทำหน้าที่เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บเครื่องประดับได้อีกด้วย

ไข่ฟาบาร์เช่ ไข่ฟาบาร์เช่

ยิ่งซาริน่ามาเรียโปรดของขวัญชิ้นนี้มาก ยิ่งสร้างความสำราญพระทัยให้กับพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 เป็นอย่างยิ่ง จนมีรับสั่งให้ฟาบาร์เช่ผลิตไข่ต่อไปในทุกๆ ปี โดยไข่ใบแรกนี้ได้ชื่อว่า Hen Egg หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The First Imperial Egg (สร้างขึ้นในปี 1885) เนื่องจากเป็นไข่ใบแรกในจำนวนทั้งหมดกว่า 50 ใบที่ฟาบาร์เช่ได้สร้างถวายราชวงศ์โรมานอฟ

นอกเหนือจากคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ มูลค่าที่ประเมินราคาไม่ได้ ไข่ฟาบาร์เช่แต่ละใบยังทำหน้าที่เสมือนแคปซูลเวลาที่เก็บรักษาเรื่องราวในอดีต และยังเป็นสัญลักษณ์ที่บันทึกหน้าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศรัสเซียในช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้เป็นอย่างดี Resurrection Egg Renaissance Egg

ในจำนวนไข่กว่า 50 ใบนั้น ฟาบาร์เช่มักหยิบเรื่องราวความสัมพันธ์ในราชวงศ์มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเสมอ หากแต่บางชิ้นก็มีการใช้เรื่องราวทางคริสต์ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากประเทศรัสเซียนั้นมีศาสนาประจำชาติที่แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในยุโรปนั่นคือ รัสเซียนออร์โธด็อกซ์

ไข่ Resurrection Egg (1885-1889) นับเป็นไข่ไม่กี่ใบของฟาบาร์เช่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา แถมยังมีความพิเศษตรงที่มีการคาดเดาว่า Resurrection Egg ที่พูดถึงการคืนชีพของพระเยซูนี้อาจเป็น surprise ที่ซ่อนอยู่ด้านในไข่ Renaissance Egg (1894) เนื่องจากมีขนาดที่พอดี มีลวดลายและสีสันใกล้เคียงกัน และที่สำคัญไม่พบการบันทึกหรือหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า surprise ด้านในของไข่ Renaissance คือสิ่งใด ทำให้ทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้สูง ซึ่งทาง Fabergé Museum เองก็ได้จัดแสดงไข่ทั้งสองใบไว้ในตู้เดียวกันด้วย

Rosebud Egg

surprise ในไข่ถือเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของ Imperial Egg ที่ฟาบาร์เช่ต้องทำการบ้านทุกปี เพื่อเพิ่มความพิเศษให้กับไข่แต่ละใบ และเพื่อสร้างความสุขส่วนพระองค์ให้กับสมาชิกในราชวงศ์ จนกระทั่งพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 3 สวรรคตกะทันหัน ทำให้ซาเรวิสนิโคลัสมกุฎราชกุมารในขณะนั้น ก้าวขึ้นมาสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา ดำรงตำแหน่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 โดยพระองค์ยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมการมอบไข่ในเทศกาลอีสเตอร์ต่อไปในทุกๆ ปี โดยรับสั่งเพิ่มเติมจากปีละ 1 ใบสำหรับพระมารดา เป็น 2 ใบเพื่อมอบให้กับสมเด็จพระราชินีพระองค์ใหม่ ซาริน่าอเล็กซานดร้า ฟีโอโดรอฟน่า

Rosebud Egg

ภายหลังการขึ้นครองราชย์ Rosebud Egg (1895) คือไข่ฟาบาร์เช่ใบแรกที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 มอบให้กับซาริน่าอเล็กซานดร้า มี surprise ด้านในเป็นดอกกุหลาบตูมลงยาสีเหลือง ที่นอกจากจะสื่อถึงการเบ่งบานในความรักระหว่างสองพระองค์แล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้นใหม่ในหลายๆ โอกาส ทั้งการเริ่มต้นรัชสมัยใหม่ และการขึ้นครองราชย์ของซาร์และซาริน่าพระองค์ใหม่แห่งจักรวรรดิรัสเซีย

การขึ้นครองราชย์เป็นเรื่องใหญ่ของบรรดาประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ทั้งหลาย เนื่องจากมิได้มีกำหนดระยะเวลาเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีผู้ปกครองมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะดำรงอยู่ในตำแหน่งครั้งละ 4 หรือ 6 ปีเท่านั้น พิธีกรรมและการเฉลิมฉลองต่างๆ มักจะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เพื่อให้สมพระเกียรติประมุขของแผ่นดิน ประเทศรัสเซียเองก็เช่นกัน ในการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ครั้งนั้นใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงเต็ม และมีการยิงปืนสลุตเฉลิมฉลองถึง 101 นัด The Coronation Egg The Coronation Egg The Coronation Egg

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ฟาบาร์เช่รังสรรค์ The Coronation Egg (1897) ขึ้น เพื่อระลึกถึงช่วงเวลาสำคัญดังกล่าว โดยออกแบบให้ surprise ด้านในเป็นรถม้าพระที่นั่งทองคำ ที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และซาริน่าอเล็กซานดร้าประทับและเสด็จพระราชดำเนินไปในวันนั้น ชิ้นงานมีขนาดเล็กจิ๋ว แต่ตกแต่งด้วยรายละเอียดที่ละเมียดงดงามเหมือนของจริงทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนขั้นบันได ผนังบุด้านในตัวรถ หรือกระทั่งผ้าม่านริมหน้าต่าง สิ่งเหล่านี้ถูกเนรมิตขึ้นด้วยฝีมือของช่างผู้เชี่ยวชาญจากห้างทองฟาบาร์เช่

ขั้นตอนการออกแบบไข่แต่ละใบเป็นความท้าทายของฟาบาร์เช่ นอกจากต้องทำงานแข่งกับเวลาเพราะต้องจัดเตรียมให้ทันก่อนช่วงอีสเตอร์ทุกๆ ปี ฟาบาร์เช่ได้ทดลองใช้วัสดุและเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ก่อให้เกิดเอกลักษณ์และลายเส้นที่เป็นเสน่ห์เฉพาะตัว

Lilies of the Valley Egg

ในปีถัดมา ฟาบาร์เช่ได้ถวาย Lilies of the Valley Egg (1898) แก่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไข่ใบนี้ใช้ลวดลายที่พลิ้วไหวและรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติแบบ Art Nouveau ในการออกแบบ ซึ่งแสดงความเชี่ยวชาญในการจัดทำอย่างมาก เพราะการจัดการกับวัสดุมีค่าอย่างโลหะทองคำไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะถ่ายทอดให้อยู่ในรูปแบบที่อ่อนโยนเช่นนี้

surprise ของ Lilies of the Valley Egg อยู่ที่ด้านบนไข่ เมื่อดึงขึ้นมาแล้วจะปรากฏภาพเขียนเสมือนจริงของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยพระธิดา 2 พระองค์ ได้แก่ เจ้าหญิงโอลก้าและเจ้าหญิงทาเทียน่าในวัยเยาว์

Lilies of the Valley Egg

นอกเหนือจากกลไกพื้นฐานอย่างการเปิดปิดไข่ หรือการขยับชิ้นส่วนบางอย่างเพื่อให้เจอ surprise แล้วนั้น ไม่นานฟาบาร์เช่ก็พัฒนาฝีมือขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการคิดค้นกลไกที่ทำให้บางชิ้นส่วนขยับและเคลื่อนไหวได้ แถมยังใส่ประโยชน์การใช้สอยอย่างนาฬิกาเข้าไป เป็นการเพิ่มคุณค่าทั้งในแง่ความงดงามของตัวชิ้นงานและองค์ความรู้ทางหัตถศิลป์ที่ประเมินมูลค่าไม่ได้อีกด้วย

Cockerel (1900) คือไข่ใบที่รวมทุกอย่างที่กล่าวไปไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสีสันหรือรายละเอียดยิบย่อย โดยมี surprise ที่พิเศษกว่าไข่ใบอื่นๆ ตรงที่นอกจากจะสามารถใช้เป็นนาฬิกาตั้งโต๊ะได้แล้ว ยังซ่อนกลไกที่ทำให้นกตัวเล็กๆ ออกมาเคลื่อนไหวได้เมื่อเปิดด้านบนของไข่ออก ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟาบาร์เช่นั้นเป็นอัจฉริยะทางด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ทั้งยังกล้าทดลองแนวความคิดและเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นความไว้วางใจจากราชวงศ์โรมานอฟและเหล่าลูกค้าชั้นสูงจากทั่วโลก

Cockerel Cockerel Cockerel

ช่วงปี 1900 นี้นับเป็นยุครุ่งเรืองของฟาบาร์เช่ เนื่องจากเริ่มมีชื่อเสียงในวงกว้างจากการที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้เลือกให้ห้างทองของฟาบาร์เช่ เป็นตัวแทนจากประเทศรัสเซียในการแสดงงาน Expo ประจำปี 1900 ที่กรุงปารีส เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นประตูที่เปิดให้ทั่วโลกได้รู้จักกับเครื่องประดับของฟาบาร์เช่ และรสนิยมทางศิลปะหลังม่านหิมะของประเทศรัสเซีย

แม้จะมีลูกค้าผู้มั่งคั่งมากมายจากทั่วโลก แต่ลูกค้าคนสำคัญที่สุดยังคงเป็นราชวงศ์โรมานอฟเสมอ พระเจ้าซาร์เองมีรับสั่งถึงฟาบาร์เช่อยู่ไม่ขาด ไม่เพียงแต่ Imperial Easter Egg เท่านั้น พระองค์ยังประสงค์ของขวัญชิ้นสำคัญเพื่อมอบให้กับบรรดาพระราชอาคันตุกะและเหล่าข้าราชบริพาร ทำให้งานของฟาบาร์เช่มิได้จำกัดอยู่เพียงเครื่องประดับเท่านั้น หากแต่ยังอยู่ในรูปแบบของของที่ระลึก ของตกแต่งบ้าน ไปจนถึงอุปกรณ์ใช้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวัน

Anniversary Egg

ในโอกาสที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ครองราชย์ครบ 15 ปี ฟาบาร์เช่ได้รังสรรค์ไข่ใบพิเศษ Fifteenth Anniversary Egg (1911) ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาสำคัญนี้ไปพร้อมๆ กับเหล่าราชวงศ์ เพราะไข่ใบนี้เปรียบเสมือนอัลบั้มรวมภาพส่วนพระองค์ โดยรอบเปลือกไข่ปรากฏภาพเหตุการณ์สำคัญต่างๆ นับตั้งแต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ขึ้นครองราชย์ สถานที่ที่มีความหมายกับครอบครัว และภาพเขียนเสมือนจริงของเหล่าเชื้อพระวงศ์ ทั้งซาริน่าอเล็กซานดร้า เจ้าหญิงโอลก้า เจ้าหญิงทาเทียน่า เจ้าหญิงมาเรีย เจ้าหญิงอนาสตาเซีย และมกุฎราชกุมารองค์สุดท้ายของรัสเซีย เจ้าชายอเล็กเซ

ฟาบาร์เช่ให้เหตุผลว่าเหตุใดไข่ใบนี้จึงไม่มี surprise ด้านใน เพราะว่าด้านนอกเปลือกไข่ที่ปรากฏภาพทั้งหมดนั้นคือ surprise ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

Anniversary Egg Anniversary Egg

นอกจาก Fifteenth Anniversary Egg ที่มอบให้กับซาริน่าอเล็กซานดร้าในปี 1911 แล้ว ทาง Fabergé Museum แห่งนี้ยังจัดแสดงไข่อีกใบที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปีเดียวกัน ตามธรรมเนียมที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สืบทอดมาจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 3 พระราชบิดา ไข่ฟาบาร์เช่ที่พระองค์มอบให้กับพระมารดาในปีเดียวกันนี้คือ Bay Tree Egg (1911)

Bay Tree Egg Bay Tree Egg

อย่างไรก็ตามสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้เริ่มไม่สู้ดีนัก สาเหตุหลักเกิดจากการเข้ามาวุ่นวายในราชสำนักของรัสปูติน ซึ่งแต่เดิมเข้ามีบทบาทในฐานะหมอรักษาโรคของเจ้าชายอเล็กเซ ด้วยพระองค์ทรงป่วยเป็นโรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งมีภาวะของการเลือดไหลไม่หยุด สร้างความกังวลใจให้กับพระมารดาซาริน่าอเล็กซานดร้ายิ่งนัก แต่เมื่อรัสปูตินสามารถช่วยบรรเทาอาการของเจ้าชายน้อยให้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซาริน่าอเล็กซานดร้าจึงมอบความไว้วางใจและสิทธิพิเศษมากมายให้ นำมาซึ่งความไม่พอใจของใครหลายคนในราชสำนัก

ประกอบกับเมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามโลก รัสเซียในขณะนั้นเป็นประเทศมหาอำนาจ ด้วยมีพื้นที่และประชากรมากที่สุดโลก แต่หลายครั้งรัสเซียกลับพ่ายแพ้ต่อประเทศเล็กๆ อย่างญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนเริ่มกังขาความสามารถของผู้นำประเทศ ยิ่งเป็นช่วงข้าวยากหมากแพง แต่บรรดาเชื้อพระวงศ์ยังคงใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย และมีความเป็นอยู่อย่างหรูหรา ทำให้ประชาชนไม่พอใจในการปกครองระบอบกษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ

Order of St. George Egg

ระหว่างช่วงสงครามโลก พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และเจ้าชายอเล็กเซต่างเข้าร่วมรบในกองหน้า อันเป็นที่มาของไข่ฟาบาร์เช่ใบสุดท้ายใน Fabergé Museum แห่งนี้ 

Order of St. George Egg (1916) มีความพิเศษในหลายๆ ด้าน ข้อแรกคือ แทนที่จะถูกผลิตด้วยวัสดุมีค่าอย่างเคย Order of St. George Egg กลับใช้โลหะราคาถูกและตกแต่งด้วยวิธีการลงยาสีเท่านั้น เนื่องจากอยู่ในช่วงสงครามจึงไม่สามารถใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยได้ ข้อสอง Order of St. George Egg เป็นไข่ Fabergé Imperial Easter Eggs ใบสุดท้ายที่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ได้มอบให้กับพระมารดา ก่อนที่จะเกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝันขึ้นในปี 1917

surprise ของไข่ใบนี้มีหน้าต่าง 2 บานอยู่ตรงข้ามกันที่สามารถเปิดปิดได้ ด้านในปรากฏภาพเหมือนของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 และซาเรวิซอเล็กเซ โดยชื่อ Order of St. George คือยศทางทหารที่พระองค์ได้รับ ไข่ใบนี้จึงเปรียบเสมือนของดูต่างหน้าที่มอบให้กับพระมารดา เก็บรักษาไว้ยามห่างไกลเมื่อพระราชโอรสต้องออกไปทำศึกสงคราม

Order of St. George Egg

ท้ายที่สุด เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ไม่สามารถจัดการปัญหาทั้งหมดได้ พระองค์จึงถูกรัฐบาลเฉพาะกาลยึดอำนาจและถอดออกจากพระอิสริยยศ ก่อนจะถูกสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหดพร้อมสมาชิกทุกพระองค์ในราชวงศ์และเหล่าข้าราชบริพารผู้ภักดี เป็นการปิดฉากราชวงศ์โรมานอฟผู้ปกครองจักรวรรดิรัสเซียมายาวนานกว่า 300 ปี ซึ่งหากนับจากวันนั้น ในปี 2017 นี้เป็นการครบรอบ 100 ปีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศรัสเซีย และยังเป็นการครบรอบ 20 ปีของการ์ตูนเรื่อง Anastasia ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จัก Fabergé Imperial Easter Eggs จนถึงขั้นออกเดินทางไปประเทศรัสเซียอีกด้วย

แม้ความรุ่งเรืองของราชวงศ์โรมานอฟจะกลายเป็นเพียงภาพจำในอดีต แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์และความรุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากวันนั้น ได้ถูกถ่ายทอดและส่งต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบัน Fabergé Imperial Easter Eggs กลายเป็นของหายากที่มีมูลค่ามหาศาล แม้บางชิ้นอาจสูญหายไปตามกาลเวลา แต่เรื่องราวที่เป็นดั่งนิยาย รายละเอียดที่แสนพิถีพิถัน และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของรัสเซีย ทำให้ผลงานของฟาบาร์เช่ยังคงอยู่และทำให้ใครหลายคนหลงใหลได้อยู่เสมอ แม้จะผ่านเวลามาร่วมร้อยปีแล้วก็ตาม

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ไพลิน ศิริพานิช

อดีตทำงานพิพิธภัณฑ์ ปัจจุบันสอนหนังสือ สนใจงานวัฒนธรรม ชอบภาษา และกำลังหัดถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม