23 ธันวาคม 2017
2 K

ถ้ามีตั๋วเครื่องบินไปที่ไหนก็ได้ในฝรั่งเศส จะเลือกไปที่ไหน

สำหรับฉันที่อยากพิชิตกลิ่นเมืองน้ำหอม มีคำตอบอยู่ 2 ตัวเลือก คือ เมือง Grasse (กราสส์) และ Paris

กราสส์เป็นเมืองหลวงแห่งน้ำหอมของโลก อยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ส่วนเมืองหลวงของฝรั่งเศสอย่างปารีสก็บรรจุความรู้และผลผลิตน้ำหอมไว้มากมาย

การเดินทางไปตามรอยกลิ่นทั้งสองเมืองทำได้ไม่ยาก แค่นั่งเครื่องบิน Qatar Airways ไฟลต์กรุงเทพฯ-นีซ ไปลงสนามบิน Nice Côte d’Azur แล้วต่อรถไฟไปกราสส์ ส่วนไฟลต์กรุงเทพฯ-ปารีส กาตาร์แอร์เวย์ส์ก็มีไฟลต์บินวันละหลายรอบ ชั้น Business Class นี่ดีงามมากจนรู้สึกว่าชีวิตโรยด้วยกลีบกุหลาบ หอมฟุ้งจรุงใจตั้งแต่ออกเดินทาง (ตรวจสอบเส้นทางการบินและราคาได้ที่นี่) หรือถ้าจะเดินทางตามเส้นทางความหอมไปทั้ง 2 เมือง รถไฟความเร็วสูง TGV ก็เชื่อมทั้งสองเมืองไว้ด้วยระยะเวลาเพียง 5 ชั่วโมงเศษๆ

เครื่องบิน

ทีวี

ด้วยเวลาจำกัด ฉันตัดสินใจไปดมกลิ่นปารีส

เช้าวันที่แดดแจ่มจ้า อากาศเป็นใจ ฉันก้าวขาไปสูดกลิ่นที่พิพิธภัณฑ์ Fragonard Perfume Museum มิวเซียมเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่หลังร้านน้ำหอมสีทองหรูหราของแบรนด์ชื่อเดียวกัน

ร้าน

พิพิธภัณฑ์

Fragonard (ฟราโกนาร์ด) เป็นหนึ่งในแบรนด์น้ำหอมที่เก่าแก่ที่สุดในฝรั่งเศส มีต้นกำเนิดที่เมืองกราสส์ มีอายุเกือบ 100 ปี และปัจจุบันยังเป็นกิจการของครอบครัวที่ก่อตั้ง น้ำหอมและเครื่องประทินผิวของฟราโกนาร์ดมีชื่อเสียงในหมู่คนเล่นเครื่องหอม แต่หาซื้อไม่ได้ง่ายๆ นอกประเทศ การทำมิวเซียมดีๆ ฟรีให้คนทั่วไปเข้าชมข้างร้านสาขาปารีสเป็นวิธีที่ทำให้แบรนด์มีคุณค่า น่ารู้จักและน่าช้อปขึ้นมาเป็นกอง

นิทรรศการฟรีที่นี่เล่าเรื่องกลิ่นอย่างสวยและสนุก โดยไกด์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำหอมพาผู้ชมเดินเป็นกลุ่มๆ แบ่งเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส นอกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังมีเยาวชนมาทัศนศึกษา และคนฝรั่งเศสที่สนใจเรื่องกลิ่นมาเยี่ยมที่นี่อยู่เนืองๆ

แค่ตัวสถานที่ก็น่าตื่นเต้นแล้ว ก่อนเข้าไปชมกระบวนการทำน้ำหอม มัคคุเทศก์สาวเล่าว่า ตึกส่วนใหญ่ในปารีสเป็นตึกเก่า อาคารนี้เคยเป็นโรงละคร ที่สอนขี่จักรยาน ร้านขายเฟอร์นิเจอร์ที่เปิดมานานร้อยกว่าปี ก่อนจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์น้ำหอมในท้ายที่สุด โครงสร้างที่นี่จึงมีร่องรอยของหลายยุคสมัยปะติดปะต่อกัน

รูปภาพ

พิพิธภัณฑ์

ภายในมิวเซียมจัดแสดงตู้วัตถุดิบและอุปกรณ์สำหรับผลิตน้ำหอมตั้งแต่ยุคโบราณ เช่น โหลแก้ว ถ้วยตวงเก่า อำพันทะเล (อ้วกปลาวาฬ) ชะมดเช็ด ไปจนถึงดอกไม้ต้นไม้สร้างกลิ่นหอมนำเข้าจากประเทศต่างๆ และยังจัดแสดงวิธีการผลิตน้ำหอมแบบศตวรรษที่ 20 ตั้งแต่เก็บดอกไม้ ไปจนถึงการกลั่นวัตถุดิบในหม้อใหญ่เพื่อทำหัวน้ำหอม

นิทรรศการ

กลีบดอกไม้

หม้อ

จุดที่ฉันชอบที่สุดห้องทดสอบจมูก เหมือนนักดนตรีที่รู้จักทำนอง เหมือนเชฟที่เข้าใจรสชาติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกลิ่นทุกคนจะต้องจดจำกลิ่นหลายพันกลิ่นที่มีโน้ตของตัวเอง ขวดหัวน้ำหอมหลายสิบขวดที่เรียงรายนี้แบ่งหลักๆ ได้เป็น 3 ประเภท คือ Top Notes กลิ่นแรกที่ได้กลิ่นเมื่อสูดดม มักจะเป็นกลิ่นสดชื่นของดอกไม้ Middle Notes กลิ่นที่สองที่ตามมามักเป็นกลิ่นดอกไม้หรือสมุนไพรบางอย่าง และ Base Notes กลิ่นสุดท้ายของน้ำหอม มักสกัดได้จากไม้ เครื่องเทศ หรือน้ำมันสัตว์ Perfumer หรือนักปรุงน้ำหอมต้องเข้าใจหลักการผสมผสานและสร้างกลิ่นขึ้นมา เหมือนนักดนตรีที่จับโน้ตมาร้องเรียงเป็นเพลงของตัวเอง

ขวด

ต่อจากการดมก็เป็นการดู มิวเซียมนี้จัดแสดงขวดน้ำหอมและอุปกรณ์ใส่ของหอมจำนวนมาก เพราะ Jean-François Costa พ่อของสามสาวพี่น้องผู้บริหาร Fragonard รุ่นปัจจุบันเป็นนักสะสมตัวยง ฉันเลยได้เห็นแจกันเมโสโปเตเมีย เซรามิกกรีก ตลับขี้ผึ้งสำหรับห้อยเข็มขัด จี้ห้อยคอและแหวนใส่น้ำหอม พร้อมกับขวดทรงพิสดารอีกมากมาย ใครจะรู้ว่าดีไซน์ขวดน้ำหอมนี่เปรี้ยวมาตั้งแต่พันปีที่แล้ว แถมที่นี่ยังจัดแสดงกล่องบรรจุภัณฑ์ที่แสดงยี่ห้อแบรนด์ต่างๆ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 กราฟิกโบราณนี่ก็สวยงามใช่ย่อย อาจเพราะน้ำหอมเป็นสินค้ารุ่มรวยรื่นรมย์ การออกแบบที่เกี่ยวข้องจึงต้องเจริญตาเจริญใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรับรู้ทางจมูก ไม่น่าแปลกใจที่รูปลักษณ์สวยๆ เหล่านี้เพิ่มมูลค่าให้น้ำหอมราคาแพงขึ้นด้วย

แจกัน

เซรามิก

ขวดน้ำหอม

พิพิธภัณฑ์

จบเรื่องประวัติศาสตร์น้ำหอมก็เข้าสู่เรื่องแบรนด์ฟราโกนาร์ด ชื่อนี้ไม่ใช่นามสกุลตระกูลผู้ก่อตั้ง แต่เป็นนามสกุลของจิตรกรชื่อดังในยุคศตวรรษที่ 18 Jean-Honoré Fragonard ซึ่งเป็นชาวเมืองกราสส์ Eugène Fuchs ผู้ก่อตั้งเลือกใช้ชื่อของเขาเพื่อสื่อถึงการอุทิศให้กับเมืองกราสส์และศาสตร์การปรุงน้ำหอมแบบดั้งเดิม เอกลักษณ์ของแบรนด์คือขวดสีทองเรียบง่าย ในห้องนี้จะมี blind test กลิ่นให้เราดมและทายต้นตอกลิ่นหอมกันให้สนุก

ไกด์สาวเล่าว่า ถ้าอยากเรียนเวิร์กช็อปทำน้ำหอมอย่างจริงจัง พิพิธภัณฑ์นี้เปิดสอนทำโคโลญจน์สัปดาห์ละครั้งทุกวันเสาร์ โดยนักเรียนจะได้เลืิอกผสมกลิ่นด้วยตัวเองด้วยนะ

เครือญาติ

นิทรรศการ

นิทรรศการ

น้ำหอม

สุดท้ายมัคคุเทศก์พาเราเข้าห้องขายของที่ระลึก ซึ่งก็คือร้านขายน้ำหอมของฟราโกนาร์ด ลีลาการขายของที่นี่เก๋มาก คือให้เราดมกลิ่นหลักๆ ของแบรนด์แล้วเดาว่ามีดอกไม้อะไรอยู่ในนั้นบ้าง โอ้โห ไม่ง่าย ดมไปเดาไปก็อยากเสียทรัพย์ อยากได้กลิ่นชื่ออลังการอย่าง Etoile (ดวงดาว), Ile d’amour (เกาะแห่งความรัก) หรือ Reine des cœurs (ราชินีแห่งหัวใจ) มาครอบครอง

ร้านน้ำหอม

ร้านน้ำหอม

เครื่องหอม

เมื่อเดินออกจากมิวเซียม ขวดน้ำหอมสีทองเล็กๆ นอนนิ่งอยู่ในถุงช้อปปิ้ง จมูกฉันสูญเสียความสามารถในการดมไปชั่วคราวหลังจากสูดสารพัดกลิ่น มะลิ กุหลาบ ซิตรัส ไม้จันทน์ และดอกไม้นานา แข่งกันสร้างความหวานอบอวลทั่วสมอง

ปารีสของคนอื่นอาจมีหอไอเฟล ประตูชัย หรือถนนฌ็องเซลีเซ่เป็นส่วนประกอบ แต่ปารีสในความทรงจำของฉันน่ะหอมฟุ้งเป็นบ้าเลย

เข้าไปดูรายละเอียดพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่นี่

ขวด

ภาพ: ภัทรียา พัวพงศกร, Fragonard Perfume Museum

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง