22 ธันวาคม 2017
2 K

นักท่องเที่ยวแต่ละคนต่างมีเป้าหมายการเดินทางแตกต่างกันไป คนส่วนใหญ่อาจจะต้องไปดู ไปชิม ไปทำสิ่งที่เป็น A Must ของแต่ละสถานที่ เพื่อให้พูดได้เต็มปากว่ามาถึงที่นี่แล้ว แต่สำหรับฉัน ภารกิจที่จะทำทุกครั้งที่เดินทางคือ การส่งโปสการ์ดกลับไทยถึงตัวเอง

โปสการ์ด โปสการ์ด ร้านขายโปสการ์ด ร้านขายโปสการ์ด

ฉันคิดว่าเสน่ห์ของการเดินทางไม่ได้มีแค่ตอนเราไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ต่างจากเสน่ห์ของการส่งโปสการ์ด ความน่าหลงใหลก่อตัวขึ้นตั้งแต่ตอนเดินตามหาตู้ไปรษณีย์ ซึ่งประเทศอิตาลีน่าสนใจเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะมุมไหน ซอกหลืบใดของเมือง ฉันจะได้เจอตู้ไปรษณีย์มากมาย ไม่ต้องเสาะหาเหมือนตอนเดินทางไปประเทศอื่นๆ

ตู้ไปรษณีย์ส่วนใหญ่ที่เห็นจะเป็นตู้ของ Poste Italiane ที่มีสีแดง ทรงสี่เหลี่ยมเหมือนตู้ไปรษณีย์สากลทั่วไป มีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตู้ บางตู้เหมือนงานศิลปะ ที่โดนแต้มสีด้วยว่าที่ศิลปินกราฟฟิตี้ บางตู้ก็เปรอะจนไม่อยากเข้าใกล้เมื่อจินตนาการถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่อาจแฝงมาด้วย แต่บางตู้ถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะเป็นโลเคชันสำหรับถ่ายรูปคู่เป็นที่ระลึก

ป้ายบอกทาง ที่ทำการไปรษณีย์ ตู้ไปรษณีย์ ตู้ไปรษณีย์ ตู้ไปรษณีย์

แม้ตู้ไปรษณีย์อิตาเลียนหาไม่ยาก โปสการ์ดในอิตาลีก็หาซื้อได้ง่ายตามสถานที่ต่างๆ แต่การส่งโปสการ์ดแต่ละทียากมากเพราะต้องจับคู่แสตมป์ให้ถูกตู้ เรื่องแสตมป์นี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาและวางแผนซื้อล่วงหน้า จากประสบการณ์การเดินทางครั้งล่าสุด ฉันซื้อแสตมป์เก็บเป็นสต็อกไว้ทั้งหมด 3 แบบ เพื่อที่จะได้ลดอุปสรรคในการจับคู่แสตมป์กับตู้ไปรษณีย์ทั้งสามประเภท

โปสการ์ด ตู้ไปรษณีย์

แบบแรกคือจับคู่แสตมป์ส่งผ่านตู้ไปรษณีย์ของ Poste Italiane  โปสการ์ดที่จะส่งกลับเมืองไทยผ่านตู้นี้ ต้องติดแสตมป์ของ Poste Italiaen เท่านั้น โดยติดให้ครบมูลค่า 2.20 ยูโร ถึงแม้จะเดินเจอตู้นี้บ่อยที่สุด แต่การหาแสตมป์เพื่อส่งผ่านตู้นี้ยากที่สุด

ข้อมูลจาก guide book หรือ Google มักจะแนะนำให้ซื้อแสตมป์ที่ร้าน Tabacchi ร้านขายของชำที่ขายบุหรี่ บัตรโทรศัพท์ และขนมขบเคี้ยว แต่ใช่ว่าทุกร้านจะมีแสตมป์สำหรับตู้ไปรษณีย์ของ Poste Italiaen ขาย และแม้ว่าหาซื้อแสตมป์ได้แล้ว ก็ต้องทำความเข้าใจอีกว่าต้องติดแสตมป์กี่ดวง เพราะแสตมป์บางดวงไม่ระบุมูลค่า การส่งไปรษณีย์กลับไทยต้องใช้แสตมป์ที่ระบุคำว่า ‘B ZONA 2’

โปสการ์ด

‘B’ แทน 2nd class mail ที่ไม่ต้องการส่งแบบเร่งด่วน ส่วน ‘ZONA 2’ คือ Zone 2 ที่จัดกลุ่มสำหรับส่งโปสการ์ด และจดหมายไปยังประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกา และทวีปเอเชีย  

โปสการ์ด

แบบที่ 2 ส่งโปสการ์ดผ่าน GPS Mail Box ตู้รับจดหมายเล็กๆ ขนาดเท่ากับตู้รับจดหมายที่เราติดกันไว้หน้าบ้าน แสตมป์สำหรับ GPS Mail Box นี้หาซื้อได้ง่ายกว่าแสตมป์ของ Poste Italiane เพราะมีขายในร้านขายของที่ระลึกทั่วไป และในร้าน Tabacchi ที่ขายแสตมป์ประเภทนี้ก็มักมีตู้ GPS Mail Box ตั้งไว้เพื่อให้ส่งโปสการ์ดได้เลย แต่หากโชคไม่ดี ก็ต้องเพิ่มรสชาติการเดินทางด้วยการเล่นเกมเดินตามหาตู้ GPS Mail Box ตามแผนที่

แสตมป์สำหรับ GPS Mail Box จะแพงกว่า Poste Italiane นิดหน่อยคือ 2.50 ยูโร ลูกเล่นของแสตมป์ GPS Mail Box นี้ คือลวดลายที่จะล้อไปกับแหล่งท่องเที่ยวของเมืองนั้นๆ เช่น หากซื้อที่โรม แสตมป์จะเป็นรูป Saint Peter’s Basilica หรือ Colosseum แต่หากซื้อที่ฟลอเรนซ์ จะเป็นรูป Piazza del Duomo ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กประจำเมือง และหากใครชอบพวก gadget จุดเด่นของสแตมป์นี้คือ QR Code ที่สามารถสแกนเพื่อส่ง multi media ผ่านแสตมป์นี้ได้ด้วย

แผนที่ โปสการ์ด แสตมป์

การจับคู่แสตมป์แบบสุดท้าย คือตู้ไปรษณีย์ Friend Post ที่ต้องติดแสตมป์ราคา 2.20 ยูโร เพื่อส่งโปสการ์ดกลับไทย ราคาเท่ากับส่งผ่าน Poste Italiane ตลอดการเดินทางในอิตาลีตั้งแต่ตอนเหนือลงใต้ ฉันได้เห็นตู้รับจดหมายของ Friend Post แค่ครั้งเดียวตอนที่ซื้อแสตมป์ Friend Post และไม่มีโอกาสเจอะเจอตู้แบบนี้อีกเลย

ป้าย ตู้ไปรษณีย์

หากได้เดินทางมากรุงโรมและเข้าไปเที่ยวในนครรัฐวาติกัน ฉันอยากชวนให้แวะส่งโปสการ์ดจากวาติกันกลับไทยสักใบ เพราะวาติกันถือเป็นประเทศที่ปกครองตัวเองและมีตราไปรษณีย์ของตัวเองที่ไม่เหมือนตราของอิตาลี แค่ซื้อแสตมป์ Poste Vaticane ราคา 2.30 ยูโร เราก็จะได้แสตมป์รูปพระสันตะปาปาติดบนโปสการ์ดเป็นที่ระลึก และต้องหย่อนลงตู้ไปรษณีย์ Poste Vaticane สีเหลือง คนละตู้กับ Poste Italiane ตู้สีแดงที่เจอบ่อยๆ นะ

ตู้ไปรษณีย์

เมื่อเล่นเกมจับคู่แสตมป์กับตู้ไปรษณีย์เหนื่อยแล้ว และยังมีโปสการ์ดที่อยากส่งในนาทีสุดท้าย ก็ฝาก Front Desk ของที่พักให้ช่วยส่งให้ได้เหมือนก้น ที่พักเกือบทุกที่จะมีตู้รับจดหมายวางไว้ แต่ขอแนะนำให้ติดแสตมป์ของ Poste Italiane ไว้ก่อน จะได้ไม่ต้องเสียใจหากโปสการ์ดส่งกลับมาไม่ถึงไทย

ตู้จดหมาย โปสการ์ด

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พิมลดา ศรีวิภาพัฒนา

จากแอร์โฮสเตสสู่พนักงานออฟฟิสและแม่บ้าน ที่ยังคงรักการเดินทางและค้นหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อชม และ ชิม