22 มิถุนายน 2017
14 K

เด็กๆ เมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้วจนถึงเยาวชนยุคนี้อาจเคยอ่านหรือได้ยินเรื่องราวของ ‘โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง’ เด็กหญิงชาวญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตสนุกสนานในโรงเรียนประถมโทโมเอ ในห้องเรียนตู้รถไฟมีการเรียนการสอนไม่เหมือนใคร มีครูใหญ่แสนวิเศษ และมีมื้อกลางวันเป็นอาหารจากทะเลและอาหารจากภูเขา

คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ผู้ประพันธ์ เล่าเรื่องเด็กน้อยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สนุกกินใจคนทั่วโลก สาเหตุหนึ่งที่วรรณกรรมเรื่องนี้ประสบความสำเร็จมหาศาล เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแต่ง แต่เท็ตสึโกะถ่ายทอดชีวิตวัยเด็กของตัวเองออกมาจริงๆ

เที่ยวญี่ปุ่นตามรอยโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

ผุสดี นาวาวิจิต เดินทางไปพูดคุยกับเท็ตสึโกะที่ญี่ปุ่นก่อนแปล โต๊ะโต๊ะจังฯ เป็นภาษาไทยใน พ.ศ. 2527 หนังสือเรื่องนี้เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย แต่ภารกิจของนักแปลไม่ได้จบลงแค่นั้น เมื่อสามสิบกว่าปีต่อมา สำนักพิมพ์ผีเสื้อตัดสินใจจัดพิมพ์ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นหนังสือภาพ โดยประกอบเรื่องราวดั้งเดิมกับรูปสีน้ำอ่อนโยนของอิวาซากิ ชิฮิโระ ศิลปินผู้ล่วงลับก่อนเท็ตสึโกะเริ่มเขียนหนังสือ แต่ภาพเหล่านั้นช่างเหมาะกับเรื่องราวเหมือนถูกวาดขึ้นสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ

นักแปลภาษาญี่ปุ่นจึงต้องเดินทางไป Chihiro Art Museum ที่เมือง Azumino เพื่อเจรจาเรื่อง โต๊ะโตะจังฯ เล่มใหม่ แม้เรื่องราวระบุว่าเกิดที่โตเกียว แต่ปัจจุบันสถานที่ต่างๆ ในเรื่องเปลี่ยนสภาพไปหมดแล้ว ผุสดีจึงกลับเข้าไปในโลกของเด็กหญิงข้างหน้าต่างอีกครั้งในชนบท

โรงเรียนรถไฟ

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

“พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระแห่งแรกถูกสร้างขึ้นที่โตเกียวเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือภาพแห่งแรกของญี่ปุ่น 20 ปีต่อมาพิพิธภัณฑ์นี้จึงสร้างขึ้นที่เมืองอะสุมิโนะ พิพิธภัณฑ์ที่ 2 เกิดขึ้นเพราะตำบลมัตสึคาวามุระนี้ไม่ค่อยมีอะไรดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นเมืองเกษตรธรรมดาที่เชิงเขาแอลป์ญี่ปุ่น มีเพียงแอปเปิ้ลเป็นของขึ้นชื่อ ทาง อบต. เลยชวนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์ชิฮิโระมาเปิดพิพิธภัณฑ์ย่อยที่นี่ ซึ่งบังเอิญว่าเป็นเมืองที่พ่อแม่ของคุณชิฮิโระมาทำเกษตรช่วงหลังสงครามพอดี

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

“พิพิธภัณฑ์มีผลงานของคุณชิฮิโระเยอะมาก มีนิทรรศการและห้องทำงานจำลอง แต่ที่นี่น่าสนใจทัั้งตัวอาคาร เนื่องจากรอบๆ เป็นเทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่น สถาปนิกเลยออกแบบหลังคาให้เข้ากับลักษณะภูเขา ความพิเศษของพิพิธภัณฑ์คือเข้าไปแล้วไม่ต้องดูภาพก็ยังได้ แค่ดูสถาปัตยกรรมไม้และบรรยากาศก็ชอบแล้ว มีการจัดเก้าอี้ให้นั่งตามมุมต่างๆ ได้ทั้งวัน จะนั่งเขียนรูปหรือร่วมกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากนิทรรศการก็ได้ วันเสาร์-อาทิตย์จะมีอาสาของ อบต. มาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ทั้งหนังสือ โต๊ะโตะจังฯ ไปจนถึงหนังสืออื่นๆ เราเดินเข้าเดินออกพิพิธภัณฑ์ได้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ค่าผ่านประตูของผู้ใหญ่ 800 เยน ส่วนเด็กเล็กถึงเด็ก ม.ปลาย ไม่เสียค่าผ่านประตู เพราะเขาให้ความสำคัญกับการศึกษาศิลปะและนักเรียนมาก พอไม่เสียเงินก็สามารถมากี่ครั้งก็ได้ ตลอด 40 ปีที่ผ่านมามีคนเข้ามาชมแล้วกว่า 60 ล้านคน”

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

นอกจากภาพวาดนุ่มนวลที่ให้บรรยากาศเก่าๆ ของเด็กยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ปีที่แล้ว อบต. เมืองอะสุมิโนะได้รับบริจาคตู้รถไฟเก่าจากบริษัทรถไฟของจังหวัดนางาโนะมา 2 ตู้ เลยแบ่งพื้นที่สวนสาธารณะข้างพิพิธภัณฑ์มาทำเป็นโต๊ะโตะจังสแควร์ ใช้ตู้รถไฟเป็นห้องเรียนจำลองของโต๊ะโตะจัง ตู้หนึ่งเป็นห้องเรียน ส่วนอีกตู้เป็นห้องสมุด มีโต๊ะเก้าอี้สั่งทำพิเศษจากโรงเรียนช่างไม้ ของใช้ต่างๆ ในห้องเรียน เช่น ลูกคิด กระติกน้ำ กระดานชนวน เป้ ก็เป็นของจากยุคนั้นจริงๆ โดยที่นี่จะจัดกิจกรรมต่างๆ ให้เด็กตลอดปี ยกเว้นในฤดูหนาวที่สัญจรลำบาก

เที่ยวญี่ปุ่นตามรอยโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

“เราพาซายูริ ในใจ กับตินติน (นักเขียนเด็กๆ ของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ไปดูเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เด็กๆ ชอบมาก เพราะโต๊ะโตะจังสแควร์จำลองเหตุการณ์เหมือนในหนังสือออกมาเลย พอเดินๆ ไปก็จะมีป้ายบอก เช่น บทที่ 1 แม่พาโต๊ะโตะจังไปหาโรงเรียนใหม่ เด็กที่ไปเที่ยวจะได้รับแจกลายแทงว่าเดินไปถึงที่ไหนแล้วจะเจออะไร เช่นพอเดินไปอีกนิดนึงก็จะเห็นบ่อเกรอะของส้วมที่โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าสตางค์ตกลงไป คนที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้จะตื่นตาตื่นใจว่ามันเหมือนหลุดมาจากในหนังสือจริงๆ

“เราได้เห็นเลยว่าเด็กและผู้ใหญ่มีความคิดต่างกัน เด็กๆ เขาจะตรงไปตรงมามาก เช่น ตรงบ่อเกรอะ เขาจะสงสัยว่าทำไมมันมีกระเป๋าในนั้น เพราะในเรื่องบอกว่าหากระเป๋าไม่เจอ เขารู้สึกว่าถ้าจะให้สมจริงต้องไม่มีกระเป๋าอยู่ แต่ผู้ใหญ่กลัวคนมาเที่ยวไม่รู้เลยใส่กระเป๋าลงไปให้เห็นชัดๆ เราก็ขำ เด็กทุกคนมีความเป็นโต๊ะโตะอยู่จริงๆ”

ผุสดีเล่าต่อว่า โต๊ะโตะจังฯ เป็นหนังสือที่คนทุกวัยอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจ ได้รับรู้ เรียนรู้ สิ่งต่างๆ ตามอายุตัวเอง เด็กอ่านแล้วสนุก อยากไปโรงเรียนแบบนี้ ครู พ่อแม่ อ่านแล้วก็ได้เข้าใจเด็กมากขึ้น คนแก่อ่านก็กลับไปย้อนนึกถึงตัวเองในวัยเด็ก ทั้งๆ ที่ทั้งหมดเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง

การเดินทางตามรอยโต๊ะโตะจังจึงไม่ใช่แค่การสัมผัสบรรยากาศตัวละครในหนังสือ แต่ยังเป็นการค้นพบความเป็นเด็กของตัวเองอีกครั้ง

พิพิธภัณฑ์ชิฮิโระ

ภาพ: อภิชัย วิจิตรปิยะกุล

และถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง