12 ธันวาคม 2017
4 K

“จงสร้างโดราเอมอนของตัวเอง” คือประโยคเปิดของนิทรรศการนี้

เราต่างก็มีความทรงจำในวัยเด็กเป็นของตัวเอง ความทรงจำหลายเรื่องเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่โดราเอมอนเป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาคุยเมื่อไหร่ก็คุยกันได้ยาวๆ ทุกที ไม่เชื่อก็ลองหันไปถามเพื่อนข้างๆ ดูสิว่า “นึกถึงโดราเอมอน แล้วคิดถึงอะไร” รับรองว่าคำตอบที่ได้จะสร้างบทสนทนาได้อีกเยอะทีเดียว

ที่มาของนิทรรศการ The Doraemon Exhibition Tokyo 2017 ที่ Mori Art Museum ที่ Roppongi Hills เมืองโตเกียว ก็เกิดมาจากความคิดเดียวกัน

Doraemon Exhibition

ในนิทรรศการนี้เราจะได้เห็นศิลปินร่วมสมัย 28 คน มาตีความเกี่ยวกับโดราเอมอนผ่านงานศิลปะแบบต่างๆ อย่างที่ผู้จัดงานได้กล่าวไว้ในป้ายก่อนเข้านิทรรศการว่า “โดราเอมอนเป็นตัวละครที่มีความสำคัญอย่างใหญ่หลวงสำหรับสังคมญี่ปุ่น ศิลปินหลายท่านมีโดราเอมอนอยู่ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่เขาเหล่านั้นยังเป็นเด็ก จริงๆ แล้วเราพูดได้ว่าโดราเอมอนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมญี่ปุ่น ผมตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่จะได้เห็นงานศิลปะที่สร้างโดยคนที่อยู่ในสังคมซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการ์ตูนเรื่องนี้ และหวังว่าผู้เข้าชมนิทรรศการนี้จะสนุกและตื่นเต้นกับโดราเอมอนในรูปแบบใหม่ๆ ในนิทรรศการนี้เช่นกัน” – Yuri Yamashita (Meiji Gakuin University Professor)

ในศตวรรษที่ 21 ที่เราอยู่ในทุกวันนี้ เป็นครึ่งทางระหว่างโลกของโนบิตะและโลกของโดราเอมอนพอดี

เอาล่ะ ลองบอกเราหน่อยว่าเธอนึกถึงโดราเอมอนแล้วคิดถึงอะไร พอได้คำตอบแล้วค่อยไปอ่านต่อกัน ว่าศิลปินญี่ปุ่นตีความโดราเอมอนภายใต้สังคมศตวรรษนี้อย่างไรบ้าง

 

 

โดราเอมอนหัวหน้าแก๊งช่วงปิดเทอม

Takashi MURAKAMI

Doraemon

ภาพที่แสดงความร่าเริงของวัยเด็กช่วงปิดเทอมฤดูร้อนภาพนี้เห็นแล้วก็ยิ้มได้ทันที คิดถึงช่วงปิดเทอมที่ไร้เดียงสา ไม่มีอะไรต้องกังวล และมีเวลาเล่นนอกบ้านมากมาย เป็นความทรงจำที่ใครๆ ก็เชื่อมโยงได้ แล้วก็เป็นหนึ่งในความทรงจำที่การ์ตูน โดราเอมอน มอบเอาไว้ให้เด็กทั่วโลก

 

โดราเอมอนที่เป็นมากกว่าเพื่อน

Mika NINAKAWA

DoraemonDoraemon

เราชอบงานชุดนี้มาก ศิลปินท่านนี้เคยได้รับเชิญมาแสดงงานเกี่ยวกับโดราเอมอนแล้วเมื่อปี 2002 ตอนนั้นเขาทำอัลบั้มรูปการออกเดตกับโดราเอมอนผู้ที่ศิลปินมองว่าเป็นเหมือนชายในฝัน ทั้งเก่ง พึ่งพาได้ เข้าอกเข้าใจ มาปีนี้ ศิลปินก็ยังเลือกเล่าเรื่องเดิม แต่ทำให้เข้ากับยุคสมัย แทนที่จะทำเป็นอัลบั้มรูปก็ทำเป็นการโชว์ภาพจาก Instagram แทน

นิทรรศการโดราเอมอนโดราเอมอน

โดราเอมอนเพื่อนยาก

Kumi MACHIDA

โดเรม่อน

บางทีก็ยากที่จะอธิบายความทรงจำเกี่ยวกับโดราเอมอนออกมาได้ในหนึ่งชิ้นงาน ศิลปินท่านนี้เลยกลับไปสู่จุดตั้งต้นที่เรียบง่ายที่สุดคือ การพูดถึงโดราเอมอนในฐานะเพื่อนเก่าคนหนึ่ง ภาพ portrait ของโดราเอมอนในสีขาวเก่าๆ นี้ ศิลปินบอกว่าเป็นรูปโดราเอมอนรูปแรกที่เขาวาด เราว่ามันก็ตรงไปตรงมาดี

 

ความอ้วนเตี้ยอันเป็นที่รัก

Nozomi WATANABE

โดเรม่อน

ศิลปินคนนี้เหมือนมันเขี้ยวรูปร่างกลมๆ ของโดราเอมอนอยู่ไม่มากก็น้อย เลยเลือกสร้างโมเดลที่แสดงสัดส่วนน่ารักๆ แบบนี้ออกมา เธออดแปลกใจไม่ได้ว่าอะไรทำให้ความมีเสน่ห์ของโดราเอมอนดึงดูดเด็กๆ ไม่ว่าจะรุ่นไหน เธอจึงเลือกสร้างโมเดลโดราเอมอนด้วย URUSHI เทคนิคการทาสีและใช้วัสดุแบบญี่ปุ่นโบราณเพื่อบอกเล่าการส่งต่อความอ้วนเตี้ยอันเป็นที่รักนี้ไปสู่คนรุ่นถัดๆ ไปเรื่อยๆ

เกือบลืมกันไปแล้วหรือเปล่าว่า โดราเอมอนเป็นหุ่นยนต์ ที่ถูกเล่าให้มีชีวิตจิตใจเหมือนมนุษย์ จนทำให้ใครต่อใครผูกพันกับเขาในฐานะเพื่อนเก่าคนหนึ่ง เมื่อสมัยสามสิบกว่าปีก่อนการที่หุ่นยนต์มีชีวิตจิตใจขนาดนี้คงเป็นแค่จินตนาการที่ห่างไกล แต่พอมาถึงทศวรรษนี้ที่หุ่นยนต์ของญี่ปุ่นก็เริ่มเหมือนคนมากขึ้นเรื่อยๆ เลยเริ่มจะมีคำถามตามมาว่า ความเป็นมนุษย์คืออะไร ความเป็นมนุษย์ถูกผลิตได้ด้วยเครื่องจักรเหมือนหุ่นยนต์หรือเปล่า หรืออะไรที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่และแยกเราออกจากหุ่นยนต์ได้ในวันที่เราอาจจะต้องมีเพื่อนเป็นหุ่นยนต์จริงๆ

ในนิทรรศการนี้ก็มีศิลปินบางท่านตีความเรื่องหุ่นยนต์จากโลกอนาคตนี้ไว้จากก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์ศตวรรษที่ 21 เอาไว้แบบนี้

 

โดราเอมอนเป็นที่ยึดเหนี่ยวด้านจิตใจ

Miran FUKUDA

ภาพวาดพู่กัน

ความน่าสนใจสำหรับภาพนี้คือ การที่ตัวละครจากโลกอนาคตถูกเอามาเล่ารวมกับตัวละครจากความเชื่อโบราณ เพราะศิลปินมองว่า ทั้งสองโลกมีหลายอย่างคล้ายกัน เช่น ความเป็นปริศนา ความที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ถึงที่มาที่ไป ความมีอำนาจวิเศษ มีอิทธิฤทธิ์ในการทำเรื่องไม่คาดฝันต่างๆ ที่เล่ากันมาปากต่อปาก

ดูภาพนี้แล้ว เราอดคิดไม่ได้ว่า ถ้ามนุษย์สร้างเทพองค์ต่างๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความเชื่อ ให้ความหวังและความมั่นใจ โดราเอมอนก็อาจถูกสร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกันหรือเปล่านะ

 

ความฟรีฟอร์มของเหตุและผล

Satomi KONDO

ภาพวาด

ประโยคในการ์ตูน โดราเอมอน ตอน Nobita and Steel Troops ที่ศิลปินท่านนี้ประทับใจคือ ประโยคที่ชิซูกะพูดว่า “บางทีมนุษย์ก็ทำอะไรที่ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย” ภาพนี้เลยเต็มไปด้วยความไม่มีเหตุผลที่ตีความไปได้อย่างอิสระ บางทีความไร้ตรรกะและความสามารถในการจินตนาการอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ไม่เหมือนกับหุ่นยนต์ก็ได้มั้ง

 

การจินตนาการสิ่งที่มองไม่เห็น

AIDA Makoto

โดราเอมอน

“ลองดูภาพนี้แล้วเห็นอะไร ฝากให้ลองหาคำตอบกันดู” – คำอธิบายภาพจากศิลปินท่านนี้มีเท่านี้

แต่เราเชื่อว่าใครๆ ก็ดูออกว่านี่คือภาพเกี่ยวกับใครและทำอะไร อาจเป็นเพราะว่าตัวละครตัวนี้จะพูดถึงกิจกรรมนี้บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นใน โดราเอมอน เวอร์ชันไหน

 

ความมีอดีตให้คิดถึง และมีอนาคตให้รอคอย

โดราเอมอน

ศิลปินท่านนี้เล่าว่าเขาตั้งใจสื่อสารความเชื่อมโยงอดีตกับอนาคตของการ์ตูน โดราเอมอน ที่เขามอง ณ ศตวรรษที่ 21นี้

อดีตในภาพ คือห้องนอนของโนบิตะที่มีข้าวของเครื่องใช้ของเด็กนักเรียนในศตรรษที่ 20 และอนาคตในภาพ ก็คือความเหนือจริงจากการใช้ ‘เครื่องปรับแรงโน้มถ่วง’ ของวิเศษจากศตวรรษที่ 22 มาทำให้วันธรรมดาๆ ในห้องนอนของโนบิตะไม่ธรรมดา

ในศตวรรษที่ 21 ที่เราอยู่ในทุกวันนี้ เป็นครึ่งทางระหว่างโลกของโนบิตะและโลกของโดราเอมอนพอดี

ยังเหลืออีกแปดสิบกว่าปีก็จะถึงศตวรรษที่ 22 พอถึงวันนั้นแล้วโดราเอมอนจะมีจริงไหม เราจะมีของวิเศษเอาไว้ใช้กันมากขึ้นกว่านี้ไปอีกเท่าไหร่ เราว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นพอๆ กับคำถามที่ว่า เรายังจะยังคงรักษาจินตนาการและความมีชีวิตชีวาแบบศตวรรษที่ 20 กันเอาไว้ได้ถึงวันนั้นหรือเปล่า

โดราเอมอน

“บางทีฉันก็ยังหวังอยู่ว่าจะมีโดราเอมอนอยู่กับฉันจริงๆ”

เป็นประโยคปิดของนิทรรศการนี้

Doraemon

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น